บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นบทบาทของสื่อมวลชนที่แบ่งเป็น 2 ขั้วคู่ขนานไปกับการเมือง 2 ฝ่ายตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ขั้วหนึ่งยึดถืออุดมการณ์รอยัลลิสต์ทำหน้าที่ส่งเสริมการเมืองของฝ่ายกษัตริย์นิยม อีกขั้วยึดถืออุดมการณ์รัฐธรรมนูญนิยม ฝ่ายแรกต้องการธำรงสังคมการเมืองแบบเก่าไว้ ในขณะที่ฝ่ายหลังต้องการสังคมรูปแบบใหม่ที่พลเมืองมีความเท่าเทียม มีสิทธิเสรีภาพทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สองกลุ่มนี้ต่อสู้กันด้วยวิธีการต่างๆ และผ่านสื่อเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับแนวทางการเมืองของกลุ่มตน
ที่มาภาพ: มติชน
เนื้อหาของบทความแบ่งเป็น 4 ส่วน 1) การต่อต้านคณะราษฎรผ่านหนังสือพิมพ์ของฝ่ายกษัตริย์นิยมในช่วง 25 ปีแรกหลังปฏิวัติ 2475 2) สื่อมวลชนยุคเผด็จการทหารที่สื่อสิ่งพิมพ์ถูกควบคุมและทำให้ปลอดจากการเมืองแบบแบ่งขั้ว (พ.ศ.2500-2530) 3) สื่อมืออาชีพทำหน้าที่วารสารศาสตร์เพื่อการพัฒนาสอดรับกับการเบ่งบานของกระแสราชาชาตินิยม(ใหม่) (พ.ศ.2531-2544) 4) วารสารศาสตร์การเมืองของการเมือง 2 ขั้ว สื่อ 2 ฝ่าย (พ.ศ.2545-2561)
รัฐประหาร 19 กันยา 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557 ทำให้กองทัพและขั้วรอยัลลิสต์เข้าควบคุมสื่อโดยการให้เสรีภาพ (อย่างจำกัด) ในการประกอบกิจการ การให้เงินอุดหนุนสื่อ และกีดกันนักการเมืองด้วยการห้ามนักการเมืองเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นสื่อ ประการสำคัญ รัฐบาล คสช. ได้ออกแบบรวมศูนย์อำนาจการปกครอง โดยการสร้างกลไกเชิงสถาบันเพื่อสถาปนาระบอบทหารให้ยืนยาว สื่อมวลชนและการสื่อสารเป็นส่วนหนึ่งของการสถาปนาอำนาจใหม่นี้ด้วย
การเมือง 2 ขั้ว สื่อ 2 ฝ่ายของประชาธิปไตยภิวัตน์: ความขัดแย้งระหว่างรัฐธรรมนูญนิยมกับกษัตริย์นิยมในการเมืองไทย
ช่วงสองทศวรรษระหว่าง 2540–2560 (ค.ศ. 1997-2017) เป็นระยะเวลาที่การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในสังคมการเมืองไทยดูเต็มไปด้วยประกายแห่งความหวังในช่วงแรก แต่ในปี 2549 (ค.ศ. 2006) เมื่อรัฐบาลที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (สมัยที่ 2) จากพรรคไทยรักไทยถูกรัฐประหารโดยผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่เรียกตัวเองว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. (Council for National Security) อนาคตของระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2535 (ค.ศ.1992) เริ่มสะดุด การรัฐประหารของกองทัพก่อนหน้านั้นในปี 2534 (ค.ศ.1991) คือการยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งทิ้งช่วงเวลาจากการรัฐประหารของ คมช.15 ปี คำถามที่เกิดขึ้นคืออะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ทหารออกมายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนอีก แต่ยังไม่ทันที่ความสงสัยนี้จะถูกคลี่คลายให้กระจ่าง การรัฐประหารโดยกองทัพก็เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2557 (ค.ศ.2014) การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. (National Council for Peace and Order) นับเป็นชุดของการรัฐประหาร (series of coup) ที่เกิดขึ้นภายในเวลาห่างกันไม่ถึง 10 ปี
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ทหารออกมายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งถึง 2 ครั้งในเวลาห่างกันเพียง 8 ปี (2549 และ 2557) การศึกษาวิจัยด้วยมุมมองใหม่และการค้นพบข้อมูลใหม่ๆ ฝ่ายกษัตริย์นิยมและฝ่ายประชาธิปไตยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 (ค.ศ.1932) ยังคงแฝงอยู่ในการเมืองไทยเป็นเวลากว่า 8 ทศวรรษ (Thongchai Winichakul 2008) หลังปฏิวัติ 2475 กลุ่มอำนาจเก่าได้ต่อสู้ในนามของขบวนการต่อต้านการปฏิวัติทั้งในและนอกกฎหมาย เพื่อนำระบอบการเมืองกลับสู่ระบอบเก่าหรือระบอบที่กษัตริย์มีอำนาจสูงสุด การต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐธรรมนูญนิยม และฝ่ายกษัตริย์นิยมผลัดกันแพ้-ชนะในช่วง 25 ปีแรกภายหลังการปฏิวัติ 2475 (ณัฐพล ใจจริง 2556) จวบจนจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจในปี 2500 (ค.ศ.1957) “ระบอบแฝงเร้น” ของฝ่ายกษัตริย์นิยมจึงผนวกเข้ากับกองทัพสร้างการเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการขึ้น ปกครองยาวนานต่อเนื่อง 16 ปี (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ 2552)
ระบบเผด็จการสิ้นสุดลงหลังขบวนการนิสิตนักศึกษาและประชาชน โค่นล้ม 3 ทรราช – ถนอม, ประภาส, ณรงค์ ลงได้ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 (ค.ศ.1973) สภาพผลัดกันแพ้-ชนะระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการทหารที่ต่อต้านประชาธิปไตย เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งในเหตุการณ์พฤษภา 2535 ทั้งสองครั้งกองทัพต้องถอยออกจากการใช้อำนาจปกครองโดยตรง ในทางตรงกันข้าม ภายหลังปฏิวัติ 14 ตุลา 2516 และพฤษภา 2535 “ระบอบแฝงเร้น” ของกลุ่มอำนาจเก่าสามารถสถาปนาอำนาจนำเหนือสถาบันการเมืองอื่นๆ ได้สำเร็จ (ธงชัย วินิจจะกูล 2547, 2548, Paul Chambers 2020)
บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นความสำคัญและบทบาทของสื่อมวลชนที่แบ่งออกเป็น 2 ขั้วใหญ่คู่ขนานไปกับการเมือง 2 ฝ่ายตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ขั้วหนึ่งยึดถืออุดมการณ์รอยัลลิสต์ทำหน้าที่ส่งเสริมการเมืองของฝ่ายกษัตริย์นิยม สร้างอคติ โจมตีและตอกย้ำวาทกรรมต่อต้านฝ่ายประชาธิปไตย และนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง นำไปสู่การรัฐประหารและวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา อีกขั้วหนึ่งคือสื่อในฝ่ายประชาธิปไตยที่ยึดถืออุดมการณ์รัฐธรรมนูญนิยม ต้องการสังคมรูปแบบใหม่ที่พลเมืองมีความเท่าเทียมกัน มีสิทธิเสรีภาพทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สื่อทั้งสองกลุ่มนี้ต่อสู้กันด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับแนวทางการเมืองของกลุ่มตน
ส่วนแรกของบทความจะเสนอความพยายามในการต่อต้านคณะราษฎรผ่านหนังสือพิมพ์ของฝ่ายกษัตริย์นิยมในช่วง 25 ปีแรกหลังปฏิวัติ 2475 ส่วนที่สองกล่าวถึงสื่อมวลชนในยุคเผด็จการทหารที่สื่อสิ่งพิมพ์ถูกควบคุมและทำให้ปลอดจากการเมืองแบบแบ่งขั้ว จนถึงช่วงที่เปลี่ยนผ่านสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ (2500-2530)(ค.ศ.1957-1987) ส่วนที่สามเป็นช่วงที่สื่อทำหน้าที่วารสารศาสตร์เพื่อการพัฒนาสอดรับกับการเบ่งบานของกระแสราชาชาตินิยม(ใหม่) (2531-2544)(ค.ศ.1988-2001) และส่วนที่สี่วารสารศาสตร์การเมืองของการเมือง 2 ขั้ว สื่อ 2 ฝ่าย (2545-2561) )(ค.ศ.2002-2018)
1. สื่อการเมือง 2 ขั้ว: รัฐธรรมนูญนิยมและกษัตริย์นิยม (2475-2500)(ค.ศ.1932-1957)
ห้วงอรุณรุ่งของการปฏิวัติ 2475 นอกจากคณะราษฎรจะต้องสร้างความชอบธรรมให้กับการเมืองระบอบใหม่และปลูกฝังอุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือรัฐธรรมนูญนิยมที่กษัตริย์มีอำนาจอย่างจำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญให้กว้างขวางในหมู่สามัญชนแล้ว คณะราษฎรต้องเผชิญกับการต่อต้านจากกลุ่มอำนาจเก่า ทั้งในรูปของการทำสงครามกลางเมืองในปี 2476 (ค.ศ.1933) ที่รู้จักกันในชื่อกบฏบวรเดช และการประโคมข่าวสารของฝ่ายกษัตริย์นิยม เพื่อหวังผลทำลายความชอบธรรมของคณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 กล่าวคือ ด้านหนึ่งแทรกซึมเข้าไปในกลุ่มนักหนังสือพิมพ์เพื่อสืบข่าว และเขียนตอบโต้ผู้ที่เขียนโจมตีระบอบเก่า
บรรดาเชื้อพระวงศ์และกลุ่มกษัตริย์นิยมยังได้แทรกซึมและจัดตั้งเครือข่ายนักหนังสือพิมพ์ เพื่อใช้เป็นกระบอกเสียงให้ขบวนการต่อต้านการปฏิวัติ 2475 เช่นให้ นายทองอยู่ ทิพาเสถียร บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ สยามหนุ่ม อดีตสายลับของตำรวจภูบาล ให้สืบข่าวความรู้สึกของประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สืบข่าวความเคลื่อนไหวของหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนระบอบใหม่ สืบหาผู้ทรยศต่อระบอบเก่า สืบหานักหนังสือพิมพ์ที่เขียนโจมตีเสียดสีเจ้านาย และคอยเขียนตอบโต้แทนฝ่ายเจ้าที่ถูกวิจารณ์ด้วย รวมทั้งให้ติดต่อประสานงานกับหนังสือพิมพ์อื่น ๆ ข้าราชการและพลเรือนที่ยังจงรักภักดีต่อฝ่ายเจ้า
(ณัฐพล ใจจริง 2556 น.25)
อีกด้านหนึ่ง ฝ่ายกษัตริย์นิยมก็สร้างวาทกรรมใส่ร้ายป้ายสีระบอบใหม่ เช่น การปฏิวัติ 2475 เป็น “การชิงสุกก่อนห่าม” ชี้ว่าประชาชนยังไม่พร้อมที่จะปกครองด้วยระบอบนี้ รวมทั้งการรื้อฟื้นคติการเมืองเก่าที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์ว่าเป็นกษัตริย์ที่เป็นประชาธิปไตย ขึ้นครองราชย์ตามคติอเนกชนนิกรสโมสรสมมติซึ่งได้รับฉันทามติจากการเลือกของชุมชนทางการเมือง-สมาชิกราชวงศ์ ขุนนางอำมาตย์ทั้งหลาย กษัตริย์จึงอยู่เหนืออาณาราษฎรเพียงพระองค์เดียว ในขณะที่คนอื่น ๆ ทุกคนในราชอาณาจักรเท่าเทียมกันหมด อำนาจของกษัตริย์เป็นอำนาจล้นพ้น (ณัฐพล ใจจริง 2556)
หนังสือพิมพ์ฝ่ายกษัตริย์นิยม เช่น บางกอกเดลิเมล์ กรุงเทพเดลิเมล์ เสรีภาพ ในเครือสยามฟรีเปรส สังกัดกรมพระคลังข้างที่ (ผู้จัดการคือพระยาศราภัยพิพัฒน์ เป็นนายทหารคนสนิทของกรมพระนครสวรรค์วรพินิจ อดีตเสนาบดีกลาโหม) บรรณาธิการคือ หลุย คีรีวัต มีหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนระบอบเก่าอีกหลายฉบับ อาทิ หนังสือพิมพ์ไทย หญิงไทย ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับกษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์เลือดน้ำเงินแท้ ในขณะที่หนังสือการเมืองเล่มเล็ก สารคดีการเมือง และนวนิยาย เป็นสื่อที่ทรงพลังในการเสนอวาทกรรมต่อต้านปฏิวัติ 2475 ผ่านจินตนาการในรูปแบบเรื่องเล่า (ณัฐพล ใจจริง 2556) เรื่องที่สร้างภาพความล้มเหลวของคณะราษฎรในการสถาปนาระบอบใหม่ และเชิดชูความดีงามของระบอบเก่า ซึ่งได้รับความนิยม เช่น เมืองนิมิตร หรือความฝันของนักอุดมคติ (2490) ของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน สี่แผ่นดิน (2496) ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ระหว่างปี 2494-2495 (ค.ศ.1951-1952) สี่แผ่นดิน เป็นเรื่องที่ถูกผลิตซ้ำหลายครั้งตลอดช่วง 60 ปีมานี้ - เป็นละครวิทยุ (2 ครั้ง) ละครโทรทัศน์ (5 ครั้ง) และละครเวที (4 ครั้ง)[i]
เมื่อเริ่มระบอบใหม่คณะราษฎรมีกรมโฆษณาการ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเป็นกระบอกเสียง สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท (ชื่อในขณะนั้น) ได้ออกอากาศประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2 ครั้ง ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่ด้วยเหตุที่สื่อวิทยุในสมัยนั้นเข้าถึงผู้ฟังได้อย่างจำกัด (เริ่มกระจายเสียง ปี 2473 ทั่วประเทศมีเครื่องรับวิทยุ 11,007 เครื่อง ในปี 2474) การเผยแพร่นโยบายของรัฐบาลและอุดมการณ์ประชาธิปไตยของระบอบใหม่จึงไม่กว้างขวาง ต้องอาศัยหนังสือพิมพ์ช่วยถ่ายทอดอีกชั้นหนึ่ง คณะราษฎรมีหนังสือพิมพ์ในเครือของตน ได้แก่ หนังสือพิมพ์ เทอดรัฐธรรมนูญ, 24 มิถุนา, และสัจจา นอกจากนี้ มีหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนระบอบใหม่ อาทิ ศรีกรุง ไทยหนุ่ม สยามรีวิว ไทยใหม่ บางกอกการเมือง หลักเมือง บำรุงนุกูลกิจ ประมวญวัน มีนักเขียนปัญญาชนหัวก้าวหน้า เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนบทความเผยแพร่ความรู้เรื่องประชาธิปไตยและการเมืองแบบรัฐธรรมนูญนิยมช่วงส่งเสริมระบอบใหม่ในหนังสือพิมพ์ อาทิ ประชาชาติ ขณะเดียวกัน ก็มีข้อเขียนที่ตอบโต้การโจมตีของฝ่ายกษัตริย์นิยมด้วย ในการปรามหนังสือพิมพ์ฝายตรงข้ามคณะราษฎรได้ออกพระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2475 เพื่อควบคุมหนังสือพิมพ์ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือลงข่าวบิดเบือน (พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม 2520)
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นักโทษการเมืองฝ่ายกษัตริย์ได้รับการนิรโทษกรรม ฟื้นคืนสถานะเดิมจากการร่วมมือกันในขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น กรณีสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทำให้ฝ่ายปรีดีในคณะราษฎร เพลี่ยงพล้ำทางการเมือง นำไปสู่การรัฐประหารในปี 2490 รัฐธรรมนูญ 2492 หลังการรัฐประหารได้บัญญัติให้กษัตริย์มีอำนาจมากขึ้น เป็นสถาบันที่ล่วงละเมิดมิได้ ขณะเดียวกัน ปีกพลเรือนที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ได้สูญเสียอำนาจให้แก่ปีกทหารที่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กองทัพบกมีบทบาทมากในทางการเมือง ช่วงนี้ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการปราบปรามขบวนการฝ่ายซ้าย ปัญญาชน และหนังสือพิมพ์ที่คัดค้านรัฐบาล กรณีกบฏสันติภาพ ปี 2494 (ค.ศ.1951) รัฐบาลกวาดล้างฝ่ายค้านอย่างรุนแรง ขณะเดียวกัน จอมพล ป. หันไปใช้สื่อโทรทัศน์ (ลงทุนใหม่โดยของบประมาณจากส่วนราชการบางแห่ง ตั้งเป็นบริษัทไทยโทรทัศน์จำกัด – ท.ท.ท.) ทั้งที่มีหนังสือพิมพ์และวิทยุในเครือข่ายการเมืองของตนอยู่แล้ว จอมพล ป. ใช้สื่อใหม่ในการสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองและหาเสียงก่อนการเลือกตั้งในปี 2500 โดยห้ามพรรคการเมืองอื่นออกอากาศ จอมพล ป. ก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหมในปี 2498 (ค.ศ.1955) ออกอากาศครั้งแรกวันที่ 24 มิถุนายน 2498 พลเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก คู่ขัดแย้งทางการเมืองจอมพล ป. ก็ได้เตรียมการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์กองทัพบกในเดือนกุมภาพันธ์ 2500 (ค.ศ.1957) วางศิลาฤกษ์วันที่ 24 มิถุนายนและเปิดดำเนินการในวันกองทัพบก 25 มกราคม 2501 (ค.ศ.1958) (สินิทธ์ สิทธิรักษ์ 2535) สื่อโทรทัศน์จึงเกิดขึ้นท่ามกลางทหารการเมืองสองกลุ่มที่แข่งขันแย่งชิงอำนาจระหว่างกัน ฝ่ายแรกอ้างอิงความชอบธรรมจากการปฏิวัติ 2475 ส่วนฝ่ายหลังเป็นทหารที่เชิดชูระบอบกษัตริย์นิยม
2. สื่อปลอดการเมืองและวารสารศาสตร์เพื่อการพัฒนาใต้เผด็จการทหาร-อำมาตยาธิปไตย (2500-2530) (ค.ศ.1957-1987)
สื่อในยุคเผด็จการทหารที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารยึดอำนาจในปี 2500 แตกต่างจากสื่อการเมือง 2 ขั้วในยุคก่อนหน้า ภายใต้การปกครองแบบพ่อปกครองลูกหรือระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ 2552) จอมพลสฤษดิ์ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 17 และธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน พ.ศ.2502 ควบคุมหนังสือพิมพ์ที่เป็นสื่อเอกชน และวิทยุ-โทรทัศน์ที่เป็นสื่อของรัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จ ดังนั้น หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่จึงเสนอข่าวอาชญากรรมเป็นข่าวใหญ่หน้าหนึ่ง ส่วนวิทยุซึ่งเคยทำหน้าที่เผยแพร่อุดมการณ์รัฐธรรมนูญนิยมของคณะราษฎร ถูกเปลี่ยนเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลทหาร และเสนอความบันเทิง เช่น รายการละครวิทยุ ดนตรี ปกิณกะบันเทิง และสารคดี สื่อโทรทัศน์ทั้ง 2 ช่องในยุคนั้น ออกอากาศเฉพาะภาคค่ำ มีรายการข่าว (ของทางราชการ) ดนตรี นาฏศิลป์ไทย ละคร ปกิณกะบันเทิง ภาพยนตร์ชุดต่างประเทศ (เกริกเกียรต์ พันธุ์พิพัฒน์ และปนัดดา ธนสถิตย์ 2526) วิธีการของจอมพลสฤษดิ์คือการใช้อำนาจของคณะปฏิวัติในการปิดปากหนังสือพิมพ์ ขณะเดียวกันก็ใช้สื่อวิทยุ-โทรทัศน์กล่อมให้ประชาชนหลับใหลอยู่ในโลกบันเทิง กล่าวได้ว่า สื่อมวลชนในยุคนี้ เป็นสื่อที่ปลอดจากการเมืองแบบ 2 ขั้ว สื่อที่อยู่รอดได้คือสื่อที่สยบยอม (subservient) ต่ออำนาจของรัฐบาลทหาร สื่อถูกถอดวิญญาณหรือถูกถอดสลักให้ปลอดจากการเมือง (de-politicized) นักการเมืองและปัญญาชนขั้วอุดมการณ์ประชาธิปไตย ที่ต่อต้านรัฐถูกกำจัด ด้วยการจับกุม จำคุก และประหารชีวิต (ส่วนใหญ่ด้วยข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์) สื่อที่ต่อต้านที่เหลืออยู่จึงกลายเป็นสื่อใต้ดิน นอกจากนี้ จอมพล สฤษดิ์ ได้ขยายสื่อกองทัพออกไปทั่วประเทศ ควบคู่กับสื่อวิทยุและโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ (ก่อตั้งประชาสัมพันธ์เขตในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้) ทำหน้าที่ด้านความมั่นคง และการพัฒนา
ความสำคัญของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มี 3 ด้าน คือ การวางรากฐานการพัฒนาประเทศ ต่อต้านคอมมิวนิสต์โดยร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา และการส่งเสริมบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ด้วยการฟื้นฟูจารีตเดิมและสร้างประเพณีขึ้นใหม่ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบของตน (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ 2552) นโยบายทั้งสามส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อวงการหนังสือพิมพ์และสื่อสารมวลชนใน 2 ลักษณะ ด้านหนึ่งสื่อถูกบังคับให้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐ ไม่ว่าสื่อหนังสือพิมพ์ของเอกชนหรือสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ของรัฐ อีกด้านหนึ่งสื่อถ่ายทอดวาทกรรมหลักของรัฐในด้านการพัฒนา การต่อต้านคอมมิวนิสต์ และการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้แก่สถาบันกษัตริย์โดยปราศจากคำถามและข้อสงสัย ปูทางสู่ปฏิบัติการทางวิชาชีพ “วารสารศาสตร์เพื่อการพัฒนา” (development journalism) ทั้งหมดนี้ถูกส่งต่อไปยังจอมพล ถนอม กิตติขจร และจอมพล ประภาส จารุเสถียร ผู้สืบทอดอำนาจจากจอมพลสฤษดิ์ ยุคเผด็จการทหารที่ยืนยาวถึง 16 ปี ทำให้วารสารศาสตร์เพื่อการพัฒนาหยั่งรากลึกและกลายเป็นกระแสหลักในสถาบันวิชาชีพสื่อในเวลาต่อมา (อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ 2530)
ในยุคนี้ การเสริมสร้างภาพลักษณ์ของกษัตริย์ให้เป็นกษัตริย์นักพัฒนา ผ่านรูปธรรมของโครงการในพระราชดำรินับพันโครงการถูกทำให้เป็นหน้าที่หนึ่งของสื่อมวลชน การเผยแพร่อุดมการณ์รอยัลลิสต์ในรูปแบบใหม่ดำเนินไปอย่างมีแบบแผน วาทกรรมเชิดชูกษัตริย์ให้สูงส่งเหนือการเมืองของนักการเมืองเข้ามาแทนที่วิธีการโจมตีฝ่ายประชาธิปไตยในยุคก่อน ฝ่ายกษัตริย์นิยมซึ่งอยู่ในสถานะเพลี่ยงพล้ำและอ่อนล้าหลังปฏิวัติ 2475 สามารถกอบกู้สถานภาพคืนมาทีละน้อย ด้วยการเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับระบอบเผด็จการทหารของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และกลุ่มจอมพลถนอม-ประภาส โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตรสำคัญ (ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ 2548)
การปฏิวัติของนิสิตนักศึกษาและประชาชนในเดือนตุลาคม 2516 เปิดให้สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน เบ่งบานในช่วงสั้นๆ เพียง 3 ปี การที่ขบวนการนิสิตนักศึกษาโค่นล้มเผด็จการลงได้ โดยการแทรกแซงของสถาบันกษัตริย์ ส่งผลให้ฝ่ายกษัตริย์นิยมฟื้นคืนพลังทางการเมืองขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง กษัตริย์มีสถานะโดดเด่นในฐานะผู้มีบารมีไกล่เกลี่ยยุติความรุนแรง (ธงชัย วินิจจะกูล 2548) แต่ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีการล้อมปราบนิสิตนักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยก่อนหน้านั้น ฝ่ายกษัตริย์นิยมใช้สื่อของกองทัพ อาทิ วิทยุยานเกราะ ของกลุ่มวิทยุเสรี ในการปลุกระดมกลุ่มลูกเสือชาวบ้านที่เป็นมวลชนฝ่ายขวา และใช้สื่อเอกชน อาทิ ดาวสยาม ในการจุดชนวนประโคมความเกลียดชังว่าผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นนิสิตนักศึกษาต้องการทำลายสถาบันกษัตริย์ (ชาญวิทย์ เกษตรศิริและ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ 2561)
ผู้ถูกปราบปรามนับพันคนหนีไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่มีกองกำลังติดอาวุธสู้กับรัฐบาล ทำให้รัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์เปลี่ยนยุทธศาสตร์มาเป็นการเมืองนำการทหารในการเอาชนะ พคท. รัฐบาลออกคำสั่ง 66/23 เพื่อยุติสถานการณ์สงครามปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ที่รัฐเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างที่สุด ความขัดแย้งรุนแรงครั้งนั้นทำให้กระบวนการการเปลี่ยนแปลงให้เป็นประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยภิวัตน์ (democratization) ของสังคมไทยปรับสู่รูปแบบการเมืองที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ที่มีสภาและ สส. มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่มีอำนาจ มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น สส. หรือ “คนนอก” ได้ ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2526 ไม่มีพรรคการเมืองใดมีเสียงข้างมากเด็ดขาด รัฐสภาได้เสนอชื่อ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 (เมษายน 2526-สิงหาคม 2529) (ธนาพล อิ๋วสกุล 5 กันยายน 2018)
ในยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” หรือ “เปรมาธิปไตย” (8 ปี 5 เดือน) มีการออกแบบการเมืองให้มีการเลือกตั้ง และรัฐสภาที่ประกอบด้วยวุฒิสมาชิกจากการแต่งตั้ง 250 คน (3 ใน 4 ของจำนวน สส.) และมี สส. 340 คน แต่ผู้ที่มีอำนาจในสภาคือวุฒิสภาที่ประกอบด้วยนายทหาร ข้าราชการระดับสูง และตัวแทนกลุ่มทุนบางกลุ่ม (ธนาพล อิ๋วสกุล 2558) ในยุคนี้ ระบอบการเมืองถูกกำกับโดยอำนาจของชนชั้นนำ กลุ่มอำมาตย์ เทคโนแครต ในลักษณะประชาธิปไตยแบบชี้นำจากเบื้องบน (guided / managed democracy) ดังที่ Walter Lippmann เสนอในหนังสือ Public Opinion (1922) ในระบอบกึ่งอำนาจนิยมนี้ตัวแทนของประชาชนในสภาไม่มีอำนาจและไม่มีบทบาทอย่างแท้จริงทางการเมือง สื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงของผู้ปกครองทำหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อเช่นในยุคพ่อขุนของจอมพลสฤษดิ์ อย่างไรก็ดี รัฐบาลไม่ได้ใช้วิธีควบคุมสื่อแบบเข้มงวด แต่เปลี่ยนมาใช้วิธีชี้นำจากเบื้องบน (guided journalism) ให้สื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง (self-censorship) สื่อถูกขอให้งดการวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และเนื่องจาก นายกฯ ซึ่งมีสมญา “เตมีย์ใบ้” มักไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ผู้ที่ถูกสัมภาษณ์จึงเป็นนักการเมืองและรัฐมนตรีบางคน (ปราโมทย์ ฝ่ายอุประ 2562) วาทกรรมนักการเมืองฉ้อฉลคอรัปชั่นเริ่มถูกนำมาใช้ สื่อที่ทำงานแบบที่ถูกชี้นำจากเบื้องบน จึงอยู่ในวังวนของวารสารศาสตร์เพื่อการพัฒนาคู่ขนานไปกับการชี้นำจากอำนาจรัฐ
แม้สื่อจะขาดสิทธิเสรีภาพในยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” แต่สื่อใช้โอกาสที่การเมืองมีเสถียรภาพและเศรษฐกิจขยายตัว “โชติช่วงชัชวาลย์” ทำให้ธุรกิจสื่อเติบโตขึ้น นักวิชาชีพได้นำตัวแบบปฏิบัติการแบบมืออาชีพ (professional journalism) (สุภา ศิริมานนท์ 2530) มาเป็นแนวปฏิบัติและอุดมการณ์ของสื่อ หัวใจสำคัญของแนวทางนี้ คือการรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง การวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดทางการเมือง (impartiality) ในทางสาธารณะสื่อหนังสือพิมพ์จึงสามารถสร้างความชอบธรรม และแสวงหาการยอมรับจากประชาชนด้วยการแสดงตัวว่ามีความเป็นกลางทางการเมือง ทำให้ขยายตลาดผู้อ่าน/ผู้รับได้ สื่อมืออาชีพในยุคนี้ไม่แสดงบทบาทส่งเสริมประชาธิปไตย และไม่ต่อต้านประชาธิปไตยอย่างเด่นชัด (self-depoliticization) แต่ทว่า ในความเป็นจริงสื่อต้องทำงานรับใช้รัฐตามการชี้นำจากเบื้องบน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องอยู่ในอาณัติของรัฐบาลที่เร่งฟื้นฟูอำนาจของสถาบันกษัตริย์อีกคำรบหนึ่ง
ขณะที่อุตสาหกรรมสื่อกำลังหาทิศทางใหม่ เพื่อตอบรับการขยายตัวของตลาดชนชั้นกลางและมวลชนในเมืองและชนบท ฝ่ายกษัตริย์นิยมก็สามารถยึดครองพื้นที่สื่อได้มากขึ้นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 รัฐบาลคณะปฏิรูปฯ มีคำสั่งคณะปฏิรูป ปร.15 ให้สถานีวิทยุทุกสถานี (มากกว่า 250 สถานี) ถ่ายทอดข่าวจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยวันละ 4 ครั้ง รวม 2 ชั่วโมง 20 นาที/วัน ศูนย์สารนิเทศ กองบัญชาการทหารสูงสุด ผลิตรายการ “เพื่อแผ่นดินไทย” ออกอากาศทุกวัน เวลา 18.00-18.30 น. เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรืออุดมการณ์ราชาชาตินิยม และใช้ในการปฏิบัติการจิตวิทยาต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ มีเพียงสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ระบบคลื่นสั้น ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ ระหว่างปี 2508-2522 (ค.ศ.1965-1979) (ปิดเมื่อกรกฎาคม 2522) ส่วนสื่อโทรทัศน์ รัฐบาลคณะปฏิรูปฯ มีคำสั่ง ปร.17 ข้อ 2 (วงเล็บ 1 และ 4) สั่งให้เนื้อหารายการของทุกสถานีต้อง “ส่งเสริมความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ....... ไม่ส่งเสริมให้เกิดความนิยมในลัทธิคอมมิวนิสต์ทั้งทางตรงและทางอ้อม” รายการประเภทอื่นๆ ทั้งหมดรวมทั้งรายการแสดงที่เกี่ยวกับการเมืองหรือพาดพิงถึงการเมืองสถานีต้องบันทึกเทปล่วงหน้า ต่อมา คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) (เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ ในปี 2518) มีหนังสือเวียนให้ทุกสถานีเสนอข่าวพร้อมกันในเวลา 20.00 น. ตั้งแต่ 20 เมษายน 2520 เป็นต้นไป การยึดเวลาสื่อวิทยุและโทรทัศน์เพื่อเปลี่ยนผังรายการในช่วงปี 2519-2520 (ค.ศ.1976-1977) นับว่าเป็นต้นแบบของการเพิ่มพื้นที่ในการโฆษณาด้านเดียวของฝ่ายกษัตริย์นิยม ซึ่งต่อมามีการเพิ่มรายการสารคดีสั้นเป็นรายการประจำ และสารคดีเทิดพระเกียรติในวาระพิเศษต่าง ๆ โดยเฉพาะจากสำนักงานคณะกรรมการเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ
นอกจากการใช้พื้นที่สื่อวิทยุและโทรทัศน์ในการสร้างการชอบธรรมทางการเมืองแล้ว ฝ่ายกษัตริย์นิยมได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) (9 เมษายน 2520) โอนกิจการของสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหมหรือช่อง 9 และสถานีวิทยุ ท.ท.ท. 6 คลื่นในกรุงเทพให้แก่ อ.ส.ม.ท. รวมทั้งจัดตั้งสำนักข่าวไทยขึ้นใหม่ใน อ.ส.ม.ท. เท่ากับการยึดเอาสถานีโทรทัศน์ที่จอมพล ป. พิบูลสงครามก่อตั้งในปี 2498 มาอยู่ในฝ่ายกษัตริย์นิยม กรมประชาสัมพันธ์จึงมีเพียงโทรทัศน์ในส่วนภูมิภาคและวิทยุในเครือสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
อีกด้านหนึ่งโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) หรือ ทีวีพูล ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2511[ii] มีบทบาทสำคัญในการยกระดับอุดมการณ์ชาตินิยมสู่ราชาชาตินิยมผ่านภาพเคลื่อนไหวทางโทรทัศน์ที่สมจริงและสวยงามยิ่งใหญ่อลังการ การถ่ายทอดสดในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พิธีจรดพระนางคัลแรกนาขวัญ พิธีเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค สร้างความตื่นตาตื่นใจและความประทับใจแก่พสกนิกรทั่วประเทศ ภาพลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ผู้มีบุญญาธิการ ที่ถูกถ่ายทอดออกไปสู่สายตาของประชาชนพร้อมกัน ได้สร้างให้เกิดความรู้สึกใกล้ชิดระหว่างกษัตริย์กับประชาชนอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ฝ่ายกษัตริย์นิยมได้เพิ่มมิติใหม่ในการใช้ทีวีพูลนิยามความหมายของกษัตริย์นักประชาธิปไตย ในโอกาสที่พระราชทานกระแสพระราชดำรัสในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา 5 ธันวาของทุกปี หรือในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งเหตุการณ์พฤษภา 2535 การถ่ายทอดสดทางทีวีพูล (หรือบันทึกเทปออกอากาศแบบรวมการเฉพาะกิจ) ทำให้ประชาชนที่ดูอยู่ทางบ้านรู้สึกเหมือนร่วมเป็นประจักษ์พยานในเรื่องนั้นๆ ราวกับได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ด้วยตนเอง ขณะเดียวกัน ทีวีพูลจะเป็นกลไกการสื่อสารสำคัญที่กองทัพใช้ในการยึดอำนาจ ในทศวรรษ 2530, 2540 และ 2550
