ทุกวันนี้ Interpretive journalism หรือวารสารศาสตร์แบบตีความได้รับความนิยมมากจนเป็นแนวโน้มหลักของวารสารศาสตร์ ในงานข่าวปัจจุบัน “ข้อเท็จจริงและการตีความถูกนำมาผสมเข้าด้วยกันอย่างเสรี” (Patterson 1993) นักวารสารศาสตร์กำลังเปลี่ยนสถานะของตนเอง จากผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น “ผู้สร้างความหมาย” (makers of meanings) (Barnhurst 2003) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวารสารศาสตร์การเมือง
หากวารสารศาสตร์แบบตีความเป็นรูปแบบที่แพร่หลายมากจริง นั่นแสดงว่ากระบวนการวารสารศาสตร์สามารถควบคุมเนื้อหาข่าวได้มากขึ้น นำไปสู่การที่สื่อเข้าไปมีบทบาทแทรกแซงสูงขึ้น (Blumler and Gurevitch 1995; Esser 2008; Semetko, Blumler, Gurevitch, and Weaver 1991) การแทรกแซงมีมากเมื่อกระบวนการวารสารศาสตร์เปิดให้นักวารสารศาสตร์รายงานเรื่องการเมือง “ด้วยถ้อยคำภาษา การจำลองสถานการณ์ และการประเมินของพวกเขาเอง – และเมื่อพวกเขาให้โอกาสแก่นักการเมืองเพียงน้อยนิดในการนำเสนอตัวเอง” (Esser 2008) วารสารศาสตร์แบบตีความที่เข้มข้นและการแทรกแซงของสื่อ (ในเนื้อหารายงานข่าว) ได้ถูกนำมาเชื่อมโยงกับการที่การเมืองถูกทำให้เป็นปรากฏการณ์สื่อ รวมทั้งถูกใช้เป็นดัชนีที่ชี้ให้เห็นว่าการเมืองเป็นเพียงการรายงานข่าวการเมืองในสื่อ (mediatization of politics) (Esser and Strömbäck 2014; Strömbäck and Dimitrova 2011)
ในระดับที่พื้นฐานกว่าประเด็นข้างต้น วารสารศาสตร์แบบตีความที่ขยายตัวมากขึ้นนี้ มีนัยถึงการเปลี่ยนแปลงสูตรการรายงานข่าวในจารีตของวารสารศาสตร์ที่เน้นเรื่อง ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม (5Ws- who, what, where, when, why) (Salgado and Strömbäck 2012) ไปเน้นที่คำถามว่าทำไม และให้น้ำหนักกับเรื่องอะไร ที่ไหน เมื่อไร และใครทำ น้อยลง สไตล์รายงานข่าวของวารสารศาสตร์แบบตีความทำให้ผู้รับ - คนอ่าน/คนดูสื่อ ต้องพึ่งนักวารสารศาสตร์และการตีความของพวกเขามากขึ้นเมื่อคนอ่าน/คนดูต้องการเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว การพึ่งพานักวารสารศาสตร์และการตีความของพวกเขาจะดีหรือไม่เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ แต่นอกเหนือไปจากการประเมินเรื่องราวต่าง ๆ ตามบรรทัดฐานของสังคมแล้ว สไตล์รายงานข่าวของวารสารศาสตร์แบบตีความที่มีมากขึ้น
“ได้เพิ่มอำนาจให้กับนักวารสารศาสตร์ โดยทำให้พวกเขาควบคุมกำกับสาระสำคัญของข่าวได้... สไตล์การเขียนและเล่าเรื่องแบบพรรณนาโวหารหรือบรรยายความนั้น (descriptive) สถานะของนักวารสารศาสตร์คือผู้สังเกตการณ์ (observer) สไตล์การเขียนของวารสารศาสตร์แบบตีความเรียกร้องให้นักวารสารศาสตร์ต้องเป็นนักวิเคราะห์ไปด้วยพร้อมกัน (analyst) นักวารสารศาสตร์จึงอยู่ในสถานะที่จะเป็นผู้กำหนดรูปร่างและเนื้อหาของรายงานข่าว ในแบบที่สไตล์การเขียนพรรณนาไม่อนุญาตให้ทำ”
(Patterson 2000, p.250)
การเขียนรายงานข่าว (การเมือง) ที่ให้นักวารสารศาสตร์มีบทบาทกำหนดแกนเรื่องและสาระหลัก ถูกนำไปเชื่อมโยงกับการขยายตัวในเรื่องภาพลักษณ์ที่ติดลบของนักการเมือง (Djerf-Pierre and Weibull 2008; Farnsworth and Lichter 2011) และการรายงานข่าวที่กำหนดกรอบแบบเกมยุทธศาสตร์ (strategic game frames) ในทางการเมือง (Patterson 1993, 2000)
จากตัวอย่างการศึกษาเปรียบเทียบในระบบสื่อของ 6 ประเทศ พบว่าในประเทศฝรั่งเศส อิตาลี และสหรัฐอเมริกา มีการขยายตัวของวารสารศาสตร์แบบตีความใน 2 ระดับ กล่าวคือ มีการใช้รูปแบบวิเคราะห์ข่าวและการคอมเม้นท์/แสดงความคิดเห็นมากขึ้น รวมทั้ง สิ่งที่ดูเหมือนว่าเป็นรายงานข่าวแบบตรงไปตรงมา (pure news) ก็มีลักษณะลูกผสม (hybrid) ระหว่างข่าวและความเห็นมากขึ้นด้วย Esser และ Umbricht (2014) เมื่อสาวไปถึงต้นเหตุของเรื่องนี้ก็พบว่า มาจากการเปลี่ยนแปลงในอาชีพวารสารศาสตร์ และกระบวนการแพร่กระจายหลักการประกอบวิชาชีพข้ามพรมแดน ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้บุกเบิก
หากค้นคว้าวรรณกรรมเกี่ยวกับวารสารศาสตร์แบบตีความในสหรัฐอเมริกา พบว่าความเชื่อที่ว่าข้อเท็จจริงและคุณค่าของสังคมนั้นสามารถแยกออกจากกันได้ (facts can be separated from values) หรือความเชื่อที่ว่าข้อเท็จจริงย่อมเป็นที่ประจักษ์ในตัวเองอยู่แล้ว (facts speak for themselves) เป็นความเชื่อที่ถูกปฏิเสธ (Schudson 1978) โดยนัยนี้ วารสารศาสตร์แบบตีความ มีเป้าหมายที่จะค้นหาความจริงที่อยู่เบื้องหลังข้อเท็จจริงและถ้อยแถลงต่าง ๆ และมีเป้าหมายที่จะช่วยให้ผู้รับเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่รับรู้เพียงว่าเกิดอะไรขึ้นเท่านั้น แต่ต้องการให้รู้ว่าเพราะอะไร (นั่นคือความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับข่าว) ในช่วงที่ลัทธิแม็คคาร์ธี (MaCarthyism) ครองเมือง ประชาชนที่คัดค้านรัฐบาล ถูกคุกคาม จับกุม คุมขัง และทำลายล้างอย่างทารุณโหดร้าย และช่วงที่รัฐบาลอเมริกันโกหกเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม และกรณีคดีวอเตอร์เกท ส่งผลให้นักวารสารศาสตร์ตะวันตกรู้สึกมากขึ้นว่า วารสารศาสตร์แบบตีความมีความจำเป็นในการทำงานข่าว
Salgado and Strömbäck (2012) ได้เสนอคำนิยามแบบรวบยอดของวารสารศาสตร์แบบตีความว่า
“เป็นรูปแบบวารสารศาสตร์ที่อยู่ตรงข้าม หรืออยู่พ้นไปจากการเขียนพรรณนา ไม่มุ่งเฉพาะข้อเท็จจริง หรือถูกกำหนดโดยแหล่งข่าว ในการเล่าเรื่องแบบวิเคราะห์ วารสารศาสตร์แบบตีความสามารถบ่งบอกได้จากลักษณะของเสียงผู้เล่าที่เด่นชัดแบบนักวารสารศาสตร์ และการอธิบายแบบนักวารสารศาสตร์ ในการประเมิน การให้บริบทแวดล้อม และการคาดการณ์ไปข้างหน้า ที่เป็นมากกว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือถ้อยแถลงของแหล่งข่าว วารสารศาสตร์แบบตีความยังอาจจะมีลักษณะที่มีแกนเรื่องหรือธีมหลัก ที่นักวารสารศาสตร์เลือกมานำเสนอ หรืออาจไม่มี(ธีม)ก็ได้ มีการใช้ภาษาที่ให้(หรือไม่ให้)คุณค่าต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งชัดเจน หรือแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย”
(Salgado and Strömbäck 2012, p.154)
เราสามารถจำแนกลักษณะหลัก 4 ประการของวารสารศาสตร์แบบตีความจากกรอบการนิยามของ Salgado และ Strömbäck (2012) ได้ดังนี้
- เรื่องเล่าแบบต่าง ๆ เช่น ข่าว (straight news) บทนำ คอลัมน์ บทวิเคราะห์วิจารณ์ และบทสัมภาษณ์ และเรื่องเล่าทางโทรทัศน์ เช่น การสัมภาษณ์ระหว่างนักวารสารศาสตร์ด้วยกัน (journalist debriefs) โดยมีคนหนึ่งที่ทำหน้าที่สัมภาษณ์ และอีกคนเป็นนักวิเคราะห์ เป็นรูปแบบที่บ่งบอกนัยแก่คนดูว่า พวกเขาคาดได้เลยว่าจะมีการตีความแบบวารสารศาสตร์ในรายการ/ข้อเขียนพวกนี้ เนื้อหาประเด็นข่าวจะไม่จำกัดอยู่เพียงการบรรยายข้อเท็จจริง หรือเน้นแต่ข้อเท็จจริง หรือถูกชี้นำโดยแหล่งข่าวเท่านั้น
- ในรายงานข่าวที่ดูเป็นรายงานข่าวธรรมดา มีการเสนอสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากการบรรยายข้อเท็จจริง โดยการเพิ่มเติมคำอธิบาย หรือการตีความเข้าไป ตัวอย่างที่พบบ่อย เช่นเมื่อนักวารสารศาสตร์ตีความแรงจูงใจของนักการเมือง/ตัวแสดงทางการเมือง ที่เสนอโครงการ/นโยบายใหม่ต่อสังคม โดยอธิบายว่านักการเมืองคนนั้นพยายามที่จะหาเสียงกับกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางกลุ่ม (Aalberg, Strömbäck and de Vreese 2012; Cappella and Jamieson 1997)
- นักวารสารศาสตร์อาจเสนอการวิเคราะห์ หรือคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อเหตุการณ์ในข่าว หรือการคาดคะเนความเป็นไปได้ (prospective speculation) เมื่ออนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหยั่งรู้ได้ การที่นักวารสารศาสตร์กล่าวถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในกาลข้างหน้า หรือความพยายามที่จะวิเคราะห์ว่าอะไรจะเกิดขึ้นอันสืบเนื่องจากเหตุการณ์ในข่าว เท่ากับว่าเขากำลังใช้รูปแบบการอธิบายของวารสารศาสตร์แบบตีความนั่นเอง และการตีความแบบนี้ ก็อาจจะเกิดขึ้นในเรื่องเล่าที่ดูเหมือนเป็นรายงานข่าวธรรมดา ๆ ชิ้นหนึ่งด้วย
- นักวารสารศาสตร์ที่ทำหน้าที่รายงานข่าว/เหตุการณ์หนึ่ง ๆ อาจใช้ถ้อยคำที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างชัดแจ้ง ที่ทำให้เห็นว่าเขากำลังออกความเห็นต่อเรื่องนั้น เช่น การพูดว่าเรื่องนี้ดีหรือไม่ดี จริงหรือไม่จริง น่าจะใช่หรือไม่น่าจะใช่ (ซึ่งเป็นความเห็นที่ไม่มีการยืนยันจากข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้) การแสดงความเห็นอย่างเปิดเผยอาจประกอบด้วยการใช้ถ้อยคำที่แฝงด้วยคุณค่าแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นคำที่แสดงอัตวิสัยของผู้พูด หรือมีหางเสียงที่บ่งบอกให้รู้ถึงอคติหรือความไม่เป็นกลางของนักวารสารศาสตร์
จากการนำแนวคิดเรื่องวารสารศาสตร์แบบตีความ (interpretive journalism) ไปศึกษาวิจัยตัวอย่างสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และเว็บไซต์ข่าว 15 ประเทศในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ผู้วิจัยสรุปว่า หากพิจารณารูปแบบการใช้วารสารศาสตร์แบบตีความในรายงานข่าวทั่วไป จะพบความแตกต่างในกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาวิจัย เช่น ประเทศสหราชอาณาจักร และสวีเดน รูปแบบที่ใช้กันมากคือ การใช้ถ้อยคำที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างชัดแจ้ง (overt commentary) และการใช้ถ้อยคำที่แฝงด้วยคุณค่าแบบต่าง ๆ (value-laden terms) ส่วนสหรัฐอเมริกา รูปแบบที่ใช้มากคือ การอธิบายหรือตีความเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ ถ้อยแถลง หรือการกระทำ (explanations and interpretations) สำหรับประเทศนอร์เวย์ รูปแบบที่ใช้มากคือ การคาดคะเนความเป็นไปได้หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (prospective speculation)
