หลังยุคซูฮาร์โตที่ครองอำนาจยาวนาน 32 ปี (1967-1998) ประเทศอินโดนีเซียเริ่มกระบวนการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจังระหว่างปี 1999-2002 มีการยกเลิกกฎหมายหนังสือพิมพ์ เปิดให้สื่อมวลชนมีเสรีภาพ ในระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองสภาเป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีระหว่างปี 1999-2004 (วาระ 5 ปี) ต่อมา และตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมาอินโดนีเซียมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง ประธานาธิบดีสุซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย ระหว่างปี 2004-2009 และ 2009-2014 การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2014 เป็นการเลือกตั้งโดยตรงครั้งที่ 3 มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 ฝ่ายต่อสู้แข่งขันกัน ฝ่ายหนึ่งเป็นตัวแทนแนวทางอนุรักษนิยม อีกฝ่ายหนึ่งเป็นตัวแทนแนวทางเสรีนิยม สื่อมวลชนอินโดนีเซียนอกจากทำหน้าที่สื่อสารรณรงค์ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งแล้ว ยังแสดงบทบาททางการเมืองด้วยการประกาศตัวเลือกข้างอย่างเปิดเผย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการวารสารศาสตร์อินโดนีเซีย
สื่อเลือกข้างกรณีเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย 2014: สื่อสิ่งพิมพ์
ในปี 2014 สื่อมวลชนแบ่งออกเป็นสองขั้วสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสองฝ่ายที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด ขั้วหนึ่งให้การสนับสนุนนายปราโบโว สุเบียนโต ผู้สมัครจากพรรค Gerindra Party ซึ่งเป็นอดีตนายพลจากกองทัพบก และอดีตบุตรเขยและคนสนิทของซูฮาร์โต สื่อที่สนับสนุนปราโบโวส่วนใหญ่เป็นสื่อโทรทัศน์ (จะกล่าวถึงในตอนที่ 2) ส่วนสื่ออีกขั้วหนึ่งสนับสนุนพรรคเดโมแครตเพื่อการต่อสู้ (PDI-P) ซึ่งส่งนายโจโก วิโดโด อดีตนายกเทศมนตรีเมืองโซโล และกรุงจาการ์ต้า นักการเมืองหน้าใหม่ไฟแรงจากเวทีการเมืองระดับท้องถิ่นลงแข่งขัน งานวิจัยได้เลือกตัวอย่างสื่อสิ่งพิมพ์ 3 ฉบับได้แก่ หนังสือพิมพ์คอมพาสซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่มียอดจำหน่ายสูงสุดของอินโดนีเซีย หนังสือพิมพ์เดอะจาการ์ต้าโพสต์-หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ และเทมโป (รายสัปดาห์) ซึ่งเป็นนิตยสารแนววิเคราะห์เศรษฐกิจการเมือง สื่อสิ่งพิมพ์ในกลุ่มนี้เป็นสื่อที่ให้การสนับสนุน นายโจโก วิโดโด ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตเพื่อการต่อสู้
หนังสือพิมพ์คอมพาส เดอะจาการ์ต้าโพสต์ และนิตยสารเทมโป เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีอิทธิพลสูงต่อผู้อ่านและรัฐบาล ก่อตั้งในยุคสมัยที่แตกต่างกัน กล่าวคือหนังสือพิมพ์คอมพาสเกิดในยุคที่วารสารศาสตร์การเมืองเป็นแนวทางกระแสหลักของวงการหนังสือพิมพ์ในอินโดนีเซียช่วงทศวรรษ 1960 นิตยสารเทมโปเกิดในทศวรรษ 1970 ซึ่งวารศาสตร์มืออาชีพเริ่มเป็นที่ยอมรับ หนังสือพิมพ์เดอะจาการ์ต้าโพสต์ เกิดในยุค 1980 ที่วารสารแบบชี้นำเป็นแนวทางกระแสหลัก สมัยนายพลซูฮาร์โตกับการปกครองระบอบอำนาจนิยมทหารของเขา ที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “ยุคระเบียบใหม่” บริบทในแต่ละช่วงยุคสมัยทำให้สื่อทั้งสามเติบโตและมีความเข้มแข็งในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป
ผลจากการวิจัยพบว่าสื่อสิ่งพิมพ์ประกาศให้การสนับสนุนโจโก วิโดโด ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตเพื่อการต่อสู้อย่างเปิดเผย บรรณาธิการ นักข่าว และสมาคมวิชาชีพ ต่างยอมรับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของอินโดนีเซีย ที่สื่อประกาศสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในบทบรรณาธิการอย่างชัดเจน เท่ากับเป็นการประกาศจุดยืนทางการเมืองของสื่อนั้น ๆ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเลือกข้างทางการเมือง สูญเสียความเป็นกลางทางวิชาชีพ รวมทั้งอาจเสียความน่าเชื่อถือที่สาธารณะมีให้กับสื่อ อย่างไรก็ดี นักหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่สื่อของตนต้องตัดสินใจแสดงจุดยืนทางการเมืองต่อผู้อ่านโดยไม่ปิดบังอำพราง พวกเขาเชื่อว่าการเผยแพร่ทัศนะต่อสาธารณะในวงกว้าง น่าจะมีผลโน้มน้าวใจประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ไม่มากก็น้อย (เอ็นดี้ บายูนี, สัมภาษณ์ 6 กรกฎาคม 2015, อาร์โย วิสันเกนนี, สัมภาษณ์ 4 กรกฎาคม 2015, เอ็คโค มาร์ยาดิ, สัมภาษณ์ 19 พฤษภาคม 2015)
การประกาศจุดยืนที่เป็นทางการแบบนี้ไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติของสื่อมวลชนอินโดนีเซีย แม้ว่ามีตัวอย่างจากสื่อในประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่จะประกาศจุดยืนว่าสนับสนุนผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรคใดอย่างเปิดเผยในการเลือกตั้งทุกครั้ง เพื่อแสดงทัศนะทางการเมืองขององค์กรสื่อต่อสาธารณะ ถือว่าเป็นส่วนที่แยกออกจากการปฏิบัติหน้าที่การรายงานข่าวตามวิชาชีพ ที่ยังคงยึดหลักความถูกถ้วน เที่ยงธรรมตามจรรยาบรรณวิชาชีพ
สื่อมวลชนอินโดนีเซียส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับวิธีการดังกล่าว ทำให้เกิดการถกเถียงกันมากว่าเหมาะสมหรือไม่ที่สื่อจะใช้เนื้อที่ในสื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง และจะมีผลต่อการทำหน้าที่อย่างมืออาชีพของนักข่าวหรือไม่ เช่น อาจจะทำให้เกิดความเอนเอียงในการนำเสนอข่าว ข้อถกเถียงลักษณะนี้มีพื้นฐานจากอุดมการณ์วิชาชีพสื่อมวลชนที่แตกต่างกัน กลุ่มวารสารศาสตร์เพื่อการพัฒนา (development journalism) เห็นว่าสื่อต้องปลอดจากการเมือง (apolitical) รายงานเพียงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ตีความ ไม่แสดงทัศนะ หรือความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ ในขณะที่กลุ่มวารสารศาสตร์การเมือง (political journalism) เชื่อว่าสื่อมวลชนมีบทบาททางการเมือง และพึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการเมืองประชาธิปไตย ในกลุ่มแรกจะยึดถือบทบาทหน้าที่แบบ “คนกลาง” (moderator) เสมือนหนึ่งเป็นคนนอกที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นข่าวที่เกิดขึ้น ส่วนนักหนังสือพิมพ์กลุ่มหลังยึดถือบทบาทหน้าที่แบบ “เลือกข้าง” (partisan) แสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างเปิดเผยว่าอยู่ข้างใด (Gurevitch and Blumler 1977) ผู้อ่านจะเป็นผู้ตัดสินเองว่า จะเชื่อทัศนะของฝ่ายใดมากกว่ากัน สื่อสิ่งพิมพ์ของอินโดนีเซียที่เลือกวิธีประกาศจุดยืนอย่างเป็นทางการในบทบรรณาธิการ ใช้วิธีการหาฉันทามติในห้องข่าวและกองบรรณาธิการ สำหรับเสียงส่วนน้อยที่เห็นแตกต่างจากเสียงส่วนใหญ่ในกองบรรณาธิการจำต้องสงวนสิทธิ์ ไปแสดงออกในสื่อโซเชียลมีเดียแทน (เอ็นดี้ บายูนี, สัมภาษณ์ 6 กรกฎาคม 2015, อาร์โย วิสันเกนนี, สัมภาษณ์ 4 กรกฎาคม 2015)
หนังสือพิมพ์คอมพาส (Compass)
หนังสือพิมพ์คอมพาสเป็นรุ่นที่กำเนิดใน “ยุคหนังสือพิมพ์การเมือง” ก่อตั้งในปี 1965 โดยสมาชิกของพรรคคริสเตียน (Kristen Partai) และนักหนังสือพิมพ์กลุ่มหนึ่ง คอมพาสเป็นหนึ่งในหนังสือพิมพ์ที่ถูกรัฐบาลซูฮาร์โตสั่งปิดในปี 1978 ประธานาธิบดีซูฮาร์โตเข้าควบคุมพรรคการเมืองและสื่อหนังสือพิมพ์อย่างเข้มงวด มีเป้าหมายในการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลโดยให้ยุบและควบรวมพรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองเข้าด้วยกัน การที่หนังสือพิมพ์คอมพาสถูกสั่งปิดส่งผลให้เจ้าของและผู้ลงทุนคือพรรคคริสเตียน ขัดแย้งกับบรรณาธิการยาขอบ อูตามะ (Jakob Oetama) และกองบรรณาธิการ (Dhakidae 1991) พรรคคริสเตียนเลิกให้การสนับสนุนหนังสือพิมพ์คอมพาส ดังนั้น ในช่วงทศวรรษ 1980 หนังสือพิมพ์คอมพาสจึงไม่ได้เป็นหนังสือพิมพ์การเมืองในแบบเดิมอีกต่อไป แต่ดำเนินธุรกิจโดยอาศัยทุนของตนเองจากการสะสมทุนและกำไรในช่วง 20 ของการประกอบกิจการ คอมพาสจดทะเบียนใหม่เป็น Kompas Gramedia Group ผลิตหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอินโดนีเซียที่ได้รับความนิยมจากผู้อ่านจำนวนมาก ธุรกิจเติบโตจนเป็นบรรษัทสื่อขนาดใหญ่ ธุรกิจในเครือคอมพาสประกอบด้วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม มหาวิทยาลัย บริษัทประชาสัมพันธ์และการจัดงานอีเว้นท์
