คณะละครหนึ่งสีชาด (Satu Merah Panggung) ของรัตนา ซารุมปาเอ็ต (Ratna Sarumpaet) เป็นคณะละครที่สร้างสรรค์งานละครมายาวนานกว่า ๒๐ ปี และเป็นคณะละครที่มีผู้กำกับและผู้ประพันธ์บทละครเป็นผู้หญิง อาจกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งเดียวที่เป็นเสียงส่วนน้อยในวงการซึ่งผู้กำกับทั้งหมดเป็นชาย รัตนาผลิตละครที่วิจารณ์อำนาจรัฐและตั้งคำถามกับสังคมภายใต้การปกครองแบบเผด็จการในยุคระเบียบใหม่ของประธานาธิบดีซูฮาร์โต อย่างไม่เกรงกลัวคำสั่งห้ามหรือวิตกว่าจะเสี่ยงต่อการถูกจับกุม คณะละครหนึ่งสีชาดมีพลวัตที่น่าสนใจ และกล้ายืนหยัดเพื่อพูดความจริงและคัดค้านความไม่เป็นธรรมในขณะที่เสียงอื่นๆ อาจจะหลบเลี่ยงหรือเซ็นเซอร์ตนเอง หรือร่วมมือกับรัฐบาลในการเชิดชูนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและระบบทหาร
รัตนา ซารุมปาเอ็ต ก่อตั้งคณะละครหนึ่งสีชาด เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ นับเป็นคณะละครสมัยใหม่ คณะเดียวในอินโดนีเซียที่มีผู้หญิงเป็นผู้ประพันธ์บทละคร และเป็นผู้กำกับการแสดง รวมทั้งเป็นเจ้าของคณะละครของตนเอง
รัตนาเป็นนักศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ในปีสุดท้ายได้เปลี่ยนมาสนใจด้านการละครและตัดสินใจไม่เรียนต่อที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จนจบหลักสูตรจนจบปริญญาตรี เธอเบนเข็มชีวิตมาสู่เวทีละครหลังจากมีโอกาสดูละครของเรนดรา (W.S. Rendra) ผู้กำกับซึ่งได้รับความนิยมในอินโดนีเซียในช่วงคริสตทศวรรษที่ ๑๙๗๐ รัตนาเป็นศิลปินด้านการละครที่ศึกษาด้วยตนเอง โดยใช้วิธีเข้าไปเรียนรู้กับคณะละครต่างๆ หลายคณะ ได้แก่ คณะเบ็งเกล (Bengkel) ของเรนดรา คณะของอาริฟิน ซี นูร์ (Arifin C. Noer) คณะของพูตู วิชญา (Putu Wijaya) และ อัสรุล ซานิ (Asrul Sani) เป็นต้น เธอพบว่าคณะละครแทบทั้งหมดเป็นคณะละครที่มีธรรมเนียมปฏิบัติแบบ “ชายเป็นใหญ่” ไม่เปิดให้นักแสดงมีโอกาสแสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วม นักแสดงมีหน้าที่เพียงรับฟังและทำตามคำสั่ง รัตนาคิดว่านั่นไม่ใช่รูปแบบคณะละครในฝันที่เธอต้องการ
หลังจากได้ศึกษาศิลปะการละครภาคปฏิบัติมาได้ระยะหนึ่ง รัตนาตัดสินใจก้าวสู่การเป็นผู้ประพันธ์บทละครและผู้กำกับอย่างเต็มตัว โดยก่อตั้งคณะละครเวทีหนึ่งสีชาดในปี ๒๕๑๗ รัตนาเลือกคำว่า Merah ซึ่งแปลว่า “สีแดง” เพื่อสื่อถึงความกล้าหาญ คำว่า satu แปลว่า “หนึ่ง” และ Panggung หมายถึงยกพื้นหรือเวที ดังนั้น Satu Merah Panggung จึงหมายถึง “ผู้กล้า” หรือ The Brave One
