สื่อเลือกทำหน้าที่ “คนกลาง” กรณีเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย 2014: สื่อออนไลน์
สื่อออนไลน์เป็นสื่อที่เกิดหลังสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ในวงการอุตสาหกรรมสื่อของอินโดนีเซีย แต่ก็ได้รับความนิยมและมีบทบาทมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 2014 สื่อออนไลน์วางตัวแตกต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์อย่างชัดเจน สื่อออนไลน์เลือกที่จะทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างผู้สมัครสองฝ่าย (Gurevitch and Blumler 1977) เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในฐานะสื่อใหม่ ตัวอย่างสื่อออนไลน์ที่เลือกมาศึกษาในงานวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ Detik.com และ Suara.com ทั้งสองมีสำนักงานในกรุงจาการ์ต้า
สื่อแสดงบทบาทเป็น “คนกลาง” (moderator) ระหว่างผู้สมัครสองฝ่าย
Detik.com
Detik.com เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 1998 หลังซูฮาร์โตหมดอำนาจลงในปี 1998 นักข่าวที่ตกงานจากนิตยสาร DeTik และ Tempo ได้ร่วมกันก่อตั้งเว็บข่าว Detik ขึ้นมา (เนื่องจากถูกสั่งปิดในยุคระเบียบใหม่) กลุ่มผู้ก่อตั้งประกอบด้วย บูดิโอโน ดาร์โซโน (Budiono Darsono) จาก Detik ยายาน ซอบยาน (Yayan Sopyan) จาก Detik อับดุล ราห์มาน (Abdul Rahman) จาก Tempo และ ดิดิ นิกราฮาดิ (Didi Nigrahadi) ในปี 1997-1998 การผลิตข่าวสารเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ยังเป็นเรื่องใหม่มาก อับดุล ราห์มาน (Abdul Rahman) เป็นคนเดียวในกลุ่มที่มีความรู้เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต เขาได้ชักชวนเพื่อนนักข่าวอีก 2 คนให้ร่วมกันก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวที่เขาเชื่อว่ามีศักยภาพในการเผยแพร่ข่าวสารได้รวดเร็ว ไม่มีกำหนดระยะเวลาตายตัวว่าจะต้องเผยแพร่เมื่อใด ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ บูดิโอโน ดาร์โซโน (Budiono Darsono) ตั้งชื่อเว็บไซต์ข่าวนี้ว่า “Detik” ซึ่งในภาษาอินโดนีเซียแปลว่าวินาที ด้วยเทคโนโลยีใหม่ Detik จึงสามารถอัพโหลดข่าวใหม่ได้ตลอดเวลาทุก ๆ วินาที ลักษณะเดียวกับ Breaking News ของสำนักข่าวต่างประเทศ Detik.com มีวัตถุประสงค์เป็นสื่ออิสระ ทำงานอย่างโปร่งใส และเป็นประชาธิปไตย
ความโดดเด่นของเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ Detik.com นอกจากจะเป็นเว็บข่าวเดียวในสมัยนั้นแล้ว ยังมาจากการทำงานที่กล้าหาญและท้าทายอำนาจรัฐ กลุ่มผู้ก่อตั้งได้เตรียมการเปิดเว็บไซต์นี้ตั้งแต่ช่วงปลายสมัยยุคซูฮาร์โตโดยไม่ขอใบอนุญาต ดังนั้น พวกเขาต้องใช้เซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการในสหรัฐอเมริกาเพื่อความปลอดภัย เดือนพฤษภาคม 1998 Detik.com เริ่มทำข่าวจลาจลในจาการ์ตา สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นถูกรายงานอย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์ ทำให้คนทำงานในสำนักงานที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตรู้สถานการณ์นาทีต่อนาที (อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังต่ำมาก และมีเฉพาะกรุงจาการ์ตา) Detik.com จึงมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว
Detik.com เริ่มต้นจากองค์กรขนาดเล็กที่มีผู้สื่อข่าวหนึ่งคน มีเครื่องบันทึกเสียงหนึ่งเครื่องและโต๊ะทำงานโต๊ะเดียว ในสองปีแรกของการก่อตั้ง Detik.com ประสบปัญหามากเนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตที่ไม่ทั่วถึงเป็นอุปสรรคใหญ่ ในช่วงนั้น เป็นระยะเวลาแห่งความยากลำบากของ Detik.com อาทิ มีช่วงที่ผู้บริหารไม่ได้รับเงินเดือน 6 เดือนติดต่อกัน ส่วนนักข่าวได้รับเงินเดือนในเดือนถัดไป จนหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ดิดิ นิกราฮาดิ ตัดสินใจลาออก
ต่อมา เมื่อ Detik.com ได้รับความนิยมมากขึ้น จากองค์กรที่มีนักข่าวหนึ่งคนกลายเป็นกิจการที่มีนักข่าวและพนักงาน 46 คน องค์กรขยายตัวเป็นบริษัทขนาดกลางและได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2000 Techpacific.com ได้เข้าซื้อหุ้น 15% ของ Detik.com (มูลค่าราว 2 ล้านเหรียญสหรัฐ) และปรับปรุงกิจการเป็นช่องทางให้บริการอีเมล์ฟรี มีห้องแช็ต และการค้นหาข้อมูล (Yanuar Nugroho, et al 2012)
กลุ่ม CT Group ซึ่งชัยรุณ ตันจุง (Chairul Tanjung) เป็นเจ้าของ ได้เข้าซื้อกิจการ Detik.com ในปี 2011 โดยซื้อจาก PT Agranet Multicitra Siberkom (Agrakom) มูลค่า 100 ล้านรูเปียะห์ หรือ 8.3 ล้านเหรียญสหรัฐ การเข้าซื้อกิจการของ CT Group นี้ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า Detik.com จะทำงานอย่างอิสระในแบบฉบับของตัวเองได้หรือไม่ เพราะต้องทำตามทิศทางของเครือ CT Group ซึ่งเป็นบรรษัทสื่อขนาดใหญ่ CT Group มีสถานีโทรทัศน์ 2 แห่งในเครือ คือ Trans TV และ Trans7 เมื่อมี Detik.com ที่เป็นเว็บไซต์ข่าวอันดับต้น ๆ ของอินโดนีเซียเข้ามาอยู่ในสังกัด ก็ทำให้ธุรกิจสื่อในเครือนี้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน Detik.com เป็นเว็บข่าวออนไลน์ที่ได้รับความนิยมในอันดับ 1 ของอินโดนีเซีย มีผู้อ่านเนื้อหาในหน้าต่าง ๆ รวมกัน 16 ล้านวิว/วัน มีนักข่าว 250 คน มีรายได้จากค่าโฆษณาบนเว็บไซต์ เนื้อหาของเว็บ Detik.com ประกอบด้วยส่วนของข่าว บันเทิง กีฬา รถยนต์ ธุรกิจและการเงิน หน้าผู้หญิง ไลฟ์สไตล์ อาหาร การท่องเที่ยว สุขภาพ เทคโนโลยี Detik.com เปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านเขียนบล็อก และมีฟอรั่มอภิปรายความคิดเห็น ตอบจดหมายผู้อ่าน และมีพื้นที่ให้ผู้อ่านแลกเปลี่ยนภาพถ่าย พร้อมทั้งมีข่าวที่นำเสนอแบบวิดีโอสตรีมมิ่งด้วย Detik.com ใช้รูปแบบการทำงาน “สื่อสารแบบเปิดกับผู้อ่าน” (open communication) การออกแบบเว็บไซต์และเนื้อหาจึงคำนึงถึงการสื่อสารระหว่าง Detik.com และผู้อ่านเป็นสำคัญ
