Skip to main content

บทบาทของสื่อทางเลือกข้ามพรมแดนในประเทศไทย ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยของพม่า

            ในประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า มีเครื่องมือที่สำคัญที่ถูกสร้างและหยิบยกขึ้นมาใช้โดยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ คือ “สื่อ” ที่ส่วนใหญ่ในเบื้องต้นถูกผลิตเพื่อสื่อสารภายในกลุ่มชาติพันธุ์ตนเองและต่อมาพัฒนาจนเรียกตัวเองว่า “สื่อมวลชน” ที่มุ่งสื่อสารกับสังคมภายนอก อันเป็นการยกระดับการต่อสู้จากระดับภายในประเทศมาสู่ระดับสากล ในบรรดาสื่อที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองนั้นมีชื่อของ “สาละวินโพสต์” รวมอยู่ด้วย ปุญญวันต์ จิตประคอง ได้ทำการศึกษาบทบาทของสื่อสาละวินโพสต์และเวบไซต์สาละวินนิวส์ออนไลน์ (www.salweennews.org)  อันเป็นแขนงที่แยกออกมาจากสาละวินโพสต์ เพื่อเป็นวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตในการเรียนภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

            ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพทั้งการลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสาละวินโพสต์และเวบไซต์สาละวินนิวส์ออนไลน์ ทั้งในฝั่งผู้รับสารและผู้ส่งสาร และจากการวิจัยเอกสาร โดยศึกษาในกรอบเวลาระหว่างปี 2553-2555 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของการเกิดประชาธิปไตยในพม่า ปุญญวันต์ ได้สรุปบทบาทของสื่อทางเลือกทั้ง 2 ว่ามีความเป็นสื่อเพื่อการรณรงค์ ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการทำงานเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยในพม่า แต่ “ไม่ได้มีบทบาทสำคัญในระดับการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมระดับใหญ่ของพม่า”

ปุญญวันต์ จำแนกเนื้อหาหลักของสื่อทางเลือกทั้ง 2 เป็น 3 ประเด็นคือ

1. ประเด็นที่สะท้อนให้เห็นปัญหาและผลกระทบด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพม่า เช่น ความเลวร้าย ความรุนแรง ความไม่ยุติธรรม ทีมีอยู่ในการบริหารปกครองของรัฐบาลพม่า โดยสะท้อนผ่านทางสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของประชาชนพม่า

2. ประเด็นด้านปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐบาลที่มีความบกพร่อง และไร้ความเป็นธรรมค่อนข้างสูง โดยเฉพาะประเด็นปัญหาในเชิงนโยบาย ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนไปสู่ความไม่เป็นธรรม หรือความไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงการไม่มีประสิทธิภาพในการออกนโยบายในแง่ของการใส่ใจดูแลประชาชนที่ดีได้ อาทิ ปัญหาในแง่การศึกษา, การสาธารณสุข, ด้านแรงงาน เป็นต้น โดยที่ผู้ผลิตมักสะท้อนออกมาในเชิงการนำเสนอปรากฏการณ์ทางสังคมของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากปัญหาเชิงนโยบายด้านต่างๆ ที่หลากหลายเหล่านั้น

3. ประเด็นส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับคุณค่าของประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ปรากฏให้เห็นชัดในช่วงหลังเดือนพฤศจิกายน 2553 ซึ่ง ปุญญวันต์ นิยามว่าเป็นช่วง “หลังการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในพม่า” เนื้อหาในส่วนนี้ มุ่งนำเสนอเรื่องราวของสิทธิ เสรีภาพ และการสร้างความสัมพันธ์ด้วยการสร้างพื้นที่สันติภาพ (Peace Area) ร่วมกันของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายโดยอยู่บนพื้นฐานของความปรองดอง

            วันดี สันติวุฒิเมธี บรรณาธิการสาละวินโพสต์ ให้สัมภาษณ์ไว้กับผู้วิจัยว่า “ประเด็นเนื้อหาที่เราเลือกมานั้นคือเรื่องพม่า ไม่ว่าเราพูดมุมไหนก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองทั้งสิ้น คือเราจะพูดการเมืองอิงกับเรื่องอะไรมากกว่า เช่น ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งก็มีที่มาจากปัญหาการเมือง เรื่องของการแสดงออกของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่แสดงออกไม่ได้ ก็เป็นเรื่องการเมือง คือเราเอาการเมืองมาตีโจทย์ออกไป โจทย์ของเราก็คือว่า ปัญหาการเมืองในพม่าได้ส่งผลกระทบอย่างไรต่อชีวิตประชาชน”

