“ถ้าเรามองประวัติศาสตร์ในมิติยาวๆ ก็จะพบว่ากระบวนการสร้างชาติแบบใดแบบหนึ่งที่หลายท่านคาดหวัง ประชากรหลายกลุ่มคาดหวัง มันยังดำเนินอยู่และก็ดำเนินอย่างขัดแย้ง แล้วต่อสู้กันผ่านสื่อ ผ่านคนกลุ่มต่างๆอยู่ตลอดเวลา,” รองศาสตราจารย์ อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ เปิดประเด็นในการนำเสนอผลงานวิจัยวาทกรรมสื่อในสองประเด็นข่าว คือ คดีตีความปราสาทพระวิหารระหว่างไทยและกัมพูชา 2556 และ วาทกรรมสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2556 เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2557 ณ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ กรุงเทพฯ
งานวิจัยทั้งสองชิ้น จัดทำโดยกลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ โดยมี รศ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ เป็นที่ปรึกษาโครงการวิจัย ภายใต้การสนับสนุนของ โครงการสะพานโดยการสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา
“จากชาตินิยมไทย มาสู่ราชาชาตินิยม และการรวมชาติ หรือรวมดินแดน ดิฉันอยากมองว่าวาทกรรมรัฐชาติของไทย การรวมชาติไม่ใช่แค่รวมคน แต่รวมดินแดน ดังนั้น เรื่องเขตแดนจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ เราจะเห็นว่าด้านหนึ่ง ทางด้านศรีสะเกษ กัมพูชา ปราสาทพระวิหาร จะเห็นว่าการรวมดินแดนเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นเขตแดน แผนที่จึงเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนทางใต้ การรวมชาติ คือการรวมเอาชนชาติ ชาติพันธุ์ที่เป็นมลายู มุสลิมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ดังนั้น พื้นที่ที่มีการต่อสู้ทางวาทกรรม คือ เรื่องของอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์,” ที่ปรึกษาโครงการวิจัยฯเกริ่นนำ
รศ.อุบลรัตน์ กล่าวถึงงานวิจัยวาทกรรมสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพฯว่า “เป็นครั้งแรกที่เราสามารถดูสื่อทางเลือก แล้วเราพบพื้นที่สื่อทางเลือกที่เปิดให้กระแสของวาทกรรมที่แตกต่างและต่อต้านรัฐมีพื้นที่ มีการพูดอย่างเต็มปากเต็มคำ มีการพูดเรื่องสิทธิที่จะตัดสินอนาคตและชะตากรรมของตัวเอง เป็นต้น ซึ่งแต่ก่อนนี้สื่อกระแสหลักไม่เคยที่จะไปสัมภาษณ์ ไปเข้าถึง หรือไปเผยแพร่เขา เพราะถ้าเผยแพร่ก็หมายถึง “ขายชาติ” นี่จะเป็นมิติใหม่ที่เราอยากจะเห็นว่าในอนาคตจะพาไปทางบวกได้อีกหรือไม่ ส่วนสื่ออนุรักษ์นิยม เราก็พบว่า ASTV ผู้จัดการนี่ชัดเจน ไทยพีบีเอสก็อาจจะวอกแวกอยู่ ส่วนข่าวสามมิติเขาจะค่อยๆเกลี่ยตัวเอง คือ เปิดเป็นพื้นที่ต่อสู้วาทกรรม เอาใจช่วยคนท้องถิ่นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา เอาใจช่วยกระบวนการสันติภาพ สื่อกระแสหลักมีจำนวนน้อยนิดที่ทำหน้าที่แบบนี้”
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้วิจัย และ ฟ้ารุ่ง ศรีขาว ผู้ช่วยวิจัย ได้ทำการศึกษาวาทกรรมสื่อมวลชนไทยเกี่ยวกับคดีตีความคำพิพากษาปราสาทเขาพระวิหาร 3 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน; รายการข่าวสามมิติ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3, และสื่อใหม่ในอินเตอร์เนท คือ เว็บเพจสายตรงภาคสนาม รวมทั้งสื่อมวลชนของกัมพูชาคือ สำนักข่าวเดลอัมเปิล ภาษากัมพูชา ปรากฏทางเว็ปไซด์ www.dap-news.com ; สำนักข่าว Cambodian Express News (CEN) ที่ปรากฏทางเว็บไซด์ www.cen.com.kh ภาคภาษากัมพูชา และภาษาอังกฤษ The Cambodian Herald ที่ปรากฏทาง www.thecambodiaherald.com
