Skip to main content

ปลายเดือนมีนาคมต่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปรากฏการณ์สำคัญของวงการทีวีไทยเกิดขึ้นเมื่อวอยซ์ทีวีต้องระงับการออกอากาศ กลายเป็นทีวีจอดำนานถึง 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึง 3 เมษายน 2560 ตามมติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ที่มีคำสั่งให้ลงโทษทางปกครองพักใช้ใบอนุญาตของสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินหรือดิจิตัลทีวี ช่องวอยซ์ทีวีเป็นเวลา 7 วัน นับตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 28 มีนาคม ซึ่งวอยซ์ทีวีจะออกอากาศได้อีกครั้งหนึ่งคือ เวลา 00.01 น. ของวันที่  4 เมษายน

สิบสามชั่วโมง หลังวอยซ์ทีวีออกอากาศตามปกติ มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ เปิดวงสนทนาว่าด้วยเรื่อง เสรีภาพสื่อ กรณีพักใบอนุญาตวอยซ์ทีวี  กับ รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านสื่อ และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอาท์ อรพิณ ยิ่งยงวัฒนา เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ สมาคมสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า) และนวลน้อย ธรรมเสถียร  นักข่าว/ผู้ผลิตสารคดีอิสระและเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ และนี่คือส่วนหนึ่งของวงสนทนาในวันนั้น

มูลเหตุแห่งจอดำ 7 วัน ดาบแรกสำหรับสื่อดิจิตัลทีวี

นวลน้อย ในฐานะผู้นำการสนทนากล่าวปูประเด็นถึงเนื้อหาที่นำเสนอในวอยซ์ทีวีจนนำสู่ที่มาของสถานการณ์จอดำ 7 วันว่า มีการรายงานและวิเคราะห์ในกรณีการวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส สองกรณีธรรมกาย และสามกรณีโกตี๋ ที่ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่บุกค้นและจับกุมอาวุธได้เป็นจำนวนมาก นวลน้อยกล่าวว่าการลงโทษพักใบอนุญาตการออกอากาศ 7 วันถือเป็นเรื่องใหญ่ในอุตสาหกรรมทีวีใน 2 มิติ มิติแรกคือด้านเศรษฐกิจ 7 วันของอุตสาหกรรมทีวีสามารถตีเป็นมูลค่าได้จำนวนมหาศาล มิติที่สองคือ การเขย่าความเชื่อมั่นของคนทำงาน คำถามของนวลน้อยคือ ปรากฏการณ์ทางสังคมของสื่อเช่นนี้เคยมีมาก่อนหรือไม่ ซึ่ง รศ. อุบลรัตน์มองว่าน่าจะเป็นครั้งแรกของทีวีดิจตัลที่เปิดทำการมา 3 ปี ก่อนหน้านี้สื่อของรัฐและสื่ออื่นในสัมปทานช่องของรัฐ ทั้งของกองทัพบกและของ อสมท. มักอยู่ในสภาพได้รับการยกเว้น ไม่ต้องถูกกำกับดูแลหรืออาจได้รับการผ่อนปรนเป็นพิเศษ หรือจะถูกกำกับโดยผู้ให้สัมปทาน

                “นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ลงดาบกับสื่อดิจิตัลทีวี ถามว่าสั่นสะเทือนวงการไหม คงสั่นสะเทือนมากทีเดียว ...นอกจากจะทำให้ธุรกิจเสียหายแล้ว อีกมุมหนึ่งสำหรับคนดูคือสิทธิเสรีภาพเสียหายอย่างรุนแรง เป็นความวิตกกังวลในหมู่คนทำทีวี แต่ความน่าตกใจคือผู้ร้องเป็น กสทช. เป็นผู้คุมกฎ อาจจะทำให้ความสั่นสะเทือนวงการนั้นเกิดขึ้นว่าแล้วช่องอื่นๆ จะถูกร้องบ้างหรือไม่ หรือจะถูกลงโทษอย่างไรถ้ามีการร้อง” อุบลรัตน์กล่าว