3. วารสารศาสตร์มืออาชีพ ชนชั้นกลาง กับกระแสราชาชาตินิยมใหม่ (2531-2544) (ค.ศ.1988-2001)
นายกรัฐมนตรี พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ จากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 (ค.ศ.1988) ได้ใช้นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า สร้างบรรยากาศเศรษฐกิจใหม่ที่คึกคัก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 9-10 ต่อปี (ปี 2530 = 8.4%, 2531 = 11%, 2532 = 10.5%) (รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ 2533) ไม่เพียงทำให้กลุ่มทุนเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยกำลังกลับมา บริบทเศรษฐกิจการเมืองช่วงนี้ส่งผลให้อุตสาหกรรมสื่อขยายตัวทวีคูณ ตลาดสินค้าผู้บริโภคเติบโตอย่างก้าวกระโดดทำให้ธุรกิจโฆษณาและประชาสัมพันธ์มีบทบาทมาก หนังสือพิมพ์แนวการเมืองกลุ่มหนึ่งได้นำองค์กรจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทมหาชน อาทิ บ.โพสต์พับลิชชิ่ง (2527) บ.เนชั่นกรุ๊ป (2531) บ.มติชน (2536) บ.แมเนเจอร์กรุ๊ป (2536) นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์แนวธุรกิจได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน พื้นที่สื่อที่เสนอข่าวสารการเมืองขยายตัวอย่างสอดคล้องกันไม่ว่าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ รายการข่าวทางโทรทัศน์ขยายเวลาออกอากาศ มีรายการข่าวภาคเช้า เที่ยง และค่ำ/ดึกเพื่อตอบสนองความต้องการข่าวสารของผู้ชม ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้เริ่มสร้างการรับรู้ทางการเมืองให้กับมวลชนที่แตกต่างไปจากอดีต ขณะเดียวกัน สื่อบันเทิงก็ผลิตรายการบันเทิงที่ใช้ทุนมาก เช่น การถ่ายทำละครในต่างประเทศ การลงทุนฉากและเครื่องแต่งกายตัวละครเอกที่หรูหรา ชนชั้นกลางได้สัมผัสกับชีวิตการเมือง/วัฒนธรรมที่มีคุณภาพต่างไปจากยุคก่อน ทั้งในโลกจริงและในโลกจินตนาการ
สถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตบัณฑิตด้านนิเทศศาสตร์ 7 แห่ง ในช่วงทศวรรษ 2500-2520 ได้เพิ่มจำนวนเป็นกว่า 20 แห่งในช่วงนี้ เพื่อป้อนบัณฑิตให้กับอุตสาหกรรมสื่อสาขาต่าง ๆ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสาขาประชาสัมพันธ์และโฆษณา หลักสูตรเน้นความเป็นสื่อมืออาชีพ และมีหลักสูตรสื่อสารเพื่อการพัฒนา (ระดับบัณฑิตศึกษา) ที่ได้รับความนิยมจากผู้เรียนที่เป็นข้าราชการและอาจารย์ (อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ 2530) ผลจากการเติบโตของสื่อมวลชนที่กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และนักวิชาชีพที่ได้รับการฝึกฝนจากหลักสูตรที่คล้ายคลึงกันที่ไม่เน้นการศึกษาแบบวิพากษ์ ทำให้วงการธุรกิจโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และสื่อบันเทิงอุดมไปด้วยมืออาชีพที่พร้อมจะไปตามกระแสที่ครอบงำสังคมอยู่
การเมืองและสื่อมวลชนที่ดูประหนึ่งเปิดเสรีและขยายตัวต่อเนื่อง อีกด้านหนึ่งยังมีฝ่ายอนุรักษนิยมที่เติบโตควบคู่มาด้วย การแข่งขันทางอุดมการณ์ระหว่างการที่ไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังเศรษฐกิจการเมืองเสรีนิยมกับอุดมการณ์(ราชา)ชาตินิยม – ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่มีการบ่มเพาะมาในช่วง 3 ทศวรรษตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมาปะทะกันอย่างเข้มข้น นำไปสู่รัฐประหารโดยกองทัพเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 (ค.ศ.1991) คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พลเอก สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกและผู้นำเหล่าทัพอ้างว่า รัฐบาลที่สื่อให้สมญาว่ารัฐบาล “บุฟเฟต์คาบิเนต” เป็นเหตุ รสช.ต้องยึดอำนาจเนื่องจากนักการเมืองคอรัปชั่น รังแกข้าราชการประจำ เป็นรัฐบาลเผด็จการ ทำลายสถาบันทหาร และบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ (ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ 2550)
รัฐบาลชั่วคราวที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน ที่ รสช. แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 22 มีนาคม 2535 (ค.ศ.1992) สภาได้เสนอชื่อพลเอก สุจินดา คราประยูร ซึ่งเพิ่งพ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เป็นนายกรัฐมนตรี ประชาชนไม่พอใจที่ พลเอก สุจินดา เสียสัตย์ทั้งที่เคยให้สัญญาว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง การเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2535 มีสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และองค์การนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ และสมาพันธ์ประชาธิปไตยเป็นแกนนำ ข้อเรียกร้องคือให้พลเอก สุจินดา ลาออกทันที แต่รัฐบาลกลับส่งทหารออกมาปราบปรามประชาชนที่ชุมนุมอยู่ที่ถนนราชดำเนิน ระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2535 มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ 44 คน สูญหาย 48 คน พิการ 11 คน บาดเจ็บ 1,728 คนและบาดเจ็บสาหัส 47 คน (ประชาไท 2560) พลเอก สุจินดา ได้อ่านคำชี้แจงฉบับที่ 2 เวลา14.45 น. เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ให้เหตุผลว่าแกนนำผู้ชุมนุม (พลตรี จำลอง ศรีเมืองและพวก) ได้รับการจัดตั้งจากพรรคคอมมิวนิสต์ ต้องการใช้ความรุนแรงในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นระบอบที่พระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจใดๆ เลย ในคำชี้แจงฉบับที่ 1 พลเอก สุจินดา ระบุว่า พลตรี จำลอง ศรีเมืองมีพฤติกรรมเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ (ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ 2550) สะท้อนให้เห็นว่าการปราบปรามผู้ชุมนุมนั้น รัฐบาลทำไปเพื่อรักษาอุดมการณ์ราชาชาตินิยมหรือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขซึ่งกษัตริย์มีอำนาจเหนือการเมือง
เที่ยงคืนวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) ได้นำเทปบันทึกกระแสพระราชดำริที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีต่อพลเอก สุจินดา คราประยูร และพลตรี จำลอง ศรีเมือง และองคมนตรี เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง หลังจากนั้น ทั้งสองแถลงร่วมกันว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง ต่อมา วันที่ 24 พฤษภาคม พลเอก สุจินดา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับเป็นการถอยครั้งที่ 2 ของทหารหลังการปฏิวัติของประชาชนนิสิตนักศึกษาในปี 2516 (ค.ศ.1973) ในขณะที่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้ยุติความรุนแรงและความขัดแย้งแผ่รัศมีแรงกล้า ได้รับการยอมรับทั่วไปว่าทรงเป็นประมุขที่มีความชอบธรรมทางการเมืองเหนือสถาบันการเมืองอื่นใด
กระแสกษัตริย์นิยมที่สูงเด่นอย่างไม่เคยมีมาก่อนนี้ ได้เพิ่มความชอบธรรมให้กับอุดมการณ์ราชาชาตินิยมที่มีการบ่มเพาะมากว่า 4 ทศวรรษ หากราชาชาตินิยมมีนิยามว่า กษัตริย์เป็นผู้รักษาเอกราช และกอบกู้ชาติตามตำราประวัติศาสตร์แล้ว หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 อุดมการณ์ราชาชาตินิยมถูกเปลี่ยนแปรให้ทันสมัยขึ้นเป็นราชาชาตินิยมใหม่ในแง่ที่ว่า กษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรมเป็นนักประชาธิปไตยและรับใช้ประชาชน (ธงชัย วินิจจะกูล 2554) นอกจากนี้ ยังเป็นกลางทางการเมืองเพราะไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการยุติข้อขัดแย้งในวิกฤติการณ์ทางการเมือง
จากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และพฤษภา 35 ธงชัย วินิจจะกูล (2548) ชี้ว่า
““ประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา” ไม่ใช่การต่อสู้ของประชาชนกับเผด็จการทหาร และไม่ใช่แค่การต่อสู้กับทุนท้องถิ่นทุนระดับชาติที่หนุนนักการเมืองที่ฉ้อฉล แต่ [ขณะนี้ (หลังทหารหมดบทบาท)] เป็นระบบการเมืองแบบ 3 ส่วน ได้แก่ (1) มวลชน (2) ทุนและนักการเมือง และ (3) ฝ่ายกษัตริย์นิยม”
สำหรับฝ่ายกษัตริย์นิยม การจะเสริมสร้างภาพลักษณ์ของกษัตริย์ภายใต้อุดมการณ์ราชาชาตินิยมใหม่ ให้ประชาชนรับรู้ และยอมรับว่ากษัตริย์นักประชาธิปไตยอยู่บนยอดของปิระมิดการเมืองไทย ย่อมต้องอาศัยพลังอำนาจของสื่อหลากหลายรูปแบบ ในการทำให้เกิดความทรงจำร่วมของกษัตริย์ของมวลชน (mass monarchy) ในแง่นี้ ปัญญาชน กระฎุมพี ศิลปินแขนงต่าง ๆ ที่ยกย่องในพระบารมีต่างทุ่มเทความสามารถในการผลิตวาทกรรมกษัตริย์นักพัฒนา กษัตริย์นักประชาธิปไตย กษัตริย์อัจฉริยะ กษัตริย์นักดนตรี ฯลฯ ออกมาอย่างไม่ขาดสาย โดยสร้างสรรค์เรื่องเล่าแบบต่าง ๆ อาทิ นิทาน บทเพลง บทกวี ปฏิทิน ภาพวาด ภาพถ่าย วีดีทัศน์ ภาพยนตร์ สารคดี ข้อเขียนเทิดพระเกียรติ รูปปั้น และงานศิลปะในรูปแบบอื่นๆ ที่สามารถถูกผลิตซ้ำ และเข้าถึงได้ง่ายจากทุกหนทุกแห่ง เป็นสินค้าที่หาซื้อมาครอบครองได้ บางคนมีไว้เพื่อเคารพบูชาเฉกเช่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระบรมฉายาลักษณ์ บางคนนำมาใช้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น นาฬิกา ปฏิทิน หรือสร้างความผูกพันพิเศษ เช่น การเล่านิทานเกี่ยวกับพระราชาให้ลูกฟัง เปิดเพลงพระราชนิพนธ์ในวาระพิเศษ เรื่องเล่ารูปแบบต่าง ๆ จึงปรากฏอยู่รอบตัวทุกที่ทุกเวลาก็ว่าได้
เสรีภาพของสื่อในช่วงก่อนปี 2540 เป็นความเบ่งบานของเสรีภาพทางเศรษฐกิจพร้อมกับความศรัทธาในอุดมการณ์ราชาชาตินิยมใหม่ เมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในเดือนกรกฎาคม 2540 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและอุตสาหกรรมสื่อ กระแสเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปสื่อภายหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 ที่ต่อเนื่องถึงช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นฉันทามติใหม่หรือผลพวงของสิ่งที่เกษียร เตชะพีระ (2560) เรียกว่าฉันทามติภูมิพล (The Bhumibol consensus) [iii] ในขณะนั้นชนชั้นกลาง เทคโนแครต เครือข่ายประชาสังคมและสื่อมวลชนซึ่งมีบทบาทในการจัดทำรัฐธรรมนูญ มีความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้ง และระบอบรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และอุดมการณ์ราชาชาตินิยมภายใต้พระราชอำนาจนำจะเป็นทางออกจากวิกฤติได้ รัฐธรรมนูญปี 2540 (ค.ศ.1997) ถูกออกแบบมาให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมาก และมีองค์กรอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบคานอำนาจฝ่ายบริหาร สื่อมวลชนใช้โอกาสนี้รวมตัวกันเป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ หรือนัยหนึ่งทำหน้าที่เป็นสภาอุตสาหกรรมของสื่อ ในการต่อรองให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพ และคุ้มครองนักวิชาชีพสื่อไม่ว่าจะทำงานในองค์กรสื่อเอกชนหรือของรัฐ อุตสาหกรรมสื่อและนักวิชาชีพสื่อจึงเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับกลุ่มที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมือง และร่างรัฐธรรมนูญปี 2540
ส่วนผลของการปฏิรูปสื่อ รัฐบาลชั่วคราวที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี (อีกครั้ง) ได้เปิดให้มีสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ในระบบยูเอชเอฟ 1 ช่อง กำหนดให้เป็นสถานีข่าว สถานีโทรทัศน์แห่งนี้มีชื่อว่า “ไอทีวี” [iv] (iTV - Independent Television) เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 (ค.ศ.1996) (ศุภัจฉรี วิชัยดิษฐ์ 2539) ธนาคารไทยพาณิชย์และธุรกิจในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นในไอทีวีด้วย นับเป็นความพยายามครั้งที่สองที่ฝ่ายกษัตริย์นิยมต้องการมีอิทธิพลโดยตรงในสื่อโทรทัศน์ (ปี 2520 หลัง 6 ตุลา 2519 รัฐบาลยึดสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม จากกรมประชาสัมพันธ์ เปลี่ยนเป็นช่อง 9 อ.ส.ม.ท.) อย่างไรก็ดี การปฏิรูประบบวิทยุและโทรทัศน์ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 บัญญัติไว้ในมาตรา 40 ให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ ให้เท่าเทียมกันระหว่างส่วนราชการ เอกชน และภาคประชาชนไม่บรรลุผล สภาและรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง ไม่สามารถทวงคืนสถานีวิทยุและโทรทัศน์ที่กองทัพเป็นเจ้าของได้ หลังรัฐประหารของ คสช. ในปี 2557 (ค.ศ.2014) กองทัพได้จัดโครงสร้างวิทยุและโทรทัศน์ของประเทศใหม่ทั้งหมดดังจะได้กล่าวต่อไป
4. วารสารศาสตร์การเมือง: กษัตริย์นิยมและประชาธิปไตยภิวัตน์ (2545-2561) (ค.ศ.2002-2018)
ความขัดแย้งทางการเมืองที่แยกขั้วเป็นฝ่ายเสื้อเหลืองและฝ่ายเสื้อแดง ระหว่างกลุ่มอำนาจคณาธิปไตยเก่าและอำนาจคณาธิปไตยใหม่ หรือฝ่ายระบอบเดิมและฝ่ายระบอบใหม่ในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษมานี้ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (2562) ชี้ว่ามีสิ่งที่อยู่ลึกลงไปกว่าภาพปรากฏ เป็นการต่อสู้ระหว่าง “ฝ่ายตัวแทนหรือเครือข่ายอำนาจเดิม บารมีเดิม เงินทุนเดิม ความคิดเดิม ชนชั้นเดิม ๆ กับอีกฝ่ายหนึ่ง คือตัวแทนหรือเครือข่ายของอำนาจใหม่ บารมีใหม่ เงินทุนใหม่ ความคิดใหม่กับชนชั้นใหม่ ๆ” ทั้งหมดนี้มีองค์ประกอบที่ซ้อนกันอยู่ 5 ฝ่าย ได้แก่ M-1 ฝ่ายสถาบันกษัตริย์และเครือข่าย (Monarchy and its network) M-2 ฝ่ายสถาบันทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารบก (Military-the Army) M-3 ฝ่ายเงินทุน นักธุรกิจ นายทุน (Money-Capital-Business factor) M-4 ฝ่ายชนชั้นกลางกับสื่อมวลชน (Middle Class and Mass Media) M-5 ฝ่ายมวลชนและพระสงฆ์ (Mass and Monks) (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 2562) ความสัมพันธ์ภายในของ 5 ฝ่ายวางซ้อนกันเป็นแนวดิ่งตามรูปทรงปิระมิด โครงสร้างอำนาจของแต่ละกลุ่มถูกจัดช่วงชั้นไว้จากมากไปหาน้อย ในลักษณะของรัฐไม่เป็นทางการที่อยู่คู่ขนานกับรัฐที่เป็นทางการ (parallel state) (Chambers 2020) [v]
