Skip to main content

มาเรีย เรสซา บรรณาธิการของเวบข่าวแรพเลอร์ของฟิลิปปินส์ ถูกศาลในกรุงมะนิลาตัดสินเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พร้อมกับเพื่อนร่วมงานคือเรย์นาลโด ซานตอส จูเนียร์ ว่ามีความผิดทางไซเบอร์อาจถูกจำคุกได้ถึง 6 ปี นับเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากทั้งในและนอกประเทศ เพราะลักษณะการดำเนินคดีในห้วงเวลาที่มีการเล่นงานสื่อของประธานาธิบดีดูแตร์เต้

สื่อหลายรายรายงานว่า การตัดสินของศาลวันนี้ เป็นคำตัดสินที่กำหนดโทษไว้หลวมๆ คือมีโอกาสติดคุกตั้งแต่หกเดือนถึงหกปี ทั้งสองคนต้องจ่ายค่าเสียหายคนละ 8,000 ดอลลาร์ ขณะนี้พวกเขาได้ประกันตัวเพื่อรออุทธรณ์ หากผลการอุทธรณ์ออกมาว่าศาลยังยืนคำตัดสินนี้พวกเขาอาจถูกจำคุกได้ถึง 6 ปี

คดีนี้เป็นการฟ้องร้องของนักธุรกิจชื่อวิลเฟรโด เค็ง ที่อยู่ในข่าวของแรพเลอร์ที่ตีพิมพ์ในปี 2012 เขาอ้างว่าข่าวเชื่อมโยงเขาเข้ากับผู้พิพากษาที่ถูกปลดและข่าวกล่าวหาว่าเขามีส่วนในการค้ายาเสพติด ทำให้เสียชื่อเสียง ข่าวของแรพเลอร์ชิ้นดังกล่าวอ้างว่าได้ข้อมูลจากแหล่งข่าว และในการตัดสิน ผู้พิพากษาบอกว่า แรพเลอร์ไม่มีหลักฐานอื่นใดมาพิสูจน์ได้ว่าข้อกล่าวหาในข่าวของตัวเองเป็นความจริง ผู้พิพากษาบอกว่า ศาลตัดสินตามหลักฐาน จะมาอ้างเรื่องเสรีภาพสื่อไม่ได้

สำหรับการอ้างแหล่งข่าวเป็นวิธีทำงานของสื่อจำนวนมาก หลายครั้งสื่ออาจถูกสั่งให้เปิดเผยชื่อแหล่งข่าว มีนักข่าวหลายรายที่เคยถูกลงโทษเพราะไม่เปิดเผยชื่อแหล่งข่าว

ประเด็นสำคัญก็คือ ข่าวดังกล่าวนี้ตีพิมพ์ในปี 2012 ก่อนหน้าที่กฎหมายความผิดทางไซเบอร์ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้สั่งฟ้องแรพเลอร์จะมีผลบังคับใช้ ข่าวอัลจาซีร่าบอกว่า ในปี 2018 เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตัดสินใจไม่ฟ้อง แต่แล้วทางทำเนียบประธานาธิบดีเข้าไปมีส่วนทำให้มีการกลับลำในการตัดสินใจ เจ้าหน้าที่อ้างว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัวสะกดในข่าวดังกล่าวซึ่งทำในปี 2014 มีผลเท่ากับเป็นการตีพิมพ์ข่าวใหม่ และทำให้ข่าวตกอยู่ภายใต้กรอบเวลาที่จะฟ้องร้องตามกฎหมายความผิดทางไซเบอร์ได้

มาเรีย เรสซาบอกว่า เธอและเพื่อนนักข่าวจะอุทธรณ์ เรสซาบอกว่าการดำเนินคดีกับแรพเลอร์เป็นผลมาจากการเมือง เพราะประธานาธิบดีดูแตร์เต้และผู้สนับสุนนของเขาไม่ชอบแรพเลอร์ เนื่องจากเว็บไซต์ข่าวนี้เขียนข่าวในเชิงติดตามปัญหาผลกระทบคือการละเมิดสิทธิอันเกิดจากการใช้นโยบายทำสงครามต่อต้านยาเสพติดอย่างไม่ลดละ เรสซาเรียกร้องเพื่อนสื่อให้ร่วมต่อสู้และใช้เสรีภาพทำงานต่อไป เธอบอกว่ากรณีที่เกิดกับแรพเลอร์เป็นความพยายามจะสร้างความหวาดกลัว ถ้าสื่อรามือก็คือผู้ต้องการกำราบสื่อประสบความสำเร็จ เรสซาบอกว่า ในวันนี้ที่ถูกดำเนินคดีขึ้นศาลและถูกตัดสินไม่ใช่เพียงเว็บไซต์ข่าวแรพเลอร์เท่านั้น แต่คือกระบวนการยุติธรรมของฟิลิปปินส์ด้วย แต่แรพเลอร์จะไม่ย่อท้อและทำงานติดตามตรวจสอบรัฐบาลต่อไป

ด้านสมาคมผู้สื่อข่าวฟิลิปปินส์กล่าวในแถลงการณ์ว่า วันนี้เป็นวันแห่งความมืดมน ไม่ใช่เฉพาะกับสื่อแต่สำหรับชาวฟิลิปปินส์ด้วย

มาเรีย เรสซาเป็นนักข่าวฟิลิปปินส์ที่เติบโตในสหรัฐฯ เธอเคยทำงานกับซีเอ็นเอ็น กลับประเทศหลังจากที่ฟิลิปปินส์โค่นล้มอดีตประธานาธิบดีมาร์คอส เรสซาก่อตั้งแรพเลอร์ในปี 2012 เป็นหนึ่งในเว็บไซต์ข่าวไม่กี่รายที่ยังรายงานข่าววิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีและนโยบายสงครามยาเสพติดซึ่งทำให้มีคนตายจำนวนมาก