                ขณะที่อรพิณ สมาคมสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มองว่า บทลงโทษของวอยซ์ทีวี ครั้งนี้ถือว่าเป็นบทลงโทษที่รุนแรงที่สุดของวงการทีวี เพราะเป็นการสั่งพักใบอนุญาตของสถานี มีผลถึงการออกอากาศของทุกรายการในสถานี มิใช่การลงโทษบางรายการ หรือการลงโทษต่อตัวบุคคลดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมา

                ย้อนกลับไปดูกระบวนการของคำสั่งที่นำสู่ภาวะจอดำ 7 ของวอยซ์ทีวี  ตามที่ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการกล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันที่ 27 มีนาคม[1] พบว่าเริ่มจากหัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักงานเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำเรื่องร้องเรียนไปยัง กสทช. ว่ารายการที่ออกอากาศทางช่องวอยซ์ทีวี 3 รายการ คือ “ใบตองแห้งออนแอร์” ตอนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช. และกรณีวัดธรรมกาย  รายการ inherview ตอนที่พูดถึงเรื่องโกตี๋ และรายการ OVERVIEW ที่พูดถึงการถูกวิสามัญฆาตกรรมของนายชัยภูมิ โดยทั้ง 3 รายการมีการกระทำผิดซ้ำซากในรูปแบบเดิมคือ นำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงไม่รอบด้าน มีเนื้อหาค่อนข้างรุนแรง และนำเสนอความคิดเห็นด้านเดียว โดย พล.ท.พีระพงษ์ ได้กล่าวในวันแถลงข่าวว่า ในปี 2559 มีผู้ร้องเรียนการดำเนินรายการของวอยซ์ทีวีจำนวนมาก และ กสท. เองได้ลงโทษทั้งตักเตือนและสั่งปรับทางปกครองไปแล้วจำนวน 10 ครั้งและในส่วนของปี 2560 มีการลงโทษปรับไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ยังมีการทำความผิดซ้ำซาก ทั้งที่เคยมีการทำ  MOU หลังรัฐประหารไปแล้วเรื่องการปรับปรุงการนำเสนอรายการ

                ในฐานะคนทำงานด้านเสรีภาพสื่อ อรพิณ มองว่าเหตุและผลของการลงโทษวอยซ์ทีวีในครั้งนี้ เป็นสาระสำคัญที่คนทำสื่อต้องให้ความสำคัญ

                “เราต้องดูที่คณะกรรมการ คสช. อ้างว่ารายการตามที่ลิสท์มานั้นมีความผิดอย่างไร เช่น กรณีที่ใบตองแห้งพูดถึงการใชอำนาจรัฐจับพระวัดธรรมกาย ซึ่งตามคำร้องเรียนของ คสช. บอกว่ามีเนื้อหาการนำเสนอที่มิได้เป็นการติชมโดยสุจริต เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ขาดเหตุผล ไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงและก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม ... และเหตุผลที่ พล.ท. พีระพงษ์ ให้ไว้ตอนแถลงข่าวคือ ‘เช่น เวลารายการเอาตัวอย่างมา ก็หยิบมาจากนิตยสารรายสัปดาห์ ซึ่งนิตยสารรายสัปดาห์ในเมืองไทยก็เป็นอย่างที่ทราบแล้วว่าวิธีคิดต่างกัน จริงๆ ถ้าจะเป็นสื่อมืออาชีพต้องนำเสนอให้รอบด้าน หรือจะนำวิธีคิดมาจากสำนักไหนก็ต้องนำมาทั้งสองทาง พอเลือกมาทางเดียวมันแสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุล’ ตัวอย่างหนึ่งที่พล.ท.พีระพงศ์อธิบายในการแถลงข่าวคือ ‘เราไม่มีสิทธิที่จะไปห้ามสื่อวิจารณ์ แต่การวิจารณ์ต้องอยู่บนฐานข้อมูลข้อเท็จจริงวิธีคิดต้องกระจายต้องกว้าง อย่าคิดไปในทางเดียว การจะคิดกระจายหรือกว้าง บางทีอยู่ที่คนที่คุณเชิญมาเป็นพิธีกร เมื่อไรถ้าเผลอเอาคนที่เป็นแนวเดียวกันมานั่งคุย มันก็เป็นอย่างที่ผมบอก องค์ประกอบมันได้ มันก็คุยในแนวเดียวกัน แล้วถ้าบอกว่าเป็นการกระทำหน้าที่โดยสุจริต มันก็สุจริตในเวอร์ชั่นของคุณ แต่ด้วยสาระที่ออกมา มันเป็นการด่วนสรุป เป็นการคิดเอาเอง และบางเรื่องคดียังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม เช่น กรณีคดีเด็กชนกลุ่มน้อย คุณจะไปคิดอะไรเกินข้อเท็จจริงไม่ได้ หรือคุณจะทำตัวเป็นทนายของฝ่ายค้านก็ไม่เหมาะ เรื่องนี้มีประเด็นของมันเยอะ”

ฤาจะเป็นสัญญาณของการสิ้นสุดรายการวิเคราะห์ข่าวการเมือง

                จากเหตุและผลของการพักใบอนุญาตออกอากาศของวอยซ์ทีวี อรพิณมองว่าฝ่ายผู้มีอำนาจกำลังเพ่งเล็งไปที่รายการวิเคราะห์ข่าวที่อิงสถานการณ์บ้านเมือง

                “จะเห็นว่า กสท. ให้ความสนใจไปที่รูปแบบรายการวิเคราะห์ข่าวที่มีพิธีกรข่าวมานั่งคุย แล้วที่ผ่านมาเขาก็มองว่าเวลาที่ตักเตือนไปก็มีการแก้ไขบ้าง เช่น Wake Up News ก็มีการปรับให้ช่วงแรก มีการอ่านข่าวแล้วค่อยมาวิเคราะห์ภายหลัง แต่เขาก็มองว่าเป็นการปรับตัวที่ไม่ดีพอ หรือรายการที่เคยมีพิธีกร 4 คน ก็อาจลดลงเหลือเพียง 2 คน ซึ่ง พล.ท.พีระพงศ์ มองว่าเท่านี้ยังไม่พอ วันนี้เป็นวันแรกที่วอยซ์ทีวีออกอากาศอีกครั้ง และบางคนก็อาจจะได้อ่านบทบรรณาธิการที่วอยซ์ทีวีแถลง นัยที่แฝงอยู่ซึ่งคิดว่าน่าเป็นห่วงคือวอยซ์ก็ดูมีท่าทางถดถอยกับการทำรายการเชิงวิเคราะห์ข่าวไปแล้ว ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นจะรู้สึกว่าน่าเสียดาย” อรพิณกล่าว

                ขณะที่นวลน้อยมองว่า เหตุผลของการปิดวอยซ์ทีวี 7 วัน เต็มไปด้วยคีย์เวิร์ดที่สำคัญของการทำสื่อ เช่น สมดุล, ไม่ลำเอียง, ข้อเท็จจริง, รอบด้าน, ไม่สรุปความเกินข้อเท็จจริง

“มาถึงวันนี้ต้องถามว่ามีกรอบอะไรที่ถูกหยิบมาเล่นเกินเหตุหรือไม่  มันสมเหตุสมผลขนาดไหน อย่างไร  มาถึงจุดนี้ กสทช. หรือใครก็ตามที่กำลังดูทิศทางการนำเสนอข่าว สื่อสารมวลชนไม่สามารถผูกขาดหลักการสื่อสารมวลชนได้ ทุกคนควรมีส่วนร่วมเพราะเราเป็นผู้เสพข่าวเช่นเดียวกัน  ดังนั้น ประเด็นสำคัญคือลักษณะรายการที่นำเสนอบทวิเคราะห์ ความเห็น ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นที่อ้างว่านำเนื้อหาของนิตยสารรายสัปดาห์มานำเสนอ แล้วบอกมันไม่ใช่ ดิฉันเชื่อว่ามีคนทำแบบนี้เยอะ คงไม่ได้มีแค่วอยซ์ แต่มันทำไม่ได้จริงหรือเปล่า”

ขณะที่ รศ. อุบลรัตน์ มองว่า หากสถานการณ์ดำเนินไปเช่นนี้ รายการวิเคราะห์ข่าวสถานการณ์บ้านเมืองทางสื่อทีวีคงจะหมดไป

