Skip to main content

เวทีเสวนาหัวข้อการสรรหาผู้อำนวยการสื่อสาธารณะเห็นพ้องไทยพีบีเอสเจอสารพัดปัญหารุมเร้ารอผู้บริหารคนใหม่เข้าไปจัดการ ทั้งกระบวนการทำงานที่ไม่อาจประสานกับกรรมการนโยบาย (กนย.) ได้เต็มที่ ปัญหาในส่วนของกรรมการนโยบายก็หนักเพราะไม่เป็นเอกภาพ ขาดความเข้าใจในเรื่องบทบาทสื่อสาธารณะ เนื้อหาของสื่อยังไม่ตอบโจทย์คนดูในวงกว้าง แถมเจอแรงกดดันรัฐบาลที่จ้องยื่นมือเข้าควบคุม พร้อมกันนั้นเรียกร้องทำกระบวนการคัดสรรให้โปร่งใสทั้งคนนอกและคนในรับรู้ได้ ชี้จับตาระวังการ “ล็อคสเปค”

เวทีเสวนาดังกล่าวมีขึ้นภายใต้หัวข้อ "การสรรหา ผอ. ไทยพีบีเอส .. ซับซ้อน หรือ ซ่อนเงื่อน" จัดโดยกลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ เมื่อวันอังคารที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้ร่วมสนทนาทั้งผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสคือ หทัยรัตน์ พหลทัพ,  จักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ผู้เคยมีส่วนร่วมสรรหา กรรมการนโยบายไทยพีบีเอส และ อธึกกิต แสวงสุข คอลัมน์นิสต์อิสระ ผู้เขียนเรื่องของไทยพีบีเอสหลายหน โดยมี รศ. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

การตั้งวงพูดคุยเรื่องของไทยพีบีเอสเกิดขึ้นในขณะที่สื่อสาธารณะแห่งนี้กำลังอยู่ในกระบวนการสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่เพื่อให้มาแทนที่ ทพ. กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ที่ลาออกไปก่อนหน้านั้นเพื่อแสดงความรับผิดกับกรณีที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากการนำเงินขององค์กรไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ CPF  ล่าสุดขณะนี้ไทยพีบีเอสได้ขยายเวลารับสมัครออกไปจนถึง 2 มิ.ย. หลังจากที่ปิดรับสมัครไปแล้วเมื่อ 4 พ.ค. ทำให้ผู้ติดตามบทบาทไทยพีบีเอสมีคำถามเพิ่มเติมมากขึ้นไปอีก

การแสดงความกังวลกับกระบวนการสรรหาของไทยพีบีเอสเริ่มต้นจากพนักงานไทยพีบีเอสเอง หทัยรัตน์จากฝ่ายข่าวแสดงความดีใจที่มีผู้จัดเสวนาเรื่องนี้พร้อมกับบอกว่าอยากเห็นสาธารณะให้ความสนใจมากขึ้นเพื่อให้มีส่วนช่วยให้กระบวนการโปร่งใส หทัยรัตน์สะท้อนข้อมูลจากเสียงที่พูดกันภายในองค์กรว่าจะมีคนที่เป็นตัวเก็งสองคน เธอไม่เปิดเผยชื่อแต่ระบุว่า ชื่อของทั้งสองคนทำให้เกิดคำถามกันโยงไปถึงการตั้งเงื่อนไขคุณสมบัติผู้สมัครหนึ่งในหลายๆ ข้อที่ระบุว่าต้องเป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารสถาบันด้านสื่อมวลชนและดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า 1 ปี ทำให้เกิดการตีความกันว่ากระบวนการนี้จะมีความโปร่งใสหรือไม่ พร้อมกันนั้นบอกเล่าถึงการสรรหาผู้อำนวยการคนเดิมว่า ในช่วงนั้นก็มีข่าวลือเรื่องการ “ล็อคสเปค” แล้วผลก็ออกมาตามข่าวลือทำให้หนนี้ต้องจับตาอย่างมาก

หทัยรัตน์กล่าวถึงสถานการณ์ในไทยพีบีเอสตอนนี้ว่า ไทยพีบีเอสกำลังเข้าสู่กระบวนการเตรียมตัวเพื่อรับมือการทบทวนองค์กร ซึ่งเป็นเรื่องที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าเมื่อครบ 10 ปีจะต้องทบทวนเรื่องของแหล่งที่มาของทุน ขณะนี้ภายในไทยพีบีเอสมีการตั้งทีมงานขึ้นมาเตรียมการตอบคำถามในเรื่องงานที่ผ่านมาที่จะต้องถูกตรวจสอบ เธอระบุว่างานนี้จะเป็นภารกิจใหญ่ของผู้อำนวยการคนใหม่ ความรู้ในเรื่ององค์กรและงานในองค์กรจึงเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้สมัคร

จักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกล่าวถึงเรื่องของการสรรหาว่ากระบวนการหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการสรรหาซึ่งจะคัดจากบรรดาผู้สมัครทั้งหมด 9 คนให้เหลือสาม ตนได้ยินมาว่าจะได้หนึ่งในนั้นเป็นหญิง อีกสองคนเป็นชาย นอกจากนั้นยังเชื่อว่าในบรรดาคณะกรรมการนโยบายของไทยพีบีเอสหรือ กนย.ที่จะเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจคัดเลือกจากรายชื่อคนที่คณะกรรมการสรรหาคัดมาให้นั้น มีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ใส่ใจเรื่องของคุณสมบัติเท่ากับธงที่ตนตั้งไว้ จักร์กฤษแสดงความเชื่อว่า ผู้อำนวยการคนใหม่ที่กำลังจะได้มาจะไม่สามารถทำงานได้นานและจะต้องออกไปเช่นเดียวกันกับอดีตผู้อำนวยการสองคนก่อนหน้า

จักร์กฤษระบุว่า การที่ผู้อำนวยการสองคนหลังอยู่ไม่ครบเทอมนั้นเพราะปัญหาการสื่อสารกับ กนย. เขาชี้ว่าปัญหาส่วนหนึ่งของไทยพีบีเอสอยู่ที่ตัว กนย.เอง

“กนย. มีจุดอ่อน มีหลายความคิด สิ่งที่ขาดคือความรู้ความเข้าใจในเป้าหมายปรัชญาของการมีสื่อสาธารณะ เมื่อไม่แม่น ไม่ชัด มันก็กลายเป็นลูกระนาด ไล่ลงมาถึงระดับปฏิบัติการ คราวหนึ่งผมได้มีโอกาสไปเลือก กนย. บอกได้ว่าเหมาะจะไปทำองค์กรอื่นไม่ใช่สื่อสาธารณะ แต่เขาบอกว่าต้องเลือก เพราะเขาเสนอตัวมาแล้ว มันจึงมีคนแบบนี้อยู่บ้าง ใน กนย.เมื่อมีคนแบบนี้เวลาจะตัดสินใจอะไรการตัดสินใจก็อาจจะตกไปอยู่กับคนที่เข้าใจเรื่องสื่อที่มีอยู่จำนวนหนึ่ง อีกอย่าง มันขาดความเป็นเอกภาพ คนที่เข้าใจและมีความรู้บางส่วนก็จะโดมิเนท (ครอบงำ) กลายเป็นคนกำหนดทิศทางองค์กร”

จักร์กฤษยังชี้อีกว่า จุดอ่อนอีกอย่างของไทยพีบีเอสคือขณะนี้ภาพไม่ชัดเจนว่าต้องการจะเป็นอะไรแน่ ขณะนี้คนจำนวนหนึ่งมองว่าเป็น “ทีวีเอ็นจีโอ” ซึ่งเขาเชื่อว่าเพราะการกำหนดเนื้อหาของไทยพีบีเอสได้รับอิทธิพลจากสภาผู้ชมผู้ฟังรายการที่เกือบทั้งหมดมาจากเอ็นจีโอและมีความสนใจเฉพาะด้าน ทำให้คนดูกลุ่มนี้เองก็ไม่ได้ขยายความสนใจของตนออกไปสู่ด้านอื่น ดูเฉพาะสิ่งที่ตนเกี่ยวข้อง เขายกปัญหานี้ส่วนหนึ่งให้เป็นปัญหาการกำกับจาก กนย.ด้วย

“กนย. ต้องรู้จักองค์กร คำว่าสื่อสาธารณะ ไม่ใช่ไปแข่งรายการบันเทิงกับทีวีอื่น แต่ไม่ใช่จะต้องแห้งแล้งมีแต่รายการเอ็นจีโอ ต้องมีรายการคุณภาพ คนสนใจ ไม่อยากจะพูดว่าคนดูไทยพีบีเอสน้อยกว่าบางเพจ คนลืมไปแล้วว่ามีไทยพีบีเอส”

ด้านอธึกกิต แสวงสุข คอลัมน์นิสต์อิสระเป็นอีกรายที่ท้วงติงเรื่องเนื้อหาของสื่อที่เน้นประเด็นจากการผลักดันของกลุ่มเอ็นจีโอ เขาบอกว่าสิ่งเหล่านี้สามารถทำให้น่าสนใจได้สำหรับคนเสพสื่อกลุ่มอื่นๆ ด้วยวิธีการนำเสนอแบบสื่อทั่วไปที่คัดประเด็นแล้วเสนอให้กระชับไม่ใช่ทำรายการยาวที่ขาดความน่าสนใจสำหรับคนดูกลุ่มอื่น เขาแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันจักร์กฤษในเรื่องปัญหาเกี่ยวกับ กนย. ที่ดูจะกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องลงมาถึงผู้บริหารคนอื่นๆ กล่าวคือขาดความเข้าใจว่าทำอย่างไรให้คนทั่วไปเข้าถึงเนื้อหาของตนได้

อธึกกิตกล่าวว่า กนย.ในยุคหลังต่างจากในยุคแรกมาก ในช่วงตอนต้นขององค์กร กนย.มีเอกภาพ แต่ขณะนี้แปลกแยกซึ่งกันและกัน เห็นได้ชัดจากในช่วงที่เลือกอดีตผู้อำนวยการ ทพ.กฤษดา ที่คุยกันอยู่นานไม่ลงตัว ต่างจากในยุคแรกที่ไทยพีบีเอสได้นายเทพชัย หย่อง เป็นผู้บริหาร ซึ่งขณะนั้น กนย.เป็นเอกภาพมากกว่านี้ อีกประการหนึ่งคือ กนย.ในยุคแรกๆ ไม่ลงมาแทรกแซงการทำงานมากเท่าในปัจจุบัน และปัญหาใน กนย. อธึกกิตก็สะท้อนออกมาไม่ต่างไปจากผู้ร่วมเสวนาคือจักร์กฤษ โดยชี้ว่ากรรมการนโยบายจำนวนหนึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสื่อ  “ทำให้คนที่รู้เรื่องสื่อเสียงดังและจะสามารถชี้นำได้เยอะโดยที่คนไม่รู้เรื่องต้องคล้อยตามกันไป และการใช้อำนาจกระจัดกระจายจึงเกิดปัญหา”  เขาตั้งคำถามว่า กนย.จะสามารถทำงานกับ “มืออาชีพ” ได้หรือไม่ หากผู้อำนวยการคนใหม่เป็นสื่อ “มืออาชีพ” จริงทั้งสองฝ่ายจะทำงานด้วยกันได้อย่างไร ในส่วนผู้สมัครรายอื่น ก็อาจมีปัญหา บางคนอยู่ในชุดทำงานของผู้อำนวยการคนเดิมที่ลาออกไปเพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีไปซื้อหุ้น เขายืนยันว่าคุณสมบัติของผู้อำนวยการควรจะรู้เรื่องสื่อและสื่อแบบมืออาชีพ รวมทั้งมีความสามารถในการบริหาร

“ถ้าไม่ได้ก็ลำบากที่จะคุมองค์กร ที่ผ่านมามีปัญหาเยอะมาก มันคือองค์กรที่อยู่ใต้ระบบราชการ ทำงานแบบเอ็นจีโอ เหมือนกิจกรรมนักศึกษา ภาวะแบบนี้ยากยิ่งกว่าการทำสถานีเอกชนอีก ซึ่งนั่นคือทำเรตติ้งหรือเอาใจคนออกทุน แต่นี่ใครเป็นเจ้าของไทยพีบีเอส สภาผู้ชม หรือประชาชน มันงงไปหมด ต้องเอาใจใครบ้าง ต้องให้บรรลุเป้าหมาย”  นอกจากนี้ในการบริหารจะต้องทันเกมและทันคน

“การบริหารต้องทันคนอีก ต้องรู้อีก ไทยพีบีเอสการเมืองเยอะ ใครมาก็ตั้งพวกเข้ามาทำงาน จะบริหารงบอย่างไร เอ้าซอร์ส จะทำอย่างไร คนไม่เป็นไม่ทันตรวจสอบไม่ได้อีก สมัยคุณสมชัยมีแขวนละครเพราะเสนองบตอนละสี่ล้าน แพงกว่าของช่องสาม คือมันเสนอมาก่อนแล้วไม่ผ่าน ....คือเรื่องพวกนี้ถ้าคุณไม่ใช่มืออาชีพเรื่องสื่อคุณไม่รู้” อธึกกิตชี้ว่า ในยุคนี้ใครมาเป็นก็จะต้องทำงานอย่างยากลำบาก “ปัญหาของไทยพีมันสะสมมาสิบปี มันถึงจุดที่ว่า เลือกใครก็มีปัญหา ใครเป็นก็มีปัญหา และไม่น่าจะอยู่ยืด” โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่จะต้องผ่านกระบวนการทบทวนยิ่งจะต้องเหน็ดเหนื่อยมาก

ในบรรดาผู้สมัครมีคนที่เคยอยู่ทีมงานเดิมที่ถูกปลดและยังเป็นคดีความกันอยู่ บางคนก็อยู่กับอดีตผู้อำนวยการที่ลาออกไป คนเหล่านี้จะได้รับการพิจารณาเพียงใด และหากเข้าไปจะทำงานท่ามกลางแรงเสียดทานจากปัญหาเก่าได้อย่างไร

ผู้ร่วมเสวนาทั้งสามต่างพูดถึงปัญหาอีกด้านหนึ่ง นั่นคือแรงกดดันในเรื่องการทำงานจากผู้มีอำนาจทางการเมืองในปัจจุบัน หทัยรัตน์ ยกตัวอย่างของการทำงานในภาวะดังกล่าวโดยอธิบายว่าในองค์กรยังมีพนักงานที่ต้องการทำงานอย่างมืออาชีพ ทำข่าวโดยไม่หวั่นต่อแรงกดดันและอิทธิพลแนวคิดเลือกข้าง แม้ว่าจะลำบากแต่ก็เคยทำกันมาแล้ว แม้แต่การนำรายการไปออกทางยูทูป และมีผู้บริหารชุดเก่าที่ยอมแบกรับแรงกดดันต้องไปเข้ารับการปรับทัศนคติจากทหาร นับเป็นการทำงานที่ทำให้คนทำงานอย่างน้อยภาคภูมิใจ ตนอยากเห็นไทยพีบีเอสแสดงความกล้าหาญมากยิ่งกว่านี้เพื่อให้ผู้เสียภาษีรู้สึกว่าคุ้มค่า ส่วนจักร์กฤษ บอกว่าสภาพการที่เกิดในปัจจุบันผู้มีอำนาจจ้องครอบงำไทยพีบีเอส แม้กระทั่งต้องการจะยุบเพราะคิดว่าไม่ตอบสนองตัวเอง ในภาพใหญ่ผู้มีอำนาจไม่เข้าใจบทบาทสื่อสาธารณะ คิดเพียงว่าเมื่อเอาเงินรัฐมาก็ต้องตอบสนองรัฐ ในส่วนขององค์กรเอง ต้องพยายามรักษาความเป็นอิสระของตัวเองให้ได้ เป็นภาระของ กนย. ซึ่งแต่ละคนอาจจะเป็นอิสระ แต่ “บางคนอาจเป็นตัวแทนใครคนใดคนหนึ่งก็ได้” ดังนั้นปัญหาใหญ่ไม่ใช่เพียงเรื่องการสื่อสารกันภายในไม่เข้าใจแต่ยังมีเรื่องความเป็นอิสระขององค์กร รวมทั้งอิสระจากทุนและจากเอ็นจีโอ เขาเห็นด้วยกับอธึกกิตว่าการได้ตำแหน่งผู้อำนวยการไทยพีบีเอสจะเป็นทุกขลาภ เพราะต้องรับแรงกดดันรอบด้าน

ส่วนอธึกกิตเห็นว่าไทยพีบีเอสจะหนีไม่พ้นแรงกดดันจากรัฐที่ต้องการจะควบคุมทุกอย่าง  “ที่เราเห็นตอนนี้คือการสร้างรัฐใหม่ที่คุมเข้มเรื่องความมั่นคงแต่แปลงร่างว่ามีรัฐธรรมนูญ มีเลือกตั้ง แต่มันมีการควบคุมเข้มงวด ไม่ว่าจับอะไร การเมืองก็จะถูกตรึงด้วยยุทธศาสตร์ชาติ โครงสร้างกลไกต่างๆ คำถามคือสื่อจะรอดพ้นการควบคุมได้ยังไง สื่อก็ต้องโดน แม้ร่าง พรบ.สื่อจะยังต้องแก้ มันเป็นภาวะที่ชัดเจนว่า รูปแบบของรัฐที่จะเกิดในอนาคตจะเป็นอย่างไร สร้างรัฐที่ควบคุมประชาชนทั้งในแง่กฎหมาย ความคิด ทัศนคติ ให้เชื่อฟัง แล้วคุณจึงจะไปถึงไทยแลนด์ 4.0.... สิ่งที่เราเห็นคือภาวะที่พลังเอ็นจีโอกำลังถูกครอบ รัฐแห่งความมั่นคงหรือรัฐที่ข้าราชการเป็นใหญ่จะไม่ปล่อยให้เอ็นจีโออยู่นอกแถวแม้จะยังมีอำนาจต่อรองอยู่บ้าง ภายใต้ระบอบที่กำลังเกิดใหม่มันคุมเข้มทุกอย่างเพื่อความมั่นคง มันไม่ใช่เฉพาะวอยซ์ทีวี มันจะโดนกันหมด”

จักร์กฤษตอบคำถามผู้ติดตามการเสวนาว่าเขาเองก็เห็นด้วยกับการเปิดเผยวิสัยทัศน์ของผู้สมัคร เพื่อให้คนอื่นๆได้รับรู้ด้วย อย่างไรก็ตาม หากจะเปิดเผยกรรมการสรรหาคงจะต้องพร้อมจะตอบคำถามของสังคม ส่วนคำถามเรื่องการปรับเปลี่ยน กนย. เขาเห็นว่าหากจะทำเรื่องนี้จะต้องมีการทบทวนกฎหมาย แต่ก็เห็นด้วยว่า กนย.จะต้องมีความรู้ในเรื่องสื่อโดยฉพาะสื่อสาธารณะและต้องเข้าใจให้ตรงกันในเรื่องนี้เพื่อจะได้ไม่มีปัญหา เพราะที่ผ่านมาดูจะเข้าใจไม่ตรงกัน นอกจากนี้ควรจะต้องปรับเรื่องของการสื่อสาร เพราะตนเชื่อว่าผู้อำนวยการที่ต้องออกจากตำแหน่งก่อนหน้านี้เป็นเพราะปัญหาการสื่อสารกับ กนย.  เขาย้ำตอนท้ายว่าสาธารณะควรจะต้องให้ความสนใจสิ่งที่กำลังเป็นไปกับไทยพีบีเอส “นี่เป็นป้อมค่ายสุดท้ายของความเป็นสื่อที่เราต้องรักษาไว้”

จับตาการเลือก ผ.อ.ไทยพีบีเอส จะตอบโจทย์องค์กรได้หรือไม่