การศึกษาเรื่องสื่อกับการเมืองและกระบวนการเปลี่ยนแปลงให้เป็นประชาธิปไตย ในประเทศไทยและอินโดนีเซีย เป็นการศึกษาทำความเข้าใจระบบการเมืองและสื่อในสองประเทศนี้ว่า มีความสัมพันธ์กันอย่างไร หรือมีความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย สมมติฐานของการศึกษา คือการมองความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับสื่อมวลชนว่ามีการคานอำนาจระหว่างกันเนื่องจากระบบทั้งสองต่างต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันต่างก็มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในของระบบในช่วงจังหวะการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของแต่ละยุคสมัย ที่ส่งผลต่อทิศทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ที่อาจนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนขึ้น หรือถดถอยลงจากที่เคยเป็นมาในอดีต การศึกษานี้จะนำเสนอสภาพการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทยใน 15 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2542-2557 สิ้นสุดลงในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปและการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 (2014) ในส่วนประเทศอินโดนีเซียศึกษาช่วงที่มีปฏิรูปครั้งใหญ่หลังยุคซูฮาร์โต (1998-2002) และการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศอินโดนีเซียในปี 2014 [i]
การเปลี่ยนแปลงการเมืองสู่ประชาธิปไตย
ประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 1980 เคยอยู่ในลำดับต้น ๆ ของตารางการจัดอันดับเสรีภาพสื่อในเอเซีย หลังจากเหตุการณ์พฤษภา 2535 (Black May 1992) สื่อมวลชนและพรรคการเมืองต่างมีความกระตือรือร้นในกระบวนการปฏิรูป เพื่อนำระบอบการเมืองไปสู่ประชาธิปไตย ในปัจจุบันระดับเสรีภาพของประเทศไทยตกมาอยู่ในกลุ่มประเทศรั้งท้าย จากสภาพการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพอย่างเข้มงวดภายใต้รัฐบาลอำนาจนิยมทหารซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารถึงสองรัฐบาลในระยะเวลาห่างกันไม่ถึง 10 ปี (รัฐประหารโดยคณะ คปค. พ.ศ.2549 และรัฐประหารโดยคณะ คสช. พ.ศ.2557) จากดัชนีขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) พบว่าหลังการรัฐประหารในปี 2549 ลำดับของประเทศไทยอยู่ที่ 135 จาก 168 ประเทศที่ได้รับการสำรวจและจัดทำดัชนี ในปี 2553 ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 153 จาก 170 ประเทศ นับเป็นสถิติที่ต่ำที่สุดเท่าที่มีการจัดอันดับมา [ii] ปี 2556 ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 135 จาก 179 ประเทศ (RSF 2014) สำหรับองค์กรฟรีดอมเฮาส์ ได้สรุปสถานภาพสิทธิเสรีภาพสื่อในประเทศไทยว่า “ไม่เสรี” (not free) ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน คือ 2556, 2557 และ 2558 (Freedom House 2015) อย่างไรก็ดี ความถดถอยของสิทธิเสรีภาพไม่ได้มาจากการควบคุมของรัฐเพียงประการเดียว แต่ยังมีปัญหาในเรื่องการสยบยอมของสื่อ และการที่สื่อบางส่วนร่วมมือกับกลุ่มการเมือง เรียกร้องให้ทหารเคลื่อนกำลังออกมายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (เกษียร เตชะพีระ 2553)
ในทางตรงกันข้าม หลังการล่มสลายของยุคระเบียบใหม่ (Order Baru) ของประธานาธิบดีซูฮาร์โต(ค.ศ.1966-1998) ซึ่งปกครองประเทศอินโดนีเซียในระบอบอำนาจนิยมมายาวนาน 32 ปี สื่อถูกปลดโซ่ตรวนเป็นสื่อเสรี พรรคการเมืองและสื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่าน ช่วง 1998-2002 ที่เรียกว่ายุคปฏิรูป (Reformasi) มีการผลักดันกฎหมายเลือกตั้งที่ทำให้ประชาชนอินโดนีเซียสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2004 ในการเลือกตั้งปี 2004 และ 2009 สื่อมวลชนอินโดนีเซียแสดงบทบาทอย่างแข็งขันในการรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ทั้งร่วมตรวจสอบให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใส บริสุทธิ์และยุติธรรม ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี ค.ศ. 2014 สื่อมวลชนอินโดนีเซียมีการแบ่งขั้วอย่างชัดเจนระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 คนที่ลงแข่งขันกัน สื่อส่วนหนึ่งได้ประกาศต่อสาธารณะว่าจะไม่เลือกข้างผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีแนวโน้มจะนำประเทศกลับไปสู่ระบอบอำนาจนิยมหรือการเมืองแนวอนุรักษนิยม แม้ว่าสิทธิเสรีภาพของสื่ออินโดนีเซียในปี 2013-2015 จะถูกจัดอยู่ในสถานะ “เสรีบางส่วน” (partly free) ก็ตาม (Freedom House 2015) สื่ออินโดนีเซียเลือกที่จะผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงสู่การเมืองระบอบประชาธิปไตยอย่างมีเสถียรภาพต่อไป
หากมองย้อนประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับสื่อในไทยและอินโดนีเซีย จะพบว่ามีมีพัฒนาการที่อาจจะไม่แตกต่างกันมากนัก สื่อมวลชนในยุคอำนาจนิยมทหารของทั้งสองประเทศ ถูกลิดรอดสิทธิเสรีภาพอย่างหนัก นักหนังสือพิมพ์จำนวนมากถูกจับกุมคุมขัง สังหาร หนังสือพิมพ์ถูกปิดได้เสมอหากแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำและสถานการณ์บ้านเมือง ในประเทศไทยสื่อกระจายเสียงถูกรัฐใช้เป็นเครื่องมือของระบอบเผด็จการทหาร ทำหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อให้การปกครองแบบพ่อขุนอุปถัมภ์ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ.2500-2506) สื่อของรัฐเผยแพร่ข่าวสารด้านการพัฒนา ช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีให้รัฐ จากรากฐานที่ระบอบทหารสร้างมาตั้งแต่ทศวรรษ 2500 ทำให้สื่อกระจายเสียงกลายเป็นเครื่องมือรับใช้รัฐ (servant of the state) มีวัฒนธรรมแบบราชการ เกาะติดใกล้ชิดแหล่งข่าวภาครัฐ
ประเทศอินโดนีเซียในสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต ระบอบการเมืองถูกขนานนามว่า “ประชาธิปไตยแบบนำวิถี” (guided democracy) อำนาจการบริหาร นิติบัญญัติ และการประกอบธุรกิจสำคัญอยู่ในมือกองทัพ เครือข่ายทหาร และบุคคลใกล้ชิด แม้ว่าสื่อมวลชนจะมีบทบาทมากในการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดนีเซียหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และยึดมั่นในหลักการปัญจศีล (Pancacilla) ตามที่กลุ่มผู้ก่อตั้งประเทศวางรากฐานไว้ แต่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมของนายพลซูฮาร์โต หนังสือพิมพ์ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายความมั่นคงของรัฐร่วมกับกองทัพ หนังสือพิมพ์จึงต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง มิเช่นนั้น จะถูกเจ้าหน้าที่รัฐเซ็นเซอร์ หรือถูกเรียกไปอบรม และท้ายสุดอาจจะถูกปิดกิจการ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสื่ออินโดนีเซีย สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า “สื่อสิ่งพิมพ์เป็นผู้วางรากฐานให้กับชุมชนจินตกรรมของชาติ และสื่อกระจายเสียงเป็นเครื่องมือของรัฐในการสร้างชาติ” (Hill 2005)
ปรากฏการณ์ที่ระบอบการเมืองในประเทศไทยเดินไปในทิศทาง “ประชาธิปไตยไม่เสรี” (illiberal democracy) หรือ “ประชาธิปไตยพลิกกลับ” (reversal of democracy) ในขณะที่อินโดนีเซียขยับไปสู่ “ประชาธิปไตยเสรี” (liberal democracy) ถูกจับตามองจากนักวิชาการรัฐศาสตร์และสื่อสารการเมืองในเอเชียและโลกตะวันตกว่า เหตุใดสื่อมวลชนไทยที่เคยสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม จึงเปลี่ยนไปในขั้วตรงข้าม ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาระดับองค์กรหรือระดับโครงสร้างของระบบสื่อ หรือเกิดจากนักวิชาชีพที่ไม่อาจทำงานอย่างอิสระตามหน้าที่ของสื่อมืออาชีพ หรือเป็นปัญหาอุดมการณ์การเมืองของสื่อ หรือว่าเป็นปัญหาเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมสื่อที่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการแข่งขันข้ามประเภทสื่อและการดำเนินธุรกิจแบบ multi-platform ที่ทำให้สื่อบางส่วนต้องหันไปแสวงหาการสนับสนุนจากอำนาจรัฐในฝ่ายอนุรักษนิยม/จารีตนิยม