Detik.com บริหารองค์กรแบบประชาธิปไตย ให้ความเท่าเทียมกับทุกคนในห้องข่าว บรรณาธิการไม่มีห้องทำงานที่แยกออกไปต่างหากจากกองบรรณาธิการ และ Detik.com มีหลักการทำงาน 3 ข้อ คือ “รวดเร็ว ถูกต้อง และใช้มัลติมีเดีย” (speed, accuracy and multimedia) ผู้อ่านให้ความเชื่อถือกับ Detik.com ซึ่งหมายความว่าเป็นสื่อที่เป็นประชาธิปไตยในสายตาของผู้อ่าน (อะริฟิน อะซิดฮัด, สัมภาษณ์ 4 สิงหาคม 2015)
สื่อมืออาชีพ
อะริฟิน อะซิดฮัด (Arifin Asydhad) เริ่มงานที่ Detik.com ในปี 2004 และรับตำแหน่งบรรณาธิการบริหารแทนบูดิโอโน ดาร์โซโน ในปี 2012 เขายืนยันว่า Detik.com มีอิสระและทำหน้าที่ของตนอย่างตรงไปตรงมาตามจรรยาบรรณวิชาชีพ
“นักธุรกิจใหญ่อย่าง ชัยรุณ ตันจุง แห่ง CT Group ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการ Detik.com ไม่ได้เข้ามาแทรกแซงการทำงานของกองบรรณาธิการแต่อย่างใด ไม่ได้ขอให้เสนอเนื้อหาเอียงข้างผู้สมัครรายใดเป็นพิเศษระหว่างช่วงการหาเสียงประธานาธิบดี ในปี 2014”
(อะริฟิน อะซิดฮัด, สัมภาษณ์ 4 สิงหาคม 2015)
ในขณะที่สื่อกระแสหลักแบ่งขั้วในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 2014 Detik.com ประคับประคองตัวไม่ให้มีอคติทางการเมือง ดังนั้น Detik.com จึงยังคงสามารถรักษาความน่าเชื่อถือไว้ได้ บรรณาธิการบริหารของ Detik.com กล่าวว่าเขาตระหนักดีถึงคุณค่าของความเป็นอิสระนี้ เขาพยายามทำให้เนื้อหาใน Detik.com มีความสมดุล มีคุณภาพ และได้มาตรฐานทางวิชาชีพ ผลงานนั้นเองจะเป็นเครื่องชี้วัดว่า Detik.com เป็นสื่อที่มีเสรีภาพในการทำงานมากน้อยเพียงใด
Suara.com
สื่อออนไลน์น้องใหม่ Suara.com ก่อตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 2014 เพื่อตอบโจทย์ของสถานการณ์สื่อเลือกข้างก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม และการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน Suara.com ซึ่งโจโน สุวารโจโน (Jono Suwarjono) เป็นผู้ก่อตั้ง เกิดจากความร่วมมือของนักวิชาชีพอิสระจำนวนหนึ่งและสหภาพพันธมิตรนักหนังสือพิมพ์อิสระ (AJI - Alliance of Independent Journalists) ที่ต้องการมีสื่ออิสระในการถ่วงดุลสื่อกระแสหลักที่แบ่งขั้วทางการเมืองจนสังคมขาดพื้นที่กลางของเสียงที่เป็นทางเลือก โจโน สุวารโจโน เป็นประธานสหภาพพันธมิตรนักหนังสือพิมพ์อิสระ (AJI) คนปัจจุบัน Suara.com ยึดหลักการ “อิสระและสมดุล” (free and balance) ในการทำงานข่าวขององค์กร และคัดเลือกข่าวจากคุณสมบัติของความสำคัญและความน่าสนใจของเนื้อหา Suara.com ยืนยันว่ากองบรรณาธิการทำงานอย่างเป็นอิสระ ปลอดจากอิทธิพลทางการเมืองและเป็นกลางทางการเมือง
