ยูเอ็นวีแมน เผยนักข่าวหญิงได้ค่าแรงน้อยกว่าชาย และ 1/3 เห็นการถูกคุมคามทางเพศในที่ทำงาน
ยูเอ็นวีเมน แถลงผลงานวิจัย“เบื้องหลังข่าว – ความท้าทายและแรงบันดาลใจของนักข่าวผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก” (Inside the News: Challenges and Aspirations of Women Journalists in Asia and the Pacific) ที่ทำร่วมกับ ยูเนสโก และสมาพันธ์นักข่าวสากลภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (International Federation of Journalists (IFJ) Asia-Pacific) โดยมีจำนวนนักข่าวที่ได้รับการสำรวจทั้งชายหญิงกว่า 700 คน ส่วนใหญ่มีประสบการณ์ทำงานกว่า 10 ปี ใน 7 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา, มาเลเซีย, อินเดีย, เนปาล, ศรีลังกา, ปากีสถานและ วานูอาตู พบว่า
- 28% ของนักข่าวที่ทำงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นผู้หญิง
- 10% ของผู้อยู่ในตำแหน่งนักข่าวอาวุโสและผู้บริหารเป็นผู้หญิง
- ช่องว่างรายได้ระหว่างนักข่าวหญิงชายกว้าง โดยเฉลี่ยนักข่าวหญิงมีรายได้ 437 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (14,724 บาท) ขณะที่นักข่าวชายมีรายได้ 506 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (17,074 บาท)
- 15% ของนักข่าวหญิงและ 8% ของนักข่าวชายมีรายได้ต่ำกว่า 80 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (2,688 บาท) โดยนักข่าวหญิงในประเทศปากีสถาน ได้รับเงินเดือนเพียง 50 เหรียญสหรัฐ (1,687 บาท) หรือน้อยกว่า
- 1 ใน 3 ของนักข่าวหญิงที่ได้รับการสำรวจเห็นการถูกคุมคามทางเพศในที่ทำงาน
- เกือบ 1 ใน 5 ของนักข่าวหญิงได้รับการสำรวจถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน และ 59 % ในกลุ่มนี้ถูกคุกคามโดยผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่า ขณะที่ครึ่งหนึ่งในกลุ่มนี้ถูกคุกคามโดยเพื่อนร่วมงาน
- องค์กรสื่อส่วนใหญ่ไม่มีกลไกในการร้องเรียนหรือนโยบายต่อต้านการคุกคามทางเพศอย่างเป็นทางการในที่ทำงาน
- ภาพลักษณ์ของผู้หญิงในข่าวส่วนใหญ่ยังเป็น เหยื่อ, ถูกระบุสถานภาพในครอบครัว, และเป็นสิ่งกระตุ้นทางเพศ
- นักข่าวหญิงรายงานเรื่อง gender สุขภาพ และศิลปวัฒนธรรมมากว่านักข่าวชาย
จากซ้าย ดิลรุคชี ฮานดันเน็ตตี, เจน วอร์ธิงตัน, ลักษมี มูรธี, สุจาตา มาโธก, อโณทัย อุดมศิลป์, และ โรแบร์ต้า คลาร์ก
“เป็นเวลา 20 ปีหลังปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งประเด็นผู้หญิงในสื่อเป็นหนึ่งในความห่วงใย จำนวนและตำแหน่งผู้หญิงทำงานในสื่อและภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่สะท้อนในสื่อยังคงไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงเท่าไรนัก” โรแบร์ต้า คลาร์ก (Roberta Clarke) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยูเอ็นวีเมน กล่าวในงานแถลงผลการวิจัย ณ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2558
อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยูเอ็นวีเมน เชื่อว่าสื่อมีศักยกาพมหาศาลในการส่งเสริมและเร่งรัดให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ด้าน เจน วอร์ธิงตัน (Jane Worthington) รองผู้อำนวยการสมาพันธ์นักข่าวสากลภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไอเอฟเจ) กล่าวว่า ประเด็นการคุกคามทางเพศเป็นประเด็นใหญ่สำหรับนักข่าวหญิงในแถบเอเชียแปซิฟิก และรายงานฉบับนี้เป็นการวิจัยที่ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่สมาพันธ์ฯ เคยทำมา
ดิลรุคชี ฮานดันเน็ตตี (Dilrukshi Handunnetti) รองบรรณาธิการอาวุโสของ Sunday Observer, Colombo ในศรีลังกา ผู้เป็นหนึ่งในนักข่าวหญิงที่เคยถูกคุกคามทางเพศ กล่าวว่า ผลสำรวจในประเทศศรีลังกาเป็นที่น่าตกใจ เพราะ เกือบ 1 ใน 4 ของนักข่าวหญิงถูกคุกคามทางเพศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีสถิติสูงสุดของการสำรวจนี้ และไม่มีกลไกการร้องเรียนหรือการช่วยเหลือจากทางองค์กรสื่อ
ด้าน สุจาตา มาโธก (Sujata Madhok) ประธานสหภาพผู้สื่อข่าวเดลี กรุงเดลี อินเดีย เปิดเผยว่าในอินเดีย มีนักข่าวหญิงที่ทำงานแบบสัญญาจ้างโดยไม่มีความมั่นคงทางรายได้จำนวนมาก โดยเฉพาะหลังปี 1990 และหลังการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ นอกจากนี้เรือนร่างของผู้หญิงยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการขายสินค้า
ลักษมี มูรธี (Lazmi Murthy) บรรณาธิการที่ปรึกษา ของนิตยสาร Himal Southasian ในเนปาล เน้นย้ำว่านโยบายด้านความเสมอภาคทางเพศในองค์กรเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
“จำนวนที่เพิ่มขึ้นผู้หญิงที่ทำงานในระดับบริหารไม่ได้หมายความว่าสถานภาพของนักข่าวหญิงจะดีขึ้นเสมอไป เพราะบรรณาธิการหญิงที่เติบโตภายใต้สภาพแวดล้อมของสังคมชายเป็นใหญ่อาจทำให้เกิดสภาพทำงานในแบบเดิมๆ”
อโณทัย อุดมศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส กล่าวว่าโดยทั่วไปสถานภาพนักข่าวหญิงในประเทศไทยดีกว่าในหลายๆ ประเทศไทย และไทยพีบีเอสเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษา เพราะมีกฎข้อบังคับในการจ้างงานที่มีความเสมอภาค “แม้ว่าจำนวนสองในสามของพนักงานเป็นชาย แต่จำนวนผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ครึ่งหนึ่งเป็นหญิง รวมทั้งยังมีสวัสดิการห้องดูแลเด็ก และสนามเด็กเล่น”
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะจากรายงานการศึกษาวิจัยฉบับนี้ คือ สื่อสามารถและควรเป็นตัวอย่างด้านความเสมอภาคทางเพศ ดังนั้นองค์กรสื่อควรมีนโยบายเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศหรือโอกาสความเท่าเทียมกัน และสร้างความมั่นใจว่านโยบายนี้มีการประชาสัมพันธ์ไปยังพนักงานทุกคนและปฏิบัติให้เป็นเรื่องปกติ องค์กรสื่อที่มีพนักงานมากกว่า 500 คนควรมีการจัดการกับข้อร้องเรียนและประเด็นปัญหาและสนับสนุนสภาพแวดล้อมการทำงานที่เท่าเทียมกันมากขึ้น
นอกจากนี้สื่อควรริเริ่มดำเนินการเชิงบวกไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน ในการประเมินเรื่องความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งรวมถึงตรวจสอบค่าจ้างเพื่อพิจารณาช่องว่างในการจ่ายค่าจ้าง
อย่างไรก็ตามรายงานฉบับนี้ ไม่ได้กล่าวถึงประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า และอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในหมู่เกาะแปซิฟิก โดยเจน วอร์ธิงตัน รองผู้อำนวยการ ไอเอฟเจ กล่าวว่า “เนื่องจากเน้นเฉพาะประเทศในเอเชียใต้เป็นส่วนใหญ่”
อ่านรายงานฉบับเต็ม ได้ที่ http://unesdoc.unesco.org/images/0023/002334/233420E.pdf
อารี ชัยเสถียร อดีตนักข่าว-นักเขียนสารคดี หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น (The Nation) ปัจจุบันเป็นนักแปลอิสระ และบรรณาธิการร่วม มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ |