Skip to main content


Image Source: NLD

หลังจากเลือกตั้งของพม่าเมื่อปลายปีที่แล้ว สื่อเอกชนส่วนใหญ่หันไปสนับสนุนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของนางอ่องซาน ซูจี นักวิเคราะห์ชี้ประเด็นที่น่าจับตาคือสื่อจะเปลี่ยนฐานะจากการต่อต้านรัฐมาเป็นกระบอกเสียงของรัฐหรือไม่

มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ ร่วมต้อนรับผู้นำพลเรือนของพม่า ด้วยการจัดเวทีมีเดียคาเฟ่-สื่อสนทนา หัวข้อ "สื่อพม่าภายใต้รัฐบาลพลเรือน" วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม 2559 โดยมีผู้ร่วมสนทนา 3 ท่าน ได้แก่ อรรวี แตงมีแสง อดีตผู้สื่อข่าว/ เจ้าของเพจ Natty in Myanmar, ชัยรัตน์ ถมยา บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ ไทยรัฐทีวี และ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น (The Nation)

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี เริ่มต้นว่าในอดีตการทำงานสื่อภายใต้ระบอบทหารนั้นมีความยากลำบาก  หลังรัฐบาลเต็งเส่งขึ้นบริหารประเทศ สื่อมวลชนมีเสรีภาพมากขึ้น แต่ไม่ทั้งหมด การจับกุมนักข่าวก็ยังคงมีอยู่ 

สำหรับรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้วนั้น สุภลักษณ์ กล่าวว่าหลังการได้ชื่อประธานาบดีคนใหม่ ปรากฏว่าไม่ค่อยมีใครรู้จัก รวมทั้งสื่อมวลชน ทำให้การรายงานประวัติของท่านไม่ถูกต้องเท่าที่ควร  เช่นในไทย สื่อเรียกขานประธานาธิบดีคนใหม่ว่าเป็น “คนขับรถ” ให้นางอ่องซาน ซูจีบ้าง ซึ่งบางคนวิจารณ์ว่าพรรค NLD ซึ่งไม่ค่อยให้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของพรรค

“ความสัมพันธ์ของพรรค NLD ในฐานะรัฐบาลกับสื่อมวลชนในอนาคตจะมีลักษณะเช่นใด  ราบรื่นขนาดไหน ประกอบกับท่าทีของอ่องซาน ซูจีที่ไม่ค่อยสนใจสื่อเล็ก สนใจเฉพาะสื่อใหญ่ ทำให้สื่อมวลชนในพม่าเองรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจมาสักระยะหนึ่งแล้ว ผมตั้งประเด็นว่าสถานการณ์ของสื่อมวลชนทั้งในพม่าและสื่อต่างประเทศที่เข้าไปทำในพม่า เป็นอย่างไร”

อรรวี แตงมีแสง อดีตผู้สื่อข่าวที่ผันตัวไปทำงานกับภาคธุรกิจในพม่า/ เจ้าของเพจ Natty in Myanmar มองว่าสถานการณ์การทำงานข่าวของสื่อพม่าในช่วงก่อนรัฐบาลเต็งเส่ง ค่อนข้างถูกจำกัด แม้แต่รูป หรือชื่อของอ่องซาน ซูจี ก็เอ่ยไม่ได้ต้องใช้คำว่า “The Lady” แทน เมื่อรัฐบาลของอูเต็งเส่งขึ้นมา สื่อมีเสรีภาพมากขึ้น  “ทุกวันนี้สื่อแบ่งเป็น สื่อรัฐ เช่น The Mirror และ New Light of Myanmar ส่วนสื่อเอกชน มีหัวใหญ่ ๆ เช่น Seven Days Daily และ Eleven Media”  

อู่ ถิ่น จอ ประธานาธิบดีคนใหม่

หลังประกาศชื่อประธานาบดีคนใหม่ สื่อเอกชนส่วนใหญ่สนับสนุนพรรค NLD

อรรวีเล่าถึงสถานการณ์หลังประกาศชี่อ อู ถิ่น จ่อ เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ว่าสื่อเอกชนต่างร่วมแสดงความยินดี และการรายงานข่าวเป็นไปในทางสนับสนุนพรรค NLD  “ขณะที่สื่อของรัฐไม่ได้แสดงความยินดี และมีการรายงานข่าวที่เป็นข้อมูลจริงมากกว่า เช่น ได้รับเลือกตั้งเท่าไร อย่างไร ประธานาธิบดีคนที่ 1 และ 2 คือใคร”

