Skip to main content

สื่อเลือกข้างกรณีเลือกตั้งประธานาธิบดี 2014: สื่อโทรทัศน์

การศึกษาบทบาททางการเมืองของสื่อกระแสหลักของอินโดนีเซียช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 2014 นั้น งานวิจัยได้เลือกสถานีโทรทัศน์ในเครือ Bakrie & Brothers เป็นตัวอย่างในการศึกษา ได้แก่สถานี TVOne และ antv โทรทัศน์ในเครือนี้มี อะบูริซาล บาครี เป็นเจ้าของและผู้บริหาร เขาเป็นประธานพรรคกอลคาร์ระหว่างปี 2009 – 2014 และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานพรรคอีกครั้งในปี 2015 [1] สถานีโทรทัศน์ทั้งสองแห่งให้การสนับสนุนแก่ปราโบโว สุเบียนโต ผู้สมัครจากพรรค Gerindra Party (เขาเป็นอดีตบุตรเขยของประธานาธิบดีซูฮาร์โต) การแบ่งขั้วระหว่างผู้สมัครสองฝ่าย ระหว่างโจโก วิโดโด จากพรรคเดโมแครตเพื่อการต่อสู้ (PDI-P) ซึ่งเป็นตัวแทนแนวทางเสรีนิยม และปราโบโว สุเบียนโต จากพรรค Gerindra Party ตัวแทนแนวทางอนุรักษนิยม เห็นได้อย่างชัดเจนในการหาเสียงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2014  ขณะที่การแข่งขันระหว่างสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ที่สนับสนุนผู้สมัครคนละขั้วก็ทวีความเข้มข้นขึ้นเช่นเดียวกัน

สื่อโทรทัศน์

สื่อในเครือ Bakrie & Brothers ของตระกูล Bakrie มีหลายประเภท บริษัท Visi Media Asia ในเครือ Bakrie & Brothers เป็นเจ้าของกิจการโทรทัศน์ที่เน้นเนื้อหาด้านข่าวสารและสาระบันเทิง 2 สถานี ได้แก่ สถานี TVOne (2001) และ สถานี ANTeve (1993) และยังมี Vivanews ที่เป็นสื่อออนไลน์ใหญ่อันดับต้น ๆ ในด้านข่าว Visi Media Asia ได้ควบรวมกับ Mahaka Media Group หรือ MM Group ทำให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นทางธุรกิจ แม้ว่า TVOne และ antv จะมีสัดส่วนผู้ชมไม่มากนัก (ประมาณ 10%) แต่ทั้งสองสถานีถือว่าเป็นสถานีแถวหน้าในด้านข่าว มีสถานี Trans 7 และ Metro TV เป็นคู่แข่งสำคัญ

 

 

สถานีโทรทัศน์ TVOne

สถานี TVOne ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2002 ในชื่อ Lativi เจ้าของคือ นายอับดุล ลาเทียฟ (Abdul Latief) นักธุรกิจและรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานในสมัยนั้น เมื่อ Visi Media Asia เข้าซื้อกิจการในปี 2008 เนื่องจากสถานีขาดทุนจากการบริหารที่ล้มเหลว (มีกรณีที่สถานีถูกกล่าวหาว่า ทำให้ผู้ชมที่เป็นเด็กวัย 9 ปีเสียชีวิต เพราะบาดเจ็บจากการดูรายการ Smackdown) Lativi ได้เปลี่ยนชื่อเป็น TVOne เน้นเนื้อหาด้านข่าวและกีฬา สถานีมีคำขวัญว่า “แตกต่างอย่างแท้จริง” (truly different) วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2008 ซึ่งเป็นวันที่สถานี TVOne เปิดศักราชใหม่ ประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน และ ยูซุฟ คัลลา รองประธานาธิบดี เป็นผู้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการที่ Merdeka Palace ผู้บริหารสถานี ได้แก่ อะนินยา บาครี (Anindya Bakrie) บุตรชายคนโตของอะบูริซาล บาครี รับตำแหน่งประธานกรรมการ และ อีริค โทฮีร์ (Erick Tohir) เป็นผู้อำนวยการ

