การควบคุมสื่อกับข่าวสารแห่งความเกลียดชัง
หากทุกสิ่งมีด้านบวกและด้านลบ hate speech หรือ เนื้อหาแห่งความเกลียดชัง ก็ต้องถูกจัดให้เป็นด้านลบของของการสื่อสาร เพราะเป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับมนุษยชาติมาโดยตลอด เมื่อเปิดบันทึกประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการทำลายล้างชีวิตและสังคมระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง จะพบเห็นบทบาทหน้าที่ของสื่อในการสร้างและกระจายเนื้อหาแห่งความเกลียดชัง จนนำสู่อาชญากรรมแห่งมนุษยชาติ เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว โดยกองทัพนาซี แห่งเยอรมัน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือกรณีกลุ่มคลู คลักซ์ แคลน แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีทัศนคติเหยียดสีผิว กระจายสารแห่งความเกลียดชังคนดำ จนทำให้คนขาวรุมฆ่าคนผิวดำอย่างโหดร้าย และการสังหารหมู่ชาวตุ๊ดซี่ มากกว่า 8 แสนคน โดยชาวฮูตู ในรวันดา ซึ่งก่อนที่ความรุนแรงจะเกิดขึ้น สถานีวิทยุหลายแห่งในรวันดาถ่ายทอดเนื้อหาที่เปรียบชาวตุ๊ดซี่เป็นแมลงสาบและปลุกระดมให้ชาวฮูตูช่วยกันกำจัดแมลงสาบเหล่านั้น
สำหรับประเทศไทยการทำงานของ hate speech ผ่านทางสื่อมวลชนซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ปรากฏผลให้เห็นชัดเจนในเหตุการณ์ "ปราบนกพิราบ" เดือนตุลาคม 2519 รวมถึงความขัดแย้งอย่างรุนแรงของกลุ่มเสื้อสารพัดสีที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมานับปี อีกทั้งความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา และ เพศ ซึ่งอคติแห่งความเกลียดชังที่เกิดจากความแตกต่างถูกส่งผ่านทางสื่อทุกแขนงอย่างต่อเนื่อง จนหลายครั้งจบลงด้วยความรุนแรงที่ถูกรายงานถ่ายทอดผ่านทางสื่อมวลชนอีกครั้งหนึ่ง
ด้วยเหตุที่เนื้อหาแห่งความเกลียดชังสามารถนำสู่อาชญากรรม (hate crime) ทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะที่เคยมีประสบการณ์ hate crime อันเนื่องจาก hate speech ออกกฎหมายควบคุมกำกับการสื่อสารที่สร้างให้เกิดความเกลียดชัง โดยหวังว่าประศาสตร์นอกจากจะต้องไม่ถูกซ้ำรอยแล้ว แผลเดิมต้องไม่ถูกสะกิดให้เจ็บซ้ำด้วย เยอรมนีและออสเตรีย มีกฎหมายห้ามไม่ให้มีการเผยแพร่ hate speech ที่เกี่ยวข้องกับลัทธินาซีและนีโอนาซี แม้แต่ประเทศที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างสหรัฐอเมริกา ยังมีการควบคุม hate speech ภายใต้เสรีภาพในการสื่อสาร (free speech) โดยจะมีการดำเนินคดีเฉพาะเนื้อหาของการสื่อสารที่พิสูจน์ได้ว่าจงใจยุยงให้เกิดการใช้ความรุนแรง ที่ออสเตรเลีย แม้จะไม่มีกฎหมายควบคุม hate speech เป็นการเฉพาะ แต่ก็มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความเกลียดชังทางเชื้อชาติ (Racial Hatred Act) ให้ความคุ้มครองไม่ให้มีการเหยียดหยาม ดูถูก ดูหมิ่นความเป็นมนุษย์ หรือใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นอันเนื่องจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ สำหรับประเทศไทย ท่ามกลางการขยายเติบโตอย่างรวดเร็วของช่องทางการสื่อสาร ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ ดาวเทียม ทั้งสื่อใหม่ใน social media และการแบ่งขั้วข้างทางการเมืองของสื่อสิ่งพิมพ์ hate speech มิได้ถูกควบคุมกำกับโดยกฎหมายใดเป็นการเฉพาะ คงมีเพียงการถูกควบคุมด้วยกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท แต่ที่ใกล้เคียงและเกี่ยวข้องกับการทำงานของสื่อมากที่สุดก็คือ มาตรา 37 ของพระราชบัญญัติกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่กำหนดแบบครอบจักรวาลไว้ว่า "ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตรย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน" ซึ่งถูกพิสูจน์ให้เห็นแล้วด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงเสื้อเหลือง เสื้อแดง ที่จบลงด้วยการเสียชีวิตของประชาชนและความเสียหายต่อสถานที่สำคัญต่างๆ ในหลายกรรมหลายวาระอย่างต่อเนื่องแล้วว่าไม่สามารถมีบทบาทในการควบคุม hate speech และป้องกัน hate crime
ความพยายามล่าสุดในการสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพและปฏิบัติได้จริงสำหรับป้องกันการเผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังในสื่อ เกิดขึ้นจากฝั่งนักวิชาการด้านการสื่อสารมวลชน เมื่อคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำโครงการวิจัยเรื่อง "การกำกับดูแลสื่อที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง" ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ "กลไกที่มีประสิทธิภาพ" ในการกำกับดูแลสื่อทั้งวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และโลกออนไลน์ อันเป็นข้อเสนอหลักของงานวิจัยชุดนี้ซึ่งเพิ่งมีการนำเสนอเพื่อขอคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิของสังคมไทยไปเมื่อไม่นาน สามารถสรุปได้ว่า ควรต้องมีการควบคุมการส่งผ่านเนื้อหาแห่งความเกลียดชังในหลายระดับ ทั้งให้สื่อคุมกันเอง ด้วยการทำสัตยาบรรณร่วมกันในเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพ ทั้งให้องค์กรของรัฐอย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้ามามีบทบาท ด้วยการ (เช่น) กำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการโทรทัศน์ เพื่อกำหนดลักษณะเนื้อหาที่ห้ามออกอากาศในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารความเกลียดชัง กำหนดหรือส่งเสริมให้โทรทัศน์ดิจิตอล ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เปิดพื้นที่เพื่อให้คู่ขัดแย้งในประเด็นต่างๆ ได้พูดคุย สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และลดความเข้าใจผิดอันเกิดจากอคติและความเกลียดชัง รวมไปถึงข้อเสนอให้ออกกฎหมายใหม่เข้ามาควบคุม hate speech เป็นการเฉพาะ โดยไม่ลืมที่จะเสนอให้ต้องตระหนักถึงเสรีภาพในการสื่อสารและการปกป้องให้สื่อยังคงเป็นตลาดแห่งความคิด (market place of idea) อยู่ด้วย