ในมุมมองนี้ ชนชั้นกลางและสื่อมวลชนเป็นหนึ่งในใจกลางของการต่อสู้ระหว่างสองเครือข่าย คือฝ่ายอำนาจเดิมและฝ่ายอำนาจใหม่ที่อาจทำให้ขั้วกษัตริย์นิยมมีความชอบธรรมและทรงพลังมากขึ้น หรืออาจทำให้ขั้วรัฐธรรมนูญนิยมหรือประชาธิปไตยภิวัตน์เป็นฝ่ายได้เปรียบก็เป็นได้ ท่ามกลางความขัดแย้งดังกล่าว ชนชั้นกลางและสื่อมวลชนได้เปลี่ยนจุดยืนทางการเมือง จากที่เคยแสดงออกว่าสนับสนุนระบอบรัฐสภาและนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 และต้องการรัฐธรรมนูญที่ให้การรับรองสิทธิเสรีภาพกว้างขวางขึ้น ในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 (2548-2549) (ค.ศ.2005-2006) พวกเขากลับพลิกไปสนับสนุนฝ่ายกษัตริย์นิยม มีกลุ่มรอยัลลิสต์เครือข่ายคนดีที่เรียกว่า “เครือข่ายสถาบันกษัตริย์” หรือ Network Monarchy (Duncan McCargo 2005) [vi] และพรรคการเมืองอนุรักษนิยมเป็นแกนนำสำคัญ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ชนชั้นกลางและสื่อมวลชน เปลี่ยนความเชื่อทางการเมืองไปสู่ขั้วตรงข้ามในเวลาอันสั้น พวกเขาชุมนุมต่อต้านและล้ม รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (พรรคไทยรักไทย) ที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะพวกเขาไม่ได้เชื่อมั่นในกระบวนการประชาธิปไตยภิวัตน์อย่างแท้จริง หรือพวกเขาตกอยู่ในกับดักของวาทกรรมที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเองตลอดเวลากว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมา หรือ “ระบอบทักษิณ” ส่งผลกระทบอย่างถึงราก ทำให้พวกเขาสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อำนาจทางสังคม และวัฒนธรรม (ธนศักดิ์ สายจำปา 2558)
ส่วนนี้ของบทความ จะนำเสนอบทบาทของสื่อมวลชนกษัตริย์นิยมในการโค่นล้ม “ระบอบทักษิณ” นำไปสู่การเมืองนอกระบอบประชาธิปไตย และการหวนคืนสู่การเมืองของกองทัพในการรัฐประหาร 2 ครั้ง ที่มีสาระสำคัญแตกต่างกัน
ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงมากเป็นประวัติการณ์ในการเลือกตั้งครั้งที่ 21 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 (มี สส. 377 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่ง แบบแบ่งเขต 310 ที่นั่ง แบบบัญชีรายชื่อ 67 ที่นั่ง ได้คะแนนเสียง 18.9 ล้านเสียงหรือร้อยละ 75.4) [vii] สะท้อนให้เห็นผลจากการออกแบบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่มีโอกาสชนะเลือกตั้ง รัฐบาลเข้มแข็งมีบทบาทการเมือง แต่ในปี 2547 ปลายรัฐบาลไทยรักไทย (1) ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี (2544-2548) (ค.ศ.2001-2005) ชนชั้นกลาง ปัญญาชน นักวิชาการและสื่อมวลชนวิจารณ์รัฐบาลที่พวกเขาขนานนามว่า “ระบอบทักษิณ” หรือ Thaksinomics อย่างหนักหน่วง (ดูรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ 2548, เกษียร เตชะพีระ 2551, Pasuk Phongpaichit and Chris Baker 2004, Duncan McCargo and Ukrist Pathmanand 2005) นโยบายเศรษฐกิจประชานิยมของรัฐบาลทักษิณมีขนาดใหญ่กว่ารัฐบาลอื่น ๆ ในอดีตมาก ด้านหนึ่งมุ่งสู่ฐานเสียงมวลชนเกษตรกรรากหญ้าในชนบท เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร ธนาคารคนจน นโยบายสาธารณสุข 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น นโยบายที่นำเอาทรัพยากรที่เคยกระจุกรวมศูนย์ที่ส่วนกลางกระจายไปสู่ภูมิภาคเหล่านี้ ถูกวิจารณ์ว่าใช้เงินงบประมาณอย่างสิ้นเปลืองเพื่อสร้างคะแนนนิยม แนวทางเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณ ยังหมายถึงการแปรรูปกิจการสาธารณะของรัฐให้กลายเป็นของเอกชนตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ ควบคู่กับประชาบริโภคนิยมสำหรับคนจนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง (เกษียร เตชะพีระ 2550, Pasuk Phongpaichit and Chris Baker 2004) ซึ่งถูกระบุว่าเป็น “ทุนนิยมสามานย์”
ในทางการเมือง พรรคไทยรักไทยถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพียงพรรคเถ้าแก่หาใช่พรรคการเมืองแบบ/ของมหาชนไม่ มีความเป็นเผด็จการสูง และขาดเสถียรภาพ รัฐบาลไทยรักไทยเป็นรัฐบาลขี้ฉ้อ ไม่เล่นตามเกมส์กติกา รวมศูนย์อำนาจการบริหารแบบซีอีโอ ขาดธรรมาภิบาล คอรัปชั่นเชิงนโยบาย และมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างธุรกิจส่วนตัวและนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะด้านสื่อสารโทรคมนาคมและโทรทัศน์ มีการเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ดังที่รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ (2548) เรียกว่า “ระบอบทักษิณาธิปไตย” ในมุมมองของ เกษียร เตชะพีระ (2550) ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งระหว่างระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นระบอบประชาธิปไตยอำนาจนิยมภายใต้อำนาจนำของกลุ่มทุนใหญ่ กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือระบบเลือกตั้งธิปไตยภายใต้พระราชอำนาจนำ นอกจากนี้ นโยบายของรัฐบาลด้านปราบปรามยาเสพติด – “สงครามยาเสพติด” ถูกวิจารณ์ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ฆ่าตัดตอนผู้ค้ารายเล็กและผู้เสพจำนวนมาก นโยบาย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการปราบปรามกลุ่มแบ่งแยกดินแดนได้สร้างปัญหาและความหวาดกลัวใน 3 จังหวัด (Human Rights Watch 2006)
ระบอบทักษิณกับสื่อเลือกข้าง
ปลายรัฐบาลทักษิณ (1) นักวิชาการเขียนบทความเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ และตีพิมพ์งานวิชาการวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของรัฐบาลทักษิณ สื่อมวลชนส่วนใหญ่คล้อยตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์และวาทกรรม “ระบอบทักษิณ”/“ทุนนิยมสามานย์” ซึ่งถูกมองว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา-กษัตริย์เป็นประมุขและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปัญญาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชนวิจารณ์ ทักษิณว่าเล่นการเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เป็นนักธุรกิจการเมืองสื่อ และมีนโยบาย “ขายชาติ” แนวปฏิบัติและนโยบายด้านสื่อของรัฐบาลทักษิณที่ข่มขู่คุกคามและแทรกแซงสื่ออย่างหนักเป็นบริบทที่ทำให้อุตสาหกรรมสื่อต้องเลือกข้าง/ขั้วทางการเมือง ว่าจะอยู่ข้างรัฐบาลหรือต่อต้านรัฐบาล อย่างไรก็ดี ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลด้วยเหตุผลว่าสิทธิเสรีภาพสื่อถูกลิดรอนอาจมองเห็นปัญหาเฉพาะหน้าที่กำลังต่อสู้อยู่ โดยไม่รู้(หรืออาจรู้) ว่าการต่อสู้นี้เป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลทักษิณกับรัฐเร้นลึก (Deep State) (เออเจนี เมริโอ 2559) ที่แฝงอยู่ในระบบการเมืองไทย [viii]
สำหรับสื่อที่เลือกต่อต้านรัฐบาล พวกเขาเชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณไม่มีความชอบธรรมในการบริหาร จากเหตุปัจจัยอย่างน้อย 4 ประการ รัฐบาลคุกคามและแทรกแซงสื่อเอกชน รัฐบาลผูกขาดอำนาจการใช้สื่อของรัฐทุกเครือข่าย รัฐบาลมีนโยบายแปรรูปสื่อโทรทัศน์ของรัฐให้เป็นเอกชน (นำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) และครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าของโทรทัศน์ไอทีวี และกิจการโทรคมนาคมอันดับหนึ่งของประเทศรวมทั้งดาวเทียมที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารยุคใหม่ ทั้งยังมีพันธมิตรเครือข่ายสื่อ เช่น สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และมีแนวโน้มจะซื้อกิจการสื่อประเภทอื่น ๆ เข้ามาเสริมฐานอำนาจของตน (อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ 2547, Pasuk Pongpaichit and Chris Baker 2004) นอกจากเหตุผลที่เป็นรูปธรรมที่ชี้ว่าพ.ต.ท.ทักษิณต้องการกินรวบสื่อแล้ว สื่อมวลชนในฝ่ายต่อต้านทักษิณยังรู้สึกว่าอำนาจของตนถูกลดทอนลงไป จากที่เคยมีบทบาทสูงในสังคมช่วงปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปสื่อระหว่างทศวรรษ 2530 - ต้นทศวรรษ 2540 สื่อมวลชนเห็นว่ารัฐบาลเหลิงอำนาจ ไม่ฟังเสียงทักท้วงหรือวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อและสังคม กล่าวได้ว่า รัฐบาลทักษิณได้นำสื่อกลับสู่ยุควารสารศาสตร์การเมือง 2 ขั้วที่ต่อสู้กัน คือระหว่างฝ่ายเสรีนิยมใหม่ (ระบอบใหม่) และฝ่ายเศรษฐกิจพอเพียง (ระบอบเก่า) หรือระหว่างประชาธิปไตยที่กินได้กับประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เฉกเช่นสภาพการณ์หลังปฏิวัติ 2475 ที่สื่อแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย - ฝ่ายรัฐธรรมนูญนิยมกับฝ่ายกษัตริย์นิยม
สื่อที่ถูกทำให้ปลอดการเมืองในยุคเผด็จการทหาร ซึ่งเปลี่ยนเป็นสื่อมืออาชีพในยุคสื่อพาณิชย์นิยมช่วงทศวรรษ 2530 – 2540 ได้แปรเปลี่ยนเป็นสื่อเลือกข้างทางการเมือง (partisan media) ในยุครัฐบาลทักษิณ (2) ทั้งในแวดวงวารสารศาสตร์ วงการบันเทิง การแสดง และภาพยนตร์ และวงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยส่วนใหญ่เลือกข้างฝ่ายกษัตริย์นิยม แม้ว่าพวกเขาจะสนับสนุนการปฏิรูปการเมืองและหนุนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นสู่อำนาจเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ แต่นโยบายของรัฐบาลที่ปิดกั้นไม่ให้สื่อวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยการข่มขู่ ถอดรายการจากผัง การตรวจสอบทรัพย์สินของบรรณาธิการ การฟ้องผู้วิพากษ์วิจารณ์ หรือเข้าถือหุ้นสื่อเพื่อให้สามารถควบคุมทิศทางและเนื้อหาของสื่อนั้น ๆ ได้ เช่น กรณีตัวอย่างสถานีโทรทัศน์ ไอทีวี ซึ่ง พ.ต.ท. ทักษิณ ได้ซื้อหุ้น 39% ก่อนการเลือกตั้งเดือนมกราคม 2544 นักข่าวไอทีวี คัดค้านการเซ็นเซอร์และแทรกแซงการทำงานของกองบรรณาธิการข่าว ต่อมา นักข่าว 23 คนถูกปลด พวกเขาต่อสู้โดยการยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานว่าถูกปลดอย่างไม่เป็นธรรม (Ubonrat Siriyuvasak 2006) จากมาตรการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นเหล่านี้ ทำให้สื่อเริ่มหันเหทิศทางไม่ให้การสนับสนุนรัฐบาล เห็นรัฐบาลเป็นศัตรู อีกด้านหนึ่งรัฐบาลใช้วิธีการให้ผลประโยชน์ตอบแทนสื่อที่เงียบเสียงไม่วิพากษ์วิจารณ์ เช่น การสนับสนุนค่าโฆษณาจากหน่วยงานรัฐ
ความขัดแย้งในปริมณฑลสื่อและรัฐบาล เป็นฉากโหมโรงที่การต่อสู้ปะทะกันเป็นเรื่องประจำวันบนหน้าสื่อและหน้าทำเนียบรัฐบาล หรือการข่มขู่คุกคามเป็นระยะ หรือการฟ้องร้องคดีในศาล แต่การต่อสู้ที่เข้มข้นกว่าและหวังผลเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเกิดขึ้นอย่างมีแบบแผน ด้วยการประโคมทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลทักษิณในสายตาสาธารณชนและเสนอทางเลือกที่คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ การแสดงฉากนี้ตกอยู่ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และสนธิ ลิ้มทองกุล กับสื่อในเครือผู้จัดการ ซึ่งหลัก ๆ ประกอบด้วย หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ และโทรทัศน์ เอเอสทีวี ที่เรียกตนเองว่า “ขบถสื่อโทรทัศน์” (สุวิชชา เพียราษฎร์ 2551) สนธิ ลิ้มทองกุลเป็นเจ้าพ่อสื่อเช่นเดียวกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งคู่เคยเป็นมิตรทางการเมืองในช่วงแรกที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ขัดแย้งกันในเรื่องสัมปทานโทรทัศน์ช่อง 11 จนกลายเป็นศัตรูทางการเมืองในเวลาต่อมา (เกษียร เตชะพีระ 2550) นอกจากนี้ ฝ่ายกษัตริย์นิยมมีเครือข่ายสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ที่พร้อมให้การสนับสนุน เช่น หนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ และ แนวหน้า และสื่อที่มีอิทธิพลในหมู่ชนชั้นนำ และปัญญาชน อาทิ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ Bangkok Post และ The Nation และ โพสต์ทูเดย์ ในเครือโพสต์พับลิชชิ่ง กรุงเทพธุรกิจ, คมชัดลึก ในเครือเนชั่นกรุ๊ป ทำหน้าที่คัดค้านและขุดคุ้ยข้อผิดพลาดของนโยบายของรัฐบาลอย่างเข้มข้น รวมทั้งหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ในเครือ มติชน ที่เจาะข่าวเรื่องการซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ถูกฟ้องในคดีซุกหุ้นก่อนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายกฟ้อง) (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2544) หนังสือพิมพ์มหาชนฉบับใหญ่ เช่น ไทยรัฐ และ เดลินิวส์ อาจไม่แสดงท่าทีต่อต้านรัฐบาลเช่นกลุ่มหนังสือพิมพ์ที่ผู้อ่านเป็นชนชั้นนำและปัญญาชน แต่ก็ไม่ปกป้องรัฐบาลจากกระแสโจมตีที่รุนแรงได้ สำหรับสื่อโทรทัศน์ มีสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ และเครือข่ายในภูมิภาค สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และเครือข่ายทั่วประเทศ สถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. และสถานีวิทยุในเครือ อ.ส.ม.ท. ที่รัฐบาลกำกับดูแลโดยตรงให้การสนับสนุน อย่างไรก็ดี สื่อของรัฐทั้งสองเครือข่ายไม่มีความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชน ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล
สื่อกษัตริย์นิยมและการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
กลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมคัดค้านรัฐบาลทักษิณอย่างยืดเยื้อ 4 เดือนตั้งแต่ปลายปี 2548 - 2549 (ค.ศ.2005-2006) เริ่มจากรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร จากนั้น สนธิ ลิ้มทองกุล ร่วมกับตัวแทนของเครือข่ายนักพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปัญญาชนนักวิชาการ และสันติอโศก จัดตั้ง “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” (พธม.) หรือ People’s Alliance for Democracy เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2549 เคลื่อนไหวทางการเมือง ใช้สื่อในเครือข่ายของกลุ่มตนโฆษณาโจมตี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลุ่มพันธมิตรฯ ชูสโลแกน “กู้ชาติ” ใส่เสื้อสีเหลือง ผูกริบบิ้นสีฟ้า และระบุอัตลักษณ์ของกลุ่มว่าเป็น “ลูกจีนรักชาติ” แสดงถึงความจงรักภักดีของชุมชนจีนตั้งแต่อดีตที่อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารของสถาบันกษัตริย์ การปราศรัยบนเวทีชุมนุมบนถนนราชดำเนินมีการถ่ายทอดสดผ่านสัญญาณดาวเทียมออกอากาศทางสถานี เอเอสทีวี ไปทั่วประเทศ ปัญญาชน นักวิชาการ ศิลปิน-นักแสดง นักร้อง นักดนตรี นักการเมือง สลับกันขึ้นเวทีปราศรัยของพันธมิตรทุกวัน พวกเขาสามารถสร้างความประทับใจ ความบันเทิง และปลุกพลังฮึกเหิมให้แก่ผู้ชุมนุม วาทกรรมต่าง ๆ ที่โจมตีรัฐบาลได้บั่นทอนความชอบธรรมของรัฐบาลทักษิณเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะวาทกรรม “ระบอบทักษิณ” และ “ทุนนิยมสามานย์” ที่นำเสนอในรูปแบบวิชาการถูกนำมาย่อยให้มวลชนเสื้อเหลืองฟังด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายและลีลาการถ่ายทอดที่เร้าใจ นอกจากนี้ วาทกรรมที่ตอกย้ำให้เห็นว่านักการเมืองเป็นผู้ร้าย เช่น นักการเมืองซื้อเสียง นักการเมืองคอรัปชั่น มีการใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือนักการเมืองเป็นพวกไร้จริยธรรม เล่นการเมืองแบบน้ำเน่า หรือระบอบประชาธิปไตยไม่เหมาะกับสังคมไทย เช่น รัฐบาลเสียงข้างมากคือเผด็จการรัฐสภา เลือกตั้งไม่เท่ากับประชาธิปไตย ถูกนำมาใช้โจมตีระบอบประชาธิปไตยและฝ่ายประชาธิปไตย (Thongchai 2008) วาทกรรมการปกครองบ้านเมืองด้วยคนดีมีศีลธรรมถูกนำมาเปรียบเทียบกับนักการเมืองสามานย์ ความสามัคคีถูกนำมาเปรียบเทียบกับการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เรื่องเล่าจากวาทกรรมหลักและวาทกรรมรองทั้งปวงได้นำไปสู่ประเด็นหัวใจของฝายกษัตริย์นิยม นั่นคือ ข้อกล่าวหาที่ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ (พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ 2550, เกษียร เตชะพีระ 2550) เวทีชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นใจกลางของการต่อต้านรัฐบาล ที่สื่อมวลชนกระแสหลักส่วนใหญ่เกาะติดและรายงานอย่างต่อเนื่อง จนสามารถสร้างประชามติก่อกระแสขับไล่รัฐบาล ในแง่นี้ สื่อของฝ่ายรัฐบาลตกอยู่ในสถานะที่ไม่อาจทัดทานเสียงต่อต้านที่ดังกว่าได้
อย่างไรก็ดี สื่อมวลชนไม่สามารถเป็นผู้โค่นล้มรัฐบาลได้ด้วยตนเอง ในกรณีของ สนธิ ลิ้มทองกุลและสื่อเครือ ผู้จัดการ และ เอเอสทีวี เป็นสื่อเลือกข้างกษัตริย์นิยม ที่ทำงานร่วมกับกลุ่มการเมืองพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้ทำหน้าที่เป็นเอเย่นต์ทางการเมืองให้ฝ่ายกษัตริย์นิยมโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ในเบื้องต้นสามารถระดมเสียงสนับสนุนได้อย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชน และชนชั้นกลางในเมืองและต่างจังหวัด (โดยเฉพาะภาคใต้ที่เป็นฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์) พันธมิตรฯ ได้ยื่นหนังสือขอให้พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่ แต่วิธีการนี้ถูกปฏิเสธ
“ขอยืนยันว่ามาตรา 7 ไม่ได้หมายถึงให้มอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ ไม่ใช่ มาตรา 7 นั้นพูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำเขาจะต้องว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเกิน ไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย ...”
(พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด 25 เมษายน 2549)
ความสำเร็จของสื่อฝ่ายกษัตริย์นิยม คือการที่หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ และสื่อในเครือ และพันธมิตรฯ สามารถเป็นศูนย์รวมในการสร้างบรรยากาศของวิกฤติการณ์การเมืองขนานใหญ่ ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลทักษิณ สร้างประชามติว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งประพฤติมิชอบไม่สมควรบริหารประเทศต่อไป ก้าวต่อมาคือการร้องขอนายกฯพระราชทาน เมื่อไม่ได้ผลเพราะรัฐบาลยังคงต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตยด้วยการจัดการเลือกตั้งซ่อม จึงได้ใช้มาตรการสุดท้าย คืออาศัยอำนาจขององค์กรอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินชี้ขาดเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง
“ขอให้ท่านได้พิจารณาดู กลับไปพิจารณา ไปปรึกษาผู้พิพากษาศาลอะไรอื่นๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญว่าควรจะทำอะไร แล้วต้องรีบทำ ไม่งั้นบ้านเมืองล่มจม...เดี๋ยวนี้เป็นเวลาที่วิกฤตที่สุดในโลก ฉะนั้น ท่านก็มีหน้าที่ที่จะปฏิบัติ ปรึกษากับผู้ที่มีความรู้ เพื่อที่จะเขาเรียกว่า กู้ชาตินั้นแหละ... ป้องกันไม่ให้จมลงไป... แต่ถ้าจมแล้วกู้ชาติไม่ได้ จมไปแล้ว”
(พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้พิพากษาประจำศาล นำโดยนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา 25 เมษายน 2549)
ศาลได้ชี้ว่าการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทำให้ศาลเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง หรือที่เรียกว่า “ตุลาการภิวัตน์” (ประชาไท 2549) ศาลอาญาได้พิพากษาให้ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกรรมการอีก 2 คนมีความผิดเนื่องจากการจัดการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี (แต่ศาลยกฟ้องในปี 2556) (ลม เปลี่ยนทิศ 23 ธันวาคม 2556)
แม้กระนั้น รัฐบาลรักษาการก็ประกาศจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในเดือนตุลาคม 2549 แต่ฝ่ายต่อต้านได้ใช้กลไกนอกระบอบประชาธิปไตย คือการใช้กองทัพก่อการรัฐประหาร
รัฐประหารทักษิณ เลิกเสรีนิยมใหม่
รัฐบาลทักษิณถูกรัฐประหารโดยคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 (ค.ศ.2006) ขณะที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กำลังเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก แม้รัฐบาลจะใช้สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ออกแถลงการณ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ถูกตัดสัญญาณ ไม่สามารถต่อต้านการรัฐประหารได้ คณะรัฐประหารอ้างว่ารัฐบาลได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย รัฐบาลทักษิณมีการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงานองค์อิสระถูกครอบงำทางการเมือง และหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทย (ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ 2550)
รัฐบาลที่คณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นมีพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีส่วนหนึ่งประกอบด้วยตัวแทนของ “เครือข่ายสถาบันกษัตริย์” ที่เป็นนักวิชาการ เทคโนแครต ภาคประชาสังคม และอดีตข้าราชการ ส่วนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีตัวแทนของสื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพร่วมเป็นสมาชิกด้วย ยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการสื่อของรัฐบาลคือแก้ปัญหาการรุกคืบของทุนโลกาภิวัตน์ และการผูกขาดสื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดังนั้น จึงได้ออกกฎหมายที่เปิดให้อุตสาหกรรมสื่อมีเสรีภาพในการดำเนินการทางธุรกิจมากขึ้น เพื่อให้ทุนท้องถิ่น (ทุนชาติ) แข่งขันกับทุนโลกาภิวัตน์ได้ กฎหมายสื่อชุดใหม่ประกอบด้วย - พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 (2007 Press Registration Act) พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551 (2008 Film & Video Act) กฎหมายสื่อชุดนี้เปิดโอกาสให้สื่อเอกชนที่เจ้าของเป็นทุนท้องถิ่นของไทยฟื้นตัวและขยายกิจการได้ รัฐบาลคาดว่าจะตอบโจทย์เศรษฐกิจเรื่องสร้างความเข้มแข็งให้ทุนนิยมแห่งชาติในกระแสโลกาภิวัตน์
ส่วน พ.ร.บ. ประกอบกิจการวิทยุและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 (2008 Broadcasting Act) ที่เกี่ยวข้องกับสื่อของรัฐ และสื่อเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ มีวัตถุประสงค์ตอบโต้นโยบายแปรรูปสื่อของรัฐให้เป็นของเอกชน (privatization) ในสมัยรัฐบาลทักษิณ โดยได้จัดแบ่งประเภทของกิจการแตกต่างจากเดิมเป็นกิจการสื่อสาธารณะ สื่อเอกชน และสื่อชุมชน และกำหนดให้สื่อของรัฐเป็นกิจการบริการสาธารณะทั้งหมด สำหรับกรณีไอทีวี รัฐได้ยึดไอทีวีที่เป็นของเอกชนนำมาแปรรูปเป็นสื่อของรัฐ (nationalization) ทำให้ไอทีวีเป็นส่วนหนึ่งของทุนชาติ แล้วจัดประเภทให้เป็นสื่อบริการสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 (2008 Public Broadcasting Service Act) กำหนดให้ได้รับงบประมาณปีละ 1.5% จากภาษีที่เก็บจากผู้บริโภคสุราและยาสูบ โดยให้มีรายได้สูงสุดไม่เกินปีละ 2,000 ล้านบาท ข้อสำคัญสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส คือรูปธรรมที่ฝ่ายกษัตริย์นิยมได้ครอบครองสื่อโทรทัศน์เพื่อให้มีสถานีในเครือข่ายของตน [ix] เช่นเดียวกับที่กองทัพบกมีสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 และ จอมพล ป. มีสถานีโทรทัศน์ ช่อง 4 บางขุนพรหม ในทศวรรษ 2500
ด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กฎหมายภาพยนตร์ วีดีทัศน์ และวิทยุ/โทรทัศน์ มีวัตถุประสงค์เปิดให้มีเสรีภาพอย่างจำกัด กล่าวคือ ผ่อนคลายการเซ็นเซอร์เนื้อหา ใช้การจำแนกระดับอายุและความเหมาะสมของเนื้อหา จัดเรตติ้งภาพยนตร์ วีดีทัศน์ และรายการโทรทัศน์ เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัย คมช.ใช้วิธีการให้ประโยชน์/โอกาสทางธุรกิจแลกกับเสียงสนับสนุนจากอุตสาหกรรมสื่อ รัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เปลี่ยนกลยุทธ์การควบคุมสื่อจากการปราบปรามและใช้กฎหมายลงโทษ มาเป็นการผ่อนปรนเพื่อให้สื่อยินยอมพร้อมใจยอมรับอำนาจคณะรัฐประหาร (rule by consent) ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อและนักหนังสือพิมพ์ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ความร่วมมือในการจัดทำกฎหมายชุดนี้เป็นอย่างดี เพราะการเปิดเสรีธุรกิจเป็นการสร้างความหวังให้กับอุตสาหกรรมสื่อซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2540 โดยเฉพาะกรณีของสื่อสิ่งพิมพ์/หนังสือพิมพ์ที่ได้รับสิทธิเหนือสื่อประเภทอื่น คือไม่ต้องขอใบอนุญาตอีกต่อไป เพียงจดแจ้งกับนายทะเบียนกรมศิลปากรตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 การใช้อำนาจปกครองแบบนุ่มนวลของคณะรัฐประหารในการบริหารจัดการกับสื่อมวลชน ทำให้ลดเสียงคัดค้านของสื่อกระแสหลักลงไป
แต่ในทางกลับกัน รัฐบาลหันไปควบคุมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เป็นรายบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอย่างเข้มงวด โดยใช้ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (2007 Computer Crime Act) เป็นเครื่องมือ และใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาลงโทษผู้ที่รัฐเห็นว่าวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ หรือแสดงความคิดเห็นอันอาจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพควบคู่ไปด้วย [x] นับตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา มีคดีเพิ่มขึ้นมาก ในปี 2550 มีคดี 112 จำนวน 36 คดี ปี 2551 มี 55 คดี ปี 2552 มี 104 คดี ปี 2553 มี 65 คดี ปี 2554 มี 37 คดี ปี 2555 มี 25 คดี ปี 2556 มี 57 คดี ปี 2557 มี 99 คดี (เมตตา วงศ์วัด 2017)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 หลังยุคทักษิณ (Post Thaksin) เป็นกลไกที่ คมช. ใช้วางหลักเกณฑ์สำคัญ 3 เรื่อง เพื่อขับนักการเมืองออกจากการครอบงำสื่อ ไม่ให้นักการเมืองเติบโตจนรัฐเร้นลึกไม่อาจควบคุมได้ ได้แก่ มาตรา 45 บัญญัติว่า ห้ามรัฐอุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นของเอกชน มาตรา 46 ห้ามผู้ดำรงทางการเมืองแทรกแซงสื่อ และมาตรา 48 ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการสื่อ การบัญญัติข้อห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่บททำให้เรื่องมิให้นักการเมืองมีบทบาทในสื่อมีความเป็นสถาบัน (institution) มากกว่าการเขียนเป็นกฎระเบียบหรือข้อห้ามในกฎหมายเลือกตั้ง ยิ่งกว่านั้น การสถาปนาข้อห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญ (constitutionalized) มีนัยว่า เป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดที่ฝ่ายกษัตริย์นิยมมีความกังวล และไม่ต้องการให้เกิดซ้ำรอยขึ้นอีกแม้แต่ครั้งเดียว จึงต้องฝัง (embed) ให้สถิตย์สถาพรไว้ในรัฐธรรมนูญ
ระบอบทหารและการสถาปนาอำนาจนำของกองทัพ
แม้ทักษิณจะถูกกำจัดไปแล้ว ความขัดแย้งก็ไม่ยุติ รัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ จัดการเลือกตั้งปลายปี 2550 พรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นอวตารของพรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แสดงให้เห็นว่ามวลชนส่วนใหญ่ยังสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ความพยายามที่จะล้มรัฐบาลจึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง ประจวบกับฉันทามติภูมิพลมีสถานะไม่แน่นอนทางการเมือง ยุทธการชุมนุมประท้วงโดยมวลชนถูกนำมาใช้ซ้ำ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรวมตัวกันชุมนุมประท้วงรัฐบาลพลังประชาชนที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี พันธมิตรฯ ชุมนุมล้อมอาคารรัฐสภาในเดือนตุลาคม ต่อมาปักหลักชุมนุมปิดสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินในต่างจังหวัด ตุลาการภิวัตน์กลับมามีบทบาทอีกครั้ง ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชนในเดือนธันวาคม 2551 (สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 20/2551) ทำให้พันธมิตรฯ ยุติการชุมนุม พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลด้วยการร่วมมือกับกองทัพ
มวลชนคนเสื้อแดง “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ”(นปช.) ฐานเสียงของทักษิณ เห็นว่าศาลทำงานแบบ “สองมาตรฐาน” ได้จัดการชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ ใจกลางย่านธุรกิจในกรุงเทพ และที่ถนนราชดำเนินยืดเยื้อจากเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 กลุ่ม นปช. เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งใหม่ เพราะคะแนนเสียงของพลเมืองอย่างพวกเขา หรือ “ไพร่” ถูกทำให้ไร้ค่า และถูกฉกฉวยไปอย่างหน้าด้าน ๆ (ฟ้ารุ่ง ศรีขาว 2554) แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะประกาศภาวะฉุกเฉิน และสั่งให้กองทัพนำทหารออกปราบปรามประชาชนในระหว่างวันที่ 10-12 เมษายน และระหว่าง 17-19 พฤษภาคม 2553 มีผู้เสียชีวิต 99 คน หลังการสังหารยุติลง รัฐบาลประชาธิปัตย์ได้จัดการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2554 (The Momentum May 19 2020) พรรคเพื่อไทยอวตารของพรรคพลังประชาชนได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ชัยชนะจากการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ในปี 2554 บวกกับการคาดการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในช่วงทศวรรษ 2550 ทำให้กองทัพตัดสินใจทำรัฐประหารอีกครั้ง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 (ค.ศ.2014) [xi] ในคราวนี้ เป็นการรัฐประหารของกองทัพโดยกองทัพ มิใช่การรัฐประหารของฝ่ายนิยมเจ้าที่กองทัพเป็นผู้ดำเนินการเช่นปี 2549 การรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ “ทหารไม่ใช่แค่เครื่องมือในการปกครอง แต่เป็นผู้ปกครองตัวจริง” การออกแบบระบบการเมืองอำนาจนิยมแบบชี้นำและระบบเศรษฐกิจที่มีทุนใหญ่เป็นพันธมิตรนาม “ประชารัฐ” เป็นการก่อร่างสร้าง “ระบอบประยุทธ์” ที่กองทัพกำลังสถาปนาอำนาจนำ (ประจักษ์ ก้องกีรติ และวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร 2561)
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อ้างว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน คสช. ยึดอำนาจเพื่อปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมแก่ทุกพวก ทุกฝ่าย (ประกาศ คสช. ฉบับที่ 1/2557) หลังการรัฐประหารการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนกว้าง ขวางกว่าการยึดอำนาจในปี 2549 ผู้ที่คัดค้าน/ต่อต้าน คสช. จำนวนมากถูกจับกุม เชิญตัวไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร มีคดีกระทำผิดเนื่องจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และคดีหมิ่นประมาท ตามมาตรา 112 เพิ่มมากขึ้น (ปี 2558 มี 116 ปี 2559 มี 101 คดี ปี 2560 มกราคม-กันยายน มี 45 คดี) หลายคดียังถูกตั้งข้อหาว่ากระทำผิดตาม ม.116 อันเป็นการกระทำผิดด้านความมั่นคง คดีอีกจำนวนหนึ่งถูกส่งไปพิจารณาที่ศาลทหาร เจตนาเพื่อปรามประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาล คสช. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่าสถิติของกรมพระธรรมนูญ ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 – 30 กันยายน 2558 มีคดีของพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารจำนวน 1,408 คดี คิดเป็นจำนวนผู้ต้องหาและจำเลยรวมแล้ว 1,629 คน ในจำนวนนี้เป็นความผิดฐานมีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่ไม่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองรวมอยู่ด้วย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชี้ให้เห็นว่าการดำเนินการทุกขั้นตอนทำโดยใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทหาร – การจับกุม, เข้าร่วมสอบสวน, สั่งฟ้องโดยอัยการทหาร และการพิพากษาคดีโดยตุลาการศาลทหาร รวมถึงการคุมขังในเรือนจำภายในค่ายทหาร ภายใต้อำนาจ คสช. กระบวนการยุติธรรมกลายสภาพเป็น “กระบวนการยุติธรรมลายพราง” (โพสต์ทูเดย์ 31 ธันวาคม 2558) ระหว่างปี 2557-2560 (ค.ศ.2014-2017) ดัชนีเสรีภาพสื่อของไทยตกต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ตามการจัดอันดับขององค์กรฟรีดอมเฮ้าส์ ประเทศไทยได้คะแนน 64, 75, 77 และ77 ซึ่งจัดอยู่ในระดับ “ไม่มีเสรีภาพ” (คะแนน 61-100 = ไม่มีเสรีภาพหรือ not free) (Aim Sinpeng et al 2019)
ภายใต้รัฐบาลทหารของ คสช. มีการข่มขู่คุกคามประชาชนหลายรูปแบบ และการสร้างบรรยากาศความกลัวแผ่ขยายทุกด้าน ผู้ที่คัดค้านต่อต้านรัฐบาลต้องลี้ภัยไปต่างประเทศนับร้อยคน ทั้งศิลปิน นักเขียน สื่อมวลชน นักศึกษา กลุ่มคนเสื้อแดง นักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และประชาชนธรรมดาที่สนใจการเมือง องค์กรสิทธิมนุษยชนรายงานว่าในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตจากการฆาตกรรมของรัฐไม่ต่ำกว่า 9 ราย (บีบีซีไทย 1 พฤศจิกายน 2562) นอกจากนี้ รัฐยังได้จัดสรรงบประมาณก้อนใหญ่จัดตั้งหน่วยลูกเสือไซเบอร์ในการสอดส่องตามล่าผู้ใช้สื่อออนไลน์โซเชียลมีเดียในการแสดงความคิดเห็น ที่รัฐมองว่าอาจเข้าข่ายกระทำผิด (Aim Sinpeng et al 2019) ไปจนถึงการตั้งหน่วยปฏิบัติการข่าวสารหรือ Information Operation (IO) ทำสงครามข่าวสารกับประชาชนในโซเชียลมีเดีย (ไทยรัฐออนไลน์ 26 กุมภาพันธ์ 2563)
รัฐบาล คสช. ได้ออกแบบรวมศูนย์อำนาจการปกครอง และสร้างกลไกเชิงสถาบันเพื่อสถาปนาระบอบทหารให้ยืนยาว สื่อมวลชนและการสื่อสารเป็นส่วนหนึ่งของการสถาปนาอำนาจใหม่นี้ด้วย โดยปรากฏอยู่ใน 4 ส่วนหลัก คือ 1. แผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปประเทศ 20 ปี 2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 3. พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (National Broadcasting and Telecommunications Commission Act – NBTC Act) 4. กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Ministry of Digital Economy and Sociey - MDES)
ส่วนที่ 1 แผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปประเทศ 20 ปี
ผลงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 กำหนดให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ - การเมือง, การบริหารราชการแผ่นดิน, กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม, การปกครองท้องถิ่น, การศึกษา, เศรษฐกิจ, พลังงาน, สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม, สื่อสารมวลชน และสังคม สื่อสารมวลชนถูกกำหนดเป็น 1 ใน 10 ด้านที่ต้องปฏิรูป และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติให้ทุกรัฐบาลต้องบริหารงานในกรอบของแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปประเทศ 20 ปี (2560-2579) ที่วางกรอบวิสัยทัศน์ไว้ว่า ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ในแผนแม่บทการปฏิรูปสื่อ ระบุว่ากิจกรรมที่สำคัญและเร่งด่วน มี 6 กิจกรรม ดังนี้ 1. การรู้เท่าทันสื่อของประชาชน 2. การส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ 3. ปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ และปรับปรุงการบริหารจัดการโทรทัศน์ที่เป็นของรัฐ องค์กรอิสระ และรัฐวิสาหกิจ 4. ปฏิรูปแนวทางการการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ 5. ปฏิรูปการบริหารจัดการความปลอดภัยไซเบอร์/กิจการอวกาศ และระบบเครื่องมือสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคมเพื่อสนับสนุนภารกิจการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย 6. ปฏิรูประบบการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ (แผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ 2560)
วิธีการจัดวางให้มียุทธศาสตร์ 20 ปี ในกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นการสร้างกลไกเชิงสถาบันที่บังคับให้รัฐบาลและพรรคการเมืองไม่อาจเสนอนโยบายได้อย่างอิสระและสอดคล้องกับบริบทสังคมในขณะนั้น ๆ ในด้านปฏิรูปสื่อมีเนื้อหาที่เน้นด้านมาตรฐานจริยธรรมของสื่อมวลชน และการควบคุมสิทธิเสรีภาพของการสื่อสารในโลกไซเบอร์ มากกว่าการปฏิรูปสื่อเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย มองได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ชี้นำการปฏิรูปจากเบื้องบน ต้องการให้สื่อทำงานแบบปลอดการเมือง(ของฝ่ายต่อต้าน) ตามโมเดลสื่อสารเพื่อการพัฒนา ส่วนเรื่องปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเรื่องที่ คสช. เข้ามาดำเนินการด้วยตนเองผ่าน กสทช. ที่เป็นองค์กรตัวแทนของกองทัพด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสารโทรคมนาคม (ดูส่วนที่ 3)
ส่วนที่ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้นำข้อห้ามเรื่องสื่อฝังเข้าไปเพิ่มเติมจากที่ตราไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 กลไกเชิงสถาบันนี้ถูกออกแบบให้กองทัพมีอำนาจควบคุมสื่อผ่านการสนับสนุนทางการเงินแก่สื่อ โดยมาตรา 35 บัญญัติว่าอนุญาตให้รัฐอุดหนุนสื่อเอกชนได้ แต่ต้องเปิดเผยรายละเอียดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทราบ ตามระยะเวลาที่กำหนด และประกาศให้ประชาชนทราบด้วย (ตรงข้ามกับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ห้ามรัฐอุดหนุนสื่อเอกชน) ในเรื่องข้อห้ามนักการเมืองถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของสื่อ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 นำไปบัญญัติไว้ในส่วนสภาผู้แทนราษฎร ลักษณะต้องห้ามของ สส. มาตรา 98 (3) บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในสื่อมวลชนใด ๆ เป็นบุคคลต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. และมาตรา 108 ห้าม สว. เป็นเจ้าของสื่อ ตาม ม.98 (3) ข้อห้ามนี้ เข้มงวดกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ที่ห้ามนักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของหรือถือหุ้น ในยุค คสช. ข้อห้ามเริ่มตั้งแต่คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง คือตั้งแต่ก่อนจะดำรงตำแหน่งทางการเมือง บทบัญญัติ ม.98 (3) นี้ ถูกนำมาใช้ในการเลือกตั้งครั้งที่ 26 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ถอดถอนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จากการเป็น สส. ในข้อหาถือหุ้นในบ.วีลัคมีเดีย (ไทยรัฐออนไลน์ 20 พฤศจิกายน 2562)
ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้เปิดช่องให้ผู้มีอำนาจรัฐสามารถอุดหนุนหนังสือพิมพ์ และสื่อของเอกชนได้อย่างถูกกฎหมาย (มาตรา 35) เพื่อให้สนับสนุนตนในทางการเมือง รัฐจึงมีโอกาสครอบงำสื่อส่วนใหญ่ได้โดยง่าย แต่อีกด้านหนึ่ง รัฐธรรมนูญบัญญัติปิดกั้นนักการเมืองอื่นที่สมัครรับเลือกตั้งมิให้มีสื่อในครอบครอง ป้องกันฝ่ายตรงข้ามมิให้ใช้สื่อในทางการเมืองตั้งแต่ต้นมือ
ส่วนที่ 3 พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (2010 National Broadcasting and Telecommunications Commission Act – NBTC Act)
กฎหมาย กสทช. ฉบับ พ.ศ.2553 นี้ ให้อำนาจคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ทำหน้าที่กำกับกิจการการสื่อสารโทรคมนาคม และวิทยุ / โทรทัศน์ทั้งหมด เดิม กสทช. ประกอบด้วยองค์กรย่อย 2 องค์กร – กทค. กำกับกิจการด้านสื่อสารโทรคมนาคม และ กสท.กำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ในปี 2560 พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมฉบับใหม่ ได้กำหนดให้รวมองค์กรอิสระ 2 องค์กรที่กำกับกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมเป็นองค์กรเดียว (กสทช.) คณะกรรมการ กสทช. ตั้งแต่ปี 2554 ประกอบด้วยทหาร 5 คน จากจำนวนกรรมการ 12 คน ประธาน กสทช. คือ พล.อ. ธเรศวร์ ปุณศรี และรองประธาน กสท. คือ พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ (2554-2557) คณะกรรมการชุดต่อมา มี พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร เป็นประธาน และพันเอก นที ศุกลรัตน์ เป็นรองประธาน (2557-2560) [xii] ในปี 2561 คณะกรรมการ กสทช. เหลือเพียง 6 คน คำสั่ง คสช. 7/2561 ประกาศให้ประธานและรองประธานคนเดิมดำรงตำแหน่งต่อไป
คณะกรรมการ กสทช. เตรียมการเปลี่ยนเทคโนโลยีการส่งสัญญาณโทรทัศน์จากระบบอะนาล็อกเป็นระบบดิจิตอลในปี 2557 (ค.ศ.2014) พร้อมกันนี้ได้ยกเลิกวิธีการให้สัมปทานจากหน่วยงานรัฐ ได้แก่ กองทัพบก, อ.ส.ม.ท. และสำนักนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนเป็นระบบประมูลใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งทำหน้าที่เป็นองค์กรกำกับกิจการ (regulator) โดยตรง ดังนั้น การเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลจึงมาพร้อมกับการปรับรื้อโครงสร้างการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการมารวมศูนย์ที่หน่วยงานเดียว (restructuring and re-centering the regulation system) ในระบบใหม่นี้ คลื่นทีวีดิจิตอลที่ กสทช. จัดสรรให้ออกอากาศมี จำนวน 24 ช่อง บริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจสถานีโทรทัศน์เดิมที่เข้าร่วมประมูล ได้แก่ สถานี โทรทัศน์ ช่อง 7 และช่อง 3 (ได้ใบอนุญาต 3 ช่อง) สำหรับช่อง 9 เข้าประมูลในฐานะบริษัทมหาชน และมีสื่อหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ 3 ฉบับที่ได้รับใบอนุญาต คือ ไทยรัฐทีวี นิวทีวี และเนชั่นทีวี (นสพ.ไทยรัฐ, เดลินิวส์ และเนชั่น) บริษัทสิ่งพิมพ์/นิตยสารที่ได้รับใบอนุญาต ได้แก่ บ.อมรินทร์ พริ้นติ้ง นอกจากนี้ ผู้ได้รับใบอนุญาตส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการผลิตเนื้อหาด้านบันเทิงหรือสาระบันเทิง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ได้แก่ บ.จีเอ็มเอ็มแกรมมี่, บ.อาร์เอส,, บ.เวิร์คพ้อยท์ ผู้ประกอบการที่ไม่มีธุรกิจด้านสื่อ คือ บ.บางกอก มีเดีย แอนด์บรอดคาสติ้ง ที่มีธุรกิจการบินและธุรกิจอื่น และกิจการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ คือ บ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับใบอนุญาต 2 ช่อง บ.ว๊อยซ์ ทีวี ได้รับใบอนุญาต 1 ช่อง เกือบทั้งหมดจึงประกอบด้วยทุนสื่อท้องถิ่นและทุนชาติ (สื่อของรัฐ) ขณะเดียวกัน พระราชบัญญัติประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ 2551 ได้กำหนดข้อห้ามการเป็นเจ้าของกิจการโดยบริษัทต่างด้าวไว้ในมาตรา 13 และ 15 ให้บริษัทต้องเป็นสัญชาติไทย ให้มีทุนและผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิ์ออกเสียงไม่น้อยกว่า 3/4 เป็นผู้ถือสัญชาติไทย
