ข้อมูลบิดเบือน (disinformation) ดูจะเป็นคำศัพท์ที่มีการกล่าวถึงกันมากขึ้นไม่แพ้คำว่าข่าวปลอม (fake news) ซึ่งต่างก็แพร่กระจายผ่านสื่อสังคมจำนวนมหาศาล สำหรับข้อมูลบิดเบือนและข่าวปลอมเหมือนจะมีการถกเถียงกันอยู่ในทางวิชาการว่ามันเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร บ้างก็ว่าข่าวปลอมเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลบิดเบือน บางสำนักก็ว่าข้อมูลบิดเบือนกับข่าวปลอมเป็นเรื่องเดียวกัน แต่เอาเข้าจริงแล้วการเลือกใช้ข้อมูลบิดเบือนหรือข่าวปลอมเพื่อทำความเข้าใจต่อปรากฎการณ์ทางสังคมนั้นก็ขึ้นอยู่กับการให้คำนิยามของแต่ละคนและบริบทในการใช้ของแต่ละคน
ข้อมูลบิดเบือนจากยุคสงครามโลกสู่สังคมดิจิทัล
ในบทความนี้ผู้เขียนเลือกใช้ข้อมูลบิดเบือนตามแนวคิดดของ Claire Wardle และ Hossein Derakshan ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือเรื่อง Information disorder : Toward an interdisciplinary framework for research and policy making เผยแพร่ในปี 2017 แนวคิดของนักวิชาการทั้งสองคนดูจะได้รับการอ้างอิงถึงค่อนข้างมากในปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้แทบจะไม่กล่าวถึงข่าวปลอม แต่เลือกสร้างและอธิบาย (named) ปรากฎการณ์ใหม่โดยเลือกใช้คำว่า “information disorder” หรือ “ภาวะไร้ระเบียบของข้อมูลข่าวสาร” ซึ่ง “ข้อมูลบิดเบือน” เป็นหนึ่งในสามประเภทของภาวะไร้ระเบียบของข้อมูลข่าวสาร ส่วนอีกสองประเภท คือ “ข้อมูลผิดพลาด” (misinformation) หมายถึง ข้อมูลข่าวสารที่ผิดพลาด ไม่ได้ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดอันตราย อาจปรากฏในรูปของคำบรรยายภาพ วัน เวลา สถิติ และการแปลที่ไม่ถูกต้องหรือการเสียดสี และ “ข้อมูลปองร้าย” (malinformation) หมายถึง ข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริงที่มีการเผยแพร่ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อทำร้ายหรือคุกคามต่อเป้าหมายมากกว่าที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังเช่นข้อมูลลับ (leak) บางอย่างของบุคคลหรือองค์กร เป็นต้น
สำหรับข้อมูลบิดเบือนนั้น เป็นข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จโดยมีเจตนาสร้างขึ้นเพื่อทำร้าย/คุกคาม/ทำลายความน่าเชื่อถือของบุคคล กลุ่ม สังคม องค์กร หรือประเทศที่เผยแพร่ในรูปแบบ (format) ต่าง ๆ หรือแพร่กระจายในรูปแบบข่าวลือที่มีเจตนาสร้างขึ้น ข้อมูลบิดเบือนถูกนำมาใช้ในฐานะกลยุทธ์ที่จะก่อให้เกิดอันตรายแก่เป้าหมาย
ในความเป็นจริงแล้วข้อมูลบิดเบือนไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่พร้อมกับความเติบโตของสื่อสังคม (social media) แต่มันเกิดขึ้นมาคู่กับอารยธรรมมนุษย์มาเนิ่นนาน ดังเช่นการปล่อยข่าวเพื่อสร้างความสับสนแก่ศัตรูในการทำสงครามของเหล่าวีรบุรุษต่างๆ ที่ได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์ของแต่ละชนชาติ เพียงแต่ช่องทางในการเผยแพร่นั้นแตกต่างจากปัจจุบันนี้
ในโลกทัศน์ของยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกาบันทึกว่า ข้อมูลบิดเบือนได้รับการบัญญัติขึ้นมาในสมัยโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin, 1878-1953) อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตในช่วงปี 1922-1952 ซึ่งมีการตั้งหน่วยงานหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า KGB Black Propaganda Department เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการใช้ข้อมูลบิดเบือนเพื่อโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองในยุคดังกล่าว แต่จะว่าไปแล้วฟากฝั่งประเทศประชาธิปไตยที่นำโดยสหรัฐอเมริกาและอังกฤษก็ใช้ข้อมูลบิดเบือนเพื่อประโยชน์ทางการเมืองเช่นกัน
ข้อมูลบิดเบือนในบริบทความขัดแย้งยุคดิจิทัล
ปัจจุบันข้อมูลบิดเบือนได้รับความสนใจมากขึ้นเพราะมันไหลเวียนอยู่ในพื้นที่การสื่อสารในชีวิตประจำวันของเรา โดยมีสื่อสังคมเป็นช่องทางการแพร่กระจายให้ขยายออกไปในวงกว้าง ข้อมูลบิดเบือนยังถูกใช้ควบคู่กับการต่อสู้ทางทหารแบบดั้งเดิมของคู่ขัดแย้ง ซึ่ง Jovana Marovic นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย และที่ปรึกษาสหภาพยุโรป เรียกการเชื่อมประสานยุทธวิธีทางทหารว่า “สงครามลูกผสม” (hybrid warfare) ซึ่งข้อมูลบิดเบือนเป็นส่วนหนึ่งของการทำสงครามยุคใหม่ที่ว่านี้ เธอให้ความหมายของสงครามลูกผสมว่า “การผสมผสานของกิจกรรมทางทหารอันหลากหลายร่วมกับการใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อที่จะให้สังคมนั้นๆ ขาดเสถียรภาพผ่านการมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงการเลือกตั้ง การสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ การโจมตีด้วยโดรน การโจมตีทางไซเบอร์ และรวมถึงการใช้ข้อมูลบิดเบือนและข่าวปลอม”
การใช้ข้อมูลบิดเบือนถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการประกอบสร้างความจริงคู่ขนานกับการใช้ความเท็จที่นิยมมากในยุคดิจิทัลเพื่อทำลายความเกี่ยวร้อยหรือความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมให้แตกแยกเป็นกลุ่มก้อน (social fragmentation) อันเนื่องมาจากความสับสนในข้อเท็จจริง แน่นอนว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เลือกใช้กลยุทธ์การแพร่กระจายข้อมูลบิดเบือนดังกล่าวตามเป้าหมายที่เขากำหนด
ภาพ : ยศธร ไตรยศ /Realframe
ข้อมูลบิดเบือนในการต่อสู้ที่ชายแดนใต้
สงครามลูกผสมไม่ได้เกิดขึ้นกับปรากฎการณ์ความขัดแย้งในระดับโลกหรือระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ความขัดแย้งในประเทศ (internal conflict) ก็มีการใช้ข้อมูลบิดเบือนในฐานะกลยุทธ์ทางทหารด้วยดังจะเห็นได้จากความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่ต่างฝ่ายเริ่มหันมาใช้กลยุทธ์ดังกล่าวในการต่อสู้กัน โดยระยะแรกของเหตุการณ์ความไม่สงบ ข้อมูลบิดเบือนอาจปรากฏเด่นชัดในรูปของข่าวลือที่แพร่กระจายแบบปากต่อปาก เช่น ข่าวลือเรื่องการห้ามผู้คนออกมาทำมาหากินในวันศุกร์ ผู้ใดฝ่าฝืนจะได้รับการลงโทษด้วยการตัดหู ข่าวลือนี้สร้างผลสะเทือนไปทุกหย่อมหญ้านสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ไม่ชัดเจนนักว่าข้อมูลบิดเบือนนี้มาจากฝ่ายใด
