Skip to main content

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 องค์กรสื่อวารสารศาสตร์ทั่วโลกเผชิญกับการปะทุของระเบิดเวลาที่ถูกฝังมานาน ทั้งความพยายามประคับประคองธุรกิจที่จวนเจียนจะล้มเพราะรายได้ (ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโฆษณา) หดหายอย่างต่อเนื่อง ทั้งก่อนและระหว่างวิกฤตโควิด-19 รวมทั้งวิกฤตเศรษฐกิจที่ตามมา ขณะที่ยังต้องรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่และการจัดการโรคระบาดด้วยระบบการทำงานแบบทางไกลที่ไม่คล่องตัวนัก เนื่องจากมีบุคลากร เครื่องมือและสถานที่ รวมถึงงบประมาณที่จำกัด ท่ามกลางการแบ่งขั้วและความไม่เท่าเทียมในสังคม การแพร่กระจายของข้อมูลบิดเบือนและข้อมูลผิดพลาด รวมถึงความไว้วางใจจากสาธารณะที่ลดลง

แม้สภาพการณ์ปัจจุบันอาจทำให้ไม่เห็นทางออกที่สร้างสรรค์ แต่ในการประชุมออนไลน์ Newsrewired ที่จัดโดยองค์กร journalism.co.uk เมื่อปลายเดือนมิถุนายน-ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นักวิชาชีพและผู้เชี่ยวชาญจากยุโรปและสหรัฐอเมริกามองว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รวมถึงกระแสการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อต่อต้านการเหยียดสีผิว และเรียกร้องการปฏิรูประบบตำรวจและกระบวนการยุติธรรมที่เริ่มขึ้นในสหรัฐฯ เป็นสัญญาณเตือนให้องค์กรสื่อและนักวารสารศาสตร์ต้องทบทวนความหมายในการดำรงอยู่ เพื่อเป็นคำตอบในการเดินหน้าต่อไป

แรงกระตุ้นหนึ่งที่ทำให้สัญญาณชีพของวงการวารสารศาสตร์ที่ดูอ่อนแรงกลับมาแข็งแกร่งขึ้น คือหลายองค์กรเห็นจำนวนผู้สมัครสมาชิกที่เพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มออนไลน์และสื่อท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่า “corona bump” สิ่งนี้สะท้อนว่าประชาชนเชื่อถือและเห็นคุณค่าของงานวารสารศาสตร์มากขึ้นในยามวิกฤต เพราะต้องการก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงในชุมชนของตน ป้องกันผลกระทบจากโรคระบาด รวมถึงสร้างกำลังใจและไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในยามที่ชีวิตต้องหยุดอยู่กับที่      

สำหรับองค์กรข่าวในตะวันตก การเพิ่มขึ้นของสมาชิกใหม่แสดงถึงความเป็นไปได้ในการหารายได้ด้วยวิธีอื่น ไม่ว่าจะเป็นการสมัครสมาชิก การจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงเนื้อหา หรือการรับบริจาค เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากโฆษณาที่เคยเป็นช่องทางหลัก แม้จะต้องทำใจว่าจะไม่ได้เงินเป็นกอบเป็นกำเช่นเดิมจนทำให้ต้องคิดใหม่ทำใหม่เรื่องการจัดการขนาดองค์กร ระบบการทำงาน รวมถึงขอบเขตและทิศทางของเนื้อหาก็ตาม

ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์นี้ก็ชี้ว่าองค์กรวารสารศาสตร์ต้องทำความเข้าใจผู้รับสารจากข้อมูลผู้ใช้และความต้องการของประชาชนที่มากไปกว่าการอ่านข้อมูลหลังบ้านทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียเพียงอย่างเดียว

การสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้รับสารในรูปแบบต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ จริงใจ และโปร่งใส อย่างเช่นการสำรวจความเห็นประชาชนต่อประเด็นสาธารณะ การจัดกิจกรรมให้ความรู้หรือสานสัมพันธ์ทางออนไลน์และออฟไลน์ การขอความช่วยเหลือด้านข้อมูลและความเชี่ยวชาญจากผู้อ่าน/ผู้ชม/ผู้ฟัง และการทำงานร่วมกับผู้รับสารและภาคส่วนอื่นๆ จึงเป็นแนวทางที่หลายองค์กรหันมาทดลองและลงทุน เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม ความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจจากสาธารณะอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ กระแสการตื่นรู้และตื่นตัวของสาธารณะต่อความไม่ยุติธรรมต่อคนกลุ่มน้อยในสังคมซึ่งเป็นผลจากความไม่เท่าเทียม ไม่เพียงทำให้องค์กรวารสารศาสตร์ต้องทบทวนแนวทางการรายงานแบบเดิมที่กระทบต่อการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกกดทับเท่านั้น แต่ยังต้องกลับมาพินิจโครงสร้างและวัฒนธรรมการทำงานในห้องข่าวที่ไม่ส่งเสริมความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการยอมรับคนทุกกลุ่ม (diversity, equity, inclusion) ซึ่งฝังรากลึกในองค์กรใหญ่หลายแห่ง จนทำให้เกิดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เปิดโอกาสให้คนกลุ่มน้อยได้เติบโตในหน้าที่การงาน หรือเปิดพื้นที่ให้เรื่องราวของคนไร้เสียงได้ปรากฏในพื้นที่สาธารณะ

ข้อเสนอเหล่านี้จึงสะท้อนว่า กุญแจสู่อนาคตของสื่อวารสารศาสตร์อยู่ที่การให้ความสำคัญกับ “ประชาชน” ทั้งผู้รับสารและคนทำงานที่เป็นทั้งพนักงานขององค์กรและฟรีแลนซ์ (ที่ไม่ใช่เพียงตั้งคำขวัญว่าจะยืนอยู่ข้างประชาชนเท่านั้น) เพื่อจะได้หาแนวทางการทำงานและโมเดลการประกอบการที่เลี้ยงตัวได้ในระยะยาว

ที่สุดแล้ว สื่อวารสารศาสตร์ต้องยึดโยงอยู่กับคุณค่าของสังคมประชาธิปไตยที่ยึดมั่นในเสรีภาพในการพูดและการแสดงความเห็น สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการมีส่วนร่วมของสาธารณะ เพื่อให้สังคมเห็นว่าสื่อเป็นตัวแทนประชาชนในการตั้งคำถาม ตรวจสอบ และทำให้สถาบันที่มีอำนาจต้องรับผิดรับชอบต่อการกระทำที่มีผลต่อสังคม

ด้วยเหตุนี้ นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและทางสังคมที่องค์กรวารสารศาสตร์จะนำมาใช้ จึงต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่สนองเพียงความสนใจใคร่รู้ของคนหรือเพื่อความอยู่รอดขององค์กรเท่านั้น รวมถึงหมั่นหาคำตอบว่า คุณค่าของงานวารสารศาสตร์ต่อสาธารณะคืออะไร เพื่อที่จะดำรงอยู่ต่อไปในสังคมได้อย่างมีความหมายและยั่งยืน.

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนใจเรื่องวารสารศาสตร์กับความขัดแย้ง การผลิตข่าว สื่อทางเลือกและสื่อชุมชน
ความท้าทายและอนาคต (ใหม่) ของสื่อวารสารศาสตร์หลังวิกฤตโควิด-19