หนังสือพิมพ์คอมพาสมีคำขวัญว่า “สื่อที่อิสระและเป็นกลาง” (independent and neutral) ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างจากคอมพาสในอดีต โดยเฉพาะในยุคก่อตั้ง บรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์คอมพาสย้ำว่า ปัจจุบันคอมพาสเป็นอิสระจากพรรคการเมืองและรัฐบาล ดังนั้น รายงานข่าวของคอมพาสจึงสมดุลและไม่มีอคติหรือเอียงข้างทางการเมือง (balanced and non-partisan) แต่ด้วยเหตุที่คอมพาสเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ที่สุด มีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศ “ประธานาธิบดีและทีมงานด้านนโยบายจึงมักจะรับฟังเสียงที่สื่อออกไปจากคอมพาสเสมอ” (บูดิมาน ธนูเรดโจ, หัวหน้าบรรณาธิการ, สัมภาษณ์ 6 กรกฎาคม 2015)
รูปแบบการทำงานและการรายงานข่าวของคอมพาส ได้รับการพัฒนามาตั้งแต่สมัยของยาขอบ อูตามะ บรรณาธิการคนแรก เขาได้สร้างธรรมเนียมการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดที่รู้จักกันในชื่อ “วารสารศาสตร์แบบปู” (crab journalism) คือใช้วิธี “รัฐบาลหยุดเราแหย่ รัฐบาลมาเรามุด” คอมพาสเรียนรู้กลยุทธ์ในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซูฮาร์โต และหลบหลีกเพื่อเอาตัวรอดไปพร้อม ๆ กัน รูปแบบการชักเย่อกับอำนาจ ซึ่งคอมพาสถือปฏิบัติกันจนเป็นธรรมเนียมและรับรู้กันว่าเป็นสไตล์ของหนังสือพิมพ์คอมพาส หลังจากช่วงปฏิรูปทางการเมืองปลายทศวรรษ 1990 คอมพาสได้พัฒนาแนวทางไปอีกขั้นหนึ่งคือกล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา ขณะเดียวกัน บรรณาธิการก็เชื่อว่าคอมพาสมีหน้าที่รักษาความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม (vocal but keep social harmony) และคอมพาสยังได้ยึดหลักการที่ว่าการร่วมผลักดันระบบประชาธิปไตยของอินโดนีเซียให้ก้าวไปข้างหน้าเป็นความรับผิดชอบของคอมพาส
คอมพาส: สื่อ “คนกลาง” ไม่เลือกข้างทางการเมือง
หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างคอมพาสเลือกจุดยืน “คนกลาง” แทนที่จะเลือกข้างในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2014 บูดิมาน ธนูเรดโจ (Budiman Tanoeredjo) หัวหน้าบรรณาธิการเล่าให้ฟังว่า คอมพาสมีสถานะเป็นหนังสือพิมพ์อิสระที่เป็นผู้นำในวงการ ไม่ได้ขึ้นต่อพรรคการเมืองหรือนักการเมืองใด และไม่ได้มีความสัมพันธ์พิเศษกับรัฐบาล ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการเสนอข่าวของผู้สมัครทั้งสองฝ่าย คอมพาสพยายามนำเสนอข่าวและภาพในหน้าหนึ่งอย่างเป็นธรรมมากที่สุด แต่ก็ได้รับการต่อว่าจากทีมงานผู้สมัครทั้งสองฝ่ายว่าคอมพาสไม่ให้ความยุติธรรม ถ้าคอมพาสถูกต่อว่าจากผู้สมัครทั้งสองฝ่าย หมายความว่า “เรายืนอยู่ตรงกลาง ไม่เอียงข้างใดข้างหนึ่งจริง ๆ” บูดิมานยกตัวอย่างการเสนอข่าวหน้าหนึ่งที่ถูกร้องเรียนจากปราโบโวและโจโกวี โดยคอมพาสได้เสนอข่าวการหาเสียงของปราโบโว ซึ่งนั่งเฮลิคอปเตอร์ไปลงพื้นที่หาเสียง ในหน้าเดียวกันมีภาพของโจโกวีพบปะกับชาวนาในชนบท ทีมงานของปราโบโวร้องเรียนว่าทำไมเสนอภาพปราโบโวนั่งเฮลิคอปเตอร์ โดยไม่มีประชาชนในภาพ แต่คอมพาสเสนอภาพโจโกวีหาเสียงกับชาวนาอย่างใกล้ชิด ส่วนทีมงานของโจโกวีก็ร้องเรียนว่า ทำไมในภาพที่โจโกวีหาเสียงอยู่นั้นมีชาวนาเพียงไม่กี่คน (สัมภาษณ์ 6 กรกฎาคม 2015)