ข้อมูลบิดเบือนเป็นกลยุทธ์ในการต่อสู้ระหว่างกันอย่างชัดเจนในความขัดแย้งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีสื่อสังคมเป็นช่องทางในการแพร่กระจาย ซึ่งมีคุณลักษณะเด่นตรงที่ผู้ส่งสารหรือตามแนวคิดของ Wardle และ Derakshan เรียกว่า เอเย่นต์ (agent) ซึ่งเป็นตัวแทน/เจ้าของความคิด/ผู้เผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองที่ต้องการจะเผยแพร่ความคิดหรืออุดมการณ์ของตนเองผ่านข้อมูลบิดเบือน โดยมีผู้กระทำการ (actor) ซึ่งเป็นได้ทั้งปัจเจกบุคคล กลุ่ม องค์กร เครือข่าย สถาบันทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการก็ได้ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวเองเหมือนเช่นการใช้สื่อดั้งเดิมคล้ายกับว่าเป็น “กองโจร” ที่เหมือนจะไร้ตัวตนและไร้ซึ่งพรมแดนในการส่งข้อมูลข่าวสารโจมตีกัน
Ben Decker (2019) ให้ข้อมูลไว้ในหนังสือเรื่อง Adversarial Narratives: A New Model for Disinformation ซึ่งเขาไม่ได้กล่าวถึงเอเย่นต์ แต่ใช้คำว่า “ผู้กระทำการ” หมายถึง บุคคลที่มีแรงจูงใจจากอุดมการณ์ทางการเมืองจนถึงการเงินหรือธุรกิจที่ผลักดันให้คิดสร้าง ผลิต และแพร่กระจายข้อมูลบิดเบือน โดย แบ่งผู้กระทำการออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
กลุ่มที่มีแรงจูงใจทางการเมือง
- State actor เป็นผู้กระทำการที่เป็นองค์กร/สถาบัน มีโครงสร้างการดำเนินการอย่างเป็นทางการ และมีแรงจูงใจทางการเมือง
- Grassroot troll เป็นกลุ่มผู้กระทำการทั่วไปหรือหน่วยย่อย ๆ ที่มีหรือรับเอาอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นมาเผยแพร่ มีลักษณะกระจายและยากจะหาโครงสร้างหรือศูนย์กลางอำนาจหรือจุดที่เผยแพร่อุดมการณ์นั้น ๆ
กลุ่มที่มีแรงจูงใจทางธุรกิจ
- Private influence operator เป็นองค์กร/สถาบันที่เป็นทางการและมีแรงจูงใจเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น การโฆษณาสินค้า การ boost ยอดเข้าชม การตลาด เป็นต้น
- Pure rent-seekers เป็นผู้กระทำการทั่วไปที่สร้างคิด สร้างและแพร่กระจายข้อมูลบิดเบือน ซึ่งมีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจหรือการเงิน โดยสามารถแสดงเป็นภาพ ดังนี้
ภาพที่ 1 แสดงประเภทของผู้กระทำการที่แบ่งตามแรงจูงใจและระดับของโครงสร้าง
ส่วนการแพร่กระจายข้อมูลบิดเบือนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านช่องทางสื่อสังคมนั้น มีกรณีที่น่าสนใจดังเช่นบล็อกสปอต (blogspot) ที่ชื่อว่า Pulony “ความจริงจากจังหวัดชายแดนใต้” (Thailand South Situation: The Fact You Can Trust) ที่มีการนำเสนอเนื้อหา (Message) ในรูปแบบ “บทวิเคราะห์” ที่เกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่การต่อสู้ทางกายภาพ ซึ่งบล็อกดังกล่าวทำหน้าที่อยู่ 3 ประการ ได้แก่
- การเพิ่มราคา เป็นการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อสนับสนุน ยกย่อง และชื่นชมการปฏิบัติการทางทหาร
- การลดทอนคุณค่า เป็นการลด/ทำลายความน่าเชื่อถือของบุคคล กลุ่ม และองค์กรฝ่ายตรงข้ามหรือผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติการทางทหาร
- การมุ่งโจมตีศัตรู เป็นการสร้างภาพให้อีกฝ่ายเป็นผู้ร้ายแบบตายตัว ไม่ว่าจะเป็นโจรทำร้ายเด็กและสตรี ผู้กระทำผิดกฎหมาย โจรแบ่งแยกดินแดน เป็นต้น
บล็อกดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาหลายปีแล้ว มีผู้เยี่ยมชมมากกว่า 3 ล้านครั้ง บางบทความมีผู้เยี่ยมนับแสนครั้ง ต่อมาเมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นรายบุคคลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บล็อกนี้ก็ได้รับความสนใจมากขึ้นจากการอภิปรายของนายวิโรจน์ ลักขณาอดิสร ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ที่นำเอกสารของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2563 ซึ่งเขาชี้ให้เห็นว่า กอ.รมน.ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่บล็อกดังกล่าวเพื่อจุดประสงค์สำหรับการปฏิบัติการทางข่าว (information operation: IO) ด้วยการโจมตีฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล สร้างความแตกแยก และคุกคามนักสิทธิมนุษยชน
อีกฝ่ายหนึ่งก็ใช้สื่อสังคมเป็นช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเช่นเดียวกัน โดยสามารถสังเคราะห์วัตถุประสงค์ของการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน ได้แก่
- การตอบโต้กลับ เป็นการใช้ข้อมูลบิดเบือนเป็นเครื่องมือในการตอบโต้กลับฝ่ายทหาร และรัฐไทย
- การสร้างการต่อสู้ให้ชอบธรรม เป็นการเสนอข้อมูลบิดเบือนให้เห็นว่าการปฏิบัติของฝ่ายตนเองมีความชอบธรรมในการกอบกู้แผ่นดินของบรรพบุรุษชาวมลายูมุสลิม
- การนำศาสนาเป็นเครื่องมือ เป็นการผูกโยง/ตีความแนวทางการต่อสู้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สอดคล้องกับแนวทางของศาสดาและหลักคำสอนทางศาสนาอิสลาม
ชื่อ | ประเภท | จำนวนผู้ติดตาม/สมาชิก | สโลแกน | ข้อสังเกต |
---|---|---|---|---|
แฉความเคลื่อนไหวสถานการณ์จริง BRN | เพจ | 27,049 | - | โจมตี BRN เสนอพหุวัฒนธรรมในมุมของรัฐ แชร์ข่าวจากสื่อหลัก เสนอภาพเหตุการณ์ความไม่สงบ |
ทันข่าวเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ | เพจ | 186,784 | สื่อทางเลือกเพื่อการเข้าถึงของคนชายแดนใต้ | โจมตีกลุ่ม/ขบวนการ เสนอผลกระทบของเหตุการณ์ความไม่สงบและด้านดีของทหาร |
Cerita Patani | เพจ | 27,844 | - | โจมตีทหาร รัฐไทย ตอบโต้นโยบายรัฐในจังหวัดชายแดนใต้ มีการใช้ภาษามลายูเป็นหลัก |
Jalan Ku Patani Merdeka | เพจ | 6,660 | เอกราชคือกุญแจดอกสำคัญ | โจมตีทหาร ชื่นชม BRN เสนอภาพความรุนแรงที่มุ่งเน้นเหยื่อชาวมลายู |
กลุ่มต่อต้านโจรสยาม | กลุ่มปิด | 22,000 | - | กลุ่มประกอบด้วยสมาชิกกลุ่มที่มีอุดมการณ์ต่างกันและต่างมีส่วนร่วมนำเสนอสารที่แบ่งขั้วกันชัดเจน |
กลุ่มต่อต้านมุสลิมหัวรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนใต้ | เพจ | 436,667 | เราจะขายความจริง ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดของเรา เราไม่มีอาวุธ แต่เรามีความจริงเอามาสู้ | โจมตีผู้ก่อความไม่สงบ เสนอภาพเหตุการณ์ความไม่สงบและการปฏิบัติการของหทาร แชร์ข่าวจากสื่อหลัก |
ตอบโจทย์ โจรใต้ BRN | กลุ่มปิด | 28,000 | ตอบโจทย์โจรใต้ BRN เรากล้าที่จะตอบ..เรากล้าที่จะแฉความจริงในสิ่งที่คุณยังไม่รู้ ณ จังหวัดชายแดนใต้ของรัฐไทย และกลุ่มเราพร้อมที่จะเปิดกว้างพื้นที่เพื่อการถกเถียงที่สร้างสรรค์ | โจมตีผู้ก่อความไม่สงบและ BRN เสนอภาพการปฏิบัติการของทหาร ตอบโต้ข้อมูลฝ่ายตรงข้าม |