หลังการตัดสินของศาลโลก ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ว่าปราสาทเขาพระวิหารและพื้นที่โดยรอบปราสาทบนภูเขาพระวิหารนั้นอยู่ในอาณาเขตภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา สื่อมวลชนไทยให้ความสนใจอย่างมาก สุภลักษณ์ พบว่า “สื่อไทยผลิตซ้ำวาทกรรมไทยเสียดินแดน ภายใต้กรอบ “ราชาชาตินิยม” โดยไม่มีการตั้งคำถามว่าดินแดนที่เสียไปได้มาตั้งแต่เมื่อไร” โดยสื่อมองว่ารัฐบาลไทยภายใต้การนำของกลุ่มการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิน ชินวัตร เป็นต้นตอของปัญหาปราสาทพระวิหารในยุคใหม่ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2551 ให้การสนับสนุนกัมพูชานำปราสาทเขาพระวิหารไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อันเป็นการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อการเสียดินแดนที่สื่อมวลชนเห็นว่าเป็นอาณาบริเวณภายใต้อธิปไตยของไทยตามการตีความในสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1904 และค.ศ. 1907 ตามที่แหล่งข่าวใช้อ้าง
สุภลักษณ์กล่าวว่าผลวิจัยนี้ไม่อ้างว่าเป็นทั้งหมดของสื่อไทย “แต่สื่อที่อยู่ในการวิจัยโดยภาพรวมนำเสนออย่างชัดเจนว่า การเสียดินแดนพื้นที่โดยรอบปราสาทเขาพระวิหารเป็นความจงใจของนักการเมืองที่ฉ้อฉล และต้องการเอาดินแดนไปแลกกับผลประโยชน์ส่วนตัว” สุภลักษณ์ยกตัวอย่างพาดหัวของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง “ปึ้ง (รมต.ต่างประเทศ) ยอมรับเขาพระวิหาร เสี่ยงแพ้กัมพูชา” และประณามว่า “เป็นทาสเขมร” ทั้งๆ ที่ในเนื้อหาข่าวไม่ได้เสนอเกี่ยวกับการเป็นทาสเขมรเลย
สุภลักษณ์ชี้ให้เห็นความย้อนแย้งว่า “ทั้งๆที่ไทยขึ้นศาลโลกด้วยความสมัครใจ แต่สื่อมวลชนไทยเห็นว่าการที่กระทรวงต่างประเทศทำตามคำพิพากษาของศาลโลกเป็นความผิด เพราะจะทำให้ไทยเสียผลประโยชน์ สังคมมีคนดี แล้วต้องมีคนเลว ถึงจะมีสีสัน สื่อมวลชนแยกแยะให้เรียบร้อย ทหารเป็นกลุ่มที่ผูกขาดกับความเป็นชาตินิยม ถ้าแพ้ต้องรบ ทหารผู้ที่ไม่แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อกัมพูชาเป็นผู้ที่ไม่รักชาติ ดังเห็นได้จากการพาดหัวของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า “อดสู “ประยุทธ์” เสียงอ่อย ไม่ท้ารบ” และพาดหัวหนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่ง “คุณตาขายบ้านหาทุนกู้ชาติสู้คดีเขาพระวิหาร" เขากล่าวเพิ่มเติมว่า “ที่จริงผมรู้จักชาวบ้านภูมิซรอล จังหวัดศรีสะเกษ ไม่ต้องการรบกับกัมพูชาเพราะเขาก็เป็นเขมรเหมือนกัน”
อีกกรณีตัวอย่างที่สุภลักษณ์นำเสนอ คือ ใครก็ตามที่รักษาประโยชน์สิทธิ์ให้ไทยจะได้รับการยกย่องให้เป็นวีรสตรี น่าจะเกิดเป็นคนไทย ดังปรากฎในเฟซบุ้คของนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม โพสต์รูปทนายหญิงชาวโรมาเนีย อลินา มิรอง ทนายผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ เกิดเมื่อวันที่ 21 เมษายน วันเดียวกับฤกษ์ฝังเสาหลักเมืองของไทย เกิดมาช่วยประเทศไทย “สตรีชาวโรมาเนียผู้นี้ทำหน้าที่ทุ่มเทเพื่อช่วยไทยสู้เขมรในศาลโลก ขณะที่คนไทยแท้ๆ เกิดมาเพื่อทำลายชาติตัวเอง”
ผู้วิจัยกล่าวถึงข้อค้นพบว่า “สิ่งที่สื่อไทยเสนอคือนักการเมืองฉ้อฉล ทำเสียดินแดน ทหารขี้ขลาดไม่ปกป้องแผ่นดินไทย ภาพพจน์ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นคนขี้โกง เลี้ยงไม่เชื่อง โกหกหลอกลวง ทำแผนที่โกหกศาลโลก, ความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านนำไปสู่การเสียดินแดน”
“สื่อมวลชนไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงพยานหลักฐานประกอบอย่างชัดเจนว่า การจงใจให้เสียดินแดนนั้นมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เช่นว่านั้นจริงหรือไม่ จึงนับเป็นวาทกรรมที่แปลก ที่ถูกสร้างขึ้นโดยไม่ต้องสมเหตุสมผล หรือข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์มากมายนัก” สุภลักษณ์กล่าว และมีข้อสังเกตว่า “สื่อมีการปฏิบัติการทางวาทกรรม (operative discourse) ตามทฤษฎีของมิเชล ฟูโกต์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ให้ข้อมูลซึมซาบเข้าไปในกมลสันดานของผู้รับสื่อ หมายรวมถึงแหล่งข่าวที่สื่อเลือก รูปแบบการเขียนข่าว รวมทั้งตำแหน่งการจัดวางของข่าว”
ไทยรบเขมร หรือ ไทยรบไทย
ตรงกันข้ามกับสื่อกัมพูชาที่งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเสนอข่าวคดีปราสาทเขาพระวิหารมากเกินกว่าสภาพที่แท้จริง ส่วนใหญ่จะเสนอด้านสันติภาพมากกว่าการทะเลาะกัน อาจเป็นเพราะไม่จำเป็นต้องเถียงกันแล้วเพราะคดีได้ถูกตัดสินแล้ว
“เราจะพบว่าที่จริง ไม่มีไทยรบเขมร มีแต่วาทกรรมไทยรบไทย ระหว่าง ไทยรักชาติ vs ไทยไม่รักชาติ,” สุภลักษณ์กล่าวสรุป
คณะนักวิจัย (จากซ้าย) สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, สมัชชา นิลปัทม์, รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช, และที่ปรึกษาโครงการวิจัยฯ รศ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์
ส่วนผลการวิจัยเรื่อง วาทกรรมสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนใต้ 2556 โดย สมัชชา นิลปัทม์ และรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช พบว่ามีวาทกรรมสื่อที่รักษาผลประโยชน์รัฐ แต่ไม่เอื้อต่อการเจรจาสันติภาพชายแดนใต้อย่างแท้จริง
รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เกริ่นนำเรื่องกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 รัฐบาลไทยลงนามในข้อตกลงทั่วไปเพื่อพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มขบวนการมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) ชื่อเต็มๆเรียกว่า "ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการสันติภาพ" หลังจากนั้นประมาณหนึ่งเดือน วันที่ 28 มีนาคม มีการพูดคุยกันเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ในการพูดคุยครั้งนั้น ฝ่ายไทยได้ขอให้ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นหลีกเลี่ยงการโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ และพื้นที่ชุมชนเมือง
