MIO Editor
17 January 2014
John Sparks ผู้สื่อข่าวจาก Channel 4 ประเทศอังกฤษ สัมภาษณ์หนึ่งในแกนนำ กปปส. (ภาพ: http://blogs.channel4.com)
มีเสียงบ่นมากมายเกี่ยวกับการรายงานข่าวของสื่อต่างชาติ (ส่วนใหญ่เป็นสื่อสหรัฐฯ) เกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องในไทย ในห้องเรียนด้านสื่อที่ดิฉันสอน เราได้นำปัญหาเหล่านี้มาถกเถียงกันหลายครั้ง โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับ “การทำข่าวแบบโดดร่ม” (parachute journalism) และการทำข่าวด้อยคุณภาพ ดิฉันจึงขอโอกาสได้พูดคุยในประเด็นนี้
แม้มีสำนักข่าวระหว่างประเทศจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้รับการยกย่องจากรายงานข่าวที่ไม่ลำเอียงและปราศจากอคติ แต่ก็มีหลายสำนักข่าวที่ไม่สามารถรายงานข่าวโดยปราศจากอคติ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลหลายประการ ได้แก่ (1) ปรากฏการณ์ที่ผู้สื่อข่าวต่างชาติมักจะ “โดดร่ม” เข้าไปยังประเทศที่มีวิกฤตโดยปราศจากความรู้ด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการเมืองของประเทศนั้นมาก่อน (เหมือนที่หลายคนบ่นว่านักข่าวบางคนพึ่งพาแต่ Wikipedia) (2) การขาดความรู้ด้านภาษาท้องถิ่น (บ่อยครั้งที่ผู้สื่อข่าวแบบนี้พึ่งพาความช่วยเหลือด้านภาษาจากคนขับแท็กซี่หรือนักข่าวในพื้นที่ (stringer) หรือล่ามเพื่อช่วยให้ทำการรายงานข่าวได้) (3) แรงกดดันที่ต้องเขียนบทความให้ได้ตามกำหนดซึ่งเป็นเหตุผลด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ และ (4) อุดมการณ์หรือวาระทางการเมืองและที่เป็นส่วนตัว
ปัจจัยเหล่านี้รวมกันส่งผลให้เราเห็นการเขียนและรายงานข่าวความขัดแย้งทางการเมืองในลักษณะเช่นนี้ นักข่าวตะวันตกบางคนมักมีสูตรสำเร็จในการรายงานข่าว หลายคนเติบโตมาในสังคมและได้รับการศึกษาที่สอดคล้องกับแบบแผนคำอธิบายและประเด็นหลักบางอย่างในการรายงานข่าวความขัดแย้ง โดยพวกเขามักเขียนข่าวที่สอดคล้องกับ (1) อุดมการณ์/อัตลักษณ์ทางสังคมและการเมืองของตนเอง (ส่วนมากเป็นมุมมองของตะวันตก) (2) การเอาคำอธิบายแบบเก่า ๆ มาใช้ใหม่กับการรายงานวิกฤตและความขัดแย้ง ในรูปแบบของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย (คนดีกับคนเลว และ/หรือกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ) เป็นเหตุให้นักข่าวเหล่านี้ต้องมองหาคนที่เป็นคนดีและคนที่เป็นคนเลวในความขัดแย้งแต่ละครั้งเหล่านี้ และ (3) การเขียนข่าวในลักษณะที่มีสีสันและจบด้วยทางออก
