Skip to main content

ทุกๆปี องค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders)[i]  และองค์กรฟรีดอมเฮ้าส์ (Freedom House)[ii]   มีการตีพิมพ์เผยแพร่รายงานเสรีภาพสื่อโลก ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงเสรีภาพของนักข่าว องค์กรสื่อ และพลเมืองเน็ตในแต่ละประเทศ และยังสะท้อนว่าเจ้าหน้าที่รัฐเคารพและทำให้เกิดความแน่ใจว่าเคารพเสรีภาพนี้ระดับใด

รายงานดัชนีเสรีภาพสื่อโลกปี 2014 ขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ระบุว่า ในปี 2013 นั้น รัฐบาลในกลุ่มประเทศเอเซียแปซิฟิก แม้ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ต่างมีความอ่อนไหวยิ่งกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ โดยหลักฐานที่เป็นตัวชี้วัดเรื่องนี้ รวมถึงคำพิพากษาในกระบวนการยุติธรรมที่ลงโทษสื่อภายใต้แรงกดดันของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ

ขณะที่องค์กรฟรีดอมเฮ้าส์ สรุปภาพรวมสถานการณ์เสรีภาพสื่อใน 197 ประเทศทั่วโลกของปี 2013 ว่า “ตกต่ำสุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา” โดยปรากฏการณ์ที่เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดหลัก คือ สื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในการรายงานข่าวการชุมนุมประท้วงในหลายประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมืองนั้นถูกคุกตามและทำร้ายร่างกายบ่อยครั้ง

รายงานของฟรีดอมเฮ้าส์ ซึ่งครอบคลุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2013 - 31 ธันวาคม 2013 จัดกลุ่มสถานการณ์สื่อไว้ 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มประเทศที่สื่อมีเสรีภาพ (คะแนน 0-30)

2. กลุ่มประเทศที่สื่อมีเสรีภาพบางส่วน (คะแนน 31-60)

3. กลุ่มประเทศที่สื่อไร้เสรีภาพ (คะแนน 61-100)

ฟรีดอมเฮ้าส์ระบุว่า ในจำนวน 197 ประเทศที่ทำการสำรวจและวิเคราะห์ในปี 2013 นั้น มี 63 ประเทศที่สื่อมีเสรีภาพ, ใน 68 ประเทศ พบว่าสื่อมีเสรีภาพบางส่วน, และอีก 66 ประเทศที่พบว่า สื่อไม่เสรี

ทั้งนี้ ในประเทศอาเซียนเกือบทั้งหมดถูกจัดไว้ในกลุ่มที่ 3 คือ “สื่อไม่มีเสรีภาพ” ยกเว้น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย  ที่มีคะแนนติดอยู่ในกลุ่มที่ 2 คือ “สื่อมีเสรีภาพบางส่วน”

ฟรีดอมเฮ้าส์ ใช้ทีมนักวิจัยมากกว่า 60 คน และแบบสอบถามที่มี 23 คำถาม ที่เกี่ยวข้องกับสภาพการณ์ทางกฎหมาย 8 ข้อ, สภาพการณ์ทางการเมือง 7 ข้อ, และสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ 8 ข้อ ประเด็นต่างๆที่ครอบคลุม รวมถึงการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อ, อิทธิพลทางการเมืองต่อการรายงานข่าวและการเข้าถึงข้อมูล, ความสามารถของสาธารณะในการที่จะเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลาย, การละเมิดเสรีภาพสื่อ การสังหาร ทำร้ายร่างกายผู้ปฏิบัติงานสื่อ และการคุกคามอื่นๆ, และแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อเนื้อหาข่าวและการเผยแพร่ข่าว

ด้านองค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน เก็บข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามไปให้องค์กรภาคีในแต่ละประเทศ (องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเสรีภาพในการแสดงออก 18 แห่งใน 5 ทวีป) และนักข่าว, นักวิจัย, นักกฎหมาย และคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน รวม 150 คน โดยใช่คำถามเชิงปริมาณเกี่ยวกับจำนวนการละเมิดในรูปแบบต่างๆ ซึ่งรวมถึง จำนวนนักข่าว ผู้ช่วยนักข่าว และพลเมืองเน็ตที่ถูกจับกุมคุมขัง หรือสังหาร อันเกี่ยวเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่,  จำนวนนักข่าวที่ถูกลักพาตัว, จำนวนนักข่าวที่ต้องลี้ภัย, จำนวนนักข่าวที่ถูกทำร้ายร่างกายและจับกุม, และจำนวนสื่อที่ถูกเซนเซอร์

นอกจากนี้ยังมีคำถามที่เกี่ยวกับระดับที่องค์กรสื่อต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง, การที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงเนื้อหาข่าว

องค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ระบุว่าในบางประเทศที่ทหารเข้าควบคุมอำนาจนั้น การละเมิดใดๆที่กระทำโดยกองกำลังที่ยึดอำนาจถูกนับว่าเป็นการละเมิดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในประเทศอื่นด้วย และถูกรวมไว้ในคะแนนของประเทศที่มีการยึดอำนาจ

ทั้งนี้ ดัชนีชี้วัดนี้ ไม่ได้มองที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยทั่วไป แต่เป็นเรื่องเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร และไม่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของสื่อมวลชนในแต่ละประเทศ

สื่อพม่า..เสรีภาพใหม่

ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ “ประชาธิปไตยที่มีวินัยและรุ่งเรืองสถาพร

ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าที่ยึดอำนาจปกครองประเทศต่อเนื่องยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ สื่อมวลชนพม่าถูกปิดปากด้วยกระบอกปืนและโซ่ตรวน สื่อพม่าเคยถูกจัดอันดับไว้ในกลุ่มท้ายๆของกลุ่มสื่อที่ไร้เสรีภาพมาโดยตลอด สถานการณ์เสรีภาพสื่อในพม่าเริ่มดีขึ้นเมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารภายใต้ชื่อ   สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council) ค่อยๆถอยออกไปอยู่ข้างหลัง และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ “ประชาธิปไตยที่มีวินัยและรุ่งเรืองสถาพร” ปี 2008 ที่ใช้เวลาร่างยาวนานเกือบ 15 ปี (1993 –2008) และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2010

