Skip to main content

เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย เมื่อนักวิชาการเล่นบทพ่อครัวปรุงข้อมูล

ท่ามกลางความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ข้อมูลเบื้องหน้าเบื้องหลังนักการเมืองกระจัดกระจายบนพื้นที่สื่อทั้งใหม่และเก่า มีนักวิชาการกลุ่มเล็กๆ อึดอึดคับข้องกับข้อมูลที่การเมืองที่ผ่านจากมือสื่อสู่มือตน จึงได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย ด้วยความหวังลึกๆ ที่ยิ่งใหญ่ว่า ความพยายามของพวกเขาจะนำสู่การเปลี่ยนแปลงข้อมูลบนพื้นที่สื่อ ให้เป็นข้อมูลคุณภาพที่นำสังคมไทยสู่อุดมความรู้ มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ สนทนากับ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิจัยหลักของเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (Political Thailand Data Base) 

มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์: เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทยคืออะไร

อรรถสิทธิ์: เป็นการรวมตัวกันของนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่ต้องการจะสร้างฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตรวจสอบทางสังคมอย่างเป็นระบบ เป็นไปตามหลักวิชาการ เป็นกลาง และครอบคลุมประเด็นการตรวจสอบของภาครัฐ และ ภาคการเมือง

มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์: ขอทราบที่มาที่ไปของเครือข่ายค่ะ

อรรถสิทธิ์: เริ่มมาจากความวุ่นวายทางการเมือง เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว เวลาคนเถียงกันเรื่องการเมือง มันเป็นการเถียงกันด้วยอารมณ์มากกว่าที่จะใช้ข้อมูล ก็เลยมีความพยายามของนักวิชาการกลุ่มหนึ่งคิดว่า เอ๊ะ เรามาทำงานข้อมูลกันไหม ข้อมูลที่เวลาคนคุยกันเขาเอาไปใช้ได้ แล้วเราก็คิดต่อไปว่าข้อมูลอะไรบ้างที่คนจะเอามาคุยกันได้บ้าง ทำยังไงให้คนรู้ว่านโยบายอันนี้ดีอย่างไร ไม่ดีอย่างไร คนในสภา ใครทำงานเป็นอย่างไรบ้าง ใครตำแหน่งอะไร เราต้องการเห็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชนเป็นไปในลักษณะที่ประชาชนสามารถตรวจสอบการดำเนินการเชิงนโยบายของภาครัฐและการดำเนินงานทางการเมืองของนักการเมืองมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มากกว่าการตรวจสอบโดยใช้อารมณ์ ผมมองว่าการตรวจสอบจากภาคประชาชนในอดีตมีข้อจำกัดที่ในเรื่องการขาดข้อมูลเชิงประจักษ์ที่จำเป็น บ่อยครั้งปัญหาอยู่ที่การขาดความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล และหลายๆ ครั้ง ข้อมูลที่มีอยู่ไม่สมบูรณ์หรือขาดความต่อเนื่องในตัวข้อมูลทำให้ข้อมูลบางอย่างที่มีอยู่ไม่ครอบคลุม ครบถ้วน และรอบด้าน

            และด้วยความคิดที่ว่าการมีฐานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบที่สมบูรณ์และยั่งยืนจะสามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถและสมรรถนะของประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคมในการตรวจสอบภาครัฐและการเมืองได้อย่างมีคุณภาพ ระบบฐานข้อมูลทางการเมืองของเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทยจึงได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชน โดยเฉพาะด้านการตรวจสอบ

มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์: สมาชิกของเครือข่ายมีใครบ้าง

อรรถสิทธิ์: เครือข่ายที่มีอยู่ในขณะนี้จะเป็นองค์กรภาคประชาสังคม และ สถานศึกษาเป็นส่วนใหญ่ครับ

มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์: ในสังคมไทย เรามีสื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูลกับภาคประชาชน อาจารย์มองการทำงานของสื่อตรงนี้อย่างไร ประสิทธิภาพไม่พอที่จะให้ข้อมูลประชาชนหรือ

อรรถสิทธิ์: ไม่ใช่เรื่องของประสิทธิภาพสื่อ ผมว่าข้อมูลที่เรามีอยู่ในพื้นที่สังคมทั้งหมดมันไม่พอ มันขาด เราอาจมีข้อมูลไม่ครบถ้วน ข้อมูลบางอย่างหายไป สิ่งที่เราทำคือจะพยายามเอาข้อมูลที่หายไปจากพื้นที่สังคมมาใส่ให้กับสังคม บางครั้งอาจไม่ใช่ข้อมูลใหม่ อาจเป็นข้อมูลเก่าที่เรานำมาเสนอใหม่ให้ดูง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ปัจจุบันหากคนอยากดูข้อมูลของ สส. ในบ้านตัวเอง การเข้าไปที่เวบไซต์ของรัฐสภา อาจหาไม่เจอ เราแค่เอาข้อมูลตรงนี้มาจัดระบบใหม่ ให้เข้าถึงง่ายขึ้น  

ผมว่าสื่อเองก็ต้องการตัวช่วยในการหาข้อมูลในการนำมาประกอบการนำเสนอข่าวด้วยส่วนหนึ่งครับ เข้าใจว่าการทำงานที่ต้องแข่งกับเวลาของสื่อนี่ การมีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้เอาไว้อ้างอิงก็น่าจะช่วยให้การทำงานของสื่อได้มากขึ้น สื่อเองทราบอยู่แล้วว่าต้องการข้อมูลอะไร แต่คิดว่าข้อมูลบางอย่างอาจจะต้องใช้เวลาหาเพิ่มเติม การมีหน่วยจัดเก็บข้อมูลแบบ TPD จะทำให้สื่อทำงานได้เร็ว และเราก็ได้มองและวางหน้าที่ของตัวเองไว้อย่างนั้นด้วยครับ ดังนั้น หากสื่อต้องการข้อมูลอะไรลองทำมาที่เราก่อนได้นะครับ เพราะเราอาจมีการรวบรวมไว้ อาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่ต้องการนำเสนอ แต่เราก็ยินดีครับ

มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์: อันที่จริงมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์กับเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทยของอาจารย์กำลังมีโครงการความร่วมมือกัน เพื่อให้ข้อมูลเดินทางถึงมือนักข่าวได้มากขึ้น อยากให้อาจารย์พูดถึงความร่วมมือตรงนี้ค่ะ

อรรถสิทธิ์: การร่วมมือกับทางมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของเรา ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของการทำงานโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มแรกครับ คือ การสร้าง "เครือข่าย" ที่จะทำงานร่วมกัน อย่างที่บอกไปว่า TPD เป็นคนทำข้อมูล การที่ข้อมูลจะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อ มันได้ถูกนำไปใช้จริงๆ ดังนั้น การร่วมมือกับมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานกับสื่อมวลชน จึงเป็นเหมือนกับการเพิ่มช่องทางให้ข้อมูลได้ถูกนำไปใช้ได้อีกทางหนึ่งครับ

มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์: TPD วางบทบาทตัวเองเป็นฐานข้อมูลที่สนับสนุนการทำงานของสื่อด้วย

อรรถสิทธิ์: เราอยากให้สื่อเอาข้อมูลข้องเราไปใช้ เราวางบทบาทของเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทยและเวบไซต์ของเรา www.tpd.in.th ว่าเราจะไม่เป็นเพียงผู้นำเสนอข้อมูลเพียงบทบาทเดียว แต่เราเปรียบเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย ซึ่งคือตัวองค์กรให้เป็นเสมือน “พ่อครัว” หรือ “ผู้ปรุง” ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ได้จำกัดการปรุงจากการคัดสรรวัตถุดิบเพื่อปรุงจากตัวผู้ปรุงเองเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ “ผู้บริโภค” ได้สั่งอาหารที่ “ตามสั่ง” ได้อีกด้วย กล่าวในอีกแง่หนึ่งคือ เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทยมีความยินดีที่จะปรุงข้อมูลตามสั่งที่อยู่นอกเมนูได้

 

                                                                                                                              ที่ www.tpd.in.th ข้อมูลการเมืองรอบด้านกำลังรอทุกคนที่สนใจอยู่

 

มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์: สื่อสั่ง TPD ได้ว่าอยากได้ข้อมูลแบบไหนมาประกอบการเขียนเรื่อง

อรรถสิทธิ์: ครับ

มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์: อยากให้อาจารย์พูดถึงโครงสร้างของฐานข้อมูล

อรรถสิทธิ์: www.tpd.in.th หลักๆ ประกอบด้วย 5 ฐานข้อมูล คือ 1.ฐานข้อมูลนักการเมือง อันนี้เราเก็บข้อมูลนักการเมืองรายบุคคลเลย ภูมิหลังการศึกษา อาชีพก่อนเข้าสู่การเมือง รวมถึงพฤติกรรมในสภา 2. ฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรมการและผู้บริหารระดับสูงในองค์กรอิสระและรัฐวิสาหกิน 3.ฐานข้อมูลพรรคการเมือง ประกอบด้วย ประวัติพรรค รายชื่อผู้บริหาร รายชื่อกรรมการบริหาร จำนวนสาขา เงินสนับสนุนพรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรรจาก กกต. เป็นต้น 4. ฐานข้อมูลคณะรัฐมนตรีและมติคณะรัฐมนตรี และสุดท้าย ฐานข้อมูลภูมิศาสตร์ทางการเมือง ซึ่งเป็นการทำฐานข้อมูลแล้วนำไปวางในระบบภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) ข้อมูลที่จะมีในส่วนนี้ เช่น เขตเลือกตั้ง สถิติการเลือกตั้ง ข้อมูลทางเศรษฐกิจ และสังคม นอกจากการจัดทำฐานข้อมูลเหล่านี้แล้ว ในเวปไซต์ยังจะจัดทำข้อมูลและการจับประเด็นที่เป็นที่สนใจในทางการเมืองที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้น เช่น ประเด็นคอร์รัปชั่น ประเด็นนโยบายสาธารณะ ประเด็นการเมืองทั้งในและนอกสภา เป็นต้น โดยการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้จะมีทั้งในรูปของบทความเชิงความคิดเห็น บทความเชิงข้อมูล หรือ การนำเสนอผ่าน infographic ซึ่งจะดึงดูดความสนใจของผู้อ่านได้มากขึ้น

 

                                  อินโฟกราฟฟิกที่นำเสนอใน ww.tpd.in.th

มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์:  แหล่งข้อมูลของ TPD อยู่ที่ไหน 

อรรถสิทธิ์: เป็นแหล่งข้อมูลปฐมภูมิเลย เช่น หากเราอยากได้ข้อมูลของ สส. สว. เราก็ไปที่สภา หรือข้อมูลของรัฐวิสาหกิจ เราก็ไปที่หน่วยงายนั้นๆ ขอรายงานประจำปีมา และก็มีที่เราส่งคนไปสังภาษณ์เก็บข้อมูลจากตัวบุคคลเอง แล้วเราก็มีเครือข่าภาคประชาสังคมหลายๆ องค์กร เช่น มูลนิธิของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา หรือ องค์กรของคุณวีระ สมความคิด ก็จะเป็นแหล่งข้อมูลด้านคอร์รัปชั่น แต่หลักๆ แล้วทีมงานของ TPD จะเก็บข้อมูลเองเป็นหลัก

มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์: แหล่งทุนในการทำงานมาจากไหน

อรรถสิทธิ์: เป็นองค์กรภาครัฐที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เดือนตุลาคมนี้ กำลังจะหมดเฟสแรก เราได้งบประมาณมาเพื่อทำฐานข้อมูล ซึ่งจริงๆ ควรจะเสร็จเมื่อประมาณปีกว่าที่ผ่านมาแล้ว แต่เราทำไม่ทัน พอขึ้นเฟสสอง เราจะปรับองค์กรใหม่เปลี่ยนจากเครือข่ายฐานข้อมูลการเมืองไทยมาเป็นมูลนิธิตาสว่าง หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Inside Foundation หรือ Info ตอนนี้เราได้จดทะเบียนมูลนิธิแล้ว มีเวบไซต์ของมูลนิธิคือ www.info.or.th ซึ่งจะขยายบทบาทของเราออกไปอีก TPD จะเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิตาสว่าง ทำหน้าที่เป็นฐานข้อมูลเพียงอย่างเดียว

มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์: กลุ่มเป้าหมายในการทำงานตรงนี้นอกจากสื่อแล้วเป็นใคร

อรรถสิทธิ์: ประชาชนทั่วไปที่อยากรู้เรื่องต่างๆ ที่เป็นกระแส อยากรู้ที่มาที่ไป ทำไมถึงมีการตัดสินใจทางการเมืองแบบนี้เกิดขึ้น เรานำเสนอข้อมูลแล้วให้คนนำไปคิดต่อ

มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์: คาดหวังถึงสังคมแบบไหนในการทำงานของ TPD

อรรถสิทธิ์: อยากเห็นเราเป็นสังคมอุดมปัญญา สังคมที่เวลาถกเถียงหรือแสดงความเห็นจะใช้ข้อมูลที่เป็น fact เป็นสถิติ เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ เราต้องออกจากการที่ถกเถียงกันที่เต็มไปด้วยความเห็น เพราะชั้นชอบเขา ชั้นไม่ชอบเขา แต่ไม่มีข้อมูลเชิงประจักษณ์มาสนับสนุน บางทีเราเห็น สส. บางคนมีภาพลักษณ์ดี แต่ไม่เคยเข้าสภา ไม่เคยโหวตอะไรเลย อยากให้สังคมมองให้เห็นความจริงว่าภาพลักษณ์ที่ดีกับการทำหน้าที่ที่ดีบางครั้งมันอาจเดินสวนทางกัน ข้อมูลพวกนี้จะช่วยทำให้การแสดงความเห็นของประชาชนมีความรอบด้านมากขึ้น

 

เมื่อนักวิชาการเล่นบทพ่อครัวปรุงข้อมูล