อย่างไรก็ดี คอมพาสถูกมองว่ามีอคติและเลือกข้างทางการเมืองเช่นเดียวกับสื่ออื่น ๆ เพียงแต่ไม่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ผู้อ่านต้องตีความระหว่างบรรทัดจากเนื้อหาของข่าวและทัศนะจากบทความต่าง ๆ แดเนียล ดาคิเด นักวิชาการและนักวิจารณ์สื่อแสดงความเห็นว่า “คอมพาสเป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูง หากสนับสนุนผู้สมัครคนใด คนนั้นก็มักจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง” ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 2014 คอมพาสสนับสนุนโจโกวีเช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น (สัมภาษณ์ 7 กรกฎาคม 2015)
หนังสือพิมพ์เดอะจาการ์ต้าโพสต์ (The Jakarta Post)
เดอะจาการ์ต้าโพสต์เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย ก่อตั้งโดยรัฐบาลในปี 1983 ปัจจุบัน มียอดจำหน่าย 40,000 ฉบับ/วัน การก่อตั้งหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีลักษณะพิเศษที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากตลาดขาดแคลนหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ขณะที่รัฐบาลต้องการมีเสียงของตนเองเพื่อสื่อสารกับประชาคมนานาชาติ รัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารจึงได้ดำริที่จะก่อตั้งหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษขึ้นมาทำหน้าที่นี้ ในปี 1983 รัฐมนตรี อาลี มูโตโป (Ali Moetopo) ได้ร่วมกับยูซุฟ วานันดิ (Yusuf Wanandi) บรรณาธิการของซัวราการ์ยา (Suara Karya) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีพรรคกอลคาร์ของรัฐบาลให้การสนับสนุนอยู่ จัดทำโครงการผลิตหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษขึ้น รัฐบาลได้ขอให้เจ้าของหนังสือพิมพ์ 4 บริษัทเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท PT Bina Media Tenggara ที่จดทะเบียนใหม่ร่วมกัน ประกอบด้วย ซัวราการ์ยา (Suara Karya) ของพรรคกอลคาร์ คอมพาส (Kompas) ของพรรคคริสเตียน สินาฮาราปัน (Sinar Harapan) ของกลุ่มโปรเตสแตนท์ และเทมโปของกุนาวัน โมฮัมหมัด เพื่อสร้างความสมดุลทางการเมืองในด้านการบริหาร เนื้อหา และการผลิต
เดอะจาการ์ต้าโพสต์ค่อย ๆ สร้างชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือจนได้รับการยอมรับมากขึ้น ในปี 1991 ภายใต้การบริหารของบรรณาธิการคนใหม่ซูซานโต พุทโจมาร์โตโน (Susanto Pudjomartono) ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้ากองบรรณาธิการเทมโป เดอะจาการ์ต้าโพสต์ นำเสนอรายงานข่าวของตนเองมากขึ้น ทิศทางข่าวเริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์การเมือง และมีจุดยืนประชาธิปไตยคล้ายกับเทมโป บรรณาธิการยังเรียกร้องให้นักข่าวมีส่วนร่วมในห้องข่าวมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มจำนวนหน้า จาก 8 หน้าเป็น 12 หน้า
เดอะจาการ์ต้าโพสต์เน้นคนอ่านที่เป็นนักธุรกิจ ผู้มีการศึกษา ชนชั้นกลางอินโดนีเซีย และชาวต่างประเทศ ปี 1994 เดอะจาการ์ต้าโพสต์เปิดตัวสู่ตลาดโลก ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า “Go International” ร่วมกับ Chamber World Network (เยอรมัน), Reuters (อังกฤษ), Dialog Information Services (สหรัฐอเมริกา) โดยให้ผู้อ่านที่เป็นสมาชิกสามารถเข้าถึงฉบับออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในปี 1997 เดอะจาการ์ต้าโพสต์ได้ร่วมก่อตั้ง ANN – Asia News Network ร่วมกับสำนักข่าวอื่น ๆ ในเอเชีย วิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 - 1998 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองครั้งใหญ่ในอินโดนีเซีย หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษหลายฉบับปิดตัวลง เดอะจาการ์ต้าโพสต์เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเพียงฉบับเดียวในตลาดที่เหลืออยู่ แต่ในปี 2008 เดอะจาการ์ต้าโพสต์ต้องเผชิญกับคู่แข่งหน้าใหม่ The Jakarta Globe ซึ่งเริ่มต้นบุกตลาดด้วยยอดพิมพ์ 40,000 ฉบับ/วัน ใกล้เคียงกับเดอะจาการ์ต้าโพสต์
เดอะจาการ์ต้าโพสต์: สื่อแสดงบทบาทชี้นำ “เลือกข้าง” โจโกวี
ก่อนวันเลือกตั้ง 9 กรกฎาคม 2014 หนังสือพิมพ์เดอะจาการ์ต้าโพสต์ ได้เผยแพร่บทบรรณาธิการ “สนับสนุนโจโกวี” (Endorsing Jokowi) ที่ประกาศจุดยืนในการสนับสนุนนายโจโก วิโดโด ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตอินโดนีเซียเพื่อการต่อสู้ (PDI-P) เดอะจาการ์ต้าโพสต์ตีพิมพ์บทบรรณาธิการที่สนับสนุนนายโจโกวี ติดต่อกันทั้งสัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง สำหรับบทบรรณาธิการในวันที่ 4 กรกฎาคม 2014 เป็นการบอกกล่าวถึงเหตุผลที่ต้องสนับสนุนผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตอินโดนีเซียเพื่อการต่อสู้ เดอะจาการ์ต้าโพสต์ได้เน้นย้ำความชอบธรรมที่หนังสือพิมพ์ต้องตัดสินใจเลือกข้างประชาธิปไตยมากกว่าปราโบโว ที่มีนโยบายแนวอนุรักษนิยม และชี้ให้เห็นภูมิหลังการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งสังคมอินโดนีเซียพึงใคร่ครวญว่าผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ควรเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศหรือไม่ [2]
“การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและตั้งใจของเดอะจาการ์ต้าโพสต์ บอกเราว่าในครั้งนี้ เราจะยืนอย่างมั่นคงอยู่บนคุณค่าที่เรายึดถือตลอดมา คือ ความหลากหลาย สิทธิมนุษยชน ประชาสังคม และการปฏิรูป
เรารู้สึกมั่นใจที่ผู้สมัครคนหนึ่งได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าปฏิเสธการเมืองแบบงมงาย ขณะเดียวกันเราก็รู้สึกผิดหวังอย่างมากกับผู้สมัครอีกคน ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มอิสลามหัวอนุรักษ์ ที่อาจจะฉีกสังคมฆราวาสของประเทศออกเป็นเสี่ยง ๆ เป็นอันธพาลทางศาสนาที่รณรงค์หาเสียงด้วยการใช้ประเด็นที่แบ่งขั้ว อันเป็นข้อเสนอที่ไม่อาจยอมรับได้ เพียงเพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น
เรางุนงงกับความทรงจำของชาติเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมสิทธิมนุษยชน ที่ดูจะเลือนหายไปง่าย ๆ บุคคลคนหนึ่งที่ยอมรับว่าได้ลักพาตัวนักสิทธิมนุษยชนหลายคน ไม่ว่าจะทำตามคำสั่ง หรือกระทำโดยเจตนาของตัวเอง ไม่พึงมีตำแหน่งแห่งที่ในฐานะผู้นำของประเทศประชาธิปไตยที่มีขนาดใหญ่อันดับสามของโลก
ประชาธิปไตยของเราจะไม่เข้มแข็งขึ้น ถ้าความคิดของประชาชนยังคงถูกตอกลิ่มด้วยแนวคิดความมั่นคงที่เชื่อว่าระบอบทหารเป็นระบอบในอุดมคติ จากที่ผู้สมัครคนหนึ่งยังคิดว่าอำนาจพลเรือนนั้นต้องอยู่ภายใต้การนำของฝ่ายทหาร
ประเทศนี้ควรภาคภูมิใจในกองทัพของตน แต่มีเงื่อนไขว่าคนที่ใส่เครื่องแบบต้องยอมรับว่าพวกเขาเป็นผู้รับใช้ระบอบประชาธิปไตยและรัฐบาลพลเรือน
ในขณะที่ผู้สมัครคนหนึ่งเสนอให้เราหลุดพ้นจากอดีต อีกคนหนึ่งยังฝันถึงยุคซูฮาร์โต”
(บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะจาการ์ต้าโพสต์ 4 กรกฎาคม 2014
“Endorsing Jokowi”)
บรรณาธิการบริหารในขณะนั้นได้ตัดสินใจที่จะตีพิมพ์บทบรรณาธิการสนับสนุนโจโกวี และเขารู้ดีว่าต้องเป็นคนรับผิดชอบต่อการตัดสินใจที่เกิดขึ้นโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ เมื่อบทบรรณาธิการถูกเผยแพร่ออกไป ก็เกิดกระแสตอบรับในทางบวกทันที ผู้อ่านพากันส่งต่ออย่างรวดเร็วในโซเชียลมีเดีย และสื่อท้องถิ่นก็นำไปเผยแพร่อย่างกว้างขวาง (เอ็นดี้ บายูนี, สัมภาษณ์ 6 กรกฎาคม 2015)
นิตยสารเทมโป (Tempo)
นิตยสารเทมโป ก่อตั้งโดยนายกุนาวัน โมฮัมหมัด (Goenawan Mohamad) ในปี 1971 เทมโปเกิดในยุคที่โลกของวารสารศาสตร์การเมืองแบบเดิมล่มสลายไปแล้ว อินโดนีเซียถูกทำให้เป็น “สังคมปลอดการเมือง“ (apolitical society) นักหนังสือพิมพ์ถูกทำให้เชื่อว่าต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพแบบไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือเป็นกลาง มีความเป็นมืออาชีพ กุนาวันจดทะเบียนนิตยสารเทมโปในชื่อมูลนิธิ 21 มิถุนายน มีวัตถุประสงค์ที่จะผลิตนิตยสารข่าวคุณภาพดีในระดับเดียวกับนิตยสารไทม์ของสหรัฐอเมริกา