เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2020 หนังสือพิมพ์เดอะแคนซัสซิตี้สตาร์ (The Kansas City Star) ได้แถลงขอโทษต่อประชาชนชาวเมืองแคนซัส โดยเฉพาะต่อคนผิวดำ ที่ได้สร้างประวัติศาสตร์การเหยียดผิวในรายงานข่าวของเดอะแคนซัสซิตี้สตาร์มาอย่างยาวนาน คำขอโทษระบุถึงการที่เดอะแคนซัสซิตี้สตาร์ได้รายงานข่าวที่เป็นการกระทำซึ่งละเลยและจงใจทำร้ายชาวแอฟริกันอเมริกัน บทบรรณาธิการชิ้นนี้ได้กล่าวขอโทษถึงการสืบทอดการแบ่งแยกสีผิวโดยอ้างกฎหมายจิม โครว์ [i] รวมทั้งการกระทำอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการสร้างอคติต่อชาวแอฟริกันอเมริกัน
เนื้อหาในคอลัมน์ที่เขียนโดย นายไมค์ แฟนนิน (Mike Fannin) ซึ่งเป็นประธานบริษัทแม็คแคลทชี่ (McClatchy) และบรรณาธิการ ของเดอะแคนซัสซิตี้สตาร์ กล่าวว่า
“ช่วงเวลา 140 ปีที่ผ่านมา เดอะแคนซัสซิตี้สตาร์เป็นกำลังสำคัญและทรงอิทธิพลอย่างมากในการก่อร่างสร้างเมืองแคนซัสและภูมิภาคนี้ แต่น่าเสียใจที่ประวัติศาสตร์ระยะแรกของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เต็มไปด้วยการสนับสนุนการลิดรอนสิทธิความเป็นพลเมือง การปล่อยปละละเลย และการดูหมิ่นหยามเหยียดพลเมืองผิวดำของแคนซัสซิตี้รุ่นแล้วรุ่นเล่า สิ่งเหล่านี้คือบาป ที่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำที่จงใจหรือการละเว้นที่จะรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา เดอะแคนซัสซิตี้สตาร์ได้ตอกย้ำการใช้กฎหมายจิม โครว์ ที่มีเนื้อหาให้กับชอบธรรมกับการแบ่งแยกสีผิว และการแบ่งแยกชุมชนระหว่างคนผิวขาวและดำ ทศวรรษแล้วทศวรรษเล่าที่เดอะแคนซัสซิตี้สตาร์ได้ปล้นเอาโอกาส ศักดิ์ศรี ความยุติธรรม และการยอมรับ ไปจากชุมชนชาวแอฟริกันอเมริกันของเมืองนี้”
(Mike Fannin, December 21, 2020)
ที่มาของคำขอโทษประวัติศาสตร์
เหตุการณ์ที่ตำรวจผิวขาวฆ่าจอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกันผิวดำ ที่เมืองมินิอาโปลิส มลรัฐมินิโซต้า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2020 นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ในอีกหลายรัฐทั่วประเทศสหรัฐและทั่วโลกเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้คนผิวสี การเสียชีวิตของฟลอยด์เป็นโศกนาฎกรรมที่ทำให้ขบวนการ Black Lives Matter ออกมาประท้วง เรียกร้องให้คืนความยุติธรรมให้จอร์จ ฟลอยด์ และนี่คือชนวนสำคัญที่ทำให้นักข่าวและบรรณาธิการจำนวนหนึ่งของเดอะแคนซัสซิตี้สตาร์ นำโดย Mará Rose Williams ตั้งคำถามกับรายการงานข่าวในอดีตขององค์กรตัวเองว่า ได้ทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแบ่งแยกสีผิวของคนขาวใช่หรือไม่ พวกเขาจึงได้หันกลับมาทบทวนการเสนอรายงานข่าวที่มีอคติต่อคนผิวดำในแคนซัสซิตี้ ผู้สื่อข่าวกลุ่มนี้พบว่าข่าวของเดอะแคนซัสซิตี้สตาร์ลำเอียงต่อคนผิวดำอย่างไม่น่าให้อภัย เช่น ข่าวน้ำท่วมใหญ่ในเมืองแคนซัส เมื่อปี 1977 