ความสำเร็จของ Suara.com เกิดจากการที่โจโนนำประสบการณ์การทำงานข่าวในสำนักข่าวออนไลน์ก่อนหน้านี้มาประยุกต์กับ Suara.com โดยได้พัฒนาสไตล์เฉพาะของเว็บข่าว Suara.com ขึ้นมาให้มีความโดดเด่น มีการเจาะกลุ่มผู้อ่านที่เป็นกลุ่มเป้าหมายชัดเจน (niche) คติการทำงานของ โจโน สุวารโจโน คือต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ต้องสร้างจุดเด่นหรืออัตลักษณ์ของตนเองขึ้นมาให้ได้ สำหรับ Suara.com เขามีคำขวัญว่า “ฉลาด รวดเร็ว และล้ำหน้า” (Smart, fast and pro-active) เหมือนพระเอกภาพยนตร์ชุดแม็คไกเวอร์ (MacGyver) ตัวอย่างเว็บข่าวที่โจโนชอบคือ Huffington และ Buzzfeed
ปัจจุบัน Suara.com ได้รับความนิยมจากผู้อ่านพอสมควร มีผู้อ่าน 800,000 คน/วัน และ 3 ล้านวิว/วัน จากความนิยมดังกล่าว โจโนวางแผนให้มีการกระจายอำนาจของการผลิตข่าวออกไปทั่วประเทศแทนที่จะกระจุกตัวอยู่ในจาการ์ตา และส่งเสริมให้มีการกระจายข่าวสารในระดับจังหวัดมากขึ้น โครงการนี้ต้องการให้เปิดสื่อออนไลน์ท้องถิ่นอย่างน้อย 3 แห่งในทุก ๆ จังหวัด ในระยะยาวแล้ว โจโนคาดว่าจะมีสื่อออนไลน์ของท้องถิ่น จำนวน 99 แห่งใน 33 จังหวัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ Suara.com ได้ร่วมมือกับ Innity และ Yahoo ในการขยายฐานคนอ่านออกไป และยังได้พัฒนาให้ Suara.com เข้าถึงได้ทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อหารายได้ให้กับองค์กรอีกทางหนึ่ง
โจโน สุวารโจโน เชื่อมั่นในสื่อออนไลน์ว่า จะเป็นสื่อทางเลือกที่เป็นอิสระและเป็นประชาธิปไตยสำหรับพลเมืองของอินโดนีเซีย เพราะปัจจุบันสื่อกระแสหลักอยู่ในมือของธุรกิจขนาดใหญ่เพียง 12 กลุ่ม และสื่อเหล่านี้ผูกขาดการผลิตข่าวสารถึงกว่า 80% ยังมีเรื่องราวอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องราวของคนชายขอบที่สื่อกระแสหลักไม่นำเสนอ พวกเขามักมีแต่เรื่องธุรกิจของบรรษัทใหญ่และการเมืองระดับประเทศ ไม่สนใจเรื่องของชาวบ้านตัวเล็ก ๆ แต่สื่อออนไลน์เป็นสื่อที่เปิดกว้าง ผู้อ่านมีส่วนร่วมผลิตได้ง่าย จึงเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้สื่อสารเรื่องราวของพวกเขาผ่านสื่อด้วยตนเอง (สัมภาษณ์ 13 กรกฎาคม 2015)
สื่อแสดงบทบาท “สุนัขเฝ้าบ้าน” เป็นกลางระหว่างผู้สมัครสองฝ่าย
โจโน สุวารโจโน (Jono Suwarjono) บรรณาธิการบริหาร ทำงานด้านข่าวออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2000 โดยทำงานที่ Detik.com เป็นเวลา 6 ปี Okezone.com 2 ปี และ Vivanews.co.id 5 ปี ก่อนจะมาก่อตั้ง Suara.com
โจโน สุวารโจโน (Jono Suwarjono) บรรณาธิการบริหารของ Suara.com บอกเหตุผลในการเลือกที่จะแสดงบทบาทสุนัขเฝ้าบ้าน (watchdog) ว่า
“เป้าหมายหลักของเราคือเปิดพื้นที่สื่ออิสระ เพื่อสร้างสมดุล Suara.com ไม่ต้องการเข้าไปอยู่ในวังวนของการแข่งขันทางการเมือง (ของสื่อกระแสหลัก) ที่อยู่ตรงหน้า”
(โจโน สุวารโจโน, สัมภาษณ์ 13 กรกฎาคม 2015)
การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ Suara.com ต้องทำงานอย่างเป็นภววิสัย นักข่าวถูกอบรมให้ระมัดระวังกลยุทธ์การหาเสียงต่าง ๆ ของพรรคการเมือง ต้องไม่เผลอเข้าไปเชียร์ผู้สมัครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นอกจากนี้ Suara.com ได้จัดทำคู่มือจรรยาบรรณวิชาชีพในการรายงานข่าวการเลือกตั้งไว้ด้วย เนื้อหาที่ปรากฏใน Suara.com บรรณาธิการบริหารย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นข่าวหรือคอลัมน์หรือทัศนะจะได้รับการคัดเลือกตามคุณภาพ และต้องสะท้อนหลักการความเป็นอิสระในผลงาน (สัมภาษณ์ 13 กรกฎาคม 2015)
สื่อออนไลน์มีปัญหาที่แตกต่างจากสื่อกระแสหลักอื่น ๆ ตรงที่มีกระดานแสดงความคิดเห็นท้ายข่าวหรือคอลัมน์ เพื่อให้การแสดงความคิดเห็นเป็นแบบสร้างสรรค์ในกลุ่มผู้อ่าน ไม่เปิดเวทีให้ใช้ประทุษวาจา (hate speech) หรือการกล่าวร้ายกันโดยทีมงาน/กองเชียร์ของผู้สมัคร Suara.com ได้ขอให้ผู้อ่านที่ต้องการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ลงทะเบียนล่วงหน้ากับ Suara.com ดังนั้น Suara.com จึงสามารถเปิดพื้นที่ให้กับทัศนะทางการเมืองได้อย่างรอบด้านตราบเท่าที่ผู้อ่านไม่ละเมิดกติกาที่วางไว้ เช่น การใช้ภาษาหรือการไล่ล่าฝ่ายตรงข้าม ในกรณีที่เกิดปัญหา ผู้ดูแลจะติดต่อกับผู้อ่านรายนั้นได้ทางอีเมล์จากข้อมูลที่ลงทะเบียนไว้และเตือนให้รู้ว่าได้ละเมิดกติกาของการร่วมวงอภิปรายกับคนอื่น ๆ
อุดมการณ์ที่แตกต่าง: การแบ่งขั้วทางการเมืองและการแบ่งขั้วของสื่อมืออาชีพ
จากการศึกษาตัวอย่างสื่อ 3 ประเภท ผลการศึกษาชี้ให้เห็นการเลือกข้างทางการเมืองโดยแบ่งเป็น 2 ขั้ว (bi-partisan) ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตอินโดนีเซียเพื่อการต่อสู้ (PDI-P) ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งสนับสนุนผู้สมัครจากพรรค Gerinda สื่อสิ่งพิมพ์ในกลุ่มตัวอย่างเป็นสื่อที่ให้การสนับสนุนโจโก วิโดโด ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตอินโดนีเซียเพื่อการต่อสู้ โดยที่กองบรรณาธิการเป็นผู้ตัดสินใจและเสนอท่าทีการสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ มีการประกาศเป็นทางการผ่านบทบรรณาธิการก่อนวันเลือกตั้ง เดอะจาการ์ต้าโพสต์และเทมโปแสดงจุดยืนว่าการเลือกข้างเป็นสิ่งจำเป็นและชอบธรรม เพราะเป็นการเลือกข้างนักการเมืองที่ไม่มีประวัติด่างพร้อย หรือมีแนวโน้มจะนำพาประเทศกลับไปสู่ยุคทหารเป็นใหญ่อีก เหล่านี้คือเหตุผลที่เดอะจาการ์ต้าโพสต์และเทมโปกล่าวอ้างต่อสาธารณะ กองบรรณาธิการยังแสดงความเชื่อมั่นด้วยว่าการเลือกข้างทางการเมืองจะไม่ทำให้เกิดอคติในการทำหน้าที่สื่อมวลชน ส่วนหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างคอมพาสได้เลือกสนับสนุนโจโก วิโดโดเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้ประกาศตัวอย่างเปิดเผย บรรณาธิการบริหารยืนยันในความเป็นอิสระของคอมพาส เขาย้ำว่าหากแสดงตนว่าเลือกข้างจะทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถือในสายตาของผู้อ่าน สื่อควรเป็นคนกลาง (moderator) ให้กับทุกฝ่ายในการต่อสู้ทางการเมือง นี่คือหลักการของ “ความเป็นสื่อมืออาชีพ” (professional journalism) ที่คอมพาสเชื่อมั่นและยึดถือ
