Skip to main content

หมายเหตุ ผู้เขียน เห็นว่าการถกเถียงในประเด็นรายงานผลการประเมิน ผลงานของไทยพีบีเอสซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการรับรู้ของสาธารณชนด้วย จึงได้เรียบเรียงมานำเสนอ

ข้อถกเถียงเรื่องรายงานการประเมินผลการทำงานTPBS ปี 2552 นี้มีจุดเริ่มต้นมาจากสเตตัสเฟซบุ๊คของ  Pitch Pongsawat (https://www.facebook.com/pitch.pongsawat)

ผศ. ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเอาเทปรายการ Wake Up Thailand ที่ออกอากาศทาง Voice TV เมื่อวันที่  20 กรกฎาคม 2555 มาโพสต์ ไว้ที่วอลล์ พร้อมกับเขียนข้อความสั้นๆว่า เห็นเขาว่าจัดหนักไทยพีบีเอส” (http://www.youtube.com/watch?v=FQryei69ttc&feature=youtu.be)

รายละเอียดโดยย่อของเทปรายการนี้ คือ การวิพากษ์วิจารณ์ ปัญหาต่างๆภายในองค์กรไทยพีบีเอสที่ก่อนหน้านี้พนักงานไทยพีบีเอสทำจดหมายเปิดผนึกเผยแพร่ต่อสาธารณะ (http://www.prachatai3.info/journal/2012/07/41619) โดยหนึ่งในผู้จัดรายการ คือ อ.ศิโรตน์คล้ามไพบูลย์ ยังได้นำเอาบางส่วนของรายงานการประเมินผลงาน TPBS ปี 2552 มาเปิดเผย โดยระบุว่ารายงานชิ้นนี้ถูก TPBS ห้ามเผยแพร่

PeddWorapojWongkitrungruang(ขณะนั้นยังไม่ได้แนะนำตัวเองว่าเป็นใคร เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร แต่ต่อมาเปิดเผยว่าคือคุณวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรืองหนึ่งในนักวิจัยและผู้ประสานงานของรายงานฉบับนี้) ได้เข้ามาแสดงความเห็นต่อโพสต์ของอาจารย์พิชญ์ว่า

งานวิจัยที่ถูกอ้างถึงโดยอาจารย์ศิโรตม์นั้น ไม่ใช่ว่าทางทีวีไทยไม่เผยแพร่นะครับ แต่มันเป็นงานที่งอกออกมาโดยอาจารย์วิโรจน์เอง เพราะรายงานประเมินฉบับเต็มยังไงก็ต้องเผยแพร่และชี้แจงต่อสภาตามกฎหมายอยู่แล้ว งานของอาจารย์วิโรจน์อยู่นอกเหนือขอบเขตการประเมินตามทีรับงานมา การกล่าวอ้างเช่นนั้นจึงไม่แฟร์กับทีวีไทยครับ ... อีกอย่างคือ หากเป็นนักวิชาการด้วยแล้ว ควรอ่านรายงานโดยการดูระเบียบวิจัยด้วย งานงอกของอาจารย์วิโรจน์แทบจะเป็นความเห็นล้วนๆ ไม่ได้มี methodology ที่เข้มแข็งรองรับเลย คณะวิจัยหลายคนที่ถูกกล่าวถึงก็ไม่ได้ยอมรับให้มีการเผยแพร่งานชิ้นนี้ในนามของตนเช่นกัน

และแชร์ลิ้งค์เทปรายการ Wake Up Thailand ที่มีการกล่าวถึงงานวิจัยชิ้นนี้ไปให้นักวิจัยร่วมทีมอีกสองท่าน คือ อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ และคุณสฤณี อาชวานันทกุลพร้อมข้อความว่า “โดนกันซะแล้วครับ คุณสฤณีและคุณปกป้อง”

ต่อมา ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง (VirojNaRanong) หัวหน้าทีมวิจัยดังกล่าวได้เข้ามาร่วมสนทนาผ่านหน้าวอลล์ของอาจารย์พิชญ์โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

VirojNaRanongผมเข้าไปดูเทปรายการแล้วนะครับ งานชิ้นแรกที่ อ.ศิโรตม์ อ้างคือรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ ซึ่งถูกห้ามตีพิมพ์เผยแพร่จริง (มี จม. มาจากหมอพลเดชถึง ประธานสถาบัน TDRI) แต่ในที่สุดเราก็ได้นำขึ้นเว็บ TDRI ในช่วงประมาณหนึ่งปีหลังจากนั้น เพราะถือว่ามีรายงานของทีมประเมินชุดใหม่ออกมาแล้ว รายงานนี้ตอนนี้ download ได้ที่http://www.tdri.or.th/th/php/projectdetail.php?l=2&n=1637 กด F

สำหรับงานชิ้นที่สองเป็นรายงานที่ผมทำเสนอสถาบันอิศราขณะที่อบรม บสก. ในปีต่อมา ระเบียบวิธีวิจัยเป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในบทที่ 3 ของรายงานฉบับแรก (ซึ่งผมเขียนร่วมกับคุณนันทิยา ตั้งวิสุทธิจิต) คือเทียบกับ ideal/best practice ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ได้ discuss ทั้งสองด้านไว้สั้นๆ ในรายงานด้วยชิ้นนี้(http://www.tdri.or.th/download/publication/d2012001.pdf)แน่นอนครับ ในฐานะนักวิชาการที่ทำงานใดๆ ออกมา ผมอยากให้ทุกท่านที่อยากอ่านได้มีโอกาสอ่าน และยินดีรับคำวิพากษ์วิจารณ์ ผมไม่เคยคิดว่างานที่ตัวเอง (และ/หรือคณะ) ทำ perfect อยู่แล้ว บางส่วนผมเองก็ไม่ได้พอใจมากนัก แต่ในภาพรวมก็เชื่อว่างานมีมุมมองที่มีความรอบด้านมากกว่าถ้าทำโดยนักวิจัยท่านใดท่านหนึ่งในทีมเอง..

..สำหรับตัวงานประเมินนั้น เท่าที่ทราบ TPBS เผยแพร่เฉพาะบทสรุปสำหรับผู้บริหาร (ในรายงานประจำปีและเข้าใจว่าในเว็บด้วย) ครับ การไม่เผยแพร่รายงานฉบับเต็มอาจอ้างเหตุผลอื่นได้ แต่เมื่อองค์กรเองไม่เผยแพร่แล้ว ยังไม่ยอมให้ตีพิมพ์เผยแพร่ด้วยนั้น ผมมองว่าเป็นการปฏิบัติที่ผิดเจตนารมณ์ของ พรบ.ส.ส.ท. เองที่กำหนดให้มีการประเมินภายนอกครับ”

ครั้งนี้คุณ PeddWorapojWongkitrungruangมาตอบ ดร.วิโรจน์ เป็นภาษาอังกฤษ ว่า I did not know that TPBS did not allow u to publish the paper kub. In this case, I agree with u kub that TPBS should not do that kub. (ผมไม่ทราบว่า TPBS ไม่ยอมให้คุณเผยแพร่รายงานชิ้นนี้ครับ ในกรณีนี้ ผมเห็นด้วยกับคุณครับว่า TPBS ไม่ควรทำแบบนี้ครับ/ แปลเป็นภาษาไทยโดยผู้เขียน)

ต่อจากนั้น ในโพสต์ต่อๆมา ดร.วิโรจน์  ณ ระนองได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวรายงานการประเมิน TPBS ฉบับที่ “ไม่ได้รับการยอมรับ” ไว้ดังนี้

VirojNaRanongผมเคยพูดที่ TPBS ในช่วงที่เรานำเสนอรายงานความก้าวหน้า (ซึ่งมีบางท่านเป็นห่วงว่าถ้ารายงานบทที่ 3 ออกไปในแบบนั้นจะถูกนักการเมืองเอาไปใช้ล้ม TPBS ได้)ว่า เราขออิสระในการเสนอเนื้อหาของรายงาน แต่ถ้ามีใครนำรายงานฉบับนี้มาอ้างเพื่อเสนอยุบทีวีช่องนี้ ผมขอสัญญาว่าตัวผมเองจะเป็นแนวหน้าที่จะออกมาขวาง (เพราะที่รับงานนี้ก็เพราะอยากเห็นประเทศไทยมีทีวีสาธารณะที่ทำหน้าที่ที่เห็นว่าควรจะเป็น) แต่ไม่เคยคิดหรือคาดเลยว่าจะมาเจอการห้ามเผยแพร่จากทาง TPBS เองตั้งแต่ต้น แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผมก็ยังขอยืนยันว่าผมจะยังยินดีสู้เพื่อการมีทีวีและสื่อสาธารณะอื่นๆ ต่อไป แต่ก็เห็นว่าควรมีการเปลี่ยนแปลงบางด้านที่จะทำให้ TPBS accountable กับประชาชนและตัวแทนของประชาชนมากขึ้น ซึ่งผมจะหาเวลาทำเรื่องนี้เสนอต่อไป

VirojNaRanongTo be fair ผมได้อ่านรายงานการประเมินทั้งสามปี (คณะหมอวิพุธปีแรก และคณะ อ.ปัทมาวดีปี 3 และได้รับมอบหมายให้ทำต่อสำหรับปีที่ 4) แล้ว มองเห็นจุดร่วมมากกว่าจุดต่างนะครับ (จุดต่างหลักๆ ของชุดผมก็คงเป็นเรื่องความเป็นอิสระ/กลาง/มืออาชีพ และการศึกษาในกลุ่มชุมชนรายได้น้อย ซึ่งเป็นสองเรื่องหลักที่ผมเลือกเป็น highlightสำหรับการประเมินในปีที่สอง) ความต่างอีกอีกส่วนหนึ่งอยู่ในเรื่อง methodology ซึ่ง กก และผู้ทรงคุณวุฒิบางท่านมองต่างจากผม และต้องการให้เราให้ความสนใจกับกลุ่มชนชั้นกลางและข้อมูลจากสภาผู้ชมและศูนย์เพื่อนทีวีไทยเป็นหลัก ซึ่งผู้ประเมินบางชุดก็นำข้อมูลเหล่านี้มาเสนอในเรื่องของความน่าเชื่อถือของข่าว/รายการด้วย ในขณะที่ผมก็ดูข้อมูลพวกนั้นมาประกอบเหมือนกันแต่ไม่คิด(หรือถือ)ว่าเป็นตัวแทนของผู้ชมหรือกลุ่มเป้าหมาย เพราะข้อมูลเหล่านี้มีปัญหา selection bias ใน nature ของตัวมันเอง (อย่างเช่น ถ้าเราเชื่ออย่างจริงจังว่าว่า คห ของคนที่ส่งเข้ามาเป็นตัวแทนของผู้ชมหรือประชาชน เราก็ควรจะไล่ผู้บริหารออกหมดหลังเหตุการณ์เปิดเพลงจิตรภูมิศักดิ์ในวันที่ 5 พค)

คุณ PeddWorapojWongkitrungruang เข้ามาโพสต์ต่อดังนี้

“ผมต้องขอโทษพี่ศิโรตม์ที่เข้าใจผิดคิดไปว่าสิ่งที่ถูกห้ามเผยแพร่ที่ถูกพูดถึงในรายการหมายถึงเนื้อหาที่ทางทีมประเมินตกลงกัน (ไม่ใช่การแทรกแซงของกรรมการนโยบายฯ ทีวีไทย) เพราะไม่เคยคิดว่าทีวีไทยจะห้ามเผยแพร่รายงานฉบับที่ต้องชี้แจงต่อสภาฯ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทีวีไทยระยะยาวอย่างแน่นอน ... ผมคิดว่ารายงานประเมินฯ ฉบับนั้นมีปัญหาเรื่องระเบียบวิธีวิจัยในบางส่วน เราอาจบอกได้บอกว่างานประเมินไม่ใช่งานวิชาการที่ต้องเข้มแข็งอะไรมากมาย แต่ในภาวะที่อะไรๆ ในเมืองไทยถูก politicized ไปหมด การสรุปความเห็นโดยอิงจากการพูดคุยกับคนกลุ่มหนึ่งหรือการดูเทปรายการแค่ส่วนหนึ่ง (ผมคิดว่าถ้าจะวิเคราะห์เนื้อหา ก็ต้องทำ content analysis ที่เป็นระบบ ทำ codebook อย่างชัดเจน หรือถ้าจะดู outcome เราก็ต้องทำ survey อย่างเป็นระบบ - ซึ่งอันนี้ผมว่าอยู่นอกเหนือขอบเขตที่เราจะทำได้) ย่อมสุ่มเสี่ยงทั้งต่อความเข้มแข็งของตัวงานและการถูกใช้เป็นเครื่องมือขยายผลทางการเมือง

ท้ายสุด VirojNaRanongเข้ามาโพสต์ปิดท้ายการสนทนาโดยเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าไปอ่านรายงานชิ้นนี้ แล้วตัดสินดูครับ (ทั้งในด้านระเบียบวิธีวิจัย ในด้านวิชาการ หรือในด้านอื่นๆ) (ดูรายงานฉบับเต็มได้ที่ http://www.tdri.or.th/th/php/projectdetail.php?l=2&n=1637 กด F)


รายงานประเมินผลชิ้นนี้ ฉบับเต็มมีความหนา 259 หน้า มีชื่อเต็มว่า รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการประเมินผลการดำเนินงานประจำปี 2552(การประเมินภายนอก)องค์การกระจายเสียงและเผยแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยจัดทำในนาม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) นำเสนอเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 โดยคณะผู้จัดทำประกอบด้วย

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง              ประธานคณะกรรมการประเมินผลภายนอก

รศ.ดร.อัญชนา ณ ระนอง     กรรมการ

นันทิยา ตั้งวิสุทธิจิต              กรรมการ

อ.ปกป้อง จันวิทย์                 กรรมการ

สฤณี อาชวานันทกุล            กรรมการ

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง           นักวิจัยและผู้ประสานงาน

                การจัดทำรายงานการประเมินชิ้นนี้เกิดขึ้นโดย ดร.วิโรจน์ ได้รับการทาบทามจากนายแพทย์ พลเดช ปิ่นประทีป (หลังจากที่ทาง TPBS ได้ประกาศรับสมัครแต่ไม่มีผู้สมัครในเวลาที่กำหนดเอาไว้) และได้มีการต่อรองของบเพิ่มจาก1,000,000 เป็น 1,400,000 บาท โดยให้เหตุผลว่าTDRI ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานที่ได้งบจากรัฐเหมือนมหาวิทยาลัย ต้องหัก 30% จากทุกโครงการไว้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลางขององค์กร


สุภัตรา ภูมิประภาส รายงาน

 

 

เสียงท้วงติงและความเห็นจากคุณวรพจน์  (ผู้ถูกพาดพิงในรายงานชิ้นนี้)

 

เรียนคุณสุภัตรา ภูมิประภาส และ Media Inside Out

ข้าพเจ้า นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ผู้ถูกอ้างอิงถึงในการรายงานของคุณสุภัตรา ภูมิประภาส ในบทความ ห้ามเผยแพร่ “รายงานการประเมินผลงาน TPBS” ปัญหาคุณภาพหรือถูก politicized ข้อชี้แจงและวิจารณ์การรายงานของคุณสุภัตรา ภูมิประภาส รวมถึงองค์กร Media Inside Out ที่อ้างตนว่าจะมาจับตาสื่อ แต่รายงานชิ้นดังกล่าวชวนให้ตั้งข้อสงสัยถึงมาตรฐานคุณภาพการรายงานข่าวและจริยธรรมนักข่าวขององค์กรดังกล่าว

ประเด็นแรกคือ ข้อมูลที่คุณสุภัตรา ภูมิประภาส ใช้อ้างอิงนั้น ได้นำมาจาก Facebook โดยไม่มีการขออนุญาตข้าพเจ้าซึ่งถูกอ้างอิงในรายงาน แม้เราจะยอมรับว่า เส้นแบ่งระหว่างความเป็นส่วนตัวและความเป็นสาธารณะนั้น ไม่อาจทำได้อย่างชัดเจนในโลกออนไลน์ แต่สื่อมวลชนที่ดี (ไม่ใช้สื่อมวลชนที่ใช้วาระของตนนำข่าว) ย่อมตระหนักว่าการพูดคุยใน Facebook นั้น ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ครบถ้วนสมบูรณ์ และบริบทการพูดคุยใน Facebook และบริบทในการรายงานข่าวในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ ย่อมส่งผลต่อตัวข้อความ (texts) ซึ่งให้ความหมายที่แตกต่างกัน (หากคุณสุภัตราเคยศึกษาเรื่องวาทกรรมบ้าง ก็จะเข้าใจในประเด็นนี้ได้อย่างดี) ตัวอย่างที่ดีคือ การที่คุณสุภัตราอ้างถึงข้อความที่ข้าพเจ้าส่งไปให้กับคุณสฤณีและคุณปกป้องว่า “โดนซะแล้ว คุณสฤณีและคุณปกป้อง” นั้นเป็นข้อความที่ข้าพเจ้าส่งให้กับเพื่อน หาใช่ข้อความที่ข้าพเจ้าต้องการสื่อกับสาธารณะ ซึ่งในบริบทดังกล่าว ทำให้ข้าพเจ้ามีสิทธิ์ในการยกเว้นไม่พูดอะไรอีกมากมาย ที่ข้าพเจ้าและเพื่อนของข้าพเจ้าเข้าใจกันเอง แต่หากสาธารณะมาอ่าน ก็อาจเข้าใจผิดได้

ข้าพเจ้าคิดว่า สิ่งที่คุณสุภัตราทำถือเป็นการล่วงล้ำพื้นที่ส่วนตัวของข้าพเจ้า โดยไม่ได้มีการขออนุญาต หรือหากคุณสุภัตราต้องการรายงานวิวาทะดังกล่าวในพื้นที่สาธารณะ คุณสุภัตราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับทางผู้ถูกอ้างอิง ไม่ใช่ทำตัวเป็นนักข่าวที่ตัดแปะข้อความที่ปรากฏใน Facebook อย่างง่ายดาย และใช้เพียงแค่การพาดหัวเพื่อเพิ่มความหวือหวาของการรายงาน

ประเด็นที่สองเกี่ยวข้องกับการร้อยเรียงเนื้อหาที่ปรากฏในการรายงาน การพูดคุยใน Facebook นั้น เป็นการพูดคุยที่เกิดขึ้นตามเวลาจริง ซึ่งผู้เกี่ยวข้องย่อมอ่านข้อความและมีปฏิสัมพันธ์กับข้อความตามบริบทที่ต่างกัน ข้อความที่ปรากฏใน Facebook ของข้าพเจ้า หากอ่านให้ดีจะเห็นว่า ข้าพเจ้าได้ทำการขอโทษคุณศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ในภายหลังที่เข้าใจผิดและคิดว่าเนื้อหารายงานการประเมินที่ไม่ได้รับการเผยแพร่ซึ่งถูกพูดถึงในรายการ Wake Up Thailand หมายถึงรายงานในส่วนที่ทีมประเมินได้ถกเถียงกันและคิดว่าระเบียบวิธีวิจัยยังไม่ดีพอที่จะนำไปสู่ข้อสรุปเช่นนั้น  การเข้าใจผิดนี้ส่งผลให้ข้าพเจ้าเขียนไปในข้อความแรกที่ปรากฏว่า คณะวิจัยหลายคนที่ถูกกล่าวถึงก็ไม่ได้ยอมรับให้มีการเผยแพร่งานชิ้นนี้ในนามของตนเช่นกัน (ขีดเส้นและเอียงในการรายงานของคุณสุภัตรา) ข้าพเจ้าได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวกับคุณศิโรตม์ และได้ขอโทษคุณศิโรตม์ผ่านทาง Facebook และอีเมลส่วนตัวแล้ว

ก่อนการเขียนรายงานชิ้นดังกล่าว คุณสุภัตราในฐานะผู้รายงานย่อมต้องอ่านข้อความทั้งหมดแล้ว และย่อมเข้าใจว่ามีการเข้าใจผิดเกิดขึ้น แต่คุณสุภัตราก็ยังเลือกใช้วิธีการรายงานตามเวลาที่ปรากฏใน Facebook มากกว่าจะแก้ไขความเข้าใจผิดนี้ในการรายงาน แถมยังใช้เครื่องมือทางวาทกรรมอื่นๆ เช่น การใช้ตัวทึบ การใช้ตัวเอียง และการขีดเส้นใต้ เพื่อชี้นำและตีกรอบข้อความดังกล่าว ไปในทางที่ข้าพเจ้าอดสงสัยไม่ได้ถึงจริยธรรมการรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมาและเป็นมืออาชีพ โดยปราศจากวาระชี้นำ

ประเด็นที่สามเป็นความกังวลของข้าพเจ้าที่มีต่อการทำงานของ Media Inside Out การมีองค์กรที่มุ่งจับตาการทำงานของสื่อย่อมเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับสังคมไทยในภาวะที่สื่อหลายแห่งขาดความเป็นมืออาชีพ และถูกอำนาจทุนและความขัดแย้งทางอุดมการณ์มากำหนดตัวข่าวซึ่งเป็นวาทกรรมสาธารณะ แต่ข้าพเจ้าหวังว่า การทำงานขององค์กรก็จะตั้งอยู่บนฐานของจริยธรรมและมาตรฐานที่สูงกว่าผู้ที่ตนอ้างว่าต้องการจับตาโดยไม่มีวาระซ่อนเร้น ยกระดับการรายงานข่าวที่ไปไกลกว่าวัฒนธรรมนินทา หรือการหยิบยกข้อความหรือเนื้อหาด้านเดียว ไม่ว่าจะเพื่อโจมตีหรือสนับสนุนใครหรืออุดมการณ์ตามวาระของตนเท่านั้น รวมถึงผลิตงานที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการซึ่งสร้างหลักยึดให้กับวิชาชีพสื่อ

ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า Media Inside Out จะเริ่มทำงานด้วยการ “ส่อง” มาตรฐานและจริยธรรมภายในของตนก่อน เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการตรวจสอบผู้อื่นต่อไป

ด้วยความเคารพ
วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง

 

เรียน คุณวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง

Media Inside Out นำเสนอรายงานของคุณสุภัตราด้วยเห็นว่าประเด็นดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ เจตนาที่จะเป็นพื้นที่เปิดกว้างแห่งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายต่อประเด็นการรู้ทันสื่อโดยเฉพาะในบ้านเราเป็นสำคัญ

กองบรรณาธิการเว็บไซด์ Media Inside Out ต้องขออภัยอย่างสูงสำหรับความผิดพลาดเกี่ยวข้องที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการไม่ได้ขออนุญาตผู้เขียนในการนำข้อความในเฟสบุ๊คมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ แม้จะเป็น “พื้นที่สีเทา” ซึ่งยังขาดการชัดเจนและ “ต้องการได้รับการแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวาง” ในหลายมิติรวมถึงมิติจริยธรรม

ในเบื้องต้น เราขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการเผยแพร่ข้อท้วงติงของคุณวรพจน์ผ่านพื้นที่เว็บไซด์ หากคุณวรพจน์มีข้อเสนออื่นใด หรือมีความเห็นแลกเปลี่ยนทั้งในเรื่องนี้และเรื่องเกี่ยวข้องอื่น เราก็จะยินดีเป็นอย่างยิ่ง

ขอแสดงความนับถือ

กองบรรณาธิการเว็บไซด์ Media Inside Out

 

 

 

ห้ามเผยแพร่ “รายงานการประเมินผลงานTPBS” ปัญหาคุณภาพงานวิจัยหรือถูก politicized?