ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าที่ยึดอำนาจปกครองประเทศต่อเนื่องยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ สื่อมวลชนพม่าถูกปิดปากด้วยกระบอกปืนและโซ่ตรวน สื่อพม่าเคยถูกจัดอันดับไว้ในกลุ่มท้ายๆของกลุ่มสื่อที่ไร้เสรีภาพมาโดยตลอด สถานการณ์เสรีภาพสื่อในพม่าเริ่มดีขึ้นเมื่อมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งในปี 2011
รัฐบาลของประธานาธิบดีเต็งเส่งยกเลิกข้อบังคับและวิธีปฏิบัติหลายประการที่ควบคุมสื่อ เช่น การตรวจสอบต้นฉบับก่อนอนุญาตให้ตีพิมพ์ มีการปล่อยตัวนักข่าว บรรณาธิการ คอลัมนิสต์ที่ถูกจับกุมคุมขังไว้ ทั้งยังเปิดโอกาสให้สื่อพม่าพลัดถิ่นที่เคยเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลเผด็จการทหาร กลับไปตั้งสำนักงานในประเทศได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีการจัดการกับสื่อที่เปิดเผยข้อมูลของรัฐอยู่ ทั้งนี้นักข่าวจำนวน 5 คนของนิตยสาร Unity journal ถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปี โทษฐาน “เปิดเผยความลับของทางราชการ” จากการรายงานข่าวโรงงานผลิตอาวุธเคมี
นักข่าวอีก6คนและพนักงานของนิตยสาร Bi Mon Te nay journal ถูกคุมขังและฟ้องร้องภายใต้กฎหมายยุคเผด็จการทหารพม่า เนื่องจากตีพิมพ์บทความที่รัฐบาลไม่พอใจ
กรมตำรวจสันติบาลใช้นิยามที่กำกวมในการเข้าตรวจสอบการเงินของสื่อสิ่งพิมพ์จำนวนมาก ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมใช้กฎหมายจัดการกับนักข่าวที่ชุมนุมประท้วงโดยสงบ
การเผชิญหน้าระหว่างสื่อมวลชนกับรัฐบาลกึ่งประชาธิปไตยตึงเครียดขึ้นอีก
ประธานาธิบดีเต็งเส่งกล่าวในการพบปะกับกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ชั่วคราวของพม่าเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า เขาให้ความสำคัญกับบทบาทสื่อในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย และสภาการหนังสือพิมพ์ควรมีบทบาทในการจัดการ "ปัญหาจรรยาบรรณ"
เขาบอกว่าเขาจะสนับสนุน "วิธีแก้ปัญหาจรรยาบรรณของนักข่าวผ่านสภาการหนังสือพิมพ์ แทนที่จะใช้กฎหมายจัดการ"
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีเต็งเส่งยังได้แต่งตั้ง นายแย ทุด โฆษกประจำตัว ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงข้อมูลข่าวสารคนใหม่แทนนายอ่องจีที่เพิ่งลาออกไปเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา
พลันที่เข้ารับตำแหน่ง รัฐมนตรีแย ทุด ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิระวดีถึงนโยบายในการจัดการความสัมพันธ์กับสื่อ ดังนี้
http://www.irrawaddy.org/interview/media-may-trust.html?PageSpeed=noscript
แย ทุค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงข่าวสารคนใหม่
อิระวดี: คุณจะจัดการความตึงเครียดตอนนี้ระหว่างสื่อกับรัฐบาลอย่างไร? คุณมีจุดอ่อน จุดแข็งอะไรที่แตกต่างไปจากรัฐมนตรีคนก่อน
แย ทุด: สาเหตุหลักของการเผชิญหน้าระหว่างสื่อกับรัฐบาล คือปัญหาความสัมพันธ์ ผมจะพยายามสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับสื่อโดยยึดถือจรรยาบรรณและความเข้าใจร่วมกันเป็นหลัก
ผมทำงานที่กระทรวงข่าวสารและมีส่วนในการปฏิรูปสื่อมาตั้งแต่ปี 2005 ดังนั้น ผมรู้จุดอ่อนจุดแข็งของทั้งสองฝ่าย ผมเข้าใจว่าการสร้างความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายนั้นต้องใช้อะไร ในทางกลับกัน การที่ผมทำงานที่กระทรวงข่าวสารมายาวนาน อาจทำให้สื่อไม่เชื่อใจผม
อิระวดี: ท่านประธานาธิบดีอ้างว่าความรุนแรงทางศาสนาที่เกิดขึ้นในพม่านั้นเป็นผลมาจากสื่อ ทำไมท่านพูดเช่นนั้น สำนักประธานาธิบดีมีข้อมูลไหมว่าสื่อไหนบ้างที่ยั่วยุให้เกิดการจลาจล?