เมื่อพิจารณาปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจวิธีรายงานข่าวของนักข่าวตะวันตก (อเมริกัน) เกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าพวกเขามักวางกรอบการเขียนเรื่องในลักษณะของ “การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” (หรือการไม่มีประชาธิปไตย) “คนดีกับคนเลว” คนรวยกับคนจน เสื้อแดงกับเสื้อเหลือง ที่สำคัญผู้รับข่าวของพวกเขา (ซึ่งเป็นชาวอเมริกันและตะวันตก) ไม่ใช่คนไทย พวกเขามุ่งรายงานข่าวเพื่อการบริโภคของกลุ่มเป้าหมาย เป็นเหตุให้พวกเขามักไม่พูดเพื่อ “คนอื่น” (อย่างในกรณีนี้ได้แก่คนไทย) ซึ่งพวกเขารู้ว่าอย่างไรเสียก็คงไม่ได้อ่านรายงานข่าวของพวกเขา เพราะคนไทยไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักของพวกเขา นอกจากนั้นยังมีการละเลยประเด็นที่ซับซ้อนอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมด้วย
สำหรับสื่อตะวันตกจำนวนมาก การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือการ “ประท้วงต่อต้านประชาธิปไตย”
สิ่งที่ทำให้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้นได้แก่ เสียงที่เราได้ยินและภาพที่เราเห็นจากมุมมองของ “สื่อตะวันตก” ในยุคการสื่อสารแบบดิจิตัลมีลักษณะหลากหลายกว่าที่เคยเป็นมา นอกจากคำอธิบายสถานการณ์ทั่วโลกจากสื่อกระแสหลักแล้ว เรายังได้สัมผัสกับเสียงของนักข่าวพลเมืองที่เป็นอิสระ ซึ่งมักอ้างอิงจากแหล่งข่าวที่รู้จักกันเป็นส่วนตัว
(ปล. ดิฉันสังเกตเห็นรูปแบบการเขียนข่าวในลักษณะเดียวกันของนักข่าวไทยเวลารายงานข่าวความขัดแย้ง ที่เลวร้ายกว่านั้นคือได้เห็นการใช้ภาษาที่วิตถารและหยาบคายของทั้งผู้สื่อข่าวและนักการเมืองไทย ซึ่งทำให้ดิฉันรู้สึกหดหู่ใจมาก เป็นเหตุให้ดิฉันเรียกวัฒนธรรมไทยว่า “วัฒนธรรมใช้อารมณ์” (“an emotive culture”) แต่ดิฉันจะไม่ลงรายละเอียดเรื่องนี้ในบทความนี้)
จึงเป็นเรื่องที่มีเหตุผลและชอบธรรมที่ผู้อ่านข่าวไทยจำนวนมากเสียใจกับวิธีรายงานข่าวของนักข่าวตะวันตกเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พวกเขาจะรายงานความขัดแย้งต่างไปจากนี้ ถ้าเข้าใจสิ่งที่ดิฉันพยายามสื่อสาร นักข่าวเหล่านี้ถูกจำกัดด้วยปัจจัยข้างต้น ดิฉันไม่ได้หาข้อแก้ตัวให้กับพวกเขา ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถกเถียงกันในแวดวงวิชาการตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 และมีการถกเถียงอย่างเข้มข้นมากในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 เป็นเหตุให้มีเสียงเรียกร้องให้มีการพัฒนาระเบียบด้านข้อมูลสนเทศและการสื่อสารของโลกฉบับใหม่ (New World Information and Communication Order - NWICO) และ UNESCO เป็นศูนย์กลางของการถกเถียงเหล่านี้
นอกจากการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาในการรายข่าวเหล่านี้ ดิฉันยังให้การบ้านนักศึกษาในชั้นเรียน “สื่อมวลชนในมุมมองระดับโลก” ของดิฉันให้ไปศึกษาเปรียบเทียบการรายงานข่าวสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอย่างน้อยสองประเทศที่แตกต่างกัน (มาจากคนละทวีปและพูดคนละภาษา) โดยนักศึกษาต้องเปรียบเทียบและอธิบายให้เห็นความแตกต่างว่าเหตุใดรายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์แบบเดียวกันจึงมีความแตกต่างกัน หรือคล้ายคลึงกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบบวัฒนธรรม การเมือง และสื่อมวลชนที่แตกต่างกัน
อันที่จริงนับแต่คนไทยเริ่มตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ (เหมือนที่พวกเขามักวิจารณ์ว่าเป็นอคติของสื่อมวลชน) พวกเขาก็ควรใช้ประโยชน์จากความรู้เช่นนี้เพื่อทำให้การรายงานข่าวของตนสอดคล้องกับคำอธิบายแบบ “ประชาธิปไตยโลก” แต่ที่เลวร้ายกว่านั้น นักวิจารณ์ข่าวจำนวนมากกลับยังคงใช้วาทศิลป์และวิธีการทำงานแบบเดิม (แบบโบราณ ซึ่งดิฉันได้เขียนบทความในเรื่องนี้ไว้แล้วในปี 2540) โดยให้มุมมองว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่คนไทย เป็น “คนนอก” ซึ่งไม่เข้าใจ “จารีตประเพณีที่โดดเด่น” ของตน กล่าวหาว่าพวกเขาไม่เข้าใจวัฒนธรรมไทยและระบบการเมืองไทย “ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง” ฯลฯ นอกจากนั้น พวกเขายังใช้เหตุผลดังกล่าวเป็นข้ออ้างเพื่อกีดกันและแบ่งแยกคนต่างชาติตามอำเภอใจ (ตามที่เห็นควร)

อคติของผู้ชุมนุมที่มีต่อนักข่าวต่างชาติบางครั้งนำสู่ความรุนแรง ในภาพ Nick Nostitz อายุ 45 ปี
นักข่าวและช่างภาพอิสระสัญชาติเยอรมัน ถูกผู้ชุมนุมทำร้ายขณะทำข่าวในพื้นที่
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ชนชั้นนำของไทยได้ใช้คำอธิบายแบบ “คนไทยกับคนต่างชาติ” “พวกมันกับพวกเรา” เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในงานศึกษาชิ้นหนึ่ง ดิฉันได้สำรวจการรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทยเกี่ยวกับคนงานข้ามชาติในไทย และได้พบว่ามีการใช้ภาษาที่แสดงความรังเกียจและเหยียดหยามต่อคนต่างชาติสูงมาก ในลักษณะเดียวกับภาษาที่ใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการปฏิบัติต่อคนเข้าเมืองที่เป็นชาวจีน (ในอดีต) ชาวเวียดนาม ชาวลาว ชาวพม่า และชาวกัมพูชา เป็นการดูถูกพวกเขาอย่างเลวร้ายเหมือนกับว่าพวกเขาไม่ได้เป็นมนุษย์เหมือนเรา คนชนบทก็ได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกัน เพราะถือว่าพวกเขาไม่ได้เป็นคน “ภาคกลาง” หรือไม่ได้เป็นคนไทย “จริง ๆ” (โดยส่วนมากถือว่าเป็นพวกที่มีเชื้อสายลาว) ส่วนคนต่างชาติหรือฝรั่งที่อยู่ในไทย (ทั้งที่เป็นพวกฝรั่งผมทองและชาติอื่น ๆ) คนเหล่านี้ก็ได้รับการปฏิบัติด้วยอคติแบบเดียวกัน แต่อาจมีระดับแตกต่างกัน เหมือนอย่างที่คนไทยปฏิบัติกับคนผิวดำ ถ้าไม่เรียกว่าการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน จะเรียกว่าอะไรดี?
