ช่วงบ่าย เวลาลอนดอนของ 22 พฤษภาคม 2563 ผมได้รับการติดต่อจาก “อาจารย์ย่า” หรือ รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ให้ช่วยเขียนบทความเพื่อเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของ Media Inside Out ในหัวข้อ “รำลึกพฤษภา”
โจทย์ที่อาจารย์ให้มาคือ บทบาทของสื่อต่างประเทศในเหตุการณ์พฤษภาคม ไม่ว่าจะเป็น พฤษภา ‘35 หรือ การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อ ‘53 หรือ การรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2557
ผมตอบรับคำเชิญโดยเลือก 6 ปี คสช. เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่นานนักและมีความเกี่ยวข้องกับการกลับมาทำหน้าที่สื่อมวลชนให้คนไทยรอบใหม่ของบีบีซีไทย องค์กรที่ผมนั่งทำงานมาเกือบ 4 ปี
กำเนิด คสช. กับ การกลับมาของบีบีซีไทย
สองเดือนหลังการยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย โดย กลุ่มทหารที่เรียกตัวเองว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บีบีซีไทยกลับมาเปิดตัวให้บริการด้านข่าวสารแก่คนไทยอีกหลังยุติการออกอากาศทางวิทยุและเผยแพร่ข่าวทางเว็บไซต์เมื่อมกราคม 2549
เหตุผลของผู้บริหารระดับสูงของบีบีซีในลอนดอนในการนำบีบีซีไทยกลับมา คือ ประเทศไทยภายใต้คณะรัฐประหารเผชิญกับการปิดกั้นข่าวสาร ทั้งข่าวสารที่มาจากสื่อในประเทศ และสื่อต่างประเทศ บีบีซีในฐานะสื่อสาธารณะ ระดับโลกที่ได้รับความน่าเชื่อถือมาเกือบร้อยปี เห็นความสำคัญของการนำเสนอข่าวสารที่เป็นอิสระแก่สาธารณะ จึงกลับมาเปิดแผนกบีบีซี ภาคภาษาไทยขึ้นอีกครั้งเพื่อผู้อ่านชาวไทยทั่วโลกได้มีทางเลือก
บีบีซีเลือกใช้สื่อสังคมออนไลน์ ที่มีต้นทุนดำเนินการไม่มาก และเข้าถึงผู้อ่าน-ผู้ชมในวงกว้าง เป็นช่องทางในการเผยแพร่ข่าวสารแทนการกระจายเสียงผ่านทางวิทยุดังที่เคยทำในอดีต
บีบีซีเปิดตัว เฟซบุ๊กเพจ บีบีซีไทย เมื่อ 10 กรกฎาคม 2557 แล้ว ตามมาด้วย ช่องยูทูบ BBC News Thai และ อินสตาแกรม BBC News ไทย
การนำเสนอข่าวสารที่เกี่ยวกับประเทศไทยและต่างประเทศ ที่แตกต่างจากสื่อไทยทั่วไป หลายประเด็นเป็นเรื่องที่สื่อไทยหลีกเลี่ยงนำเสนอ ทำให้บีบีซีไทยได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เป็นที่พูดถึงในวงกว้างจนนำมาสู่การเปิด เว็บไซต์บีบีซีไทย ในอีก 2 ปีต่อมา เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเปิดโอกาสให้บีบีซีไทยได้นำเทคนิคการนำเสนอข่าวแบบใหม่ๆ มาให้ผู้อ่านชาวไทยได้สัมผัส
บีบีซีไทยในอดีต
แม้ว่าเฟซบุ๊กบีบีซีไทยกำลังจะมีอายุครบ 6 ปี แต่วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยซึ่งเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น มีประวัติความเป็นมาย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2484 และดำเนินงานต่อเนื่องมายาวนานเกือบ 64 ปี ก่อนปิดตัวลงเมื่อ 13 มกราคม 2549
ระหว่างการดำเนินงานในรอบกว่า 6 ทศวรรษนั้น ได้ปิดตัวลงราว 2 ปี คือตั้งแต่ 5 มีนาคม 2503 ถึง 2 มิถุนายน2505 เนื่องจากเหตุผลทางด้านงบประมาณ เพราะเกิดภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจในยุโรป
เมื่อ 25 ตุลาคม 2548 บีบีซีภาคบริการโลกได้ประกาศปรับองค์กรครั้งใหญ่โดยยุบบริการวิทยุแผนกภาษาต่างๆ 10 ภาษา แบ่งเป็น ในยุโรปตะวันออก 8 ภาษา ที่เหลืออีก 2 ภาษาคือ ภาษาคาซัคและภาษาไทย ซึ่งแผนกภาษาไทยปิดตัวลงอย่างเป็นทางการเมื่อ 13 มกราคม 2549
ระหว่าง 8 ปี ที่ไม่มีบริการข่าวสารของบีบีซีไทย ประเทศไทยเผชิญกับเหตุความวุ่นวายทางการเมืองหลายครั้ง และการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนโดยคณะนายทหารถึง 2 ครั้ง คือ 19 กันยายน 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557
ปัจจุบัน บีบีซีไทย เป็นแผนกข่าวภาษาต่างประเทศหนึ่ง ในจำนวนแผนกภาษาต่างประเทศกว่า 40 ภาษาของบีบีซี ใต้ร่มของ บีบีซี องค์กรข่าวระดับโลก ที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ปัจจุบัน บีบีซีไทย มีสำนักงาน 2 แห่งคือที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และที่กรุงเทพมหานคร
เนื้อหาของบีบีซีไทยยุคใหม่
ตลอดเกือบ 6 ปี ของการกลับมาให้บริการข่าวสาร บีบีซีไทยได้สร้างมิติใหม่หลายด้านของการนำเสนอ ข่าวสาร ทั้งเนื้อหา รูปแบบ และวิธีการ จนทำให้ได้รับความเชื่อถือ และความนิยมจากผู้ติดตามชาวไทย มียอดผู้อ่านผู้ชมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดการพูดถึงในวงกว้าง
บีบีซีไทย พยายามอย่างยิ่งในการนำเสนอข่าวสารที่ผู้อ่านชาวไทยไม่สามารถหาอ่านจากที่อื่นได้ ทั้งข่าวในประเทศ และข่าวต่างประเทศ เราให้ความสำคัญกับการค้นหาข้อเท็จจริงด้วยแนวปฏิบัติทางวารสารศาสตร์แบบบีบีซี การนำเสนอมุมมองที่รอบด้าน เป็นโอกาสให้ทุกฝ่ายในข่าวได้ชี้แจง
เนื้อหาในประเทศ เรานำเสนอประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ อยู่ในความสนใจของคนไทย แต่หาบริโภคจากสื่อไทยไม่ได้ หรือ นำเสนอเนื้อหา มุมมองใหม่ ๆ ที่คนทั่วไปยังไม่ทราบในโอกาสครบรอบเหตุการณ์สำคัญ เช่น วันครบรอบการยึดอำนาจของ คสช. การปฏิวัติสยาม 2475 14 ตุลา-6 ตุลา เช่น
- เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา บีบีซีไทยออกค่าใช้จ่ายเอง ส่งผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังศาลแขวงดาวนิ่งในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เพื่อคัดลอกบันทึกของศาลและสำนวนข้อเท็จจริงทางคดีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า (ชื่อเดิม มนัส โบพรหม) ความผิดฐานมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการนำเข้าเฮโรอีนไปออสเตรเลีย ที่ตำรวจเป็นผู้จัดทำและเสนอต่อศาลประกอบการพิจารณาคดี
- บทสัมภาษณ์พิเศษ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฮ่องกง เผยแพร่ทางเว็บไซต์บีบีซีไทย และทางยูทูบ 2 วัน หลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 กลายเป็นบทความข่าวและวิดีโอที่มีคนพูดถึงทั่วประเทศ สื่อมวลชนทุกแขนงต่างนำมาอ้างอิง ได้รับความสนใจมากมายจนกลายเป็นวิดีโอที่มีผู้ชมมากที่สุดทางช่อง ยูทูบ ของบีบีซีไทย
- การเกาะติดข่าวการเคลื่อนย้าย มรดกคณะราษฎร อย่างต่อเนื่องในรอบ 3 ปี
- ความทุกข์ของพี่น้องแรงงานไทยในต่างแดน และได้ส่งทีมข่าวไปติดตาม สืบค้น เปิดโปงสภาพการทำงาน ชีวิตความเป็นอยู่ของ แรงงานไทยในอิสราเอล ส่งผลให้ทางการไทย และอิสราเอลเข้าตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง
เนื้อหาต่างประเทศ ในช่วงวิกฤตโรคระบาด บีบีซีไทยนำเสนอข้อมูลที่เป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนถึงความเป็นมาของโรคโควิด-19 อาการ การป้องกัน การรักษา รวมทั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในส่วนต่าง ๆ ของโลก ที่กำลังรับมือกับภาวะโรคระบาด
รูปแบบที่แปลกใหม่ บีบีซีไทย นำเสนอรูปแบบใหม่ ๆ ของการเสนอข่าวทางเว็บไซต์ เช่น Live Page และ Shorthand
- Live Page คือ การรายงานเหตุการณ์สำคัญของประเทศ หรือของโลก ในรูปแบบของการรายงานแบบต่อเนื่อง ทันเหตุการณ์ นาทีต่อนาที ประกอบไปด้วยข่าวข้อความสั้น ภาพเหตุการณ์ อินโฟกราฟิก และวิดีโอสั้น เช่น ในวันเลือกตั้งทั่วไป 24 มี.ค. 2562 เราจัดทำหน้าพิเศษ พลังประชาชนกำหนดอนาคตประเทศไทย รายงานต่อเนื่องตั้งแต่เช้ายันดึก ทำให้กลายเป็นหน้าข่าวที่มีผู้อ่านมากที่สุดของปี 2562
- Shorthand คือ การนำเสนอเรื่องราวสารคดีที่น่าสนใจในรูปแบบสื่อผสม ได้แก่ ข้อความสั้น ภาพนิ่งขนาดใหญ่ และวิดีโอสั้น ร้อยเรียงให้น่าสนใจ ติดตาม ทั้งเรื่องในประเทศ และต่างประเทศ ล้วนแต่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากผู้อ่าน เช่น
- ผู้ลี้ภัยทางการเมือง : คนเห็นต่างหรือหนักแผ่นดิน เรื่องราวของคนไทยที่ลี้ภัยในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 100 คน ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 มีนักเคลื่อนไหวอย่างน้อย 6 คนที่หายตัวปริศนา อีก 2 คนกลายเป็นศพ ถูกคว้านท้องและยัดด้วยเสาปูน
- ผืนป่าแอมะซอนตกอยู่ในอันตราย ทั้งตัดไม้ ไฟป่า และโควิด-19 เรื่องราวของป่าซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างสมดุลภูมิอากาศโลกและช่วยต่อสู้กับภาวะโลกร้อน กำลังได้รับความเสียหายจากการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ด้วยเช่นกัน
- เล่าง่าย เข้าใจเร็ว คือ การนำเสนอในรูปแบบวิดีโอทางยูทูบ บีบีซีไทยพยายามนำเสนอเรื่องราวที่อยู่ในความสนใจของสังคม โดยการเล่าเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องง่าย เช่น ช่วงก่อนการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 และช่วงก่อนพระราชพิธีราชาภิเษก รวมทั้งการเล่าเรื่อง ที่มา-อาการของโรคโควิด-19 ที่มีผู้ชมนับล้านและได้รับคำชมมากมาย
ไม่มีโฆษณา รายได้มาจากไหน
“บีบีซีไทย ถูกทักษิณซื้อไปแล้ว” ความเห็นลักษณะนี้มักปรากฏขึ้นมาหลายครั้งใต้โพสต์ข่าวการเมือง ทางเพจเฟซบุ๊กของบีบีซีไทย โดยล้อเลียนหรือกล่าวหาว่า อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยที่ลี้ภัยอยู่ในต่างแดนมากว่า 10 ปี เนื่องจากคดีอาญาหลายเรื่องที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง คือผู้ให้การอุดหนุนทางการเงินแก่บีบีซีไทย
แล้วแท้จริงแล้ว บีบีซีไทยได้เงินมาจากไหน
บีบีซีไทย คือ ส่วนหนึ่งของ บรรษัทกระจายเสียงสาธารณะของอังกฤษ (British Broadcasting Corporation – BBC) และเป็นต้นแบบของสื่อสาธารณะหลายแห่งทั่วโลก งบประมาณส่วนใหญ่ที่บีบีซีได้รับ มาจากค่าธรรมเนียมโทรทัศน์ที่ทุกครัวเรือนที่มีโทรทัศน์ในสหราชอาณาจักรต้องจ่ายเป็นจำนวน 157.50 ปอนด์ต่อปีหรือราว 6,300 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน 1 ปอนด์อยู่ที่ราว 40 บาท)
บีบีซี นำงบประมาณนี้มาจัดสรรให้กับแผนกต่างๆ เช่น แผนกข่าว แผนกกีฬา สารคดี ละคร และแผนกภาษาต่างประเทศใน บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส หรือ บีบีซี ภาคบริการโลก ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนอีกก้อนหนึ่งจากรัฐบาลอังกฤษสำหรับเปิดให้บริการแผนกภาษาอื่นๆ
สีของตราสัญลักษณ์ของบีบีซี คือสีแดง และสีของทุกแผนกภาษาต่างประเทศ รวมทั้งบีบีซีไทย ก็ใช้สีแดง มีคำว่า บีบีซี นิวส์ เป็นภาษาอังกฤษ และคำว่า ไทย บนพื้นหลังสีแดง ไม่ได้แฝงความหมายใดทางการเมือง ไม่มีจุดยืนทางการเมืองเข้าข้างกลุ่มการเมืองใด หรือกลุ่มเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น และบีบีซีไม่มีนโยบายปรับสีตราสัญลักษณ์ให้เข้ากับวาระพิเศษใดๆ รวมถึง บีบีซีไทยด้วย
แนวปฏิบัติของบีบีซี
บีบีซีไทย ยึดถือแนวปฏิบัติของบีบีซีอย่างเคร่งครัด มุ่งเน้นการนำเสนอความจริงอย่างถูกต้องและแม่นยำ (truth and accuracy) มีแหล่งข่าวและหลักฐานที่น่าเชื่อถือ โดยไม่มีการเลือกข้าง (impartiality) ให้น้ำหนักในการนำเสนอข่าวจากฝ่ายต่างๆ อย่างสมดุล มีความตรงไปตรงมาและเป็นอิสระ (integrity and independence) โดยให้ความสำคัญกับผลประโยชน์สาธารณะ (serving the public interest) ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน บีบีซีไทยพยายามนำเสนอเนื้อหาอย่างมีความเป็นธรรม (fairness) โปร่งใส (transparency) และรับผิดชอบต่อผู้รับสาร (accountability) ยอมรับในความผิดพลาดและแก้ไขให้ถูกต้อง
นอกจากนี้ เรายังเคารพในสิทธิความเป็นส่วนตัว (privacy) เราจะไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใดโดยไม่มีเหตุผลที่ดีพอ และคำนึงถึงเนื้อหาที่อาจทำให้มีผู้ตกอยู่ในอันตรายและระมัดระวังในการนำเสนอเนื้อหาที่มีความรุนแรง (harm and offence) โดยเฉพาะเมื่อมีการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเด็ก (children)
การให้คุณค่ากับเรื่องต่าง ๆ เหล่านั้น ก็เพื่อคุณค่าสูงสุดที่บีบีซีไทยยึดมั่นนั่นก็คือ ความไว้วางใจ (trust) จากผู้รับสารในทุกช่องทางนั่นเอง ซึ่งก็คือแนวทางเดียวกับ บีบีซี ต้นสังกัด
