กลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ เปิดผลการวิจัย “วาทกรรมสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2556” สะท้อนภาพการนำเสนอข่าวสารกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ในรอบปีที่ผ่านมา โดยมีนายสมัชชา นิลปัทม์ และ นางสาวรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เป็นผู้วิจัย และรองศาสตราจารย์อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ เป็นที่ปรึกษาโครงการวิจัย
นายสมัชชา และนางสาวรุ่งรวี ได้นำเสนอผลวิจัยเบื้องต้นใน “มหกรรมวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี - PPP 101: 10 ปีความรุนแรง, 1 ปีสนามสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี” ณ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557
รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เกริ่นนำถึงกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าตลอดสิบปีที่ผ่านมาไม่มีการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยยอมรับที่จะเจรจาพูดคุยอย่างเป็นทางการกับกลุ่มขบวนการมลายูปัตตานี การพูดคุยครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม โดยรัฐบาลไทยได้ขอให้กลุ่มบีอาร์เอ็นหลีกเลี่ยงการโจมตีเป้าหมายอ่อน ในขณะที่กลุ่มบีอาร์เอ็นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้ความยุติธรรมกับทางกลุ่มขบวนการอย่างเป็นรูปธรรม มีการพูดถึงการยกเลิกหมายจับ และการปล่อยตัวผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง
รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช และสมัชชา นิลปัทม์ ร่วมนำเสนอผลวิจัย โดยมีผู้สนใจจากหลายกลุ่มเข้าฟัง
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 เมษายน ก่อนมีการเจรจาสันติภาพครั้งที่สอง สมาชิกบีอาร์เอ็นได้ปรากฏตัวผ่านทางยูทูป ยื่นข้อเสนอ 5 ข้อต่อรัฐบาลไทย คือ 1. เรียกร้องให้ทางมาเลเซียเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) 2. ให้บีอาร์เอ็นเป็นตัวแทนในการพูดคุยกับคนมลายูปัตตานี 3. ให้มีผู้สังเกตการณ์จากอาเซียน OIC และกลุ่มเอ็นจีโอต่างประเทศ 4. ให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวและให้มีการยกเลิกหมายจับคดีความมั่นคง และ 5. ให้ยอมรับว่าบีอาร์เอ็นเป็นขบวนการปลดปล่อย ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน หลังการเรียกร้องผ่านยูทูป ได้มีการยื่นเอกสารข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการให้รัฐบาลไทยด้วย
เดือนพฤษภาคมมีการเจรจาครั้งที่สอง
"และหลังจากนั้นอีก 2-3 วัน ก็มีการออกยูทูปอีก ครั้งนี้บีอาร์เอ็นกล่าวถึงสิ่งที่เขาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยอมรับ 'สิทธิความเป็นเจ้าของดินแดนปาตานีของชาวมลายู'
เดือนมิถุนายน มีการพูดคุยสันติภาพเป็นครั้งที่สาม ซึ้งครั้งนี้ทางรัฐบาลไทยขอให้เขาอธิบายถึงสิ่งที่เขาเรียกร้องในเรื่อง 'สิทธิความเป็นเจ้าของดินแดนปาตานีของชาวมลายู' ว่าหมายความอย่างไร ซึ่งทางบีอาร์เอ็นบอกว่าจะยื่นเป็นลายลักษณ์อักษร และมีการคุยกันว่าจะมีการหยุดยิงหรือลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งทางฝ่ายบีอาร์เอ็นบอกว่าอีกสิบวันจะให้คำตอบ"
เมื่อครบกำหนดทางบีอาร์เอ็นออกยูทูปอีกครั้ง ระบุว่าพร้อมจะหยุดยิง แต่ได้ยื่นเงื่อนไข 7 ข้อกับรัฐบาลไทย
ในที่สุดสามารถที่จะหาความเข้าใจร่วม (common understanding) เกี่ยวกับการหยุดยิงและลดความรุนแรงได้ โดยมีฝ่ายผู้อำนวยความสะดวก คือมาเลเซียเป็นผู้แถลงความเข้าใจร่วมเรื่องการหยุดยิง ทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อใกล้สิ้นสุดเดือนรอมฎอน มีคลิปจากชายสามคนปิดหน้าประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมการตกลง เพราะรัฐบาลไทย