                “มันคล้ายๆ จะผิดไปจากที่ กสทช. และ คสช. อยากเห็น เพราะฉะนั้นถ้าใครแหลมออกมาวิเคราะห์อะไร ก็จะมีปัญหาแน่นอน ถ้าดูการวิเคราะห์ข่าวทางทีวีแล้ว ที่ผ่านมาค่อนข้างมีอนาคตน้อยแล้ว ที่ผ่านมานักวิเคราะห์เก่งๆ ก็วิเคราะห์ข่าวต่างประเทศเป็นหลัก คุณพิชัย (วาสนาส่ง) ก็ดังจากการวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ รัฐบาลไทยผ่านมาหลายยุคก็ยังเป็นอำนาจนิยมอยู่ ช่วงรัฐบาลทหารไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้ว มันเหมือนกระตุกหนวดเสือว่าเขาสั่งแล้วไม่ให้ทำ ก็ยังทำก็เลยออกมาเป็นข้อความว่าทำผิดซ้ำซาก เตือนแล้วเตือนอีก ประเด็นคือ ผู้มีอำนาจสั่งห้ามวิจารณ์ เขียนออกมาเป็นคำสั่ง คสช. ซึ่งจะว่าไปแล้วยุคนี้มันใหญ่กว่ากฎหมายอีก มันคุมการประกอบกิจการ การปฏิบัติงาน คุมชีวิตเรามากกว่ากฎหมายโดยทั่วไป”

                ในสายตาของนักวิชาการสื่อ เนื้อหาของรายการวิเคราะห์ข่าวทีวีปัจจุบันนี้มีลักษณะของ “การสร้างสรรค์อย่างซ้ำซาก” รศ. อุบลรัตน์กล่าวว่า “คำว่าซ้ำซากนี่ก็ใช้ได้เยอะนะ มันก็จะเป็นฟอร์แมทหรือสไตล์รูปแบบรายการที่สร้างสรรค์อย่างซ้ำซากในสังคมไทย ต่อไปเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่ตอนนี้จะเป็นเนื้อหาของข่าวอาชญากรรมเป็นหลัก เราก็จะรู้รายละเอียดเกี่ยวกับข่าวอาชญากรรมอย่างลึกซึ้งและก็เป็นซีรีย์ด้วย แต่ว่าข่าวการเมืองที่จะวิเคราะห์เจาะลึกเป็นซีรีย์ก็จะถูกแทรกอยู่ บางทีถ้าเผลอลุกไปทำอย่างอื่นแป๊บนึงกลับมาก็จะกลับมาที่ข่าวอาชญากรรมอีกแล้ว ตกข่าวไป คือแทนที่จะไล่เรียงตามหลักการนำเสนอข่าว ก็จะถูกนำไปแอบ ๆ ไว้”

                เช่นเดียวกัน นวลน้อยมองว่าพื้นที่ข่าวการเมืองที่แหลมคมหายไป หดแคบลงอย่างมาก “แล้วสื่อจะทำอะไร จะเสนออะไร  หรือเราจะนำเสนอข่าวปรเภทโบกแท็กซี่แล้วแท็กซี่ไม่จอดรับกันไปเรื่อยๆ หรือข่าวที่เป็นเรื่องของตัวบุคคล ความผิดพลาดส่วนบุคคล ข่าวคลิปนั่น นี่โผล่เข้ามา ข่าวทะเลาะกับเด็กปั๊มเพราะเปิดฝาถังน้ำมันไม่ได้  ข่าวพวกนี้ครอบครองพื้นที่สื่อเยอะมาก มันกำลังเป็น new order” 

หากไม่ใช่วอยซ์ทีวี จะเกิดปรากฏการณ์จอดำ 7 วันหรือไม่

                คำถามหนึ่งที่ก่อให้เกิดการแสดงความเห็นกันอย่างหลากหลายในวันนั้นคือ หากไม่ใช่วอยซ์ทีวี การร้องเรียนจะเกิดขึ้นหรือไม่ และหากมีการร้องเรียนจะลงเอยด้วยบทลงโทษอย่างเดียวกันหรือไม่