สื่อต่างประเทศให้ความสนใจกับคดีของเรสซามากเพราะกลิ่นอายของคดีที่ส่อแววการกดดันสื่อ รายงานข่าวระบุว่า นอกจากคดีนี้แล้ว อัลจาซีร่าบอกว่านี่เป็นหนึ่งในคดีต่างๆ ไม่ต่ำกว่าแปดคดีซึ่งเป็นคดีที่ถูกฟ้องร้องนับตั้งแต่ดูแตร์เต้เข้ารับตำแหน่งในปี 2016 แรพเลอร์เล่นข่าวเรื่องปัญหาผลกระทบอันเกิดจากการทำสงครามยาเสพติดของประธานาธิบดีดูแตร์เต้อย่างหนัก รวมทั้งเปิดโปงเครือข่ายสนับสนุนดูแตร์เต้ที่ปล่อยข่าวเท็จในโลกโซเชียล

เรสซากล่าวถึงการทำงานของสื่อในเวลานี้ว่าค่อนข้างยากลำบาก เพราะการที่ทางการติดอาวุธให้กับโซเชียลมีเดีย นักข่าวกลายเป็นอาชญากร ตัวเธอถูกเรียกว่าอาชญากรตั้งแต่ก่อนที่ศาลจะตัดสินในวันนี้เสียอีก และเตือนว่า การใช้โซเชียลมีเดียในลักษณะเช่นนี้มีทั่วโลก มันเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับคนทำงานข่าว เพราะมีการใช้โซเชียลมีเดียโจมตีสื่อและนักข่าวและใช้เพื่อลดความสำคัญของข้อเท็จจริงลง

อัลจาซีราบอกว่า นอกจากแรพเลอร์แล้ว สื่อใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์คือ CBS-ABN ยังถูกบีบให้ปิดตัวเองลง อีกกรณีเจ้าของฟิลิปปินส์ เดลี อินไควเรอร์ นสพ.ยักษ์ใหญ่ของฟิลิปปินส์ ก็ถูกบีบให้ต้องขายหุ้นให้พันธมิตรของดูแตร์เต้หลังจากที่ลงข่าวเรื่องผลกระทบจากนโยบายทำสงครามยาเสพติดด้วย

ด้านบีบีซีรายงานอ้างองค์กรมอนิเตอร์สื่ออย่างฟรีด้อมเฮาส์ระบุว่า ฟิลิปปินส์แม้จะมีเสรีภาพในการสื่อสารแสดงออก แต่เป็นที่ที่อันตรายที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับผู้สื่อข่าว และยังอ้างองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนบอกว่า ในฟิลิปปินส์ มีมือปืนที่นักการเมืองจะจัดจ้างได้ง่ายๆ เพื่อให้ปิดปากนักข่าวได้โดยที่ไม่ต้องรับโทษอะไร อีกด้านมีผู้วิจารณ์ว่า ตั้งแต่ดูแตร์เต้ขึ้นมามีอำนาจ สื่อใดวิจารณ์เขาหนักหน่อยจะถูกตอบโต้

สื่ออเมริกันเสนอข่าวแรพเลอร์โดยเทียบเคียงกับสังคมตัวเอง นิวยอร์คไทมส์รายงานว่า คำตัดสินวันนี้มีผลต่อเสรีภาพสื่อของฟิลิปปินส์ซึ่งนักข่าวถูกเล่นงานหนักขึ้นทุกวัน เว็บไซต์ข่าวรายนี้บอกว่า ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ เรียกสื่ออเมริกันว่าเป็นศัตรูของประชาชน ประธานาธิบดีดูแตร์เต้ของฟิลิปปินส์ไปไกลยิ่งกว่าทรัมป์ เขาบอกว่า นักข่าวฟิลิปปินส์เป็นลูกคนบัดซบ son of bitches ที่ไม่อยู่ในข่ายต้องละเว้นในการลอบสังหาร not exempt from assassination

“เราต่อสู้ในสนามรบเดียวกันกับสื่อทั่วโกลที่เจอผู้นำที่มาจากระบบเผด็จการปอปปูลาร์ที่ใช้วิธีตีหัวคนส่งข่าว” มาเรีย เรสซาว่า เธอบอกกับบีบีซีด้วยว่า คนที่ตายด้วยจากคดีในวันนี้มีมากกว่าแรพเลอร์แน่นอน และทั้งนี้รวมไปถึงประชาธิปไตยด้วย

ตามรายงานของบีบีซี ประธานาธิบดีกับผู้สนับสนุนเขาบอกว่าแรพเลอร์รายงานข่าวที่ไม่เป็นความจริงหรือ fake news นิวยอร์คไทมส์ระบุว่าดูแตร์เต้ยังกล่าวหาว่าแรพเลอร์รับเงินจากซีไอเอ นักข่าวแรพเลอร์ถูกห้ามไม่ให้เข้าไปทำข่าวกิจกรรมของประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม วันนี้โฆษกนายดูแตร์เต้บอกว่าสื่อต้องเคารพคำตัดสินของศาล และว่าตัวนายดูแตร์เต้เองไม่เคยคิดจะฟ้องสื่อ เขารับคำวิจารณ์ได้ เขาเชื่อมั่นในเสรีภาพการแสดงออก และคนทำงานให้เขาต้องไม่หน้าบาง

อ้างอิง:

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: นวลน้อย ธรรมเสถียร ผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตสารคดีอิสระ และเป็นสมาชิกก่อตั้งกลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์
คดีแรพเลอร์กับเสรีภาพสื่อในฟิลิปปินส์