Skip to main content

มีคำน่าสนใจเกี่ยวกับการทำงานของ “สื่อสารมวลชน” ในแวดวงสื่อตะวันตก และยิ่งน่าสนใจเมื่อนำมาเทียบเคียงกับเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นกับวงการสื่อบ้านเราขณะนี้ นั่นคือคำว่า advocacy journalism

อันที่จริงคำว่า แอดเวอะคะซี (advocacy) ซึ่งเป็นคำนามในภาษาอังกฤษไม่ได้แปลตรงตัวว่า “เลือกข้าง” แต่แปลว่าการสนับสนุนหรือแก้ต่าง หากเมื่อใช้ประกอบกับคำว่า journalism ที่แปลว่า วารสารศาสตร์ หรือ การสื่อสารมวลชน เป็นคำว่า advocacy journalism ก็อาจเรียกเป็นไทยๆ ได้ว่า “สื่อเลือกข้าง” หรือ “เลือกข้างความเชื่อ” ซึ่งบางครั้งอาจเรียกอีกอย่างว่า สื่อทางเลือก (alternative journalist)

แวดวงสื่อในซีกโลกตะวันตกโดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา รู้จัก advocacy journalism ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ว่าเป็นชื่อเรียกประเภท (genre) ของสื่อสารมวลชน ที่รายงานข่าวโดยให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมเฉพาะเรื่อง เช่นเรื่องชนกลุ่มน้อย เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องคอร์รัปชั่นในวงการเมือง หรือ เรื่องนโยบายของกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นต้น

ความมุ่งมั่นจะเปิดโปงการกระทำที่ไม่ชอบมาพากลของบรรดาผู้มีอำนาจโดยนักข่าวประเภท advocacy ทำให้มีผู้เปรียบเทียบว่า นักข่าวกลุ่มนี้ทำงานไม่ต่างจากพวกมัคเรเคอร์ (muckraker) ที่คอยขุดค้นเรื่องอื้อฉาวของผู้คนมาเปิดโปงต่อสาธารณะ หรือพวกวิสเซิลโบลวเออร์ (whistleblower) ที่คอยล้วงข้อมูลลับวงในของผู้มีอำนาจออกมาแฉ

สื่ออเมริกันหลายรายในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประกาศตัวเป็นฝักฝ่ายทางความคิดแนวทางใดแนวทางหนึ่ง เช่น The Crisis นิตยสารหลักของ NAACP (National Association for the Advancement of Colored People) หรือสมาคมเพื่อการส่งเสริมความก้าวหน้าของคนผิวสีที่ประกาศสนับสนุนสิทธิของคนผิวสีทั่วโลก และนิตยสารผู้หญิง The Suffragist ที่ประกาศสนับสนุนสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงและแนวทางของพรรคสตรีแห่งชาติ (National Woman’s Party) ในประเทศสหรัฐอเมริกา

คนทำสื่อที่เรียกตัวเองว่า advocacy journalist ไม่เชื่อในอุดมคติหลักของสื่อสารมวลชนที่ว่าสื่อสารมวลชนต้องมีความเป็นภววิสัย (objectivity) และความเป็นกลาง (neutrality) ซึ่งหมายถึงมีเฉพาะข้อเท็จจริง ไม่มีความรู้สึกนึกคิด advocacy journalist เชื่อว่าคนทำสื่อเป็นคน จึงย่อมมีความรู้สึกและอคติที่จะชอบและเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอ การรายงานข่าวโดยปราศจากอคติจึงเป็นเรื่องเพ้อฝันที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้

ปี ค.ศ. 2000 ซึ่งเป็นปีเริ่มสหัสวรรษใหม่ของมนุษยชาติ คนทำข่าวจำนวนมากในทวีปอเมริกาเหนือตื่นตัวกับคำว่า advocacy journalism ซู แคร์เลส (Sue Careless) นักเขียน-นักหนังสือพิมพ์ชาวแคนาดาได้เสนอประเด็นนี้ในการประชุมประจำปีของสมาคมนักข่าวแคนาดา ที่ยังคงได้รับการอ้างอิงในปัจจุบันว่าเป็นหลักการที่เหมาะสมสำหรับ advocacy journalism  