จากประสบการณ์การทำงานสมัยที่เต็งเส่งเป็นประธานาบดี อรรวีเห็นว่าไม่ได้ลำบากเท่าไรนักเมื่อเทียบกับสื่อรุ่นก่อน ๆ “การขอวีซ่านักข่าวเข้าไปทำข่าวนั้นจะได้ทุกครั้งที่ขอ แต่อาจใช้เวลา เช่น การเข้าไปทำข่าวเมื่อครั้งที่พม่าเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ขอวีซ่าไม่ยากและเวลาทำข่าวไม่มีใครติดตาม เมื่อขอสัมภาษณ์รัฐมนตรีต่าง ๆ ก็ได้รับการอำนวยความสะดวกและช่วยติดต่อให้ด้วยซ้ำ”

ชัยรัตน์ ถมยา บรรณาธิการข่าวต่างประเทศของไทยรัฐทีวี เล่าประสบการณ์ทำข่าวในพม่าสมัยที่ทำงานให้กับสถานีโทรทัศน์ของญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในช่วงของรัฐบาลนายพลอาวุโสตานฉ่วย และประเทศญี่ปุ่นเป็น donor ให้พม่า การจะเข้าไปทำข่าวก็ต้องหาโอกาสเพื่อเข้าไป เช่น วันกองทัพ วันชาติ “อาศัยช่วงเวลานั้นเข้าไปเก็บข้อมูล แต่ถามว่ารายงานได้ไหม ญี่ปุ่นเขาไม่รายงาน”

ชัยรัตน์เล่าว่า ช่วงที่นางอองซาน ซูจียังถูกกักบริเวณ และสามีเธอป่วยหนัก “ผมต้องมอนิเตอร์มองจากโรงแรมที่พัก อยู่ห่างๆ  จากที่พักของเธอ ดูว่าเธอจะไปหรือไม่ นี่คือความยากลำบากในการทำข่าวช่วงนั้น แต่ส่วนใหญ่สื่อญี่ปุ่นขอไปทำข่าวแต่เรื่องดี ๆ ต้องส่งแฟ็กซ์เข้าไปขออนุมัติอย่างเป็นทางการ ซึ่งหัวหน้าข่าวต้องบอกว่า พูดอะไรต้องระวัง ต้อง play save เพื่อรักษาความสัมพันธ์”

ชัยรัตน์เห็นด้วยกับอรรวีว่า เมื่อเต็งเส่งขึ้นเป็นประธานาธิบดี มีการเปิดกว้างมากขึ้น “ในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา นักข่าวไทยไปทุกสำนัก ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนจะขอเข้าไปทำข่าวยากมาก  อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงคนสำคัญ ๆ ในพรรค NLD นั้นทำได้เพียงระดับหนึ่ง เช่น โฆษกพรรค และเลขาพรรค แต่การเข้าถึงอองซาน ซูจี ยังทำไม่ได้ มีเพียงสื่อใหญ่ เช่น บีบีซี และ สกายนิวส์ เท่านั้นที่เข้าถึง นี่เป็นสารที่ส่งออกมาอย่างชัดเจนว่า เธอจะเลือกพูดกับใคร ทำให้หลาย ๆ สื่อไม่พอใจ”


Image Source: NLD

การสื่อสารระหว่างพรรค NLD กับสื่อมวลชนยังไม่ราบรื่น

ล่าสุดเรื่องนโยบายพรรค นักข่าวได้รับคำตอบว่ายังต้องรออีก 100 วันถึงจะบอกได้  เรื่องนี้ชัยรัตน์มองว่า “หรือว่าอาจยังไม่มีนโยบาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ว่า การที่คนตัดสินใจเลือก NLD นั้นเพราะอะไร” และวิเคราะห์ว่า “อาจเป็นเพราะพม่ามีรัฐบาลพลเรือนครั้งแรกในรอบ 50 ปี อาจยังไม่เข้ารูปเข้ารอย และมีอะไรให้คิดอีกเยอะ แต่หาก NLD ยังทำแบบนี้ต่อไปจะไม่ดีต่อภาพลักษณ์ คิดว่าน่าจะสื่อสารกับนักข่าวมากกว่านี้”

ด้านสุภลักษณ์เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ น่าจะเป็นตัวชี้วัดวิธีการจัดการกับสื่อต่างชาติ “พม่าให้ความสำคัญกับนักข่าวไทยต่ำ ตอนผมทำงานให้เกียวโด ผมไปได้ทุกที่ในพม่า พอมาเป็นสื่อมวลชนไทย ไปไม่ได้ เข้าใจว่านโยบายพม่าต้องการญาติดีกับสหรัฐมากกว่า”