ละครเรื่องแรกที่คณะหนึ่งสีชาดจัดการแสดงคือเรื่องรุไบยาตของโอมาคยัม และในปีเดียวกันได้นำเรื่องแฮมเล็ต (Hamlet) ของเช็คสเปียร์มาดัดแปลงเป็นละครสไตล์บาทัก (Batak) อันเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองสุมาตราถิ่นกำเนิดของรัตนา[i] ในเรื่องแฮมเล็ตรัตนารับบทเป็นเจ้าชายแฮมเล็ตตัวเอกของเรื่อง ในปี ๒๕๑๙ คณะหนึ่งสีชาดจัดการแสดงเรื่องโรเมโอ – จูเลียต ของเช็คสเปียร์ โดยดัดแปลงเป็นละครโอเปร่าสมัยใหม่ รัตนาได้นำบทประพันธ์ของเช็คสเปียร์มาดัดแปลงหลายเรื่อง รวมเรื่องโอเทลโล (Othello) และละครกรีกเรื่องอันธิกอนี (Antigone) ของ ฌอง อนูลห์ (Jean Anouith) แรงบันดาลใจในเรื่องนี้มาจากตัวเอกของเรื่องซึ่งเป็นผู้หญิงที่ยืนหยัดต่อสู้กับระบบที่สังคมที่ให้คุณค่าแก่ลูกชายเหนือลูกสาว การนำเสนอในสไตล์บาทักเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าสังคมกรีกกับสังคมบาทักต่างก็ยึดถือคุณค่าที่คล้ายกัน
หลังจากการผลิตละครจากการดัดแปลงบทละครคลาสสิคตะวันตกในช่วงสิบปีแรก รัตนาหันไปทำงานผลิตรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์อยู่พักใหญ่ จากนั้น ในทศวรรษ ๑๙๙๐ ได้หวนกลับมาทำงานด้านสื่อละครเวทีอีกครั้ง ในช่วงที่ละครของคณะหนึ่งสีชาดนำเอาเรื่องสังคมและการเมืองอินโดนีเซียมานำเสนออย่างเข้มข้น ละครแต่ละเรื่องหยิบยกประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองในยุคระเบียบใหม่ขึ้นมาปลุกเร้าสำนึกคนดูและจุดประกายความคิดที่ท้าทายต่ออำนาจรัฐอย่างที่ไม่เคยมีใครกล้าทำมาก่อน
ศิลปินละครและบทบาททางสังคมการเมือง
นอกจากงานด้านละครแล้ว รัตนายังมีบทบาททางการเมืองร่วมกับองค์กรประชาสังคมในการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย เช่น ทำงานกับองค์กรแนวร่วมเพื่อความยุติธรรมและประชาธิปไตย (Forum for Justice and Democracy) ในปี ๒๕๔๑ รัตนาได้จัดการประชุมภาคประชาชนเพื่อคัดค้านการรับตำแหน่งสมัยที่ ๗ ของประธานาธิบดีซูฮาร์โต โดยจัดตรงกับวาระการประชุมของสภาที่ปรึกษาประชาชนที่กำลังจะลงคะแนนเลือกประธานาธิบดี การจัดประชุมมีผลทำให้รัตนาและเพื่อนนักกิจกรรม นักหนังสือพิมพ์และลูกสาวของเธอรวม ๘ คนถูกตำรวจจับกุมในข้อหาอาชญากรการเมืองเนื่องจากชุมนุมร้องเพลงชาติ Indonesian Raya และเพลง To You My Country และจัดการประชุมทางการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต สมาคมนักเขียนบทละครหญิงนานาชาติ (International Women Playwright Association) คณะกรรมการนักเขียนต้องโทษ (WiPC – Writer in Prison Committee) สมาคมนักเขียนสากล (International PEN) รวมทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เช่น องค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) องค์กรสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นสากล (IFEX – International Freedom of Expression Exchange) ได้ยื่นหนังสือคัดค้านรัฐบาลซูฮาร์โตและเรียกร้องให้ปล่อยตัวรัตนาโดยไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากตำรวจไม่มีหมายศาลในการจับกุมและสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิพื้นฐาน[ii] รัตนาถูกคุมขังอยู่ ๗๐ วัน ก่อนได้รับอิสระในวันที่ ๒๐ พฤษภาคมปีเดียวกันก่อนที่ซูฮาร์โตจะก้าวลงจากอำนาจเพียง ๑ วัน เธอและเพื่อนเป็นนักโทษการเมืองกลุ่มสุดท้ายที่ถูกจับกุมในสมัยของรัฐบาลซูฮาร์โต และเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับอิสรภาพหลังจากซูฮาร์โตหมดอำนาจ รัตนาได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนประจำปี ๒๕๔๑ จากศูนย์สิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Centre)