กลุ่มต่อต้านสยามพุทธหัวรุนแรงในปาตานี | เพจ | 3,680 | - | โจมตีทหาร การใช้ประทุษวาจาในประเด็นเชื้อชาติ ศาสนา ทหาร เป็นต้น ตอบโต้ข้อมูลฝ่ายตรงข้าม |
ความจริงจากจังหวัดชายแดนใต้ | บล็อก | 3,058,803 (สถิติผู้เข้าชม) |
The fact you can trust | เสนอข้อมูลบิดเบือนในลักษณะบทวิเคราะห์ โจมตีบุคคล และองค์กรที่วิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติการทางทหาร |
การต่อสู้กันด้วยข้อมูลบิดเบือนผ่านช่องทางสื่อสังคมนั้นไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนที่แน่ชัดของผู้กระทำการ ซึ่งไม่สามารถอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลได้ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าแอดมินแต่ละฝ่ายมักอ้างความเป็นวารสารศาสตร์ (เช่น สื่อ สื่อมวลชน นักข่าว เป็นต้น) ซึ่งในทางวิชาการแล้ววารสารศาสตร์หมายถึงการเสนอ/รายงานข้อเท็จจริง ความจริง ความน่าเชื่อถือ เป็นต้น และการอ้างถึงความเป็น “คนใน” เพื่อให้ข้อมูลบิดเบือนมีความน่าเชื่อถือและน่าสนใจ ความสามารถในการหลบลอดของผู้กระทำการในสื่อสังคมนั้น แม้ผู้กระทำการไม่ได้แสดงตัวตนในที่สาธารณะแต่ก็เชื่อมโยงกับผู้รับสาร (Interpreter) ผ่านอุดมการณ์ทางการเมืองอันเดียวกัน โดยสามารถรับรู้ได้จากการตีความสารว่าช่องทางดังกล่าวเป็นของฝ่ายใดหรือสอดคล้องกับอุดมการณ์ของตนเองหรือไม่
ภาพ : ยศธร ไตรยศ /Realframe
ข้อมูลบิดเบือนกับการแบ่งขั้วของสังคม
แม้ข้อมูลบิดเบือนจะถูกใช้เป็นเครื่องมือของการโฆษณาชวนเชื่อในพื้นที่ความขัดแย้งแต่ก็ไม่ได้มุ่งที่จะดึงอีกฝ่ายให้คล้อยตามมาเป็นพวกเหมือนเช่นการโฆษณาชวนเชื่อแบบดั้งเดิมแต่เป็นการรักษาหรือกระตุ้นอุดมการณ์ดั้งเดิมของมวลชนให้คงอยู่มากกว่าดังจะเห็นได้จากการออกแบบสารที่ไม่อ้อมค้อมหรือซับซ้อนมากนัก แต่ละฝ่ายมีผู้ติดตามและสนับสนุนชัดเจน หรือไม่ก็เข้ามาแสดงความคิดเห็นตรงข้ามกับข้อมูลบิดเบือนนั้น รวมถึงการแสดงออกในการปกป้องอุดมการณ์ของตนเอง ปรากฎการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดของ Jacques Ellul นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับเทคโนโลยี สังคม และการโฆษณาชวนเชื่อหลายเล่มไม่ว่าจะเป็น The Technology Society และ Propaganda: The Formation of Men’s Attitudes เขาเสนอว่าในสังคมสมัยใหม่นั้นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับการโฆษณาชวนเชื่อคือเครือข่ายสังคม (social network) แต่มิได้เป็นไปเพื่อโน้มน้าวใจให้อีกฝ่ายคล้อยตามเปลี่ยนมาเป็นพวกตนดังเช่นเป้าหมายของการโฆษณาชวนที่เคยเป็นมาเมื่ออดีต แต่การโฆษณาชวนเชื่อในยุคนี้มุ่งเน้นการกระตุ้นความคิดและความเชื่อเดิมของกลุ่มเป้าหมายให้แสดงออกหรือเกิดการกระทำ (action) บางอย่างเกิดขึ้นมากกว่า ดังเช่นการสนับสนุนอุดมการณ์ฝ่ายตนเองและต่อต้านฝ่ายตรงข้ามผ่านการแสดงออกทางข้อความ ภาพถ่าย ภาพกราฟิก และอินเทอร์เน็ตมีมส์ของเหล่าผู้ติดตามหรือสมาชิกในกลุ่มสื่อสังคม
