เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2017 คณะกรรมการเพื่อปกป้องนักข่าว (Committee to Protect Journalists : CPJ) ประกาศชื่อนักข่าว 4 คนจากแคเมอรูน, เม็กซิโก, ไทย และเยเมน เป็นผู้ได้รับ รางวัลเสรีภาพสื่อสากล ประจำปี 2017 เพื่อเป็นเกียรติกับการยืนหยัดทำงานในวิชาชีพสื่อและต่อสู้กับอำนาจรัฐที่คุกคามเสรีภาพสื่อ ซึ่งเป็นเหตุให้พวกเขาต้องถูกข่มขู่คุกคาม, จับกุมคุมขัง และดำเนินคดี
ผู้ได้รับรางวัลทั้ง 4 คน ได้แก่ อะเหม็ด แอบบา จากแคเมอรูน, แพตริเซีย มายอร์ก้า จากเม็กซิโก, ประวิตร โรจนพฤกษ์ จากไทย, และ อัฟฟราห์ นัซเซอร์ จากเยเมน
Ahmed Abba จากแคเมอรูน
อะเหม็ด แอบบา วัย 38 ปี เป็นผู้สื่อข่าวของ Radio France Internationale's (RFI) Hausa service โดยปกติเขาทำข่าวประเด็นผู้ลี้ภัย แต่เมื่อไปทำข่าวเหตุการณ์การโจมตีของกลุ่มอิสลามิกสุดโต่ง Boko Haram เป็นเหตุให้เขาถูกรัฐบาลจับกุมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2015 ขณะเดินทางออกจากงานแถลงข่าวแห่งหนึ่ง เขาถูกกล่าวหาว่าติดต่อกับกลุ่ม Boko Haram โดยไม่แจ้งให้ทางการรู้
อะเหม็ดไม่ได้รับอนุญาตให้พบทนายจนกระทั่งเดือนตุลาคม 2015 และเจ้าหน้าที่ทางการไม่ยอมรับคำแถลงของเขาจนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นการขัดกฎหมายของแคเมอรูน กระบวนการพิพากษาคดีของเขาเริ่มต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2016 เขาถูกฟ้องร้องว่า "สมรู้ร่วมคิดในการก่อการร้าย และไม่ประณามการก่อการร้าย"
เดือนเมษายน 2017 ศาลทหารยกฟ้องอะเหม็ดในคดีก่อการร้าย แต่ลงโทษจำคุกเขา 10 ปี และปรับ 91,133 เหรียญสหรัฐ สำหรับความผิดที่เกี่ยวโยงกับข้อกล่าวหาเรื่องก่อการร้าย ทนายความของเขาอยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์
Patricia Mayorga จากเม็กซิโก
แพตริเซีย มายอร์ก้า เป็นผู้สื่อข่าวของนิตยสาร Proceso ในเม็กซิโกซิตี้ เธอเริ่มงานในอาชีพนักข่าวตั้งแต่ปี 2000 ทำข่าวด้านสาธารณสุขและการศึกษา และเริ่มมาทำข่าวสิทธิมนุษยชนและการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาล รวมทั้งการกระทำความรุนแรงต่อพลเมือง จนเป็นเหตุให้ต้องเผชิญกับการคุกคาม
มายอร์ก้ารายงานข่าวกรณีชนเผ่าพื้นเมืองในเม็กซิโกที่ถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งโยงใยไปถึงอำนาจรัฐ เป็นผลให้มายอร์ก้าถูกข่มขู่หลายครั้ง และหลังจากเพื่อนนักข่าวคนหนึ่งถูกลอบสังหารเมื่อเดือนมีนาคม 2017 มายอร์ก้าตัดสินใจหนีด้วยความช่วยเหลือของคณะกรรมการเพื่อปกป้องนักข่าว (CPJ)
เธอร่วมก่อตั้ง Free Journalism Network เพื่อสนับสนุนการทำงานในวิชาชีพสื่อ, สร้างเครือข่ายสื่อมวลชน และจัดอบรมจรรยาบรรณสื่อให้นักข่าวรุ่นใหม่
Pravit Rojanaphruk จากประเทศไทย
ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสและคอลัมนิสต์ของเว็บไซด์ข่าวสดอิงลิช (Khaosod English) http://www.khaosodenglish.com/ เป็นหนึ่งในนักข่าวไทยที่มีบทบาทวิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐที่คุกคามเสรีภาพในการแสดงออกและเรียกร้องเสรีภาพสื่อมายาวนาน
