Skip to main content

ขอบคุณภาพจากประชาไท และอรุณ วัชระสวัสดิ์

บทคัดย่อ

                การศึกษาเรื่องการกำหนดกรอบและวาทกรรมสื่อมวลชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในปี 2555 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการกำหนดกรอบและวาทกรรมเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในหนังสือพิมพ์กระแสหลัก 6 ฉบับ ได้แก่ไทยรัฐ, คมชัดลึก, มติชน, ไทยโพสต์, บางกอกโพสต์ และเอเอสทีวี       ผู้จัดการ ระหว่างเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2555 โดยศึกษาเนื้อหา 3 ประเภท 1) ข่าวหน้าหนึ่ง 2) บทบรรณาธิการ 3) บทความ/คอลัมน์ และศึกษาทิศทางการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจหนังสือพิมพ์และองค์กรวิชาชีพ

                ผลการวิจัยพบว่าเนื้อหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีกรอบหลัก 6 กรอบและจำแนกเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกกรอบเชิงอำนาจ มี 3 กรอบย่อย ได้แก่ กรอบรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตย กรอบเทคนิคการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกรอบบทบาทและอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เนื้อหาในกลุ่มนี้เป็นเรื่องที่มาของอำนาจ การแบ่งแยกอำนาจ และความสมดุลของอำนาจในโครงสร้างการเมืองระบอบประชาธิปไตย กลุ่มที่สองกรอบเชิงการเมือง มี 3 กรอบย่อย ได้แก่ กรอบเกมการเมือง กรอบการเร้าอารมณ์เรื่องความแตกแยก กรอบการเบี่ยงเบนประเด็นข่าวของสื่อ เนื้อหาในกลุ่มนี้เป็นเรื่องกลยุทธ์การเมือง การช่วงชิงอำนาจ ความขัดแย้งทางการเมือง และการลดความน่าเชื่อถือนักการเมือง

                ในส่วนวาทกรรมพบว่ามีวาทกรรม 2 กลุ่ม กลุ่มแรกสนับสนุน/ให้ความชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มที่สองคัดค้าน/ชี้ถึงความไม่ชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาทกรรมกลุ่มที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมี 5 ลำดับได้แก่ 1.ทำตามพันธสัญญาจากการหาเสียงเลือกตั้ง 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย 3.ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง 4.การแบ่งแยกอำนาจ 5.สภาใช้อำนาจสถาปนา          รัฐธรรมนูญ เนื้อหาของวาทกรรมกลุ่มที่คัดค้าน/ชี้ถึงความไม่ชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1.เพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์/ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย 2.เป็นกลยุทธการเมืองของฝ่ายรัฐบาล 3.เพื่อช่วยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 4.ทำให้สงครามกลางเมืองปะทุ 5.การแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกครอบงำโดยนักการเมือง

                วิธีการนำเสนอวาทกรรมประกอบด้วยมุมมองแบบสังเกตการณ์ แบบเลือกข้าง และแบบวิพากษ์ แหล่งข่าวส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ข้าราชการ ฝ่ายตุลาการ นักวิชาการที่สนับสนุนและคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื้อหาที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้ภาษาที่ตรงไปตรงมาในพาดหัวข่าว ใช้เหตุผลในการเสนอแนะในบทนำและบทความ ส่วนเนื้อหาที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้ภาษาที่เร้าอารมณ์ ประณาม โจมตีในพาดหัวข่าว และใช้ภาษาที่เสียดสี แบ่งดำ-ขาว ชั่ว-ดี และตั้งฉายาในบทนำและบทความ

                การศึกษาเนื้อหาหนังสือพิมพ์ 3 ประเภทในการแก้ไขรัฐธรรมนูญพบว่ามติชน และไทยรัฐมีจุดยืนที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บางกอกโพสต์ และคมชัดลึกมีลักษณะการค้านอยู่ในที ส่วน        เอเอสทีวีผู้จัดการ และไทยโพสต์มีจุดยืนที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนในเนื้อหาทุกประเภท

                การศึกษาทิศทางการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจหนังสือพิมพ์พบว่า หนังสือพิมพ์เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และมีผู้ถือหุ้นใหญ่จากกลุ่มทุนนอกอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ เช่นธุรกิจก่อสร้าง ธนาคาร ค้าปลีก บันเทิง โทรทัศน์ และกลุ่มหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ยกเว้นไทยรัฐ และไทยโพสต์ที่เป็นบริษัทจำกัด หนังสือพิมพ์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ขยายธุรกิจไปสู่สื่อแขนงอื่น ๆ เช่น สื่อออนไลน์ โทรทัศน์ดาวเทียม เพื่อแข่งขันกับ ฟรีทีวี เคเบิลทีวี และสื่อภาพยนตร์  ธุรกิจหนังสือพิมพ์มีการรวมตัวกันเป็นองค์กรวิชาชีพและได้แสดงบทบาทในการปกป้องผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมโดยเรียกร้องให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อ เนื่องจากได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและกระแสโลกาภิวัตน์

 

อ่านรายงานฉบับสมบูรณ์ได้ที่นี่

วาทกรรมสื่อมวลชน, การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550, หนังสือพิมพ์กระแสหลัก, ไทยรัฐ, คมชัดลึก, มติชน, ไทยโพสต์, บางกอกโพสต์, เอเอสทีวีผู้จัดการ