นายพลเต็งเส่ง อดีตนายกรัฐมนตรี (ปี 2007-2011) และเลขาธิการคนที่ 1 ของสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ซึ่งเกษียณอายุจากกองทัพเมื่อเดือนเมษายน 2010 ได้ร่วมกับนายทหารอีก 22 คน ตั้งพรรคการเมืองชื่อ Union Solidarity and Development Party (UNDP) ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับชัยชนะ โดยที่พรรคเอ็นแอลดี (National League for Democracy) ของนางอองซาน ซูจี บอยคอยไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง นายพลเต็งเส่งได้รับเสียงข้างมากให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดแรกในรอบห้าทศวรรษ

รัฐบาลของประธานาธิบดีอูเต็งเส่ง เข้าบริหารประเทศเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2011 และประกาศนโยบายให้เสรีภาพสื่อ โดยการยกเลิกกฎหมายเซ็นเซอร์สื่อที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1962 เปิดพื้นที่ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศมีมากขึ้น โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐ

ก่อนหน้าที่จะมีการยกเลิกกฎหมายเซ็นเซอร์สื่อนั้น สื่อสิ่งพิมพ์ทุกประเภทจะต้องส่งเนื้อหาให้คณะกรรมการเซ็นเซอร์ตรวจสอบก่อนการตีพิมพ์ ซึ่งประเด็นอ่อนไหวที่มักจะถูกเซ็นเซอร์ คือ เรื่องและคำที่เกี่ยวข้องกับ การเมือง, ประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน, การเคลื่อนไหวของฝ่ายค้าน, อองซาน ซูจี, เหตุการณ์ 8-8-88, การยึดที่ดิน, และทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ

แม้ว่ารัฐบาลของอูเต็งเส่งจะยกเลิกกฎหมายเซ็นเซอร์สื่อเมื่อสิงหาคม 2012 แล้วก็ตาม แต่กระทรวงข้อมูลข่าวสารก็ได้จัดทำคู่มือการรายงานข่าว 16 ข้อแจกจ่ายแก่สื่อมวลชน ในจำนวนข้อชี้แนะ 16 ข้อนี้ ระบุว่าการรายงานข่าวในประเด็นที่ "เป็นการละเมิดเกียรติภูมิของรัฐเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้" และ "อย่าพึงเขียนสิ่งที่เป็นการสบประมาทนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล"

รัฐบาลของอูเต็งเส่งได้ออกใบอนุญาตดำเนินกิจการให้กับหนังสือพิมพ์รายวันจำนวน 8 ฉบับ และรวมทั้ง พวกที่เคยเป็น "สื่อพลัดถิ่น" ให้กลับเข้าตั้งสำนักงานในประเทศพม่าได้ตั้งแต่ปี 2013

การเปิดตัวของหนังสือพิมพ์รายวันที่เอกชนเป็นเจ้าของ เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ใหม่และใหญ่ของปี 2013 การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อในพม่านี้ รวมไปถึงการเกิดสื่อออนไลน์ และสถานีวิทยุอีกหลายแห่งด้วย

นอกจากนี้ การอนุญาตให้มีการจัดอบรมในด้านเทคโนโลยี่สื่อและการอบรมจรรยาบรรณสื่อวิชาชีพ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถสร้างสื่อในภาษาของตัวเองได้ด้วย

แต่ในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพสื่อนั้นกลับพัฒนาไปอย่างเชื่องช้า แม้ว่ารัฐบาลและรัฐสภาจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับสื่อตั้งแต่ปี 2012 ในการยกเลิกคณะกรรมการการเซ็นเซอร์สื่อที่มีมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ แค่คำสัญญาที่จะร่างกฎหมายที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลนั้นไม่เกิดขึ้น เพราะร่างกฎหมายสื่อฉบับของรัฐบาลที่ยื่นต่อสภาล่างนั้น ได้เผยให้เห็นความกระอักกระอ่วนของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน

“เสรีภาพบนความอ่อนไหว”

รายงานดัชนีเสรีภาพสื่อโลกปี 2014 ขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน วิเคราะห์ว่า กระบวนการปฏิรูปในพม่าถูกจับตามองอย่างสนใจยิ่งจากประชาคมนานาชาติ โดยเฉพาะในหมู่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศลาวที่เสรีภาพในข้อมูลข่าวสารซบเซา, ประเทศกัมพูชา และสิงคโปร์ ที่ตกอยู่ในความหวาดวิตกกับอำนาจรัฐ, เวียดนามที่ยังคงอยู่ในกำมือของระบอบอำนาจนิยมภายใต้รัฐบาลพรรคเดียว ทั้งรัฐบาลและประชาชนของประเทศเหล่านี้กำลังเฝ้าติดตามพัฒนาการของพม่า ซึ่งก็ยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเอง

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ระบุไว้ในรายงานว่า เมื่อประชาธิปไตยที่ดีดตัวขึ้นมาในประเทศเมียนม่านั้นเริ่มสะดุด ความยินดีที่เกิดขึ้นในวงกว้างจากการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองเมื่อเดือนตุลาคม 2011 และมกราคม 2012 ค่อยๆจางหายไป เริ่มมีความกังวลจากประชาคมนานาชาติ และตั้งคำถามใหญ่ไว้ว่า "การปฏิรูปต่างๆและการทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยของพม่านั้นเริ่มที่จะเสียศูนย์แล้วหรือไร?"

 

ขณะที่รายงานของฟรีดอมเฮ้าส์ระบุว่า พม่ายังคงเป็นประเทศที่มีการจำกัดเสรีภาพสื่อมาก โดยเฉพาะในประเด็นที่รัฐบาลเห็นว่า “อ่อนไหว” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ, และเรื่องของกองทัพ

แม้ว่าสื่อจะสามารถนำเสนอประเด็นข่าวที่เกี่ยวกับการเมือง และประเด็นอื่นๆที่เคยถูกจำกัดได้มากขึ้น แต่ก็ยังมีประเด็นที่รัฐบาลยังถือว่า "อ่อนไหว" โดยเฉพาะข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมโรฮิงยาในรัฐอาระกัน ที่ปะทุขึ้นอีกในปี 2013

คำมั่นสัญญาของรัฐต่อการเปิดพื้นที่เสรีภาพสื่อ สะดุดลงด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ดังนี้

  • เดือนมิถุนายน 2013 Inwa Publications ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายนิตยสารไทมส์ (Time magazine) ตัดสินใจที่จะไม่นำไทมส์ฉบับเดือนกรกฎาคม ที่ตีพิมพ์สารคดีปกเรื่อง “The Face of Buddhist Terror” มาวางจำหน่าย ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ได้รับการตอกย้ำว่า "ถูกต้อง" เมื่อในเวลาต่อมารัฐบาลสั่งห้ามการจำหน่ายนิตยสารนี้ในทุกรูปแบบ

  • เดือนธันวาคม 2013 นักข่าวของ Eleven Media Group ถูกฟ้องร้องหมิ่นประมาท และข้อหาบุกรุก กรณีสัมภาษณ์ทนายความในเรื่องการคอรัปชั่นในกระบวนการยุติธรรม เธอถูกพิพากษาจำคุก 3 เดือน นับเป็นนักข่าวคนแรกที่ถูกจำคุกภายใต้รัฐบาลเลือกตั้งของอูเต็งเส่ง
  • เดือนมกราคม 2014 รัฐบาลสั่งห้ามเผยแพร่นิตยสารเพศศึกษาฉบับแรกของพม่าชื่อ Hnyo ด้วยเหตุผลว่าตีพิมพ์ “สิ่งที่เกือบเป็นการลามกอนาจาร”
  • เดือนมกราคม 2014 นักข่าวและเจ้าของหนังสือพิมพ์ The Unity รวม 5 คนถูกจับกุมและคุมขัง
  • เดือนเมษายน 2014 Zaw Pe นักข่าวของ DVB  ถูกพิพากษาจำคุก 1 ปี ด้วยความผิดฐาน "บุกรุก" และ "สร้างความรำคาญให้เจ้าหน้าที่รัฐ" ในการพยายามที่จะสืบข่าวกรณีเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาในรัฐมอญ ถูกกล่าวหาว่าคอรัปชั่น
  • เดือนกรกฎาคม 2014 นักข่าว, บรรณาธิการ, และผู้บริหารของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ Bi Mon Te Nay รวมทั้งหมด 7 คนถูกจับกุมและคุมขัง

การจับกุมคุมขังนักข่าว และบรรณาธิการ

ปี 2014 มีเหตุการณ์ที่สะท้อนว่าพัฒนาการเสรีภาพสื่อพม่าสะดุดจนเป็นที่กังวลของประชาคมนานาชาติ 3 กรณีใหญ่ๆ คือ การจับกุมคุมขังและคำพิพากษาลงโทษที่รุนแรงต่อ คดีของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ Bi Mon Te Nay และ หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ Unity Weekly Journal และ เหตุการณ์ที่ อ่อง จ่อ นาย (Aung Kyaw Naing) หรือ Par Gyi นักข่าวอิสระถูกสังหารในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ

คดีของ Bi Mon Te Nay

เดือนกรกฎาคม 2014 นักข่าว, บรรณาธิการ, และผู้บริหารของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ Bi Mon Te Nay (บรรณาธิการ 3 คน เจ้าของสื่อ และภรรยา, ผู้จัดการสำนักพิมพ์, นักข่าว) รวมทั้งหมด 7 คนถูกจับกุมภายหลังที่ Bi Mon Te Nay ตีพิมพ์รายงานข่าวที่อ้างแหล่งข่าวจากพรรค Myanmar Democratic Current Force (MDCF) ระบุว่านางอองซานซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน จะรวมตัวกับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อที่จะขับไล่รัฐบาลปัจจุบันของพรรค Union Solidarity and Development Party

Bi Mon Te Nay ต้องยุติการพิมพ์ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกค้นสำนักงาน ยึดอุปกรณ์ต่างๆ และจับกุมนักข่าวและบรรณาธิการเมื่อเดือนกรกฎาคม ต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี ความผิดฐานละเมิดกฎหมายอาญา มาตรา 505 (b) - ที่ห้ามเผยแพร่ข้อความที่อาจ "ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจกับสาธารณะชน" หรือชักจูงให้บุคคล "เกิดความเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ" ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่มักถูกนำมาใช้จัดการกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารในอดีต

คดีของ The Unity Weekly Journal

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2014 บรรณาธิการ และนักข่าว รวม 5 คน ของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ The Unity Weekly ถูกจับกุมหลังมีการตีพิมพ์รายงานข่าวเกี่ยวกับโรงงานผลิตอาวุธเคมี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2014 โดยตีพิมพ์ภาพและคำบรรยายว่า "โรงงานผลิตอาวุธเคมีลับของอดีตนายพล, วิศวกรชาวจีน และผู้บัญชาการทหาร ที่เมืองเป้า (Pauk Township)

รัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารชี้แจงผ่านเว็บไซด์ว่า "กระทรวงมหาดไทยปฏิบัติตามกฎหมาย" โดยบรรณาธิการและนักข่าวที่ถูกจับกุมถูกกล่าวหาว่า "บุกรุก และเข้าไปถ่ายรูปโรงงานในพื้นที่หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต" การจับกุมคุมขังดังกล่าวส่งผลให้ The Unity Weekly ต้องปิดสำนักงานในเดือนกรกฎาคม 2014

เดือนกรกฎาคม 2014 ทั้งหมดถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปี และถูกบังคับให้ใช้แรงงานหนักด้วย ในความผิดฐานละเมิด “กฎหมายความลับของทางราชการ” ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีอายุ 80 ปีแล้ว

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2014 มีคำพิพากษาลดโทษจำคุกจาก 10 ปี เหลือ 7 ปี และยังต้องถูกบังคับใช้แรงงานหนัก