หลังจากการเผยแพร่ละครเรื่องมาร์ซินาห์ – (เรื่องของผู้นำคนงานหญิงที่ถูกข่มขืนและสังหาร) จนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ รัตนาและคณะหนึ่งสีชาดได้ก่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนในนาม Ratna Sarumpaet Crisis Center เพื่อติดตามประเด็นสิทธิมนุษยชนและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เช่น ช่วยเหลือผู้นำแรงงานหญิงที่ตกงาน หรือถูกทำร้าย ในปี ๒๕๔๔ ได้เปิดรับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือประชาชนในคราวน้ำท่วมในกรุงจาการ์ตา ในปี ๒๕๔๕ ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสงครามในอาเจะห์ ในปี ๒๕๔๖ รณรงค์และผลิตสารคดีเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในมาลุกุสมาชิกของคณะหนึ่งสีชาดราว ๕๐ คน จึงเป็นทั้งคณะนักแสดงและเป็นกำลังสำคัญในศูนย์ช่วยเหลือแห่งนี้
ในปี ๒๕๔๖ รัตนาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภาศิลปวัฒนธรรมจาการ์ตา (Dewan Kesenian Jakarta หรือ Jakarta Arts Council) และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรมจาการ์ตา (Jakarta Arts Center Taman Ismail Marzuki) ไปด้วยพร้อมกัน ตำแหน่งนี้มีวาระ ๓ ปี นับเป็นครั้งแรกที่สภาศิลปวัฒนธรรมซึ่งก่อตั้งโดยซูฮาร์โตในยุคระเบียบใหม่เลือกศิลปินที่มีแนวคิด “เอียงซ้าย” และเป็นศิลปินหญิงมาเป็นประธาน รัตนากล่าวว่างานสำคัญๆของสภาแห่งนี้ คือ การสร้างความสมานฉันท์ในหมู่ศิลปินต่างสาขาให้หันมาทำงานร่วมกัน และคณะกรรมการสภาต้องการเร่งรัดปรับปรุงให้ศูนย์ฯ เปิดพื้นที่สำหรับศิลปินทุกคนทุกกลุ่ม พร้อมทั้งยกเลิกการใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์บางส่วนเพื่อให้ศิลปินสามารถใช้หอศิลป์ โรงละคร และโรงภาพยนตร์ในการแสดงงานได้เต็มที่ รัตนาเห็นว่าปัญหาใหญ่ของอินโดนีเซียตั้งแต่ก่อตั้งประเทศมา คือการที่ผู้นำขาดความเข้าใจถึงเกี่ยวกับเรื่องศิลปะและวัฒนธรรมของประชาชนและประชาชาติ วัฒนธรรมที่เป็นวิถีของประชาชนถูกทำลายลงไปมากขึ้นทุกวันจนเข้าขั้นวิกฤต เธอเชื่อว่าทุกฝ่ายต้องเริ่มทำความเข้าใจกันใหม่ทั้งหมด[iii]
ผลงานละครละครแนวบันทึกเหตุการณ์หรือแนวสิทธิมนุษยชน
ในยุคระเบียบใหม่สมัยซูฮาร์โต ละครเวทีอินโดนีเซียส่วนใหญ่ไม่แสดงทัศนะวิจารณ์หรือต่อต้านรัฐอย่างเปิดเผย มีตัวอย่างการลงโทษจากรัฐที่ทำให้วงการละครเรียนรู้และหลาบจำ เช่นกรณีที่นักละครชั้นครูอย่างเรนดราถูกจับกุม และต้องเลิกราจากสื่อละครเกือบสิบปีเนื่องจากเสนอเรื่องที่รัฐเห็นว่าล้ำเส้นมาวิจารณ์การเมือง ส่วนคณะละครโคมา (Teater Koma) ของนาโน ริอันเทียรโน (Nano Riantiarna) เลี่ยงมาใช้อารมณ์ขันในการเสียดสีการเมือง รัตนาชี้ให้เห็นว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Opposition Theatre ในยุคระเบียบใหม่ เพราะถูกรัฐปราบปรามจนหมด
สำหรับละครวิจารณ์สังคมของคณะละครหนึ่งสีชาด เธอเรียกว่าละครแนวบันทึกเหตุการณ์ หรือ Journalistic Drama เนื่องจากนำเอาประเด็นในเหตุการณ์ปัจจุบันของสังคมมาทำเป็นละคร เพื่อบอกเล่าข้อเท็จจริงและทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ส่วนนักวิจารณ์ละครนิยมเรียกละครของคณะหนึ่งสีชาดว่าละครแนวสิทธิมนุษยชน หรือ Human Rights Play เพราะทุกเรื่องมีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน และเป็นการจุดประกายให้สังคมเกิดสำนึกทางการเมืองในปัญหาเหล่านั้น ละคร ๓ เรื่องในช่วงสิบปีตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ – ๒๕๔๖ ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ได้แก่ เรื่อง มาร์ซินาห์ เรื่องอะเลีย และอนุชนแห่งรัตติกาล นับเป็นละครที่รัตนาเรียกว่าละครแนวบันทึกเหตุการณ์หรือละครสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น[iv]
“มาร์ซินาห์: เสียงเพลงจากใต้พิภพ”
ปี ๒๕๓๖ เป็นจุดเริ่มต้นจุดหนึ่งของกระแสคลื่นวิกฤติการเมืองของรัฐบาลซูฮาร์โตอย่างคาดไม่ถึง เมื่อเกิดคดีผู้นำคนงานหญิงจากโรงงานทำนาฬิกาในชวากลางถูกสังหาร เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๓๖ คณะหนึ่งสีชาดกลายเป็น “ผู้กล้า” สมชื่อเมื่อนำเอาเรื่องนี้มาทำเป็นละคร รัตนาใช้เวลาเขียนอยู่นาน ๖ เดือนก่อนจะจัดการแสดงเรื่อง “มาร์ซินาห์: เสียงเพลงจากใต้พิภพ” Marsinah: Nyanyian Dari Bawah Tanah หรือ Marsinah: A Song from the Underworld ในปี ๒๕๓๗ เพื่อบอกกับสังคมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลาง ถึงความไม่เป็นธรรมของชีวิตผู้นำแรงงานหญิงซึ่งต่อสู้เรียกร้องค่าแรงเพิ่ม จาก ๑,๗๕๐ รูเปียห์/วัน (ประมาณ ๓๐ บาท) เป็น ๒,๒๕๐ รูเปียห์/วัน (ประมาณ ๓๕ บาท) แต่มาร์ซินาห์กลับถูกทำร้าย ข่มขืนและสังหาร ละครเรื่องนี้คณะละครหนึ่งสีชาดมีกำหนดการแสดงทั้งหมด ๑๑ เมือง แต่รัฐบาลสั่งห้ามแสดงใน ๘ เมือง ที่เมืองลัมปุง (Lampung) สุมาตรา รัตนาท้าทายคำสั่งห้ามแสดงด้วยการจัดการแสดงในโรงละครมืดๆ และคนดูต้องหลบยามปีนเข้ามาดูจากรั้วด้านหลัง นอกจากจัดการแสดงที่อินโดนีเซียแล้ว รัตนายังได้รับเชิญให้นำละครเรื่องนี้ไปแสดงยังประเทศออสเตรเลีย คานาดา และเมืองต่างๆ ๑๕ แห่งในสหรัฐอเมริกา โดยบางแห่งเป็นการแสดงของชมรมละครมหาวิทยาลัยและท้องถิ่น และบางแห่งจัดแสดงในรูปแบบการอ่านบทละคร
ในปี ๒๕๔๐ รัตนาเขียนละครเกี่ยวกับคดีของมาร์ซินาห์อีกหนึ่งเรื่องคือเรื่อง “มาร์ซินาห์กล่าวโทษ” Marsinah Menggugat หรือ Marsinah Accuses เป็นละครพูดคนเดียว (monologue) รัตนาเขียนละครเรื่องที่สองในคดีนี้สืบเนื่องจากการที่คดีไม่คลี่คลายแม้เวลาผ่านไปหลายปี ตำรวจจับยามและเพื่อนร่วมงานของมาร์ซินาห์และเจ้าของกิจการ แต่ทั้งหมดเป็นเพียงแพะในคดีนี้ ไม่ใช่ผู้กระทำที่แท้จริง