“หากเราเชื่อว่าเรามีสิทธิที่จะพูดในสิ่งที่คิด หากเราเชื่อว่าไม่ควรจะมีใครหรือกฎหมายอะไรมาตัดสินว่าเรื่องไหนเราควรพูดหรือไม่ควรพูด สิ่งที่เราทำได้คือทำให้ผู้คนมาร่วมกันเชื่อในสิ่งที่เราเชื่อและร่วมกันผลักดันความเชื่อนั้นให้เป็นรูปธรรม” / พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ
2) แอบมองเพื่อนบ้าน: สถานการณ์สื่อและเสรีภาพในการแสดงออกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ต่อ)
ขอบคุณภาพจาก http://thediplomat.com/wp-content/blogs.dir/1/files/2012/05/Burma-media2-440x292.jpg
พม่าในฐานะประเทศที่ถูกปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการทหารและประชาชนต้องเผชิญความทุกข์ยากจากการกดขี่เสรีภาพมาอย่างยาวนาน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพม่าหลังการเลือกตั้งในปี 2010 ทำให้ประชาคมโลกอดตื่นเต้นยินดีไปกับประชาชนชาวพม่าไม่ได้ สถานการณ์สื่อและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในพม่าพัฒนาขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการยกเลิกการบล็อกเว็บไซต์ต่างประเทศเช่น BBC, Voice of America, The Democratic Voice of Burma (DVB) และ Youtube [1] รวมถึงการเปิดกว้างมากขึ้นในประเด็นเสรีภาพสื่อ เห็นได้จากการยกเลิกกฎหมายควบคุมสื่อโดยตรงในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการยกเลิกกฎหมายการควบคุมสื่อโดยตรงจะเป็นก้าวสำคัญในการรับรองเสรีภาพในการแสดงออกในพม่า แต่หนทางไปสู่การเป็นประเทศเสรียังคงเป็นเส้นทางที่ยาวไกลสำหรับประชาชนและสื่อมวลชนในพม่า เอกชนยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ สื่อมวลชนบางส่วนยังคงอยู่ในสถานะนักโทษการเมือง สื่อมวลชนผู้มีอิสรภาพเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อความปลอดภัย กฎหมายการดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ยังคงกำหนดโทษไว้สูงถึง 15 ปีสำหรับผู้ที่รับหรือส่งข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ [2] ปฏิเสธไม่ได้ว่าพม่ากำลังเดินหน้าไปในทิศทางที่น่าประทับใจ แต่เราต้องไม่หลงลืมแก่นแกนสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออก นั่นคือเสรีภาพและอิสรภาพของประชาชน
ขอบคุณภาพจาก http://cpcabrisbane.org/Kasama/2004/V18n4/EverybodysFight.htm
แม้ว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์จะมีชื่อเสียงในด้านดีเรื่องการเคารพสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชน แต่การทำงานของสื่อมวลชนในฟิลิปปินส์ยังคงต้องเผชิญกับความรุนแรงเนื่องจากวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิดในสังคมฟิลิปปินส์ ทำให้กลุ่มติดอาวุธหรือผู้มีอำนาจในระดับท้องถิ่นไม่ลังเลใจที่จะใช้วิธีรุนแรงกับสื่อมวลชน โดยเฉพาะการสังหารสื่อมวลชนพร้อมกันในคราวเดียวถึง 32 คนบนเกาะมินดาเนาในปี 2009 [3] นอกจากนั้นความพยายามผลักดันกฎหมายเสรีภาพในข้อมูล (Freedom of Information Bill 2012) ให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรขององค์กรภาคประชาสังคมก็ดูจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก แม้ว่าตัวร่างกฎหมายจะผ่านวุฒิสภามาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2012 ก็ตาม นอกจากนั้นกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ (Cybercrime law 2012) ที่เพิ่งผ่านสภาฯ ในเดือนกันยายน และมีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2012 ก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมฟิลิปปินส์ว่ากฎหมายนี้ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่ โดยเฉพาะการกำหนดโทษสูงถึง 12 ปีสำหรับข้อหาหมิ่นประมาทผ่านระบบคอมพิวเตอร์ (จำกัดความ ‘หมิ่นประมาท’ โดยกฎหมายอาญาว่าการใส่ความเพื่อหมิ่นศักดิ์ศรีหรือความน่าเชื่อถือของผู้อื่น) [4] ล่าสุดศาลฎีกาฟิลิปปินส์ได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ หลังกลุ่มต่างๆ ส่งคำร้องไปยังศาลฎีกาถึง 15 รายว่ากฎหมายนี้ละเมิดเสรีภาพของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์ [5] ส่วนผลคำวินิจฉัยของศาลฎีกาในประเด็นนี้จะเป็นอย่างไร รัฐบาลฟิลิปปินส์จะยังคงรักษาชื่อเสียงในการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ได้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