ในบางประเทศ วารสารศาสตร์แบบตีความได้รับความนิยมมากในรายการข่าวโทรทัศน์ แต่ในบางประเทศพบมากในข่าวหนังสือพิมพ์ กรณีประเทศเยอรมนี เป็นประเทศเดียวที่พบว่าวารสารศาสตร์แบบตีความแพร่หลายในข่าวออนไลน์ ขณะเดียวกัน การวิจัยก็พบว่าข่าวออนไลน์ใน 9 ประเทศ ไม่นิยมใช้รูปแบบวารสารศาสตร์แบบตีความ นอกจากนี้ พบว่าวารสารศาสตร์แบบตีความได้รับความนิยมในรายการข่าวโทรทัศน์ของสถานีเชิงพาณิชย์มากกว่าสถานีบริการสาธารณะ ยกเว้น 3 ประเทศที่ผลวิจัยแตกต่างออกไป อาจกล่าวได้ ในสื่อโทรทัศน์นั้น วารสารศาสตร์แบบตีความเป็นคุณสมบัติของโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ ส่วนหนึ่งของคำอธิบายปรากฏการณ์นี้คือ สภาพการแข่งขันในระบบสื่อโทรทัศน์ ปรากฏการณ์ความนิยมของการใช้วารสารศาสตร์แบบตีความในสื่อประเทศต่าง ๆ สรุปได้ว่าหนังสือพิมพ์ระดับบน หนังสือพิมพ์มหาชน และสื่อโทรทัศน์(เชิงพาณิชย์) มีทิศทางบวก คือได้รับความนิยมมาก ส่วนในเว็บข่าวออนไลน์มีทิศทางลบ คือได้รับความนิยมน้อย
ผู้วิจัยยังพบว่าบทความ/รายการวิเคราะห์ข่าวแบบตีความของสื่อในสหรัฐอเมริกา มีที่มาจากความเชี่ยวชาญในการวิพากษ์และความเป็นอิสระทางวิชาชีพ (critical expertise and professional autonomy) ขณะที่ความนิยมในการนำเสนอเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อในประเทศฝรั่งเศส เป็นสิ่งที่ตกทอดมาจากการแบ่งขั้วทางการเมืองของสื่อในอดีต (partisan journalism) และวารสารศาสตร์แนวภาษาและวรรณกรรม (literary journalism) (ดู Esser and Umbricht 2013, 2014)
ในกรณีของประเทศไทย วารสารศาสตร์แบบตีความ (interpretive journalism) ในรายงานข่าวการเมือง บทนำ บทความ รายการวิเคราะห์/บทวิเคราะห์ หรือรายการเล่าข่าว รายการสัมภาษณ์ ดูจะเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรายการเล่าข่าวทางโทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งวางรูปแบบให้พิธีกร 2 คนทำหน้าที่เล่าและตีความข่าวไปพร้อม ๆ กัน ผู้ชม/ผู้ฟังมักจะพบการใช้ถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์ ที่แฝงคุณค่าแบบต่าง ๆ หรือการใช้หางเสียง/น้ำเสียงที่ทำให้เข้าใจว่าพิธีกรเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องนั้น ๆ แต่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างชัดแจ้ง ตรงไปตรงมามีไม่มากนัก ไม่ว่าในรายการเล่าข่าวหรือรายการวิเคราะห์ข่าว
อย่างไรก็ดี วารสารศาสตร์แบบตีความที่ได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งในส่วนของผู้รับและในแวดวงนักวารสารศาสตร์สะท้อนอะไรบ้าง ในส่วนที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองและนักวารสารศาสตร์ บริบททางสังคมการเมืองแบบใดที่ทำให้ผู้รับข่าวสารต้องการคำอธิบายและการตีความเบื้องหน้าเบื้องหลังของสถานการณ์การเมืองบางสถานการณ์ การใช้วารสารศาสตร์แบบตีความในรายการเล่าข่าวที่เป็นอยู่เช่นทุกวันนี้ เพียงพอที่จะให้ความเข้าใจแก่คนดู/คนฟังข่าวมากน้อยเพียงใด หรือเป็นการตีความที่สร้างความหมายที่แฝงอคติของนักวารสารศาสตร์เอง วารสารศาสตร์แบบตีความในท้ายที่สุดแล้ว ได้ให้อำนาจแทรกแซงเนื้อหาของข่าวสารแก่นักวารสารศาสตร์ หรือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล นักการเมือง ข้าราชการและสถาบันการเมืองต่าง ๆ ของสื่อมวลชน อันเป็นปัจจัยสำคัญของสังคมประชาธิปไตย คำถามเหล่านี้และอีกหลาย ๆ คำถาม ควรค่าแก่การที่จะหยิบยกขึ้นมาศึกษาและอภิปรายถกเถียงกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของรัฐแบบอำนาจนิยม ที่สื่อมวลชนไม่มีอิสระในการตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างที่ควรจะเป็น.