เดอะแคนซัสซิตี้สตาร์ รายงานเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมใจกลางเมืองในย่านศูนย์การค้าและเขตคนขาว โดยพาดหัวข่าวว่า “น้ำท่วมพลาซ่า” (คันทรีคลับพลาซ่า) หนังสือพิมพ์โฟกัสที่ความเสียหายของทรัพย์สินของนายทุนมากกว่าชีวิตของชาวแคนซัส มีคนตาย 25 คน และ 8 คนเป็นคนดำ บริเวณที่ติดกับคันทรีคลับพลาซ่าเป็นชุมชนอเมริกันผิวดำ มีความเสียหายอย่างมากเกิดขึ้นในย่านคนดำแต่กลับไม่ปรากฏในข่าวเลย ในขณะที่ละเลยข่าวชีวิตความเป็นอยู่ของคนผิวดำที่เผชิญภัยพิบัติ เดอะแคนซัสซิตี้สตาร์ไม่ได้ปิดกั้นข่าวคนผิวดำเสียทั้งหมด ทว่าได้เสนอข่าวคนผิวดำในพื้นที่ข่าวอาชญากรรมเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนดำถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด/คนร้าย ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำภาพจำที่โหดร้ายต่อคนผิวดำว่าพวกเขาเป็นได้เพียงผู้ร้ายในสายตาคนขาว
ขบวนการ Black Lives Matter ออกมาประท้วง เรียกร้องให้คืนความยุติธรรมให้จอร์จ ฟลอยด์
ตัวอย่างรายงานข่าวสำคัญๆ ที่กลุ่มนักข่าวกลับไปรื้อจากคลังข้อมูลของเดอะแคนซัสซิตี้สตาร์และเดอะแคนซัสซิตี้ไทม์ส (หนังสือพิมพ์ฉบับเช้าในเครือเดียวกัน) ที่จัดเก็บในรูปไมโครฟิลม์และระบบดิจิตอลนับพันหน้า ถูกนำไปเปรียบเทียบกับรายงานข่าวเหตุการณ์เดียวกันในหนังสือพิมพ์เดอะแคนซัสซิตี้คอลล์ (The Kansas City Call) และเดอะแคนซัสซิตี้ซัน (The Kansas City Sun) ที่เป็นหนังสือพิมพ์ของคนผิวดำ จากการศึกษาพบว่าถ้าพวกเขาไม่ละเลยข่าวเหล่านั้นเลย พวกเขาก็รายงานแบบอคติต่อคนดำ นอกจากนี้ กลุ่มนักข่าวของเดอะแคนซัสซิตี้สตาร์ ยังได้ค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากเอกสารชั้นต้นในหอจดหมายเหตุและห้องสมุด เช่น คำพิพากษา รายงานการประชุมต่างๆ คำให้การของบุคคลในสภาคองเกรส รวมทั้งในบางกรณีได้สัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องที่ยังมีชีวิตอยู่ และนำข้อถกเถียงเหล่านี้ไปอภิปรายกับนักวิชาการ ผู้นำชุมชน เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและประจักษ์พยานที่ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลักฐานจากการค้นคว้าเหล่านี้ทำให้กลุ่มนักข่าวของเดอะแคนซัสซิตี้สตาร์ รู้สึกละอายใจมากและเจ็บปวดกับการกระทำที่ผ่านมาของเพื่อนร่วมอาชีพในเดอะแคนซัสซิตี้สตาร์
“ผมรู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบทางศีลธรรมของผม ที่จะพูดถึงสิ่งที่อยู่ในใจและความคิดของผู้นำองค์กรและของสมาชิกขององค์กรนี้ ซึ่งยืนยาวเกือบจะเท่ากับเมืองแคนซัส ที่ซึ่งเดอะแคนซัสซิตี้สตาร์รักและเป็นท้องถิ่นที่เรารายงานข่าว ผมอยากกล่าวคำว่า “เราเสียใจ” ตอนนี้ เราได้ยกกระจกขึ้นมาส่องตัวเอง สำรวจดูบทบาททางประวัติศาสตร์ของเรา ทั้งในบทบาทที่เราแสดงออกอย่างแข็งขันและบทบาทที่เรานิ่งเฉย ในสิ่งที่เรามีส่วนทั้งสร้างและทำร้ายแคนซัสซิตี้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะกุมประวัติศาสตร์ไว้ในมือของเรา (It is time that we own our history) เราจะไม่ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมาเป็นเจ้าของชีวิตเรา มันเลยเวลาของการเอ่ยปากขอโทษไปนานมากแล้ว ถึงกระนั้น เราก็รู้ว่าบาปที่เราได้ทำลงไปส่งผลมาตราบถึงทุกวันนี้”