ต่อมาในเดือนกันยายน มีการยื่นเอกสารเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความกระจ่างเกี่ยวกับ “สิทธิความเป็นเจ้าของแผ่นดินปาตานีของชาวมลายู” และเรียกร้องให้ตั้งเขตปกครองพิเศษอย่างชัดเจน ไม่ได้เรียกร้องการแบ่งแยกดินแดน
ปลายเดือนตุลาคม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ประกาศเลื่อนการพูดคุยอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากมีการประชุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ (กปปส.) ท้ายที่สุดเมื่อช่วงปลายปี 2556 ที่ผ่านมา รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภา ทำให้เรื่องราวของการเจรจาหยุดชะงักลง
รุ่งรวีกล่าวว่าการที่บีอาร์เอ็นยินยอมคุยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยเป็นการแสดงท่าทีประนีประนอมต่อรัฐบาล และการปรากฏตัวของบีอาร์เอ็นผ่านยูทูปเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการสื่อสารกับสังคมที่ดีกว่าการเคลื่อนไหวแบบใต้ดิน
สมัชชา นิลปัทม์ กล่าวถึงผลวิจัยการนำเสนอข่าวสารกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านสื่อในรอบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – มิถุนายน 2556 โดยทำการศึกษาสื่อมวลชนกระแสหลักซึ่งเป็นสื่อระดับชาติที่สะท้อนความคิดหลักของคนในสังคม คือ รายการข่าวสามมิติ ทางสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 และรายการที่นี่ไทยพีบีเอส ของสถานีโทรทัศน์สาธารณะไทยพีบีเอส พบว่า รายการข่าวสามมิติ มีจำนวนข่าวที่นำเสนอทั้งหมด 47 ข่าว ซึ่งมุมมองในการนำเสนอเกือบทั้งหมดเป็นแบบสังเกตการณ์ มีเพียงครั้งเดียวที่มีมุมมองแบบวิพากษ์วิจารณ์ ลักษณะการรายงานข่าวเป็นแบบเกาะติดการรายงานข่าว มีการมองประเด็นใหม่ๆ ยืนยันปัญหาหลักคือการแบ่งแยกดินแดน ก่อนการเจรจาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 เดิมมีประเด็นปัญหาแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ยาเสพติด
“ท่าทีของการรายงานข่าวค่อนข้างเห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ และมีความเห็นใจรัฐบาลที่ริเริ่มการพูดคุยสันติภาพ นอกจากนี้ยังมีการรายงานข่าวที่สมดุล มีแหล่งข่าวหลากหลาย ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง นักวิชาการ และเสียงจากชาวบ้าน”
ส่วนรายการที่นี่ไทยพีบีเอส มีจำนวนข่าวที่นำเสนอทั้งหมด 88 ข่าว มุมมองในการนำเสนอส่วนใหญ่ (37 ครั้ง) เป็นแบบสังเกตการณ์ รองลงมาเป็นการให้คำแนะนำ (20 ครั้ง) ถัดมาเป็นมุมมองแบบวิพากษ์วิจารณ์ (3 ครั้ง) มุมมองแบบมีส่วนร่วม 3 ครั้ง มุมมองแบบโน้มเอียงในทางต่อต้านบีอาร์เอ็น 1 ครั้ง และ โน้มเอียงในทางต่อต้านรัฐไทย 1 ครั้ง มีการเกาะติดการรายงานข่าวประเด็นดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกับรายการข่าวสามมิติ ทางสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3
“แต่มีท่าทีสงสัย ลังเลต่อกระบวนการสันติภาพ ภาษาที่ใช้เป็นศัพท์แสงทางยุทธวิธีแบบการรายงานข่าวสงครามค่อนข้างมาก มีพื้นที่การแลกเปลี่ยนพูดคุย นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการรายงานที่ซ้อนกัน ด้วยการมองเรื่องราวผ่านผู้สื่อข่าวหลายคน ทำให้เกิดมุมมองที่หลากหลาย”