"ในขณะที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงความเจ็บช้ำน้ำใจ ความเจ็บปวดที่ได้รับในตลอดช่วงหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา และได้เรียกร้องให้ฝ่ายไทยให้ความยุติธรรมกับฝ่ายบีอาร์เอ็นอย่างเป็นรูปธรรม" รุ่งรวีกล่าว
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 เมษายน มีการเจรจาสันติภาพครั้งที่สอง และวันที่ 24 พฤษภาคม บีอาร์เอ็นส่งสารออกทางยูทูป อธิบายถึง “สิทธิความเป็นเจ้าของแผ่นดินปาตานีของชาวมลายู” และประกาศว่าจะมีการหยุดยิงในเดือนรอมฎอน ในที่สุดมีการแถลงความตกลงร่วมเรื่องหยุดยิง ทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ใกล้จบเดือนรอมฎอน มีคลิปจากชายสามคนปิดหน้าประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมการตกลง เพราะรัฐบาลไทย ต่อมาในเดือนกันยายน มีการยื่นเอกสารเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความกระจ่างเกี่ยวกับ “สิทธิความเป็นเจ้าของแผ่นดินปาตานีของชาวมลายู” และเรียกร้องให้ตั้งเขตปกครองพิเศษอย่างชัดเจน ไม่ได้เรียกร้องการแบ่งแยกดินแดน ปลายเดือนตุลาคม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ประกาศเลื่อนการพูดคุยอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากมีสถานการณ์การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ (กปปส.) ท้ายที่สุดเมื่อช่วงปลายปี รัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา ทำให้เรื่องราวของการเจรจาหยุดชะงักลง
รุ่งรวีตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการสันติภาพว่า “การที่บีอาร์เอ็นยินยอมคุยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยเป็นการแสดงท่าทีประนีประนอมต่อรัฐบาล และการออกยูทูปของบีอาร์เอ็นเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการสื่อสารกับสังคมที่ดีกว่าการเคลื่อนไหวแบบใต้ดิน และเป็นที่น่าสังเกตว่าสถิติความรุนแรงในเดือนรอมฎอนลดลงอย่างมีนัยสำคัญแสดงว่าความรุนแรงสามารถควบคุมได้”
สมัชชา นิลปัทม์ กล่าวถึงผลงานวิจัยการนำเสนอข่าวสารกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านสื่อในรอบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่กุมภาพันธ์ ถึง มิถุนายน 2556 โดยทำการศึกษาสื่อมวลชนกระแสหลักซึ่งเป็นสื่อระดับชาติที่สะท้อนความคิดหลักของคนในสังคม คือ รายการข่าวสามมิติ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และรายการที่นี่ไทยพีบีเอส ของสถานีโทรทัศน์สาธารณะไทยพีบีเอส รวมทั้งสื่อภาคประชาสังคม คือ เว็บบล็อคของเว็ปไซต์ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และสื่อของกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐ คือเว็บไซต์พูโลอินโฟ อัมบรานิวส์ และคลิปแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็น
“พบว่า ข่าวสามมิติ ทางสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 มีการมองประเด็นใหม่ๆ ยืนยันปัญหาหลักคือการแบ่งแยกดินแดน ทำให้ประเด็นปัญหาแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ยาเสพติด ลดลง ท่าทีของการรายงานข่าวค่อนข้างเห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ และเห็นอกเห็นใจรัฐบาลที่ริเริ่มการพูดคุยสันติภาพ นอกจากนี้ยังมีการรายงานข่าวที่สมดุล มีแหล่งข่าวหลากหลาย ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง นักวิชาการ และเสียงจากชาวบ้าน ส่วนรายการที่นี่ไทยพีบีเอส ของสถานีโทรทัศน์สาธารณะไทยพีบีเอส มีการเกาะติดการรายงานข่าวประเด็นดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกับ รายการข่าวสามมิติ แต่มีท่าทีสงสัย ลังเลต่อกระบวนการสันติภาพ ภาษาที่ใช้เป็นศัพท์แสงทางยุทธวิธีแบบการรายงานข่าวสงครามค่อนข้างมาก มีพื้นที่การแลกเปลี่ยนพูดคุย นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการรายงานที่ซ้อนกัน ด้วยการมองเรื่องราวผ่านผู้สื่อข่าวหลายคน ทำให้เกิดมุมมองที่หลากหลาย”
วาทกรรมที่พบร่วมกันในทั้งสองรายการ คือ ทั้งสองรายการมีการรายงานข่าวภายใต้ของรัฐธรรมนูญ มีการพยายามควบคุมประคับประคองทิศทางข่าวสารให้ขบวนการพูดคุยสันติภาพให้ดำเนินต่อได้ ส่วนหนึ่งอาศัยพื้นที่สื่อสารจากภาครัฐ เนื่องจากเข้าถึงแหล่งข่าวและข้อมูลได้ง่ายกว่าฝั่งบีอาร์เอ็นที่ยังไม่ให้สื่อไทยเข้าถึง
“แม้ว่าจะมีท่าทีในการตรวจสอบและลังเลต่อกระบวนการสันติภาพ แต่เนื้อหายังรักษาผลประโยชน์ของรัฐ อ่อนไหวต่อการแบ่งแยกดินแดนเป็นพิเศษ การนำเสนอวาทกรรมจึงถูกอ้างอิงภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความชอบธรรมและไม่ขัดต่อกฎหมายแห่งรัฐ,” สมัชชากล่าว
สมัชชาตั้งข้อสังเกตการทำงานของสื่อไทย ว่ายังขาดความรู้เรื่องกระบวนการสันติภาพ ซึ่งเป็นความรู้ใหม่สำหรับคนไทย ความรู้ของบรรณาธิการที่รับผิดชอบข่าวประเภทนี้ยังเป็นความรู้ยุคสงครามเย็น ที่มีการเจรจาสันติภาพแบบใต้โต๊ะ และมักใช้ศัพท์ทางทหาร ซึ่งบางครั้งไม่เอื้อต่อการเจรจาสันติภาพ แต่กลายเป็นตัวป่วนในกระบวนการสันติภาพ เขาเสนอแนะว่าสื่อควรทำการบ้านเรื่องกระบวนการสันติภาพและเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับคนในสังคม เพื่อเป็นอีกแรงหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดกระบวนการสันติภาพอย่างแท้จริง
ด้านวาทกรรมของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ งานวิจัยนี้พบว่า พูโลไม่ได้แสดงออกชัดเจนว่าต้องการอะไร แต่ที่น่าสนใจคือเหมือนอยากมีส่วนร่วมในการพูดคุย ส่วนอัมบรานิวส์ วิพากษ์ทั้งฝ่ายรัฐไทยและบีอาร์เอ็น และไม่เชื่อมั่นในการดำเนินการโดยรัฐไทย ส่วนเว็ปบล็อคของเว็ปไซต์ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เป็นพื้นที่กลาง ประนามความรุนแรง “และที่น่าสนใจคือมีการเกิดขึ้นของนักแปล ที่แปลคลิปของบีอาร์เอ็น ทำหน้าที่เป็นสะพานให้กับสังคมไทยและมาเลย์”
สุณัย ผาสุก นักวิจัยอาวุโส องค์กรฮิวแมนไรท์วอทซ์ ประเทศไทย วิพากษ์ว่า “เราจะเห็นขบวนการสร้างชาติดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อตอกย้ำความรักชาติไทย ที่เน้นความเหนือกว่าของรัฐไทย กรณีสันติภาพชายแดนใต้ จะเห็นความเหนือกว่าของไทยพุทธสยาม ที่ตรงข้ามกับมลายูมุสลิม การที่รัฐบาลไทยตกลงเซ็นสัญญาลงนามอย่างเป็นทางการเพื่อการเจรจาสันติภาพกับมาเลเซียเป็นครั้งแรก ประการหนึ่งเป็นการแสดงว่ารัฐไทยยอมรับชาวมลายูมุสลิมอย่างเป็นทางการแต่ยังยอมรับในฐานะลูกไล่ และยังอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญไทยว่า รัฐไทยแบ่งแยกไม่ได้ ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงแต่ต้องสลายทันที