นอกจากการจับกุมและพิพากษาลงโทษหนักต่อสื่อมวลชนแล้ว กรมตำรวจสันติบาลยังคงใช้นิยามที่กำกวมในการเข้าตรวจสอบการเงินของสื่อสิ่งพิมพ์จำนวนมาก ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมใช้กฎหมายจัดการกับนักข่าวที่ชุมนุมประท้วงโดยสงบ เรียกร้องให้รัฐบาลตระหนักถึงเสรีภาพสื่อในการดำเนินคดีและลงโทษสื่อมวลชน

นักข่าวที่ออกมาชุมนุมประท้วงคำพิพากษาคดี Unity Weekly Journal ประมาณ 50 คนกำลังถูกฟ้องร้องข้อหาชุมนุมผิดกฎหมาย ทำให้การเผชิญหน้าระหว่างสื่อมวลชนกับรัฐบาลกึ่งประชาธิปไตยตึงเครียดขึ้นอีก

คดี อ่อง จ่อ นาย

อ่อง จ่อ นาย (Aung Kyaw Naing) นักข่าวพม่า วัย 49 ปี ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2014 ระหว่างเข้าไปทำข่าวการสู้รบระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลกับกองกำลัง DKBA (Democratic Karen Benevolent Army) และต่อมาพบว่าเสียชีวิตในระหว่างที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวอยู่ในเขตรัฐมอญ ศพของเขามีร่องรอยว่าถูกทรมาน กรามหัก มีเลือดคั่งในสมอง กระดูกซี่โครงหัก

แถลงการณ์ของกองทัพที่ส่งถึงสภาการหนังสือพิมพ์ชั่วคราว เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม แจ้งว่าเขาเสียชีวิตแล้ว โดยระบุว่า เขาถูกยิงเพราะพยายามที่จะแย่งอาวุธจากทหารและหลบหนี กองทัพยังระบุด้วยว่า อ่องจ่อนาย ทำงานให้กับ Klohtoobaw Karen Organization ซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองของ DKBA

อ่อง จ่อ นาย เป็นผู้สื่อข่าวอิสระที่รายงานข่าวในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ตามแนวชายแดนไทย-พม่า และส่งข่าวให้กับหนังสือพิมพ์หลายฉบับในเมืองร่างกุ้ง อาทิ  Eleven Media, Yangon Times, และ The Voiceก่อนถูกจับกุม อ่องนาย เข้าไปทำข่าวในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่ม DKBA

รูปแบบใหม่ของการเซ็นเซอร์สื่อ

ตั้งแต่รัฐบาลยกเลิกกฎหมายเซ็นเซอร์เนื้อหาในสื่อดั้งเดิม (traditional media) ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์, สื่อวิทยุกระจายเสียง, สื่อโทรทัศน์ และ สื่อภาพยนตร์ เมื่อปี 2012 ทำให้สื่อสามารถนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองโดยไม่ต้องถูกเจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบต้นฉบับก่อน และแม้แต่สื่อประเภทที่มีเนื้อหาลามกอนาจารก็ไม่ถูกสั่งห้าม

แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลใช้กลวิธีใหม่ในการควบคุมเนื้อหาผ่านการใช้สื่อที่รัฐเป็นเจ้าของ เช่น New Light of Myanmar และ The Mirror ด้วยวิธีปฏิเสธที่จะขายพื้นที่โฆษณาให้กับสื่อเอกชนที่ต้องการขยายฐานผู้อ่านผ่านการโฆษณาในสื่อของรัฐ

ทั้งนี้ ผู้ซื้อพื้นที่โฆษณาจะต้องส่งเนื้อหาให้ตรวจสอบก่อน และบ่อยครั้งที่ New Light of Myanmar และ The Mirror จะตัดข้อความบางส่วนของผู้ซื้อโฆษนาออกโดยอ้างว่าเนื้อที่ไม่พอ

ปลายปี 2013 และต้นปี 2014 สื่อเอกชน อาทิ วารสารรายเดือนชื่อ Human Rights and Democracy, นิตยสารรายสัปดาห์ Pae Tin Than , และวารสาร Mawkun ซึ่งมีทั้งฉบับพิมพ์เป็นเล่มและฉบับออนไลน์ ถูกตัดข้อความที่อ้างอิงถึง สิทธิมนุษยชน, การคอรัปชั่นของรัฐ, และประเด็นที่เป็นเรื่องอ่อนไหวทางสังคม เช่น การอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน เป็นต้น

นิตยสารอิระวดี (Irrawaddy) เป็นหนึ่งในสื่อเอกชนที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันนี้ ภายหลังที่มีการวางจำหน่ายฉบับพิมพ์ภาษาพม่าในช่วงต้นปี 2014 โดยถูกปฏิเสธจาก The Mirror ว่าไม่มีพื้นที่โฆษณาขายให้

นอกจากถูกปฏิเสธเรื่องไม่มีพื้นที่พอแล้ว นิตยสารอิระวดียังได้รับคำแนะนำให้พาดหัวข่าวให้แรงน้อยลงกว่านี้ รวมทั้งคำท้วงติงเรื่องการวาดภาพประกอบของประธานาธิบดีที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย

นักข่าวและสำนักข่าวทั้งสิ่งพิมพ์ และออนไลน์ ยังคงได้รับ "การแจ้งเตือน" ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็น ทางการจากเจ้าหน้ารัฐเมื่อมีการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงข้อมูลข่าวสารได้ตัดระยะเวลาการอนุญาตวีซ่าให้นักข่าวต่างประเทศจาก 3 เดือน เหลือเพียง 1 เดือน รวมทั้งกำหนดให้นักข่าวของสำนักสื่อพลัดถิ่น เช่น  RFA (Radio Free Asia), DVB, Irrawaddy ต้องออกมาต่อวีซ่านอกประเทศทุกเดือน ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ (ปี 2013) นักข่าวเหล่านี้สามารถขอวีซ่าได้โดยไม่ต้องออกจากพม่า

สื่อพม่า-ประชาธิปไตย-กับนายพล

สื่อพม่าอยูภายใต้การควบคุมของผู้นำเผด็จการทหารมานานเกือบ 50 ปี  เป็นเวลา 26 ปีภายใต้รัฐบาลของนายพลเนวิน (ระบอบเนวิน 1962-1988) และอีก 22 ปี ภายใต้รัฐบาลทหารของนายพลอาวุโสตานฉ่วย (1989-2011)