รัตนาต้องการประท้วงรัฐบาลที่ไม่ดำเนินการจับตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาลงโทษ[v] ในปี ๒๕๔๐ ละครเรื่องมาร์ซินาห์ได้รับรางวัลจากที่ประชุมนักเขียนบทหญิงนานาชาติ ครั้งที่ ๔ ประเทศไอร์แลนด์ (4th International Women Playwright Conference) ในฐานะ “ละครที่นำเสนอประเด็นการเมืองและสิทธิมนุษยชน” ทำให้คดีมาร์ซินาห์และเรื่องสิทธิคนงานหญิงเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ ขณะเดียวกัน ละครเรื่องมาร์ซินาห์ก็ส่งผลให้รัตนาและคณะละครหนึ่งสีชาดกลายเป็น “ศัตรูอันดับหนึ่ง” ของรัฐบาลซูฮาร์โตไปโดยปริยาย เธอทราบมาว่ากองทัพมีบันทึกประวัติและผลงานของเธออย่างละเอียด นอกจากนี้ เรื่องมาร์ซินาห์ยังทำให้วงการละครอินโดนีเซียซึ่งมีแต่ผู้กำกับชายยอมรับความสามารถของรัตนาเป็นครั้งแรกในฐานะผู้กำกับหญิง แม้ว่าเธอจะทั้งเขียนบทละครและกำกับละครมาแล้วนับสิบเรื่องก็ตามที
“มาร์ซินาห์กล่าวโทษ” ฉันถูกทรมานที่นี่ ฉันถูกข่มขืนที่นี่ ฉันถูกฆ่าอย่างทารุณโหดร้าย แกฆ่าฉัน แกกระชากเอาสิทธิที่จะมีลมหายใจของฉันไป นี่มันสังคมแบบไหนกัน ? สังคมแบบไหนกัน ?แม้ฉันจะรู้ดีว่าไม่มีใครได้ยินเสียงของฉัน ฉันก็ยังดิ้นรนต่อสู้กับสิ่งที่มาปิดปากฉันไว้ ปากและคางของฉันปวดร้าวราวกับจะปริแตก ฉันดิ้นรนและฮึดสู้ จนฉันไม่มีแรงสู้อีกต่อไป……… จากเรื่อง “Marsinah Accuses” แปลจากภาษาอินโดนีเซียโดย Robyn Fallick |
“อะเลีย : บาดแผลริมระเบียงเมกกะ”
จากภูมิหลังของรัตนาซึ่งมีพื้นฐานจากครอบครัวนักการเมือง ทำให้มองเห็นพัฒนาการการเมืองของรัตนาว่าครอบครัวมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมความคิดของเธอ บิดาของรัตนาเป็นนักการเมืองพรรคคริสเตียนในยุคคริสตทศวรรษ ๑๙๕๐[vi] มารดาเป็นครู นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสตรีและเป็นผู้แทนในสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ทำให้รัตนมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเมืองและสื่อมาตั้งแต่เด็ก เธอบอกว่าการเลี้ยงดูในครอบครัวมีลักษณะเปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตย เธอจึงทนไม่ได้กับสังคมอำนาจนิยมและความไม่เป็นธรรม ตลอดจนการใช้ความรุนแรงของทหารในการฆ่าประชาชนที่ไม่มีทางสู้ ละครเรื่องต่อมาของคณะหนึ่งสีชาด ซึ่งจัดแสดงในปี ๒๕๔๓ จึงยังคงเป็นละครการเมืองที่จับประเด็นซึ่งร้อนแรงมานำเสนอ นั้นคือเรื่องสงครามเพื่อเอกราชในอาเจะห์ ละครเรื่อง Alia, luka serambi Mekah (Alia, the Wound of the Verandah of Mecca) หรือ “อะเลีย : บาดแผลริมระเบียงเมกกะ” เป็นเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมของหญิงสาวชาวอาเจะห์ที่ชื่ออะเลีย อะเลียต้องการความยุติธรรมสำหรับทุกคน ไม่ว่าหญิงและชาย รวมทั้งสำหรับผู้ที่เสียชีวิตไปเพราะสงครามเรียกร้องเอกราชในอาเจะห์[vii] อะเลียเผยแพร่ความคิดและคำสอนมุสลิมของเธอกับทุกคน การแข็งข้อของเธอทำให้เธอกลายเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของทางการ ละครเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัตนาท้าทายรัฐบาล เธอตั้งคำถามกับการประกาศอัยการศึก และการใช้ปฏิบัติการทางทหารของกองทัพอินโดนีเซียในการเข่นฆ่าชาวอาเจะห์อย่างเหี้ยมโหด