หลักการโดยรวมที่แคร์เลสกล่าวถึง ก็คือ

  • สื่อเลือกข้างพึงแสดงทัศนคติของตนเองอย่างชัดเจน เป็นเรื่องปกติที่คนทำสื่อจะเลือกข้างสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาในระดับที่แตกต่างกัน
  • แม้ประกาศตัวเป็นสื่อเลือกข้าง ก็ยังต้องคงสถานะ “สื่อสารมวลชน” ซึ่งมีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏ  หน้าที่ของ “สื่อสารมวลชน” ไม่ใช่ “โฆษณาชวนเชื่อ (propaganda)” ซึ่งตามหลักการ นักโฆษณาชวนเชื่อ (propagandist) สามารถ“บิดเบือน” ความจริง หรือ พูดความจริงครึ่งเดียว หรือ พูดความจริง 3 ส่วน เท็จ 7 ส่วน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ “สื่อสารมวลชน” ไม่มีหน้าที่บิดเบือน ทำข่าวจริงให้เป็นข่าวจริงปนเท็จ ปั้นแต่งเรื่องเท็จ หรือยกข้อความใดข้อความหนึ่งมาอ้างโดยไม่อิงกับบริบทของข้อความเพื่อหาประโยชน์
  • ไม่จำเป็นต้องให้พื้นที่ฝ่ายตรงข้ามเท่ากับฝ่ายที่สื่อเลือกข้างให้การสนับสนุน แต่ในการนำเสนอ ก็ต้องไม่ละเลยข่าวของฝ่ายตรงข้าม หรือจงใจไม่นำเสนอข่าวของฝ่ายตรงข้ามที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง
  • สื่อเลือกข้างจำเป็นต้องทำงานหนักเพื่อตรวจสอบข้อกล่าวหาต่างๆ ซึ่งมีต่อฝ่ายที่สื่อเลือกสนับสนุน สื่อเลือกข้างต้องตั้งคำถามท้าทายกับตัวเองและแหล่งข่าวของฝ่ายที่สื่อเลือกสนับสนุน ต้องระมัดระวังว่า “อคติ”จะทำให้ “ตาบอด” ต่อความเป็นจริง เช่น อคติว่าผู้นำของฝ่ายที่ตนสนับสนุนดีพร้อมทุกประการ ไม่เคยทำอะไรผิดพลาดเลย เป็นต้น
  • สื่อเลือกข้างต้องนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เที่ยงธรรมและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอย่างถี่ถ้วนละเอียดรอบคอบ ต้องเสนอแม้ข่าวที่แสดงให้เห็นว่าฝ่ายที่สื่อสนับสนุนกระทำผิด  หรือกระทำในสิ่งที่อาจลดทอนคุณค่าของฝ่ายที่สื่อสนับสนุน
  • สื่อเลือกข้างจำเป็นต้องใช้แหล่งข่าวและข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

แคร์เลสย้ำว่าแม้สื่อเลือกข้างจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสังคมประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ก็ต้องไม่ทำตัวเป็นนักกิจกรรม (activist) เสียเอง เพราะถ้าคนทำสื่อหรือองค์กรสื่อลงไปเป็นตัวเล่นในเกมหรือสนามรบเอง คนทำสื่อหรือองค์กรสื่อนั้น ๆ จะไม่สามารถให้ข้อมูลความรู้หรือโน้มน้าวผู้บริโภคสื่อที่ยังลังเลไม่เลือกข้าง เนื่องจากผู้บริโภคสื่อจะเห็นว่าคนทำสื่อและองค์กรสื่อนั้น ๆ ไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนั้น ผู้รับสื่อในฝ่ายที่สื่อสนับสนุนยังจะเสียโอกาสได้รับข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ ทันเหตุการณ์ เพราะคนทำสื่อและองค์กรสื่อมัวแต่วนเวียนอยู่แต่ในห้องเสียงสะท้อน (echo chamber) ของตัวเอง

แคร์เลสบอกด้วยว่า คนทำสื่อที่ดีต้องเป็นปากเสียงของปีศาจ หรือเป็นตัวร้ายที่คอยถกเถียงกับความคิดมั่นถือมั่นของตนเองเสมอ เมื่อจะตั้งคำถามกับคนที่คนทำสื่อชื่นชอบก็ต้องเน้นคำถามหนัก ๆ โหด ๆ ต้องอย่าลืมว่าคนทำสื่อไม่ใช่พีอาร์ที่ต้องเขียนประชาสัมพันธ์ยกย่องใครและอย่าใช้แว่นสีกุหลาบมองโลกสวยเกินจริงแล้วสรุปทุกสถานการณ์ให้ออกมาในทางดีอย่างเดียว

แม้ปัจจุบันคนทำสื่อที่เชื่อเรื่องสื่อเลือกข้างหรือ advocacy journalism จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ คนทำสื่ออีกจำนวนมากก็ยังเชื่อว่า ต่อให้ภววิสัยและความเป็นกลางจะยากเพียงใด คนทำสื่อก็ควรมีความพยายามให้เกิดภววิสัยและความเป็นกลางให้มากที่สุด หรือพูดง่ายๆ ว่า ถ้ารังเกียจคำว่า ภววิสัยและความเป็นกลาง ก็ให้ใช้คำว่า “สมดุล (balance) ซึ่งหมายถึงไม่เอียงกระเท่เร่จนถึงขั้นไปใส่ร้ายหรือด้อยค่าฝ่ายที่สื่อไม่เชื่อ หรือถึงขั้นเสนอข่าวปลุกเร้าอารมณ์ในแนว “สื่อเหลือง (yellow journalism) ให้ผู้บริโภคสื่อฝ่ายเดียวกันคล้อยตามว่า อีกฝ่ายไม่มีค่า ไม่มีความเป็นคน ควรเร่งกำจัดให้สิ้นซากโดยเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมาก

“สื่อเหลือง (yellow journalism)” เป็นอีกศัพท์เฉพาะทางในโลกสื่อตะวันตกซึ่งหลายคนนอกวงการสื่ออาจไม่คุ้น คำนี้ว่าด้วย “สีเหลือง” แต่ไม่เกี่ยวกับชาว “เสื้อเหลือง” ในบ้านเรา หากเป็นเสื้อสีเหลืองของตัวละครเอกในการ์ตูนสั้นเสียดสีสังคมชุด “เด็กเหลือง (The Yellow Kid)” ของ ริชาร์ด เอฟ เอาท์คอลท์ (Richard F Outcault) นักวาดการ์ตูนชาวอเมริกัน

ตัวละครเอกที่ว่านี้ ชื่อ มิกกี้ ดูแกน (Micky Dugan) เป็นเด็กชายหัวล้าน หูกาง ฟันเก ยิ้มเปิดเผยแบบซื่อๆ งงๆ ตรงหัวใจให้ทุกคน ดูแกนใส่เสื้อนอนสีเหลืองตัวโคร่งเดินว่อนไปทั่วทุกตรอกซอกซอยในสลัมกลางมหานครนิวยอร์ก พบเจอชีวิตและเหตุการณ์มากมาย ที่เอาท์คอลท์ใช้เป็นมุกเสียดสีสังคมอเมริกันช่วงทศวรรษ 1980s ถึง 1900s ซึ่งแม้ได้ชื่อว่าเป็นยุคก้าวหน้า (progressive era) ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ก็เป็นยุคแห่งความเสื่อมทรามทางสังคมที่ช่องว่างทางชนชั้นถ่างขยายอย่างน่ากลัว จนมีผู้เย้ยหยันว่าใช่ยุคก้าวหน้าเสียที่ไหน ยุคฉาบทองคำเปลว (gilded age) บังเนื้อเขรอะขระมากกว่า