ตารางแสดงการเลือกข้างทางการเมืองของสื่อ ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย 2014
กองบรรณาธิการของสื่อโทรทัศน์สองแห่งในกลุ่มตัวอย่าง TVOne และ antv ต้องการทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างผู้สมัครสองฝ่ายที่ลงแข่งขันเช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์คอมพาส แต่สถานการณ์ของสื่อโทรทัศน์แตกต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ เนื่องจาก อะบูริซาล บาครี เจ้าของกิจการบาครีกรุ๊ป ต้องการให้สื่อในเครือเลือกข้างปราโบโว สุเบียนโต ผู้สมัครจากพรรค Gerinda ดังนั้น บรรณาธิการและนักข่าวจึงไม่มีอิสระพอที่จะทำตามอุดมการณ์วิชาชีพได้ การกำหนดทิศทางการเมืองของ TVOne และ antv มาจากฝ่ายเจ้าของสื่อ ไม่ใช่กองบรรณาธิการ เมื่อเปรียบเทียบกับสื่อสิ่งพิมพ์เช่นเดอะจาการ์ต้าโพสต์และเทมโป จะพบว่ากองบรรณาธิการมีอำนาจในการกำหนดเนื้อหาและทิศทางของตัวเอง โดยปราศจากการแทรกแซงหรือทักท้วงจากเจ้าของ (เอ็นดี้ บายูนี, สัมภาษณ์ 6 กรกฎาคม 2015) แต่การเผชิญหน้ากันระหว่างนักข่าวและเจ้าของกิจการที่เกิดขึ้นในสถานี TVOne และ antv มีประเด็นทับซ้อนกันอยู่สองประเด็น คือเรื่องความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการที่จะไม่ถูกแทรกแซงจากผู้บริหาร/เจ้าของ และเรื่องการเลือกข้างทางการเมืองที่ขัดแย้งกันระหว่างเจ้าของและฝ่ายกองบรรณาธิการ ในขณะที่ฝ่ายเจ้าของกิจการสนับสนุนปราโบโว นักข่าวส่วนใหญ่กลับสนับสนุนโจโก วิโดโด ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายจึงมีทั้งเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน นำไปสู่สภาพการแบ่งขั้วทางการเมือง (bi-partisan) ภายในองค์กร และเรื่องความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการกับการแบ่งแยกอำนาจในองค์กร ที่โดยทางทฤษฎีแล้วฝ่ายเจ้าของต้องไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานและการตัดสินใจของห้องข่าว
ในแง่นี้ เราจึงเห็นการแบ่งขั้วในนักวิชาชีพด้วยกันเอง ที่ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าต้องยึดถือความเป็นอิสระ เป็นกลางทางการเมือง และทำหน้าที่ตามหลักจรรยาบรรณ (คอมพาส, TVOne และ antv, Detik.com และ Surara.com) ในกรณีของ TVOne และ antv จะเห็นได้ว่ากองบรรณาธิการต่อสู้เพื่อหลักการ “ความเป็นสื่อมืออาชีพ” (professional journalism) อย่างเอาเป็นเอาตายกับเจ้าของกิจการ ส่วนอีกขั้วหนึ่งในกลุ่มนักวิชาชีพ เช่น เดอะจาการ์ต้าโพสต์และเทมโป เห็นว่า ในสถานการณ์ที่จำเป็นสื่อก็ต้องแสดงจุดยืนเลือกข้างทางการเมือง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามทำหน้าที่ทางวิชาชีพให้ดีที่สุดไปพร้อมกัน