“ผมมองว่า รัฐไทยพยายามเปิดเกมให้เป็นสากล แต่ทางฝ่ายแบ่งแยกดินแดนมีกลยุทธ์ในการส่งสารทางยูทูปที่น่าสนใจมากกว่ารัฐไทย แสดงการโต้กลับว่าผู้นำเราถูกบีบคอ ด่วยท่าทีที่ว่า เขาไม่ยอมรับขบวนการสันติภาพนี้”
การที่นักวิจัยเลือกศึกษาข่าวขบวนการสันติภาพชายแดนใต้จากไทยพีบีเอส สุณัยมองว่า “มีความน่าสนใจสองส่วน คือ ความเป็นอุดมคติของไทยพีบีเอสที่ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์มลายู มองว่าอัตลักษณ์มลายูถูกกดขี่จึงจำเป็นต้องลุกขึ้นสู้ รวมทั้งเป็นความมั่นคงทางทหารที่มีอิทธิอย่างมากต่อแนวนโยบายของสถานการณ์ ไทยพีบีเอสเสนอข่าวเกี่ยวกับภาคใต้ทุกวัน ไม่เฉพาะปัญหาภาคใต้ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี หากเปรียบเทียบการเสนอข่าวขบวนการสันติภาพชายแดนใต้ของทั้งไทยพีบีเอสและรายการข่าว 3 มิติ ทั้งสองสถานีให้ความสนใจความเป็นมลายู แต่ส่วนที่สื่อไม่ได้นำเสนอคือ อะไรเป็นปัญหาอุปสรรคให้การพูดคุยดำเนินไปไม่ได้ เพราะเราไม่กล้าแตะกองทัพมากนัก แม้ขณะนี้ ในกรณีปัญหาการเมืองไทยที่หลายฝ่ายพูดเรื่องปฎิรูป ไม่มีใครพูดถึงการปฏิรูปโดยให้ทหารอยู่ภายใต้อำนาจพลเรือน”
ส่วนเรื่องการศึกษาวาทกรรมสื่อมวลชนไทยเกี่ยวกับคดีตีความคำพิพากษาปราสาทเขาพระวิหาร สุณัยวิจารณ์ว่า “ด้านผู้จัดการรายวัน และ ASTV เห็นว่าใครก็ตามที่ตั้งคำถามกับราชาชาตินิยมจะถูกเข้าใจว่า ไม่รักชาติ มีวิธีเดียวในการรักชาติคือการท้ารบ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สื่อมีการสร้าง “ผู้ดี” กับ “ผู้ร้าย” ซึ่งจะเห็นชัดในวาทกรรมสื่อกรณีเสนอข่าวเรื่องเขาพระวิหาร มากกว่ากรณีเสนอข่าวขบวนการสันติภาพชายแดนใต้ ว่านี่คือประเทศไทย ไทยสามารถทำอะไรตามใจ (arbitrary actions) ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากในการทำให้ไทยพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศที่เคารพสิทธิมนุษยชน”
อัครพงษ์ ค่ำคูณ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิพากษ์ว่า งานวิจัยวาทกรรมสื่อว่าด้วยคดีตีความคำพิพากษาปราสาทพระวิหารไทยและกัมพูชา แท้จริงไม่ควรใช้ชื่อว่า วาทกรรมสื่อไทย เนื่องจากส่วนใหญ่เน้นการศึกษา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการและ ASTV อัครพงษ์อธิบายว่า “ASTV ไม่ใช่สื่อ และปัญหาใหญ่คือ ความเป็นชาตินิยม Nationalism ที่เชื่อว่าไม่มีอำนาจอะไรสามารถรวมความเป็นชาติได้เท่ากับอำนาจกษัตริย์ เป็นเรื่องบารมีของกษัตริย์ ทั้งประเด็นเรื่องภาคใต้และเรื่องปราสาทพระวิหาร เป็นเรื่องของพระบรมราชานุภาพของกษัตริย์โดยแท้ ที่เน้นเนื้อหาประวัติศาสตร์ไทยด้านการทหาร ที่ทุกคนเป็นไพร่ที่ต้องถูกเกณฑ์ เราไม่มีประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ไม่มีประวัติศาสตร์สันติภาพ เรามีแต่ history of wars และส่วนมากเราชนะ ดังนั้นเนื้อหาข่าวส่วนใหญ่เน้นสงคราม หากพูดเรื่องเศรษฐกิจ อาจไม่โดน เรามีแต่บรรพบุรุษที่เสียเลือดเนื้อเสียสละเพื่อแผ่นดินไทย แต่เราไม่เคยรู้ว่าคนสมัยอยุธยากินส้มตำหรือเปล่า”
