นอกจากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจที่สื่อทุกแห่งกำลังเผชิญแล้ว สถานการณ์ที่รัฐอยากมีส่วนร่วมในการควบคุมและคุ้มครองสื่อก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนขององค์กรสื่อ ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา 30 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้ร่วมกันแถลงการณ์คัดค้านร่างกฎหมายที่ใช้ชื่อว่า “คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” โดยนายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป กล่าวในการแถลงข่าวต่อต้านร่าง พ.ร.บ. นี้ว่า "...ขอย้ำว่า นี่ไม่ใช่มีผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อเพียงอย่างเดียว แต่จะมีผลกระทบกับประชาชนต่อความสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเสรีในอนาคต เพราะสปท. รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังทำบางสิ่งที่ถ่ายโอนอำนาจให้กับนักการเมืองซึ่งต้องการเรื่องนี้”
มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ จัดเวทีมีเดียคาเฟ่ - สื่อสนทนาในประเด็นนี้ เมื่อวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในหัวข้อ "พ.ร.บ. (ไม่) คุ้มครองสื่อ/ ความอิสระภายใต้งบรัฐ?" กับ สุชาดา จักร์พิสุทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ), อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต โดยมี นวลน้อย ธรรมเสถียร เป็นผู้ชวนสนทนา
นวลน้อย ธรรมเสถียร – เกริ่นนำว่าเรื่องของการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อไทยนั้นเป็นประเด็นที่สาธารณะพูดคุยกันมาค่อนข้างยาวนาน และในร่าง พ.ร.บ. สื่อฉบับนี้ภายใต้ชื่อ “พระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” มีทั้งคำว่า มาตรฐานวิชาชีพสื่อ, คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม เป็นคีย์เวิร์ด แต่เท่าที่ดูความเคลื่อนไหวของสื่อแล้ว ทุกคนออกมาแสดงท่าทีคัดค้าน ซึ่งประเด็นหลักของร่างเป็นอย่างไรนั้น ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน
“ดิฉันก็จะโยนเรื่องนี้ไปที่ท่านผู้ร่วมรายการคนแรก คุณอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ซึ่งมาจากพลเมืองเน็ต เข้าใจว่าคุณอาทิตย์ ศึกษาเรื่องนี้พอสมควรเหมือนกัน จะคุยให้พวกเราฟังนิดนึงดีมั้ยว่า ร่างต่าง ๆ ที่ได้ดูมาเนี่ยมันมีจุดร่วมจุดเด่นอย่างไร แล้วก็ขอให้ตั้งข้อสังเกตสักนิดนึง”
ร่าง พ.ร.บ. สื่อฯ 4 ฉบับ จากการเสนอของ 3 องค์กร
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่าปัจจุบันมีร่าง พ.ร.บ. สื่อ 4 ฉบับ จาก 3 องค์กร ได้แก่ ร่างของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จำนวน 2 ฉบับ, ร่างขององค์กรสื่อ 1 ฉบับ, และร่างของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 1 ฉบับ แต่ทั้งนี้ มีเพียง 3 ฉบับที่ปรากฏเป็นข่าว ตามรายละเอียดดังนี้
ฉบับแรก: ชื่อ พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานสื่อมวลชน เป็นฉบับที่ทางสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นำมาพูดคุยในส่วนของคณะกรรมการปฏิรูปสื่อ ซึ่งกลุ่มไอลอว์ได้นำมาวิเคราะห์ไว้ทางเว็บไซต์ด้วย
ฉบับที่ 2: เป็นร่างจาก สปท. เช่นกัน และใช้ชื่อเดียวกัน แต่เนื้อหาสาระแตกต่างกันอยู่บ้าง ร่างฉบับนี้ลงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2560 เป็นฉบับที่ทางกลุ่มสมาพันธ์สมาคมสื่อไปยื่นหนังสือคัดค้านกับทาง สปท.