อรพิณมองว่า มีเหตุผล 2  ประการที่ทำให้วอยซ์ทีวีตกเป็นเป้าจนนำสู่ภาวะจอดำ คือ การมีคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการเป็น “แฟนคลับ” ของสถานี และการมีเจ้าของที่เชื่อมโยงกับตระกูลชินวัตร

“คิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่วอยซ์ลำบากในการทำงานมาก วอยซ์น่าจะมีความเสียเปรียบกว่าคนอื่น เพราะเจ้าของหลังพิงกับครอบครัวชินวัตร” อรพิณกล่าวเสริมว่ามีคำสั่ง กสทช. ออกมา ได้กลับไปตามดูรายการทั้ง 3 รายการที่เป็นประเด็น พบว่าเนื้อหาของรายการไม่ต่างจากรายการอื่นๆ ของสถานีอื่น

“เนื้อหาที่ศิโรตม์ [คล้ามไพบูลย์ ผู้ดำเนินรายการ OVERVIEW] พูดถึงข่าวชัยภูมิ เนื้อหาที่ศิโรตม์พูด ใครก็พูด เช่นการตั้งคำถามว่าพื้นเพของชัยภูมิไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเลย และมีเรื่องของกิจกรรมที่เคยทำมา กิจกรรมทางสังคมที่เคยทำศิโรตม์เรียกร้องไปทางกองทัพว่าอย่าเพิ่งด่วนเชื่อผู้ใต้บังคับบัญชาให้ไปตรวจสอบก่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเนื้อหาโดยทั่วไปที่เราได้ยินทั้งในโซเชี่ยล รวมทั้งสื่ออื่นๆ โดยเนื้อหาที่วอยซ์ทำ จึงรู้สึกว่าเขาต้องพยายามเต็มที่ในการกันตัวเองให้พ้นข้อครหาของการเป็นครอบครัวชินวัตรพอสมควร” อรพิณกล่าว

                ขณะที่นักวิชาการด้านสื่ออย่างอุบลรัตน์ มองว่าเรื่องบางเรื่องเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ “วอยซ์ก่อตั้งโดยสมาชิกคนในครอบครัวทักษิณ เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ช่อง 5 ก่อตั้งโดยสฤษฎ์ (จอมพลสฤษฎ์ ธนะรัชต์) ก็เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ช่อง 11  คุมโดยใคร รัฐบาลที่อยู่ในอำนาจจะมาจากเลือกตั้งหรือไม่ก็ได้คุม เพราะฉะนั้นมันจึงมีลักษณะพิเศษที่เรียกว่าวารสารศาสตร์การเมือง ความแหลมคมจะเกิดขึ้นเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง มีการแข่งขันเพื่อเรียกแฟนคลับทางเมือง ก็จะมีความเข้มข้นเกิดขึ้น เช่น ช่วงก่อนการเลือกตั้ง ช่วงเดินขบวนประท้วง ก็จะมีเนื้อหาที่เข้มข้น”


ผู้ร่วมสนทนา (จากซ้าย) อรพิณ ยิ่งยงวัฒนา, นวลน้อย ธรรมเสถียร, อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์

ที่มาของข้อเท็จจริงภายใต้สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน

                อรพิณตั้งข้อสังเกตกับหนึ่งในเหตุผลการสั่งพักการออกอากาศของวอยซ์ทีวีในประเด็น การไม่นำเสนอข้อเท็จจริงให้รอบด้าน และไม่เป็นกลางว่า ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันข้อเท็จจริงที่รัฐบาลอยากให้สื่อรายงานจะออกมาจากที่ไหน

                “คสช. อ้างข้อเท็จจริงตลอดเวลา ตั้งคำถามว่าทำไมสื่อไม่นำเสนอจากข้อเท็จจริง คำถามคือแล้วข้อเท็จจริงนั้นจะมาจากไหน หาก คสช. อยากให้มีข้อเท็จจริงเยอะๆ มันมีหลายคำสั่งที่ คสช. ต้องแก้ไข เช่น คำสั่งฉบับที่ 97 ห้ามไม่ให้ข้าราชการให้สัมภาษณ์ ซึ่งนักข่าวมีหน้าที่หาข้อเท็จจริง ส่วนหนึ่งก็ต้องสัมภาษณ์คนที่มีข้อเท็จจริงเชิงนโยบาย เพราะฉะนั้นก็ต้องให้คนที่มีข้อเท็จจริงออกมาเปิดเผยข้อมูลเยอะๆ หรือแม้กระทั่งกรณีคำสั่ง กสท. มติที่ประชุม และวาระการประชุม แต่เดิมเคยปรากฏในเวบไซต์ แต่ตอนนี้หายไปหมดแล้ว พูดง่ายๆ คือข้อเท็จจริงหายากมากขึ้นเรื่อยๆ” อรพิณกล่าว

                นวลน้อยกล่าวเสริมว่าในขณะที่การหาข้อเท็จจริงจากฝั่งรัฐดำเนินไปไม่ได้ การตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการค้นหาข้อเท็จจริงของฝ่ายสื่อผ่านทางการวิเคราะห์ข่าวก็เป็นสิ่งที่กำลังถูกห้ามอีก  

“หน้าที่ของสื่อคือการให้พื้นที่กับคนที่ถูกกระทำและไม่มีสิทธิเสียง อย่างกรณีชัยภูมิ ก็เข้าข่ายการทำหน้าที่ลักษณะนี้ มีการตั้งคำถามเพื่อให้มีมาตรการนำเสนอต่อไปว่าตกลงใช่หรือไม่ ดังนั้นเราก็มีความรู้สึกว่าในแง่ของสื่อคุณละเลยไมได้ คุณจะนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างเดียวเท่านั้น ถามว่า จะเอาข้อเท็จริงจากไหน เป็นข้อเท็จจริงที่สื่อจะทำให้มันถูกต้องได้หรือไม่ แม้แต่ข้อเท็จจริงที่มาจากเจ้าหน้าที่ก็อาจจะไม่ใช่ก็ได้” นวลน้อยแสดงความเห็น

                ประเด็นความสมดุลหรือไม่สมดุลของข้อมูลในการนำเสนอนั้น อรพิณมองว่า สังคมไทยโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีอำนาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่

“กรณีที่ไปคุยกับผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ญาติผู้เสียชีวิตอาจทำให้สื่อโดนข้อหาว่าไม่สมดุล ไม่เป็นกลาง คำนี้จะเป็นคำที่มีปัญหามาก เชื่อมั่นว่าต่อไปก็จะโดนใช้กันมากขึ้น กรณีของวอยซ์คงไม่ใช่กรณีสุดท้าย เราคงได้ยินการที่สื่อถูกละเมิดมากขึ้นด้วยข้ออ้างว่าสื่อไม่สมดุล สื่อไม่เป็นกลาง แล้วฐานะที่เคยเรียนเขียนข่าวมา ก็ไม่เคยถูกสอนว่าในข่าวหนึ่งชิ้นต้องมีเท่ากัน  ไม่ใช่ว่าสัมภาษณ์นายเอยาว 2 นิ้ว ต้องสัมภาษณ์คนอื่นยาว  2 นิ้วเท่ากัน แต่มันคือการให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้ข้อมูลเกิดขึ้นรอบด้าน ซึ่งหมายความว่าในบางครั้งอาจจะมีข่าวกระแสหลักจำนวนมากที่พูดเรื่องเดียวกันอยู่ และเราอาจต้องให้พื้นที่กับคนส่วนน้อยที่ไม่มีพื้นที่ให้คนเข้าถึง นี่ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่พยายามทำให้เกิดความสมดุลในโลกของข่าวสาร”

                ทั้งนี้ รศ. อุบลรัตน์กล่าวเสริมโดยอ้างอิงผลการวิจัยทางวิชาการว่า งานวิจัยหลายชิ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศแสดงให้เห็นว่าแหล่งข่าวที่เป็นภาครัฐจะได้เปรียบ “ไม่ว่าจะเป็นข่าวแบบไหน 60-70% จะมาจากเจ้าหน้าที่รัฐเสมอ เจ้าหน้าที่รัฐได้พื้นที่ในสื่อเป็นส่วนมากอยู่แล้ว ทั้งการพัฒนา การเมือง การบริหาร เสียงอื่นๆ ก็จะลดหลั่นตามกันลงมา”

                ขณะที่นวลน้อยตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายรัฐในระยะหลังมีการใช้สื่อโซเชียลสื่อสารกับสังคมเองโดยตรง เช่นกรณีของ ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทวิตข้อความหาผู้ติดตามที่มีเป็นจำนวนนับสิบล้านคนทุกวันโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งสื่อมวลชน

                “แต่สิ่งที่ทรัมป์พูดไม่ได้แปลกประหลาดจากผู้บริหารอื่น ข้ออ้างอันเดียวกันคือเราทำดีตั้งเยอะทำไมไม่นำเสนอ แต่พอเราทำไม่ดีมาจิกกัด  กลับไปอ่านเรื่องของชัยภูมิ เจ้าหน้าที่ก็พูดแบบนี้ เรื่องภาคใต้ เจ้าหน้าที่ก็พูดแบบนี้ และอีกข้ออ้างหนึ่งคือ ‘คนว่าเราละเมิดสิทธิ ทำไมฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงละเมิดสิทธิคุณไม่ประณามเขา’ พักหลังมีเหตุเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กลุ่มสิทธิประณามคนทำ เป็นอะไรที่แปลกมาก เราอาจะเห็นอะไรแบบนี้เยอะขึ้น มันมีเสียงเรียกร้องให้ทำอะไรแบบนี้เยอะมากขึ้น เหมือนอย่างที่อาจารย์อุบลรัตน์ว่าเมื่อกี้นี้ คือจริงๆ แล้วพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ ในข่าวมันมีเยอะอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มีข้อเรียกร้องว่ามีน้อยเกินไป ช่วยนำเสนอให้มากกว่านี้หน่อย  และห้ามนำเสนอในลักษณะของการประนามและการเข้าข้างกัน  แล้วสื่อต้องทำยังไง” นวลน้อยทิ้งข้อสงสัย

                ท่ามกลางความขาดแคลนข้อเท็จจริง นวลน้อยตั้งข้อสังเกตว่าทำให้ข่าวลือเข้ามามีบทบาทในความทรงจำของคนเท่ากัน  “เมื่อข่าวจริงไม่ปรากฏหน้าสื่อ หรือปรากฏน้อย ต้องหลบๆ ซ่อนๆ มีชั้นเชิงในการนำเสนอ มันก็จะกลายเป็นข่าวลือ และทุกวันนี้ไม่ได้แค่ลือกันเฉยๆ แต่เป็นการลือกันผ่านโซเชียล มันก็เลยกลายเป็นว่าข่าวที่เราเห็นเป็นเศษเสี้ยวหนึ่งของที่มันเกิดขึ้น อีกเสี้ยวหนึ่งไปปรากฏในโซเชียล และสื่อหลักพยายามบอกว่าโซเชียลไม่ใช่สื่อจริง  แต่ความจริงคือมีคนจำนวนมากลงทุนเวลากับโซเชียล เพื่อหาความจริงอะไรบางอย่างที่รู้สึกว่ามันเป็นความจริง มันใช้เวลาเยอะมาก  เพราะสื่อไม่สามารถนำสิ่งเหล่านี้ออกมาเสนอได้ คุณต้องไปหาข้อเท็จจริงบางอย่างจากมหาสมุทรของข้อมูลอันท่วมท้น และต้องไปสกรีนเองจากโลกโซเชียล เพราะฉะนั้นสิ่งที่เห็นคือ สื่อเสนอได้ส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือก็ต้องเป็นสังคมก้มหน้ากันต่อไป”

เชิญติดตามบทสนทนาฉบับเต็มได้ที่นี่...


[1] http://www.thaipost.net/ ?q=สั่งปิดวอยซ์ทีวีจอดำ7วัน-กสทชี้ผิดเอ็มโอยูซํ้าซาก

 

กสทช. VS เสรีภาพวอยซ์ฯ เสรีภาพสื่อ