(Mike Fannin, December 21, 2020)
Mike Fannin เจ้าของและบรรณาธิการ The Kansas City Star และ Mará Rose Williams นักข่าวที่นำการตั้งคำถามกับรายงานข่าวในอดีตขององค์กรตัวเอง
ความยุติธรรมคือทางออก
กลุ่มนักข่าวที่ศึกษารายงานข่าวของเดอะแคนซัสซิตี้สตาร์และเดอะแคนซัสซิตี้ไทม์สในอดีต รู้สึกย่ำแย่กับสิ่งที่พวกเขาค้นพบ ทศวรรษแล้วทศวรรษเล่าที่หนังสือพิมพ์ของพวกเขาเสนอภาพพลเมืองผิวดำของเมืองแคนซัสในฐานะอาชญากรที่อยู่ในเมืองซึ่งเต็มไปด้วยอาชญากรรม พวกเขารู้สึกละอายใจกับสิ่งที่พวกเขาละเลยในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความสำเร็จ ความใฝ่ฝัน หรือเหตุการณ์สำคัญของประชากรผิวดำทั้งหมด พวกเขามองข้ามสิ่งเหล่านี้ไปราวกับว่าคนผิวดำไม่มีตัวตนอยู่บนโลกใบนี้ ยิ่งกว่านั้น กลุ่มนักข่าวรู้สึกเสียใจที่รายงานข่าวในช่วงที่ผ่านมา นอกจากจะทำร้ายพลเมืองผิวดำของเมืองแคนซัสแล้ว ยังทำให้คนอ่านที่เป็นคนผิวขาวไม่มีโอกาสที่จะเข้าใจความรุ่มรวยที่แท้จริงของชีวิตวัฒนธรรมที่พลเมืองผิวดำนำมาสู่เมืองแคนซัสซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งเสียงดนตรี โดยเฉพาะดนตรีแจ๊สของคนผิวดำ ตัวอย่างชาร์ลี พาร์คเกอร์ หรือเบิร์ด นักดนตรีแจ๊สผิวดำคนสำคัญที่สร้างชื่อเสียงก้องโลกดนตรี ที่ต่อมาชาวเมืองแคนซัสกล่าวถึงอย่างภาคภูมิใจ กลับถูกมองข้ามมาโดยตลอดจากเดอะแคนซัสซิตี้สตาร์ คนขาวรู้จัก ชาร์ลี พาร์คเกอร์ เมื่อเขาจากไปแล้ว จากการอ่านข่าวมรณกรรมของเขา เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ชื่อชาร์ลีปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์เดอะแคนซัสซิตี้สตาร์ แถมยังสะกดชื่อของเขาผิด และระบุอายุไม่ถูกต้องอีกด้วย
กลางทศวรรษ 1960 เป็นยุคที่กระแสเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมกันของพลเมืองของคนดำเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ขบวนการสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement) ซึ่งนำโดยมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เดินสายรณรงค์ไปทั่วประเทศ รวมทั้งมีจัดการเดินขบวนครั้งใหญ่ที่วอชิงตัน ดีซี เรียกร้องให้แก้กฎหมายแบ่งแยกสีผิว และแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ให้คนดำมีสิทธิเท่าเทียมคนขาว แต่วันที่ 4 เมษายน ปี 1968 มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ถูกยิงเสียชีวิตที่เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี่ โดยเจมส์ เอิร์ล เรย์ ชาวอเมริกันผิวขาว เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้คนผิวดำโกรธแค้นเสียใจจนประทุเป็นการจลาจลใน 110 เมืองทั่วสหรัฐ มีคนดำถูกยิงตาย 32 คน บาดเจ็บ 2,135 คน ถูกจับกุม 13,428 คน สำหรับที่เมืองแคนซัสเกิดการจลาจลติดต่อกัน 3 วันในเมืองช่วงที่มีพิธีฝังศพของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ในช่วงจลาจลมีชายผิวดำ 6 คนถูกยิงตาย หนึ่งในนั้นเป็นวัยรุ่น การพิสูจน์หลักฐานพบว่าอย่างน้อย 4 คนตายเพราะถูกกระสุนของตำรวจ หรืออาจจะทุกคนก็เป็นได้ กรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงพบว่าพวกเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อ แต่กลับไม่มีการติดตามเสนอข่าว ไม่มีการเจาะข่าวอย่างอิสระ ไม่มีการเรียกร้องให้ลงโทษตำรวจ หรือให้ผู้บังคับบัญชาลาออก นับเป็นเรื่องใหญ่ที่ให้อภัยไม่ได้เลย
กองบรรณาธิการ เดอะแคนซัสซิตี้สตาร์ ในยุคที่นักข่าวเป็นชายล้วน และคนอเมริกันผิวขาวล้วน
จากการค้นคว้าที่ทำให้พบข้อผิดพลาดมากมายในอดีต เดอะแคนซัสซิตี้สตาร์ได้ตัดสินใจแก้ไขปรับปรุงด้วยการเพิ่มความหลากหลายในห้องข่าว ทำให้การนำเสนอข่าวมีหลายเฉดหลากมุมมองกว่าในอดีต สามารถเป็นเสียงที่เป็นตัวแทนของชุมชนได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนขาวหรือคนดำ หญิงหรือชาย (ก่อนหน้านั้น เคยเป็นห้องข่าวที่มีแต่นักข่าวชายล้วน คนขาวล้วน) ฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา เดอะแคนซัสซิตี้สตาร์เปิดรับบรรณาธิการที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องสีผิวและสิทธิความเท่าเทียมกัน และจะเพิ่มนักข่าวในทิศทางนี้ต่อไป
ตอนนี้ เดอะแคนซัสซิตี้สตาร์ทำบทความที่เจาะเรื่องภาษาเหยียดผิวที่ยังตกค้างในกฎหมายและเอกสารทางการต่างๆ เช่นเรื่องที่อยู่อาศัย เพิ่มรายงานเรื่องชีวิตบันเทิงยามราตรี วัยรุ่นผิวดำบอกว่าแม้ทุกวันนี้พวกเขาก็ยังไม่ได้รับการต้อนรับอย่างเท่าเทียมกับคนผิวขาวในย่านศูนย์กลางบันเทิงของเมือง นอกจากนี้ เดอะแคนซัสซิตี้สตาร์ได้ติดตามเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในระบบการศึกษา การอบรบครูที่ยังแบ่งแยกสีผิว และแน่นอนว่าในปีนี้ เดอะแคนซัสซิตี้สตาร์ได้นำเสนอการประท้วงของกลุ่ม Black Lives Matter อย่างแข็งขันและต่อเนื่อง รวมทั้งประเด็นที่ Black Lives Matter ออกมาคัดค้าน เช่น เรื่องชื่อถนนที่ตั้งตามชื่อของนายทาส และอนุสาวรีย์ที่เชิดชูการเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธรัฐ (ที่รัฐทางตอนใต้แยกตัวออกจากรัฐทางเหนือช่วงสงครามกลางเมือง) รวมทั้งเสนอเรื่องของ J.C. Nichol นายกเทศมนตรีของแคนซัสซิตี้ในมุมมองใหม่ ยุคหนึ่งเขาเคยเป็นสัญลักษณ์ที่คนขาวในแคนซัสเทิดทูนแต่เป็นคนที่คนดำชิงชัง เพราะเขาเป็นนายกเทศมนตรีที่วางนโยบายสร้างชุมชนที่แบ่งแยกสีผิว