ดังที่นำเสนอมาก่อนหน้านี้ว่าข้อมูลบิดเบือนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมเกิดภาวะที่เรียกว่า social fragmentation ปรากฎการณ์ที่เด่นชัดที่สุดของภาวะดังกล่าว คือ การแบ่งขั้วกัน (polarization) ของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอาจทำให้แต่ละฝ่ายเห็นว่าพื้นที่กลาง (common space) สำหรับการถกเถียงเพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งร่วมกันเกิดขึ้นได้ยาก
ข้อมูลบิดเบือนในฐานะวาทกรรมคู่ตรงข้าม
หากมองในอีกกระบวนทัศน์หนึ่งกลับพบว่าสื่อสังคมเป็นช่องทางสำหรับการปะทะสังสรรค์กันทางวาทกรรมแบบคู่ตรงข้าม (binary opposition) ระหว่างสองฝ่ายในพื้นที่ความขัดแย้ง ดังจะเห็นได้จากการใช้วาทกรรมเพื่ออธิบายความจริงในเหตุการณ์ปิดล้อมและปะทะกันในพื้นที่หมู่ 4 ต.กาตอง อ.ยะหา จ.ยะลาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 โดยเจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังกันปิดล้อมบ้านหลังหนึ่งที่เชื่อว่ามีสมาชิก RKK กำลังหลบซ่อนตัวอยู่ โดยเชื่อว่าพวกเขาน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางแผนก่อเหตุร้ายในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน การปิดล้อมดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่เวลาประมาณ 13.00-18.00 น. โดยมีการปะทะกันเป็นระยะ จนในที่สุดผู้ที่หลบซ่อนตัวอยู่ภายในบ้านหลังดังกล่าวถูกวิสามัญฆาตกรรม 1 ราย นอกนั้นหลบหนีไปได้ เหตุการณ์เดียวกันนี้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่งจากการปะทะกันเป็นระยะ ๆ ส่วนบ้านหลังที่ผู้ต้องสงสัยหลบซ่อนอยู่ถูกไฟไหม้เสียหาย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ “ยิงปะทะนาน 4 ชั่วโมงยังไม่สงบ คนร้ายปักหลักสู้-เผาบ้าน จนท.เจ็บ 2 ราย สั่งปิดล้อมต่อเนื่อง” คลิก https://www.matichon.co.th/region/news_1512634) ต่อมาเหตุการณ์นี้ได้รับการตั้งข้อสังเกตจากนักการเมืองในพื้นที่ว่าอาจเป็นการปฏิบัติการที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ และยังได้รับการขยายผลในสื่อสังคมของแต่ละฝ่าย ผ่านการใช้วาทกรรมแบบคู่ตรงข้ามเพื่อที่จะอธิบายความจริงจากมุมมองของตนเอง ดังตารางที่ 2
วาทกรรมที่สนับสนุนการปฏิบัติการของทหาร | วาทกรรมที่ต่อต้านการปฏิบัติการของทหาร |
---|---|
ไฟไหม้จากการกระทำของผู้ต้องสงสัยที่ต้องการเปิดทางหลบหนีการจับกุม | ไฟไหม้มาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อต้องการปกปิดหลักฐานการปฏิบัติการรุนแรงที่เกินกว่าเหตุ |
ผู้ต้องสงสัย | ชาวบ้าน |
การปิดล้อมตรวจค้น | การรังแกชาวมลายู |
วิสามัญฆาตกรรม | การพลีชีพเพื่อพระเจ้า, การแก้แค้น, การกำจัดคนมลายู |
ทหารไทย | หมาสยาม, ผู้รุกราน |
แม้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทางกายภาพได้จบลงไปแล้ว แต่การต่อสู้ระหว่างกันโดยการใช้ข้อมูลบิดเบือนในการอธิบายและสร้างความจริง ซึ่งเป็นเสมือนส่วนขยายของเหตุการณ์จริงยังคงมีการปะทะสังสรรค์กันในช่องทางสื่อสังคมอย่างต่อเนื่องอีกนับเดือนก่อนจะค่อย ๆ ลดความถี่และหายไปในที่สุด จากนั้นก็มีประเด็นข้อขัดแย้งใหม่ ๆ กระตุ้นการสร้างข้อมูลบิดเบือนให้ไหลเวียนอยู่ในพื้นที่แห่งการสื่อสารต่อไปอีก
ข้อสังเกตต่อข้อมูลบิดเบือนกับกระบวนการสันติภาพ