TVOne มีเครือข่ายสถานีในภูมิภาคต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย ได้แก่ เมดาน, มากัสซาร์, สุรบายา และชวากลาง และมีเครือข่ายต่างประเทศหลายแห่ง ได้แก่ กาต้าร์, มาเลเซีย, ออสเตรเลีย, รัสเซีย, เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา เนื้อหาของรายการประกอบด้วยข่าวและกีฬา สำหรับคนดูในกลุ่มที่สถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมระดับ A และ B สถานีนำเสนอรายการข่าวตลอดวัน 5 รายการ ตั้งแต่ช่วงเช้า สาย เที่ยง ค่ำ และข่าวดึก ประกอบด้วยข่าวประจำวันทั่วไป ข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ข่าวธุรกิจ ข่าวต่างประเทศ และข่าวกีฬา โดยมีรายการข่าวต้นชั่วโมง 3 นาทีทุกชั่วโมง และข่าวด่วนในกรณีเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ส่วนรายการกีฬามีการถ่ายทอดสดกีฬาฟุตบอลลีกของอินโดนีเซียเป็นประจำ

รายการสนทนาและวิเคราะห์ข่าวและสถานการณ์เป็นรายการที่โดดเด่นของสถานี TVOne เช่น รายการ Apa Kabar Indonesia เป็นรายการเล่าข่าวเช้า ความยาว 2 ชั่วโมง ส่วนรายการ Coffee Break เป็นรายการทอล์คโชว์ ยาว 1 ชั่วโมง ในช่วง 10 น. ตอนค่ำ สถานีเสนอรายการ Apa Kabar Indonesia Malam ซึ่งเป็นรายการข่าวและสัมภาษณ์/อภิปราย ไฮไลท์และเจาะประเด็นเหตุการณ์ประจำวันที่สำคัญ และทุกวันอังคาร มีรายการสนทนาการเมือง Indonesia Lawyer’s Club ความยาว 210 นาที ดำเนินรายการโดย คาร์นี อิลยาส บรรณาธิการบริหารของสถานี TVOne ผู้ร่วมรายการเป็นนักกฎหมายและผู้แทนราษฎร วิทยากรรับเชิญร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวิเคราะห์ประเด็นที่อยู่ในกระแสการเมืองของสัปดาห์ สำหรับผู้ชมที่สนใจข่าวสารการเมืองรายการเหล่านี้ช่วยให้ติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

สื่อแสดงบทบาท “ชี้นำ” เลือกข้างปราโบโว แต่ไม่ประกาศจุดยืนทางการเมืองอย่างเปิดเผย

สถานีโทรทัศน์ TVOne เครือ Bakrie & Brothers เป็นสถานีที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้ชม ฝ่ายข่าวของ TVOne มีคาร์นี อิลยาส (Karni Ilyas) เป็นบรรณาธิการบริหาร เขามีชื่อเสียงเป็นบรรณาธิการอันดับหนึ่งในวงการโทรทัศน์ คาร์นี อิลยาส จบการศึกษาด้านกฎหมาย มีประวัติการทำงานข่าวมายาวนานกับสื่อสิ่งพิมพ์ เริ่มอาชีพนักหนังสือพิมพ์ที่ Suara Karya ในปี 1972 นิตยสารเทมโป (1978-1991) และนิตยสารด้านกฎหมาย Keadilan (1991-1999) ต่อมา เริ่มอาชีพด้านข่าวโทรทัศน์ โดยทำงานกับสถานี SCTV (1999-2005)  ANTV (2005-2007) และเป็นบรรณาธิการบริหารของ TVOne ในปี 2008 เขาได้รับรางวัล Lifetime Achievement of Panasonic Global Award ในปี 2012

 

 