นอกจากนี้ เดอะแคนซัสซิตี้สตาร์ได้ริเริ่มโครงการวารสารศาสตร์เพื่อสะสางปัญหาซึ่งเป็นโครงการระยะ 2 ปี ที่มาของโครงการนี้ คือสถิติที่แสดงว่าประชากรผิวดำในรัฐมิสซูรี่เสียชีวิตจากการถูกยิงมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ หนังสือพิมพ์ได้เริ่มทำข่าวเจาะในเขตเมืองแคนซัส ซึ่งพบว่าสาเหตุของความรุนแรงจากการใช้ปืนเป็นเพราะชุมชนคนผิวดำไม่เชื่อใจตำรวจ (ส่วนใหญ่เป็นอเมริกันผิวขาว) และได้ทำรายงานเจาะลึก 3 ตอน เกี่ยวกับการเหยียดผิวอย่างเป็นระบบในหน่วยดับเพลิงของเมืองแคนซัส ส่งผลให้ผู้บริหารสั่งหัวหน้าหน่วยดับเพลิงเร่งแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติจากการแบ่งแยกสีผิว
สารภาพบาป สำนึกผิด และการเริ่มต้นใหม่
เดอะแคนซัสซิตี้สตาร์เป็นหนังสือพิมพ์รายวันกรอบบ่าย ก่อตั้งขึ้นในปี 1880 มีเดอะแคนซัสซิตี้ไทม์สเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าที่เป็นคู่แข่ง ต่อมาในปี 1901 เดอะสตาร์ซื้อเดอะไทม์สมาอยู่ในเครือของตน และปิดกิจการเดอะไทม์สในปี 1990 ปัจจุบัน เดอะแคนซัสซิตี้สตาร์เป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับเช้าฉบับเดียวของท้องถิ่น เจ้าของเป็นอเมริกันผิวขาว ทำธุรกิจหนังสือพิมพ์เพื่อคนอ่านผิวขาวเป็นหลัก มียอดจำหน่ายวันละ 76,853 เล่ม และฉบับวันอาทิตย์มียอดจำหน่าย 118,203 เล่ม ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์แปดรางวัลตลอดช่วงระยะที่ผ่านมา เมืองแคนซัสยังมีหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อเดอะแคนซัสซิตี้คอลล์ (The Kansas City Call) ของคนดำที่มีอายุยืนยาว 101 ปี เป็นคู่แข่งสำคัญ มีหนังสือพิมพ์ธุรกิจชื่อแคนซัสซิตี้บิสิเนสเจอร์เนิล (Kansas City Business Journal) หนังสือพิมพ์กีฬาชื่อเดอะพิทช์ (The Pitch) นอกจากนี้ เมืองแคนซัสมีหนังสือพิมพ์ด้านศาสนา 2 ฉบับ ชุมชนชาวคริสต์มีหนังสือพิมพ์เดอะแคนซัสซิตี้เมโทรว็อยซ์ (The Kansas City Metro Voice) และชุมชนชาวยิวมีหนังสือพิมพ์แคนซัสซิตี้ยิวอิชครอนิเคิล (Kansas City Yewish Chronicle) และมีหนังสือพิมพ์สองภาษา - อังกฤษ/สเปน ชื่อดอสมุนดอส (Dos Mundos) และเคซีฮิสปานิกนิวส์ (KC Hispanic News)
ในปี 1919 ชุมชนแอฟริกันอเมริกันในเมืองแคนซัสที่เป็นคนกลุ่มน้อย ออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของตนเองเพื่อผู้อ่านผิวดำ ชื่อเดอะแคนซัสซิตี้คอลล์ (The Kansas City Call) เชสเตอร์ อาร์เธอร์ แฟรงค์กลิน (Chester A. Franklin) ผู้ก่อตั้งต้องการให้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ส่งเสริมความเป็นผู้นำ สร้างพลังให้ชาวแอฟริกันอเมริกัน เนื้อหาในข่าวและคอลัมน์ต่างๆ มีการรณรงค์ต่อต้านการฆ่าแขวนคอคนผิวดำ ต่อต้านกลุ่มเคเคเค-Ku Klux Klan ที่เผาทำลายชีวิตและทรัพย์สินของคนดำ และการใช้ความรุนแรงของตำรวจ มีเรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมอื่นๆ เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง การแบ่งแยกสีผิว การเลือกปฏิบัติในระบบการศึกษา ที่อยู่อาศัย การจ้างงาน และการใช้บริการสาธารณะต่างๆ เดอะแคนซัสซิตี้คอลล์ เริ่มต้นจากยอดจำหน่าย 2,000 ฉบับ เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงกลางทศวรรษ 1920 ในปี 1927 มียอดขาย 16,737 เล่มต่อสัปดาห์จนติดอันดับ 1 ใน 6 ของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์แอฟริกันอเมริกันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เมื่อครั้งที่ลูซิล บลูฟอร์ด (Lucile Bluford) เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์และโฆษณา (1955-2003) และเป็นเจ้าของร่วมกับอาดา คร็อกแมน แฟรงค์กลิน (Ada Crogman Franklin) เธอเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงมาก และได้รับยกย่องว่าเป็นนักต่อสู้แถวหน้าของขบวนการสิทธิพลเมืองและสิทธิการศึกษาที่เท่าเทียมกันของประเทศ
ในช่วงทศวรรษ 1950 ประชากรผิวขาวในเมืองแคนซัสมีราว 80% มีผิวดำ 12% การเปลี่ยนภูมิทัศน์ย่านที่พักอาศัยชั้นในของแคนซัสซิตี้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 หลังการจลาจลของคนดำจากความโกรธแค้นที่มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ผู้นำในขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของคนผิวดำถูกสังหาร แคนซัสซิตี้มีโครงการตัดถนนใหม่ขยายเมืองออกไปสู่ย่านชานเมือง คนขาวโดยเฉพาะชนชั้นกลางย้ายไปอยู่นอกเมือง หนีออกไปสร้างชุมชนใหม่ ปล่อยให้เมืองชั้นในเป็นย่านชุมชนคนดำที่ขาดการพัฒนากลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม ช่วงทศวรรษ 2010 ประชากรผิวขาวในตัวเมืองชั้นในของแคนซัสลดลงจาก 90% เหลือเพียง 55% ส่วนประชากรผิวดำเพิ่มขึ้นเป็น 30% ประชากรผิวขาวโดยรวมของมหานครแคนซัสที่เคยมีสูงถึง 80% ลดลงเหลือ 59.2% จากสถิติการสำรวจประชากรในปี 2019 เมืองแคนซัสมีประชากร 495,327 คน และมหานครแคนซัสมีประชากรทั้งหมด 2,487,053 คน แม้ว่าประชากรแอฟริกันอเมริกันจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา พวกเขาก็ไม่ได้รับความสนใจจากหนังสือพิมพ์ของคนขาวอย่างเดอะสตาร์ นโยบายการบริหารเมืองยังตอกย้ำการแบ่งแยกสีผิว การเลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำ ไม่ส่งเสริมสิทธิความเท่าเทียมกันของพลเมืองทุกคน
จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ตำรวจทำร้าย จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำเสียชีวิตขณะที่เขาถูกจับกุมอยู่ ทำให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ต่อเนื่องหลายครั้งของขบวนการ Black Lives Matter ของคนดำและคนขาวทั่วสหรัฐอเมริกา เรียกร้องให้คืนความยุติธรรมให้คนดำ ปฏิรูปตำรวจ ฯลฯ การประท้วงลุกลามไปยังเมืองใหญ่หลายเมือง มีการทำลายอนุสาวรีย์พ่อค้าทาส รวมทั้งอนุสาวรีย์โคลัมบัสในเมืองบอสตันและเมืองอื่นๆ พวกเขาเห็นว่าการค้นพบทวีปอเมริกาของโคลัมบัสทำให้เกิดการกดขี่เข่นฆ่าชนพื้นเมืองอเมริกา พวกเขาเรียกร้องให้ทุบอนุสาวรีย์และเปลี่ยนชื่อค่ายทหารที่ใช้ชื่อนายพลฝ่ายใต้ในสงครามกลางเมือง ที่เป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งจากการค้าทาสและแบ่งแยกสีผิว