Christina Nemr และ William Gangware (2019, pp. 9-10) เสนอว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลกทางกายภาพและออนไลน์เป็นแรงจูงใจที่ขับเคลื่อนพฤติกรรมการเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านออนไลน์ โดยมีแนวโน้มว่าการแบ่งขั้วทางการเมืองจะทำให้ภาวะไร้ระเบียบของข้อมูลข่าวสารเป็นปัญหามากขึ้น ขณะเดียวกันเทคโนโลยีเชิงสังคมก็เข้าสู่ยุคผู้ใช้สามารถผลิตและเผยแพร่เนื้อหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองที่เรียกว่า user- generated content (UGC) ดังนั้นการละความสนใจข้อมูลบิดเบือนเพียงเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือตามแนวคิดสารสนเทศก็คงไม่ใช่ทางออกของปัญหาที่ดีนัก เพราะอย่างไรเสียข้อมูลบิดเบือนก็ยังคงไหลเวียนอยู่ในพื้นที่การสื่อสารของมนุษย์ และมีอิทธิพลต่อสังคมและการเมืองอยู่ดี แต่ผู้เขียนเห็นว่าการนำประเด็นหรืออุดมการณ์ที่ปรากฏหรือแฝงฝังอยู่ในข้อมูลบิดเบือนมาถกเถียงพูดคุยกันในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นการสื่อสารที่เปิดเผยโปร่งใสและหลากหลายจะช่วยให้ลดทอนอิทธิพลของข้อมูลบิดเบือนเพราะการที่พื้นที่สาธารณะซึ่งประกอบด้วยผู้คนอันหลากหลายความคิดและอุดมการณ์นั้นเป็นไปได้ยากที่จะผูกขาดความจริงแต่เพียงผู้เดียว
ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจไม่น้อยในกรณีข้อมูลบิดเบือนภายใต้บริบทการพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือหลายคนอาจกังวลว่าภายใต้กระบวนการสันติภาพที่ต้องร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่จะโอบอุ้มให้แนวทางการแก้ปัญหาที่ไม่ใช้ความรุนแรงดังกล่าวเดินหน้าต่อไปได้นั้น ข้อมูลบิดเบือนอาจจะเป็นปัจจัยแทรกซ้อนที่กัดกร่อนกระบวนการพูดคุยสันติภาพหรือไม่ หรือจะเกิดผลกระทบในแง่มุมใดบ้างต่อกระบวนการสันติภาพ ที่สำคัญข้อมูลบิดเบือนจะบั่นทอนความอดทนอดกลั้นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพที่ใช้ระยะเวลายาวนานหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และจำเป็นที่จะต้องร่วมกันหาคำตอบ เพราะผู้คนในพื้นที่ความขัดแย้งยังต้องใช้ชีวิตร่วมกับข้อมูลบิดเบือนไปอีกนานแสนนาน
รายการอ้างอิง
- Decker, B. (2019). Adversarial Narratives : A New Model for Disinformation. London: Global Disinformation Index .
- Marovic, J. (2019, November 28). Wars of Ideas: Hybrid Warfare, Political Interference, and Disinformation. Retrieved from https://carnegieeurope.eu/2019/11/28/wars-of-ideas-hybrid-warfare-political-interference-and-disinformation-pub-80419
- Nemr, C., & Gangware, W. (2019). Weapons of Mass Distraction: Foreign State-Sponsored Disinformation in the Digital Age. Washington, D.C.: Park Advisors.
- สำนักข่าวอิศรา. (26 กุมภาพันธ์ 2563 ). ส่อง pulony.blogspot ผู้รับงบสนับสนุน กอ.รมน. ยุค บิ๊กตู่? ยอดดู2.7ล. แปลได้หลายสิบภาษา. เข้าถึงได้จาก https://www.isranews.org/isranews-scoop/85974-report01_85974.html
หมายเหตุ: ชื่อเดิมของบทความนี้คือ Digital Disinformation: การต่อสู้ลูกผสมในความขัดแย้งชายแดนภาคใต้และผลกระทบต่อกระบวนการสันติภาพ