ความขัดแย้งระหว่างห้องข่าวและเจ้าของกิจการ

คาร์นี อิลยาส บรรณาธิการบริหารของสถานี TVOne กล่าวว่าการเลือกตั้งในปี 2014 เป็นครั้งที่มีการแบ่งขั้วเลือกข้างผู้สมัครครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของวงการสื่อ นักวิชาชีพส่วนใหญ่ยอมจำนนก้มหัวให้กับเจ้าของที่เป็นนักการเมืองแม้ว่าจะมีจุดยืนที่ไม่ตรงกับเจ้าของ ทำให้เขารู้สึกเสียใจมากกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อต้องมาเผชิญหน้ากับแรงกดดันของเจ้าของสถานีให้เลือกข้างทางการเมือง ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งในปี 2014 คาร์นี อิลยาส บอกว่ารู้สึกหนักใจอย่างยิ่งกับการทำงานที่ไม่มีอิสระ และถูกแทรกแซงจากเจ้าของสถานีที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเลือกตั้งโดยตรง

ในที่สุด คาร์นี อิลยาส ประท้วงโดยใช้วิธีขอลาพักร้อน 3 เดือนในช่วงที่มีการรณรงค์หาเสียง และมอบหมายงานประจำวันในห้องข่าวให้กับบรรณาธิการผู้ช่วย เมื่อครบวันลา 3 เดือน คาร์นี อิลยาส จึงกลับมาทำงานในตำแหน่งบรรณาธิการบริหารตามเดิม (สัมภาษณ์ 6 กรกฎาคม 2015)

 

“เป็นการตัดสินใจที่ไม่ง่ายเลย (ที่จะลาพัก 3 เดือน) แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่น ผมต้องทำแบบนี้เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของบรรณาธิการ สื่อต้องเป็นกลางและมีอิสระในการทำงาน ทุกวันนี้เราไม่มีสื่ออิสระ นักการเมืองเข้ามาเป็นเจ้าของสื่อ”

(คาร์นี อิลยาส 6 กรกฎาคม 2015)

 

บรรณาธิการบริหารย้ำว่าเขาไม่ได้รังเกียจเจ้าของกิจการที่เป็นนักธุรกิจใหญ่แต่อย่างใด เขาเข้าใจดีว่า TVOne ดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์เพื่อแสวงหากำไร แต่การเข้ามาสั่งการฝ่ายข่าวโดยตรง เท่ากับเจ้าของได้ล้ำเส้นที่แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายข่าว ในช่วงเลือกตั้งฝ่ายข่าวต้องเป็นอิสระให้มากที่สุด มีอคติน้อยที่สุด เพื่อนำเสนอข่าวสารที่รอบด้านแก่คนดู (สัมภาษณ์ 6 กรกฎาคม 2015)

สถานีโทรทัศน์ antv

สถานี antv ก่อตั้งขึ้นในปี 1993 ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการเป็นสถานีท้องถิ่นที่ลำปุง (Lampung) ต่อมาได้ใบอนุญาตประกอบกิจการระดับชาติจึงได้ย้ายสำนักงานมาอยู่ที่จาการ์ต้า สถานีเริ่มออกอากาศด้วยการถ่ายทอดสดการประชุมสภาผู้แทนในวันที่ 1 มีนาคม 1993 ANTeve ออกอากาศครอบคลุม 155 เมืองทั่วประเทศ เข้าถึงคนดูราว 130 ล้านคน ในปี 2006 News Corporation ของนายรูเพิร์ท เมอร์ด็อค ได้ซื้อหุ้น 20% ใน antv ผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง Star TV และ Fox International นอกจากรายการข่าวแล้ว เนื้อหารายการบันเทิงของสถานี ประกอบด้วยละครชุดจีนและอินเดีย การ์ตูน และรายการกีฬา

antv เปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์ของสถานีหลายครั้ง (เดิมใช้อักษรตัวใหญ่  AN บนพื้นสีรุ้ง และ Teve บนพื้นเขียวและม่วง ระหว่างปี 1993-2003) และในปี 2006 ได้นำสัญลักษณ์ของช่อง Star TV มาวางคู่กับสัญลักษณ์ของ antv คำขวัญของสถานีมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งเช่นกัน จาก Wow, Keren (Wow, It's Cool) ในปี 1993–2003 แต่เปลี่ยนเป็นสถานีที่เป็นมิตรสำหรับครอบครัว (Friendly TV for Family) ในปี 2009-2010 และกลับมาสู่คำขวัญเดิมอีกครั้งในปี 2011 จนถึงปัจจุบัน