การสารภาพบาป สำนึกผิด ของเดอะแคนซัสซิตี้สตาร์จึงไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หลังจากได้รายงานข่าวและเผยแพร่ทัศนคติเหยียดผิวมายาวนาน 140 ปี สถานการณ์และภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในท้องถิ่นและทั่วประเทศอย่างน้อยก็สร้างแรงกดดัน เรียกร้องให้เดอะแคนซัสซิตี้สตาร์ต้องหันมาทบทวนตัวเอง มองความสัมพันธ์ระหว่างชาวอเมริกันต่างสีผิวด้วยมุมมองใหม่เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเดินหน้าร่วมกันต่อไปได้
ไมค์ แฟนนิน ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ MSNBC ว่า เดอะแคนซัสซิตี้สตาร์พร้อมที่จะปรับตัว พิสูจน์ความจริงใจ การกล่าวคำขอโทษ แสดงความเสียใจ ได้รับการชื่นชมจากสื่อและชาวอเมริกันทั่วประเทศ ทว่ากลับไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนักจากประชากรผิวดำในแคนซัสซิตี้ การเผยแพร่อคติแบ่งแยกสีผิว เหยียดคนดำสืบเนื่องมานับร้อยปีของเดอะแคนซัสซิตี้สตาร์ คงไม่อาจลบเลือนได้ในชั่วข้ามคืน แต่การน้อมรับความผิดพลาดอย่างตรงไปตรงมา เป็นจุดตั้งต้นที่เปิดโอกาสให้หนังสือพิมพ์ของชาวอเมริกันผิวขาวทดลองเดินบนทัศนะใหม่ ที่มองคนเป็นคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่มองคนจากสีผิว เชื้อชาติ หรือเผ่าพันธุ์.
4 กุมภาพันธ์ 2021
ถอดความและเรียบเรียงจาก Mike Fannin, "The Truth in Black and White: An Apology from the Kansas City Star". The Kansas City Star, December 21, 2020.
[i] ในปี 1890 คนขาวยึดภาคใต้กลับไปและออกกฎหมาย ‘Jim Crow laws’ แบ่งแยกการใช้พื้นที่สาธารณะระหว่างคนดำกับคนขาวไม่ให้ใช้ร่วมกัน จนกลายเป็นค่านิยม ความเชื่อ และอุปนิสัยที่เมื่อคนดำเจอคนขาวบนรถเมล์ต้องเดินไปแถวหลังสุด ไม่กล้านั่งแถวหน้า ที่มาทางประวัติศาสตร์ของกฎหมาย จิม โครว์ คือการที่คนอเมริกันผิวขาวมีจิตสำนึกที่หวาดระแวงคนผิวดำตั้งแต่ยุคค้าทาสและมีการใช้แรงงานทาสในไร่ฝ้าย เพราะมีตัวอย่างทาสคนดำฆ่านายทาสผิวขาว ทำให้คนขาวคิดเสมอว่าพวกเขาจะถูกฆ่าโดยคนผิวดำอยู่ในจิตใต้สำนึก คนขาวเชื่อว่าพวกเขามีความชอบธรรมในการเหยียดสีผิว และความเชื่อนี้ถูกตอกย้ำถ่ายทอดซ้ำผ่านทางสื่อตลอดมา (ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, 2020, https://www.matichon.co.th/politics/news_2229422)
หมายเหตุบรรณาธิการ:
ชื่อบทความเดิมคือ “เดอะแคนซัสซิตี้สตาร์สำนึกผิด สารภาพบาป ขอโทษคนแอฟริกันอเมริกัน: 140 ปีแห่งการรายงานข่าวเหยียดสีผิว แบ่งแยก กีดกัน สร้างอคติ ความรุนแรง”
Tags: The Kansas City Star, Black Lives Matter, เดอะแคนซัสซิตี้สตาร์, ข่าวเหยียดสีผิว, กฎหมายจิม โครว์, จอร์จ ฟลอยด์, อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์, มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์
