แผงขายหนังสือพิมพ์ในฮ่องกง (ขอบคุณภาพจาก http://www.flickr.com/photos/wilson888/5742786083/)
ปีที่ผ่านมา ใช้เกาะฮ่องกงเป็นทางผ่านไปจีนแผ่นดินใหญ่ถึงห้าครั้ง แต่ครั้งล่าสุดคือเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน สิ่งที่ทำให้สื่อไร้พรมแดนอย่างผู้เขียนรู้สึกผิดแปลกกว่าทุกครั้งมา นั่นคือดินแดนซึ่งเคยเป็นอาณานิคมอังกฤษหลังพ่ายแพ้ "สงครามฝิ่น" โดยระบอบแมนจูในปี ค.ศ. 1842 แม้อำนาจปกครองเปลี่ยนมือไปสู่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1997แล้ว แต่สื่อที่นั่นยังผนึกกำลังเรียกร้องการเปิดกว้างเสรีภาพความคิดเห็น โดยเฉพาะการไม่อนุญาตให้บรรดาสื่อเข้าไปทำข่าวในชนบททางจีนตอนใต้ที่ยังคุกรุ่นไปด้วยการยืนหยัดต่อสู้ต่อต้านการเวนคืนที่ดินของรัฐเพื่อเอื้อผลประโยชน์นายทุนและการตั้งโรงงานที่เกิดผลมลภาวะหรือกระทบต่อนิเวศวิทยาธุรกิจ
ที่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนสื่ิอ คือการตัดสัญญาณคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ ตลอดจนการปิดเว็บไซด์ข่าวของสื่อฮ่องกงแขนงต่างๆเพื่อไม่ให้คนจีนแผ่นดินใหญ่ได้รับรู้ หรือทุกคราวที่มีผู้นำจีนเยือนฮ่องกง สื่อฮ่องกงท้องถิ่นแท้ๆได้รับการปฏิบัติเยี่ยง 'ลูกเมียน้อย' ไม่สามารถทำข่าวใกล้ชิดเข้าใกล้เหมือนกับสื่อทางการของปักกิ่งที่มีอภิสิทธิ์เหนือพวกเขา รสชาติเหล่านี้ ล้วนแล้วไม่ใช่วานวันที่สื่อฮ่องกงเคยชินมาเมื่อครั้งอังกฤษปกครอง
"50 ปีไม่เปลี่ยน" หรือภายในครึ่งศตวรรษนี้ยังคงไว้ซึ่ง '1 ประเทศ 2 ระบบ' ข้อความนี้เขียนอยู่ในแถลงการณ์ร่วมจีน-อังกฤษที่ทำไว้เมื่อ ค.ศ.1984 แม้แต่ 'กฎหมายพื้นฐานฮ่องกง' ยังระบุชัดว่าฮ่องกงจะไม่ดำเนินการปกครองลัทธิสังคมนิยม แม้ว่าอยู่ภายใต้ร่มเงาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ตาม ยังคงให้ชาวฮ่องกงดำรงชีวิตแบบทุนนิยมต่อไป ยกเว้นแต่การทหารและการทูตเท่านั้นที่บังคับบัญชาโดยตรงจากทางปักกิ่ง หน้าที่อย่างอื่นมอบสิทธิให้คณะบริหารฮ่องกงมีสิทธิตัดสินใจ สามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมนานาชาติหรือกีฬาสากลในนาม 'ฮ่องกง' ซึ่งแยกส่วนกับผู้แทน "สาธารณรัฐประชาชนจีน" อาจเป็นเพราะชาวฮ่องกงจำนวนหนึ่งยังระแวงจีนคอมมิวนิสต์ซึ่งหลายครั้งพูดอย่างทำอย่าง คำเรียกร้องเตือนปักกิ่งที่ว่า "ชาวฮ่องกงปกครองฮ่องกง" จึงคงเห็นอยู่ตามท้องถนนบนเกาะฮ่องกงอยู่ทุกวันนี้
เฉิงหลง, หลิวเต๋อหัว, โจวชิงฉือ, เหลียงเฉาเหว่ย และศิลปินนักร้องนักแสดงที่โด่งดังอีกหลายคน ยังเป็น "แบรนด์เนม" แห่งอุตสาหกรรมบันเทิงของฮ่องกง อาจย้อนไป 40-50 ปีที่แล้วครั้งยุคเรืองโรจน์ของ "ชอร์บราเดอร์" นอกจากฉายา 'ไข่มุกตะวันออก" แล้ว ฮ่องกงยังมีฉายา "ฮอลลีวูดเอเชีย” อย่างสมภาคภูมิ ซึ่งปัจจุบันตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ได้ถูก 'บอลลีวูด' แดนภารตะแย่งแชมป์ไปเด็ดขาดแล้ว!