คณะหนึ่งสีชาดนำเรื่อง “อะเลีย” ไปแสดงยังเมืองต่างๆ หลายเมือง รวมทั้งที่อาเจะห์ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่รัตนาต้องการสื่อสารกับกองทัพทั้งสองฝ่าย คือกองทัพปลดแอกอาเจะห์ (GAM-Gerakan Aceh Merdeka หรือ Free Aceh Movement) และกองทัพอินโดนีเซีย (TNI) เพื่อชี้ให้เห็นว่า สงครามทำร้ายทุกคนไม่มีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง มีแต่ผู้สูญเสียและชาวอาเจะห์ทุกคนคือผู้สูญเสีย สาส์นของรัตนาคือการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหาทางยุติสงครามในอาเจะห์โดยเร็ว แม้ว่าละครเรื่องอะเลียจะจัดการแสดงในช่วงที่บรรยากาศการเมืองโดยทั่วไปอยู่ในสภาพเปิดกว้าง และสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนกำลังเบ่งบาน แต่นโยบายในเรื่องอาเจะห์ของรัฐบาลกลับเป็นนโยบายการทหารแทนที่จะใช้นโยบายด้านการเมือง ทั้งการควบคุมสื่อในการเสนอข้อเท็จจริงและการแสดงความคิดเห็นก็เป็นไปอย่างเข้มงวด ในการจัดแสดงเรื่องอะเลียที่เมืองบันดุง เจ้าหน้าที่ตำรวจถามหาใบอนุญาตการแสดงจากคณะหนึ่งสีชาด ตามระเบียบการควบคุมสื่อละครในยุคระเบียบใหม่สมัยซูฮาร์โต รัตนาบอกตำรวจว่าเธอไม่สนใจใบอนุญาต และการแสดงจัดขึ้นภายในบริเวณมหาวิทยาลัย ตำรวจไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยว ปรากฏว่าตำรวจต้องถอยกลับไป
“อนุชนแห่งรัตติกาล”
สำหรับละครเรื่องล่าสุดของคณะหนึ่งสีชาด คือเรื่อง Anak-Anak Kegelapan (Children of Darkness) หรือ “อนุชนแห่งรัตติกาล” จัดแสดงในปี ๒๕๔๖-๒๕๔๗ เป็นเรื่องเกี่ยวกับกรณีกบฏ ๓๐ กันยายน ๒๕๐๘ ซึ่งข้อเท็จจริงและสาเหตุของการกบฏยังเป็นความลับดำมืดจนถึงทุกวันนี้ รัฐบาลซูฮาร์โตซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีส่วนรู้เห็นกับกลุ่มกบฏ ใช้กรณีนี้ในการปราบปรามฝ่ายคอมมิวนิสต์และผู้ที่ใกล้ชิดจนสิ้นซาก และใช้เรื่องนี้ในการโฆษณาชวนเชื่อสร้างความหวาดระแวงในหมู่ประชาชน และใช้เป็นเครื่องมือทำร้ายผู้ที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาลมาตลอดระยะเวลากว่า ๓๐ ปี แม้แต่รัฐบาลในยุคปฎิรูปก็ปฏิเสธที่จะสืบสวนหา “ความจริง” ในกรณีกบฏ ๓๐ กันยายน ละครเรื่อง “อนุชนแห่งรัตติกาล” เคยถูกห้ามออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐ แต่รัตนาโต้แย้งจนในที่สุดสามารถนำออกอากาศได้