ในการเปลี่ยนเข้าสูระบบทีวีดิจิตอล กสทช. ได้จัดสรรโครงข่ายให้บริการส่งสัญญาณโทรทัศน์ (Multiplexer หรือ MUX) แก่สื่อของรัฐ 5 โครงข่าย ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์, อ.ส.ม.ท., ไทยพีบีเอส และกองทัพบกมีอภิสิทธิ์ได้รับจัดสรร 2 โครงข่าย กองทัพบกมีรายได้มากขึ้นจากการให้สถานีโทรทัศน์ระบบดิจิตอลเช่าโครงข่าย นอกจากนี้ สถานีโทรทัศน์กองทัพ ช่อง 5 ยังทำหน้าที่ควบคุมโครงข่ายการออกอากาศทั้งหมดได้ในกรณีเกิดอุบัติภัยร้ายแรง สามารถแจ้งเตือนภัย หรือใช้อุปกรณ์นี้ตัดสัญญาณรายการปกติของสถานีทุกช่อง เพื่อถ่ายทอดรายการพิเศษ หรือคำสั่งของกองทัพบก
ในกิจการด้านวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ กสทช.ให้ใบอนุญาตแก่หนังสือพิมพ์มหาชนรายใหญ่ และกิจการที่ผลิตสื่อบันเทิงที่ชนะการประมูลทีวีดิจิตอล กิจการเหล่านี้มีสื่อแขนงอื่นในกลุ่มธุรกิจของตน ซึ่งทำให้ คสช. มีสื่อในอาณัติที่ครอบคลุมทั้งกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ รวมทั้งใบอนุญาตทีวีดิจิตอลมีระยะเวลา 15 ปี จึงคาดได้ว่าด้วยสื่อจำนวนมากในเครือข่ายอุปถัมภ์ของกองทัพจะช่วยให้กองทัพมีอำนาจนำทางการเมืองได้ยาวนาน อีกด้านหนึ่ง เงินรายได้จากการประมูลจำนวน 50,862 ล้านบาท คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำหนังสือถึง กสทช. ให้นำเงินได้จำนวนนี้ส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาประเทศตามโครงการของรัฐบาล ตามที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเสนอ โดยมิให้นำเงินส่วนนี้เก็บไว้ที่กองทุนวิจัยและพัฒนาสื่อฯ ของ กสทช. (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 16 มิถุนายน 2557)
ด้านสื่อสารโทรคมนาคมซึ่งเป็นกิจการแข่งขันน้อยรายหรือกึ่งผูกขาด เป็นธุรกิจใหม่ที่ถูกควบรวม เข้ามาในอาณาจักรธุรกิจของกองทัพ ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมมีขนาดใหญ่กว่ามากเมื่อเทียบกับธุรกิจวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ การประมูลคลื่น 3G, 4G และ 5G ตั้งแต่ปี 2555-2563 กสทช. มีรายได้รวม 563,834 ล้านบาท (จรัญ พงษ์จีน 2563) โดยการประมูลคลื่น 5G ล่าสุด มีมูลค่าที่ 100,521 ล้านบาท (nbtc.go.th 16 กุมภาพันธ์ 2020) รายได้จากการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม กสทช. นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินเช่นเดียวกับเงินรายได้จากการประมูลทีวีดิจิตอล
อุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม และวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ กำลังเป็นแหล่งอำนาจใหม่ทางการเมืองและเศรษฐกิจให้กับกองทัพ ด้วยการบริหารจัดการผ่าน กสทช. เช่นนี้ กองทัพสามารถควบคุมการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของการสื่อสารทุกระบบ และสิทธิเสรีภาพของพลเมืองและสื่อมวลชนโดยตรง
ส่วนที่ 4 กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Ministry of Digital Economy and Sociey - MDES)
กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจัดตั้งขึ้นเมื่อ 15 กันยายน 2559 (ค.ศ.2016) ภายหลังการรัฐประหารของ คสช. ราว 2 ปี โดยยุบกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่ก่อตั้งเมื่อ 3 ตุลาคม 2545 (สมัยรัฐบาลทักษิณ 1) เพื่อวางแผน ส่งเสริม พัฒนาและดำเนินกิจการเกี่ยวกับดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปัจจุบัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติด้วย ในปี 2562 กระทรวงดิจิตอลฯ ได้เปิดศูนย์ป้องกันข่าวปลอมขึ้น หรือศูนย์เฟคนิวส์ นอกจากนี้ มีโครงการไซเบอร์คลีน ทำหน้าที่บล็อกเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและร่วมมือกับเว็บมาสเตอร์ในการรับแจ้ง โดยกระทรวงฯ ทำงานร่วมกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) บางราย และการสื่อสารแห่งประเทศไทย แต่ถูกร้องเรียนว่าละเมิดสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน
ในฐานะที่กระทรวงดิจิตอลฯ เป็นผู้รับผิดชอบ พ.ร.บ.การกระทำความผิดทางเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 กระทรวงฯ ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย โดยร่วมมือกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เป็นอีกหนึ่งกลไกหลักที่รัฐบาลมีเจตนารมณ์ควบคุมการสื่อสารของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในสื่อออนไลน์ หลังปี 2559 มีคดีการฟ้องหมิ่นประมาทเพื่อปิดปาก (SLAPP – Strategic Lawsuit Against Public Participation) เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่คดีกระทำผิดตาม ม.112 ลดลงหลังการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววชิราลงกรณ์ ในปี 2561 (ilaw 15 สิงหาคม 2561)
อนาคตประชาธิปไตยภิวัตน์หลังฉันทามติภูมิพล
รัฐประหาร 19 กันยา 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คมช. และ คสช. ได้ควบคุมสื่อให้อยู่ในโอวาทด้วยการให้เสรีภาพ (อย่างจำกัด) ในการประกอบกิจการ การให้เงินอุดหนุน และกีดกันนักการเมืองด้วยการห้ามนักการเมืองเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นสื่อ และการลงโทษประชาชนที่ต่อต้านคัดค้านรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหารด้วยการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 รวมทั้ง มาตรา 116 แต่ทั้งหมดนี้ ไม่อาจยุติความขัดแย้งทางการเมืองในสื่อและเปลี่ยนภูมิทัศน์สื่อที่ร้าวลึกได้ (Aim Sinpeng, et al 2019)
หลังยุคทักษิณ (Post Thaksin) ความเคลื่อนไหวของกองทัพซึ่งเป็นทุนสื่อรายใหญ่ ก้าวกระโดดไปอีกขั้นเมื่อมีคณะรัฐประหารเป็นหลังพิง กองทัพเตรียมขยายขนาดของอุตสาหกรรมสื่อด้วยการถอดรื้อและปรับแต่งโครงสร้างใหม่ (restructuring) ในด้านการจัดสรรคลื่น และการกำกับกิจการ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิตอล โดยอาศัยธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม และโทรทัศน์เป็นตัวรุก การออกแบบโครงสร้างใหม่ของอุตสาหกรรมทำให้กองทัพมีอำนาจสูงสุดในการจัดสรรใบอนุญาตประกอบกิจการผ่าน กสทช. ที่เป็นองค์กรกำกับกิจการ โดยนัยนี้ ผู้รับใบอนุญาตมีสภาพเป็นเครือข่ายในอุปถัมภ์ของกองทัพ หรือเป็นผู้เช่าคลื่นความถี่ที่ต้องจ่ายค่าเช่า (ตามราคาที่ประมูล) ให้แก่ กสทช. ที่ทำหน้าที่แทนกองทัพ ซึ่งอ้างความเป็นรัฐฏาธิปัตย์ในการยึดครองคลื่นความถี่ไว้ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว การรัฐประหารของ คสช. ทำให้กองทัพสามารถเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ/การเมืองเหนือกลุ่มการเมืองอื่น ๆ มาก แต่ในขณะเดียวกัน การแสดงบทบาทที่ชัดเจนของกองทัพโดยไม่ต้องซ่อนเร้นอยู่ข้างหลัง ก็ได้เปิดให้เห็นโครงสร้างของรัฐคู่ขนานส่วนที่มีบทบาท/อำนาจอย่างไม่เป็นทางการของกองทัพออกมาสู่สายตาสาธารณะมากขึ้น
สื่อมวลชนในยุคที่ คสช. มีอำนาจนำถูกจัดวางให้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐ ที่กดปราบประชาชนและเสียงฝ่ายค้าน วารสารศาสตร์การเมืองในยุคนี้เป็นการเมืองที่เอียงข้าง คสช. หรือปลอดฝ่ายค้าน สื่อที่เป็นเสียงสะท้อนของประชาชนเป็นเพียงเสียงส่วนน้อย ดังนั้น โซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์จึงกลายเป็นพื้นที่สาธารณะใหม่ของเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความคิดเห็น ที่ไม่อาจถ่ายทอดผ่านสื่อประเพณี อย่างหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุได้ รัฐประหาร 2 ครั้งในรอบ 8 ปี ทำให้เห็นแล้วว่า การล้มทักษิณ ส่งผลให้นักการเมืองและรัฐสภายิ่งอ่อนแอลง ทั้งได้พาให้ระบอบประชาธิปไตยล้มพังพาบไปด้วย อนาคตของประชาธิปไตยภิวัตน์แบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ อาจคงอยู่ในมือของ คสช. ที่แปลงร่างเป็นพรรคการเมืองจอมปลอมหลังการเลือกตั้ง และแข็งแกร่งขึ้นจนก่อตัวเป็น “ระบอบประยุทธ์” ยาวนาน 20 ปี อย่างที่ผู้ก่อการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 57 วาดฝันไว้ก็เป็นได้ หากว่าสื่อมวลชนยังคงหลับใหลซึมเซาอยู่ในโลกใบเก่า.
อ้างอิง
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. 2557. ‘สตง.’ ชง ‘ประยุทธ์’ ยุบ กสทช. 16 มิถุนายน 2557. https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/588457
เกริกเกียรติ พันธุ์พิพัฒน์ และปนัดดา ธนสถิตย์. 2526. “โทรทัศน์ไทย: จากบางขุนพรหมถึงระบบดาวเทียม”. วิวัฒนาการสื่อมวลชนไทย. กรุงเทพ: พุทธบูชาการพิมพ์. น.138-154.
เกษียร เตชะพีระ. 2560. “ภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมือง”. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 มิถุนายน 2560.
เกษียร เตชะพีระ. 2550. จากระบอบทักษิณสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549: วิกฤตประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพ: มูลนิธิ 14 ตุลา.
“คนข่าวอิสระ”. 2549. ถอดรหัสเลือกตั้ง 2549 ตุลาการภิวัตน์ หยุด! ระบอบทักษิณ. กรุงเทพ: นางสุนิสา อินทร์นุรักษ์.
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2544 ชี้ขาดมาตรา 295 กรณีซุกหุ้นของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร. http://dl.parliament.go.th/handle/lirt/443005 คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 เรื่องนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ลงวันที่ 23 เมษายน 2523
จรัญ พงษ์จีน. 2563. คอลัมน์ลึกแต่ไม่ลับ. มติชนสุดสัปดาห์. ปีที่ 40: 2064. วันที่ 6-12 มีนาคม 2563.
ชนิดา ชิตบัณฑิตย์. 2548. “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำ”. ฟ้า เดียวกัน. ปีที่ 3 ฉบับที่ 4, ตุลาคม-ธันวาคม 2548, น.172-191.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. 2562. จาก 14 ถึง 6 ตุลา: ประวัติศาสตร์การเมืองพิสดารของสยามสมัยใหม่. กรุงเทพ: มูลนิธิ 14 ตุลา.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. 2561. ตุลา-ตุลา สังคม-รัฐไทย กับความรุนแรงทางการเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. 2552. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. พิมพ์ครั้งที่ 3 ปรับปรุงเพิ่มเติม. พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ม.ร.ว.ประกายทอง สิริสุข, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ แปล. กรุงเทพ: มูลนิธิ โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
ไทยรัฐออนไลน์. 2563. “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” แฉปฏิบัติการไอโอ โยง “บิ๊กตู่” ฉะแรงสร้างแตกแยก”. 26 กุมภาพันธ์ 2563. https://www.thairath.co.th/news/politic/1780653
ไทยรัฐออนไลน์. 2562. “ด่วน “ธนาธร” หลุด ส.ส. หลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยมีลักษณะต้องห้าม”. 20 พฤศจิกายน 2562. https://www.thairath.co.th/news/politic/1707786
ธงชัย วินิจจะกูล. 2554. “ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม: จากยุคอาณานิคมอำพรางสู่ยุคราชา ชาตินิยมใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 23 ฉบับที่ 1, พฤศจิกายน 2544, น. 56-65. (เสนอในการประชุมสัมมนาเนื่องในโอกาสเกษียณอายุของอาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 7 กันยายน 2544 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ธงชัย วินิจจะกูล. 2548. “ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา”. ฟ้าเดียวกัน. ปีที่ 3 ฉบับที่ 4, ตุลาคม- ธันวาคม 2548, น.142-164.
ธนศักดิ์ สายจำปา. 2558. ““ระบอบทักษิณ” ในฐานะผู้ปลดปล่อยความปรารถนาของคนในสังคมไทย”. ฟ้าเดียวกัน. ปีที่ 13 ฉบับที่ 1, มกราคม-เมษายน 2558, น.112-151.
ธนาพล อิ๋วสกุล. 2018. “30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (2): 8 ปี 5 เดือน ของนายกฯ เปรม ภายใต้การเมืองสามเสา”. 5 กันยายน 2018. https://www.the101.world/premocracy-2/
ธนาพล อิ๋วสกุล. 2558. “วุฒิสภา: ป้อมปราการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”. ฟ้าเดียวกัน. ปีที่ 13 ฉบับที่ 1, มกราคม-เมษายน 2558, น.152-201.
ประชาไท. 2560. เปิดรายชื่อคนตาย พ.ค.35 และ พ.ค.53 – 7 ปีความยุติธรรมที่ไม่ไปไหน. 19 พฤษภาคม 2560. https://prachatai.com/journal/2017/05/71545
ประชาไท. 2549. ธีรยุทธ บุญมี: เปิดเอกสาร "ตุลาการภิวัฒน์ 2". 2 สิงหาคม 2549. https://prachatai.com/journal/2006/08/9206
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. 2561. “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ-รัฐประหาร-กบฏในเมืองไทยปัจจุบัน: บทวิเคราะห์และเอกสาร. (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
ณัฐพล ใจจริง. 2556. ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฎิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500). หนังสือชุดกษัตริย์ศึกษา. กรุงเทพ: ฟ้าเดียวกัน.
บีบีซีไทย. 2562. ผู้ลี้ภัยทางการเมือง: คนเห็นต่างหรือพวกหนักแผ่นดิน. 1 พฤศจิกายน 2562. https://www.bbc.com/thai/extra/Y0IB3TQXys/thai_exiles
ประจักษ์ ก้องกีรติ และวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร. 2561. ”ระบอบประยุทธ์: การสร้างรัฐทหารและทุนนิยมแบบช่วงชั้น”. ฟ้าเดียวกัน. ปีที่ 16 ฉบับที่ 2, กรกฎาคม-ธันวาคม 2561, น.7-41.
