“ประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกควรเป็นประเด็นสำคัญในทุกประเทศรวมถึงประเทศไทย เสรีภาพในการแสดงออกนั้นเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงโดยตรงกับประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนในประเด็นอื่นมีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่ถ้าเราพูดถึงประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงออกคือกุญแจที่นำไปสู่แก่นแกนของประชาธิปไตย นั่นคือเสรีภาพและอิสรภาพของประชาชน” (Frank La Rue, UN Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression)
1) ทำไมต้องพูดถึงเสรีภาพในการพูด?
ขอบคุณภาพจาก http://iwf.org/blog/2789330/
หลายคนอาจมีคำถามในใจว่าทำไมต้องให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการพูดหรือเสรีภาพในการแสดงออก ในขณะที่ประเทศไทยหรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังมีประเด็นอื่นที่เป็นปัญหาเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือปัญหาความยากจนที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งกว่าเสรีภาพในการพูดหรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
สำหรับคำถามนี้ คำตอบของ Frank La Rue ผู้ตรวจการพิเศษสหประชาชาติด้านการปกป้องและส่งเสริมสิทธิในการมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก (UN Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression) ที่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เมื่อครั้งที่แฟรงค์ ลา รูมาเยือนประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการในเดือนมกราคม 2012 น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุด
อัจฉรา อัชฌายกชาติ ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ตั้งคำถามกับแฟรงค์ ลา รูว่า “ทำไมคุณถึงคิดว่าประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกถึงเป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญในประเทศไทย” แฟรงค์ ลา รูตอบคำถามนี้ว่า “ประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกควรเป็นประเด็นสำคัญในทุกประเทศรวมถึงประเทศไทย เสรีภาพในการแสดงออกนั้นเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงโดยตรงกับประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนในประเด็นอื่นมีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่ถ้าเราพูดถึงประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงออกคือกุญแจที่นำไปสู่แก่นแกนของประชาธิปไตย นั่นคือเสรีภาพและอิสรภาพของประชาชน” [1]
เป็นความจริงที่ว่าปัญหาเศรษฐกิจสังคมหรือปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านอื่นนั้นมีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่ากัน แต่ถ้าหากเราอยู่ในสังคมที่ไร้เสรีภาพในการแสดงออก หากเราไม่สามารถเอ่ยถึงความกังวลที่เรามีต่อสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมืองก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะมีความคิดเห็นต่อประเด็นเหล่านั้น หากเราไม่ได้รับอนุญาตให้พูดถึงรัฐบาลหรือสถาบันอื่นใดในสังคมก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่เราจะตรวจสอบความโปร่งใสของสถาบันเหล่านั้น
เป็นไปไม่ได้ที่เราจะเสนอความคิดเห็นต่อนโยบายของรัฐบาลหากเราไม่ได้รับอนุญาตให้พูด เป็นไปไม่ได้ที่เราจะวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสถาบันทหาร สถาบันองคมนตรี หรือสถาบันกษัตริย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะหากเราอาศัยอยู่ในสังคมที่มีกฎหมายปิดปากประชาชน เป็นไปไม่ได้ที่เราจะพูดถึงผลกระทบของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐที่จะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านหากฝ่ายที่เสียผลประโยชน์จะใช้กฎหมายหมิ่นประมาทบังคับไม่ให้เราแสดงออกในสิ่งเราคิด เป็นไปไม่ได้ที่สื่อมวลชนจะทำหน้าที่ของตัวเองในสังคมที่รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจไม่อยากได้ยินเสียงที่แท้จริงของประชาชน ความสำคัญของเสรีภาพชนิดนี้นั้นไม่มากไม่น้อยไปกว่าสิ่งที่แฟรงค์ ลา รูให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่า -- สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออกคือรากฐานของสังคมประชาธิปไตย