เรื่องย่อ “อนุชนแห่งรัติกาล” สุไรดา (Zuraida) และอิหม่าม (Imam) รักกันโดยที่ไม่รู้ว่านายพลไซดิมาน (Saidiman) พ่อของอิหม่าม มีส่วนเกี่ยวข้องในการกวาดล้างพรรคคอมมิวนิสต์ หลังกบฏ ๓๐ กันยายน ๒๕๐๘ วันหนึ่ง สุไรดาพบสมุดบันทึกของยายที่เขียนไว้ว่า เธอถูกจับกุมในข้าหาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งๆ ที่เธอไม่ได้เป็น ลูกสาวของเธอเองเป็นผู้กล่าวหาเธอ เพราะไปพัวพันกับนายทหารของกองทัพอินโดนีเซียและจำเป็นต้องพูดเท็จเพื่อเอาตัวรอด สุไรดาเข้าใจผิดมาตลอดว่ายายของเธอเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นคนไม่ดี เนื่องจากเชื่อตามที่แม่บอก สุไรดาเอาสมุดบันทึกโยนใส่หน้าแม่และถามหาความจริงจากแม่ของเธอ ทั้งสองทะเลาะกันอย่างรุนแรง แม่ฮาร์ยาติ (Ibu Haryati) ยอมรับผิดและขอร้องไม่ไห้สุไรดาพูดเรื่องนี้อีก แต่สุไรดานำข้อความในสมุดบันทึกไปเรียกร้องเอาความจริงจากนายพลไซดิมาน เธอถูกจับเข้าคุก และแม่ฮาร์ยาติฆ่าตัวตาย อิหม่ามกล่าวโทษใส่หน้านายพลไซดิมานพ่อของเขาว่ามีส่วนในการวางแผนสังหารคอมมิวนิสต์ (conspiracy) โดยเอาสมุดบันทึกของยายสุไรดามาให้พ่อดูเป็นหลักฐาน อิหม่ามขอให้นายทหารคนสนิทของพ่ออ่านบันทึกไห้ทุกคนฟังเพื่อจะได้รับรู้ความจริง และเรียกร้องให้พ่อปล่อยสุไรดาเป็นอิสระ แต่อิหม่ามหารู้ไม่ว่าสุไรดาถูกพ่อสั่งประหารไปแล้ว. |
[i] ในการเสนอละครสไตล์บาทัก คณะละครหนึ่งสีชาดได้ออกแบบท่าการแสดง และท่าเต้น ดนตรี และเครื่องแต่งกายในแนวบาทัก ส่วนภาษาพูดในบทละครใช้ภาษาอินโดนีเซีย ไม่ใช้ภาษาถิ่นบาทัก
[ii] ข้อหาในการจับกุมประกอบด้วยประเด็นการดำเนินกิจกรรมการเมืองที่ต้องห้าม มีโทษจำคุก ๕ปี ตามกฎหมายความมั่นคง 5/PNPS/1963 และรัตนาได้รับข้อหาเพิ่มเติมในประเด็น “การแสดงความคิดเห็นที่มุ่งร้าย สร้างความจงเกลียดจงชัง และการดูถูกเหยียดหยามต่อรัฐบาล”ซึ่งตามกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๔ มีโทษจำคุกสูงสุด ๗ปี กฎหมายอาญาของอินโดนิเซียเป็นกฏหมายที่ตกทอดมาจากสมัยอาณานิคมดัทช์และยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน
รัตนาเล่าให้ฟังว่า กลุ่มองค์กรศิลปินและสิทธิมนุษยชนต่างประเทศจำนวนมากได้รณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลซูฮาร์โตปล่อยเธอและเพื่อนๆ แต่ศิลปินอินโดนิเชียส่วนใหญ่ค่อนข้างวางเฉยในเรื่องนี้ อาจเป็นเพราะศิลปินที่เป็นนักกิจกรรมและมีบทบาททางการเมืองมีเพียงจำนวนน้อย (สัมภาษณ์, ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๗)
[iii] ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๗ สภาศิลปวัฒนธรรมได้เชิญผู้สมัครทั้งหมด ๕ ทีม (ได้แก่ผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีรวม ๑๐ คน) มาแสดงทัศนะเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมที่ศูนย์ฯ ผู้สมัครส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้และเข้าใจว่าศิลปวัฒนธรรมคือผลงานสร้างสรรค์ศิลปะของชนชั้นนำเท่านั้น
[iv] ในปี ๒๕๓๙ (ค.ศ. ๑๙๙๖) คณะหนึ่งสีชาดจัดแสดงเรื่อง “โซ่” หรือ ‘Terpasung’ (Chained) และเรื่อง “งานเลี้ยงครั้งสุดท้าย” หรือ ‘Pasta Terakhir’ (The Last Party) เป็นละครวิจารณ์การเมืองในแนวที่คณะหนึ่งสีชาดและคณะละครอื่นๆ ใช้ในการแสดงทัศนะทางศิลปะ