กรรมการของสหภาพพันธมิตรนักหนังสือพิมพ์อิสระ (AJI) กล่าวว่า เบื้องหลังการตัดสินใจเลือกข้างโจโกวีอย่างเปิดเผยของสื่อสิ่งพิมพ์จำนวนหนึ่ง (และนักวารสารศาสตร์/บรรณาธิการอีกส่วนหนึ่ง) สืบเนื่องมาจากผลการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2014 ที่พรรค Gerinda ได้คะแนนเสียงท่วมท้น แนวโน้มที่ปราโบโวจะชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนกรกฎาคมจึงมีสูง ผลการสำรวจโพลล์หลายสำนักก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้สื่อกระแสหลักส่วนหนึ่งมีความวิตกกังวลอย่างมาก เกรงว่าหากปราโบโวได้รับเลือกตั้งเขาอาจนำระบอบอำนาจนิยม/อนุรักษนิยมกลับมา ในที่สุดจึงได้ตัดสินใจประกาศเลือกข้างโจโกวีอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะผ่านบทบรรณาธิการ โดยหวังว่าจะสามารถระดมคะแนนเสียงให้ฝ่ายโจโกวีในนาทีสุดท้ายได้ เพื่อสู้กับแคมเปญสื่อของฝ่ายปราโบโวที่เหนือกว่าและมีทีท่าได้เปรียบกว่ามาก (อาร์โย วิสันต์เกนนี่, สัมภาษณ์ 4 กรกฎาคม 2015)
การศึกษาบทบาทของสื่อในการเลือกตั้งปี 2014 ครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าสื่อกระแสหลักไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์หรือสื่อสิ่งพิมพ์ ต่างกระโจนเข้าสู่สนามการแข่งขันทางการเมืองไม่น้อยไปกว่าผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในสถานการณ์แบบนี้สื่อไม่ได้ดำรงสถานะของผู้สังเกตการณ์ (observer) ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือเป็นหมาเฝ้าบ้าน (watchdog) ให้กับประชาชน พวกเขาไม่ได้ทำหน้าที่รายงานข่าวอย่างเป็นภววิสัยของสื่อมืออาชีพแต่สวมบทของผู้เล่นทางการเมือง (political actor) อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอคติในการรายงานข่าวหรือการประกาศจุดยืนเลือกข้างทางการเมือง มีเพียงสื่อออนไลน์ที่พยายามจะสร้างสมดุลระหว่างสื่อที่แบ่งขั้วทางการเมือง เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารและทัศนะที่เป็นธรรมและเป็นทางเลือกที่สามแก่พลเมือง ความพยายามของสื่อออนไลน์ที่ยืนหยัดอยู่ตรงกลางของสองขั้วการเมือง – ระหว่างโจโก วิโดโด และปราโบโว สุเบียนโต และสองขั้วของสื่อ – ระหว่างฝ่ายสื่อการเมือง (political journalism) และฝ่ายสื่อมืออาชีพ (professional journalism) ทำให้สื่อออนไลน์มีความโดดเด่น ความแตกต่างนี้ทำให้สื่อออนไลน์มีความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชน อย่างไรก็ดี สื่อออนไลน์ยังไม่มีอิทธิพลมากนักเมื่อเทียบกับสื่อกระแสหลักอย่างโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ (เอ็คโค มาร์ยาดิ, สัมภาษณ์ 19 พฤษภาคม 2015)