นายพลเนวิน (ซ้าย) และนายพลอาวุโสตานฉ่วย (ขวา)

นายพลอาวุโสตานฉ่วยค่อยๆถอยออกไปอยู่หลังฉาก และสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐได้ประกาศยุบตัวเองไปเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2011 เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้งของอูเต็งเส่ง

แม้ว่ารัฐบาลอูเต็งเส่งจะมาจากการเลือกตั้ง แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2008 กำหนดให้มีผู้แทนจากกองทัพ 25% ของสมาชิกรัฐสภา โดยในจำนวนสมาชิกสภาสูง (สภาชนชาติ) 224 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้ง 168 คน และจากกองทัพแต่งตั้ง 56 คน และสภาล่าง (สภาผู้แทน) 440 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้ง 330 คน กองทัพแต่งตั้ง 110 คน ซึ่งสะท้อนถึงอิทธิพลและบทบาทของกองทัพในระบอบการเมืองปัจจุบันของพม่า และยังครอบคลุมมาถึงสื่อมวลชนด้วย

นอกจากมีตัวแทน 25% อยู่ในรัฐสภาแล้ว กองทัพยังคงเป็นเจ้าของสื่อทั้งแบบที่เป็นเจ้าของเดียว และในรูปแบบของการเป็นหุ้นส่วน การรายงานข่าวใดใดที่เกี่ยวข้องกับกองทัพถือเป็นประเด็น “อ่อนไหว” ที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐ นำไปสู่การลงโทษหนัก เช่น กรณีของนิตยสาร The Unity และ ความตายของ อ่อง จ่อ นาย ในระหว่างที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัว

ภูมิทัศน์สื่อพม่า.. บนเส้นทางเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย

ที่ผ่านมากว่า 50 ปี พม่าไม่มีหนังสือพิมพ์รายวันที่เป็นของเอกชน โดยกระทรวงข่าวสาร เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวัน 3 ฉบับ คือ Myanma Alinn ภาษาพม่า และมีฉบับภาษาอังกฤษ คือ New Light of Myanmar และ The Mirror ขณะที่กองทัพเป็นเจ้าของ Myawaddy

เมื่อรัฐบาลอูเต็งเส่งออกใบอนุญาตให้สื่อสิ่งพิมพ์เอกชนดำเนินกิจการได้นั้น สื่อพม่าพลัดถิ่นที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในประชาคมโลก อาทิ สำนักข่าวอิระวดี (Irrawaddy), สำนักข่าวมิซซิมา (Mizzima), และสำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (Democratic Voice of Burma) ตัดสินใจเข้าไปเปิดสำนักงานในประเทศ ขณะเดียวกันก็ยังคงสำนักงานนอกประเทศไว้ด้วย

สำนักข่าวอิระวดี เปิดสำนักงานในพม่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2013 และปัจจุบันมีทีมงาน 30 คนในเมืองร่างกุ้ง ตีพิมพ์ Irrawaddy ฉบับภาษาพม่ารายสัปดาห์

สำนักข่าวมิซซิมาตีพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันภาษาพม่า และนิตยสารเศรษฐกิจรายสัปดาห์  มีสถานีโทรทัศน์ และเว็บไซด์ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาพม่า

วิทยุเป็นสื่อที่ประชาชนเข้าถึงมากที่สุดในพม่า  มีสถานีวิทยุท้องถิ่นทั้งหมด 16 สถานี ที่ได้รับความนิยมมากสุดคือสถานีที่เป็นของรัฐ ซึ่งมีผู้ฟัง 23%  ขณะที่สถานีวิทยุของต่างประเทศ อาทิ บีบีซีภาคภาษาพม่า, วิทยุเสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (DVB) , วิทยุเอเซียเสรี (Radio Free Asia) และ เสียงอเมริกา (Voice of America) ยังคงได้รับความนิยมมากในพื้นที่ปิดซึ่งผู้รับฟังต้องแอบฟังในบางพื้นที่

เสรีภาพทางอินเตอร์เน็ต

อย่างไรก็ตาม เสรีภาพสื่อออนไลน์ของพม่ามีพัฒนาการด้านบวก จากที่เคยถูกฟรีดอมเฮ้าส์จัดไว้ในกลุ่ม "ไม่เสรี" เมื่อปี 2013 รายงานเสรีภาพสื่อออนไลน์ฉบับล่าสุดของฟรีดอมเฮ้าส์ ที่เผยแพร่ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2014 ซึ่งเก็บข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2013 - พฤษภาคม 2014 ได้ขยับสื่อออนไลน์ในพม่าจาก "ไม่เสรี" ในปี 2013 มาเป็น "มีเสรีภาพบางส่วน" ในปี 2014

ทั้งนี้ ฟรีดอมเฮ้าส์ระบุว่า เสรีภาพออนไลน์นี้เป็นส่วนหนึ่งของพลวัตที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนผ่านจากระบอบทหารไปสู่ประชาธิปไตยในพม่า

ดัชนีชี้วัดนี้ คือการที่รัฐบาลพม่าอนุญาตให้บริษัทเทเลคอมของนอร์เวย์เปิดบริการได้อย่างเสรีในประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคม 2014 ก่อนหน้านี้ การเข้าถึงข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตต้องผ่านผู้ให้บริการที่เป็นเครือข่ายของรัฐเท่านั้น ต่อมาผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตรายหนึ่งคือ Yatanarpon Teleport (YTP) ที่เป็นเครือข่ายของกองทัพ ได้เปลี่ยนรูปมาเป็นบริษัทเอกชน แม้จะมีข่าวว่ารัฐบาลและกองทัพยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตในพม่ายังถูกจำกัดด้วยความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน และความยากจนของประชาชน ทั้งนี้ข้อมูลของ International Telecommunication Union (ITU) ประเมินว่า จำนวนผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตในพม่านั้น มีเพียงร้อยละ 1.2 ในปี 2013

การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือมีจำนวนมากกว่า โดยในปี 2013 รัฐบาลยอมให้บริษัทเอกชนขาย sim cards รายเดือนในราคาต่ำ ประมาณ 2 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ผู้ใช้ก็ยังประสบปัญหาเรื่องความเร็วของอินเตอร์เน็ต ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วไปจ่ายค่าบริการประมาณ 10-20 ดอลลาร์/เดือน ขณะที่ผู้ใช้บริการที่ต้องการความรวดเร็วต้องจ่ายประมาณ 30-50 ดอลลาร์/เดือน

ข้อมูลของ Myanmar Post Telecommunication (MPT) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ระบุจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือโดยรวมว่า มีประมาณ 1.2 ล้านคน ในเดือนกรกฎาคม 2013 และมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือประมาณ 7 ล้านคนในเดือนธันวาคม 2013

ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในพม่าใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆเกือบทุกประภท อาทิ Viber, Tango, Friendfinder, Google+ แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ Facebook ที่ถูกใช้เป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นทั้งประเด็นทางสังคมและการเมือง

ขณะที่สื่อพลัดถิ่นทุกสำนักใช้ Facebook เป็นช่องทางการสื่อสาร เมื่อเว็บไซด์ข่าวถูกบล็อก และยังเป็นช่องทางเดียวที่สื่อจะหารายได้จากการโฆษณาโดยที่ยังคงสามารถรักษา "เสรีภาพ" ไว้ได้มากสุด

นอกจากนี้ การสื่อสารออนไลน์ยังถูกใช้เป็นช่องทางการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มการเมืองต่างๆ รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์, กลุ่มชาตินิยมต่อต้านชาวมุสลิมโรฮิงยา, กลุ่มผู้สนับสนุนนางอองซานซูจี, กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล โดยที่รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายที่เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ชาวมุสลิมโรฮิงยา

ทั้งนี้ การสื่อสารออนไลน์สะท้อนถึงการแบ่งขั้วทางการเมืองที่พัฒนาไปสู่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2015 ด้วย เช่น ฝ่ายสนับสนุนนางอองซานซูจีใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือในการณรงค์เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้นางอองซานซูจีมีสิทธิ์เป็นประธานาธิบดีได้

ท่าทีของผู้นำ ต่อเสรีภาพสื่อ

ประธานาธิบดีเต็งเส่งกล่าวในการพบปะกับกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ชั่วคราวของพม่าเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2014 ที่ผ่านมาว่า เขาให้ความสำคัญกับบทบาทสื่อในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย และสภาการหนังสือพิมพ์ควรมีบทบาทในการจัดการ "ปัญหาจรรยาบรรณ" และจะสนับสนุน "วิธีแก้ปัญหาจรรยาบรรณของนักข่าวผ่านสภาการหนังสือพิมพ์ แทนที่จะใช้กฎหมายจัดการ"

ขณะที่องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ตั้งคำถามไว้ในรายงานดัชนีเสรีภาพสื่อโลกฉบับล่าสุดว่า “พม่าจะเป็นหมุดหมายมาตรฐานของการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในเรื่องของเสรีภาพข้อมูลข่าวสารในภูมิภาคนี้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูกันต่อไป

 

ภาคผนวก : เสรีภาพสื่อไทย ย้อนเส้นทางสื่อพม่า

รายงานเสรีภาพสื่อปี 2004 ขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ระบุว่าการที่รัฐใช้ข้อกล่าวหาตาม มาตรา 112  เป็นอาวุธที่ทรงพลังในการจัดการกับเสรีภาพสื่อไทยและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสาธารณะ โดยชี้ถึงการใช้มาตรา 112 ฟ้องร้องดำเนินคดีผู้บริหารสื่อ และบรรณาธิการ  2 แห่ง คือ

1.    คดีของ นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการสำนักข่าวประชาไทออนไลน์ ในข้อกล่าวหาว่าเผยแพร่ความเห็น "ที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์"  โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษนางสาว จีรนุช เปรมชัยพร เป็นโทษ จำคุก 1 ปี และปรับ 30,000 บาท ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาลดโทษ เป็นจำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท โดยให้รอลงอาญาเป็นเวลา  1 ปี

นางสาวจีรนุชรอลงอาญาครบ 1 ปีแล้ว แต่ได้ยื่นฎีกาสู้คดี และศาลฎีการับเรื่องไว้แล้ว

2.    คดีของ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารรายปักษ์ชื่อ "Voice of Taksin" ที่ถูกพิพากษาลงโทษ 11 ปีจากข้อกล่าวหาความผิดภายใต้มาตรา 112 ว่าตีพิมพ์บทความที่ "หมิ่นสถาบันกษัตริย์"  สมยศถูกจับกุมและคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2011 และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

ด้านองค์กรฟรีดอมเฮ้าส์ ได้ลดระดับเสรีภาพสื่อในประเทศไทยมาอยู่ในกลุ่ม "ไม่เสรี" ตั้งแต่ปี 2012 (62 คะแนน) และถดถอยลงไปอีกในปี 2013 (64 คะแนน) ซึ่งสะท้อนว่าสถานการณ์เสรีภาพสื่อไทยย่ำแย่ที่สุดในรอบทศวรรศที่ผ่านมา

ทั้งนี้ฟรีดอมเฮ้าส์ระบุเหตุผลว่า ทั้งสื่อและองค์กรสื่อถูกคุกคามจากนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งบ่อยครั้งที่นักข่าวถูกทำร้ายในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวการชุมนุมทางการเมืองต่างๆ รวมทั้งความโน้มเอียงเลือกฝักฝ่ายของสื่อ, การเซ็นเซอร์เนื้อหาของสื่อออนไลน์ และการใช้กฎหมายมาตรา 112 มาจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

สื่อไทย ใต้ คสช.