สถานี antv เป็นสถานีแนวสาระบันเทิง ที่เปลี่ยนอัตลักษณ์หลายครั้งในรอบ 15 ปี ความไม่ชัดเจนในทิศทางรายการ และการไม่สามารถเจาะกลุ่มคนดูเป้าหมายทำให้ antv ไม่สามารถแข่งขันกับสถานีที่เสนอรายการบันเทิงเป็นเนื้อหาหลักได้ อย่างไรก็ดี อะนินยา บาครี (Anindya Bakrie) ผู้บริหารสถานีพยายามดำเนินกิจการเพื่อให้สถานีมีกำไร โดยได้ปรับปรุงรายการข่าวให้มีรูปแบบและสาระที่เหมาะกับคนดูกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง จนสามารถทำกำไรให้บริษัทแม่ Visi Media Asia แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจทั่วไปถดถอย (ซูลฟิอะนิ ลูบิส, สัมภาษณ์ 8 กรกฎาคม 2015)

ความขัดแย้งระหว่างห้องข่าวและเจ้าของกิจการ

ซูลฟิอะนิ ลูบิส (Zulfiani Lubis) หรืออูนิ ลูบิส จบการศึกษาด้านการเกษตร ทำงานและมีประสบการณ์ด้านงานข่าวมาตั้งแต่ปี 1990 ก่อนมาร่วมงานกับสถานีโทรทัศน์ antv อูนิ ลูบิส เคยทำงานกับนิตยสาร Panji Masyarakat และย้ายไปอยู่สถานีโทรทัศน์ Trans7 (ในช่วงที่หนังสือพิมพ์คอมพาสเป็นเจ้าของกิจการ) เธอเป็นบรรณาธิการข่าวของเว็บไซต์ข่าว Vivanews.com[2]  ในเครือ Visi Media Asia และลาออกมาทำงานกับสถานีโทรทัศน์ antv หลังจากเกิดความขัดแย้งกับผู้บริหาร  Vivanews.com ระหว่างปี 2003-2007 อูนิ ลูบิส ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสภาหนังสือพิมพ์อินโดนีเซีย

 

 

อูนิ ลูบิส (Uni Lubis) บรรณาธิการบริหารของ antv ได้เล่ารายละเอียดของการแทรกแซงห้องข่าวว่า อะนินยา บาครี ซึ่งเป็นผู้บริหารสถานี มีคำสั่งให้ฝ่ายข่าว antv ทำรายการพิเศษในช่วงบ่ายนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของปราโบโว ใช้รูปแบบรายการสนทนาช่วยโปรโมทภาพลักษณ์และกิจกรรมต่าง ๆ ของปราโบโว รายการทอล์คโชว์รูปแบบนี้มีต้นทุนการผลิตรายการค่อนข้างต่ำ แต่สถานีจะมีรายได้จากโฆษณาและงบหาเสียงของผู้สมัครเป็นจำนวนมาก รายการจะสามารถทำกำไรให้แก่สถานีอย่างเป็นกอบเป็นกำ บรรณาธิการบริหารของสถานี antv เห็นว่าจำเป็นต้องยอมรับเงื่อนไขของผู้บริหารสถานี เนื่องจากรายการจะช่วยทำให้มีรายได้เข้ามาอุดหนุนสถานี ขณะเดียวกันเธอก็สามารถหาทางออกด้วยการนำพิธีกรรับเชิญจากข้างนอกที่ไม่ใช่คนในทีมข่าวของสถานีมาดำเนินรายการ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารายการนี้เป็นการซื้อเวลาจากผู้ผลิตภายนอก (blocking time) ไม่ใช่รายการที่สถานีริเริ่มขึ้นเอง (สัมภาษณ์ 8 กรกฎาคม 2015)