ปราโมทย์ ฝ่ายอุประ. 2562. พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ในความทรงจำ. ธนาคารแห่งประเทศไทย. https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256203Special Scoop.aspx
พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์. 2007. ความชั่วร้ายของวาทกรรม “ระบอบทักษิณ”. ประชาไท, 1 กุมภาพันธ์ 2007. https://prachatai.com/journal/2007/02/11453
พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม. 2520. บทบาททางการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทย (2475-2488). กรุงเทพ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.
โพสต์ทูเดย์ออนไลน์. 2558. “ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเผย "10 คดีเด่น" ในศาลทหาร ปี 58”. 31 ธันวาคม 2558. https://www.posttoday.com/social/general/407623
ฟ้ารุ่ง ศรีขาว. 2554. “กว่าจะเป็นสุภาพบุรุษไพร่”. สุภาพบุรุษไพร่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มติชน.
เมตตา วงศ์วัด. 2017. “1 ทศวรรษคดี 112 ตอนที่ 1: สถิติและความเป็น ‘การเมือง’ ของคดีหมิ่นฯ”. ประชาไท, 14 พฤศจิกายน 2017. https://prachatai.com/journal/2017/11/74108
รังสรรค์ ธนะพรพันธ์. 2548. Thaksinomics ภายใต้ทักษิณาธิปไตย. ปาฐกถาในโอกาสรับตำแหน่งกีรติยาจารย์สาขาสังคมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2546, 12 มกราคม 2548.
รังสรรค์ ธนะพรพันธ์. 2533. “เศรษฐกิจไทย: บนเส้นทางแห่งความรุ่งโรจน์?” ผู้จัดการรายสัปดาห์ ฉบับพิเศษ. 29 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2533.
ลม เปลี่ยนทิศ. 2556. “ย้อนดูวิกฤติเลือกตั้งในอดีต” คอลัมน์หมายเหตุประเทศไทย. ไทยรัฐออนไลน์ 23 ธันวาคม 2556.
สินิทธ์ สิทธิรักษ์. 2535. กำเนิดโทรทัศน์ไทย (2493-2500). โครงการ 60 ปีประชาธิปไตยไทย พ.ศ.2535. กรุงเทพ: ครีเอทีฟพับลิชชิ่ง.
สุภา ศิริมานนท์. 2530. จริยธรรมของหนังสือพิมพ์. กรุงเทพ: จินดา ศิริมานนท์ ในนาม ‘กองทุนสุภา ศิริมานนท์’ และสำนักพิมพ์ อักษรสาส์น.
สรุปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 20/2551. 2 ธันวาคม 2551. http://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/file_import/t20-2551.pdf
สุวิชชา เพียราษฎร์. 2551. ASTV ขบถสื่อโทรทัศน์ไทย: สื่อที่ไม่ยอมยืนมองความตกต่ำของสังคมแบบเมินเฉย. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์.
ศุภัจฉรี วิชัยดิษฐ์. 2539. การศึกษาศักยภาพของ ‘ทีวีเสรี’ ในประเทศไทย: ในแนวทัศนะแบบองค์รวม. วิทยานิพนธ์วารสารศาสตร์มหาบัณฑิต, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์. 2547. “อนาคตสื่อเสรีในระบอบทักษิณ”. รู้ทันทักษิณ. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ขอคิดด้วยคน.
อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์. 2542. ระบบวิทยุและโทรทัศน์ไทย: โครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองและผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์. 2530. การศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ (ระดับอุดมศึกษา) ในประเทศไทย. กรุงเทพ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เออเจนี เมริโอ เขียน. 2559. “รัฐเร้นลึกในไทย พระราชอำนาจ และศาลรัฐธรรมนูญ”. วีระ อนามศิลป์ แปล. ฟ้าเดียวกัน. ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2559, น.13-48.
ฮิวแมนไรต์ว้อทช์. 2551. ประเทศไทย.
Chambers, P. 2020. Democratization Interrupted: The Parallel State and the Demise of Democracy in Thailand. Croissant, A. and Hellmann. O. (ed.) Stateness and Democracy in East Asia. Cambridge: Cambridge University Press.
Human Rights Watch. 2006. World Report 2006: Thailand. pp.324-329.
ilaw. 2561. พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2560: กฎหมายใหม่แต่ยังถูกใช้ปิดปากเหมือนเดิม. https://ilaw.or.th/node/4901 15 สิงหาคม 2561.
Lippmann, W. 1922. Public Opinion. New York: Harcourt, Brace & Co.
McCargo, D. 2005. “Network Monachy and Legitimacy Crisis in Thailand”. Pacific Review , Vol 18, No. 4, December 2005, pp. 499-519.
McCargo, D. and Pathmanand, U. 2005. The Thaksinization of Thailand. Copenhagen: NIAS Press.
Momentum. 2020. 10 ปี พฤษภา 2553: การเดินทางของความจริงและความยุติธรรม. 19 May 2020. https://themomentum.co/justice-10-years-red-shirt-crackdown/
Pongpaichit, P. and Baker, C. 2004.Thaksin: The Business of Politics in Thailand. Chiang Mai: Silkworm Books.
Sinpeng, A. and Hemtanon, W. 2019. “Change and Continuity in the Politics of the Media after the Coup”. Montesano, M., et al. After the Coup: The National Council for Peace and Order Ear and the Future of Thailand. Singapore: ISEAS, Yusof Ishak Institute.
Siriyuvasak, U. 2006.”Thailand’s Media: Politics and Money versus Media”. Asia Media Report: A Crisis Within. Bangkok: Inter Press Service Asia-Pacific.
Winichakul, T. 2008. “Toppling Democracy”. 2008. Journal of Contemporary Asia. Vol. 38. No.1, February 2008, pp.11-37.
1 กรกฎาคม 2563
[i] สี่แผ่นดิน ถูกสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้งในรอบ 40 ปี (2504, 2517 – 2518, 2523, 2534, 2546) ครั้งแรกทาง ช่อง 4 บางขุนพรหม มีสุพรรณ บูรณพิมพ์ กำกับการแสดง และนำแสดงร่วมกับ อาคม มกรานนท์ ปี 2546 ละคร สี่แผ่นดิน ออกอากาศทาง โมเดิร์นไนน์ทีวี กำกับโดย หม่อมหลวง พันธุ์เทวนพ เทวกุล นำแสดงโดย สิริยากร พุกกะเวส และ ธีรภัทร์ สัจจกุล บริษัท ทูแฮนส์ จำกัด ใช้เงินลงทุนสูงเรื่องฉากและเครื่องแต่งกาย สถานีโทรทัศน์ดิจิตอล พีพีทีวี ได้นำ สี่แผ่นดิน ฉบับปี 2546 มาออกอากาศซ้ำ 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2559 (เริ่มออกอากาศตอนแรก 18 พฤษภาคม 2559) และครั้งที่ 2 ในเดือนตุลาคม 2560
ละครเวที สี่แผ่นดิน แสดงครั้งแรกปี 2516 เป็นฉบับละครเวที (นักศึกษา) กำกับการแสดงโดย ยุทธนา มุกดาสนิท เปิดการแสดงวันที่ 5 กันยายน 2516 ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2554-2555 บ.ซิเนริโอ นำมาสร้างใหม่ในแนวละครเพลง ในวาระ 100 ปีชาตะกาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในชื่อ สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล โดยแสดงทั้งหมด 100 รอบ ที่เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ มี ถกลเกียรติ วีรวรรณ เป็นผู้กำกับ นำแสดงโดย สินจัย เปล่งพานิช รับบท "แม่พลอย" เกรียงไกร อุณหะนันทน์ รับบท "คุณเปรม" ในปี 2557 สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล เปิดแสดงอีกครั้ง เริ่มแสดง 17 กรกฎาคม 2557 เนื่องจาก สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล เป็นที่ประทับใจของคนดูที่เป็นชนชั้นกลางมากจึงเปิดการแสดงอีกในปี 2560
[ii] ทีวีพูลมีสถานีโทรทัศน์ ททบ. 5 ช่อง 7 และช่อง 4 เป็นกรรมการ (ช่อง 3 เป็นสมาชิกในปี 2513) และมีผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 เป็นประธาน การรวมตัวกันเป็นเครือข่ายทำให้สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 มีบทบาทนำในทีวีพูลตลอดมา โครงสร้างนี้ทำให้สถานีโทรทัศน์ทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับของกองทัพบกผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 โดยพฤตินัย
[iii] ฉันทามติภูมิพล เกษียร เตชะพีระ (2560) เสนอว่าหลัง 14 ตุลา 2516 เป็นต้นมา สังคมไทยได้บรรลุฉันทามติของการประนีประนอม ระหว่างกระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่กับฐานการเมืองวัฒนธรรมไทยแบบอนุรักษนิยม ที่ลงตัวในระดับหนึ่ง ประกอบด้วยสาระสำคัญ 4 ด้าน 1. ด้านเศรษฐกิจ: เศรษฐกิจทุนนิยมที่เติบโตอย่างไม่สมดุล โดยถ่วงทานไว้ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 2. ด้านการเมือง: ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 3. ด้านอุดมการณ์: ราชาชาตินิยมหรืออุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทยภายใต้พระราชอำนาจนำ 4. ด้านศาสนา: พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
[iv] สถานีโทรทัศน์ในระบบยูเอชเอฟ-ไอทีวี อยู่ในสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งให้สัมปทานแก่เอกชนโดยวิธีประมูล ผู้ชนะประมูลคือกลุ่มสยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่น มี ธ.ไทยพาณิชย์ เดลินิวส์ บ.กันตนา และธุรกิจในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นแกนนำ กลุ่มนี้เสนอค่าตอบแทนให้รัฐ จำนวน 25,200 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี สูงกว่าเงื่อนไขการประมูลซึ่งกำหนดไว้ที่ 10,500 ล้านบาท (อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ 2542) รัฐไทยไม่ได้ให้สัมปทานโทรทัศน์ใหม่แก่เอกชนตั้งแต่ปี 2513 (สัมปทานสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3) หรือทิ้งช่วง 25 ปี ทำให้เกิดบรรยากาศ “สื่อเสรี” ในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ มีข้อน่าสังเกตว่า สถานีโทรทัศน์ไอทีวีแห่งนี้ ฝ่ายกษัตริย์นิยมมีส่วนเป็นเจ้าของผ่านการถือหุ้นของ ธ.ไทยพาณิชย์ และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ ธ.ไทยพาณิชย์ ยังได้ส่งคนเข้าไปดำรงผู้บริหารสถานีโดยตรง
[v] พอล แชมเบอร์ส (Paul Chambers) อธิบายว่า โครงสร้างของรัฐแบบคู่ขนาน หมายถึงความสัมพันธ์ที่ไม่สมมาตรระหว่างอำนาจที่ครอบงำสังคมสองอำนาจใหญ่ ได้แก่ อำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ และอำนาจรองอีก 2 กลุ่ม ได้แก่ กองทัพ และองคมนตรี ที่อยู่ใต้อำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนกลุ่มการเมืองอื่น ๆ เป็นกลุ่มที่อยู่รอบนอก
[vi] ดันแคน แม็คคาร์โก (Duncan McCargo) อธิบายว่า เครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์ประกอบด้วยชนชั้นนำรอยัลลิสต์ที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ข้าราชการระดับสูง เกาะกลุ่มกันเป็นเครือข่ายภายใต้อุปถัมภ์และโครงการในพระราชดำริจำนวนมาก เครือข่ายนี้มีอยู่จริงในทางพฤตินัย แต่ไม่มีสถานะทางนิตินัย ต้องดำเนินการผ่านระบอบรัฐสภา
[vii] ในการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 20 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งมีเสียงข้างมาก ได้ สส. แบบแบ่งเขต 200 ที่นั่ง แบบบัญชีรายชื่อ 48 ที่นั่ง รวม 248 ที่นั่ง ได้คะแนนเสียง 11.6 ล้านเสียงหรือร้อยละ 49.60 สภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้งจำนวน 200 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 500 คน มาจากการเลือกตั้ง 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน
[viii] รัฐเร้นลึก (deep state) หมายถึงรัฐซ้อนรัฐ ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐซึ่งรัฐบาลพลเรือนควบคุมได้จำกัด หรือไม่สามารถควบคุมได้เลย รัฐเร้นลึกเป็นอิสระ มีระบบระเบียบ และมีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับลำดับชั้นของตนเอง ด้วยการดำรงอยู่คู่ขนานไปกับรัฐปกติ รัฐเร้นลึก (deep state) หรือรัฐคู่ขนาน (parallel state) เป็นการดำรงอยู่ของสิ่งที่เรียกว่า “ทวิรัฐ” (dual state)
[ix] คณะปฏิรูปฯ ยึดช่อง 4 บางขุนพรหมจากกรมประชาสัมพันธ์ในปี 2520 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 แต่กลับไม่ได้ส่งผลบวกทางการเมืองดังที่คาดไว้ สถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. พยายามปรับตัวด้วยการนำเสนอรายการต่าง ๆ แบบมืออาชีพ ในขณะที่รัฐบาลหลายรัฐบาลที่เข้ามากำกับดูแลในช่วง 20 ปี (ทศวรรษ 2520-2530) มุ่งหวังให้สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาล
[x] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี"
[xi] ก่อนรัฐประหารปี 2557 ยุทธการปลุกกระแสมวลชนคัดค้านรัฐบาล เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับรัฐประหาร 2549 ถูกนำมาใช้อีก ครั้งนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์หลายคน ต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย และชูคำขวัญเรียกร้อง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” พวกเขา ใช้ชื่อกลุ่มว่า “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระ-มหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือ กปปส. ประกาศปิดเมืองหรือ shut down จนกว่ารัฐบาลจะลาออก กปปส. ได้สร้างเงื่อนไขให้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองครั้งใหม่เพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
[xii] พล.อ. ธเรศวร์ ปุณศรี ประธาน กสทช. (พ.ศ.2554-2557) เป็นอดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหมระหว่าง พ.ศ.2549-2551 เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2549-2550 ประธานกรรมการบริหารสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ(องค์การมหาชน) กระทรวงกลาโหม พ.ศ.2552-2554 พล.อ.อ.ธเรศวร์เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารกับพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2549 (ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย 2554)
พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธาน กสท. (พ.ศ.2554-2557) จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ปริญญาโทและเอก สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสารโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา รับราชการในกรมการทหารสื่อสาร ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ประธานคณะที่ปรึกษาคณะบริหารโครงการ CDMA บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาโครงการดาวเทียม iPSTAR และวิศวกรอาวุโส โครงการสื่อสารผ่านดาวเทียมมวงโคจรต่ำ GlobalStar (กสทช. 2555)
พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. (2557-2560, 2561-ปัจจุบัน) จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 20 ปริญญาโทรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จบโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 61 วปอ.รุ่น 44 มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา ข่าวกรอง และความมั่นคงภายใน (NBTC 2016)
- การเมือง 2 ขั้ว
- สื่อ 2 ฝ่าย
- ประชาธิปไตยภิวัตน์
- ความขัดแย้ง
- รัฐธรรมนูญนิยม
- กษัตริย์นิยม
- การเมืองไทย
- ทักษิณ ชินวัตร
- คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
- คมช.
- รัฐประหาร
- คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
- คสช.
- ธงชัย วินิจจะกูล
- ณัฐพล ใจจริง
- วารสารศาสตร์
- สื่อปลอดการเมือง
- เผด็จการทหาร
- อำมาตยาธิปไตย
- ชนชั้นกลาง
- ราชาชาตินิยมใหม่
- ระบอบทักษิณ
- พระราชดำรัส
- ระบอบทหาร
- การสถาปนาอำนาจนำของกองทัพ
- แผนยุทธศาสตรปฏิรูปประเทศ 20 ปี
- รัฐธรรมนูญ 2560
- พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการกระจายเสียงฯ 2553
- NBCT Act
- กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- อนาคตประชาธิปไตย
- ฉันทามติภูมิพล
- อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์