จุดเด่นของเทมโปอยู่ที่สไตล์การเขียน และวิธีการเล่าเรื่อง การใช้ภาษาที่น่าอ่านทำให้มีบุคลิกเฉพาะที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง การให้ความสำคัญกับรูปแบบของนิตยสารและการใช้ภาษาของเทมโปนี้ กล่าวได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวารสารศาสตร์ในอินโดนีเซีย แดเนียล ดากิเด (Daniel Dhakidae) ได้อธิบายในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาว่า “เทมโปเป็นนิตยสารที่ใช้ภาษาที่มีรูปแบบเฉพาะ เป็นภาษาของปัญญาชนผู้มีการศึกษาอย่างดี มีสำนวนลีลาคมคาย น่าอ่าน เทมโปได้แปรเปลี่ยนให้เนื้อหาของข่าวและข้อมูลต่าง ๆ กลายเป็นสินค้าอย่างเต็มรูปแบบ” (Dhakidae 1991) นิตยสารเทมโปประสบความสำเร็จตั้งแต่ต้นด้วยจุดยืนแบบวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมกับภาพลักษณ์ของปัญญาชนผู้มีการศึกษา
เมื่อนิตยสารเทมโปถูกสั่งปิดโดยรัฐบาลซูฮาร์โตในปี 1994 รัฐบาลได้ยื่นข้อเสนอต่อเจ้าของเทมโปว่าจะให้ใบอนุญาตพิมพ์เผยแพร่ได้อีก หากยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้บริหารและผู้ถือหุ้นของเทมโป การแข็งขืนต่อข้อเสนอดังกล่าวทำให้เทมโปต้องปิดตัวเองไปจนหมดยุคระเบียบใหม่ในปี 1998 เมื่อซูฮาร์โตหมดอำนาจ เทมโปจึงกลับมาเปิดตัวอีกครั้งในปี 1998 หลังจากปิดไป 4 ปี อริฟ ซุลกิฟริ (Arif Zulkifri) หัวหน้าบรรณาธิการเครือเทมโปกล่าวว่า การกลับมาครั้งนี้ของเทมโปมาพร้อมกับโมเดลการบริหารองค์กรใหม่ที่มีรูปแบบประชาธิปไตย คือ มีการจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนและแบ่งสัดส่วนการถือหุ้นออกไปเป็น 5 ส่วน ได้แก่ สหภาพ มูลนิธิผู้ก่อตั้ง หุ้นส่วนบุคคล หุ้นนิติบุคคล และหุ้นบุคคลทั่วไป พนักงานของบริษัทมีสหภาพแรงงานที่มีสิทธิถือครองหุ้นจำนวน 30% ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วม (collective ownership) ของสหภาพ มูลนิธิ 21 มิถุนายน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ก่อตั้งและมูลนิธิของพนักงานร่วมกันถือหุ้น 40% ส่วนที่เหลืออีก 30% เป็นหุ้นที่ถือครองโดยกุนาวัน โมฮัมหมัด บริษัท P.T.Grafiti และประชาชนทั่วไปมีสัดส่วนประมาณ 12% ของหุ้นทั้งหมด (อริฟ ซุลกิฟริ, หัวหน้าบรรณาธิการ, สัมภาษณ์ 7 กรกฎาคม 2015)
นอกจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น เทมโปยุคใหม่ยึดถือหลักการสำคัญ 3 ข้อ คือ “อิสระ มืออาชีพ และความเท่าเทียม” (independent, professionalism and egalitarianism) บุคลากรภายในองค์กรทุกระดับได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร นักหนังสือพิมพ์ ช่างเทคนิค หรือพนักงานระดับล่างในสำนักงาน (บัมบัง ฮาริมูรติ, ประธานกรรมการบริหาร, สัมภาษณ์ 7 กรกฎาคม 2015)
เทมโป: สื่อแสดงบทบาทชี้นำ “เลือกข้าง” โจโกวี
นิตยสารเทมโป ประจำวันที่ 7-13 กรกฎาคม 2014 ได้ตีพิมพ์บทนำชื่อ “เหยียบย่ำทำลายการเลือกตั้ง” (Trashing the vote) มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดียุทโธโยโนว่าไม่ได้วางตัวเป็นกลางในการเลือกตั้ง ทว่ามีความลำเอียงเข้าข้างปราโบโว สุเบียนโตผู้สมัครจากพรรค Gerindra บทนำชี้ว่าไม่เหมาะสมยิ่งที่ประธานาธิบดีซึ่งมีฐานะเสมือนเป็นกรรมการในการเลือกตั้ง จะวางตัวสนิทสนมกับปราโบโว และปล่อยให้กลไกของรัฐในระดับท้องถิ่นหาเสียงให้กับผู้สมัครหมายเลข 1 (ปราโบโว สุเบียนโต) อย่างเปิดเผย [3]
“ประธานาธิบดียุทโธโยโนคงมีเหตุผลของตัวเอง ที่ในที่สุดได้แสดงจุดยืนที่เลือกข้างออกมาต่อสาธารณะ ...... แต่ยุทโธโยโนไม่ได้เป็นเพียงประธานพรรคเดโมแครต เขายังเป็นประมุขแห่งรัฐ หัวหน้ารัฐบาล และผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพอินโดนีเซีย การเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันพุธที่จะถึงนี้ รัฐที่เขาเป็นผู้นำจะต้องทำหน้าที่เป็นกรรมการที่ยุติธรรม หากว่าตัวยุทโธโยโนเองสามารถวางตัวเป็นตัวอย่างที่ดีได้ กลไกรัฐทั้งหมดก็จะเดินไปในทิศทางเดียวกัน
----------------------------
สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่คือการที่เจ้าหน้าที่ให้การสนับสนุนผู้สมัครหมายเลข 1 อย่างเปิดเผย หัวหน้าผู้บริหารท้องถิ่นราว 70% เข้าไปอยู่ในค่ายปราโบโวกันหมด ดังนั้น จึงมีเหตุเชื่อได้ว่ารัฐบาลส่วนท้องถิ่นจะส่งกำลังที่มีอยู่ไปช่วยผู้สมัครทั้งสองให้ได้ชัยชนะ
----------------------------
เราคงจะยังจำกันได้ถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ต่อกรณีที่กรรมการหมู่บ้านในจาการ์ต้าไปถามชาวบ้านว่าจะเลือกใครเพื่อประเมินเสียงสนับสนุนของปราโบโวและฮัตตา หลังจากที่ถูกประชาชนร้องเรียน คนที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ก็ถูกลงโทษ แต่พอกรณีนี้ปิดฉากไป ก็มีกรณีใหม่เกิดขึ้นอีก .... นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ทหารเข้าไปแทรกแซงหรือข่มขู่ประชาชน ซึ่งการกระทำแบบนี้มีแต่จะทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพอินโดนีเซียเสียหาย ทั้ง ๆ ที่กองทัพได้ยึดถือจุดยืนความเป็นกลางทางการเมืองไว้ตั้งแต่สมัยการปฏิรูป ความเป็นกลางทางการเมืองในการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องของกองทัพและตำรวจเท่านั้น องค์กรทั้งหลายที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งก็ต้องได้รับการปกป้องให้พวกเขารักษาความเป็นกลางให้ได้ อาทิ กรรมการเลือกตั้ง (General Elections Commission - KPU) และองค์กรกำกับดูแลการเลือกตั้ง (Elections Supervisory Agency - Bawaslu) ในฐานะกรรมการพวกเขาต้องเป็นอิสระจากผลประโยชน์ของผู้สมัครทุกคนที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง”
(บทบรรณาธิการนิตยสารเทมโป 7-13 กรกฎาคม 2014
“Trashing the vote”)
ก่อนหน้านั้น เทมโปฉบับพฤศจิกายน 2013 ได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์พิเศษขนาดยาวของปราโบโว หัวหน้าบรรณาธิการ อะริฟ ซุลกิฟริ (Arif Zulkifri) บอกว่าใช้เวลาสัมภาษณ์หลายชั่วโมง เนื้อหาในบทสัมภาษณ์เปิดเผยเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบในอดีตของเขา เรื่องที่สำคัญที่สุดคือประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีติมอร์ตะวันออกที่ปราโบโวมีส่วนสำคัญในการปราบปรามและสังหารประชาชนจำนวนมาก เมื่อบทสัมภาษณ์ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ ปราโบโวได้ให้ทนายของเขาส่งหนังสือมาทักท้วงว่า เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ปราโบโวบอกว่าเทมโปให้ร้ายเขาและทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียง ปราโบโวไม่พอใจภาพปกที่ออกแบบให้หน้าด้านหนึ่งของเขาอยู่ในเงามืดและอีกด้านหนึ่งเป็นด้านสว่าง สะท้อนให้เห็นบุคลิกคนสองหน้า (สัมภาษณ์ 7 กรกฎาคม 2015)
สื่อสิ่งพิมพ์: จุดยืนประชาธิปไตยและความเป็นมืออาชีพ
จากกลุ่มตัวอย่างสื่อสิ่งพิมพ์ – คอมพาส, เดอะจาการ์ต้าโพสต์ และเทมโป ชี้ให้เห็นว่าสื่อสิ่งพิมพ์กลุ่มนี้ให้การสนับสนุนโจโก วิโดโด ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตอินโดนีเซียเพื่อการต่อสู้ (PDI-P) โดยกองบรรณาธิการเป็นผู้ตัดสินใจและเสนอท่าทีการสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ เดอะจาการ์ต้าโพสต์และเทมโปมีการประกาศเป็นทางการผ่านบทบรรณาธิการก่อนวันเลือกตั้ง ทั้งสองแสดงจุดยืนว่าการเลือกข้างเป็นสิ่งจำเป็นและชอบธรรม เพราะเป็นการเลือกข้างนักการเมืองที่ไม่มีประวัติด่างพร้อย หรือมีแนวโน้มจะนำพาประเทศกลับไปสู่ยุคทหารเป็นใหญ่อีก เหล่านี้คือเหตุผลที่เดอะจาการ์ต้าโพสต์และเทมโปกล่าวอ้างต่อสาธารณะ กองบรรณาธิการยังแสดงความเชื่อมั่นด้วยว่าการเลือกข้างทางการเมืองจะไม่ทำให้เกิดอคติในการทำหน้าที่สื่อมวลชน อย่างไรก็ดี แม้คอมพาสเป็นหนังสือพิมพ์ที่เลือกสนับสนุนโจโก วิโดโดเช่นกัน แต่ไม่ได้ประกาศอย่างเปิดเผย หัวหน้าบรรณาธิการยืนยันในความเป็นอิสระของคอมพาส หากแสดงตนว่าเลือกข้างจะทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถือในสายตาของผู้อ่าน เขาย้ำว่าสื่อควรเป็นคนกลาง (moderator) ให้กับทุกฝ่ายในการต่อสู้ทางการเมือง นี่คือหลักการของ “วารสารศาสตร์มืออาชีพ” (professional journalism)
โจโก วิโดโดชนะการเลือกตั้งในปี 2014 ด้วยคะแนน 70,997,833 ล้านเสียง คิดเป็น 53.15% ในขณะที่ปราโบโวได้คะแนน 62,576,444 ล้านเสียง คิดเป็น 46.85% รวมคะแนนทั้งสิ้น 133,574,277 ล้านเสียง (100%) และจากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งสิ้น 193,944,150 ล้านเสียง มีผู้มาใช้สิทธิ์จำนวน 134,953,967 ล้านเสียง คิดเป็น 69.58% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (บัตรดี 98.98% และบัตรเสีย 1.02%)
แม้ว่าการแสดงออกแบบแบ่งขั้วทางการเมืองของสื่อกลุ่มนี้จะยุติลงหลังการเลือกตั้ง ประชาคมวิชาชีพสื่ออินโดนีเซีย อาทิ บรรณาธิการ นักข่าว องค์กรวิชาชีพสื่อ ยังคงถกเถียงกันต่อไปว่าพวกเขาควรจะวางตัวอย่างไรในสถานการณ์แบบเดียวกันนี้ในอนาคต สื่อจำต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่งระหว่างความเป็นมืออาชีพและอุดมการณ์การเมืองหรือไม่ พวกเขาสามารถยึดถืออุดมการณ์ความเชื่อทั้งสองไว้ในความเป็นวิชาชีพสื่อพร้อมกันไปได้หรือไม่ การพยายามรักษาอุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมควบคู่ไปกับความเป็นมืออาชีพเป็นสิ่งที่ชอบธรรมและเป็นหน้าที่หรือไม่ สังคมก็มีคำถามเช่นกันว่าการแบ่งขั้วทางการเมืองของสื่อนั้นเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน หรือเพื่อสนองผลประโยชน์ทางธุรกิจการเมืองของสื่อเองกันแน่ ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้บริบทสังคมการเมืองใหม่ของอินโดนีเซียที่ก้าวข้ามระบอบอำนาจนิยมมาแล้วกว่าสองทศวรรษ สื่อมวลชนเป็นสถาบันและตัวแสดงสำคัญทางการเมืองที่มีอำนาจและมีอิทธิพลในการส่งให้ผู้สมัครได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างไม่ต้องสงสัย.
24 กันยายน 2020
[1] เรียบเรียงและปรับปรุงจาก บทที่ 7 บทบาทสื่อในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศอินโดนีเซีย (7.2 การแบ่งขั้วทางการเมืองของสื่อกรณีเลือกตั้งประธานาธิบดี 2014) จากงานวิจัยเรื่องสื่อมวลชนในอาเซียน: ศึกษากรณีประเทศไทยและอินโดนีเซีย (2559)
[2] ดูบทบรรณาธิการเดอะจาการ์ต้าโพสต์ฉบับเต็มได้ในภาคผนวก
[3] ดูบทบรรณาธิการนิตยสารเทมโปฉบับเต็มได้ในภาคผนวก
อ้างอิง
Dhakidae, Daniel, 1991. The State, the Rise of Capital and the Fall of Political Journalism: Political Economy of the Indonesian News Industry, Unpublished PhD dissertation, Cornell University.
Gurevitch, Michael and Blumler, Jay G., 1977. “Linkages between the Mass Media and Politics: a model for the analysis of political communications systems” in Curran, Gurevitch, and Woollacott (eds.) Mass Communication and Society, London: Edward Arnold and Open University Press, 270-290.
สัมภาษณ์
- เอ็คโค มาร์ยาดิ, ประธานกรรมการสหภาพนักหนังสือพิมพ์เสรี (AJI), สัมภาษณ์ 19 พฤษภาคม 2015.
- อาร์โย วิสันเกนนี, กรรมการสหภาพนักหนังสือพิมพ์เสรี (AJI), สัมภาษณ์ 4 กรกฎาคม 2015.
- เอ็นดี้ บายูนี, บรรณาธิการอาวุโส เดอะจาการ์ต้าโพสต์, สัมภาษณ์ 6 กรกฎาคม 2015.
- บูดิมาน ธนูเรดโจ, หัวหน้าบรรณาธิการ คอมพาส, สัมภาษณ์ 6 กรกฎาคม 2015.
- อริฟ ซุลกิฟริ, หัวหน้าบรรณาธิการ เทมโป, สัมภาษณ์ 7 กรกฎาคม 2015.
- บัมบัง ฮาริมูรติ, ประธานกรรมการบริหาร เทมโป และบรรณาธิการบริหาร, สัมภาษณ์ 7 กรกฎาคม 2015.
- แดเนียล ดาคิเด, นักวิชาการสังคมศาสตร์และสื่อ, สัมภาษณ์ 7 กรกฎาคม 2015.
ภาคผนวก
Editorial: Endorsing Jokowi, The Jakarta Post | Editorial | Fri, July 04 2014, 10:08 AM
http://www.thejakartapost.com/news/2014/07/04/editorial-endorsingjokowi.html
Tempo | Opinion, July 7-13, 2014, TRASHING THE VOTE
https://en.tempo.co/amp/591404/trashing-the-vote