ในปี 2010 โจชัว เคอร์แลนท์ซิค (Joshua Kurlantzick) ได้เขียนบทความเรื่อง “ประชาธิปไตยที่ตกอยู่ในอันตราย” (Democracy in Danger) โดยมีไทยเป็นตัวแบบของกระแสประชาธิปไตยพลิกกลับ (reversal of democracy) เกษียร เตชะพีระ (2553) สรุปสาระสำคัญของบทความไว้ว่า ประชาธิปไตยพลิกกลับ มีที่มาจากความไม่มั่นใจอันเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ (เช่น ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540) ทำให้ชนชั้นกลางหันไปเลือกข้างการเมืองอนุรักษนิยม ชนชั้นกลางขัดแย้งกับผู้นำอำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้ง (นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร) และพันธมิตรชนชั้นล่างของเขา ชนชั้นกลางจึงหันไปสนับสนุนวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในการโค่นล้มรัฐบาล ส่งผลให้เกิดประชาธิปไตยพลิกกลับ เกิดระบอบประชาธิปไตยแบบที่ชนชั้นนำจารีตครอบงำ
หลังจากนั้น โจชัว เคอร์แลนท์ซิค (Kurlantzick 2013) ได้วิเคราะห์เรื่องประชาธิปไตยพลิกกลับไว้ในหนังสือ “ประชาธิปไตยถดถอย : การปฏิวัติต่อต้านประชาธิปไตยแบบตัวแทนของชนชั้นกลางและความตกต่ำทั่วโลกของรัฐบาลแบบตัวแทน” (Democracy in retreat: The revolt of the middle class and the worldwide decline of representative government) โดยนำเสนอตัวอย่างจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ (new democracy) ที่การเมืองตกอยู่ในสภาวะต่อต้านประชาธิปไตยแบบตัวแทน ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าการปฏิวัติประชาชนในเหตุการณ์อาหรับสปริงที่ตูนีเซีย หรือในอียิปต์ หรืออีกหลายแห่งในโลก ล้วนแล้วแต่กำลังอยู่ในอาการถดถอยหรือย่ำเท้ากับที่ สถิติของฟรีดอมเฮาส์ระบุว่า ในปี 2010 จำนวนประเทศที่ปกครองแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 1995 กระแสเสรีภาพถดถอยพร้อมกับที่ระบอบอำนาจนิยมฟื้นตัวกลับมาใหม่กลายเป็นกระแสไปทั่วโลก ในกรณีประเทศไทย เคอร์แลนท์ซิคชี้ให้เห็นว่า หลังจากการปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่สี่แยกราชประสงค์ในปี 2010 (พ.ศ.2553) กลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้าเริ่มหมดหวังกับระบอบประชาธิปไตย บางคนลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ นักข่าวบางคนต้องปิดปากเงียบเพราะบรรณาธิการมีความหวาดกลัว คนที่ต้องการเจาะลึกสาเหตุว่าทำไมประชาธิปไตยจึงเดินถอยหลังกลายเป็นระบอบอำนาจนิยมอ่อน ๆ (soft authoritarianism) ก็เกรงว่าการเสนอความจริงอาจถูกกล่าวหาว่าไม่รักชาติ หรือถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 (หนังสือของเคอร์แลนท์ซิคตีพิมพ์ก่อนการรัฐประหารปี 2014)
เคอร์แลนท์ซิค (Kurlantzick 2013) กล่าวถึงตัวอย่างของประเทศอินโดนีเซียว่า มีข้อแตกต่างจากประเทศไทยอย่างสำคัญ คือ หลังยุคซูฮาร์โต รัฐบาลเปลี่ยนเป็นฝ่ายบริหารที่เป็นพลเรือน ซึ่งมีอำนาจควบคุมเหนือกองทัพหลังการเปลี่ยนผ่านระบอบการเมืองเข้าสู่ประชาธิปไตยในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ก่อนหน้านั้น กองทัพมีอำนาจทางการเมืองสูงมาก ในสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต กองทัพทำงานภายใต้ปรัชญา 2 หน้าที่ (dual function) ซึ่งกำหนดให้ทหารมีภารกิจด้านความมั่นคง (1) ร่วมกับภารกิจด้านการเมืองภายในประเทศ (2) ทหารในจังหวัดห่างไกล เช่น อาเจะห์ ติมอร์ตะวันออก มีสถานะเหมือนเป็นเจ้าผู้ปกครอง การปฏิรูปในช่วงเปลี่ยนผ่านสามารถลดอำนาจของกองทัพลงได้สำเร็จ เช่น การไม่ให้ทหารเล่นการเมือง การถอนกองกำลังทหารออกจากพื้นที่ความขัดแย้ง หรือการอบรมนายทหารรุ่นใหม่ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
การปฏิรูปกองทัพและระบบบริหารให้เป็นระบบพลเรือนที่มีอำนาจเหนือกองทัพ (civilianization หรือ civilian supremacy) ของอินโดนีเซียได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย เช่น ผู้นำการเมือง รวมถึงประธานาธิบดีสุซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono-SBY) ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในยุคปฏิรูป แม้ว่ายุทโธโยโนจะเป็นนายทหารระดับนายพลจากกองทัพ แต่เขาเป็นทหารปัญญาชน เมื่อเข้าสู่การเมืองระบบเลือกตั้งในช่วงเปลี่ยนผ่าน เขาก็ยอมรับการปกครองด้วยวิธีการแบบพลเรือน ในตอนนั้น รัฐบาลและสภามีการปรับโครงสร้างระบบการเมืองครั้งใหญ่ ทำให้ประชาชนที่ไม่พอใจกองทัพหันมาไว้ใจกองทัพมากขึ้น
ผู้นำใหม่ในระบบพลเรือนพยายามโน้มน้าวใจกองทัพว่า การจะรักษาเกียรติภูมิและชื่อเสียงของกองทัพไว้ให้ได้ กองทัพต้องถอนตัวออกจากการเมืองให้หมด ไม่ว่าด้านนิติบัญญัติ การปกครองท้องถิ่น ผลประโยชน์ที่เป็นอภิสิทธิ์ของกองทัพ และการครอบงำทางธุรกิจ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายและมาตรการสำคัญที่ใช้ในการลดอำนาจของกองทัพ อาทิ การแยกกองทัพกับตำรวจออกจากกัน ซึ่งก่อนหน้านั้น ตำรวจอยู่ใต้การบังคับบัญชาของกองทัพ ภารกิจใหม่ของตำรวจคือการรักษาความสงบภายในและการต่อต้านการก่อการร้าย มาตรการสุดท้ายที่มีความสำคัญยิ่งอีกมาตรการหนึ่งคือการไม่ให้กองทัพมีที่นั่งในฐานะตัวแทนประชาชนในสภาที่ปรึกษาประชาชน (MPR People’s Consultative Assembly) และเพื่อแลกเปลี่ยนกับการตัดลดอำนาจหน้าที่และผลประโยชน์ต่างๆ ของกองทัพ รัฐบาลเสนอที่จะชดเชยด้วยการเพิ่มงบประมาณกลาโหมให้กับกองทัพ ซึ่งรัฐบาลได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ โดยเพิ่มงบประมาณให้ 2 เท่าระหว่างปี 2003-2010
อย่างไรก็ดี มีข้อแลกเปลี่ยนที่ยอมรับได้ยากและดูย้อนแย้งในสายตานักสิทธิมนุษยชน คือการไม่ลงโทษผู้กระทำผิด (impunity) ในคดีบังคับบุคคลให้สูญหาย การสังหารผู้นำแรงงาน และนักสิทธิมนุษยชน รัฐบาลได้ส่งสัญญาณให้กองทัพรู้ว่า แม้จะมีกฎหมายและกลไกสิทธิมนุษยชนใหม่ๆ เกิดขึ้นจากการปฏิรูปหลังปี 1998 ผู้นำทหารและนายทหารระดับสูงจะไม่ถูกฟ้องร้องในคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ก่อไว้ที่ติมอร์ตะวันออก อาเจะห์ และปาปัว หรือคดีปราบปรามคอมมิวนิสต์ กลุ่มอิสลาม หรือฝ่ายต่อต้านอื่นๆ ในสมัยที่ประธานาธิบดีซูฮาร์โตอยู่ในอำนาจ เคอร์แลนท์ซิคเห็นว่า ข้อแลกเปลี่ยนต่างๆ ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพอาจจะมีเสียงคัดค้านจากสังคม โดยเฉพาะจากประชาชนที่เป็นเหยื่อที่ถูกกระทำจากกองทัพ แต่การจัดระเบียบกองทัพให้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือนจนสำเร็จโดยอาศัยเงื่อนไขที่เหมาะสมและเป็นจริง กลับเป็นสิ่งที่หลายประเทศซึ่งกำลังปรับเปลี่ยนสู่ระบอบประชาธิปไตยควรดูเป็นแบบอย่าง เช่น ประเทศอียิปต์ (Kurlantzick 2013)
บทบาททางการเมืองของสื่อ
มาร์ค ทอมสัน (Mark Thompson 2013) นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARC) แห่งมหาวิทยาลัยซิติ้ยูนิเวอร์ซิตี้ ฮ่องกง ซึ่งศึกษาวิจัยบทบาทของสื่อกับการเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตย ได้วิพากษ์วิจารณ์สื่อในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า มีความเชื่อในบทบาทต่อต้านคอร์รัปชั่นและสังคมธรรมาภิบาลมากจนเกินเลย ทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยเกิดการถดถอย ทอมสันชี้ว่าในหลายกรณีสื่อมีส่วนผลักดันให้เกิดการถอดถอน หรือการชุมนุมขับไล่ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น กรณีของอินโดนีเซียที่มีการถอดถอนประธานาธิบดีอับดุลเราะห์มัน วาฮิด ในปี 2001 หรือกรณีของฟิลิปปินส์ที่มีการถอดถอนประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา ในปี 2001 และกรณีประเทศไทย ในปี 2006 และ 2014 ที่มีการเดินขบวนชุมนุมของประชาชน จนนำไปสู่การรัฐประหารโดยกองทัพ จะเห็นได้ว่าอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ยังสามารถยืนอยู่ในวิถีประชาธิปไตยได้โดยที่กองทัพไม่เข้าแทรกแซง แต่ประเทศไทยกลับหลุดออกนอกเส้นทางประชาธิปไตย
ทอมสันตั้งคำถามกับบทบาทของสื่อมวลชนในสังคมที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยว่า สื่อที่เคยเป็นสื่อเสรี (liberal) ต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยม ต่อต้านคอร์รัปชั่น และความไม่ชอบธรรมของผู้นำทหาร จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย (democratic transition) เหตุใดจึงได้มีเป้าหมายในการส่งเสริมการสร้างธรรมาภิบาล (good governance) จนกลายเป็นการต่อต้านระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง
ในบทความเรื่อง “Does the watchdog need watching?” (2013) ของทอมสัน เขาตั้งข้อสงสัยว่าสื่อที่มีทีท่าไม่เป็นประชาธิปไตยสมควรต้องได้รับการตรวจสอบด้วยหรือไม่ เนื่องจากเขามองว่า สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่มักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแบบเหมารวมว่าซื้อเสียงและคอร์รัปชั่น ส่งผลให้รัฐบาลในระยะเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยขาดความชอบธรรมทางการเมือง สื่อที่วิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรง (hard-hitting) มักจะไม่สนใจเรื่องความสมดุลหรือความเป็นธรรมของทัศนะวิจารณ์ที่เสนอออกไป
สำหรับกรณีประเทศไทย ทอมสันวิเคราะห์บทบาททางการเมืองของสื่อไว้ว่า รัฐบาลทักษิณถูกโค่นล้มไปเพราะวิถีทางนอกรัฐสภา จากกลุ่มฝ่ายค้านที่ประกอบด้วยชนชั้นกลางกรุงเทพ และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่มีสนธิ ลิ้มทองกุล แห่งเครือผู้จัดการ เป็นแกนนำ ร่วมกับสื่ออื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง วาทกรรมหลักที่ใช้ในการรณรงค์ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ คือเรื่องคอร์รัปชั่น จากปรากฏการณ์ในปี 2548-2549 ที่สื่อทำงานอย่างแข็งขันในการขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นำไปสู่สิ่งที่เขาเรียกว่า “การแบ่งขั้วของสื่อในระบบที่ไม่เสรีและสงครามสื่อ” (polarized (il)liberalism and media wars) ทอมสันเห็นว่าสื่อมวลชนทำหน้าที่เป็นผู้กระทำทางการเมืองโดยตรง (political agent) แทนที่จะเป็นสุนัขเฝ้าบ้านในระบบสื่อเสรี (watchdog) ความน่าเชื่อถือของสื่อในกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยถูกลดทอนลงไป เพราะแสดงบทบาทออกหน้าในการเลือกข้างทางการเมือง – ด้วยข้ออ้างว่าเป็นการต่อต้านรัฐบาลที่คอร์รัปชั่นและมีเจตนาล้มล้างสถาบันกษัตริย์
ประเทศไทยในช่วงที่เกิด “การแบ่งขั้วของสื่อในระบบที่ไม่เสรีและสงครามสื่อ” นั้น ระบบสื่อเสรีได้เปลี่ยนสภาพเป็นการแบ่งขั้วของสื่อในระบบการเมืองพหุนิยม (polarized pluralism) ตามการจำแนกประเภทของ Hallin and Mancini (2004) การแบ่งขั้วเกิดขึ้นกับสื่อและพรรคการเมืองควบคู่กันไป กล่าวคือ สื่อที่มีอุดมการณ์เดียวกับพรรคการเมืองใด ก็เกาะกลุ่มกับพรรคการเมืองที่อยู่ในขั้วเดียวกัน เช่น สื่อเสื้อเหลืองเป็นขั้วที่ต่อต้านรัฐบาลทักษิณ สื่อในกลุ่มนี้ให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน สื่ออีกขั้วคือสื่อเสื้อแดงที่ให้การสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณและรัฐบาล การแบ่งขั้วของพรรคการเมืองที่จับคู่กับสื่อที่แบ่งขั้วมีลักษณะ “จับคู่ทางการเมืองระหว่างสื่อกับพรรค” (political parallelism) ทว่า ปรากฏการณ์ของประเทศไทยมีลักษณะไม่เสรีและไม่เป็นประชาธิปไตยร่วมอยู่ด้วยอย่างเห็นได้ชัด (Thompson 2013)
ทอมสันวิเคราะห์ต่อไปอีกว่า ในการเป็นผู้กระทำการทางการเมืองโดยตรง (political agent) กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เข้าสู่สงครามสื่อหลังจากการรัฐประหารในปี 2549 และหลังจากการเลือกตั้งในปี 2550 พวกเขาทำให้สื่อกลายเป็นผู้เล่นสำคัญอีกครั้ง ด้วยการชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาล และสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ในปี 2551 เกิดการปฏิวัติหน้าจอโทรทัศน์ เมื่อผู้นำเหล่าทัพปรากฏตัวพร้อมกันและประกาศให้รัฐบาลลาออก การรัฐประหารทางอากาศในครั้งนั้นสิ้นสุดลงเมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ ยึดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพรรคพลังประชาชนกระทำผิด ว่าจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งและศาลสั่งให้ยุบพรรค มีผลทำให้รัฐบาลสิ้นสภาพไปในทันที
มาร์ค ทอมสัน ได้ชี้ให้เห็นว่า สงครามสื่อเสื้อสีของไทยนั้น อาจจะมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าใครคือคนดูหรือคนอ่านของสื่อนั้น เช่น เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน ก็แยกเป็นเหลืองและแดง สื่อโทรทัศน์กระแสหลักที่มีอยู่ 6 ช่อง ส่วนใหญ่อยู่ข้างรัฐบาลหรือกลุ่มที่มีอำนาจสูงสุดในขณะนั้น เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลในปี 2552 ได้พยายามควบคุมสื่อเสื้อแดงในภาคเหนือและภาคอีสาน แต่ก็ทำไม่สำเร็จ กลุ่มเสื้อแดงสามารถใช้สื่อในการระดมคนมาชุมนุมใหญ่ในปีต่อมา อีกทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถสื่อสารกับผู้ชุมนุมผ่านเวทีปราศรัยโดยใช้โปรแกรมสไกป์ เมื่อรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่สามารถใช้สงครามสื่อจัดการกับกลุ่มต่อต้านได้ จึงเปลี่ยนมาใช้กำลังของกองทัพในการปราบปรามผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์และถนนราชดำเนินแทน (Thompson 2013)