Speaker’s Corner ในสวนสาธารณะ Hong Lim ที่รัฐบาลสิงคโปร์จัดให้สำหรับ ‘เสรีภาพในการพูด’ ขอบคุณภาพจาก http://3.bp.blogspot.com/-mgst_gZp4b8/TzY8h6jWzVI/AAAAAAAABf0/aD6sSpdvFE0/s1600/10.jpg
หากวัดจากดัชนีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สิงคโปร์เป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่ถ้าหากพูดถึงเสรีภาพของประชาชน การใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่มั่งคั่งและคุณภาพชีวิตสูงที่สุดในอาเซียนนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ที่มีความเห็นแตกต่างจากแนวทางของรัฐ รายงานประจำปี 2012 ของ Human Rights Watch กล่าวว่าในการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รัฐบาลสิงคโปร์ปฏิเสธที่จะปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศ และปฏิเสธการลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลสิงคโปร์ยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมสื่อทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์, ภาพยนตร์, ดนตรี หรือแม้กระทั่งเกมส์คอมพิวเตอร์ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ, ความสงบเรียบร้อยของสังคม, ศีลธรรมอันดี และความสามัคคีทางเชื้อชาติและศาสนา [6] ด้วยการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงภายในมาตั้งแต่แยกตัวออกมาจากมาเลเซียในปี 1965 แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามผ่อนคลายความตึงเครียดในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างสิงคโปร์ที่มีการปะทะสังสรรค์ของความแตกต่างหลากหลายอยู่ตลอดเวลาด้วยการริเริ่มให้มี “มุมคนอยากพูด” หรือ Speaker’s Corner ในสวนสาธารณะ Hong Lim ในปี 2000 โดยให้ประชาชนที่อยากส่งเสียงสามารถพูดได้โดยมีข้อแม้ว่าต้องมาลงทะเบียนกับตำรวจสามสิบวันล่วงหน้า และไม่จำเป็นต้องแจ้งหัวข้อที่จะพูด อย่างไรก็ดี แม้จะมีมุมคนอยากพูดก็ยังมีคนถูกจับเพราะมาพูดเรื่องที่อยากพูด ในปี 2002 Chee Soon Juan หัวหน้าพรรค Singapore Democratic Party ถูกปรับ 3,000 เหรียญสิงคโปร์เนื่องจากไม่ได้ลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนมาพูด และถูกปรับอีก 2,000 เหรียญสิงคโปร์และถูกตัดสิทธิลงสมัครเลือกตั้งเนื่องจากพูดโจมตีกรณีรัฐบาลห้ามนักเรียนหญิงสวมฮิญาบในโรงเรียนรัฐ [7] และแม้ว่าในปี 2008 มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วย “มุมคนอยากพูด” ให้ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดมากมายรวมถึงการไม่รับรองว่า “คนอยากพูด” จะไม่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอื่นเช่นกฎหมายหมิ่นประมาทหรือกฎหมายปลุกระดม และในฤดูกาลเลือกตั้ง รัฐบาลสิงคโปร์จะทำการปิดมุมคนอยากพูดชั่วคราว [8]
ขอบคุณภาพจาก http://www.unesco.org/new/fileadmin/MULTIMEDIA/HQ/CI/CI/images/In-focus/focus_timor_3.jpg
ส่วนติมอร์ตะวันออกแม้จะเป็นประเทศน้องใหม่ในอาเซียนแต่กลับโชว์ฟอร์มได้น่าประทับใจในด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยเฉพาะการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่างๆ รายงายของ SEAPA ประจำปี 2012 ชี้ว่าความท้าทายของติมอร์ตะวันออกคือการออกกฎหมายเพื่อรับรองเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ และปัญหาความยากจนที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีโอกาสเข้าถึงสื่อ [9]
ขอบคุณภาพจาก http://caulacbonhabaotudo.files.wordpress.com/2012/09/freedom-for-vietnamese-bloggers.jpg
แม้ว่าเวียดนามจะเข้าร่วมเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและรัฐธรรมนูญเวียดนามมาตรา 69 จะรับรองเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการพูดของประชาชนชาวเวียดนาม [10] แต่นั่นไม่ได้มีความหมายอะไรในทางปฏิบัติเพราะภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ เวียดนามมีชื่อเสียงด้านการควบคุมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอย่างเคร่งครัดไม่แพ้ชาติใดในโลก และมักจะรั้งท้ายในตารางการจัดอันดับเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงออกขององค์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอยู่เสมอ รายงานเสรีภาพสื่อปี 2011 ของ Freedom House กล่าวว่ารัฐบาลเวียดนามควบคุมสื่อภายในประเทศทุกชนิด [11] การใช้ถ้อยคำคลุมเครือในกฎหมายอาญามาตรา 88 ว่าด้วยการโฆษณาชวนเชื่อต้านรัฐ [12] เปิดช่องให้มีการตีความอย่างกว้างขวางและนำไปสู่การละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างง่ายดาย เสรีภาพอินเตอร์เน็ตซึ่งเป็นช่องทางเดียวในการแสดงออกของประชาชนก็ถูกรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามตอบโต้อย่างดุเดือด บล็อกเกอร์จำนวนมากถูกจับกุมและลงโทษจำคุกเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา บล็อกเกอร์สามคนซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มสื่อมวลชนเสรี (Club of Free Journalists) ถูกลงโทษจำคุกตั้งแต่ 4-12 ปีเนื่องจากข้อเขียนออนไลน์วิจารณ์รัฐบาลในประเด็นความอยุติธรรม, การทุจริต และนโยบายต่างประเทศ [13] แม่ของหนึ่งในบล็อกเกอร์ตัดสินใจเผาตัวเองเพื่อประท้วงรัฐบาลเวียดนามที่จับกุมและลงโทษลูกสาวของเธอ [14] (อ่านเพิ่มเติมเรื่องการจำกัดเสรีภาพออนไลน์ในเวียดนามได้ในบทสัมภาษณ์ “สนทนากับหนึ่งในบล็อกเกอร์ที่ทางการเวียดนามต้องการตัว” http://prachatai.com/journal/2012/10/43139) นอกจากนั้น ร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดการ, การเตรียมการ และการใช้บริการอินเตอร์เน็ตและข้อมูลในเครือข่าย ได้สร้างความกังวลให้กับองค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลกที่จับตาดูสถานการณ์เสรีภาพออนไลน์ในเวียดนาม เพราะในร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดการฯ ขอให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทุกคนใช้ชื่อจริงและข้อมูลจริง, จะมีการขอความร่วมมือจากบริษัทต่างๆ ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตให้ตั้งสำนักงานและเครือข่ายภายในประเทศเวียดนาม และผู้ดูแลเว็บไซต์อาจจะมีความผิดหากข้อความที่โพสต์ขึ้นมาในเว็บไซต์นั้นผิดกฎหมาย [15]
หากมองจากภาพรวมของสถานการณ์จะเห็นได้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเด็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออกหนักหนาไม่แพ้ภูมิภาคอื่นใดในโลก แนวโน้มและทางออกของปัญหาจะเป็นอย่างไร อีกทั้งบทบาทขององค์กรสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคอย่าง AICHR จะมีบทบาททำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้หรือไม่ ทั้งหมดนี้เป็นคำถามที่พลเมืองอาเซียนจำเป็นต้องหาคำตอบร่วมกัน
3) เรายังมีความหวังหรือไม่
จากแนวโน้มของสถานการณ์สื่อและเสรีภาพในการแสดงออกในแต่ละประเทศ แม้ว่าการใช้อำนาจรัฐหรือความรุนแรงคุกคามการแสดงความคิดเห็นในแบบดั้งเดิมจะยังคงอยู่ แต่แนวโน้มที่น่าสนใจคือการที่รัฐบาลในแต่ละประเทศพยายามอย่างหนักในการออกกฎหมายเพื่อควบคุมเสรีภาพในโลกออนไลน์ ไทย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, พม่ามีกฎหมายเพื่อควบคุมพฤติกรรมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตและเวียดนามกำลังอยู่ขั้นตอนการพิจารณากฎหมาย แม้รัฐบาลแต่ละประเทศจะให้เหตุผลว่าวัตถุประสงค์ของกฎหมายเหล่านี้เป็นไปเพื่อป้องกันอาชญากรรมในโลกไซเบอร์ แต่ด้วยการใช้ภาษาอันคลุมเครือและเอื้อต่อการตีความอย่างกว้างขวางของฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย ทำให้กฎหมายเหล่านั้นมีลักษณะคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกไปในเวลาเดียวกัน
และแม้ว่าร่างปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ASEAN Declaration on Human Rights) จะมีบทบัญญัติคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออกในข้อ 23 (ฉบับร่างวันที่ 23 มิถุนายน 2555) แต่ร่างปฏิญญาข้อที่ 6 (กล่าวถึงการใช้สิทธิบนความรับผิดชอบต่อผู้อื่น, ชุมชนและสังคมที่ปัจเจกบุคคลอาศัยอยู่), 7 (กล่าวถึงการตระหนักในสิทธิโดยพิจารณาถึงบริบทของภูมิภาคและประเทศ รวมถึงความแตกต่างทางการเมือง, เศรษฐกิจ, กฎหมาย, สังคม, วัฒนธรรม, ประวัติศาสตร์ และศาสนา) และ 8 (กล่าวถึงการใช้สิทธิโดยมีข้อจำกัดตามกฎหมายและสามารถถูกจำกัดได้ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ, ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม, สุขภาวะสาธารณะ, ความปลอดภัยสาธารณะ, ศีลธรรมสาธารณะและความเป็นอยู่ของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย) ก็อาจจะเป็นอุปสรรคในการใช้สิทธิเพื่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอาเซียน
การจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหรือ AICHR และการร่างปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนถือเป็นก้าวย่างที่น่าชื่นชม เพราะนี่คือกลไกสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคกลไกแรกที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาในทวีปเอเชีย แต่การมีแค่คณะกรรมาธิการและตัวปฏิญญาอาจจะไม่เพียงพอกับการทำให้ประเทศสมาชิกตระหนักในหน้าที่ที่ต้องส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพลเมืองในรัฐ เพราะเมื่อพูดถึงกลไกสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอื่นๆ เช่นยุโรป แอฟริกา หรืออเมริกา อำนาจในการทำให้รัฐต้องส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพลเมืองนั้นล้วนแล้วแต่อยู่ในมือของศาลสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค
กลไกที่อาเซียนอาจจะต้องการเพื่อทำให้การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพลเมืองอาเซียนสอดคล้องกับมาตรฐานสากลคือศาลสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ASEAN Human Rights Court) เหมือนที่ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเคยมีคำตัดสินว่ารัฐบาลสเปนละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกษัตริย์สเปนโดยผู้นำทางการเมืองของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนแคว้นบาสก์ Otegi [16] และเหมือนที่ศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างทวีปอเมริกันเคยมีคำตัดสินว่ารัฐบาลชิลีละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกในประเด็น The Last Temptation of Christ [17]
แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายในการผลักดันให้เกิดศาลสิทธิมนุษยชนอาเซียน และคงจะเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าในการผลักดันให้รัฐบาลประเทศอาเซียนยอมรับอำนาจของศาลในกรณีสิทธิมนุษยชน แต่ถ้าหากเราเชื่อว่าสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นเรื่องของทุกคน หากเราเชื่อว่าเรามีสิทธิที่จะพูดในสิ่งที่คิด หากเราเชื่อว่าไม่ควรจะมีใครหรือกฎหมายอะไรมาตัดสินว่าเรื่องไหนเราควรพูดหรือไม่ควรพูด สิ่งที่เราทำได้คือทำให้ผู้คนมาร่วมกันเชื่อในสิ่งที่เราเชื่อและร่วมกันผลักดันความเชื่อนั้นให้เป็นรูปธรรม เหมือนที่ผู้ชายคนหนึ่งเคยแต่งเพลงเพลงหนึ่งซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในเวลาต่อมา ผู้ชายคนนั้นแต่งเพลงท่อนนั้นไว้ว่า “You may say I’m a dreamer but I’m not the only one. I hope someday you will join us and the world will be as one.”
เกี่ยวกับผู้เขียน พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ อดีตนักเรียนสื่อจากภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง/วารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจบทำงานด้านสิทธิมนุษยชนหลากประเด็นอยู่หลายปี ปัจจุบันเรียนปริญญาโท ด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศที่คอสตาริกา ทวีปอเมริกากลาง มีความสนใจและติดตามเรื่องเสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการแสดงออก ภาพยนตร์ศึกษา และกระแสวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นพิเศษ
ภาคผนวก: บทบาททางการเมืองและสิทธิมนุษยชนขององค์กรระดับภูมิภาค พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ วลียอดฮิตติดตลาดไม่แพ้ละครแรงเงาและรายการ The Voice Thailand ในช่วงนี้คงหนีไม่พ้น “เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ซึ่งถูกนำมาใช้ในทุกวาระทุกโอกาส จนมีคนนำไปตั้งเป็นหน้าเพจใน Facebook ล้อเลียนที่ไม่ว่าจะเป็นงานชนไก่หรืองานประกวดทุเรียนกวนก็ “เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” แต่หากพิจารณากันอย่างจริงจัง คำว่า “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” นั้นมีความหมายตรงตัวในประเด็นที่ว่า Association of Southeast Asia Nation หรือชื่อภาษาไทยว่าสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มุ่งหมายจะสร้างกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาคในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น เหมือนที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ภายใต้ข้อ 2 ข้อสองย่อย (e) ว่าการไม่แทรกแซงกิจการภายในของสมาชิกรัฐอาเซียน และข้อสองย่อย (f) ว่าการเคารพสิทธิของรัฐสมาชิกทุกรัฐในการธำรงประชาชาติของตนโดยปราศจากแทรกแซง การบ่อนทำลาย และการบังคับจากภายนอก [18] ถือเป็นหลักการของอาเซียน ประเด็นที่น่าสนใจคือแม้ชาติสมาชิกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีการรวมตัวกันตั้งแต่ปี 1967 แต่กฎบัตรอาเซียนนั้นเพิ่งจะมีผลบังคับใช้ในทางกฎหมายระหว่างประเทศในปี 2008 และแม้ว่าอาเซียนจะมีการริเริ่มกลไกสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคที่ใช้ชื่อว่าคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหรือ ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights (AICHR) ในปี 2009 และมีกระบวนการร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Declaration on Human Rights) อยู่ในขณะนี้ แต่เนื่องจากกฎบัตรอาเซียนข้อที่กล่าวไปแล้วทำให้นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนในอาเซียนเชื่อว่า AICHR ต้องเผชิญข้อจำกัดอย่างมากในการปฏิบัติงานเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนในชาติอาเซียน ในขณะที่องค์กรภูมิภาคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป (European Union) สหภาพแอฟริกา (African Union) หรือองค์กรนานารัฐอเมริกัน (The Organization of American States) ล้วนแล้วแต่มีกฎบัตรว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งกรณีศึกษาที่น่าสนใจเมื่อองค์กรภูมิภาคแสดงบทบาทในประเด็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แอฟริกา กฎบัตรว่าด้วยประชาธิปไตย, การเลือกตั้ง และระบบรัฐของสหภาพแอฟริกา (African Charter on Democracy, Elections and Governance) กล่าวไว้ในบทที่ 8 ว่าด้วยการลงโทษในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ข้อ 23, ข้อ 24, ข้อ 25 และข้อ 26 [19] ที่กล่าวถึงมาตรการที่สหภาพแอฟริกาสามารถกระทำได้หากเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการต่างๆ ที่ละเมิดกฎหมาย เช่นการรัฐประหาร, การใช้กำลัง หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายให้ฝ่าฝืนหลักประชาธิปไตย ในปี 2005 สหภาพแอฟริกาเคยประกาศว่าการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโตโกของ Gnassingbe Eyadema แทนบิดาซึ่งเสียชีวิตขณะเป็นประธานาธิบดีนั้นถือเป็นการทำรัฐประหาร เพราะรัฐธรรมนูญโตโกระบุว่าหากประธานาธิบดีเสียชีวิตในตำแหน่ง ประธานสภาแห่งชาติจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีและต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ในกรณีนี้ Gnassingbe Eyadema ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนบิดาด้วยการสนับสนุนของกองทัพ สหภาพแอฟริกาสร้างแรงกดดันจน Gnassingbe Eyadema ต้องยอมลาออกจากตำแหน่งและจัดการเลือกตั้ง แม้ว่า Eyadema จะชนะการเลือกตั้งท่ามกลางข้อกังขาจนได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งก็ตาม [20] นอจากกรณีของโตโก สหภาพแอฟริกาได้ยกเลิกสมาชิกภาพของเมาริทาเนียถึงสองครั้งเมื่อเกิดรัฐประหารภายในประเทศ [21] อเมริกา กฎบัตรว่าด้วยประชาธิปไตยแห่งทวีปอเมริการะบุไว้ในบทที่ 4 ว่าด้วยการเสริมสร้างและรักษาสถาบันประชาธิปไตยข้อ 19, 20, 21 และ 22 กล่าวถึงมาตรการต่างๆ ที่องค์นานารัฐอเมริกันสามารถปฏิบัติต่อประเทศสมาชิกที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ [22] กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นคือรัฐประหารในฮอนดูรัสปี 2009 กองทัพซึ่งมีหมายจับลับของศาลฎีกาได้ขับไล่อดีตประธานาธิบดี Manuel Zeyala ออกจากประเทศ ทำให้องค์กรนานารัฐอเมริกันตัดสินใจยกเลิกสมาชิกภาพของฮอนดูรัสชั่วคราว และได้คืนสมาชิกภาพให้ฮอนดูรัสในปี 2011 เมื่อมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2010 [23] ยุโรป แม้ว่าสหภาพยุโรปกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักและเพิ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแบบค้านสายตากองเชียร์ทั้งโลก แต่สหภาพยุโรปยังถือเป็นโมเดลขององค์กรภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จะเห็นได้จากบทบาทอันเข้มแข็งของสหภาพยุโรปในการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต ในยุโรปขณะนี้ มีเพียงเบลารุสซึ่งเป็นเผด็จการประเทศสุดท้ายในยุโรปยังคงบังคับใช้โทษประหารชีวิตอยู่ สิทธิในชีวิตของประชาชนได้รับการคุ้มครองทั้งในกฎบัตรว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานแห่งสหภาพยุโรป [24] และอนุสัญญาแห่งยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน [25] นอกจากนี้ การยกเลิกโทษประหารชีวิตยังเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป [26] จะเห็นได้ว่าองค์กรภูมิภาคในทวีปอื่นล้วนแล้วแต่มีบทบาทในการรักษาหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ในขณะที่บทบาทของอาเซียนในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนยังคงเป็นคำถาม, ที่คำตอบอาจจะล่องลอยอยู่ในสายลม |
---|
[1] http://www.independent.co.uk/news/world/asia/burmese-junta-relaxes-access-to-foreign-websites-2356125.html เข้าถึงข้อมูลวันที่ 23 ตุลาคม 2555
[2] http://in.reuters.com/article/2012/08/20/myanmar-censorship-idINL4E8JK35920120820 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 23 ตุลาคม 2555
[3] http://en.rsf.org/philippines-tribute-to-victims-one-year-after-22-11-2010,38861.html เข้าถึงข้อมูลวันที่ 23 ตุลาคม 2555
[4] https://www.amnesty.org/en/news/philippines-cybercrime-law-threatens-freedom-expression-and-must-be-reviewed-2012-10-04 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 23 ตุลาคม 2555
[5] http://www.aljazeera.com/news/asia-pacific/2012/10/2012109102229428634.html เข้าถึงข้อมูลวันที่ 23 ตุลาคม 2555
[6] http://www.hrw.org/world-report-2012/world-report-2012-singapore เข้าถึงข้อมูลวันที่ 23 ตุลาคม 2555
[7] http://www.sdpfans.com/blog/2011/06/chee-soon-juans-freedom-of-assembly-pink-dot-singapore เข้าถึงข้อมูลวันที่ 23 ตุลาคม 2555
[8] http://www.thejakartaglobe.com/commentary/singapore-shuts-down-speakers-corner-for-elections/429397 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 23 ตุลาคม 2555
[9] http://www.seapabkk.org/seapa-reports/press-freedom-on-southeast-asian-countries/100586-timor-leste-growing-pains-of-a-democracy.html เข้าถึงข้อมูลวันที่ 23 ตุลาคม 2555
[10] http://www.vietnamlaws.com/freelaws/Constitution92(aa01).pdf เข้าถึงข้อมูลวันที่ 23 ตุลาคม 2555
[11] http://www.freedomhouse.org/report/freedom-press/2011/vietnam เข้าถึงข้อมูลวันที่ 24 ตุลาคม 2555
[12] http://moj.gov.vn/vbpq/en/Lists/Vn%20bn%20php%20lut/View_Detail.aspx?ItemID=610 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 24 ตุลาคม 2555
[13] http://www.article19.org/resources.php/resource/3455/en/vietnam:-a-dark-week-for-freedom-of-expression เข้าถึงข้อมูลวันที่ 24 ตุลาคม 2555
[14] http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-19053910 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 24 ตุลาคม 2555
[15] http://www.article19.org/resources.php/resource/3341/en/vietnam:-internet-decree-or-internet-phobia?; เข้าถึงข้อมูลวันที่ 24 ตุลาคม 2555
[16] http://hudoc.echr.coe.int/sites/eng/pages/search.aspx?i=001-103951#{"itemid":["001-103951"]} เข้าถึงข้อมูลวันที่ 24 ตุลาคม 2555
[17] http://www.corteidh.or.cr/docs/casos/articulos/seriec_73_ing.pdf เข้าถึงข้อมูลวันที่ 24 ตุลาคม 2555
[18] http://aseansummit.mfa.go.th/15/thai/PDF/ASEAN_Charter_TH+EN.pdf เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2555
[19] http://www.africa-union.org/root/au/Documents/Treaties/text/Charter%20on%20Democracy.pdf เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2555
[20] http://news.bbc.co.uk/2/hi/africa/4240485.stm เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2555
[21] http://www.economist.com/node/14105592 เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2555
[22] http://www.oas.org/charter/docs/resolution1_en_p4.htm เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2555
[23] http://topics.nytimes.com/top/news/international/countriesandterritories/honduras/index.html เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2555
[24] http://www.europarl.europa.eu/charter/pdf/text_en.pdf เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2555
[25] http://www.echr.coe.int/NR/rdonlyres/D5CC24A7-DC13-4318-B457-5C9014916D7A/0/CONVENTION_ENG_WEB.pdf เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2555
[26] http://eeas.europa.eu/human_rights/adp/index_en.htm เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2555