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก  ได้ลงนามในประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และ ฉบับที่ 2 เรื่องการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.)  หลังออกประกาศทั้งสองฉบับ  ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบพร้อมอาวุธครบมือไปควบคุมสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ตามมาด้วยการออกคำสั่งของ กอ.รส. ที่กระทบต่อการทำหน้าที่ของสื่อ ดังต่อไปนี้

  • คำสั่ง กอ.รส. ฉบับที่ 3/2557     เรื่อง ห้ามการเสนอข่าวแจกจ่าย จำหน่ายสิ่งพิมพ์ที่ส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย
  • คำสั่ง กอ.รส. ฉบับที่ 6/2557   เรื่อง ขอความร่วมมือระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม และสถานีวิทยุชุมชน
  • คำสั่ง กอ.รส. ฉบับที่ 7/2557   เรื่อง ขอความร่วมมือระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม และสถานีวิทยุชุมชน เพิ่มเติม
  •  คำสั่ง กอ.รส. ฉบับที่ 8/2557   เรื่อง ขอความร่วมมือจากสื่อสังคมออนไลน์

สถานีโทรทัศน์ที่มีทหารเข้าควบคุม ดังนี้

o   สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3

o   สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5

o   สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7

o   สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ (ช่อง 9)

o   สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 (NBT)

o   สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

o   สถานีโทรทัศน์ ASTV

o   สถานีโทรทัศน์ Nation TV

o   สถานีโทรทัศน์ วอยซ์ทีวี

o   สถานีดาวเทียมไทยคม

ต่อมาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2014 “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช. ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลของนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ และออกประกาศและคำสั่งหลายฉบับที่ส่งผลกระทบต่อสื่อมวลชน ทั้งนี้ มีนักข่าว และบรรณาธิการ ถูกเรียกรายงานตัว, ควบคุมตัวในค่ายทหาร เพื่อ “ปรับทัศนติ” เป็นเวลา 7 วัน, ถูกบังคับให้ลงนามในข้อตกลงห้ามการแสดงความคิดเห็น, ถูกสั่งให้ยุติการทำหน้าที่ ดังต่อไปนี้

1.      นายธนาพล อิ๋วสกุล        บรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน

2.      นายประวิตร โรจนพฤกษ์  ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์ The Nation

3.      นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวออนไลน์ประชาไท

4.      นายปัญญา สุกำจรโรจน์ ผู้สื่อข่าวทีวีอินเตอร์เน็ต PITV

5.      นายจอม เพชรประดับ  พิธีกรอิสระ รายการฟันธง สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 (ไม่เข้ารายงานตัว และปัจจุบันลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ)

23 พ.ค. 2004  ทหารได้เข้าควบคุมตัวนายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสถานีฝ่ายรายการ สถานีทีวีสาธารณะไทยพีบีเอส เนื่องจากทางสถานีออกอากาศรายการผ่านทางเว็บไซต์ยูทูบ

นายวันชัยถูกนำตัวไป “สร้างความเข้าใจ” ที่กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 พัน.1 รอ.) และได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน

25 พฤษภาคม 2014 คสช. เชิญผู้บริหารสื่อสิงพิมพ์รวมทั้งสิ้น 18 ฉบับ เข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบแนวทางการดำเนินงาน โดยมี พล.ท ภาณุวัชร์ นาควงษ์ ผู้ช่วยเสนาธิการกองทัพบก ฝ่ายกิจการพลเรือน (ผช.เสธ.ทบ.ฝกร.) เป็นประธานในที่ประชุม ที่ห้องเทวกรรมรังรักษ์ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี

27 พฤษภาคม 2014 พล.ต.พลภัทร วรรณภักตร์ เลขานุการกองทัพบก เชิญตัวนายศุภฤกษ์ ธงไชยฤทธิ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และน.ส.วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหารหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เข้าพบที่ห้องทำงานเพื่อแจ้งข้อความจาก พล.อ.ประยุทธ์ ให้รับทราบ ว่าพล.อ.ประยุทธ์ รู้สึกไม่ดีต่อการที่ต้องถูกตั้งคำถามในลักษณะรุกไล่จนทำให้กระทบความเชื่อมั่นในตัวผู้นำประเทศ

27 มิถุนายน 2014 คสช. เรียกผู้บริหารสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ 46 แห่ง ทำความเข้าใจในการนำเสนอข่าว

26 กรกฎาคม 2014  คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 108/2557 เรื่องการตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งฝ่าฝืนข้อห้าม โดยระบุว่า “หนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 253 วันที่ 26 ก.ค. - 1 ส.ค. 2557 ตีพิมพ์ข้อความหลายเรื่องด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จโดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช.

ในชั้นนี้เห็นสมควรตักเตือนผู้เขียนบทความ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของหนังสือพิมพ์ดังกล่าว หากฝ่าฝืนอีกจะดำเนินการตามกฎอัยการศึก ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2557 เป็นต้นมา และส่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายด้วย” และระบุด้วยว่า “ให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้ฝ่าฝืนดังกล่าวข้างต้นเป็นสมาชิกดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพต่อบุคคลเหล่านั้น แล้วรายงานผลการดำเนินการให้ คสช. ทราบโดยเร็ว”

14 พ.ย. 2004 ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์สาธารณะไทยพีบีเอสมีคำสั่งยุติการทำหน้าที่ของ น.ส.ณาตยา แวววีรคุปต์ พิธีกรรายการ "เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป" หลังมีกลุ่มทหารเข้าพบผู้บริหารสถานี เนื่องจากไม่พอใจการตั้งคำถามของผู้ดำเนินรายการ

3 ธันวาคม 2004 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เชิญผู้บริหารสื่อสิ่งพิมพ์ 16 แห่ง อาทิ นายภัทระ คำพิทักษ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์  นายประชา เหตระกูล ผู้บริหาร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ นาย สุทธิชัย หยุ่น ผู้บริหารเครือเนชั่น นายฐากูร บุญปาน กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) เข้าพูดคุยทำความใจ เพื่อสร้างความเข้าใจในการทำงานของรัฐบาลในการนำไปเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ 

ประกาศ คสช ที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพสื่อ

  • ประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 4/2557 เรื่องการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์ และสถานีวิทยุชุมชน
  • ประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 12/2557 เรื่องขอความร่วมมือสื่อสังคมออนไลน์

“งดการนำเสนอข้อความเชิงยั่วยุ ปลุกระดม สร้างความรุนแรง และต่อต้านการปฏิบัติงาน คสช.  โดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะถูกสั่งระงับการให้บริการ”

  • ประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 14/2557 เรื่องห้ามสร้างความขัดแย้งหรือต่อต้านการทำงานของ คสช.