ทว่าการประนีประนอมแบบนี้ ไม่อาจยุติการแทรกแซงการทำงานในฝ่ายข่าวได้ ผู้บริหารได้สั่งให้ห้องข่าวนำเสนอข่าวของปราโบโว ผู้สมัครพรรค Gerindra ในช่วงข่าวหลักของสถานีโดยไม่ต้องเสนอข่าวอีกด้านของผู้สมัครที่เป็นคู่แข่ง แรงกดดันอย่างหนักทำให้ อูนิ ลูบิส (Uni Lubis) บรรณาธิการบริหารของสถานี antv ตัดสินใจยื่นใบลาออกก่อนวันเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมเพียงสองวัน เจ้าของสถานีพยายามระงับใบลาออกของเธอ เพราะจะทำให้สถานีสูญเสียความน่าเชื่อถือ เขาเจรจาขอร้องให้อูนิ ลูบิสอยู่ต่อไป แต่เธอก็ยืนยันว่าเธอไม่อาจทำงานให้กับสถานีได้ เหตุผลของเธอคือเจ้าของสถานีเลือกข้างทางการเมือง และใช้อำนาจของเขากดดันการทำงานของฝ่ายข่าวมากเกินไป โดยที่ฝ่ายข่าวไม่สามารถต่อต้านคำสั่งดังกล่าวได้

 

“ผู้บริหารนำเอาอคติทางการเมืองของพรรคกอลคาร์ที่สนับสนุนปราโบโว มากดดันแทรกแซงการทำงานของสถานี การสั่งการให้ฝ่ายข่าวต้องทำตามอคติของผู้บริหาร ขัดแย้งกับอุดมการณ์วิชาชีพและเสรีภาพของสื่อมวลชนโดยสิ้นเชิง”

(อูนิ ลูบิส 8 กรกฎาคม 2015)

 

อูนิ ลูบิส ย้ำว่าการทำงานอย่างอิสระตามอุดมการณ์วิชาชีพ ยึดถือความเป็นภววิสัย ความถูกถ้วน และเที่ยงธรรมในการรายงานข่าวกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในสถานี antv

 

 “หลังจากที่ยื่นใบลาออกไปแล้ว ฝ่ายข่าวทุกคนรู้สึกว่าได้ปลดปล่อยตัวเอง ทำข่าวได้อย่างอิสระ ไม่แคร์ฝ่ายบริหาร ไม่ต้องเชื่อฟังคำสั่งให้เสนอข่าวด้านเดียว ช่วงนั้นเรตติ้งรายการข่าวของสถานี antv ตกอย่างน่าใจหาย”

(อูนิ ลูบิส 8 กรกฎาคม 2015)

 

อย่างไรก็ดี เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างตัวบรรณาธิการ อูนิ ลูบิส ฝ่ายบริหาร และตระกูลบาครี เธอไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เก็บรักษาใบลาออกไว้  กระนั้น หนังสือพิมพ์คอมพาสก็พาดหัวหน้าหนึ่งเรื่องการลาออกของบรรณาธิการสถานี antv อย่างครึกโครม ผู้บริหารพรรคกอลคาร์โกรธมากที่บรรณาธิการยื่นใบลาออกกะทันหันใกล้วันเลือกตั้ง สร้างความเสียหายให้กับผู้สมัครของค่ายนี้ อูนิ ลูบิส ยุติการทำงาน 3 เดือนให้หลังตามเงื่อนไขของสัญญาจ้างงาน (ที่กำหนดให้ผู้บริหารฝ่ายข่าว ต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้า 3 เดือน) เก็บของอำลาสถานี antv ในเดือนตุลาคม ขณะที่ โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีคนใหม่เข้ารับตำแหน่งในเดือนเดียวกัน (สัมภาษณ์ 8 กรกฎาคม 2015)