เดือนพฤษภาคม 2014 หลังเกิดรัฐประหาร เขาถูกเรียกตัวและกักตัวไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับบุคคลภายนอกเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ และถูกเรียกตัวไปควบคุมในค่ายทหารอีกเป็นครั้งที่สองในเดือนกันยายน ครั้งนี้เขาถูกปิดตาระหว่างพาตัวไปยังสถานที่กักกัน ซึ่งเป็นห้องขนาดประมาณ 4X4 เมตร ปิดหน้าต่างทุกบานไว้ ไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับใครเป็นเวลา 4 วัน คณะรัฐประหารกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ประวิตรถูกควบคุมตัวเนื่องจากการเขียนบทความหลายชิ้นที่ "อาจสร้างความสับสนและความเข้าใจผิด" และเป็นการต่อต้านความพยายามของคณะรัฐประหารที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ
ก่อนได้รับการปล่อยตัวโดยปราศจากข้อกล่าวหา ประวิตรถูกบังคับให้ลงนามรับเงื่อนไขในการปล่อยตัวว่าจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดที่ต่อต้านคณะรัฐประหาร
หลังได้รับการปล่อยตัวเพียงหนึ่งวัน ประวิตรถูกผู้บริหารหนังสือพิมพ์ The Nation ที่เขาทำงานให้มา 23 ปี ขอร้องให้ลาออก เพื่อหลีกเลี่ยงที่องค์กรจะถูกกดดันจากรัฐบาลทหาร
ประวิตรยังคงรายงานข่าวและวิพากษ์วิจารณ์การคุกคามของทหาร โดยเฉพาะการปราบปรามผู้เห็นต่างและการจับกุมคุมขังด้วยการใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112
Afrah Nasser จากเยเมน
อัฟฟราห์ นัซเซอร์ นักข่าวและบล็อกเกอร์จากเยเมน ปัจจุบันมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยการเมืองอยู่ในสวีเดน เละยังคงรายงานข่าวประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพสื่อในเยเมน
นัซเซอร์เริ่มทำงานสื่อมวลชนในปี 2004 โดยเขียนให้ Yemen Times และเริ่มเป็นนักข่าวของ Yemen Observer ในปี 2008 เมื่อเกิดการลุกฮือในเยเมนปี 2011 นัซเซอร์เริ่มเขียนบล็อกรายการเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและประเด็นเพศสภาพในประเทศ และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลช่วงเกิดเหตุการณ์ลุกฮือ ทำให้เธอถูกข่มขู่จากกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล
นัซเซอร์ตัดสินใจยื่นขอลี้ภัยในสวีเดนระหว่างมาเข้าร่วมอบรมที่สวีเดนในปี 2011 และได้รับฐานะ "ผู้ลี้ภัยการเมือง" ในปีนั้น เธอทำงานเป็นผู้สื่อข่าวอิสระให้กับสำนักข่าวหลายแห่ง อาทิ Al-Jazeera English, CNN, The National, Institute for War and Peace Reporting, Middle East Eye, และ The Huffington Post
คณะกรรมการเพื่อปกป้องนักข่าว (ซีพีเจ) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก่อตั้งปี 1981 โดยกลุ่มผู้สื่อข่าวอเมริกัน ที่ตระหนักว่าพวกเขาไม่อาจเพิกเฉยกับเพื่อนนักข่าวที่ต้องเผชิญอันตรายด้วยเหตุจากการปฏิบัติหน้าที่สื่อ ซีพีเจ ทำงานส่งเสริมเสรีภาพสื่อทั่วโลก และปกป้องสิทธิของนักข่าวในการรายงานข่าวโดยปราศจากความกลัวที่จะถูกแก้แค้น |
Source: http://cpj.org/awards/