แย ทุด: ท่านประธานาธิบดีไม่ได้หมายถึงสื่อทั้งหมด ท่านเพียงกล่าวถึงสื่อที่ไร้ความรับผิดชอบบางสำนัก เรารู้ว่ามีสื่อสำนักไหนบ้างที่ทำเช่นนั้น
อิระวดี: คุณได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงข่าวสารแล้ว คุณยังจะทำหน้าที่โฆษกประธานาธิบดีอยู่อีกหรือไม่ จะมีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งสองตำแหน่งพร้อมๆกันหรือไม่
แย ทุด: ผมยังคงได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่โฆษกอยู่ ผมต้องใช้เวลามากขึ้นกับการทำงานสองหน้าที่เหล่านี้ และผมจะไม่สามารถตอบทุกเรื่องที่เกี่ยวกับงานของกระทรวงเหมือนที่ผ่านมาได้ ผมจะตอบแต่คำถามที่เป็นเรื่องนโยบาย
อิระวดี: คุณเรียกร้องบ่อยๆให้สื่อมีจรรยาบรรณ สื่อสมควรที่จะถูกลงโทษหนักในความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆหรือ ถ้าเป็นเช่นนั้น แล้วรัฐบาลล่ะ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขอบข่ายการปฏิรูปนั้นจำกัดเกินไป
แย ทุด: เราไม่ได้กำหนดโทษสถานหนักเมื่อไรก็ตามที่สื่อผิดพลาด รัฐบาลไม่เคยลงโทษนักข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดี หรือรัฐบาล หรือดูหมิ่นรัฐบาล ผมอยากให้ทางสำนักข่าวอิระวดีไปศึกษาดูว่ามีกี่คดีที่พวกสื่อฟ้องร้องหมิ่นประมาทกันเอง
อย่างไรก็ตาม [การบังคับใช้กฎหมาย] ไม่ได้มีเพียงแต่กับนักข่าว –หากตัวผมเขียนบทความซึ่งยุยงให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว[โดยเป็นการรายงานเท็จ] หรือผมแอบไปเอาข้อมูลความมั่นคงโดยใช้ชื่อปลอม ผมก็จะได้รับโทษสถานหนัก
ในทางกลับกัน ผมมีแผนจัดสัมมนาร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่นักข่าวละเมิดกฎหมายด้วยเหตุที่พวกเขาไม่รู้กฎหมาย ผมยังจะร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์จัดสัมมนาให้ภาครัฐเข้าใจธรรมชาติการทำงานของสื่อด้วย
อิระวดี: การปฏิรูปภายใต้ประธานาธิบดีเต็งเส่งจะสามารถทำได้สำเร็จโดยการปลดรัฐมนตรีหรือ?
แย ทุด: การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีเป็นกระบวนการปกติของรัฐบาลประชาธิปไตย กระบวนการนี้เป็นแรงกระตุ้นที่จำเป็นและเป็นการนำไปสู่การปฏิรูปองค์กร และเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของกระบวนการปฏิรูป
