ขอบคุณภาพจาก http://censorshipinamerica.files.wordpress.com/
ปัญหาความเกลียดชังทางการเมือง ได้สั่งสมมาเป็นเวลาเกือบสิบปีตั้งแต่มีกลุ่มประชาชนออกมาต่อต้าน พตท.ทักษิณ ชินวัตร ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ปรากฎการณ์นี้ ส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับการใช้วาจาที่เกลียดชัง และ/หรือ ลดทอนความเป็นมนุษย์ต่อกันและกัน
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนความตระหนักเรื่องปัญหา hate speech (วาจาและข้อเขียนที่แสดงความเกลียดชัง) กับ dehumanizing speech (วาจาและข้อเขียนที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น) ยังมิได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลักและประชาชนในสังคมเท่าที่ควร ผู้เขียนจึงขอพยายามทำความเข้าใจกับเรื่องเหล่านี้กับผู้อ่านผ่านบทความนี้
ผู้เขียนขอเริ่มโดยยืนยันในหลักการที่ว่าประชาชนพึงมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งรวมถึงการไม่ถูกเซนเซอร์วาจาข้อเขียนทั้งสองชนิด ทั้งนี้เพราะเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิทธิพื้นฐานที่สำคัญสำหรับสังคมที่เป็นประชาธิปไตย มีเสรีภาพและเป็นอารยะ และการมีขันติต่อวาจาด้านลบ จำเป็นสำหรับวุฒิภาวะของสังคม
อย่างไรก็ตาม นั่นมิได้หมายความว่าประชาชนมิควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ถึงผลกระทบของ hate speech และ dehumanizing speech ต่อสังคมและบรรกาศการสื่อสารระหว่างผู้ที่เห็นต่างกันทางการเมืองในสังคมไทย เปรียบเทียบง่ายๆก็เสมือนประชาชนสามารถหาซื้อและครอบครองมีดได้ แต่ก็ควรเข้าใจว่ามีดนั้นสามารถใช้ทำร้ายผู้อื่นหรือตนเองถึงแก่ชีวิตได้ไม่ยาก หากใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม
บทความนี้จึงมุ่งทำความเข้าใจ และเรียกร้องให้ใช้ประชาชนใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างมีความรับผิดรับผิดชอบ และสร้างภูมิคุ้มกันในหมู่ประชาชนเพื่อลดทอนผลด้านลบของการอยู่ท่ามกลาง hate speech และ dehumanizing speech ที่มิว่าอย่างไร ก็คงคงอยู่และคงจะมีอยู่ต่อไปในสังคม
Hate Speech มีคำจำกัดความหลากหลาย แต่สำหรับผู้เขียน hate speech คือวาจาและข้อเขียนที่แสดงความเกลียดชังออกมาจากผู้พูดหรือผู้เขียน ยกตัวอย่างเช่น: ไอ้สัตว์ อีปู ไอ่เกย์เฒ่า เหี้ยทักษิณ หางแดง ระยำ ฯลฯ ที่เอ่ยมิได้เพราะอาจขัด ม.112
ผู้เขียนยึดความรู้สึกของผู้ใช้ hate speech เป็นหลัก เพราะว่าหากยึดเอาความรู้สึกของผู้ฟังผู้อ่าน คำวาจาอะไรก็อาจถูกตีความเป็น hate speech ไปได้ ทั้งๆที่ผู้ใช้คำหรือผู้ที่เขียนอาจไม่มีเจตนาหรือมิได้รู้สึกเกลียดชัง
เรื่องนี้ นาย อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายพลเมืองเน็ต หรือ Thai Netizens Network พูดไว้ชัดและเข้าใจง่ายดีว่า ดังที่อาทิตย์ได้แสดงความเห็นไว้ว่า:
“Hate Speech IS free speech “หยาบคาย” เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล/สังคม (subjective) ถ้าอ้างเรื่องความหยาบคายหรือความศรัทธา speech แทบทุกอย่างก็เป็น hate speech ได้หมด มันต้องมีใครสักคนไม่พอใจอะไรสักอย่างเสมอ ข้ออ้างเรื่อง hate speech จึงเป็นอันตราย เป็นศัตรูที่สุดของ free speech เพราะมันดู make sense เหลือเกิน แต่ในทางปฎิบัติ มันไม่รู้จักพอ มันขยายอาณาบริเวณของมันอย่างตะกละตะกลาม จนเบียดบังพื้นที่แสดงออกสิ่งต่างๆ” (อ้างจากคอลัมน์ Quote of the Day ในประชาไท วันที่ 19 พย 2555)
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างคำว่า ‘คลั่งเจ้า’ ซึ่งผู้เขียนใช้เป็นคำสั้นๆเรียกผู้ที่รักกษัตริย์อย่างไม่รู้จักพอเพียงจนกระทั่งสนับสนุนกฎหมายปิดหูปิดตาปิดปากและกักขังผู้ละเมิด มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลด้านลบเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และการวิพากษ์สถาบันฯ อนึ่ง อาการคลั่งเจ้าที่ชัดเจนที่สุดคือการสังหารนักศึกษาและประชาชนฝ่ายซ้ายในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และความสะใจในการตายของผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ถูกตราหน้าว่าเป็นพวกล้มเจ้า ในปี 2553
ถึงแม้คำว่า ‘คลั่งเจ้า’ ในมุมมองที่ผู้เขียนใช้ จะมิใช่ hate speech ตามคำจำกัดความของผู้เขียน เพราะไม่ได้สื่อออกไปด้วยความเกลียดชังต่อผู้ที่คลั่งเจ้า หากเป็นห่วงว่าคนเหล่านั้นรักเทิดทูนเจ้าจนไร้สติและเกิดอาการเกลียดชังผู้เรียกร้องให้แก้ไขหรือยกเลิก ม.112 และอาจคุ้มคลั่งจนทำร้ายผู้เห็นต่างได้ อย่างในกรณีดักทำร้ายชกอาจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำกลุ่มนิติราษฐ์ ผู้เสนอแก้ ม.112 แต่ก็ไม่วายที่มีผู้คลั่งเจ้าบางคนอ้างว่าคำว่า ‘คลั่งเจ้า’ เป็น hate speech ทั้งๆที่มันต่างจากการด่าผู้อื่นหยาบคายโดยไร้เหตุผลหรือคำอธิบาย นอกเหนือจากการที่ผู้ใช้ hate speech เกลียดชังฝ่ายตรงข้าม
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผู้เขียนเห็นด้วยกับนายอาทิตย์ แต่ผู้เขียนก็ยังมองว่า การงดใช้ speech บางอย่างโดยไม่มีใครมาบังคับ แต่เพราะผู้ที่จะพูดหรือจะเขียน ตระหนักว่าผลเสียโดยรวมต่อสังคมอาจมีน้ำหนักกว่าการใช้ speech บางอย่าง โดยเฉพาะ dehumanizing speech โดยไม่คำนึงถึงผลอะไรต่อสังคมโดยรวมเป็นสิ่งที่น่าจะปฎิบัติได้ เพราะเสรีภาพ ก็มีราคาค่างวด มี tradeoff เช่นกัน
Dehumanizing Speech หรือวาจาข้อเขียนที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น นั้นมีผลลบต่อการสื่อสารอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า hate speech เพราะคำและวาจาเหล่านั้นเปรียบผู้ที่ถูกดูถูกว่าเป็นสัตว์เป็นแมลง ต่ำกว่ามนุษย์ คำที่ใช้บ่อยมากในสังคมไทยในปัจจุบันคือคำว่า ควายแดง และแมลงสาบ
ย้อนกลับไปในอดีต ยุคมีการสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนฝ่ายซ้ายอย่างโหดเหี้ยมทารุณในวันที่ 6 ตุลา 2519 หนึ่งในคนรุ่น 6 ตุลาอย่าง อ.วิภา ดาวมณี ยืนยันกับผู้เขียนว่า hate speech และ dehumanizing speech มีบทบาทอย่าง ‘แน่นอน’ ในการ ‘สร้างความชิงชังอย่างมาก’
ขอบคุณภาพจากเฟสบุ๊ค สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
คำเช่น ‘หนักแผ่นดิน’ ‘คอมมิวนิสต์’ ‘ญวน’ และวาทกรรมอย่าง ‘ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป’ เอื้อให้ประชาชนจำนวนหนึ่งกระทำการอันโหดเหี้ยมป่าเถื่อนหรือยอมรับความป่าเถื่อนนั้นได้เพราะคนเหล่านั้นถูกทำให้ ‘เป็นอื่น’ (the other) และต่ำกว่ามนุษย์ ผ่านวาทกรรมเหล่านั้น
ในปัจจุบัน นอกจากหนังสือพิมพ์อย่างASTVผู้จัดการมักจะเขียนการ์ตูนการเมืองวาดให้คนเสื้อแดงเป็นควายอยู่เป็นระยะๆแล้ว ผู้เขียนก็เคยเห็นกลุ่มแดงบางนาตั้งบู้ทช่วงชุมนุมเสื้อแดงที่เมืองทองธานีปี 55 ให้ประชาชนเอารองเท้าปารูปอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งหัวเป็นคนแต่ตัวเป็นแมลงสาบ
หากคุณเรียกฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือศัตรูผู้ที่คุณเกลียดเป็นสัตว์เป็นแมลงบ่อยๆมากขึ้นๆ ถึงจุดนึงคุณและคนบางคนอาจมิได้มองพวกคนเหล่านั้นเป็นมนุษย์อีกต่อไป
อย่างไรก็ตามลำพังเพียงการละการใช้วาจาและข้อเขียนที่แสดงความเกลียดชังหรือลดทอนความเป็นมนุษย์ ก็มิได้หมายความว่าความเกลียดชังเหล่านั้นจะหมดหายไป เพราะความเกลียดชังที่มีอยู่ในใจ อันเป็นบ่อเกิดของวาจาที่เกลียดชังและลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ก็ยังคงอยู่ หากทว่าการงดใช้ hate speech และโดยเฉพาะ dehumanizing speech อาจช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสามารถพูดคุยโต้แย้งกันด้วยเหตุผลได้ง่ายขึ้นและไม่รู้สึกเกลียดชังมากเกินความจำเป็น
Hate speech กับ dehumazing speech เป็นตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้คนพูดกันด้วยเหตุผลไม่ได้
ในหนังสือ ‘Less than Human: Why we demean, enslave, and exterminate others’, (St. Martin’s Griffin, New York, 2011) ผู้เขียนชื่อ David Livingstone Smith อ้างถึงความสัมพันธ์ระหว่าง dehumanizing speech กับการสังหารหมู่ในหลายยุคหลายวัฒนธรรม รวมถึงยุคนาซีเยอรมัน ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทั้งญี่ปุ่นและอเมริกาก็ใช้วาจาข้อเขียนที่ลดทอนความเป็นมนุษย์เป็นอาวุธ
Livingstone Smith ตั้งข้อสังเกตในหน้า 13 ไว้ว่า “a whole group of people is represented as less than human, as a prelude and accompaniment to extreme violence… Dehumanization isn’t a way of talking. It’s a way of thinking – a way of thinking that, sadly, comes all too easily to us… It acts as a psychological lubricant, dissolving our inhibitions and inflaming our destructive passions. As such, it empowers us to perform acts that would, under other circumstances, be unthinkable.”
[คนทั้งกลุ่มถูกนำเสนอให้ต่ำกว่ามนุษย์ เพื่อเป็นการโหมโรงก่อนมีใช้ความรุนแรงอย่างสุดขั้ว…วาจาและข้อเขียนที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นไม่ใช่วิธีการพูดแต่เป็นวิธีคิด –วิธีคิดที่ น่าเสียดายว่าเรามีได้ง่ายเหลือเกิน… มันทำหน้าที่เป็นน้ำมันหล่อลื่นทางจิตวิทยา หลอมละลายความรู้สึกยับยั้ง และโหมไฟแห่งความเกลียดชังทำลาย เช่นนี้แล้ว มันทำให้เรามีพลังที่จะทำในสิ่งที่เรามิอาจคาดฝันนึกได้ ในบริบทอื่นๆ]
ในบริบทไทย วาจาข้อเขียนที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ก็เสมือนน้ำมันหล่อลื่นช่วยให้ผู้คน ‘สะใจ’ ได้ กับการตายของฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
เส้นแบ่งระหว่างคำพูด ความคิดและการกระทำนั้นพร่ามัวสลับซับซ้อนยิ่ง สังคมและสื่อสารมวลชนจึงควรตระหนักถึงอิทธิพลของ hate speech และ dehumanizing speech และถกเถียงเรื่องด้านลบของเสรีภาพการแสดงออกให้มากกว่านี้ สื่อและประชาชนควรใช้เสรีภาพการแสดงออกอย่างมีความรับผิดชอบ เหตุผลหนึ่งที่การใช้ hate speech กับ dehumazing speech กระทำได้ง่าย ส่วนหนึ่งก็เพราะมีการมองการต่อสู้เป็นแบบขาวดำ ดีชั่ว ร้อยเปอร์เซนต์ ซึ่งในบทความภาษาอังกฤษเรื่องสื่อที่เลือกสีทางการเมืองอย่างชัดเจน ชื่อ ‘Distorted Mirror and Lamp: The Politicization of the Thai Media in the Post-Thaksin Era’ โดย ผู้เขียน (Pravit Rojanaphruk) และ Jiranan Hanthamrongwit, ในหนังสือ ‘Legitimacy Crisis in Thailand’, edited by Marc Askew, King Prajadhuipok’s Institute Yearbook No.5 (2008/09), Silkworm Books ผู้เขียนและจิระนันท์ได้สรุปไว้ว่า สื่อที่เลือกข้างทางการเมืองอย่างชัดเจน ซึ่งเรียกว่า vigilante media โดยผู้เขียนทั้งสอง จะมีลักษณะเชื่อมั่นว่าตนถูกต้องทุกเรื่อง ส่วนฝ่ายตรงข้ามผิดและเลวทุกเรื่อง และมีลักษณะมองฝ่ายตรงข้ามด้วยความเกลียดชัง สิ่งเหล่านี้เอื้อให้เกิดบรรยากาศของการสร้างความเชื่อที่ว่าการกำจัดศัตรูทางการเมืองด้วยวิธีใดก็ตามย่อมเป็นสิ่งที่ยอมรับได้หรือแม้กระทั่งถูกต้อง เพราะฝ่ายตรงข้ามนั้นเลวบริสุทธิ์
ทัศนะคติที่ถูกเผยแพร่เช่นนี้ เอื้อให้มีการใช้วาจาข้อเขียนที่แสดงความเกลียดชังหรือลดทอนความเป็นมนุษย์ได้ง่ายขึ้นในสังคม ดังจะเห็นจากการใช้วาจาข้อเขียนที่มีลักษณะแบบนี้อย่างแพร่หลายทางอินเตอร์เน็ต
ส่วนสื่อกระแสหลักก็มิได้ให้ความสนใจกับเรื่องนี้เท่าที่ควร มิได้พยายามทำให้สาธารณะตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างการมองอะไรเป็นขาวเป็นดำในสื่อจำนวนมิน้อย กับอิทธิพลต่อการสร้างความเกลียดชัดทางการเมืองของสื่อ ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม มิหนำซ้ำนักข่าวและบรรณาธิการในบางสำนักก็ดูเหมือนว่าลึกๆก็มองฝ่ายที่ตนไม่เห็นด้วย ด้วยความเกลียดชัง
Photo courtesy Daily Trojan
แต่อย่างที่ผู้เขียนเสนอไปตอนต้นแต่ต้น ผู้เขียนไม่เชื่อในการจำกัด free speech และอย่าลืมว่าสังคมไทยมีการเซนเซอร์คำพูดที่เท่าทันต่อผู้มีอำนาจ ผู้อาวุโส ผู้มีเงินมีอิทธิพล และโดยเฉพาะต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นการกดทับเสรีภาพการแสดงความเห็นต่างหรือตรวจสอบวิพากษ์กษัตริย์ภายใต้กฎหมาย ม.112 สิ่งที่ขาดสำหรับสังคมไทยจึงไม่ใช่การถูกเซนเซอร์และการเซนเซอร์ตนเอง หากเป็นวุฒิภาวะในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเท่าที่พอมีในปัจจุบัน กับวุฒิภาวะ ขันติและความเท่าทันในการใช้ ฟัง อ่าน หรืองดใช้ เสรีภาพในการแสดงออกผ่าน hate speech และ dehumanizing speech ของผู้อื่น และของตนเอง
สังคมต้องยืนยันที่จะปกป้องเสรีภาพการแสดงออก ซึ่งรวมถึงเสรีภาพการแสดงออกด้านลบที่อาจเต็มไปด้วยความเกลียดชังดูถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้หากสังคมต้องการเคารพรักษาสิทธิพื้นฐานของประชาชนในการคิด ตีความ และตัดสินใจด้วยตนเอง ว่าอะไรดีไม่ได้ อะไรควรไม่ควร อะไรควรเชื่อหรือไม่ อะไรจริงเท็จ อะไรควรใส่ใจหรือไม่ใส่ใจ –มิเช่นนั้นประชาชนจะต้องถูกปกครองโดยรัฐ และ/หรือ กลุ่มคนเพียงไม่กี่คนที่อ้างว่าตนรู้ดีกว่าประชาชนทั้งประเทศ และทำหน้าที่เซนเซอร์สิ่งต่างๆที่มองว่า ‘ไม่เหมาะสม’ สำหรับประชาชน โดยอ้างว่าประชาชนคิดตัดสินใจแยกแยะอะไรเองไม่เป็น - สุดท้ายผลที่ได้คือสังคมที่ขาดซึ่งวุฒิภาวะ ขาดเสรีภาพ และเป็นเผด็จการ ประชาชนต้องรอให้รัฐป้อนแต่ข้อมูลที่ ‘เหมาะสม’ ‘ดีๆ’ จนคิดวิเคราะห์อะไรเองไม่เป็น
ในสังคมที่เคารพเสรีภาพอย่างแท้จริงนั้น วิธีการ ‘จัดการ’ กับ hate speech และ dehumanizing speech จึงมิได้อยู่ที่การเซนเซอร์ หากอยู่ที่การเข้าใจและวิพากษ์สิ่งเหล่านั้นอย่างเท่าทัน มีขันติไม่หลงเชื่อหรือเกลียดชังผู้ใดหรืออะไรง่ายๆ และเข้าใจการใช้เสรีภาพทั้งการแสดงออก และการรับฟัง อย่างมีวุฒิภาวะ
ผู้เขียนข้อจบบทความโดยอ้าง อ. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ถูกโจมตีด้วย hate speech ต่างๆนาๆแต่ก็เห็นว่ามันไม่มีผลอะไรต่อแก ดังที่แกเขียนอธิบายไว้ดังนี้
‘ก่อนอื่นเลยนะครับที่ว่าด่าพ่อด่าแม่ผมนี่ก็ด่าอยู่เป็นประจำนะครับ ผมเฉยๆนะ ผมแสดงให้ดูเอง ด่าเองให้ดูก็ได้ครับ ไอ้สมศักดิ์ ไอ้หัวหงอก ไอ้ลูกกะหรี่ แม่มึงเป็นกะหรี่ พ่อมึงเป็นสัตว์…เห็นไหมครับผมเฉยๆ ผมไม่รู้สึกกระเทือนอะไร พ่อแม่ผมเป็นอย่างไรจริงๆ ผมย่อทราบดี ไม่คิดจะฟ้องร้องด้วยซ้ำ’ (อ้างจากทวีตของ @mainuscha ที่ทวีต cc ถึงผู้เขียนบทความในวันที่ 16 พย 2555)
เกี่ยวกับผู้เขียน: ประวิตร โรจนพฤกษ์ (Pravit Rojanaphruk) มหาบัณฑิตด้านมานุษยวิทยาทางสังคมจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ทุนรัฐบาลอังกฤษ (British Chevening Scholar) หนึ่งในสี่นักข่าวไทยที่ได้รับทุนมูลนิธิรอยเตอร์ในฐานะนักวิชาการอาคันตุกะ (Reuters Fellow) ณ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ปัจจุบันเป็นผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์ The Nation เขียนบทความให้เว็บไซด์สำนักข่าวประชาไท และทวีตภายใต้ชื่อ @PravitR และเป็นผู้เขียนหนังสือ 'สื่อเสรีมีจริงหรือ: บทเรียนประชาธิปไตยและวัฒนธรรมสื่อไทย' จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมล คีมทอง