แมัวัตถุประสงค์หลักของความพยายามในครั้งนี้จะเป็นการหามาตรการ กลไก เพื่อควบคุมการเผยแพร่เนื้อหาแห่งความเกลียดชัง แต่ประเด็นที่ผู้ทรงคุณวุฒิให้ความสำคัญ ตั้งข้อสังเกตและให้ข้อเสนอแนะในวันนั้นกลับไม่ใช่ข้อเสนอ ที่ดูแล้วเกือบไม่มีอะไรใหม่ไปจากข้อเสนอเพื่อกำกับดูแลสื่อในประเด็นอื่นๆ เลย
ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ แห่งภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความสำคัญกับประเด็นที่ทำให้เกิดความเกลียดชังในสังคมไทย ซึ่งน่าจะเป็นรากฐานที่ทำให้เข้าใจสถานการณ์แห่งความเกลียดชังกันระหว่างคนไทยด้วยกันเอง
"เราสามารถระบุได้ไหม อะไรคือจุดที่คนทนไม่ได้ จนมีความรุนแรง เช่น ในอเมริกาคือกรณีผิวสี ของเยอรมันคือกรณีนาซี ในงานวิจัย ผมไม่เห็นตัวที่เป็น finding อันนี้ มันคืออะไรในสังคมไทย อะไรที่มันละเมิดความเป็นไทย มันไม่ใช่แค่วาทกรรมการพูดถึง racism, class หรือ gender มันคืออะไรที่กระทบขนาดนี้ ซึ่งประเด็นนี้จะนำสู่ว่าเราทำงานวิจัยไปเพื่ออะไร"
คำถามของพิชญ์ ได้รับการสนับสนุน โดยนักรัฐศาสตร์ จากฝั่งท่าพระจันทร์ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่มองว่านักวิจัยกำลังให้ความสนใจกับฟางเส้นสุดท้าย ที่สามารถทำให้อูฐหลังหักได้จริง มากกว่าจะสนใจหัวใจของปัญหาซึ่งเป็นประเด็นที่ที่แท้จริงความขัดแย้งและความเกลียดชังที่เกิดขึ้นในสังคม
"ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ฟางเส้นสุดท้าย แต่เป็นสิ่งที่อูฐแบกไว้ สิ่งที่ตามมาในทางทฤษฎีคือไม่มีใครในโลกจะบอกได้ว่าอะไรจะเป็นฟางเส้นสุดท้าย"
ชัยวัฒน์ ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่จะทำให้เห็นความสำคัญของปัญหาที่แท้จริงมากกว่าตัวฟางเส้นสุดท้ายว่า ในสถานการณ์เผชิญหน้ากันระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจ ซึ่งต้องมีที่มาของความขัดแย้งก่อนหน้าที่ทั้งสองฝ่ายจะมาเผชิญหน้ากัน จนสุดท้ายเมื่อมีใครปาก้อนหินออกมา ก็อาจมีคนยิงกลับไป ในกรณีนี้ก้อนหินก้อนนั้นเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้เกิดความรุนแรงคือมีคนสาดกระสุนออกไป
จากตัวอย่างของชัยวัฒน์ชัดเจนว่าความพยายามในการทำความเข้าใจกับก้อนหินก้อนนั้น และพยายามควบคุมไม่ให้มีใครปาก้อนหินก้อนนั้นออกมา ย่อมไม่สามารถขุดรากถอนโคน เนื้อหาแห่งความเกลียดชังออกไปได้ ซึ่งนั่นย่อมไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมแห่งความเกลียดชังได้ ทั้งนี้แม้ในงานวิจัยชุดนี้จะมีการศึกษาถึงเนื้อหาแห่งความเกลียดชังที่มีอยู่ในสื่อในประเทศไทย แต่การศึกษาก็เน้นให้ความสำคัญกับการรวบรวมและจัดกลุ่ม รวมถึงวิเคราะห์วัตถุประสงค์ของสารแห่งความเกลียดชังที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีการลงลึกไปถึงที่มาและรากที่แท้จริงของการเกิดความเกลียดชังในสังคมไทย