“ขอให้สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ ห้ามสัมภาษณ์บุคคล ในเรื่องที่ทำให้เกิดการต่อต้านการทำงานของ คสช. หากฝ่าฝืนจะถูกสั่งระงับการให้บริการ”

  • ประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 15/2557 เรื่องขอให้ระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ดิจิตอล และสถานีวิทยุชุมชน

“เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ไม่บิดเบือนจนทำไปสู่การเข้าใจผิด”

  • ประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 17/2557 เรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต

“ขอให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ดำเนินการตรวจสอบข้อมูล และระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน    ยุยง ปลุกปั่น อันก่อให้เกิดความไม่สงบภายในประเทศ”

  • ประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 18/2557 เรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะ ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557

“ห้ามสื่อทุกชนิดทั้งวิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ เผยแพร่ข่าวสารที่บิดเบือน หมิ่นประมาท หรือวิจารณ์การทำงานของ คสช.”

ข้อ 2 ห้ามมิให้บุคคลใด รวมทั้ง บรรณาธิการ พิธีกร สื่อมวลชน และเจ้าของกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ รายการวิทยุโทรทัศน์ และรายการวิทยุกระจายเสียง เชิญบุคคลหรือ กลุ่มบุคคลที่เป็นนักวิชาการ หรือผู้ที่เคยเป็นข้าราชการ รวมทั้งผู้ที่เคยปฏิบัติงานในศาลและกระบวนการยุติธรรมตลอดจนองค์กรอิสระ มาให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดหรือขยายความขัดแย้ง บิดเบือน และสร้างความสับสนให้กับสังคม รวมทั้งอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง

ข้อ 3 ผู้ประกอบกิจการและผู้ให้บริการด้านสื่อมวลชนทุกประเภททั้งที่เป็นของราชการและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์กระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เคเบิล โทรทัศน์ระบบดิจิตอลและโทรทัศน์อินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ วารสาร หรือ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมทั้งผู้บริการด้านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทอันรวมถึงการสื่อสารทางสังคมสื่อออนไลน์ มีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับแจ้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

  • ประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 23/2557 เรื่องการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีวิทยุโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบแอนาล็อก และสถานีวิทยุกระจายเสียง

“ให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบแอนาล็อก (ช่อง 3, ช่อง 5, ช่อง 7, โมเดิร์นไนน์, เอ็นบีที และ          ไทยพีบีเอส) รวมถึงสถานีวิทยุกระจายเสียง ออกอากาศรายการตามปกติ”

  • ประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 32/2557 เรื่องระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้น ตามกฎหมายและสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ

“ขอให้ระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชน ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดขึ้นตามกฎหมายที่กำหนด และสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ”

  • ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ
  • ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 103/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557
  • ประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 108/2557 เรื่องการตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งฝ่าฝืนข้อห้าม โดยระบุว่า เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปอย่างเรียบร้อย

โดย คสช. ได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 18 ก.ค. 2557 และฉบับที่ 103/2557 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2557 ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการหรือผู้ให้บริการด้านสื่อมวลชนทุกชนิดนำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จอันส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม

 

ข้อมูลอ้างอิง

Theresa Locker, The Limits of Press Freedom in Myanmar: A Qualitative Study of the Effects of the Lift of State Censorship on Journalists and Media Users, Master Thesis, International Media Studies (M.A.), University of Bonn, 2014

World press freedom index 2014 http://rsf.org/index2014/en-index2014.php

Freedom of the Press https://www.freedomhouse.org/report-types/freedom-press#.VIWKEjGUeTM

Freedom on the Net https://www.freedomhouse.org/report/freedom-net/2014/myanmar

http://www.myanmartodaynews.com/2013/01/10/myanmar-bans-hnyo-sex-education-magazine-magazine-after-first-issue/

https://www.dvb.no/news/unity-weekly-journalists-in-court-for-disclosing-state-secrets-burma-myanmar/37331

http://elevenmyanmar.com/index.php?option=com_content&view=article&id=5010:gov-t-issues-press-release-on-investigation-of-unity-weekly-journalists&catid=44&Itemid=384

http://www.frontlinedefenders.org/node/26607

http://www.irrawaddy.org/burma/rangoon-court-rejects-bi-mon-te-nay-appeal.html

http://www.irrawaddy.org/burma/information-minister-discuss-jailing-journalists-president.html

http://www.irrawaddy.org/burma/missing-reporter-killed-custody-burma-army-report.html#.VEnvINSovUY.facebook

http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4245

http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9570000084707

http://hilight.kapook.com/view/102583

http://www.army1.rta.mi.th/A1/index22.htm

* บทความนี้ชื่อเดิมว่า "สื่อพม่า...ประชาธิปไตย กับนายพล" นำเสนอในเวที "มองอาเซียนผ่านสื่อ" ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 "ไทย – พม่าศึกษา ในกรอบประชาคมอาเซียน" (Thai - Myanmar Studies in ASEAN Community), วันที่ 18 - 19 ธันวาคม 2557 ณ อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก, ร่วมจัดโดย มูลนิธิโครงการตำราและสังคมศาสตร์, มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, มหาวิทยาลัยนเรศวร


[i] องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ก่อตั้งปี 1985 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทำงานสอดส่องเสรีภาพสื่อและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร, รณรงค์ต่อต้านการเซ็นเซอร์ทางอินเตอร์เน็ต, และให้ความสนับสนุมคุ้มครองผู้สื่อข่าว     องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนได้รับสถานะที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) และ ยูเนสโก (UNESCO)

[ii] ฟรีดอมเฮ้าส์ เป็นองค์กรเอกชน ก่อตั้งที่สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1941 ทำงานศึกษาวิจัยและส่งเสริมประชาธิปไตย เสรีภาพทางการเมือง และสิทธิมนุษยชน ทำการศึกษาวิจัยเรื่องเสรีภาพสื่อมาตั้งแต่ปี 1980

 

สื่อพม่าในเสรีภาพใหม่..สื่อไทยใต้ คสช.*