คำถามหนึ่งที่เราอาจถามคือ เราจะใช้สื่อมวลชนเพื่อเสนอภาพลักษณ์ของไทยที่แตกต่างไปจากนี้ให้กับชาวโลกได้อย่างไร คุณทักษิณฉลาดในการใช้สื่อในหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็น Facebook, Twitter, Skype, และยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ (อย่างกรณี Bell Pottinger ที่รายงานในหนังสือพิมพ์ The Guardian) แต่ที่ดิฉันผิดหวังคือบทความในThe Guardian ไม่มีรายละเอียดเลยว่าคุณทักษิณและบริษัทประชาสัมพันธ์ใช้ยุทธศาสตร์ทำงานอย่างไรบ้าง ในบทความเพียงแต่เขียนถึงประเทศไทยอย่างสั้น ๆ เพื่อให้เป็นข่าว แต่ถึงแม้จะเป็นความจริง ก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจหรือยากจะเข้าใจว่าทักษิณได้หันไปใช้ยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้าง “ภาพลักษณ์ระดับโลก” ของเขาที่สอดคล้องกับ “คำอธิบายแบบสังคมประชาธิปไตย” คำอธิบายแบบรัฐบาล “ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย” ถูกโค่นล้มโดยผู้ชุมนุม (หรือรถถัง) เป็นคำอธิบายที่สอดคล้องกับสูตรสำเร็จการรายงานข่าวของสื่อตะวันตกเป็นอย่างดี สิ่งที่สื่อระดับโลกรายงานข่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกได้แก่ ทักษิณและยิ่งลักษณ์กลายเป็น “เหยื่อ” ของบรรดาผู้ชุมนุมที่จงรักภักดี/เป็นชนชั้นนำในสังคม (แม้ว่าในความจริงทักษิณและพรรคพวกอาจเป็นคนที่สกปรกและทุจริตมาก) คำอธิบายเช่นนี้ใช้ได้ผลเป็นอย่างดีกับสื่อมวลชนระดับโลกและผู้รับสารในระดับโลก ซึ่งชาดความรู้และความเข้าใจในประวัติศาสตร์และระบบการเมืองที่ซับซ้อนของประเทศอื่น
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้ประท้วงรัฐบาลอาจมองข้ามได้แก่ ในยุคโลกาภิวัตน์ ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศปิดอีกต่อไป สิ่งที่เราทำมักถูกตัดสินด้วยความเห็นจาก “คนภายนอก” และคนภายนอกเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเมืองของเรา ไม่ว่าเราจะสนใจหรือไม่ก็ตาม เราไม่อาจหลีกเลี่ยงการวิเคราะห์และการวิจารณ์ของประชาคมนานาชาติ ไม่ว่าสุดท้ายแล้วสื่อต่างชาติจะรายงานข่าวแบบ “มีอคติ” หรือแบบ “ภววิสัย” หรือไม่ก็ตาม
หากไม่เข้าใจเรื่องนี้ ชนชั้นนำในไทยจะไม่สามารถเอาชนะใจความเห็นของประชาคมโลกได้ สื่อตะวันตกก็จะยังคงดูแคลน “ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ” ต่อไป ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าไม่ใช่เรื่องที่เป็นธรรมมากนักกับคนไทย แต่ถ้าเราไม่ใช่คนเกาหลีเหนือ และถ้าเราไม่ใส่ใจต่อสิ่งที่โลกคิดเกี่ยวกับเรา ชนชั้นนำในไทยควรเริ่มคิดถึงแผนปฏิบัติการใหม่และคำอธิบายชุดใหม่ที่สอดคล้องกับ “อุดมการณ์ประชาธิปไตยระดับโลก” แทนที่จะเอาแต่เป่านกหวีดเพื่อข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม ถ้าไม่มีการรายงานข่าวในสื่อระหว่างประเทศในทางบวก “ชัยชนะ” ก็น่าจะไม่เกิดขึ้น
ดร. สุดา อิชิดะ เป็นรองศาสตราจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ศึกษาและเป็นผู้อำนวยการโครงการนักข่าวระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแฮมลิน (Certificate in International Journalism program at Hamline University) เมืองเซนต์ปอล รัฐมินิโซตา สหรัฐฯ เกิดและเติบโตที่กรุงเทพฯ ดร. สุดาเป็นครูสอนในค่ายผู้อพยพจากอินโดจีนซึ่งเป็นของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees - UNHCR) หลังจบการศึกษา จากนั้นได้ทำงานเป็นผู้สื่อข่าวให้กับสำนักข่าวที่กรุงเทพฯ หลายแห่ง รวมทั้ง The Nation และ Associated Press (สำนักงานที่กรุงเทพฯ) ศ.อิชิดะได้รับปริญญาโทด้านการสื่อสารระหว่างประเทศจาก Macquarie University ซิดนีย์ ออสเตรเลีย และได้รับปริญญาเอกด้านสื่อสารมวลชนและนิเทศศาสตร์จาก University of Iowa เธอทำงานวิจัยโดยเน้นบทบาทสื่อมวลชนในไทย โลกาภิวัตน์และขบวนการเคลื่อนไหวในสังคม