พูดง่ายๆ ว่าเรากำลังพยายามดับเนื้อหาแห่งความเกลียดชังที่เกิดขึ้น และตั้งอยู่ในสื่อออกไป โดยที่ยังไม่ได้ทำความเข้าใจต่อการเกิดขึ้นและตั้งอยู่ของเนื้อหาแห่งความเกลียดชังนั้นเลย
ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ยอมรับว่า "บางเรื่องบางประเด็นไม่สามารถพูดได้ในที่สาธารณะ ขอตอบคำถามอาจารย์พิชญ์หลังไมค์" คือปฏิกิริยาที่เธอมีต่อคำถามและการตั้งข้อสังเกตของพิชญ์
เทพชัย หย่อง บรรณาธิการบริหารเครือเนชั่น เสนอว่าก่อนที่จะพิจารณาหากลไกของการลดระดับ hate speech ในสื่อ อาจจำเป็นต้องตั้งคำถามและพิจารณากันก่อนว่าใครควรต้องแสดงบทบาทให้คนด่ากันน้อยลง และสร้างความเกลียดชังกันให้น้อยลง นอกจากนี้เขายังตั้งขอสังเกตด้วยว่างานวิจัยชุดนี้ไม่มีการสัมภาษณ์เก็บข้อมูลจากคนทำสื่อเลย
"ทำไมสื่อถึงเผยแพร่ hate speech มันเป็นนโยบายของเจ้าของสื่อ นโยบายหนังสือ หรือนโยบายนายทุน หรือมีคนสั่งอีกทีหนึ่งให้เขาส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง เราต้องรู้เรื่องพวกนี้ก่อน หากเป็นนโยบายของสื่อเองในการส่งเสริมความเกลียดชัง กลไกการกำกับดูแลก็จะไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะมันเป็นทิศทางที่เขาเลือกแล้วว่าจะส่งเสริมความเกลียดชัง" เทพชัย กล่าว
งานวิจัยชุดนี้ยังไม่สมบูรณ์ ด้วยนักวิจัยอาจมีการปรับ เปลี่ยน ตามข้อเสนอของผู้ทรงคุณวุฒิก่อน หากความพยายามของนักวิชาการสายนิเทศศาสตร์ในครั้งนี้ จะเป็นการปรับแต่งรูปร่างหน้าตาของสังคมไทยในอนาคต ผ่านทางการควบคุมเนื้อหาแห่งความเกลียดชังที่เผยแพร่ผ่านทางสื่อมวลชน การปรับแต่งเพื่อความสมบูรณ์ของงานวิจัยต้องเริ่มต้นการพิจารณาถึงสิ่งที่พิชญ์ไว้ในที่ประชุมวันนั้นว่า "คำถามคือแล้วสังคมจะปกป้องอะไร เหยื่อ (ผู้ที่ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ด้วย hate speech) หรือ สิทธิของผู้ส่งสาร เราต้องการสังคมแบบไหน ประชาธิปไตย สานเสวนาตลอดเวลาหรือ รายงานวิจัยควรจะบอกว่าเราทำไปเพื่อคาดหวังถึงสังคมแบบไหน"
บางส่วนจากงานวิจัย สารแห่งความเกลียดชังในวิทยุและโทรทัศน์ การสื่อสารแห่งความเกลียดชังทั้งในสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกใหม่ มักพบจากคำพูดของผู้ดำเนินรายการ การเล่าข่าว การแสดงความเห็นต่อประเด็นข่าวของผู้ดำเนินรายการ กลุ่มเป้าหมายของการส่งสารแห่งความเกลียดชังจะเป็นกลุ่มทางการเมือง บางรายการจะขึ้นอยุ่กับจุดยืนของสถานี โดยมุ่งโจมตีกลุ่มเป้าหมายที่มีความคิดเห็นทางการเมืองในฝั่งตรงข้าม โดยพบว่าความรุนแรงของสารที่ส่งออกมาพบว่ารายการข่าวส่วนใหญ่อยู่ในระดับการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มเป้าหมายด้วยการกล่าวหา กล่าวโทษที่รุนแรง ปราณาม แฉ ว่าร้าย รวมถึงการดูถูก ส่วนความรุนแรงในระดับยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มเป้าหมายด้วยการเปรียบเทียบในลักษณะไม่ใช่คน พบในรายการข่าวสื่อทางเลือกใหม่ทั้งวิทยุท้องถิ่น และโทรทัศน์ดาวเทียม และพบได้ในบางรายการของข่าวในสื่อกระแสหลัก สารแห่งความเกลียดชังในสื่อสิ่งพิมพ์ ทีมวิจัยสำรวจสื่อสิ่งพิมพ์ 7 ฉบับ ได้แก่ หนังสือพิมพ์รายวัน: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และ ไทยโพสท์ รายสัปดาห์: มติชนสุดสัปดาห์ เอเอสทีวี ผู้จัดการ Voice of Thaksin นิตยสาร: คู่สร้างคู่สม และ ก๊อสซิปสตาร์ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า กลุ่มหนังสือพิมพ์รายวันมีการนำเสนอเนื้อาที่บ่งชี้ความเป็น Hate speech ค่อนข้างต่ำ พื้นที่ของสื่อรายวันที่พบโอกาสการนำเสนอ hate speech มากสุดคือการ์ตูนการเมือง ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์รายสัปดาห์ที่เน้นประเด็นการเมืองจะมีสัดส่วนของเนื้อหาแห่งความเกลียดชังมากที่สุด โดย Voice of Thaksin มีสัดส่วนของเนื้อหาแห่งความเกลียดชังมากเป้นอันดับ 1 อยู่ที่ร้อยละ 42.11 รองลงมาได้แก่ เอเอสทีวี ผู้จัดการรายสัปดาห์ มีเนื้อหาที่กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังอยู่ที่ร้อยละ 28.57 ส่วนมติชนสุดสัปดาห์มีเนื้อหาแห่งความเกลียดชัง ร้อยละ 11.43 น้อยกว่านิตยสารคู่สร้างคู่สม และ ก๊อสซิปสตาร์ ที่มีเนื้อหาแห่งความเกลียดชังอยู่ที่ร้อยละ 26.92 และ 19.23 ตามลำดับ โดยนิตยสารบันเทิง 2 ฉบับหลังพบว่า ประเด็นแห่งความเกลียดชังที่พบจะมุ่งไปที่เรื่องเพศสภาพและเพศวิถี ในสัดส่วนที่เท่ากับการเน้นไปที่เรื่องชนชาติ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และถิ่นที่อยู่ สารแห่งความเกลียดชังในสื่อออนไลน์ น มีการวิเคราะห์เนื้อหาการสื่อสารความเกลียดชังในพื้นที่ 3 ประเภท คือ กระดานสนทนาออนไลน์ ได้แก่ www.pantip.com และ www.mthai.com เวบไซต์สังคมออนไลน์ ได้แก่ www.facebook.com และเวบไซต์แชร์วิดีโอ ได้แก่ www.youtube.com ผลการวิเคราะห์ปรากฏว่า พื้นที่ออนไลน์ทั้งสาม มีการส่งผ่านเนื้อหาแห่งความเกลียดชังที่มีฐานมาจากอุดมการเมืองมากที่สุดเมื่อเทียบกับฐานแห่งความเกลียดชังอื่นๆ เช่น เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา เพศสภาพ เพศวิถี โดยส่วนใหญ่ของเนื้อหาจะเน้นไปที่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง เป็นหลัก ในส่วนของโวหารและภาษาที่ใช้ พบว่าการสื่อสารความเกลียดชังผ่านกระดานสนทนาส่วนใหญ่จะเป็นการด่าทอกันอย่างตรงไปตรงมา หรือใช้ภาษาต่างประเทศ ส่วนใน youtube ซึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหว พบว่าส่วนใหญ่คือร้อยละ 19.7 ทำโดยการตัดต่อภาพ ข้อความ และเสียง รองลงไปได้แก่ การทำมิวสิควิดีโอ โดยนำเพลงที่มีอยู่แล้วมาดัดแปลงเนื้อหา ร้อยละ 18.2 และการถ่ายคลิปตนเองพูด หรือให้สัมภาษณ์ ร้อยละ 16.7 |
เกี่ยวกับผู้เขียน เพ็ญนภา หงษ์ทอง อดีตผู้สื่อข่าวประจำกองบรรณาธิการ เดอะ เนชั่น ปัจจุบันเป็นนักข่าว นักเขียนอิสระ ความสนใจหลากหลาย หมุนไปวนมา ปัจจุบันให้ความสนใจเป็นพิเศษกับประเด็นพุทธศาสนา
