บทบันทึกการสนทนาว่าด้วย “การทำข่าวการเมือง –สิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ไร้สิทธิมนุษยชน” ของนักข่าวรางวัลสิทธิมนุษยชน 3 คน ที่มีเดีย อินไซต์ เอ้าท์ กับ รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์
นักข่าว กับรางวัลที่ได้รับ
รศ. อุบลรัตน์ เปิดเวทีด้วยการแนะนำผู้ร่วมสนทนาทั้งสาม กับรางวัลที่ได้รับในฐานะสื่อมวลชนที่กล้านำเสนอข่าวสารของผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิทางการเมือง ในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์หลังรัฐประหาร
- มุทิตา เชื้อชั่ง อดีตผู้สื่อข่าวประชาไท กับรางวัล AFP Kate Webb ประจำปี 2015 ซึ่งตั้งตามชื่อของนักข่าวหญิงที่ฝ่าฟัน รายงานข่าวยากๆ มานาน “ดังนั้นผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ก็จะรายงานข่าวในสถานการณ์ที่เขาใช้ว่ายากลำบากนะคะ เดี๋ยวต้องให้คุณปลาเล่าเองว่ายากลำบากแบบไหน”
- นิติธร สุรบัณฑิตย์ ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีกับรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2015 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สำหรับการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่คำนึงถึงการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
- ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสข่าวสด อิงลิช กับรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติ ประจำปี 2017 จากคณะกรรมการคุ้มครองสื่อ (CPJ) ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับการยืนยันที่จะต่อสู้กับอำนาจรัฐในเรื่องของการคุกคามสื่อ
รศ. อุบลรัตน์ : ทั้งสามท่านจะมีมิติที่แตกต่างกันไป แล้วก็พยายามเป็นปากเสียงในเรื่องที่ขณะนี้ถูกควบคุมเป็นอย่างมาก ในช่วงที่ผ่านมาคุณปลา [มุทิตา] ได้รายงานข่าวหลายข่าว แต่ปรากฏว่าข่าวเรื่อง 112 หรือว่าเรื่องของกฎหมายอาญามาตรา 112 เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเกือบจะเป็นงานหลักอยู่ช่วงหนึ่ง ของคุณนิติธรเป็นทั้งนักข่าวการเมืองและทำเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เรื่องซ้อม ทรมาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบากอีกเช่นกัน แล้วรัฐบาลก็จะตอบโต้ว่าไม่มี เหมือนสมัยหนึ่งที่ไปช่วยเรื่องแรงงานเด็ก เขาก็บอกว่าประเทศไทยไม่มีแรงงานเด็ก ในละครก็จะขึ้นข้างล่างว่า นี่เป็นเกาะสมมุติ ประเทศไทยไม่มีสภาพแบบนี้ แต่ตอนนี้เราก็ยังไม่พ้น tier 2 watch list ก็ยังมีอยู่ในสภาพนั้น ส่วนของคุณประวิตรนี่ก็ ได้ไปชิมห้องสี่เหลี่ยมสี่คูณสี่มาแล้ว ก็หวังว่าจะไม่มีอีก คือคงสู้ต่อ แต่เราก็หวังว่าจะไม่เห็นอะไรแบบนั้นอีก เชิญคุณมุทิตา เล่าเรื่องงานและประสบการณ์ให้เราฟัง รวมทั้งกรณีที่ไปทำงานแล้วรู้สึกว่ายาก สะเทือนใจ เล่าสู่กันฟัง แล้วอีกสักพักเผื่อมีใครอยากถามจะได้แลกเปลี่ยนกัน
มุทิตา เล่าว่าทำงานที่ประชาไทตั้งแต่ก่อตั้งเว็บไซต์ประชาไทในปี พ.ศ. 2547 และเธอเรียนจบพอดี ซึ่งปรัชญาขององค์กรก็เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว “จริงๆ คำว่าสิทธิมนุษชนเป็นคำที่ใหญ่มาก เพราะว่าเรื่องอะไรมันก็เป็นทั้งนั้น การศึกษาก็เป็น เรื่องชุมชน ชาวบ้าน ป่าเขา การต่อต้าน ทุกอย่างมันอยู่ภายใต้คำนี้หมด ตามความเข้าใจของตัวเองนะ”
มุทิตาทำข่าวชาวบ้าน, ข่าวเอ็นจีโอ จนกระทั่งการเมืองเริ่มขัดแย้งหนัก และโดยที่เธอมีความสนใจอยู่แล้วในเรื่องประวัติศาสตร์การเมือง,บทบาทสถาบันกษัตริย์ ในการเมืองไทย ตั้งแต่อดีต พอการเมืองเริ่มขัดแย้ง และเป็นช่วงที่สถาบันถูกดึงลงมาพอดี มีคดีความเกี่ยวกับมาตรา 112 เกิดขึ้นเยอะ ก็เลยดึงเธอเข้าไปโดยอัตโนมัติ
“เราก็ไม่ใช่ฮาร์ดคอร์การเมืองอะไรเลย เพียงแต่ว่ามีแบ็คกราวน์เฉยๆ คิดว่าเข้าใจในสภาพปัญหาการเมือง แต่พอไปเจออย่างนั้นก็คล้ายๆ ว่าเป็นแรงบันดาลใจค่ะ แล้วคนอื่นไม่ค่อยทำ ก็ยิ่งรู้สึกว่าสนุก เหมือนไปรู้อะไรมาคนเดียว ก็เลยเริ่มตามเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจัง” และเหตุการณ์หลังรัฐประหารเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญ “อย่างที่พี่ประวิตรหายไปในค่าย มันก็ส่งผลสะเทือน มันไม่ใช่แค่ประวิตร โรจนพฤกษ์ ถือว่า high profile มากนะคะ เป็นคนสำคัญที่มีคนจับตามอง มันมีคนอีกเยอะมากที่ประสบชะตากรรม”
สำหรับประชาไทโดนปิดเว็บซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต้องไปโผล่ในเฟซบุ๊ก “ตอนนั้นทีวีเป็นเพลงตลอดเวลา แต่ว่าเรายุ่งมากเพราะต้องหาทางอัพเฟซบุ๊กตลอดเวลาว่าใครถูกจับที่ไหน กี่คน กี่โมง ไม่รู้มีใครอ่าน ไม่มีใครอ่านแต่ก็จะทำ แต่มันก็เล็กมาก แล้วก็ไปเฝ้าตามกองปราบว่าจับใครบ้าง ไปชูอะไรที่ไหน ป้าคนไหนลุงคนไหน วิ่งรอกแบบนั้นแต่มันก็ทำอะไรไม่ได้มาก แล้วทำไปท่ามกลางความไม่ค่อยมั่นใจด้วย เพราะว่ามีประกาศฉบับนึงบอกว่าห้ามเขียนข่าวสร้างความแตกแยก แล้วคนอื่นก็ไม่เห็นพูดอะไรเลยในช่วงนั้น มันก็มีช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่า ยังไงดี แต่ก็ลุยไป ที่โชคดีคือว่ามันมีการซัพพอร์ตของทีม”
อดีตผู้สื่อข่าวประชาไทยอมรับว่าการทำข่าวในบรรยากาศทางการเมืองเช่นนี้ สิ่งที่เป็นอันตรายต่อวิชาชีพคือความกังวล ถึงขั้นกลัวเกี่ยวกับสวัสดิภาพตัวเอง องค์กร แหล่งข่าว จนต้องเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยคาถาปลอบใจว่า “ไม่ใช่เพราะกลัวทหารอะไร แต่เรากลัวความปลอดภัยของแหล่งข่าว”
รศ.อุบลรัตน์ : ถามว่าทำบ่อยไหม ทำจนรู้สึกว่าเกลียดตัวเองที่ทำไมเราต้องตกอยู่ในสภาวะนี้ แล้วทำไมต้องถอยมาถึงสภาวะนี้ แล้วโกรธใครบ้างเวลาเกิดสภาวะนี้
มุทิตา : “ไม่บ่อย น้อยมาก และทีมงานเป็นส่วนซัพพอร์ตเพราะยังไม่ได้ไปแตะอะไรที่มันแหลมคมจริงๆ ชนิดที่ทุกคนสยอง”
มาตรา 112 เรื่อง “ไร้สาระ” ที่สื่อต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง
รศ.อุบลรัตน์ : ทีนี้เอาประเด็นสาระเกี่ยวกับคดี 112 สักนิด เมื่อกี้ที่เริ่มต้นบอกว่ารัฐบาลพลเรือนกับรัฐบาลทหารไม่เหมือนกัน เข้าศาลทหารไปได้ แล้วช่วงที่ผ่านมาได้ขึ้นศาลพลเรือนบ้างไหม แล้วรู้สึกว่า 95 หรือ 99% ที่คดีพวกนี้ไร้สาระหรือเปล่า มันมายังไง คือนิยามของ 112 มันเหวี่ยงแหจนทำให้คนต้องไปขึ้นศาล คนที่กดแชร์แค่ในวงเพื่อนก็โดนตำรวจไซเบอร์กวาด ในฐานะคนที่ไปคลุกคลีตรงนี้ อยากให้เล่าเรื่องให้เราเห็นภาพขึ้นอีกนิดนึงค่ะ
มุทิตา : ถามว่าไร้สาระไหม ถ้าไม่กลัวก็พูดว่าโคตรไร้สาระเลย เราเสียเวลาสิบกว่าปีกับเรื่องไร้สาระทั้งหมด ไม่ได้ศึกษาสุนทรียะอย่างอื่น ก็มัวแต่มาไร้สาระ บางคนก็เป็นจิตเภทบ้าง ซึ่งทุกคนที่เป็นอีลีทในสังคมก็จะมานั่งล้อมเขาอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแล้วพยายามจะเอาให้ได้ว่าเขาบ้าหรือไม่บ้า เราก็ว่าเขาบ้าบ้าง ไม่บ้าบ้าง ตามสภาพ บางสถานการณ์เรารู้สึกจริงนะ เรางง ไม่รู้ว่าเส้นความบ้ามันจะขีดตรงไหน อยากให้มีนักเขียนมานั่งอยู่ด้วยแล้วเขียนอะไรพวกนี้ มันคงตลกดี มันเลอะเทอะ เปรอะเปื้อน แต่มันก็มีที่มาที่ไปแหละ เราก็เข้าใจว่าความเลอะเทอะมันเกิดจากอะไร ทำมาสิบปีก็เกิดความผิดหวังในกระบวนการยุติธรรม แต่พออายุเยอะขึ้นก็เข้าใจได้ว่าเขาต้องเอาตัวรอด ไม่ใช่ว่าเขาไม่รู้ ทุกคนต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อรอดพ้นอะไรบางอย่าง เป็นลูกโซ่กันไปหมด ก็รู้สึกว่ามันคงเป็นไปอีกพักนึง
รศ.อุบลรัตน์ : มาที่คุณนิติธร ซึ่งก็ยากลำบากเพราะสู้กับรัฐบาลที่บอกว่าประเทศไทยมีสิทธิมนุษยชนชั้นดีเพราะเราบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ประเทศที่แสนจะใช้วาจาแทนกฎหมายทุกเรื่อง บอกว่าผมทำตามกฎหมาย แต่ที่จริงในภาคปฏิบัติเป็นคนละเรื่องกัน เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไปรายงานเรื่องละเมิดกฎหมายและสิทธิต้องใช้กลยุทธ์แบบไหน ทางนี้เป็นทีวี แล้วก็จะมากกว่าทุกช่องเพราะเป็นช่องที่ถูกจับตา ถูกปิดทั้งรายการ สถานี ผู้ดำเนินรายการ แล้วโดนสถานีให้ทำอะไรบ้าง ห้ามทำอะไรบ้าง แล้วในที่สุด เราต้องทำตามหน้าที่ของเรา เราทำยังไงถึงจะมาสู่จุดที่เปิดเผยเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศที่ไร้สิทธิมนุษยชนได้
มาตรา 116 กับ MOU
นิติธร เล่าว่าหลังเรียนจบ เขาเริ่มทำข่าวประมาณปลายปี พ.ศ. 2556 เริ่มจากทำข่าวเกี่ยวกับเอ็นจีโอที่ TPBS แล้วย้ายมาวอยซ์ในช่วงกุมภาพันธ์ 2557 ช่วงนั้นความขัดแย้งที่นำไปสู่รัฐประหารเริ่มเต็มที่แล้ว ช่วงเลือกตั้งที่ต่อมากลายเป็นโมฆะ “ถ้านับจริงๆ มาเป็นนักข่าวและโปรดิวเซอร์ข่าวก็อยู่ในสภาวะการเมืองที่ไม่ปกติเลย เริ่มจากสภาวะความขัดแย้ง และสภาวะเผด็จการ ก็คืออยู่ในสภาวะแบบนี้มาตลอด อันนี้คือเราคุยกับเพื่อนและเจ้านายตลอดว่าถ้าเราทำข่าวการเมืองในช่วงที่มีระบบรัฐสภา มีการหาเสียงปกติ ความรู้สึกจะเป็นยังไง แต่ในตอนนี้ก็ยังตอบไม่ได้ เพราะสามปีกว่าก็ยังอยู่ในระบบเดิม มีหลายอย่างที่คิดว่าไม่น่าโดนแต่ก็โดน”
ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีเล่าประสบการณ์ที่โดนกับตัวเอง ว่าในช่วงปี 2558 จะมีการตั้งข้อกล่าวหาตามาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) ค่อนข้างมากกับคนที่รัฐกลัว “ตอนนั้นผมจัดรายการโทรทัศน์ในช่วงกลางคืน เรารู้ว่าศักยภาพที่พอทำได้คือการรายงาน ในช่วงนั้นทีวีไม่สามารถวิเคราะห์ วิจารณ์ หรือเชิญบุคคลมาวิจารณ์ทางการเมืองได้ มีการเซ็น [MOU] กับกสทช. ไว้ ตอนนั้นมีเคสของคุณเบญญาที่โพสต์กล่าวหาท่านนายกเรื่องการโอนเงิน เธอก็ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 116 ยุยงปลุกปั่น ตอนนั้นมีรายงานของ ilaw ออกมาว่า ตัวเลขของการแจ้ง 116 ในช่วงนั้นมันสูงมากและมีความสัมพันธ์กับการดำเนินคดีในศาลทหาร เพราะว่า 116 ตอนนั้นต้องไปขึ้นศาลทหาร ก็รายงานเรื่องแนวโน้มและความเป็นไปได้ ผมแค่เอารายงานตัวนั้นมาอ่านออกอากาศ ไม่มีการคอมเมนต์ ไม่มีการโยงประเด็น ผ่านไปสองสามวัน สถานีบอกว่าคณะอนุกรรมการของกสทช. เขาจะพิจารณาเรื่องนี้นะ อาจจะทำให้ช่องถูกปรับ หรือมีการปรับเปลี่ยนตัวเนื้อหาหรือรายการ เรารู้สึกก่อนเลยว่า เราแค่รายงานความเห็นขององค์กรอื่น โดยไม่มีการชี้นำหรืออะไร ทำไมมันถึงเป็นเรื่องอย่างนั้นได้ และอันที่สองคือ เรากำลังทำให้องค์กรต้องเจออะไรรึเปล่า เพราะเรารู้สึกว่าเรายังเป็นเด็กคนนึง ถ้าองค์กรถูกปรับแล้วพนักงานในองค์กรจะทำยังไง หรือถ้ารายการงดออกอากาศ 3 วัน 7 วัน เพื่อนร่วมรายการ พิธีกรร่วมรายการ คนที่ผลิตเขาจะรู้สึกยังไง คือมันเป็นภาวะที่จำได้เลยว่าผมกลัว ใช้คำนี้เลยว่ากลัวมาก และไม่รู้จะแก้ไขปัญหาอะไรยังไง”
นิติธรเล่าวว่าประสบการณ์ตรงนี้เป็นแค่ครั้งแรกจากสิบกว่าครั้ง ที่วอยซ์ทีวีหรือคนในช่องโดนเกี่ยวกับการเสนอเนื้อหา
“อันที่สองนี่ หลังๆ คือเป็นนักข่าวการเมืองประมาณสามปี สิ่งที่พบบ่อยมากคือเวลาไปทำข่าวกับส่วนราชการ เช่น รัฐสภา หรือองค์กรของรัฐ คือกลไกของรัฐบาลก็จะขับเคลื่อนนำไป เช่น สนช. ออกกฎหมายก็ออกไป มันแตกต่างกันอย่างนี้ สมมุติว่าถ้ามีคนไปจัดกิจกรรมรำลึกอะไร แล้วมีทหารมีตำรวจออกมาห้าม ภาพตรงนั้นก็จะเป็นภาพอีกแบบ แต่ภาพในสภาเขาก็ทำอีกแบบ คือเราอยู่ในภาวะที่โลกคนละอย่างเลย โลกอีกคนนึงกำลังปฏิรูป วุ่นวายกับกฎหมาย ส่วนอีกคนก็วุ่นวายว่าตัวเองจะถูกจับไหม จะโดนกี่ข้อกล่าวหา เวลาไปทำข่าวมันเป็นภาวะที่แตกต่างมาก และสองคนนี้ก็ไม่สามารถจูนกันได้เลย เหมือนไปคนละทางกัน ผมได้เป็นโปรดิวเซอร์สารคดีเชิงข่าวประมาณปลายปีที่แล้ว และช่วงก่อนหน้านั้นก็ทำ special report ที่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่บ้าง โดยเฉพาะภาคใต้ที่ 33 อำเภอใช้กฎอัยการศึก”
นิติธรยกตัวอย่างการลงไปทำข่าวครอบครัวของผู้ที่ถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างชัดเจน เพราะเจ้าหน้าที่ปปช ชี้มูลความผิดแล้ว แต่คดียังไม่ขึ้นสู่ศาล แปดปีแล้ว หลังไปสัมภาษณ์ “ทางแหล่งข่าวโทรมาบอกเลยว่า พี่ออกไปแป๊บเดียว ทหารมาที่บ้านเลย มันก็ไม่รู้จะเรียกว่าภาวะอะไรดี เพราะแหล่งข่าวก็ไม่อยากพูด เรื่องมันผ่านมาแล้ว แต่พอเราลงไป มันมีก้อนความทุกข์ไปเจอกับเขาอีก แล้วผมเจออย่างนี้หลายบ้านมาก”
รศ.อุบลรัตน์ : นอกจากที่ว่าแหล่งข่าวของเราโดนปิดล้อม ข่มขู่ แล้วตัวเราเองโดนบ้างไหม โดนซึ่งๆ หน้า หรือประเภทที่ส่งสัญญาณให้เรารู้ว่าต้องเลิกทำแล้ว มีไหมคะ
นิติธร : “มีครับ เวลาผมลงไปทำคือเรารู้ว่าเราจะโดน ก็มีวิชาโกหกว่าเราไปทำเรื่องอะไร แต่ก็มีเหมือนกันที่เราโกหกไม่ได้ มีผู้ใหญ่ท่านนึงที่รับผิดชอบการบริหารงานส่วนราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตอนนั้นประมาณสี่ทุ่มแล้ว เขาโทรมาคุยกับผมเป็นชั่วโมงเลย แล้ววันรุ่งขึ้นก็มาพบที่โรงแรม มาขอคุย ขอดู proposal และ story board ว่าเราทำอะไรไปบ้าง แต่เขาก็เกรงใจว่าเพราะรู้ว่าอะไรไม่ควรทำ เขาจะใช้วิธีการเสนอทางเลือกให้เราไปถ่ายอีกแบบนึง เหมือนเขาก็มีทีมปฏิบัติการของเขา ต้องไม่ลืมนะว่าตอนนี้ IO หรือทีมปฏิบัติการของอีกฝ่ายนึงค่อนข้างแข็งขันมาก แล้วเขาพยายามดึงสื่อไปในแง่นั้นเหมือนกัน ซึ่งบางครั้งเราก็ยอมไปถ่ายเพื่อจะได้สัมภาษณ์เขา จะออกอากาศหรือไม่ออกอากาศอีกเรื่องนึง ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ออกอากาศเพราะไม่ใช่ประเด็นที่เราจะทำ แต่หลายครั้งเหมือนกันที่เราไปคุยกับเจ้าหน้าที่ทหาร จะใช้วิธีไม่บอก หมายถึงว่าไม่บอกว่าจะทำเรื่องนี้ แต่สัมภาษณ์ประเด็นรวมๆ ที่พอจะแตะได้บ้าง ไม่งั้นนอกจากว่าไม่ได้ข่าวแล้ว ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่ของเราก็มี มันจะกลายเป็นภาวะที่เหนื่อยซ้ำเหนื่อยซ้อน”
กสทช. กลไกของรัฐบาลคสช.
นิติธรเล่าถึง MOU ที่วอยซ์ทีวีต้องเซ็นกับ กสทช. ว่า “เป็นที่รับทราบกันว่าเรารายงานข่าวอะไรได้และไม่ได้ในเชิงของประเด็น ไม่ใช่แค่คำนี้ออกได้ คำสัมภาษณ์นี้ออกได้ แต่คือประเด็นทั้งประเด็นเลย เช่น 112 อันนี้ไม่สามารถทำได้ ใช้คำว่า “เลย” ยกเว้นเป็นปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ เช่น แถลงจับกุม ตรวจค้น อันนี้ทำได้ แต่สมมุติถ้าญาติของ 112 มาร้องเรียนอะไรสักอย่าง อันนี้ไม่ มันเป็นพันธะที่เราเซ็นไว้กับทางกสทช. เดี๋ยวคนจะลืม ไม่ใช่เรากับทหารนะ เป็นเรากับกสทช. เพราะว่ากสทช. จะเซ็นเอ็มโอยูไว้กับหลายช่อง แต่วอยซ์จะมีหลายข้อนิดนึง ทุกครั้งที่วอยซ์โดนร้องเรียน ไม่ใช่ทหารที่ attack เราโดยตรง แต่ attack กับเราผ่านกสทช. คือมีเรื่องอะไร เขาก็จะร้องเรียนไปยังคณะอนุกรรมการ แล้วบอร์ดนี้ก็จะชงเรื่องร้องเรียนที่มีมหาศาลเข้ามา เหมือนตอนแรกไม่อยู่ในแทร็คปกติ แต่พอนำเข้าสู่กสทช. มันเป็นแทร็คปกติเลย ทั้งที่ตัว เอ็มโอยูไม่ใช่พรบ. กสทช. มันกลายเป็นว่าอะไรที่ไม่ชอบธรรมบ้าง เทาบ้าง มันกลายมาอยู่ในแทร็คปกติได้หมด และได้รับกระบวนการพิจารณาลงโทษไม่ลงโทษตามขั้นตอนของกฎหมาย ในนามของกฎหมาย”
รศ.อุบลรัตน์ : ค่ะ ขอบคุณมากนะคะ ทำให้เราเห็นภาพว่ากสทช. เป็นกลไกของรัฐบาลคสช. เพราะมีอนุกรรมการเนื้อหารายงาน และใช้มาตรา 36 จะคอยดู ฉะนั้น กสทช. ก็จะช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลทหาร แล้วคนที่มอนิเตอร์ เก็บเนื้อหารายการต่างๆ ออฟฟิศก็อยู่ที่กสทช. กลายเป็นว่าหน่วยงานที่เหมือนจะส่งเสริมเสรีภาพสื่อกลายเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมสื่อโดยตรง ภายใต้อาณัติของรัฐบาล การจะบอกว่าเป็นองค์กรอิสระก็อย่าไปคิดถึงมันเลย มีคำสั่งขอเอาสตางค์โดยมีบันทึกใบเดียว บอกเอาไปห้าหมื่นล้านก็เอาไป จะเอาไปทำอะไรก็ไม่รู้ ยืมไปก่อน ใบอนุญาตของโทรทัศน์ดิจิตอลก็ถูกยึดไปเพื่อทำประโยชน์บางอย่าง ซึ่งเราไม่รู้ว่ามันคืออะไร เพราะไม่มีโครงการอะไรติดแนบมา
ทั้งสองท่านเล่าให้เราเห็นภาพว่า รัฐบาลคสช. นอกจากจะกดดันสื่อมวลชนแล้ว ยังทำสงครามอุดมการณ์ ทำในแบบที่ถ้าคนไม่ได้อยู่วงในก็จะไม่เห็นหรือไม่รู้สึกมากเท่าไหร่ แต่ว่าทำสงครามกับสื่อและประชาชนอยู่ทุกวัน อีกแง่นึงถ้ามองก็คือคุมไม่ได้ ไม่มีใครเชื่อฟังทั้งหมด เขาเลยต้องกดได้อยู่เรื่อย ถ้าคลายได้แปลว่าเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าคลายไม่ได้ ภาคใต้ก็ประกาศซ้ำอีกที่จะควบคุมต่อ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าการใช้อำนาจแบบนี้ เราอาจะคิดว่ามันไม่คุ้นเคย รุ่นใหม่ เราคิดว่าจะผ่านเลยไปแล้วกับยุคที่ทหารใช้อำนาจแบบนี้ แต่มันไม่ใช่ คุณประวิตรอาจจะคุ้นเคยบ้างเพราะโตมาตอนท้ายๆ ของมัน เราก็คิดว่ารัฐบาลเผด็จการจะสูญสลายไป แต่ไม่ใช่ เขากำลังเรืองรองขึ้นมาต่อไปอีก ท่ามกลางกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อสิทธิเสรีภาพ เราก็หวังว่าเขาจะไม่เรืองรองต่อไปอีกนาน ไม่ว่าจะมีเครื่องมือกฎหมาย กสทช. 112 116 ไว้คุ้มกัน เราก็ได้แต่ช่วยกันมองและวิเคราะห์ว่าเขาจะไม่เรืองรองมาอีกนาน ต้องให้คุณประวิตรลองเล่าว่าเชื่อว่าเขาไปอีกไม่นาน เลยพุ่งเข้าชนเลย แต่ชนเจอรถถังบ่อยมาก และเจอลูกกรง คงจะเจ็บแต่ไม่เข็ด อย่างนั้นรึเปล่า เชิญค่ะ
ผู้ร่วมสนทนา (จากซ้าย) ประวิตร โรจนพฤกษ์, นิติธร สุรบัณฑิคย์, มุทิตา เชื้อชั่ง, อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์
ประวิตร กล่าวว่าเขาไม่ได้คิดว่าคสช.จะอยู่เร็วหรืออยู่นาน หลังรัฐประหารปี 57 ส่วนตัวเขาคิดว่าควรทำหน้าที่สื่อให้ดีที่สุด ไม่ได้คิดว่าราคาที่ต้องจ่ายเป็นอย่างไร หรือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อและการแสดงออกขั้นพื้นฐานจะยืดเยื้อมาถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันก็สามปีครึ่งแล้วตั้งแต่เกิดรัฐประหาร สิ่งที่เขาระลึกถึงเสมอในการปฏิบัติหน้าที่สื่อ คือเราจะไม่ยอมให้การปกครองระบอบเผด็จการทหารเป็นเรื่องปกติ หรือภาษาอังกฤษที่ใช้คือ normalization of military dictatorship มันสำคัญอย่างไร
“ถึงเขาจะเอาไปปรับทัศนคติสองรอบ เจอมาตรา 116 พร้อมพรบ. คอมพ่วง ถูกห้ามไปต่างประเทศครั้งนี้ ผมเลยคิดว่ามันเป็นพันธะหน้าที่ที่จะต้องทำทิ้งไว้ ส่วนสื่อรุ่นหลังอย่างน้อง [นิติธร] ก็เห็นมาตั้งแต่ยังทำ Thai PBS ด้วยซ้ำไป เราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด อีกสามสิบปีเราก็คงไม่อยู่ ให้เป็นคนรุ่นหลัง อย่างปลา [มุทิตา] ที่เป็นรุ่นน้องเราก็ให้กำลังใจ ในมุมมองผมปลาและทีมงานประชาไทก็ทุ่มเทมาก เขาก็ทุ่มเท โดยเฉพาะเรื่องมาตรา 112 มาตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐประหาร จนรัฐประหารปุ๊บก็กลายเป็นคูณสอง ในสถานการณ์ที่ประชาไทถูกจับจ้องอยู่แล้ว น่าเห็นใจปลาบอกว่าอยากเขียนเรื่องปรัชญานู่นนี่บ้าง ผมเข้าใจเพราะผมก็รู้สึกว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพหรือการแสดงออกของสื่อในสังคมที่เป็นอารยะเขาไปถึงจุดนั้นนานแล้ว เราต้องมาต่อสู้สิ่งที่เป็นพื้นฐานมาก ง่ายๆ เรื่องคิด ทำไมเราต้องมาติดคุกเรื่องคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเจ้า เรื่องทหาร หรือะไรก็ตาม การพูด การแสดงออกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เรากำลังสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานมาก”
นักข่าวไทยผู้ได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติประจำปี 2017 ยกตัวอย่างบรรยากาศไร้เสรีภาพและการที่สื่อไทยเซ็นเซอร์ตัวเอง ว่า หลังจากที่เขาได้รับรางวัล และยังอยู่ที่นิวยอร์กนั้นมีทีวีช่องหนึ่งโทรมาหาเขาตอนตีสาม บอกว่าอยากจะสัมภาษณ์ แต่ขอแจ้งบ.ก.ก่อน “บ.ก. ก็บอกว่าคงไม่เป็นความคิดที่ดีหรอกนะที่จะให้ผมพูดสดออกทีวี เขาก็แจ้งมาอีกทีว่าบ.ก.ไม่ให้ ซึ่งคนที่โทรมาตามความเข้าใจผมก็ซีเนียร์แล้วนะ ไม่ใช่ไก่กา ซึ่งก็ไม่เป็นไร แต่นี่ก็คือสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยที่เซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งไม่ได้มีแค่มาตรา 112 แต่ยังมีเรื่องทหาร เผด็จการทหาร การที่หลายๆ ช่องต้องไปเซ็นเอ็มโอยูกับกสทช. หรือถูกกดดันผ่านอะไรก็ตามแต่ เป็นเรื่องที่ปกติ มันกำลังถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ”
ประวิตรยอมรับว่าไม่มีใครในประเทศไทย รวมทั้งตัวเขาด้วยที่ไม่เซ็นเซอร์ตัวเอง โดยเฉพาะเกี่ยวกับมาตรา 112 “เรื่องทหารนี่ผมไม่เคยเซ็นเซอร์เลย ก็เลยโดนจับไปขังสองรอบและปรับทัศนคติ โดยเฉพาะรอบสองก็ค่อนข้างเลวร้าย มีการปิดตา มืดทึบ และมีป้ายทะเบียนรถที่ไม่ได้บ่งชี้ว่าเป็นของรัฐขับออกไปกลางดง ตอนอยู่ในรถถ้าเขาจะทำอะไรผม ผมคงทำอะไรไม่ได้ ชีวิตก็ขึ้นอยู่กับเขาเรียบร้อยแล้ว เขาไปปล่อยในห้องสี่คูณสี่ตารางเมตร มีห้องน้ำอยู่ข้างหลัง มีแอร์ตั้งโต๊ะที่ทำงานไม่ปกติ หน้าต่างสามบานที่เป็นไม้ทึบ ล็อกจากข้างนอก นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งแต่ผมอยากให้เรามองไปไกลๆ ว่าในสังคมมันไม่มีอะไรได้มาฟรี โดยเฉพาะเสรีภาพและประชาธิปไตย อันนี้ก็เป็นราคาที่ต้องจ่าย มันก็เป็นหน้าที่ที่ต้องทำต่อ”
ประวิตรกล่าวถึงท่าทีของ สื่อไทยจำนวนมากที่ไม่เพียงยอมรับว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่มาแบบไม่ปกติ และในขณะเดียวกันก็ยังเชียร์ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ว่าเป็นภาวะที่ค่อนข้างวิปริต “ต่างประเทศก็งงว่าทำไมสื่อถึงรับได้หรือบางสื่อก็เป็นพีอาร์ให้กับรัฐบาลทหาร สุดท้ายคำตอบก็อยู่ที่ว่าสื่อไทยจำนวนหนึ่งเลือกแล้วว่าระบอบเผด็จการทหารน่าจะดีกว่าระบอบทักษิณ เพราะฉะนั้นมันก็เป็น choice ที่พวกเขาได้เลือก แต่ว่าผมก็ไม่ได้รู้สึกว่า นั่นเป็นสิทธิที่เขาจะเลือกนะ เราก็ต้องมาเถียงกันว่านั่นเป็นสิ่งที่ถูกหรือผิด เขามองการณ์ไกลหรือมองการณ์สั้น”
อย่างไรก็ตาม ประวิตรบอกว่าแม้ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายในสายตาของใครก็ตามแต่เขาก็ยังมีความหวังว่าสังคมไทย รวมถึงสื่อไทยจำนวนหนึ่ง ยังสามารถยืนหยัดเพื่อไม่ให้สังคมถูกผลักย้อนหลังด้านสิทธิเสรีภาพไปมากกว่านี้
รังเกียจทหาร?
รศ.อุบลรัตน์ : มีประเด็นสำคัญที่คุณประวิตรจะย้ำบ่อยๆ คือเราจะทำให้เรื่องของรัฐบาลทหารเป็นปกติไม่ได้ มันก็มีโควตของนายกว่า “ทำไมรังเกียจทหารนัก” อาจจะไปเห็นเสื้อรังเกียจเผด็จการอะไรก็ไม่รู้ แต่เราต้องตอบคำถามให้ได้ว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องเกลียดทหาร คือดาว เครื่องแบบอะไรก็เท่แหละในสายตาบางคน แต่ทำไมคุณประวิตรกับคนบางกลุ่มถึงค้าน มันผิดแปลกตรงไหนเหรอ เราต้องมีเหตุผลที่จะถกเถียงกันได้
ประวิตร : ”ผมออกตัวก่อนเลยนะครับว่าคุณอาจจะหาว่าผมโกหกหรืออะไรก็ตามแต่ แต่ผมไม่เคยเกลียดทหาร เราไม่เห็นด้วยกับเผด็จการทหาร แต่ผมก็บอกเขาเสมอ ผมให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ทีวีในกรณีเช่นการใช้คำขวัญรังเกียจทหาร ถ้าจำไม่ผิดแคมเปญน่าจะมาจากโบ ณัฐฐา ที่ทำเสื้อยืด ผมยังไม่ได้ออกมาโพสต์ แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยที่จะออกมาเกลียดชัง ผมรู้สึกว่าการเกลียดชังเป็นพื้นฐานที่มันทำลายแม้แต่คนที่เกลียดเองที่กำลังทำลายคนที่เกลียด อยากให้สังคมสู้เพื่อความรักในเสรีภาพ รักในความเคารพ ในความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน แน่นอนว่าผมพูดเรื่องนี้ ผมอาจจะไปขอญาติคนที่ตายจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองไม่ว่าฝั่งไหนก็คงลำบาก บอกเลยว่าจิตใจคุณไม่สงบ ถ้าคุณเกลียด รังเกียจนี่อาจจะเป็นระยะต้นๆ ก่อนจะไปถึงระยะที่เรียกว่าเกลียดชัง มันเป็นเรื่องหลักการ ฉะนั้นข้อโต้แย้งที่ผมส่งไปให้ตำรวจในข้อ 116 และพรบ. คอม มันก็มีโพสต์ที่ผมไม่เห็นด้วยที่คนจะเรียกคุณประยุทธว่าไอ้ตูบหรือไอ้เหล่ ผมคิดว่าถ้าเราไม่เห็นด้วยเผด็จการทหารเราควรใช้เหตุผล ไม่งั้นเราไม่ต่างกับเผด็จการทหารที่เขาไม่ได้ใช้เหตุผลเลย คือใช้อำนาจพยายามทำให้คนเงียบ ฟังแล้วอาจจะดูโลกสวย แต่ผมว่าสุดท้ายถ้าใจอยู่กับความเกลียดชัง คนเหล่านั้น suffer มาก ผมสงสารเขาด้วยซ้ำไป เขาอยู่กับความเกลียดชัง ผมไม่แน่ใจ โดยเฉพาะท่านอื่น อย่างคนที่ทำคดี 112 เยอะเขารับอะไรไปบ้าง”
มุทิตา : “รังเกียจทหารเหรอคะ คือเราคิดว่าประโยคมันไม่จบค่ะ คือประโยคนี้มันเกิดขึ้นในบริบทที่ทหารยึดอำนาจทางการเมืองไง ทหารไม่เล่นตามกติกา ทหารเอาสิทธิของทุกคนไปหมดเลย สิทธิการเลือกตั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานว่าทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ สิทธิที่ทุกคนไม่สามารถถูกปิดตาพาไปค่ายทหารได้ง่ายๆ เราคิดว่ามันเกิดขึ้นในบริบทนี้ และเราเข้าใจได้ แต่ถามว่าประเด็นเรื่องความเกลียดชังมันก็มีประเด็น การสู้ด้วยความเกลียดชังมันเผาตัวเอง แล้วทำให้ไม่มีที่ของความเป็นไปได้อื่นสำหรับฝ่ายตรงข้าม เพราะเราก็ไม่เชื่อในขาวในดำ ฝ่ายประชาธิปไตยก็มีประเด็นที่น่าด่าเยอะแยะ นักการเมืองก็มีประเด็นที่น่าด่าเยอะแยะ ทุกคนก็มีประเด็นที่น่าด่าเยอะแยะ ปัญหาคือว่า เกาะไปตามกติกาพื้นฐานที่ให้สิทธิกับทุกคนรึเปล่า เราคิดว่านั่นเป็นประเด็น แต่ว่าแคมเปญนี้ก็คิดได้หลายแง่มุม
เราก็เข้าใจความรู้สึกของคนที่ถูกรังแกและกดทับตลอดสามปีนะ บางทีมันก็ใช้อำนาจที่ nonsense มากๆ เช่นไผ่ หรือคนอื่นๆ ที่เอ่ยชื่ออีกเพียบแล้วคนจะไม่รู้จัก มันเยอะ ภาคใต้ไม่ต้องพูดถึง เขาโดนเรื่องซ้อมทรมาน ช่วงนี้ก็หนักไปใหญ่ ข่าวเขาก็อาจจะลำบากขึ้นอีกเพราะมีภาคอื่นด้วยเรื่องการซ้อมทรมานหรืออะไรต่อมิอะไร มันกระจายความไม่ปกตินี้อย่างค่อนข้างเท่าเทียม ทำให้คนที่ถูกกดทับขนาดนั้นไม่มีอาวุธที่จะสู้ แล้วเราก็เลยเกิดว่ามันคงเกิดอะไรที่ satire พวกนี้ได้ ซึ่งก็ไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียดว่าขอบเขตควรไปได้แค่ไหน มันเป็นอาวุธที่ดีหรือไม่ในต่างประเทศ ก็มีแง่มุมที่ศึกษาเพิ่มเติม แต่พยายามทำความเข้าใจคนที่ใช้แง่มุมนี้ ในยุคนี้”
นิติธร : “เห็นด้วยกับพี่ประวิตรกับพี่ปลาว่าการสู้ด้วยความเกลียดไม่ใช่จุดเริ่มต้นและจุดจบที่ดีอย่างที่หวังไว้ แต่ว่าเวลาที่ไปทำข่าวก็สัมผัสได้เลยว่าชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจริงๆ โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้นจะบอกว่าไม่เกลียด ก็ยากต่อความรู้สึกของพวกเขา หลายคนก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาด้วยซ้ำไป แล้วก็ยังเผชิญต่อเนื่องตลอดเวลา
ในแง่นึง ทหารก็เข้าใจปัญหาในพื้นที่ และรู้ว่าการแก้ปัญหาของเขาจะไม่ได้ผล ผมคิดว่าตรงนี้ เวลาเจ้าหน้าที่รัฐหรือทหารไปกระทำอะไรต่อเหยื่อ มันไม่ได้ส่งผลแค่เหยื่อคนนั้น แต่มันส่งผลต่อการแก้ปัญหาในภาพรวมเลย ผมไปสัมภาษณ์ 13 ปีปัญหาภาคใต้ ไม่ได้เจอปัญหาอื่นเลย หนึ่งในปัญหาสำคัญคือทัศนคติต่อเจ้าหน้าที่รัฐ พูดซ้ำสิบสามปีที่แล้ว ปีนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ คำถามคือทำไม คือผมคิดว่าความเกลียดไม่เหมาะสม แต่คนที่เกลียดจริงๆ ทั้งที่เขาไม่อยากเกลียด พอมันเกิดขึ้นแล้ว มันเยียวยายาก ไม่พอ ยังไมได้เยียวยาด้วยซ้ำไป”
รศ.อุบลรัตน์ : เดี๋ยวเปิดให้ทุกท่านที่มาร่วมฟังใครจะคุยก็ขอเชิญนะคะ ทั้งสามท่านก็ตอบชัดเจน บางทีคำว่าเกลียดเป็นคำรวมที่สั้นและง่าย แต่ถ้าขยายความก็จะบอกว่ามันเกิดจากการถูกใช้อำนาจมาก่อน มันเป็นปฏิกิริยารึเปล่า ดังนั้นคำที่รวมมาง่ายๆ แบบนี้มันมีคำอื่นรึเปล่า ถ้ารวมมีบรรยากาศที่มาคุยกันอย่างเสมอ แต่ละฝ่ายให้เกียรติกัน มันคงเป็นไปได้ แต่มักจะไม่ใช่ เมื่อกี้คุณประวิตรอธิบายว่าเราต้องพยายามเริ่มต้นที่จะไม่เกลียด ปัญหาของเราคือสิ่งที่เราเห็น ตอนนี้มีคำว่าธำรงวินัย มันเป็นกระบวนการธำรงอภิสิทธิ์ หลักการของมันคือทำให้คนไม่เท่ากัน แล้วโครงสร้างของการแชร์อำนาจในสังคมนี้มันจึงบิดเบี้ยวใช่ไหม แต่ละคนก็จะอธิบายต่างๆ แต่พวกเราถูกริบอำนาจไป ถูกริบสิทธิของเราไป เป็นเพราะว่าบางคนมีอภิสิทธิ์กว่าเรา
ที่จริงปัญหานี้มันมีเบื้องหลัง แต่ถูกสรุปมาสั้น ง่าย ถูกเอาไปขยายว่ามีวิธีการแก้ไขปัญหาที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นทหารอาจจะสรุปประเด็นเหมือนกันว่ารังเกียจทำไม แต่ที่จริงต้องอธิบายด้วยหลักการ มันมีหลักการที่อยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่าสนี้ อาจจะต้องรับฟังกันและกัน แต่เราไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะไปบอกเขา ก็ได้แต่คุยกันในวงนี้แหละ คนที่หันมาฟังคงน้อย แต่อาจเชิญไปปรับทัศนคติว่าเราคิดแบบนี้ไม่ถูก ก็เชิญนะคะ ใครอยากสนทนาด้วย มาค่ะ
ถาม – ตอบ นิสิตจุฬา : อันนี้หนูถามแบบยังไม่ได้หาข้อมูลหรืออะไรมานะคะ คือหนูอยากรู้ว่า บรรยากาศสื่อในช่วงปี 49 กับ 57 มันค่อนข้างต่างกันมาก หนูอยากรู้ว่าในสายตาพี่ๆ ที่ทำงานมา มันต่างกันจริงๆ หรือมีปัจจัยอื่นที่ทำให้มันต่างกัน มุทิตา : ถ้าตอบแบบสั้นที่สุด คือเขาได้เรียนรู้ความผิดพลาดจากครั้งที่แล้ว แล้วครั้งนี้กระชับอำนาจกว่าครั้งที่แล้วเยอะ การเตรียมพร้อมมากกว่าเยอะ คือเรามีความรู้สึกว่าช่วงหลัง 57 ที่ตามล่าคนที่ถูกเอาไปค่าย มันจะมีความรู้สึกว่านี่แหละคือการทำงานของกองทัพอย่างแท้จริง ที่ทำงานทุกคนตั้งแต่ล่างสุดยันบนสุด ทุกคนมีงานทำหมดในการรองรับพลเมืองขี้ดื้อทั้งหลาย แกนนำทั้งหลาย แล้วแต่ว่าจะจัดการในเลเวลไหน แล้วรู้สึกว่าเขาใช้ทรัพยากรได้เต็มที่มากจริงๆ แล้วหลายคนที่ไปเข้าค่ายมาได้เห็นระบบรวบรวมองค์ความรู้ของกองทัพย้อนหลังหลายปี แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ส่วนกลางและทั้งประเทศได้ลิ้มลอง และนี่เป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพมาก ขอชื่นชม เพราะเขากระชับอำนาจเยอะก็เลยไม่มีใครกล้า challenge เขา อย่าง Thai PBS ตอนรัฐประหารพยายามจะออกอากาศ นั่นก็เป็นความกล้าหาญสุดท้ายเท่าที่เห็น เล็กน้อย ควรจะพูดว่าเล็กน้อยไหม เอาจริงคือมองในสเกลต่างประเทศมันก็โคตรเล็กน้อย แต่มันก็เป็นอันเดียวที่สื่อเมนสตรีมทำ นิติธร : แน่นอนว่ามันส่งผลมากๆ ต่อยอดจากพี่ปลานิดนึง พอเขาเตรียมมา ฟังก์ชั่นมันครบ ทีวีที่มีปัญหาอย่างวอยซ์โดนก่อนล่วงหน้าแล้ว คือในรัฐบาลทหารทุกช่องจะถูกปิด แต่วอยซ์ถูกปิดไปแล้วด้วยกฎอัยการศึกที่กองทัพบบกประกาศในกรุงเทพก่อนแล้ว คือมันเป็นระบบ ตอนนั้นก็มีกระแสข่าวว่าจะรัฐประหารไหม เราก็อยากรู้ว่าช่องเราจะทำยังไง ก็ไม่ต้องรู้ โดนไปก่อนแล้ว แน่นอนว่ามันมีความต่าง ตอนปี 49 ผมก็ยังเด็กอยู่ อาจจะไม่ได้ตอบในแง่ของการทำข่าว แต่ก็เห็นว่ามันสามารถวิจารณ์รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ได้อย่างเต็มที่ แต่ตอนนี้มันคนละแบบกัน แต่ที่ติดใจและอยากตอบตรงนี้คือ ในนามของกฎหมายหลังปี 57 เอาความที่ไม่ได้อยู่ในกฎหมายมาใส่ในกฎหมายจนเป็นความเคยชินว่ามันเป็นกฎหมายอย่างหนึ่ง แล้วสิ่งนี้อาจจะพัฒนาไปเป็น 4.0 หรือยุทธศาสตร์ในอนาคต ผมก็ไม่แน่ใจว่าความไม่ปกติกลายเป็นปกติ แล้วสุดท้ายกลายเป็นอายุวัฒนะที่ต้องทำมันต่อไป อันนี้คือสิ่งที่น่ากังวล และผมว่าสื่อส่วนใหญ่ก็รู้ แต่ด้วยภาวะหลายๆ อย่าง แล้วการจะยึดอำนาจครั้งนี้ ฟังก์ชั่นมันคม บางครั้งเราตามไม่ทัน พี่ปลาอาจจะไปตามล่าคนที่ถูกควบคุมตัวหรือฟังคดี 112 แต่พวกสนช. ก็ออกกฎหมายไปแล้ว คณะกรรมการยุทธศาสตร์ก็ออกไปแล้ว มันเกิดภาวะที่สื่อก็เหนื่อยเหมือนกันเพราะว่าเต็มสตรีม และคนเห็นด้วยกับเขา โดยเฉพาะในระบบ มันมีเยอะมาก ประวิตร : ในฐานะที่คนอยู่ทัน แล้วก็ทำงานหลังรัฐประหารปี 49 มันก็ต่างกันมากอย่างที่น้องว่า ผมก็จำได้ว่าผมปฏิบัติหน้าที่ของผม ตรวจสอบเผด็จการคมช. ให้ดูง่ายๆ ตอนนั้นกลุ่มต้านรัฐประหารที่มีโปรไฟล์สุดตอนนั้นคือกลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหาร ซึ่งก็มีคนอย่างธนาพล อิ๋วสกุล, โชติศักดิ์ อ่อนสูง แล้วก็อีกสามสี่คน ถ้าจำไม่ผิดคนเหล่านั้นไม่เคยโดนคดีเลย แล้วมาเทียบกับพวกประชาธิปไตยใหม่ หรือจ่านิว, รังสิมันต์ โรม ตอนนี้ขึ้นศาลเป็นว่าเล่น ขณะเดียวกันเราก็เห็นการสุกงอมของการต่อสู้ทางการเมือง จนเป็นความเกลียดชังทั้งสองฝ่าย ผมว่าสเกลของกปปส.กับพันธมิตรนี่ต่างกันมาก หรือแม้กระทั่งแดงก็สุกงอมในระดับนึง มันผ่านการต่อสู้ในปี 53 แล้วก็มีบริบทที่นักวิชาการทั้งในและนอกคาดการณ์เรื่องการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ฉะนั้นก็เลยมีคนจำนวนนึงที่ยอมรับรัฐประหาร และคนจำนวนนึงที่พร้อมจะเซ็นเซอร์สื่อส่วนอื่นๆ เพื่อเชียร์ทหาร ซึ่งจริงๆ บริบทมันต่างกันไม่น้อยเลย ฟหก พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ : เปรียบเทียบรัฐบาลทหารแรกกับรัฐบาลทหารสอง ถ้าพูดถึงการทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ต่างกันเยอะเหมือนกันค่ะ เพราะจริงๆ แล้ว รัฐประหารครั้งแรกสร้างการเปลี่ยนแปลงในแง่บวกกับภาคใต้ค่อนข้างมาก เพราะว่ามีการลงไปขอโทษ และบรรยากาศของการปรับเปลี่ยนวิธีการของการใช้กำลังทหารทางสันติวิธีก็ยังคงค้างอยู่ แต่ว่าเนื่องจาการเปลี่ยนแปลงทางกรุงเทพมีมาก ทำให้บริบทของการพยายามที่จะเจรจาและความพยายามเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งให้เป็นเสรีภาพ มันต้านไม่อยู่ แต่ว่า ที่อยากจะพูดตรงนี้คือ การปฏิวัติทำลายหลักนิติธรรม และกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม ตอนแรก ในสมัยที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ประกาศกฎอัยการศึกและมีพรก.ฉุกเฉิน หลักนิติธรรมได้ถูกทำลายโดยสิ้นเชิง แต่ไม่เป็นที่สนใจของส่วนใหญ่ในประเทศ และหลักการนั้นถูกพิสูจน์โดยทหารบางกลุ่มในพื้นที่ว่าจะชักจูงแกนกลางของกองทัพไทยให้เชื่อว่า ถ้าคุมได้แม้กระทั่งกระบวนการยุติธรรม คุณจะคุมได้ตลอดไป และตอนนี้ก็พิสูจน์ได้ว่า วิธีการที่เกิดขึ้นเป็นขั้นเป็นตอนไปของการใช้กฎหมายพิเศษ มันถูกคืบคลานมาจนสามารถควบคุมการใช้กระบวนการยุติธรรมทั้งประเทศได้แล้วโดยคำสั่งต่างๆ ดูเหมือนว่าจะอยู่ถาวรกว่ากฎอัยการศึกด้วยซ้ำเพราะมันจะไม่ถูกยกเลิกโดยง่าย ก็อยากแสดงความน้อยใจกับสังคมไทยว่า ถ้าเราสามารถแสดงว่าเรื่องสามจังหวัดไม่ใช่เรื่องอื่นมาตั้งแต่ยุคแรกๆ เราคงไม่ยิงยาวจนถึง 14 ปี และเราคงไม่ถูกนำบทเรียนจากสามจังหวัดมาใช้กับทั้งประเทศอย่างง่ายดาย เพราะพอถูกใช้แล้วทำให้คนส่วนหนึ่งเป็นอื่นได้ โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่ใส่ใจ คิดว่าไม่ใช่เรื่องเรา บัดนี้ กระบวนการประชาธิปไตยก็ถูกทำให้เป็นอื่น โดยไม่สามารถกลืนได้กับกระแสหลักของสังคม โดยเราถูกกีดกัน ถูกทำให้เป็นคนที่อาจจะน่ารังเกียจด้วยซ้ำ จนเข้ากับใครไม่ได้ ทั้งๆ ที่เราเองมีหลักการที่เป็นสากล ถึงที่เราได้พัฒนาแล้ว ในกระบวนการยุติธรรม กระบวนการประชาธิปไตยในเวทีโลก แต่กลับมาบ้านเรา เราไม่มีคุณค่าในพื้นที่ส่วนใหญ่ เกิดจากอะไรก็ไม่รู้ การศึกษา การต่อต้านเผด็จการหรือการใช้อำนาจจากทุนนิยมอย่างที่กำลังจะโยงถึงว่ามันเข้มข้นมาก ที่ทำให้เราเป็นตัวเล็กตัวน้อย แล้วคนที่ถูกบี้ตอนนี้ไม่ใช่พวกเราที่มีสื่อ แต่เป็นชาวบ้านที่ถูกไล่ยึดที่ เหมืองแร่ หรือบริบทต่างๆ ที่ทำให้เขาไม่เป็นมนุษย์แล้ว อย่างสามจังหวัด ยางก็ไม่มี ห้าโลร้อยมาหลายเดือนแล้ว น้ำก็ท่วม ไปพูดกับนายกฯ ก็โดนด่า คือมันสุดแล้วจริงๆ แล้วชาวบ้านที่อีสานหรือที่เราทำงานด้วยก็คงต้องทนไป แล้วคิดว่ามันจะระเบิดหรือมีวิธีการอื่นๆ ไป จริงๆ เราก็ต้องพึ่งสื่อ และยังมีความหวังเหมือนกันกับสื่อรุ่นใหม่ น้องๆ รุ่นใหม่ที่มีโอกาสได้ทำงาน เช่น งานสารคดี ซึ่งเราใช้เป็นประโยชน์มาก เพราะงานข่าวประจำวันมันเป็นกระแสแป๊บเดียว แต่สารคดีที่มันเกาะกระแสบางเรื่องเราก็ใช้เป็นทฤษฎีที่สื่อสารสารธารณะหรือเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ดี ก็เป็นกำลังใจให้ทุกคนตรงนี้นะคะ รศ.อุบลรัตน์ : ขอสรุปตอบนะคะ ในโลกของสัญลักษณ์ ภาษา วาทกรรม คิดว่ารัฐประหารชุดนี้ทำงานหนักกับเรื่องนี้ด้วย อะไรที่ไม่ใช่กฎหมายาหรือหลักนิติธรรมก็จะย้ำว่าใช่ สนช. ก็เป็นสภาพของสภานิติบัญญัติหรือสภาผู้แทน จะบอกว่านี่คือกระบวนการที่ถูกต้อง ชอบธรรม เข้ามาแทนสภาที่ถูกเลือกตั้ง คือมีวาทกรรมล้างสมองทางภาษา ยึดอำนาจก็คืนความสุข การอนุรักษ์หรือการเปลี่ยนโครงการที่ก้าวหน้าก็จะบอกว่า อย่างสามสิบบาท ซึ่งกำลังจะถูกรื้อ ปฏิรูปก็ใช้ในความหมายอื่น ซึ่งไม่มีสาระในการเปลี่ยนแปลงก็ใช้คำว่าอนุรักษ์ เป็นต้น เพราะฉะนั้นในฐานะที่ทำงานด้านสื่อเองก็ไปใช้ภาษาที่เสริมกับวาทกรรม ถามว่าตอนนี้การจัดระเบียบเป็นคำปกติใช่ไหม มันไม่ใช่ เวลาพูดว่าจัดระเบียบจะหยุดคิด ดิฉันไม่ได้อยู่ในวินัยทหาร จะจัดระเบียบทำไม จัดระเบียบทางเท้า อะไรก็จัดระเบียบ มันคือภาษาทหาร เราเริ่มใช้ภาษาทหารในชีวิตประจำวันตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วสมองเราก็จะไม่คิดคำโต้แย้งหรือมีเหตุผล มันกล่อมเราไปเรื่อยๆ ถ้าเราผ่าสมองของเรามันอาจจะผิดแปลกไปจากรุ่นก่อนๆ เพราะมันไม่พัฒนาหรือพัฒนาบิดเบี้ยวไป แต่จากคำถามของนิสิตคือกลุ่มที่ทำรัฐประหารอาจจะเป็นคนละกลุ่มก็ได้ คงต้องรอผู้สื่อข่าวไปทำการบ้าน ว่ากลุ่มปี 49 และ 57 เขาบอกว่าเสียของเพราะกลุ่มปี 49 ไม่เก่งพอ ขอแสดงฝีมือรุ่นนี้หน่อย เราก็เลยต้องทนเจ็บปวดและสู้ไปอีกยาวทีเดียว ก็ขอขอบคุณทุกท่านนะคะ คุณมุทิตา คุณนิติธร คุณประวิตร แล้วก็สมควรได้รับการยกย่อง เป็นปากเสียงแทนเรา และดูเหมือนว่าจะทำต่อไป หวังว่าสถาการณ์จะเปลี่ยนภายใต้การทำงานของเราทุกคนตรงนี้ ขอบคุณทุกคนค่ะ |