จากการสัมภาษณ์บรรณาธิการบริหารของสถานีโทรทัศน์ TVOne และ antv สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายข่าวกับฝ่ายบริหารและเจ้าของสถานีที่มีอำนาจเหนือกว่า เมื่อมีการแทรกแซงการทำงานของฝ่ายข่าวมาก บรรณาธิการในฐานะผู้นำของกองบรรณาธิการข่าวได้คัดค้าน และแสดงการต่อต้านขัดขืนด้วยการประท้วงไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ในกรณีของคาร์นี อิลยาส (TVOne) เขาใช้วิธีลาพักร้อนยาวถึง 3 เดือน (ในฐานะบรรณาธิการอาวุโส เขาได้รับอนุญาตจากเจ้าของสถานีซึ่งให้เกียรติและเกรงใจในตัวเขา) กรณีของอูนิ ลูบิส (antv) เธอประท้วงอย่างรุนแรงด้วยการยื่นใบลาออก ซึ่งเจ้าของสถานีพยายามเหนี่ยวรั้งตัวไว้ ไม่ต้องการให้เกิดการแตกหัก สถานีใช้วิธีเจรจาขอให้ทำงานต่อ แต่ก็ไม่เป็นผล ทั้งสองกรณีนี้ทำให้วงการข่าวโทรทัศน์อินโดนีเซียสั่นสะเทือนไปทั่ว ในตอนนั้น เกิดคำถามเรื่องการเลือกข้างระหว่างนักการเมืองสองค่ายที่แข่งขันเอาเป็นเอาตาย สื่อมวลชนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมและจากนักวิชาชีพด้วยกันเองว่าจะเลือกอะไรระหว่างวิชาชีพกับการเมือง นักข่าวมืออาชีพที่ต้องการธำรงอุดมการณ์สิทธิเสรีภาพของการทำงานข่าว มีทางเลือกอื่น ๆ อีกหรือไม่ในสถานการณ์ดังกล่าว หรือว่าต้องตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่งให้เด็ดขาด

สื่อโทรทัศน์: ทางออกระหว่างการเลือกข้างทางการเมืองและความเป็นมืออาชีพ

การเลือกข้างทางการเมืองอย่างโจ่งแจ้งของสื่อมวลชนทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ ช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 2014 ทำให้ความน่าเชื่อถือของสื่อตกต่ำลงไปมาก เอ็คโค มาร์ยาดิ (Eko Maryadi) อดีตประธานสหภาพพันธมิตรนักหนังสือพิมพ์เสรี (Alliance of Independent Journalists - AJI) ได้ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงเลือกตั้งประชาชนเชื่อถือสื่อโทรทัศน์เพียง 20% จากผลการสำรวจประชามติบางสำนัก ซึ่งแต่เดิมข่าวโทรทัศน์เคยได้รับความเชื่อถือไม่น้อยกว่า 70% ก่อนหน้าการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม การแทรกแซงสื่อที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง (สัมภาษณ์ 19 พฤษภาคม 2015) สื่อโทรทัศน์ถูกนักวารสารศาสตร์วิพากษ์วิจารณ์ว่า กำลังทำหน้าที่รณรงค์และโฆษณาชวนเชื่อให้กับนักการเมืองและพรรคการเมือง มากกว่าจะเป็นสื่อมวลชนอาชีพที่รับใช้ประโยชน์สาธารณะ

เจ้าของกิจการสื่อโทรทัศน์ของอินโดนีเซียได้ใช้อำนาจความเป็นเจ้าของกิจการ เลือกข้างการเมืองอนุรักษนิยม โดยเป็นการ “เลือกข้าง” ที่ไม่ประกาศตัวออกมาต่อสาธารณะ ไม่ได้ใช้วิธีแสดงจุดยืนโดยการประกาศผ่านบทบรรณาธิการอย่างเป็นทางการแบบที่สื่อสิ่งพิมพ์ทำ แต่ใช้วิธีการให้พื้นที่ในข่าวและรายการแก่ผู้สมัครที่ตนสนับสนุนมากเป็นพิเศษ รวมทั้งปิดกั้นข่าวสารจากผู้สมัครฝ่ายที่เป็นคู่แข่ง สื่อโทรทัศน์จึงถูกประชาชนมองว่ามีอคติ อย่างไรก็ดี บรรณาธิการและกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจในห้องข่าวที่ไม่เห็นด้วยกับเจ้าของได้ใช้วิธีการต่อต้าน เช่น การลาพักร้อนยาว 3 เดือน การยื่นใบลาออกอย่างกระชั้นชิดก่อนวันเลือกตั้ง และบรรณาธิการยังได้พยายามสร้างสมดุลในเนื้อหาข่าวเท่าที่จะทำได้ในขอบเขตอำนาจของตน โดยไม่ละทิ้งพันธกิจของความเป็นสื่อมืออาชีพแม้ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับเจ้าของสื่อก็ตาม กรณีศึกษาของสถานีโทรทัศน์ TVOne และ antv แสดงให้เห็นว่าเจ้าของกิจการและนักวิชาชีพวารสารศาสตร์ที่มีจุดยืนทางการเมืองไม่ตรงกันนั้น ไม่อาจประนีประนอมความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในองค์กรได้โดยง่าย ทางออกจึงมีลักษณะแตกหัก และฝ่ายที่มีอำนาจน้อยกว่าต้องเป็นฝ่ายที่ล่าถอยออกไปเพื่อรักษาอุดมการณ์ “วารสารศาสตร์มืออาชีพ” ของตนไว้ นั่นคือการธำรงความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของนักวารสารศาสตร์ในสายตาสาธารณชนให้ยืนยาวต่อไป.