วันดี สันติวุฒิเมธี  บรรณาธิการสาละวินโพสต์ ในวันสัมภาษณ์อองซาน ซู จี

            แม้ผู้วิจัยจะมองว่าเนื้อหาของสาละวินโพสต์และเวบไซต์สาละวินนิวส์ออนไลน์ ซึ่งตีพิมพ์เป็นภาษาไทย จะสามารถทำหน้าที่ในการสะท้อนประเด็นที่เป็นปัญหาและผลกระทบด้านต่างๆที่เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยโดยแจกแจง และนำเสนอให้เห็นถึงรากเหง้าของสาเหตุ หรือบริบทที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง และยังกลายมาเป็นสื่อกลางในการทำหน้าที่เฝ้าระวังภัยให้แก่สังคม โดยเฉพาะการที่สื่อได้ทำหน้าที่ในการเฝ้าติดตาม ตรวจสอบวิเคราะห์สถานการณ์ทางสังคมการเมือง หรือสภาวการณ์ความผิดปกติทุกๆเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ ที่สำคัญสื่อทั้งสองยังทำหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบกระบวนการทำงาน การทุจริต หรือการปฏิบัติมิชอบ รวมถึงการกระทำต่างๆที่มุ่งร้ายต่อกลุ่มชาติพันธุ์ และประชาชนพม่า จนทำให้เกิดการตื่นตัวในการต่อต้านทางความคิดที่เป็นเผด็จการ ความไม่เป็นธรรม และทุกการกระทำของรัฐบาลที่ส่งผลทำให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้าง “กระบวนการนำเสนอเนื้อหาของสื่อในลักษณะดังกล่าวมีอิทธิพลสำคัญอย่างมากกระทั่งสามารถสร้างชุดความคิดใหม่ให้เกิดขึ้นในความคิดของผู้รับสารได้โดยยินยอม และเห็นด้วยกับประเด็นที่สื่อต้องการนำเสนอ สื่อทั้งสองประเภทดังกล่าวนับว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในฐานะเป็นเครื่องมือส่งผ่านชุดความคิดความเชื่อจนสามารถทำให้ผู้รับสารเกิดการยินยอม หรือยอมรับกับชุดความคิดที่เป็นอุดมการณ์บางอย่างที่ผู้ส่งสารต้องการสื่อออกมา”

แต่เขาก็สรุปว่า ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นเป็น “เพียงในรูปแบบความคิดที่เป็นนามธรรมของผู้รับสารที่เป็นคนไทย และชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประเทศไทย และใช้ภาษาไทยได้เท่านั้น โดยที่สื่อทั้งสองประเภทไม่มีบทบาทสำคัญในระดับการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมระดับใหญ่ของพม่า เพราะด้วยกรอบจำกัดของภาษา และกลุ่มผู้ใช้สื่อ จึงทำให้กระบวนการทำงานของสื่อมีลักษณะเป็น “สื่อเพื่อการรณรงค์ (Advocacy Journalism)” ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการทำงานเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยในพม่า

          

โดยปุญญวันต์ ได้ขยายกรอบการศึกษาไปถึงการตามไปดูการใช้ข้อมูลของสาละวินโพสต์ และเวบไซต์สาละวินนิวส์ออนไลน์ในสื่อหลักต่างๆ พบว่ามีเพียง 5 สื่อ คือ เวบไซต์คมชัดลึก หนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน กรุงเทพธุรกิจ และ เวบไซต์ประชาชาติธุรกิจ เท่านั้นที่มีการอ้างอิงสื่อทางเลือกทั้ง 2 และพบว่าการอ้างอิงมีน้อย 12 ข่าวเท่านั้น และส่วนใหญ่จะเป็นการอ้างอิงในเชิงของเนื้อหาที่เป็นด้านลบของประเทศพม่าเท่านั้น แม้พม่าจะก้าวพ้นการเปลี่ยนผ่านของกระบวนการประชาธิปไตยมาแล้วก็ตาม

            “การนำเสนอในมิติดังกล่าวถือได้ว่ามีความถี่ในการนำเสนอที่มากกว่าการนำเสนอให้เห็นมิติด้านบวกที่เกิดขึ้นมาจากบริบทการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย นั่นหมายความว่าสื่ออื่นที่เลือกอ้างอิงงานจากวารสารสาละวินโพสต์ และเว็บไซต์สาละวินนิวส์ออนไลน์ยังคงไม่เชื่อใจ หรือไม่เห็นด้วยกับปรากฏการณ์ที่พม่าเปลี่ยนผ่านมาสู่ประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แล้วจริงๆ” ปุญญวันต์ กล่าวไว้ในงานวิจัยของตนเอง

            ในช่วงท้ายของงานวิจัย ปุญญวันต์เสนอแนะว่าสาละวินโพสต์และเวบไซต์สาละวินนิวส์ออนไลน์มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนในฐานะสื่อได้มากขึ้น และได้อ้างอิงคำพูดของวันดีว่า

            “องค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภายใน และภายนอกประเทศควรจะเพิ่มเงินทุน หรืองบประมาณสนับสนุนในการผลิตสื่อนอกกระแสที่มากกว่านี้ เพราะในปัจจุบันเมื่อพม่าเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้สื่อนอกประเทศ หรือสื่อพลัดถิ่นพม่ากำลังประสบปัญหาการลดเงินทุนสนับสนุนของแหล่งทุนจากต่างประเทศ เพราะแหล่งทุนดังกล่าวได้เคลื่อนย้ายไปสนับสนุนองค์กรสื่อที่ทำงานอยู่ภายในประเทศพม่าเสียมากกว่า จึงเป็นสาเหตุทำให้สื่อดังกล่าวขาดเงินทุนในการผลิตผลงานเนื้อหาดีๆออกสู่สังคม”

บทบาทสื่อทางเลือก ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในพม่า