ก่อนที่ฮ่องกงคืนสู่จีน คนบันเทิงฮ่องกงเคยป่าวร้องบนหน้าจอทีวีหลายครั้ง ว่า “ฮ่องกง 50 ปีไม่เปลี่ยนแปลง เคยเล่นหนังแนวไหนก็แนวนั้น เคยร้องเพลงแนวไหนก็แนวนั้น" เนื่องจากตลาดขยายเข้าไปจีนแผ่นดินใหญ่ ดังนั้นเนื้อหาภาพยนตร์ต้องหลีกเลี่ยงการเสียดสีพรรคคอมมิวนิสต์ หลายเรื่องจึงออกมาในแนวบู๊หรือสงครามต่อต้านญี่ปุ่น สร้างความสะใจถูกใจให้กับผู้นำจีน มีผลต่อการสร้างกระแสฮึกเหิม ก่อม็อบต่อต้านญี่ปุ่นอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ อันเนื่องจากข้อพิพาทดินแดนหมู่เกาะเตี้ยวหวี (ญี่ปุ่น เรียก'เซงคาขุ')นั่นเอง
ขอบคุณภาพจาก http://www.thedailybeast.com/articles/2011/07/20/rupert-murdoch-scandal-chinese-media-criticize-western-press-freedom.html
สื่อสิ่งพิมพ์รายวันซึ่งตอนนั้นเคยมีเกือบ 30 ฉบับ ตอนนี้อยู่รอดมีไม่ถึงสิบ สิ่งพิมพ์อื่นที่ยังยืนหยัด ยังไม่ล้มหายตายหายไปจากแผงหนังสือ คือ ม้าแข่ง, หนังสือโป๊ หรือ นิตยสารรักร่วมเพศ นับเป็นอนาคตที่ไม่สดใสสำหรับคนข่าวฮ่องกงที่เป็นประจักษ์พยานการเปลี่ยนถ่ายอำนาจเมื่อ 15 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะสื่อทีวีหลายช่องมี 'ภาคบังคับ' ต้องเผยแพร่ข่าวจาก CCTV โทรทัศน์ทางการปักกิ่งที่ิออกอากาศเป็นภาษาจีนกลางเท่านั้น ซึ่งชาวฮ่องกงส่วนใหญ่พูดไม่ได้ฟังไม่ออก เพราะภาษาประจำวันคือภาษากวางตุ้งเท่านั้น ผลสำรวจที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งปีที่แล้ว พบว่าเกือบ 80% ของชาวฮ่องกงมีความภูมิใน 'ความเป็นฮ่องกง' มากกว่า 'จีนนิยม' นอกจากนี้ แทบทุกคนยังชินต่อการเขียนอักษรจีนตัวเต็มที่รับรองโดยจีนโพ้นทะเลส่วนใหญ่ เท่ากับปฏิเสธตัวอักษรจีนย่อซึ่งจีนแผ่นดินใหญ่และเอกสารองค์การสหประชาชาติใช้กัน
สิ่งที่ขัดแย้งทางสังคมอย่างรุนแรง คือเพื่อที่ 'ปลูกฝังความภาคภูมิใจในชาติ (จีนแผ่นดินใหญ่) ทางการฮ่องกงมีความพยายามจะเปลี่ยนแปลงตำรา บรรจุคำว่า "เมื่อเห็นธงชาติจีนแล้วน้ำตาไหล" และบางส่วนที่สดุดีพรรคคอมมิวนิสต์ลงไปหนังสือเรียน ซึ่งสื่อฮ่องกงโจมตีว่าเป็น "ล้างสมอง" ชนรุ่นหลัง จนมีการเดินขบวนประท้วงถึงขั้นอดอาหารไปทั่วเกาะ ในที่สุดผู้บริหารฮ่องกงต้องระงับโครงการ เพื่อไม่ให้เสียคะแนนนิยม
เซินเจิ้น- มหานครทันสมัยที่แต่เดิมเป็นหมู่บ้านประมงเล็กๆ ที่เมื่อ 40 ปีแล้วเติ้งเสี่ยวผิงบรรจงเนรมิตรให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนำร่อง แม้จะติดกับฮ่องกง แต่โรงแรมทุกแห่งที่นั่น โซเซียลมีเดียยอดนิยมอย่างเฟสบุ๊คก็โดนปิดกั้นและไม่สามารถดูเว็บข่าวฮ่องกงทางอินเตอร์เน็ตได้ ขณะที่สื่อจีนทางการยังคงมีอคติกับเหล่าเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ ทุกวันนี้ยังคนเลี่ยงที่จะเสนอข่าวของ 'สตรีเหล็กพม่า' อ่องซานซูจีที่เคยแสดงออกเห็นใจนักโทษการเมืองในจีน สื่อทีวีจีนยังเรียกเธอ 'ผู้หญิงคนนั้น'อย่างเคย ยิ่งแปลกไปกว่านี้ นักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งเป็น 'เมืองแม่' เมื่อผ่านด่านเซินเจิ้นเข้าไป ‘เมืองลูก’ ฮ่องกง ต้องเสียเงินทำบัตรอนุญาตข้ามแดน วัตถุประสงค์ของนักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่คือไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์และชอปปิ้ง แต่ระยะเวลาพำนักในฮ่องกงไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งการเดินทางข้ามไปมาเก๊าซึ่งป็นเขตบริหารพิเศษของจีนอีกแห่งหนึ่งก็ลักษณะเช่นเดียวกัน สะท้อนถึง '1 ประเทศ 2 ระบบ' ที่พิสดารและไม่เป็นธรรม
ร้านหนังสือในฮ่องกง เต็มไปด้วยวิจารณ์การเมืองจีนและเรื่องอื้อฉาวผู้นำ (ภาพ:สงวน คุ้มรุ่งโรจน์)
สื่อฮ่องกงสายหลักเป็นปฏิปักษ์กับจีนคอมมิวนิสต์อย่างต่อเนื่อง หลังเปลี่ยนอำนาจปกครอง สื่อบางแห่งถึงกับลงทุนปิดตัวเอง แล้วโยกถิ่นฐานไปเปิดหนังสือพิมพ์ที่อเมริกา, แคนาดา, ยุโรป และออสเตรเลีย เพื่อเสริมทัพและความเข้มข้นของเนื้อข่าวให้กับหนังสือพิมพ์ภาษาจีนโพ้นทะเลที่มีอยู่ก่อน โดยยังคงรูปแบบวิถีชีวิตฮ่องกงเมื่อวันวาน สื่อพิมพ์รายวันบนเกาะฮ่องกงทุกวันนี้อยู่ภายใต้ความอึมครึมทางการเมืองและเศรษฐกิจ รายได้โฆษณาตกฮวบอย่างน่าใจหาย ทั้งนี้ มาจากอิทธิพลสื่อไร้พรมแดนที่แรงไม่หยุด และผู้บริโภคข่าวบางส่วนลดรายจ่าย เปลี่ยนมารับบริการจาก 'หนังสือพิมพ์ฟรี' 5-6 ฉบับที่แจกตามย่านธุรกิจ ทางเข้ารถไฟใต้ดินและท่าเรือข้ามฟาก ซึ่งได้รับการต้อนรับด้วยดี นอกจากนี้ แม้หนังสือพิมพ์กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่าง 'เหรินหมินรื่อเป้า' (ประชาชนรายวัน)วางแผงกันให้เห็น แต่ไม่ได้รับความสนใจแต่น้อย
หลังฮ่องกง 'คืนสู่เหย้า' ได้มีนายทุนสื่อฮ่องกงผุดไอเดียที่อยากออกหนังสือพิมพ์ภาษาจีนฉบับใหม่ในไทย มาดูตลาดแล้วมองหาผู้ร่วมทุนในกรุงเทพฯ ทั้งๆที่ทุกวันนี้ประเทศไทยมี หนังสือพิมพ์จีนรายวันมากถึง 6 ฉบับอยู่แล้ว มีจำนวนมากกว่าหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่มีอยู่แค่ 2 ฉบับด้วยซ้ำ แต่แล้วความคิดนี้ต้องล้มเลิกไป เพราะไปรู้ความจริงว่าหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในไทย แม้แต่ละฉบับมีอายุ 40-60 ปีก็ตาม แต่ขาดแคลนบุคคลากรกองบรรณาธิการอย่างหนัก อาแปะที่เกิดในไทยนั่งแปลข่าวหลายคนอายุรุ่นปู่รุ่นทวดมากกว่า 70 ส่วนคนหนุ่มในกองบรรณาธิการนั้น หากไม่ใช่คนที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ก็เป็น 'จีนฮ่อ' ที่อาศัยอยู่ตามชายแดนไทย-พม่า ที่เข้าใจภาษาไทยแบบงูงูปลาปลา
หนังสือขายดี 'เวินเจียเป่า--พระเอกตุ๊กตาทอง' (ขอบคุณภาพ: Kin Cheung/AP)
ดูเหมือนว่าสื่อฮ่องกงไม่ยอมรับชนชั้นปกครองปักกิ่ง การขัดแย้งความคิดทางการเมืองแฝงในจิตใจนับวันเด่นชัดมากขึ้นสำนักพิมพ์หลายแห่งพร้อมใจร้องเพลง 'ช่างมัน ฉันไม่แคร์' หลายปีผ่านมา หนังสือที่วางขายในร้านหนังสือชั้นนำหรือแม้แต่ริมถนนทั่วไป เต็มไปด้วยแนวการเมืองที่จงใจขุดคุ้ยคลังทรัพย์สินมหาศาลของครอบครัวผู้นำ เรื่องชู้สาวหรือเรื่องอื้อฉาวอื่นๆ 'หนังสือต้องห้ามบนดิน' ที่ขายดิบขายดีเล่มหนึ่ง ชื่อว่า 'เวินเจียเป่า--พระเอกตุ๊กตาทอง' เพราะนายกรัฐบาลจีนขวัญใจคนนี้ ทุกคราวพบปะชาวชนบท เห็นความทุกข์ยากแล้วมักน้ำตาตก เล่นได้ทุกบทบาท ในระยะหลังประเภทหนังสือที่หนอนหนังสือสนใจมากที่สุด กลับกลายเป็นประเภทอัลบั้มภาพเก่าหรือตำนานเกี่ยวกับฮ่องกง
ข่าวฮือฮา "ช็อคโลก" เ กิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดย "เอเซียทีวี" (ATV)ของฮ่องกงที่ไม่กินเส้นกับทางการฮ่องกงมาตลอด ได้เสนอ 'ข่าวเดี่ยว'ที่อ้างว่าได้จาก 'แหล่งข่าวระดับสูงปักกิ่ง' ว่า 'เจียงเจ๋อหมินตายแล้ว!' ซึ่ง 'ซังเคชิมบุน' สื่อยักษ์ใหญ่อันดับห้าของญี่ปุ่นก็ได้กระจายข่าวนี้วันรุ่งขึ้น จากนั้นอีกหลายเดือน อดีตผู้นำสูงสุดเจียงเจ๋อหมิน ตัวจริงสียงจริงปรากฏตัวต่อที่สาธารณะ ATV จึงถูกโจมตีจากวงการเดียวกันว่าสร้างข่าวเท็จ เป็นเหตุให้นักข่าว และผู้บริหารระดับสูงหลายคนต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก มิเพียงเท่านี้ สองสามเดือนที่ผ่านแล้ว เนื่องจากสีจิ้นผิง ผู้ซึ่งครองตำแหน่งผู้นำสูงสุดประเทศ คนล่าสุดไม่ได้ปรากฏตัวนานเกือบสองอาทิตย์หรือยกเลิกกำหนดการพบปะกับผู้นำต่างชาติที่มาเยือน สื่อฮ่องกงหลายแห่งสันนิษฐานว่าสีจิ้นผิง 'อาการโคม่าใกล้ตาย' แต่จริงแล้วคือเขาเพียงแค่ปวดหลังเนื่องจากเล่นกีฬามากไป และแพทย์สั่งให้พักผ่อนระยะหนึ่ง ถึงกระนั้นก็ตาม กองงานโฆษกปักกิ่งไม่เร่งตอบโต้เหมือนบางประเทศในอาเซียนที่ออกแถลงการณ์โต้ตอบทันควัน แต่ปล่อยให้สื่อที่ปล่อยไก่แล้วหน้าแตกเอง
อย่างไรก็ตาม ฮ่องกงก็คงเป็นสวรรค์แห่งการแสดงออกทางการเมืองจริงๆ บริเวณทางเข้าสตาร์เฟอรรี่ฝั่งเกาลูน ซ้ายมือเป็นป้ายจัดทำโดย 'สมาคมห่วงใยเยาวชนฮ่องกง' เรียกร้อง 'ต่อต้านลัทธิฝ่าหลุนกง ร่วมสร้างฮ่องกงที่ปรองดอง' ห่างกันไม่ถึง 2 เมตรเป็นป้ายพื้นฟ้าตัวขาวของฝ่ายที่สนับสนุนฝ่าหลุนกงเขียนว่า 'จีนคอมมิวนิสต์จะล่มพัง อย่าร่วมฝังเป็นเพื่อนกับมัน" นอกจากนี้ บนสะพานลอยคนเดินที่เชื่อมกับไปอีกฝั่งหนึ่ง จะเห็นภาพที่ผู้ด้อยโอกาสสูงอายุ ห้อยแผ่นป้ายติดกับคอ ซึ่งมีข้อความตัวอักษรโจมตีผู้บริหารฮ่องกง และ สส.ที่มีเรื่องอื้อฉาว แต่ตำรวจที่นั่นไม่มีการจับกุมใดๆ เพราะถือว่าเป็นการชุมนุมหรือการแสดงออกโดยสงบ นับเป็นอานิสงค์จากสัญญา '1 ประเทศ 2 ระบบ' ภาคพิสดารอีกชิ้นหนึ่ง