กรณีของอินโดนีเซีย สื่อก็แสดงบทบาทในการขับไล่ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน ทอมสันวิเคราะห์ว่า ในปี 2001 สมัยประธานาธิบดีอับดุลเราะห์มัน วาฮิด (ประธานาธิบดีคนที่ 2 ในช่วงเปลี่ยนผ่านหลังยุคซูฮาร์โต) ถูกกล่าวหาว่ามีการคอร์รัปชั่น 2 กรณีใหญ่ๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่สื่อนำมาโจมตีอย่างหนัก และทำให้สภาตรวจสอบที่มาที่ไปของข้อกล่าวหาว่าประธานาธิบดีมีส่วนเกี่ยวข้องกับ KKN (korupsi, kolusi, nepotisme – การคอร์รัปชั่น การฉ้อฉล และการอุปถัมภ์เครือญาติ) ซึ่งเท่ากับเป็นการละเมิดคำปฏิญาณตนในการรับตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อเลี่ยงการลงมติถอดถอนของสภา ประธานาธิบดีวาฮิดใช้อำนาจผู้นำฝ่ายบริหารร้องขอให้รัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง สุซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน ประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อนำไปสู่การยุบสภา แต่ยุทโธโยโนปฏิเสธคำขอของประธานาธิบดี ทำให้สภาเสนอญัตติถอดถอน (impeachment) กดดันให้ประธานาธิบดีวาฮิด ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งกลางสภา หลังจากดำรงตำแหน่งได้ประมาณ 2 ปี (จากวาระ 5 ปี)
หลังจากวิกฤติเรื่องการถอดถอนประธานาธิบดีวาฮิด สื่อได้กลับไปแสดงบทบาทในฐานะเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน ให้สภาทำหน้าที่เดินหน้าปฏิรูปการเมือง ขณะที่ประธานาธิบดีเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี ที่ได้รับเลือกจากสภาแทนประธานาธิบดีวาฮิด ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่จนครบวาระในปี 2004 ระบอบการเมืองของอินโดนีเซียจึงเริ่มที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้น (Thompson 2013) หลังจากนั้น มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงทุก ๆ 5 ปี ในเดือนกรกฎาคม เริ่มตั้งแต่ปี 2004, 2009, 2014 จนถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2019
กรณีของอินโดนีเซียนั้น ข้อกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมือง ระหว่างสถาบันอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ในช่วงการปฏิรูปเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย [iii] สาเหตุที่แท้จริงคือความไม่พอใจของกองทัพที่กำลังจะถูกรัฐบาลปฏิรูป ในระหว่างการประชุมสภาเพื่อพิจารณาญัตติถอดถอนประธานาธิบดีวาฮิด กองทัพมีคำสั่งให้ทหารกว่า 40,000 คน เตรียมพร้อมในที่ตั้ง เพื่อกดดันให้ประธานาธิบดียินยอมลาออก เมื่อถอดถอนประธานาธิบดีวาฮิดแล้ว สภาที่ปรึกษาประชาชนเลือกเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี เป็นประธานาธิบดีแทนประธานาธิบดีวาฮิด เพราะรู้ว่าเธอเชื่อในการเมืองแบบอนุรักษนิยมและจะประสานประโยชน์กับทหารได้ (แม้พรรคเดโมแครตอินโดนีเซียเพื่อการต่อสู้ (PDI-P) ของเธอจะถูกทหารเล่นงานหลายครั้งในอดีตก็ตาม) แต่กระบวนการปฏิรูปที่ริเริ่มโดยสภาตั้งแต่ปี 1999 ก็เดินหน้าต่อไปได้ตลอดวาระของประธานาธิบดีเมกาวาตี (2001-2004)
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าสื่อที่แสดงบทบาททางการเมืองอย่างสุดโต่ง ทำตัวเป็นเอเย่นต์ทางการเมืองเสียเอง สามารถเปลี่ยนแปลงรัฐบาล/ผู้นำได้อย่างฉับพลันทันที วาทกรรมที่สื่อใช้ว่ากระทำการไปเพื่อปกป้องและส่งเสริมประชาธิปไตย ด้านหนึ่งก็กลายเป็นการวางระเบิดทำให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอ อีกด้านหนึ่ง ก็เพิ่มอำนาจให้กับสื่อเป็นอย่างมาก ทว่าในกรณีประเทศไทย การแบ่งขั้วที่ร้าวลึกโดยไม่หวนกลับสู่บทบาทการเป็นสุนัขเฝ้าบ้านก็ทำให้สื่อสูญเสียความน่าเชื่อถือ ความเป็นตัวของตัวเอง และอิสรภาพของฐานันดรที่สี่ หรืออาจเป็นเพราะสื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสงครามแย่งชิงอำนาจเสียเองจนถอนตัวไม่ได้ (แปรสภาพเป็นพรรคการเมืองกลายๆ) นอกจากนี้ สงครามสื่อของไทยยังนำไปสู่การหาทางออกนอกวิถีทางประชาธิปไตยซ้ำซาก จากตัวอย่างที่รัฐบาลส่งทหารออกปราบปรามผู้ชุมนุมในปี 2010 และการยึดอำนาจโดยคณะรัฐประหาร คสช. ในปี 2014 ข้อวิเคราะห์ของทอมสันชี้ให้เห็นว่าสื่อแสดงบทบาททางการเมืองแบบไม่เสรี ทำให้ประชาธิปไตยถดถอย