2) แอบมองเพื่อนบ้าน: สถานการณ์สื่อและเสรีภาพในการแสดงออกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ สื่อมวลชนในประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายที่พัฒนาไปตามยุคสมัย เมื่อการแทรกแซงสื่อได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการกดดันในเชิงธุรกิจ สื่อมวลชนที่พยายามจะทำหน้าที่ของตัวเองอย่างตรงไปตรงมาต้องเผชิญกับคำถามที่ยากจะตอบระหว่างความอยู่รอดและจรรยาบรรณของวิชาชีพ นอกจากนั้น ปัญหาการแทรกแซงสื่อด้วยวิธีการคลาสสิคอย่างเช่นการใช้อำนาจรัฐหรือกฎหมายก็ยังคงอยู่ และการคุกคามเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ขยายพรมแดนไปสู่ความพยายามควบคุมสื่อใหม่ด้วยพระราชบัญญัติว่าการด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
นอกจากการบังคับใช้กฎหมายอาญาเช่นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกฎหมายหมิ่นประมาทในการควบคุมเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสังคมแล้ว ยังมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษเพื่อควบคุมเสรีภาพของประชาชนในหลายสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังการสลายการชุมนุมทางการเมืองในปีพ.ศ.2553 ทั้งสื่อออนไลน์ [2] และวิทยุชุมชน [3] ถูกคุกคามจากอำนาจรัฐภายใต้การบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่าสื่อมวลชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พยายามนำเสนอข้อมูลต่างจากสื่อกระแสหลักก็ถูกคุกคามจากอำนาจรัฐเช่นกัน
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
ขอบคุณภาพจาก http://chaoprayanews.com/blog/thaiflag/files/2012/09/som10110.jpg
สถานการณ์การคุกคามเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงออกโดยอำนาจรัฐในช่วงหลังปี พ.ศ.2549 ทำให้ภาพพจน์ของประเทศไทยในสายตาองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและประชาคมนานาชาติตกต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ากฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นไม่ขัดรัฐธรรมนูญ [4] คณะทำงานด้านการคุมขังตามอำเภอใจของสหประชาชาติกลับชี้ว่าการคุมขังนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการบริหารนิตยสารว็อยซ์ออฟทักษิณ (Voice of Taksin magazine) ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นเป็นการคุมขังตามอำเภอใจและละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 19 และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 19 (2) อันเป็นข้อที่พูดถึงเสรีภาพในการแสดงออก [5] และในการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (Universal Periodic Review – UPR) รัฐบาล 14 ประเทศได้แสดงความกังวลถึงประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย เช่นอังกฤษ, ฝรั่งเศส, นอร์เวย์, อินโดนีเซีย, แคนาดา, บราซิล, นิวซีแลนด์ เป็นต้น [6] และ “เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ในปี 2015
นอกจากสถานการณ์สื่อและเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทยแล้ว Media Inside Out และผู้เขียนชักชวนผู้อ่านมาร่วมสำรวจสถานการณ์ความเป็นไปของประเด็นเดียวกันนี้ในประเทศเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาค
เริ่มจากบรูไน ประเทศที่เรียกได้ว่าลึกลับที่สุดในภูมิภาค แทบจะไม่มีใครรู้ว่าประชาชนในประเทศบรูไนมีชีวิตอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างไร มีเพียงคำร่ำลือว่าคุณภาพชีวิตประชากรบรูไนแสนจะน่าอิจฉาด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจของน้ำมัน น่าสนใจติดตามว่าอาเซียนภายใต้การนำของบรูไนในปี 2013 จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร รายงานของ Freedom House ปี 2011 [7] ชี้ว่าบรูไนเป็นรัฐที่อยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินมาตั้งแต่ปี 1962 หลังเกิดการจลาจลเนื่องจากกษัตริย์บรูไนในเวลานั้นประกาศให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะหลังพรรค Brunei People’s Party ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายและต่อต้านสถาบันกษัตริย์ชนะการเลือกตั้งแบบครึ่งต่อครึ่ง ทำให้บรูไนกลายเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
สุลต่าน Hassanal Bolkiah
ขอบคุณภาพจาก http://knowingtheroyals.wordpress.com/page/188/
ปัจจุบันสุลต่าน Hassanal Bolkiah ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง [8] และกฎหมายว่าด้วยการปลุกระดมฝูงชน (Sedition Act 2005) ได้ให้อำนาจล้นเหลือแก่รัฐบาล (ซึ่งนำโดยสุลต่าน) ในการปิดหนังสือพิมพ์โดยไม่ต้องให้เหตุผลและไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า รัฐบาลมีอำนาจในการตรวจสอบเนื้อหาในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างประเทศก่อนออกจำหน่าย นอกจากนั้นการวิพากษ์วิจารณ์สุลต่านและสถาบันกษัตริย์แบบมลายูมุสลิมยังถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติฯ สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้สื่อมวลชนต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง (Self-censorship) หากพูดถึงเสรีภาพอินเตอร์เน็ต รายงานสิทธิมนุษยชนของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา [9] อ้างว่ารัฐบาลบรูไนตรวจสอบอีเมล์ส่วนตัวและห้องแชตอย่างเข้มข้น น่าติดตามว่าการขึ้นเป็นประธานอาเซียนในปีหน้าจะทำให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากรแต่ขาดแคลนเสรีภาพอย่างบรูไนเปิดกว้างมากขึ้นหรือไม่
ส่วนกัมพูชา แม้จะเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับหลักๆ ครบทั้ง 9 ฉบับ แต่ในทางปฏิบัติ สถานการณ์สื่อและเสรีภาพในการแสดงออกในกัมพูชายังเป็นคำถามที่รัฐบาลสมเด็จฮุนเซนไม่เคยมีคำตอบที่น่าพอใจให้กับประชาคมนานาชาติ
สมเด็จฮุนเซน
ขอบคุณภาพจาก http://www.asianews.it/files/img/CAMBOGIA_-_hun_sen_(400_x_306).jpg
จากรายงานของ Article 19 ในปี 2011 [10] แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเป็นเครื่องมือในการปิดปากฝ่ายตรงข้ามและผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยเฉพาะในประเด็นสิ่งแวดล้อมและความขัดแย้งเรื่องที่ดิน ล่าสุดเจ้าของสถานีวิทยุชุมชนวัย 71 ถูกจับและพิพากษาจำคุก 20 ปีหลังจากไปยื่นคำร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศกล่าวหารัฐบาลกัมพูชาในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ [11] ในเดือนพฤษภาคม 2012 นักกิจกรรมหญิงประเด็นที่ดิน 13 คนถูกพิพากษาจำคุกระหว่างหนึ่งถึงสองปีครึ่งในข้อหายึดครองที่ดินโดยผิดกฎหมายและยุยงให้ผู้อื่นยึดครองที่ดินโดยผิดกฎหมาย [12] และกรณีที่องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมากคือการเสียชีวิตของ Chut Wutty ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติในการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังจากเขาปฏิเสธที่จะมอบฟุตเตจและภาพที่ถ่ายทำการตัดไม้ผิดกฎหมายในกัมพูชาให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ [13]
นักข่าวอินโดนีเซียประท้วงการคุกคามสื่อ
ขอบคุณภาพจาก http://www.demotix.com/news/1527689/indonesian-journalists-speak-out-against-tni-attack/all-media
อินโดนีเซียแม้จะจัดว่าเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดประเทศหนึ่งในอาเซียน แต่รายงานของ Southeast Asia Press Alliance (SEAPA) [14] กล่าวว่านักธุรกิจและนักการเมืองมักจะใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเพื่อจำกัดเสรีภาพสื่อ และการคุกคามสื่อก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่กระทบกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เนื่องจากวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิด (Culture of Impunity) ทำให้การใช้ความรุนแรงกับสื่อมวลชนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ล่าสุดมีกรณีทหารอากาศทำร้ายและข่มขู่สื่อมวลชนที่ลงข่าวเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพอากาศตก [15] นอกจากนั้นเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงออกยังถูกจำกัดหากมีการพูดถึงประเด็นที่อ่อนไหวเช่นประเด็นการแบ่งแยกดินแดนในปาปัวตะวันตก และกฎหมายใหม่อย่างกฎหมายสืบราชการลับ (2011) ทำให้องค์กรภาคประชาสังคมกังวลว่ากฎหมายนี้จะเปิดช่องให้มีการละเมิดกฎหมายว่าด้วยเสรีภาพในข้อมูล (2009) เพราะหลายมาตราในกฎหมายสืบราชการลับนี้เปิดกว้างต่อการตีความ และศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งมีคำวินิจฉัยยกคำร้องขององค์กรภาคประชาสังคมที่ขอให้มีการทบทวนหรือแก้ไขกฎหมายเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา [16]
ขอบคุณภาพจาก http://www.oknation.net/blog/Mothemon/2009/03/17/entry-1
ในขณะที่ลาวเพิ่งจะเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในปี 2009 แต่เนื่องจากระบอบการปกครองพรรคเดียวทำให้การจำกัดเสรีภาพสื่อเป็นไปอย่างง่ายดาย และแม้รัฐธรรมนูญมาตรา 44 ของลาวจะรับรองเสรีภาพในการพูด, เสรีภาพในการชุมนุม และเสรีภาพสื่อ [17] แต่ปรากฏว่ากฎหมายอาญามาตรา 51, 52 และ 53 ซึ่งว่าด้วยการทรยศต่อชาติ, มีพฤติกรรมเป็นกบฏ และมีพฤติกรรมเป็นสายลับ [18] กลับถูกนำมาใช้ตีความอย่างกว้างขวางเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในที่สาธารณะ นอกจากนั้นรัฐยังควบคุมสื่อภายในทั้งหมดและมีอำนาจในการเซ็นเซอร์สื่อต่างประเทศ อำนาจในการควบคุมสื่อของรัฐบาลลาวรวมไปถึงการควบคุมโครงข่ายอินเตอร์เน็ต (server) ภายในประเทศทั้งหมดอีกด้วย [19]
กองบรรณาธิการของเว็บไซด์ข่าว malaysiakini ประท้วงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บุกค้นสำนักงานและเรียกร้องให้คืนทรัพย์สินที่ยึดไป 'สอบสวน'
ขอบคุณภาพจาก http://cj.my/post/62093/mkini-we-are-not-your-punching-bag/
มาเลเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่เคยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และเป็นประเทศที่ประชาคมนานาชาติแสดงความกังวลเรื่องการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนมาโดยตลอด แม้ว่าในปี 2011 จะมีการประกาศยกเลิกกฎหมายความมั่นคงภายใน (Internal Security Act) ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่มาเลเซียประกาศเอกราชจากอังกฤษในปี 1957 แต่กฎหมายที่ออกมาบังคับใช้แทนอย่างกฎหมายว่าด้วยการคุกคามความมั่นคง (Security Offences (Special Measures) 2012 Act หรือ SOSMA) ก็ไม่สามารถเป็นหลักประกันว่าเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวมาเลเซียจะได้รับการคุ้มครองแต่อย่างใด โดยเฉพาะการใช้คำคลุมเครือและสามารถตีความได้กว้างขวาง อย่างเช่นการให้ความหมายการ “คุกคามความมั่นคงของรัฐ” ว่า “การกระทำที่เป็นผลร้ายต่อการความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของสาธารณะ” [20] การใช้คำในลักษณะนี้ทำให้ง่ายต่อการตีความเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมลายูมุสลิมที่อยู่ในอำนาจมายาวนานถึง 55 ปี โดยเฉพาะกลุ่มรณรงค์ให้มีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งที่ใช้ชื่อว่า Bersih (สะอาด) และการบังคับใช้มาตรา 114A ในกฎหมายหลักฐาน (1950) ที่เพิ่งมีการแก้ไขล่าสุดในปี 2012 ถือเป็นการละเมิดเสรีภาพออนไลน์อย่างร้ายแรงด้วยข้อกำหนดของกฎหมายที่สามารถเอาผิดได้ตั้งแต่ผู้ดูแลเว็บไซต์, บรรณาธิการเว็บไซต์, ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ไปจนถึงเจ้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ [21] นั่นหมายความว่าใครก็ตามที่ไปเที่ยว ไปทำงาน หรือไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศมาเลเซียจำเป็นต้องระวังโทรศัพท์, คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สื่อสารของตัวเองให้ดี เพราะรู้ตัวอีกทีอาจจะได้ไปนอนคุกมาเลเซียแบบจับต้นชนปลายไม่ถูก
แอบมองเพื่อนบ้าน (2) จะชวนสำรวจสถานการณ์สื่อพม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ติมอร์ตะวันออก เวียดนาม พร้อมหาคำตอบ “เรายังมีความหวังหรือไม่?”
เกี่ยวกับผู้เขียน พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ อดีตนักเรียนสื่อจากภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง/วารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจบทำงานด้านสิทธิมนุษยชนหลากประเด็นอยู่หลายปี ปัจจุบันเรียนปริญญาโท ด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศที่คอสตาริกา ทวีปอเมริกากลาง มีความสนใจและติดตามเรื่องเสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการแสดงออก ภาพยนตร์ศึกษา และกระแสวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นพิเศษ
[1] http://www.forum-asia.org/?p=11976 เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2555
[2] http://www.boell-southeastasia.org/downloads/ilaw_report_TH.pdf เข้าถึงข้อมูลวันที่ 21 ตุลาคม 2555
[3] http://www.boell-southeastasia.org/downloads/CPMR_report2010.pdf เข้าถึงข้อมูลวันที่ 21 ตุลาคม 2555
[4] http://office.constitutionalcourt.or.th/index.php?option=com_docman&task=cat_view&gid=134&Itemid=4&lang=th เข้าถึงข้อมลวันที่ 21 ตุลาคม 2555
[5] http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/wp-content/uploads/2012/10/Somyotdecision.pdf เข้าถึงข้อมูลวันที่ 21 ตุลาคม 2555
[6] http://www.article19.org/resources.php/resource/2761/en/un:-spotlight-on-thailand%E2%80%99s-l%C3%A8se-majest%C3%A9-law-and-computer-crimes-act เข้าถึงข้อมูลวันที่ 21 ตุลาคม 2555
[7] http://expression.freedomhouse.org/reports/freedom_in_the_world/2011/brunei เข้าถึงข้อมูลวันที่ 22 ตุลาคม 2555
[8] http://www.pmo.gov.bn/ เข้าถึงข้อมูลวันที่ 22 ตุลาคม 2555
[9] http://www.state.gov/j/drl/rls/hrrpt/humanrightsreport/index.htm#wrapper เข้าถึงข้อมูลวันที่ 22 ตุลาคม 2555
[10] http://www.article19.org/resources.php/resource/3026/en/asia-pacific:-free-expression-and-law-in-2011 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 22 ตุลาคม 2555
[11] http://www.article19.org/resources.php/resource/3460/en/cambodia:-twenty-year-jailing-of-radio-journalist-sends-chilling-message เข้าถึงข้อมูลวันที่ 22 ตุลาคม 2555
[12] http://www.article19.org/resources.php/resource/3316/en/cambodia:-crackdown-on-free-speech-worsens-as-13-female-land-activists-arrested เข้าถึงข้อมูลวันที่ 22 ตุลาคม 2555
[13] https://www.frontlinedefenders.org/node/18181 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 22 ตุลาคม 2555
[14] http://www.seapabkk.org/seapa-reports/press-freedom-on-southeast-asian-countries/100582-indonesia-the-partys-over-for-openness-more-restrictions-expected.html เข้าถึงข้อมูลวันที่ 22 ตุลาคม 2555
[15] http://www.thejakartapost.com/bali-daily/2012-10-18/assault-journalist-condemned.html#.UH-HxDoWXWk.wordpress เข้าถึงข้อมูลวันที่ 22 ตุลาคม 2555
[16] http://www.thejakartaglobe.com/home/constitutional-court-rejects-appeal-of-intelligence-law/549467 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 22 ตุลาคม 2555
[17] http://www.undplao.org/whatwedo/bgresource/demogov/Lao%20Constitution.pdf เข้าถึงข้อมูลวันที่ 23 ตุลาคม 2555
[18] http://www.na.gov.la/docs/eng/laws/pub_adm/Penal%20(2005)%20Eng.pdf เข้าถึงข้อมูลวันที่ 23 ตุลาคม 2555
[19] http://www.state.gov/j/drl/rls/hrrpt/humanrightsreport/index.htm#wrapper เข้าถึงข้อมูลวันที่ 23 ตุลาคม 2555
[20] http://www.hrw.org/sites/default/files/related_material/2012_Malaysia_EastWest.pdf เข้าถึงข้อมูลวันที่ 23 ตุลาคม 2555
[21] http://www.parlimen.gov.my/files/billindex/pdf/2012/DR162012E.pdf เข้าถึงข้อมูลวันที่ 23 ตุลาคม 2555
