รู้หรือไม่ว่า การรายงานข่าวสิทธิผู้หญิงอาจถึงตายได้ ในโอกาสวันสตรีสากล (8 มีนาคม) องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนตีแผ่ความรุนแรงที่นักข่าวทั้งหญิงชายเผชิญเมื่อเสนอข่าวประเด็นสิทธิสตรีและเพศสภาพ ด้วยการเผยรายงานเรื่อง “สิทธิผู้หญิง: เรื่องต้องห้าม”
ในช่วงปี 2012-2017 มีนักข่าว 90 คนใน 20 ประเทศถูกคุกคามอย่างรุนแรงและถูกสังหาร เพราะการทำข่าวประเด็นสตรีและเพศสภาพ จากผลสำรวจพบว่า มีนักข่าว 11 คนถูกฆาตกรรม, 12 คนถูกจองจำ, 25 คนถูกทำร้ายร่างกาย และอีก 40 คนยังคงถูกข่มขู่ผ่านสังคมออนไลน์
- ในอินเดีย Gauri Lankesh บรรณาธิการวารสารรายสัปดาห์ “Gauri Lankesh Patrike” ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว (2017) เนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์ระบบลำดับชั้นชนในสังคมที่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง
- ในอิหร่าน นักข่าวสิทธิสตรีหลายคนถูกคุกคามด้วยอำนาจตุลาการ และถูกจองจำเนื่องจากข่าวที่เขียน หนึ่งในนั้นคือ Mansoureh Shojaee ผู้ที่ต้องลี้ภัย และ Narges Mohammadi ที่ยังถูกจองจำอยู่
- ในโซมาเลีย นักข่าวชาย ชื่อ Abdiaziz Abdinur Ibrahim ถูกตัดสินจำคุก 1 ปี ด้วยข้อกล่าวหาเขียนข่าวเท็จกรณีสัมภาษณ์เหยื่อที่ถูกข่มขืนในค่ายผู้ลี้ภัยในโซมาเลีย
รายงานของผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนยังได้บันทึกกรณีคุกคามทำร้ายนักข่าวที่รายงานข่าวประเด็นสิทธิสตรีมากกว่า 20 กรณี ทั้งการข่มขู่คุกคามโดยวาจา การทำร้ายร่างกาย หรือการทำร้ายทางเพศ ที่เกิดขึ้นในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา อาทิ
- Mae Azango นักข่าวหญิงชาวลิเบอเรียน ผู้รายงานข่าวเรื่องการกรีดอวัยเพศของสตรีในแอฟริกาใต้ ถูกข่มขู่ทางโทรศัพท์ว่า "พวกกูกำลังจะไปกรีดของมึง” (เหตุเกิดเมื่อปี 2010)
- Sajeev Gopalan นักข่าวอินเดียถูกคนร้ายบุกทำร้ายร่างกายที่บ้านพัก หลังจากเขารายงานข่าวเรื่องเด็กหญิง 2 คนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุกคามทางเพศ (เหตุเกิดเมื่อปี 2017)
- Natasha Smith นักข่าวสาวชาวอังกฤษ ถูกรุมทำร้ายอย่างทารุณขณะถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับสิทธิสตรี ระหว่างมีการชุมนุมที่จตุรัสทาห์รีร์ในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เธอถูกผู้ชุมนุมชายกลุ่มใหญ่ฉุดกระชากลากถู รุมทึ้งจับเธอแก้ผ้า และลวนลามกลางฝูงชน (เหตุเกิดเมื่อปี 2012)
- Nareen Shammo ผู้สื่อข่าวทีวีชาวยาซิดี-เคิร์ด ต้องลี้ภัยออกจากอิรัก หลังรายงานข่าวเกี่ยวกับผู้หญิงในชุมชนของเธอถูกข่มขืนและทำร้ายทางเพศภายใต้การบงการของรัฐอิสลาม (เหตุเกิดเมื่อปี 2015)
“ในปี 2018 นี้ นักข่าวไม่ควรต้องเสี่ยงอันตรายเมื่อรายงานข่าวประเด็นสิทธิสตรี แต่ความเป็นจริงในหลายภาคส่วนของโลก พวกเขายังได้รับอันตราย” Christophe Deloire เลขาธิการองค์กรนักข่าวไร้พรมแดนกล่าว “ในรายงานนี้ระบุถึงเหตุปัจจัยที่ขัดขวางเสรีภาพสื่อในการทำข่าวสืบสวนสอบสวนและประเด็นสิทธิสตรี ทั้งโดยนักข่าวหญิงและชาย และเรามีข้อเสนอแนะชัดเจนยิ่งเพื่อประกันว่าให้คนในโลกมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันด้วยการรายงานข่าวของสื่อทั่วโลก ไม่เช่นนั้นเราไม่สามารถพูดเรื่องเสรีภาพสื่อและสังคมที่มีความแตกต่างได้เลย”
ผู้ไล่ล่าคุกคามหลากรูปแบบ
ใครคือผู้ขัดขวางสิทธิสตรีและเสรีภาพสื่อ? รายงานขององค์กรนักข่าวไร้พรมแดนชี้ว่า กลุ่มคลั่งศาสนาแบบสุดโต่ง เช่น กลุ่มตาลีบันและรัฐอิสลาม
- ในสหรัฐอเมริกา นักข่าวที่รายงานข่าวประเด็นสิทธิทำแท้งถูกขู่ฆ่าจากกลุ่มสนับสนุนสิทธิในการมีชีวิต
- หน่วยงานด้านอาชญากรรมหลายแห่งขอร้องให้นักข่าวหยุดเสนอข่าว ในเม็กซิโก การรายงานข่าวเกี่ยวกับผู้หญิงชาวชิวาวาทางตอนเหนือที่ถูกสังหารเป็นเรื่องที่ต้องเสี่ยงภัย
- ระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยม เช่น จีน, ตุรกี, และอียิปต์ นับเป็นปัจจัยขัดขวางไม่ให้มีการถกเถียงประเด็นสิทธิผู้หญิงในที่สาธารณะ
- ในฝรั่งเศส, แคนาดา, และอีกหลายประเทศ กลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่เดือดดาลหลายกลุ่มต่างรณรงค์คุกคามนักข่าวทางไซเบอร์
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเหยื่อเป็นเพศหญิง การข่มขู่คุกคามยิ่งรุนแรงและส่วนใหญ่เกี่ยวข้องเรื่องเพศ