อัครพงษ์ ชี้ให้เห็นถึงการบิดเบือนของการนำเสนอข่าวว่า“ในฐานะแหล่งข่าวคนหนึ่ง ผมไม่เคยออก ASTV มีแต่ถูกด่า เพราะผู้รับสาร ASTV คือคนกลุ่มเดียว ส่วนทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 เสนอข่าวว่า ผมซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์พบหลักฐานว่าปราสาทพระวิหารเป็นของไทย ซึ่งผมไม่ได้พูดเลย บิดเบือนจนเรางงมาก”
เกี่ยวกับนักวิจัย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ตั้งแต่ปี 2529 สุลักษณ์ทำงานเป็นนักข่าวให้กับสำนักข่าวหลายแห่ง อาทิ ประชาชาติธุรกิจ, ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอินโดไชน่า ของกลุ่มสื่อผู้จัดการ, ก่อนร่วมงานกับหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ในปี 2544 โดยเน้นข่าวภูมิภาคเป็นส่วนใหญ่ มีประสบการณ์ทำงานให้กับองค์กรทั้งในและต่างประเทศมากมาย มีผลงานวิจัยเด่นๆ หลายชิ้น โดยเฉพาะประเด็นชายแดนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึง “ชายแดนสยาม/ไทย-มาเลเซีย-พม่า-ลาว-กัมพูชา” (มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2553) นอกจากนี้ยังเขียนบทความทางวิชาการมากมาย เช่น “สี่มิติของเขาพระวิหาร” (ฟ้าเดียวกัน, 2551) ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการข่าวภูมิภาค หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น (The Nation) สมัชชา นิลปัทม์ จบปริญญาโทสาขาสื่อสารมวลชน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน, หนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้, ศูนย์ข่าวอิศรา, ก่อนมาเป็นอาจารย์คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลาครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีในปัจจุบัน อาจารย์สมัชชา เชี่ยวชาญเรื่องวารศาสตร์หลายสาขา เช่น วารสารศาสตร์ในสถานการณ์ความขัดแย้ง, สื่อทางเลือกและวารสารศาสตร์พลเมือง, และ วัฒนธรรมศึกษา/เศรษฐศาสตร์การเมืองของสื่อ อาจารย์สมัชชายังทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการให้กับวารสารศิลปวัฒนธรรมรูสมิแล, คอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้, และเป็นสมาชิกกลุ่มทำงาน “Insider Peacebuilders Platform” (IPP) ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช จบปริญญาตรีคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ โดยทำหัวข้อวิจัยเรื่อง “การเมืองเรื่องการนำเสนอข่าว:บทบาทของสื่อในการสร้างและรื้อสร้างการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย” รุ่งรวีเคยทำงานเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น, สำนักข่าวเอพี และเคยเป็นนักวิเคราะห์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์กรอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิสกรุ๊ป เธอมีผลงานเขียนตีพิมพ์หลายชิ้น รวมทั้งหนังสือ “ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี” (2556), และ“แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จะใกล้หรือไกลเพียงไร? : เปรียบเทียบกระบวนการสันติภาพฟิลิปปินส์และไทย” (ฟ้าเดียวกัน 2556) ปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาโทด้านการจัดการความขัดแย้งในสังคมที่แตกแยก ที่คิงส์คอลเลจ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ |
อ่านรายงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่