ช่วงปีค.ศ. 1895-1898 หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก เวิลด์ (New York World) ซึ่งมีโจเซฟ พูลิตเซอร์ (Joseph Pulitzer) เป็นหัวเรือใหญ่ กับหนังสือพิมพ์นิวยอรก์ เจอร์เนิล (New York Journal) ซึ่งมีวิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิร์สท (William Randolf Hearst) เป็นหัวเรือใหญ่ ทำสงครามสื่อช่วงชิงการ์ตูนสั้น “เด็กเหลือง” มาเพิ่มยอดจำหน่ายให้สื่อของตัวเอง

ช่วงแรกเอาท์คอลท์เขียนให้พูลิตเซอร์ แต่เฮิร์สทฉกตัวเอาท์คอลท์ไปดื้อๆ ด้วยค่าจ้างที่สูงลิบลิ่วกว่าหลายเท่า การ์ตูน “เด็กเหลือง” จึงปรากฏทั้งในนิวยอร์ก เวิลด์ และนิวยอร์ก เจอร์เนิลในห้วงเวลาเดียวกัน เพราะพูลิตเซอร์อ้างลิขสิทธิ์ติดพันไม่ให้ “เด็กเหลือง” ย้ายบ้าน แต่จ้างนักวาดการ์ตูนคนอื่นมาเขียนแทน ส่วนเอาท์คอลก็ต้องวาดการ์ตูน “เด็กเหลือง” ชุดใหม่ที่มีความแตกต่างบ้างจากของเดิมให้นิวยอร์ก เจอร์เนิล

ผู้คนทั่วไปทั้งในวงการและนอกวงการสื่อ จึงเรียกหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับว่าเป็นพวก “yellow kid papers” ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นคำเฉพาะว่า yellow kid journalism หรือ yellow journalism หมายถึงสื่อที่แข่งกันเสนอข่าวสารและเรื่องราวหวือหวาเร้าอารมณ์ ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ (ยอดจำหน่าย) มากกว่าข่าวสารที่มีสาระซึ่งเรียกกันว่า ข่าวหนัก (serious news)

ในประเทศอังกฤษและหลายประเทศทางทวีปยุโรป เรียกสื่อประเภท yellow journalism ว่า tabloid journalism

ประเทศไทยเรามีสื่อที่เป็น advocacy และ yellow มานานแล้ว แม้คนทำสื่อและผู้บริโภคสื่ออาจไม่ได้สังเกต นำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังเพราะเริ่มมีเสียงพูดถึง “สื่อเลือกข้าง” ในนัยของ advocacy journalism อีกครั้ง ทำนองว่าสื่อต้องเลือกข้างด้วยความศรัทธาและต้องสู้เพื่อสิ่งที่สื่อเชื่อโดยจะใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายที่สื่อไม่เชื่อให้เป็นผู้ร้ายอย่างไรก็ได้  ซึ่งทำให้เกิดผลตามมาเป็น yellow journalism ปลุกอารมณ์ว่าต้องทำลายฝ่ายที่สื่อไม่เชื่อเพราะมันจะทำลายชาติ เป็นต้น

ทั้งหมดนั้น ไม่ตรงกับหลักการสากลของ advocacy journalism

 

อ้างอิง

  1. Advocacy Journalism – Oxford Research Encyclopedia https://oxfordre.com/communication/view/10.1093/acrefore/9780190228613.001.0001/acrefore-9780190228613-e-776
  2. Advocacy Journalism by Sue Careless https://www.theinterim.com/issues/society-culture/advocacy-journalism/
  3. Objectivity and Advocacy in Journalism – Media Ethics Magazine https://www.mediaethicsmagazine.com/index.php/browse-back-issues/179-fall-2013-vol-25-no-1/3999003-objectivity-and-advocacy-in-journalism
  4. When It comes to Advocay Journalism, the Truth Should Come Before Emotion by Dana Givens https://theclick.news/essay-when-it-comes-to-advocacy-journalism-the-truth-should-come-before-emotion/
ว่าด้วยนิยาม “สื่อเลือกข้าง” เรื่องเล่าจากสื่อในซีกโลกตะวันตก