Skip to main content

เรื่อง: พรรษาสิริ กุหลาบ
กราฟิก: ทัตเทพ ดีสุคนธ์

 

หากไม่มีข่าวเรื่องการต่ออายุ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” เป็นช่วงๆ เราคงไม่ทันคิดว่ากฎหมายที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของคนไทยเกือบทั้งปี 2563 เป็นกฎหมายสำหรับสถานการณ์ไม่ปรกติ

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์ที่ชวนให้จดจำในปี 2563 อย่างการระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศและทั่วโลกก็เป็นเรื่องไม่ปรกติจริงๆ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่ากฎหมายฉบับนี้ถูกนำมาใช้อย่างเข้มงวดเพื่อปราบปรามการชุมนุมที่นำโดยเยาวชนซึ่งมีความเข้มข้นในช่วงเดือนตุลาคมด้วย

บทความนี้จึงขอประมวลการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในปี 2563 โดยสังเขป เพราะสถานการณ์ที่รัฐมองว่าต้องควบคุม ทั้งการระบาดของโควิด-19 และการเคลื่อนไหวทางการเมืองมีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปในปี 2564 เช่นกัน

การจัดการพื้นที่สื่อสารช่วงโควิด-19 เริ่มระบาด

รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563[1] เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 หลังการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยเมื่อปลายเดือนมกราคมและจำนวนผู้ติดเชื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้น

หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตต่อข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 1[2] ว่ามีผลต่อสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพราะแม้ว่าข้อกำหนดเหล่านี้จะสอดคล้องกับแนวทางป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 แต่ก็ประกาศใช้ในช่วงที่รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์และไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอย่างเต็มที่

สำหรับข้อกำหนดข้อ 5 เรื่องห้ามการชุมนุม ซึ่งระบุว่าห้ามมิให้มีการชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยนั้น แม้จะเป็นไปตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส แต่ก็มีผลต่อการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบของนักศึกษาและเยาวชนตามสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมาหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่

ส่วนข้อกำหนดข้อ 6 เรื่องการเสนอข่าว ระบุว่า ห้ามการเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ ซึ่งมีข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งไม่เป็นความจริงและอาจทำให้ประชาชนหวาดกลัว รวมถึงเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พร้อมทั้งระบุว่า เจ้าหน้าที่สามารถเตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าว หรือในกรณีที่มีผลกระทบรุนแรง ก็สามารถดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ 2550 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ด้วย

ก่อนหน้าการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน สื่อมวลชนรายงานช่วงต้นเดือนมีนาคมว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศได้ดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นว่าเผยแพร่ข้อมูลเท็จ หรือ “ข่าวปลอม” เกี่ยวกับโควิด-19 ทางอินเทอร์เน็ตอย่างน้อย 12 กรณี และเมื่อมีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พบว่ามีรายงานผู้ถูกดำเนินคดีจากการเผยแพร่ข้อมูลเท็จอีกอย่างน้อย 23 กรณี โดยมีการแถลงข่าวเป็นระยะๆ ในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และกันยายน[3]

 

 

การปิดกั้นสื่อช่วงการชุมนุมทางการเมืองเข้มข้น

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 คณะประชาชนปลดแอกกับแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเป็นผู้นำประชาชนในการชุมนุมและเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในช่วงบ่ายไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล และปักหลักชุมนุมอยู่รอบทำเนียบฯ ก่อนจะประกาศยุติการชุมนุมประมาณตี 2 ของวันที่ 15 ตุลาคม โดยมีสื่อมวลชนทั้งจากไทยและต่างประเทศเกาะติดรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

แม้จะมีรายงานว่าการเดินขบวนจะเป็นไปอย่างสงบและไม่มีเหตุปะทะรุนแรง แต่เหตุการณ์ที่นำไปสู่การประกาศใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดคือการกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ซึ่งเคลื่อนผ่านถนนพิษณุโลก บริเวณหน้าทำเนียบฯ เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. และมีภาพผู้ชุมนุมบางส่วนแสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้วเมื่อขบวนเสด็จฯ ผ่าน หลังเหตุการณ์ดังกล่าว รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลได้แถลงร่วมกันว่าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง ละเมิดสิทธิของประชาชน ชุมนุมในพื้นที่หวงห้าม และขัดขวางขบวนเสด็จฯ[4]

ประมาณ 04.00 น. ของวันที่ 15 ตุลาคม รัฐบาลจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินท่ีมีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โดยมีข้อกำหนดห้ามการชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปหรือกระทำการใดๆ ที่ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย[5]

ข้อกำหนดข้อ 2 ของประกาศนี้ยัง “ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมตลอดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร”

 

 

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียเริ่มตั้งข้อสังเกตในวันที่ 15 ตุลาคมว่า หน้าจอของสถานีโทรทัศน์ช่องข่าวต่างประเทศ ได้แก่ BBC, CNN และ DW ที่แพร่ภาพผ่านทรูวิชั่นส์กลายเป็น “จอขาว” หรือถูกตัดสัญญาณในช่วงที่เป็นการรายงานสถานการณ์การชุมนุมในไทย รวมทั้งมีการปิดตัวอักษรกราฟิกรายงานสถานการณ์ที่ขึ้นอยู่ด้านล่างจอ หรือ “ตัววิ่ง” ของ Al Jazeera ทางทรูวิชั่นส์ด้วย[6]

ประมาณ 19.00 น. สื่อมวลชนไทยรายงานว่า แพลตฟอร์มการรณรงค์ออนไลน์ change.org ถูกปิดกั้นการเข้าถึงโดยกระทรวงดีอีเอส โดยระบุว่าเนื้อหาถูกระงับเนื่องจากมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 และ/หรือเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน 2478 บีบีซีไทยรายงานในวันต่อมาว่า นักศึกษาปริญญาโทชาวไทยในฝรั่งเศสคนหนึ่งได้สร้างแคมเปญออนไลน์ 3 ภาษา (ไทย อังกฤษ และเยอรมัน) บนแพลตฟอร์มเพื่อให้ผู้คนมาร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องให้ทางการเยอรมนีพิจารณาเกี่ยวกับการประทับในประเทศของพระมหากษัตริย์ไทยในช่วงค่ำวันที่ 14 ตุลาคม ผู้ตั้งกระทู้จึงตั้งข้อสังเกตว่าเว็บไซต์ถูกปิดกั้นหลังการเริ่มแคมเปญไม่ถึง 24 ชั่วโมง[7]

เช้าวันที่ 19 ตุลาคม สื่อมวลชนหลายสำนักเผยแพร่เอกสารคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 16 ตุลาคม เรื่องให้ตรวจสอบและระงับการออกอากาศรายการฯ ที่มีเนื้อหาขัดกับข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยระบุชื่อสถานีโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ที่นำเสนอเนื้อหาบางส่วนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ 5 แห่ง ได้แก่ วอยซ์ทีวี ประชาไท เดอะรีพอร์ตเตอร์ส (The Reporters) เดอะสแตนดาร์ด (The Standard) และเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มเยาวชนปลดแอกหรือ Free Youth[8] ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าองค์กรสื่อและเพจเฟซบุ๊กเหล่านี้รายงานและถ่ายทอดสดการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนอย่างต่อเนื่อง

คำสั่งดังกล่าวมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดีอีเอส ตรวจสอบสื่อดังกล่าวและให้ระงับการออกอากาศรายการหรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์แล้วแต่กรณี

สื่อมวลชนยังรายงานว่าพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีกระทรวงดีอีเอส ให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันว่า ได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงฯ แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่ผิดกฎหมายราว 300,000 ราย รวมถึงสำนักข่าวหรือเพจที่มีเนื้อหาเข้าข่ายผิดกฎหมายด้วย

ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยแพร่เอกสารเอกสารประทับตรา "ลับมาก" และ "ด่วนที่สุด" ลงวันที่ 19 ตุลาคมและลงนามโดยภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวง ปฏิบัติราชการแทน ปลัดกระทรวงดีอีเอส ส่งถึงเลขาธิการ กสทช. ให้ดำเนินการแจ้งให้ผู้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือทุกบริษัทระงับการใช้แอปพลิเคชันเทเลแกรม (Telegram) ซึ่งเป็นช่องทางที่กลุ่มผู้ชุมนุมเพิ่งมาเปิดเพื่อใช้นัดหมายและแจ้งข่าวสารต่อกัน หลังจากมีข่าวว่ารัฐอาจสั่งปิดกั้นช่องทางออนไลน์ที่ใช้สื่อสารกันก่อนหน้านี้

ข่าวการตรวจสอบและระงับสื่อออนไลน์ รวมถึงแอปพลิเคชันเทเลแกรมในวันที่ 19 ตุลาคม ทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียพากันส่งเสียงคัดค้านการปิดกั้นสื่อและช่องทางการสื่อสารผ่านแฮชแท็ก #Saveสื่อเสรี หลังจากนั้น กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) จึงแถลงว่ายังไม่มีการปิดสื่อ และระบุว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการสั่งให้พิจารณาเนื้อหาเฉพาะเรื่องหรือช่วงเวลา ขณะที่รองปลัดกระทรวงดีอีเอสแถลงว่า กระทรวงได้ส่งหลักฐานเป็นเนื้อหาของสื่อเหล่านี้ให้ศาลอาญาพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ฐานนำเข้าข้อมูลเท็จ และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง พร้อมทั้งระบุว่าศาลมีคำสั่งให้ระงับทุกแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ของวอยซ์ทีวีแล้ว

รองปลัดกระทรวงดีอีเอสยังชี้แจงว่า กระทรวงมีคำสั่งให้ระงับบริการบัญชีผู้ใช้เทเลแกรมจำนวน 4 บัญชี ขณะที่รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติชี้แจงว่าได้ประสานกับกระทรวงดีอีเอสให้ระงับบัญชีผู้ใช้ 58 บัญชีทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ รวมถึงเว็บไซต์ที่ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินเนื่องจากส่งต่อข้อมูลเท็จและชักชวนให้ไปทำลายทรัพย์สินราชการหรือเอกชนซึ่งถือเป็นการยุยงปลุกปั่น

ในวันเดียวกัน สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กของสำนักพิมพ์ว่า เมื่อเวลา 13.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายศาลจังหวัดนนทบุรีมาตรวจสำนักงานและยึดหนังสือ 3 เล่มไปตรวจสอบว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือไม่ ได้แก่ 1) ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง เขียนโดย ธงชัย วินิจจะกูล 2) ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี เขียนโดย ณัฐพล ใจจริงและ 3) ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ โดยณัฐพล ใจจริง[9]

ในวันที่ 20 ตุลาคม รองปลัดกระทรวงดีอีเอสแถลงว่า ศาลอาญามีคำสั่งให้ระงับการออกอากาศของวอยซ์ทีวีทางช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มเนื่องจากพบว่าเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฐานนำเข้าข้อมูลเท็จและฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า กอร.ฉ. ส่วนอีก 4 เพจอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล จากนั้นในวันที่ 21 ตุลาคม รองปลัดกระทรวงดีอีเอสแถลงอีกว่า ศาลอาญามีคำสั่งปิดช่องทางออนไลน์ทุกช่องทางของกลุ่มเยาวชนปลดแอกแล้ว หลังเห็นว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนองค์กรสื่ออีก 3 แห่ง คือ ประชาไท เดอะรีพอร์ตเตอร์ส และเดอะสแตนดาร์ด ไม่พบหลักฐานที่เข้าข่ายผิดกฎหมายซึ่งต้องเสนอให้ศาลสั่งปิด[10]

อย่างไรก็ตาม ในเวลา 14.00 น. ของวันที่ 21 ตุลาคม ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ได้ยกเลิกคำสั่งศาลปิดช่องทางออนไลน์ของวอยซ์ทีวีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม หลังการไต่สวนคำสั่งดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญห้ามรัฐปิดสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร รวมถึงต้องรับรองเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกัน ดังนั้น การตีความพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ[11]

ศาลยังชี้ว่าคำร้องที่กระทรวงดีอีเอสเสนอให้ศาลระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ไม่ชัดเจน เนื่องจากเป็นการขอให้ปิดช่องทางออนไลน์ทุกช่องทางขององค์กรสื่อและกลุ่มเยาวชนปลดแอก แต่ศาลเข้าใจว่าเป็นการปิดกั้นเฉพาะเนื้อหาบางส่วน คำร้องที่ไม่ชัดเจนดังกล่าวทำให้ศาลไม่รู้ข้อเท็จจริง คำสั่งศาลก่อนหน้านี้จึงไม่ถูกต้องและให้ยกเลิกคำสั่ง

จากนั้น ในวันที่ 22 ตุลาคม รัฐบาลจึงประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ รวมถึงประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง[12]

การต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินกับการห้ามชุมนุม

ปลายเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลประกาศต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นครั้งที่ 8 ไปจนถึง 15 มกราคม 2564 หลังมีรายงานว่าพบผู้ป่วยโควิดซึ่งเป็นคนไทยที่ไปทำงานในจังหวัดชายแดนของพม่าลักลอบกลับเข้าประเทศโดยไม่ได้กักตัว หลังจากนั้น กลางเดือนธันวาคม มีรายงานพบผู้ติดเชื้อกลุ่มใหญ่จากตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากการลักลอบนำแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาโดยผิดกฎหมาย ทำให้แรงงานไม่ได้ผ่านการตรวจคัดกรองและกักตัวก่อน รวมถึงมีผู้ติดเชื้ออีก 36 คนจากบ่อนการพนันในจังหวัดระยองระหว่างวันที่ 24-26 ธันวาคม

รัฐบาลจึงได้ออกข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินเพิ่มเติมเป็นฉบับที่ 15 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม แม้ข้อกำหนดฉบับนี้จะไม่มีข้อห้ามเรื่องการนำเสนอข่าวเหมือนฉบับแรก แต่ก็ยังคงห้ามการชุมนุม ทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกันในสถานที่แออัด หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย[13]

การประกาศข้อกำหนดดังกล่าวมีผลต่อการจัดกิจกรรมของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองทันที เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีชนะสงครามได้ควบคุมตัวปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ และสมาชิกกลุ่มการ์ดอาสา We Volunteer หรือ WeVo รวม 16 คน ซึ่งมาจัดกิจกรรมขายกุ้งที่สนามหลวงและบริเวณถนนราชดำเนินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถจำหน่ายกุ้งได้หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 อีกระลอก โดยตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินและผิดพ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 เนื่องจากจัดกิจกรรมที่เข้าข่ายยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค และอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงผิดพ.ร.บ.ควบคุมโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง 2493 เนื่องจากใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต[14]

หลังจากนั้น ปิยรัฐและสมาชิกกลุ่ม WeVo จึงถูกส่งตัวไปสอบสวนที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ปทุมธานี ขณะที่เยาวชนอายุ 17 ปี 2 คนที่ถูกคุมตัวด้วยถูกส่งไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในวันขึ้นปีใหม่ ก่อนศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวและมารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ส่วนปิยรัฐและสมาชิกกลุ่มการ์ดอาสาที่เหลือนั้น ศาลแขวงดุสิตอนุญาตให้ประกันตัวเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2564

เมื่อ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” กลายเป็นสถานการณ์ปรกติ?

การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในปี 2563 แม้ในวันสุดท้ายของปีที่ประมวลมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การใช้กฎหมายที่อ้างว่ามุ่งควบคุมการระบาดของโรคติดต่อและรักษา “ความสงบ” ในสังคม มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชนอย่างเด่นชัด ขณะที่ประสิทธิภาพในการควบคุมสถานการณ์ระบาดและการคลี่คลายความขัดแย้งกลับยังไม่ปรากฏชัดเจน

เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า การบังคับใช้กฎหมายเพื่อปิดกั้นสื่อมวลชนและช่องทางการสื่อสารในช่วงที่ไม่มีรายงานการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ จะถูกคัดค้านอย่างกว้างขวางจากสาธารณะและไม่ได้รับความชอบธรรม ทว่าเมื่อเกิดการระบาดอีกระลอก โอกาสที่พ.ร.บ.ฉุกเฉินและกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะถูกนำมาใช้และอ้างความชอบธรรมก็มีสูงขึ้นในช่วงที่ปลอดการระบาด แม้รัฐจะยังไม่สามารถจัดการทั้งการระบาดและความขัดแย้งในประเด็นอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจทำให้ความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลขยายวงกว้างยิ่งขึ้น

การจับตาการใช้กฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างไม่สมเหตุสมผลและเป็นธรรมจึงเป็นภารกิจสำคัญของประชาชนในปีนี้ ไม่ต่างจากการเฝ้าระวังและป้องกันโรคระบาด เพื่อรักษากระบวนการประชาธิปไตยและความมั่นคงของสังคมไทยในระยะยาว.


อ้างอิง:

[1] (1) ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 25 มีนาคม 2563

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/069/T_0001.PDF

[2] (2) ข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 1

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/069/T_0010.PDF

[4] (4) ตำรวจแถลงเรื่องการชุมนุม 14 ตุลาคม 2563

https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/134920

[5] (5) ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินท่ีมีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดฯ 15 ตุลาคม 2563

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/241/T_0001.PDF

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/241/T_0004.PDF

[6] (6) การปิดกั้นสัญญาณของสถานีโทรทัศน์ช่องข่าวต่างประเทศ

https://twitter.com/8td/status/1316593771820118017?s=20

https://twitter.com/JohnNatadee/status/1317494241346473984

[7] (7) การปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ change.org

https://thestandard.co/change-org-being-block-by-des/

https://www.bbc.com/thai/54564412

[8] (8) การตรวจสอบและระงับการออกอากาศสื่อ 5 แห่ง บัญชีผู้ใช้โซเชียลมีเดีย และแอปพลิเคชันเทเลแกรม

https://www.bbc.com/thai/thailand-54596577

https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG201020131841627

https://news.thaipbs.or.th/content/297555

[9] (9) ตำรวจตรวจสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันและยึดหนังสือ

https://www.facebook.com/sameskybook/photos/a.187187827996951/3280444632004573/?type=3&theater

https://www.facebook.com/sameskybook/photos/a.187187827996951/3283995024982867/?type=3&theater

[10] (10) กระทรวงดีอีเอสแถลงว่าศาลอาญามีคำสั่งให้ระงับการออกอากาศของวอยซ์ทีวี และช่องทางออนไลน์ของเยาวชนปลดแอก

https://ch3thailandnews.bectero.com/news/213981

https://www.matichon.co.th/local/crime/news_2404851

https://www.prachachat.net/breaking-news/news-541787

[11] (11) ศาลอาญายกคำร้องปิดช่องทางออนไลน์ของ 4 องค์กรสื่อและเพจเยาวชนปลดแอก

https://www.matichon.co.th/politics/news_2405923

[12] (12) ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง 22 ตุลาคม 2563

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/248/T_0001.PDF

[13] (13) ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 15 26 ธันวาคม 2563

https://www.prd.go.th/th/file/get/file/2020122616bfc5aad5141d8180a411f466c8a37a091716.pdf

[14] (14) การจับกุมและฝากขังกลุ่มการ์ดอาสา WeVo

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/915040

https://www.bbc.com/thai/thailand-55495883

https://news.thaipbs.or.th/content/299839

9 เดือน (และอนาคต) ภายใต้ “สถานการณ์ฉุกเฉิน”