ต่างกับบ้านเรา ที่ทางสันติบาลไทยต้องเอาใจสถานทูตจีนที่กลัว 'ฝ่าหลุนกง' จนขึ้นสมอง และขึ้นบัญชีดำร่วมกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชไต้หวัน, ธิเบต และซินเจียง ซึ่งปักกิ่งตีตราเป็น 'สี่ภัย' เรียกร้องให้ทางการไทยสอดส่องการเคลื่อนไหวหรือจับกุมทุกคราวที่มีผู้นำของจีนมาเยือน
ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่ง ตำรวจสันติบาลไทยเข้าใจผิด จับกุมผู้ต้องสงสัยประมาณ 20 คนบริเวณสี่แยกคอกวัว ที่สวมเสื้อมีโลโก้คล้าย 'ธรรมจักร' ที่เป็นสัญลักษณ์ของฝ่าหลุนกง ขณะที่ปะปนอยู่กับฝูงชนรอต้อนรับเจียงเจ๋อหมินที่มาเยือนในฐานะราชอาคันตุกะ ซึ่งแท้จริงพวกเขาเป็นเจ้าหน้าที่ซ่อมไฟฟ้าและโทรศัพท์ของเอกชนในบริเวณนั้น
ป้ายต่อต้าน(ซ้าย)ฝ่าหลุนกงและโจมตี(ขวา)จีนคอมมิวนิสต์ที่ติดห่างกันไม่ถึง2เมตร (ภาพ:สงวน คุ้มรุ่งโรจน์)
'ฝ่าหลุนกง' ที่นายหลี่หงจื้อก่อตั้งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เดิมเป็นสำนักฝึกพลังลมปราณ (ชี่กง) โดยได้นำเอาท่ามวยไท้เก๊กผสมท่ามวยสำนักต่างๆ ท่ารำไทยผสานกันเป็นท่าเฉพาะของการฝึก "พลังศักยภาพ" นำเอาคำศัพท์ของศาสนาพุทธ เต๋า และคริสต์ ผสมกันจนเกิดเป็นคำศัพท์เฉพาะ สร้างความเชื่อถือให้แก่ผู้ฝึกฝ่าหลุนกงเป็นจำนวนมากจนมีสมาชิกล้มหลามมากกว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีน นายหลี่หงจือได้ใช้ผู้ที่ฝึกเป็นเครื่องประท้วงรัฐบาลจีน ในที่สุด ทางการปักกิ่งจึงทำการปราบปรามเพื่อไม่ให้ 'ทาบรัศมี' หรือเป็นภัยต่อการปกครอง
เมื่อ ค.ศ. 1993 หลี่หงจื้อ เจ้าลัทธิฝาหลุนกงถูกเชื้อเชิญมา 'เผยแผ่' เป็นทางการครั้งแรกในไทย ณ สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดน โดยบริษัทธุรกิจข้ามชาติที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของไทย เขาเข้าออกไทยหลายสิบครั้ง เนื่องจากมารดา น้องสาวและน้องเขยอาศัยและประกอบธุรกิจในไทย ก่อนเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1999 ที่ยังไม่ถูกประกาศเป็นองค์การนอกกฎหมาย จำนวนผู้ฝึกฝ่าหลุนกงในไทยเคยมากถึงสองพัน แกนนำไทยในขณะนั้น มีตั้งแต่เอกอัครราชทูต, รองปลัดกระทรวง นายแพทย์, นักธุรกิจเดินเรือสมุทรและธุรกิจน้ำมัน, อาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้บริหารสื่อ เป็นต้น
เกี่ยวกับผู้เขียน: สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการข่าวต่างประเทศมานานกว่าสามทศวรรษ ปัจจุบันทำงานอิสระ