ในกรณีของอินโดนีเซีย กลับพบความแตกต่างที่น่าสนใจ กล่าวคือ ในช่วงการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ (1999-2002) สื่ออินโดนีเซียออกไปยืนแถวหน้าเมื่อสถานการณ์การเมืองอยู่ในสภาวะวิกฤติ สื่อแสดงบทบาทผู้กระทำทางการเมือง แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย สื่อก็ถอนตัวออกจากบทบาทผู้กระทำ หันกลับไปสู่ความเป็นสื่อมืออาชีพ ปล่อยให้สถาบันการเมืองที่เป็นทางการ เช่น สภา พรรคการเมือง และฝ่ายบริหาร ทำหน้าที่ปฏิรูปการเมืองร่วมกับพลังการเมืองอื่น ส่วนสื่อแสดงบทบาทเป็นสุนัขเฝ้าบ้านเพื่อตรวจสอบการทำงานของนักการเมือง พรรคการเมือง และรัฐบาล มิได้วิพากษ์วิจารณ์ในแบบที่มีเจตนาโจมตีหรือขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
หากนำแนววิเคราะห์ของเคอร์แลนท์ซิค (Kurlantzick 2013) และทอมสัน (Thompson 2013) มาวิเคราะห์บทบาทของอุตสาหกรรมสื่อของไทย จะพบว่าหนังสือพิมพ์กระแสหลักส่วนใหญ่เป็นตัวแทนของชนชั้นกลางในกรุงเทพและเมืองใหญ่ (ยกเว้นหนังสือพิมพ์แนวมหาชนนิยม เช่น ไทยรัฐ และเดลินิวส์ ที่มีฐานผู้อ่านทั้งชนชั้นกลางในเมือง ชนชั้นกลางระดับล่าง และชนชั้นล่าง) นักหนังสือพิมพ์ นักข่าว ช่างภาพ และพนักงานฝ่ายสนับสนุนอื่น ๆ เป็นนักวิชาชีพที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษา มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับชนชั้นกลาง มีชีวิตวัฒนธรรมแบบชนชั้นกลาง มีโครงสร้างของความรู้สึกนึกคิด (structure of feeling) ในแบบเดียวกับชนชั้นกลางทั่วไป สื่อมวลชนกระแสหลักจำนวนมากที่เจ้าของกิจการเป็นชนชั้นกลางระดับบนหรือชนชั้นนำที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในช่วง 2540 มีความวิตกกังวลกับสถานภาพและความไม่มั่นคงของตนเอง ต่อต้านโลกาภิวัตน์ จึงพากันหันไปสนับสนุนแนวทางอนุรักษนิยม ไปจนถึงอำนาจนอกระบบ พวกเขาไม่เชื่อมั่นในการเลือกตั้งและประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่เชื่อว่ามีทางลัดที่เป็นทางออกในการแก้ปัญหาวิกฤติทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลกว่าแนวทางประชาธิปไตยรัฐสภา
สื่อทางเลือกและสื่อที่เกิดใหม่ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เช่น เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม และสื่อออนไลน์ เป็นสื่อของชนชั้นกลางระดับล่างกลุ่มใหม่ในกรุงเทพและเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด สื่อใหม่เหล่านี้มีทัศนะทางการเมืองที่แตกต่างไปจากสื่อกระแสหลักในกรุงเทพ ทำให้เกิดการจับคู่และจับขั้วทางการเมืองจนกลายเป็นสงครามเสื้อสีของพรรคการเมืองและสื่อการเมือง ยิ่งกว่านั้น สื่อที่พยายามปกป้องรัฐบาลที่พวกเขาเลือกหรือแนวทางการเมืองที่พวกเขาศรัทธา ยังได้เข้ามาทำหน้าที่แทนพรรคการเมืองซึ่งไม่อาจเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างที่ควรจะทำ เพราะถูกตัดสิทธิทางการเมืองผ่านกระบวนการตุลาการภิวัตน์ และเมื่อเกิดรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 สื่อทางเลือกเหล่านี้ถูกควบคุมและปราบปรามอย่างหนักจากคำสั่งของคณะรัฐประหาร คสช. ในจังหวะเช่นนี้เอง สื่อของชนชั้นกลางในเมืองได้ก้าวข้ามเส้นแบ่งระหว่างการเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่สื่อสารกับการเป็นพรรคการเมืองไปสู่การเมืองนอกวิถีทางประชาธิปไตย
เมื่อสื่อผันตัวมาเป็นเอเย่นต์ทางการเมือง ทำหน้าที่ระดมมวลชน สื่อจะเป็นตัวแทนของมวลชนลักษณะไหนในเวทีนอกสภา แรงกดดันของสื่อมวลชนที่ไม่เสรีและไม่เป็นประชาธิปไตยจะนำพามวลชนไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร นี่จึงเป็นคำถามที่ท้าทายอุตสาหกรรมสื่อ นักวารสารศาสตร์ และสังคมไทยอย่างยิ่ง
28 สิงหาคม 2563
หมายเหตุ: บทความนี้เรียบเรียงและปรับปรุงจากส่วนที่ 2 บทที่ 2 สื่อกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จากงานวิจัยเรื่องสื่อมวลชนในอาเซียน: ศึกษากรณีประเทศไทยและอินโดนีเซีย (2559)
อ้างอิง
- เกษียร เตชะพีระ (2553) สงครามระหว่างสี: ในคืนวันอันมืดมิด. กรุงเทพ: Openbooks.
- Hallin, Daniel C. and Paolo Mancini, 2004: Comparing Media Systems: Three Models of Media and Politics, Cambridge: Cambridge University Press.
- Hill, David, T. 2007: The Press in New Order Indonesia, Equinox Publishing: Jakarta.
- Kurlantzick, Joshua, 2013: Democracy in Retreat: The Revolt of the Middle Class and the Worldwide Decline of Representative Government, New Haven and London: Yale University Press.
- McCargo, Duncan, 2012: “Partisan Polyvalence: Characterizing the Political Role of Asian
- Media,” in in Daniel C. Hallin and Paolo Mancini, eds., Comparing Media Systems Beyond the Western World, Cambridge: Cambridge University Press, 201-223.
- McDonald, Hamish, 2015: Demokrasi: Indonesia in the 21st Century, New York: Palgrave Macmillan.
- Thompson, Mark, R. 2013: “Does the Watchdog need Watching? Transitional Media Systems in Southeast Asia, Southeast Asia Research Centre (SEARC) Working Paper Series, City University of Hong Kong, Hong Kong SAR.
[i] ประเทศเนเธอร์แลนด์ยึดครองหมู่เกาะต่าง ๆ ในทะเลซุนดา เช่น สุมาตรา ชวา สุลาเวสี ผ่านบริษัทดัทช์อีสต์อินเดีย (VOC) ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 16 และเข้าปกครองอินโดนีเซียโดยตรงในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ขบวนการต่อสู้เพื่อปลดแอกประเทศเริ่มขึ้นราวปี 1911 ซูการ์โนและฮัตตาประกาศเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2488 (1945) แต่กองทัพดัทช์หวนกลับมายึดครองอินโดนีเซียซ้ำ การต่อสู้ยืดเยื้อจนถึงปี 2492 (1949) เนเธอร์แลนด์จึงยอมเจรจาถอนกำลังเนื่องจากได้รับแรงกดดันอย่างมากจากฝ่ายสัมพันธมิตร
อินโดนีเซียมีการปกครองแบบสาธารณรัฐ ซูการ์โนและฮัตตาผู้ก่อตั้งขบวนการปลดปล่อยประเทศ รับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีหลังเอกราช ลำดับประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ได้แก่ 1. ซูการ์โน (1950-1966) ช่วงก่อตั้งประเทศ 2. ซูฮาร์โต (1967-1998) ช่วงเผด็จการทหาร 3. ฮาร์บีบี (1998-1999) 4. วาฮิด (1999-2002) 5.เมกะวาติ ซูการ์โนบุตรี (2002-2004) ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในยุคปฏิรูป 6. สุซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน (2004-2009, 2009-2014) 7. โจโก วิโดโด (2014-2019, 2019 -) ช่วงสถาปนาประชาธิปไตยหลังยุคปฏิรูป ซึ่งประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง
[ii] ลำดับที่ลดลงในปี 2553 ของไทย มีสาเหตุจากความรุนแรงทางการเมือง มีนักข่าวถูกยิงเสียชีวิต 2 คน คือ นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ นักข่าวญี่ปุ่น และนายฟาบิโอ โปเลงกีช่างภาพสารคดีจากอิตาลี และมีนักข่าวไทยและต่างประเทศถูกยิงบาดเจ็บ 15 คนระหว่างปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวทหารปราบปราม “กลุ่มเสื้อแดง” ที่ชุมนุมประท้วงที่กรุงเทพ ทำให้ดัชนีตกลงมา 23 อันดับ (2010 World Press Freedom Index 2010)
[iii] ประธานาธิบดีวาฮิดถูกกล่าวหาว่าหมอนวดของเขากู้เงินจากองค์กรบูล็อก (Bulog) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านโลจิสติกส์เกี่ยวกับการรักษาระดับราคาอาหารของรัฐ เป็นจำนวน 35 ล้านรูเปียะห์ (3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) และอีกเรื่องคือการรับเงินบริจาคจำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐจากสุลต่านแห่งบรูไน และนำเงินไปเก็บไว้ในกองทุนส่วนตัว แต่เบื้องหลังทางการเมืองคือประธานาธิบดีวาฮิดได้เสนอความคิดที่เสรีนิยมเกินกว่าหลายฝ่ายจะยอมรับได้ เช่น เรื่องการเสนอให้สิทธิการปกครองตนเองแก่อาเจะห์ การให้สถาบันอุดมศึกษาสอนลัทธิมาร์กซ์ได้ หลังจากถูกห้ามมาตลอดสมัยซูฮาร์โต รวมทั้งการปลดนายพลวิรันโตออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เมื่อมีรายงานว่านายพลวิรันโตเป็นผู้รับผิดชอบการใช้ทหารปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนชาวติมอร์ตะวันออก ก่อนที่จะมีการลงประชามติแยกตัวเป็นอิสระจากอินโดนีเซีย (McDonald 2015)