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ คำถามที่น่าสนใจก็คือ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสำคัญ ๆ ในอนาคต ประชาคมวิชาชีพ อาทิ บรรณาธิการ นักข่าว องค์กรวิชาชีพสื่อ จะวางตัวอย่างไร ความแตกแยกที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมสื่อมีสาเหตุจากการแข่งขันทางธุรกิจล้วน ๆ หรือว่ามีสาเหตุจากการแข่งขันทางการเมืองระหว่างช่องทางสื่อหลากหลายประเภท เพื่อสร้างผลงานในช่วงจังหวะสำคัญ ซึ่งย่อมหมายถึงการสร้างอำนาจอิทธิพลและได้มาซึ่งสถานภาพของการเป็นผู้กำหนดชัยชนะให้กับผู้แข่งขันลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดี หรือเป็น king maker นั่นเอง แต่สิ่งที่ค้างคาใจนักวารสารศาสตร์ส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียคือคำถามที่ว่า การแบ่งเป็นสองขั้วการเมืองของสื่อนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน หรือเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจและการเมืองขององค์กรของตนเอง ท้ายที่สุดแล้ว ข้ออ้างในการรักษาอุดมการณ์ระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมของสื่อซึ่งมีโจโก วิโดโดเป็นตัวแทน เป็นเหตุผลที่มีความชอบธรรมและรับฟังได้มากน้อยเพียงใด ภายใต้บริบทสังคมการเมืองใหม่ของอินโดนีเซียที่ก้าวข้ามระบอบอำนาจนิยมมาแล้วเกือบสองทศวรรษ ขณะที่สื่อในฝ่ายที่ยึดถืออุดมการณ์วารสารศาสตร์การเมืองยืนยันว่าสื่อกำลังทำหน้าที่สำคัญในการรักษาระบอบการเมืองเสรีประชาธิปไตย ให้เดินหน้าต่อไปโดยไม่ถอยกลับไปจุดเดิม และไม่ปล่อยให้อุดมการณ์วิชาชีพหรือความเป็นกลางของสื่อมาเป็นอุปสรรคขัดขวางการแสดงบทบาททางการเมืองในช่วงการเลือกตั้ง.
10 ธันวาคม 2563
อ้างอิง
- Gurevitch, Michael and Blumler, Jay G., 1977. “Linkages between the Mass Media and Politics: a model for the analysis of political communications systems” in Curran, Gurevitch, and Woollacott (eds.) Mass Communication and Society, London: Edward Arnold and Open University Press, 270-290.
- Yanuar Nugroho, Dinita Andriani Putri and Shita Laksmi, 2012: Mapping the Landscape of the Media Industry in Contemporary Indonesia, Centre for Information Policy and Governance (CIPG), Hivos People Unlimited, and Ford Foundation.
สัมภาษณ์
- โจโน สุวารโจโน, บรรณาธิการ Suara.com, สัมภาษณ์ 13 กรกฏาคม 2015.
- อะริฟิน อะซิดฮัด, บรรณาธิการ Detik.com, สัมภาษณ์ 4 สิงหาคม 2015.
- อาร์โย วิสันต์เกนนี่, กรรมการสหภาพนักหนังสือพิมพ์เสรี (AJI), สัมภาษณ์ 4 กรกฎาคม 2015.
- เอ็คโค มาร์ยาดิ, ประธานกรรมการสหภาพนักหนังสือพิมพ์เสรี (AJI), สัมภาษณ์ 19 พฤษภาคม 2015.
- เอ็นดี้ บายูนี, บรรณาธิการอาวุโส เดอะจาการ์ต้าโพสต์, สัมภาษณ์ 6 กรกฎาคม 2015.
หมายเหตุ: บทความนี้ "อินโดนีเซีย: การเลือกข้างทางการเมืองของนักวารสารศาสตร์มืออาชีพ (ตอนที่ 3)" เรียบเรียงและปรับปรุงจาก บทที่ 7 บทบาทสื่อในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศอินโดนีเซีย (7.2 การแบ่งขั้วทางการเมืองของสื่อกรณีเลือกตั้งประธานาธิบดี 2014) จากงานวิจัยเรื่องสื่อมวลชนในอาเซียน: ศึกษากรณีประเทศไทยและอินโดนีเซีย (2559)