14 กรกฎาคม 2563
* หมายเหตุ : เก็บความและเรียบเรียงจาก บทที่ 5 Interpretive journalism เขียนโดย Susana Salgado, Jesper Strömbäck, Toril Aalberg, and Frank Esser ใน Clase de Vreese, Frank Esser, and David Nicolas Hopmann (eds). Comparing Political Journalism. New York: Routledge, 2017.
- Aalberg, T., Strömbäck, J. and de Vreese, C.H. 2012. The framing of politics as strategy and game; A review of concepts, operationalizations and key findings, Journalism. 13(2): 162-178.
- Barnhurst, K. 2003. The makers of meaning: National public radio and the new long journalism, 1980-2000. Political Communication. 20(1): 1-22.
- Blumler, J.G., and Gurevitch, M.1995. The crisis of public communication. London: Routledge.
- Cappella, J.A., and Jamieson, K.H. 1997. Spiral of cynicism. New York: Oxford University Press.
- Djerf-Pierre, M., and Weibull, L. 2008. From public educator to interpreting ombudsman: Regimes of political journalism in Swedish public service broadcasting 1925-2005. In J. Strömbäck, M.Orsten, and T, Aalberg (Eds.) Communicating politics: Political communication in the Nordic countries (pp.195- 214). Gothenburg: Nordicom.
- Esser, F. 2008. Dimensions of political news cultures: Sound bite and image bite news in France, Germany, Great Britain and the United States. International Journal of Press/Politics. 13(4): 401-428.
- Esser, F., and Strömbäckm, J. (Eds.) 2014. Mediatization of politics: Understanding the transformation of Western democracies. Basingstoke: Palgrave Macmillan.
- Esser, F., and Umbricht, A. 2014. The evolution of objective and interpretive journalism in the Western press: Comparing six news systems since the 1960s. Journalism & Mass Communication Quarterly. 91(2): 229-249.
- Esser, F., and Umbricht, A. 2013. Competing models of journalism? Political affairs coverage in U.S., British, German, Swiss, French and Italian newspapers. Journalism. 14: 989-1007.
- Farnsworth, S.J., and Lichter, R.S. 2011. The nightly news nightmare: Television’s coverage of US presidential elections 1988-2008. 3rd ed. Lanham, MD: Rowman & Littlefield.
- Patterson, T.E. 2000. The United States: News in a free market society. In R. Gunther and A. Mughan (Eds.) Democracy and the media: A comparative perspective (pp.241-265). New York: Cambridge University Press.
- Patterson, T.E. 1993. Out of Order. New York: Vintage.
- Salgado, S., and Strömbäck, J. 2012. Interpretive journalism: A review of concepts, operationalizations and key findings. Journalism. 13(2): 144-161.
- Schudson, M. 1978. Discovering the news: A social history of American newspapers. New York: Basic.
- Semetko, H.A., Blumler, J.G., Gurevitch, M., and Weaver, D.H. 1991. The formation of campaign agendas: A comparative analysis of party and media roles in recent American and British elections. Hillsdale, NJ: Lawrence Erlbaum.
- Strömbäck, J., and Dimitrova, D.V. 2011. Mediatization and media interventionism: A comparative analysis of Sweden and the United States. International Journal of Press/Politics. 16(1): 30-49.