2 ธันวาคม 2563

 

อ้างอิง

  • Gurevitch, Michael and Blumler, Jay G., 1977. “Linkages between the Mass Media and Politics: a model for the analysis of political communications systems” in Curran, Gurevitch, and Woollacott (eds.) Mass Communication and Society, London: Edward Arnold and Open University Press, 270-290.
  • Heryanto, Ariel, 2010: Media Ownership and Its Implication for Journalists and Journalism in Indonesia, in Sen and Hill (eds.), Politics and the New Media in 21st Century Indonesia, London: Routledge.
  • Yanuar Nugroho, Dinita Andriani Putri and Shita Laksmi, 2012: Mapping the Landscape of the Media Industry in Contemporary Indonesia, Centre for Information Policy and Governance (CIPG), Hivos People Unlimited, and Ford Foundation.

สัมภาษณ์

  • คาร์นี อิลยาส, บรรณาธิการอาวุโส สถานีโทรทัศน์ TVOne, สัมภาษณ์ 6 กรกฎาคม 2015.

  • ซูลฟิอะนิ ลูบิส, บรรณาธิการข่าว สถานีโทรทัศน์ antv, สัมภาษณ์ 8 กรกฎาคม 2015.

  • เอ็คโค มาร์ยาดิ, ประธานกรรมการสหภาพนักหนังสือพิมพ์เสรี (AJI), สัมภาษณ์ 19 พฤษภาคม 2015.


* เรียบเรียงและปรับปรุงจาก บทที่ 7 บทบาทสื่อในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศอินโดนีเซีย (7.2 การแบ่งขั้วทางการเมืองของสื่อกรณีเลือกตั้งประธานาธิบดี 2014) จากงานวิจัยเรื่องสื่อมวลชนในอาเซียน: ศึกษากรณีประเทศไทยและอินโดนีเซีย (2559)

[1]  พรรคกอลคาร์เป็นพรรครัฐบาลตลอดยุคที่ประธานาธิบดีซูฮาร์โตเป็นผู้นำประเทศ ยาวนาน 32 ปี เป็นพรรคทหารที่มีสาขากระจายไปทั่วประเทศในระดับท้องถิ่น

[2] ในการเลือกตั้งทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2014 เจ้าของ Vivanews.com ได้เข้าไปคุมวาระข่าวอย่างโจ่งแจ้ง โดยสั่งการบรรณาธิการในห้องข่าวด้วยตนเอง จนบรรณาธิการ 6 คนของ Vivanews.com ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งพร้อมกัน เพื่อต้องการแสดงจุดยืนในการทำงานอย่างอิสระของนักหนังสือพิมพ์อาชีพ Vivanews.com มีนายอะบูรีซัล บาครี ประธานพรรคกอลคาร์เป็นเจ้าของ และให้ อะนินยา บาครี ลูกชายเป็นคนคุมกิจการ Vivanews.com เคยได้รับความนิยมในลำดับ 5-6 แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ บก. ลาออกยกชุด Vivanews.com ตกไปอยู่ลำดับ 100 (เอ็คโค มาร์ยาดิ, สัมภาษณ์ 19 พฤษภาคม 2015)

อินโดนีเซีย การเลือกข้างทางการเมืองของนักวารสารศาสตร์มืออาชีพ (ตอนที่ 2)