ชัยรัตน์ตั้งข้อสังเกตว่า Channel News Asia เป็นอีกสื่อที่ได้สัมภาษณ์อองซาน ซูจี หลังการเลือกตั้ง “ความสัมพันธ์ของพม่าและสิงคโปร์ดีมาก และ Channel News Asia มีคนดูทั่วภูมิภาค พม่าอาจคิดถึงตัวเลขคนดูที่ช่องนี้เข้าถึง”

คำถามที่น่าจับตาหลังจากนี้ต่อไป คือ พรรค NLD จะให้เสรีภาพสื่อในการทำข่าวในพื้นที่อ่อนไหวหรือไม่ “เดิมพื้นที่อ่อนไหว เช่น ยะไข่ นักข่าวต้องแปลงตัว ปะแป้ง ใส่ผ้าถุงเข้าไปทำข่าว ไม่แน่ใจว่าหลังจากนี้ NLD จะให้เสรีภาพกับนักข่าวหรือไม่”

 อรรวีเห็นด้วยว่า ประเด็นข้อขัดแย้งทางศาสนา คือประเด็นที่น่าจับตามอง “เร็วๆ นี้ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม บ้านนักข่าวอิสระ ของสื่อท้องถิ่นในรัฐยะไข่ถูกวางระเบิด ทำให้สื่อตั้งคำถามว่า นักข่าวในพื้นที่นั้นจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่ แล้ว NLD มีจุดยืนเรื่องนี้อย่างไร เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในพรรคนับถือศาสนาพุทธ”


ผู้ร่วมสนทนา (จากซ้าย) ชัยรัตน์ ถมยา, อรรวี แตงมีแสง, สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

สุภลักษณ์ ตั้งคำถามว่า การที่สื่อเริ่มหันมาสนับสนุนพรรค NLD นั้น “สื่อจะเปลี่ยนฐานะจากการต่อต้านรัฐมาเป็นกระบอกเสียงของรัฐหรือไม่”

อรรวีเห็นว่า สื่อเอกชนต่างๆ ที่สนับสนุนมีการรายงานข่าว นำเสนอบทความที่สะท้อนว่า NLD มีข้อท้าท้ายอะไรบ้าง มีการตั้งคำถามบ้าง  ไม่ได้สนับสนุนทุกอย่าง “คงไม่เหมือนกับสื่อของรัฐบาลทหารเมื่อก่อน ด้านนักข่าวของสื่อรัฐบาล เดิมรายงานข่าวตามคำสั่ง ไม่มีการมองอีกมุม และคิดว่าคงยากที่จะปรับตัว หากรัฐบาลสั่งอะไร อาจรายงานตามนั้นไม่มีความคิดริเริ่ม”

สื่อรุ่นใหม่เป็นความหวังของพม่า

จากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับนักข่าวรุ่นใหม่ของพม่าและองค์กรอบรมสื่อต่างๆ ชัยรัตน์เห็นว่า “มีหลายองค์กรที่ให้การอบรมนักข่าวรุ่นใหม่ ผ่านโครงการช่วยเหลือต่างๆ ภายใต้รัฐบาลเต็งเส่ง เมื่อได้คุยกับเด็กรุ่นใหม่ๆ จะเห็นว่าความคิดมุมมอง และประเด็นข่าวของพวกเขา professional มาก ถ้าไม่มีปัญหาที่ทำให้ประเทศกลับไปเป็นเผด็จการแบบเดิม การรายงานข่าวของพวกเขาน่าสนใจมากยิ่งขึ้น”

สุภลักษณ์สรุปประเด็นได้อย่างน่าสนใจว่า “แม้ว่าเรายังไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของพม่าในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา แต่เราไม่สามารถเอาภาพของไทย ไปทาบกับพม่าได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะก่อนหน้านี้หลังการเลือกตั้งส่วนใหญ่คือเหตุการณ์นองเลือด แต่คราวนี้พัฒนาไปในทางที่ดี น่าจะราบรื่นมากขึ้น อาจมีคนของพรรค NLD เป็นอธิบดีกรมข่าวสาร แต่กระทรวงยังเป็นของเดิม แม้นโยบายอาจเปลี่ยนแต่ความคิดอาจไม่เปลี่ยนก็เป็นได้  ด้านประเด็นสถานการณ์ชนกลุ่มน้อย ยังไม่จบ พรรค NLD ยังไม่ได้แสดงจุดยืน แต่การไม่มีจุดยืนก็แสดงจุดยืน จะเหมือนกับว่ามีจุดยืนเหมือนกับรัฐบาลเดิมหรือไม่?”

สื่อพม่าภายใต้รัฐบาลพลเรือน