[v] สื่อมวลชนที่เมืองสุรบายาและจาการ์ตาได้ให้ความสนใจตีพิมพ์คดีมาร์ซินาห์เป็นข่าวหน้าหนึ่งอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าก่อนหน้านี้มีการประท้วงของคนงานจำนวนมาก (สถิติปี ๑๙๙๒ มีการประท้วง ๒๕๐ ครั้ง จำนวนคนงาน ๑๗๖,๐๐๕ คน และปี ๑๙๙๓ มี ๑๘๕ ครั้ง จำนวนคนงาน ๑๐๓,๔๙๐ คน) มีคนงานถูกจับกุมลักพาตัวหรือทำร้าย แต่ไม่มีการทำร้ายคนงานจนเสียชีวิต คดีนี้จึงกลายเป็นคดีที่หลายฝ่ายจับตา เช่น กลุ่มนักศึกษา กลุ่มคนงาน และกลุ่มพัฒนาเอกชน ๒๗ องค์กรร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนได้จัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อมาร์ซินาห์ (Komite Solidaritas Untuk Marisinah) คดีมาร์ซินาห์กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องความเป็นธรรมของคนงานและสร้างสำนึกทางการเมืองของคนงานชนชั้นกลาง ดูเพิ่มเติมได้จาก Akiko Kodama “The Participation of Women Workers in the Indonesian Labor Opposition Movement in the 1990s”, Exploration in Southeast Asian
Studies, Vol 3, Fall 1990 (On-line version)
[vi] บิดาของรัตนาเข้าร่วมกลุ่ม PRRI (Pemerintah Revolusioner Republik Indonesian หรือ Revolutionary Government of the Republic of Indonesian) ในปี ๒๕๑๐ (ค.ศ. ๑๙๕๘) ต่อต้านรัฐบาลซูการ์โน โดยร่วมกับนายทหารจากสุมาตรา พรรคมัสยูมิ และพรรคสังคมนิยม ก่อตั้งรัฐบาลปฏิวัติขึ้นที่สุมาตรา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๑ ต่อมา กลุ่มต่อต้านที่เกาะสุลาเวสีได้ประกาศเข้าร่วมรัฐบาลปฏิวัติ PRRI ด้วยอีกกลุ่มหนึ่ง PRRI ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพรัฐบาลสหรัฐในการสร้างแรงกดดันทางการเมืองเพื่อโค่นล้มรัฐบาลซูการ์โน ในช่วงนั้นรัตนาอายุประมาณ ๙ ปี เธออยู่กับครอบครัวและกองทหารในป่าเป็นเวลาราว ๒ ปี เศษ ต่อมาบิดาถูกจับกุม และถูกคุมขังโดยกักบริเวณที่คาลิอุรัง นอกเมืองย็อกยาการ์ตาจนสิ้นรัฐบาลซูการ์โน (สัมภาษณ์, ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๗)
[vii]อาเจะห์เป็นจังหวัดทางชายแดนตะวันตกเฉียงเหนือของอินโดนีเซีย อยู่ใกล้กับช่องแคบมะลากาและประเทศมาเลเซีย มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นทรัพยากรที่นำรายได้เข้าประเทศปีละจำนวนมาก แต่รัฐบาลกลางไม่กระจายรายได้มาที่อาเจะห์ ปัญหาของอาเจห์มีทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม เนื่องจากอาเจะห์มีประวัติศาสตร์การต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมดัทช์ยาวนาน ทำให้อาเจะห์ดำรงตนเป็นอิสระระดับหนึ่ง ไม่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลดัทช์อย่างแท้จริง ข้อสำคัญอาเจะห์เป็นศูนย์กลางศาสนาและวัฒนธรรมมุสลิมมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๕ ประชาชนอาเจะห์ส่วนใหญ่ต้องการปกครองแบบรัฐมุสลิม และอาเจะห์มีความรุ่งเรื่องมากในอดีตจากการเป็นชุมทางของเส้นทางการค้าทางทะเลในย่านทะเลจีนใต้ (ดูเพิ่มเติมในวิทยา สุจริตธนรักษ์,๒๕๔๖)