วาทกรรมที่พบร่วมกันในทั้งสองรายการ คือ ทั้งสองรายการมีการรายงานข่าวภายใต้ของรัฐธรรมนูญ มีการพยายามควบคุมวาทกรรม “การแบ่งแยกดินแดน” ว่าการพูดคุยครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดน รายการที่นี่ไทยพีบีเอส ตั้งข้อสังเกต สงสัย ลังเล ว่ามาเลเซียอาจใช้ประโยชน์ทางการเมืองจากการเจรจาครั้งนี้หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการพยายามสร้างบรรยากาศ ใช้แหล่งข่าวทั้งทางทหาร และ ประชาสังคม และย้ำเน้นเพื่อให้เกิดสันติภาพ
ทั้งสองรายการพยายามประคับประคองการเจรจาสันติภาพ และสนใจประเด็นของคนข้างล่างที่เรียกร้องสันติภาพ ทำให้คนกรุงเทพฯ หันมาสนใจประเด็นการเจรจาสันติภาพมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาศัยพื้นที่สื่อสารจากภาครัฐ เนื่องจากเข้าถึงแหล่งข่าวและข้อมูลได้ง่ายกว่าฝั่งบีอาร์เอ็นที่ยังไม่ให้สื่อไทยเข้าถึง แม้ว่าจะมีท่าทีในการตรวจสอบและลังเลต่อกระบวนการสันติภาพ แต่เนื้อหายังรักษาผลประโยชน์ของรัฐ อ่อนไหวต่อการแบ่งแยกดินแดนเป็นพิเศษ โดยมีเพดานบางอย่าง เช่น เหตุผลความปลอดภัยและเสถียรภาพของคนรายงานข่าว และการไม่ขัดต่อกฎหมายแห่งรัฐ ทำให้ไม่สามารถเสนอทางเลือกอื่นๆ เช่น เขตการปกครองพิเศษ เขตปกครองตนเอง หรือการประกาศเอกราช
สมัชชาตั้งข้อสังเกตการทำงานของสื่อไทย ว่ายังขาดความรู้เรื่องกระบวนการสันติภาพ ซึ่งเป็นความรู้ใหม่สำหรับคนไทย ความรู้ของบรรณาธิการที่รับผิดชอบข่าวประเภทนี้ยังเป็นความรู้ยุคสงครามเย็น ที่มีการเจรจาสันติภาพแบบใต้โต๊ะ และมักใช้ศัพท์ทางทหาร ซึ่งบางครั้งไม่เอื้อต่อการเจรจาสันติภาพ แต่กลายเป็นตัวป่วนในกระบวนการสันติภาพ อาจารย์สมัชชาเสนอแนะว่าสื่อควรทำการบ้านเรื่องกระบวนการสันติภาพและเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับคนในสังคม เพื่อเป็นอีกแรงหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดกระบวนการสันติภาพอย่างแท้จริง
เกี่ยวกับนักวิจัย สมัชชา นิลปัทม์ จบปริญญาโทสาขาสื่อสารมวลชน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน, หนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้, ศูนย์ข่าวอิศรา, ก่อนมาเป็นอาจารย์คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลาครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีในปัจจุบัน อาจารย์สมัชชา เชี่ยวชาญเรื่องวารศาสตร์หลายสาขา เช่น วารสารศาสตร์ในสถานการณ์ความขัดแย้ง, สื่อทางเลือกและวารสารศาสตร์พลเมือง, และ วัฒนธรรมศึกษา/เศรษฐศาสตร์การเมืองของสื่อ อาจารย์สมัชชายังทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการให้กับวารสารศิลปวัฒนธรรมรูสมิแล, คอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้, และเป็นสมาชิกกลุ่มทำงาน “Insider Peacebuilders Platform” (IPP) ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช จบปริญญาตรีคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ โดยทำหัวข้อวิจัยเรื่อง “การเมืองเรื่องการนำเสนอข่าว:บทบาทของสื่อในการสร้างและรื้อสร้างการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย” รุ่งรวีเคยทำงานเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น, สำนักข่าวเอพี และเคยเป็นนักวิเคราะห์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์กรอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิสกรุ๊ป เธอมีผลงานเขียนตีพิมพ์หลายชิ้น รวมทั้งหนังสือ “ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี” (2556), และ“แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จะใกล้หรือไกลเพียงไร? : เปรียบเทียบกระบวนการสันติภาพฟิลิปปินส์และไทย” (ฟ้าเดียวกัน 2556) ปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาโทด้านการจัดการความขัดแย้งในสังคมที่แตกแยก ที่คิงส์คอลเลจ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ |
