Skip to main content


Photo courtesy of Khaosod English

ทอดด์ รุยซ์ (Todd Ruiz) บรรณาธิการข่าวสด อิงลิช มองวิกฤติสื่อไทยมาจากสนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน เสนอแนะ 10 วิธีฟื้นฟูศรัทธาผู้อ่าน มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ แปลมานำเสนอ


1. หยุดลอกข่าวแจก หรือทำข่าวแจกให้เป็นข่าว เพราะไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจ ต้องทำให้พวกเขาซื้อโฆษณาให้ได้

2. หยุดรับของกำนัล ต้องไม่ยอมรับการเชิญไปท่องเที่ยว ไม่ยอมรับการเลี้ยงสังสรรค์ ไม่รับการบริการใดๆ ไม่รับสินบน ไม่รับการท่องเที่ยวฟรี ไม่รับสิทธิ์พิเศษเกินกว่าที่จำเป็นในการทำข่าว

3. มองข้ามตนเอง หยุดคิดว่านักข่าวคือคนสำคัญ พวกเราไม่สลักสำคัญอะไร นักข่าวเป็นเพียงคนธรรมดาที่รับจ้างทำงานเพื่อหาคำตอบให้กับประชาชน

4. สร้างความโปร่งใส เมื่อเขียนข่าวผิด ควรแก้ไขและเขียนโน้ตให้ผู้อ่านทราบว่าผิดตรงไหน การแก้ข่าวไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่กลับทำให้ผู้อ่านเคารพยกย่อง เมื่อแก้ไขข่าวภายใต้ความกดดันของผู้มีอิทธิพลเหนือกว่า ต้องแจ้งผู้อ่านว่ามีการแก้ไขอะไรและเหตุใด เมื่อต้องยกข่าวทั้งชิ้นออก ต้องชี้แจงผู้อ่านว่ายกข่าวใดออกไปและด้วยสาเหตุใด คุณอาจไม่สามารถแจกแจงทุกรายละเอียดแต่ผู้อ่านจะเข้าใจ

5. หยุดช่วยเหลือหรือสนับสนุนเพื่อนหรือคนอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการคอรัปชั่น ต้องไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ต่อหลักการหรือเอาง่ายเข้าว่า แม้จะเป็นกลุ่มคนที่คุณคิดว่าเป็นคนดี เมื่อใดที่คุณมีข้อยกเว้นสำหรับคนใดคนหนึ่งเป็นกรณีพิเศษ คนอื่นๆ จะคาดหวังกรณีพิเศษเช่นกัน

6. หยุดปล่อยให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์มาระราน นักข่าวตระหนักดีว่าการเซ็นเชอร์ที่แท้จริงไม่ได้มาจากเผด็จการที่เลวร้ายแต่มาจากผลประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งโดยหลักแล้วเป็นการทรยศต่อผู้อ่านและทำให้ทุกอย่างกลับตาลปัตร จำไว้ว่าพวกเรานักข่าวมีพลังและควรเป็นฝ่ายระรานฝ่ายประชาสัมพันธ์เสียเอง! ครั้งหน้าหากพวกโฆษกนักประชาสัมพันธ์หัวหมอขอดูคำถามก่อนการสัมภาษณ์ จงโต้กลับไปเลย นักข่าวควรรวมตัวกันเพื่อปฏิเสธการทำข่าวเช่นนี้

7. เขียนข่าวอย่างมีเหตุผล ไม่ปล่อยให้ผู้อ่านมีคำถามในเนื้อข่าว ควรอธิบายบริบทและภูมิหลังของข่าวอย่างเพียงพอ ระบุชื่อบุคคลและความสัมพันธ์ของคนที่เกี่ยวข้องด้วย

8. หยุดรายงานข่าวที่มีแหล่งข่าวเดียว เช่น ปลัดกระทรวงนั้นๆ กล่าวอะไรในวันนี้ หากจำเป็นต้องรายงานข่าวเช่นนี้ ควรเพิ่มข้อมูลที่แตกต่าง เช่น คำกล่าวของเขาหรือเธอเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และควรมีเสียงของคนอื่นๆ ที่อาจไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาหรือเธอกล่าว ที่ดียิ่งกว่านั้นคือไม่เขียนสิ่งที่ปลัดกระทรวงนั้นๆ กล่าว แต่ฟังเสียงจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนั้นๆ   

9. ลดความรุนแรง จำคติพจน์ที่ว่า “เกื้อกูลคนที่ถูกกลั่นแกล้งและตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของคนที่มีชีวิตอยู่สุขสบายกว่าคนอื่นๆ” และยังมีคติพจน์อีกมาก แต่ตัวอย่างหนึ่งคือ หยุดตีพิมพ์ชื่อและภาพของเหยื่อคดีความรุนแรงทางเพศ เราทำข่าวประเภทนี้และข่าวระทึกใจสนุกๆ ได้โดยไม่ต้องสร้างความเจ็บปวดให้ผู้อื่น

10. มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น หยุดพูดดูหมิ่นผู้อื่น หัวเราะให้กับสิ่งที่น่าขัน แม้กับตัวเอง เปิดพจนานุกรมและไม่ใช้คำผวนที่ทำให้สาธารณชนสับสน หากบางอย่างดูไม่เข้าท่า โปรดอย่าเรียกว่า ไทยนิยม
 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ทอดด์ รุยซ์ (Todd Ruiz) เริ่มอาชีพนักข่าวในอัฟกานิสถาน ปี 2001 และเป็นนักข่าวประจำหนังสือพิมพ์ ในลอสแอนเจลิส เริ่มติดตามข่าวสารและการเมืองไทยในปี 2000 เขาพำนักในกรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี 2009

เกี่ยวกับผู้แปล: อารี ชัยเสถียร อดีตนักข่าว-นักเขียนสารคดี หนังสือพิมพ์ The Nation ปัจจุบันเป็นนักแปลอิสระ และบรรณาธิการร่วม มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์

 

10 วิธีที่ทำให้สื่อไทยมีคุณภาพอีกครั้ง