ฉบับที่ 3: ชื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นร่างของสมาพันธ์สมาคมสื่อที่ยื่นประกบไปพร้อมกับหนังสือคัดค้านร่างฉบับของ สปท. (ฉบับที่ 2) สำหรับร่างฉบับนี้ อาทิตย์ตั้งข้อสังเกตว่า “จะเห็นได้ว่าอย่างน้อยในชื่อมันจะไม่มีคำว่าจริยธรรม แล้วก็จะเน้นไปที่คำว่า ผู้ประกอบวิชาชีพ ไม่ได้ใช้คำว่าวิชาชีพเฉย ๆ”
ฉบับที่ 4: ชื่อ พ.ร.บ. สภาวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นร่างจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาทิตย์ระบุว่าร่างฉบับนี้ไม่ปรากฏในข่าวมากนัก แต่เท่าที่ลองค้นในเว็บสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีการแก้ไขล่าสุดลงวันที่ 28 ธันวา 2559
อาทิตย์ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมา ทางกลุ่มสมาคมสื่อก็มีกลไกที่เรียกว่าการกำกับดูแลกันเองอยู่แล้ว แต่อาจจะบังคับใช้ไม่ได้ หรือบังคับใช้ลำบากเนื่องจากไม่มีกฎหมายมารองรับตรงนี้
|
ชื่อร่าง พ.ร.บ. |
ผู้เสนอ |
ฉบับที่ 1 |
พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานสื่อมวลชน |
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) |
ฉบับที่ 2 |
พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานสื่อมวลชน (มีเนื้อหาต่างจากฉบับแรก) |
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
|
ฉบับที่ 3 |
พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อมวลชน |
6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน |
ฉบับที่ 4 |
พ.ร.บ. สภาวิชาชีพสื่อมวลชน |
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) |
ข้อแตกต่าง
อาทิตย์กล่าวว่าร่าง 3 ฉบับแรกนี้ระบุให้ทางกลุ่มวิชาชีพสื่อ ผู้ประกอบการสื่อ องค์กรสื่อ ไปรวมกลุ่มกันมาเอง แต่มีกฎหมายให้อำนาจรองรับเอาไว้บางอย่าง นอกจากนี้กฎหมายจะให้แรงจูงใจด้วย เช่น ถ้ามีคดีความฟ้องร้อง หรือมีค่าปรับ อาจจะมีการช่วยเหลือในทางคดีได้ หรือว่ากันให้พ้นจากการถูกฟ้องคดีบางอย่างได้ แต่ในรายละเอียดพบว่า ลักษณะองค์กรที่จะตั้งขึั้นมาในร่างแต่ละฉบับนั้น มีความแตกต่างกัน ดังนี้
ร่างของ สปท. จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 3 ชุด ได้แก่ 1. คณะกรรมการองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน ชุดนี้จะประกอบไปด้วยองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งมีนิยามระบุเอาไว้ว่า องค์กรสื่อมวลชนคือคณะบุคคลที่เป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม อนุญาตให้ประกอบกิจการตามกฎหมายนั้นๆ แล้ว ยังต้องมีการจดแจ้งตาม พ.ร.บ.นี้ ถึงจะนับเป็นองค์กรสื่อมวลชน และในส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนก็จะต้องเป็นคนที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนโดยปกติธุระ หรือว่าทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นประจำจากองค์กรสื่อ 2. คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน และ 3. คณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน เพื่อมากำหนดมาตรฐานว่าอะไรควรเป็นจริยธรรม
อาทิตย์กล่าวว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในร่างของ สปท. เป็นเรื่องที่สื่อกังวลกันมาก เช่น กรณีระบุให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ประกอบด้วย ผู้แทนสมาชิกสภาวิชาชีพ จำนวน 5 คน ซึ่งได้แก่ ปลัดสำนักนายกฯ, ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และมีกรรมการอื่นอีก 4 คน “ตรงนี้แหละที่สื่อก็ตกอกตกใจกันมาก รวมถึงประชาชนจำนวนหนึ่งด้วย ที่เป็นห่วงเรื่องเสรีภาพสื่อ เพราะอันนี้มันชัดเจนว่า เป็นการเอาคนจากรัฐมานั่งอยู่ในคณะกรรมการ ซึ่งอาจจะส่งผลได้ผลเสียให้กับการดำเนินงานของสื่อได้”
ร่างของ สนช. แตกต่างจากร่าง สปท. คือ มีสิ่งที่เรียกว่าบัตรประจำตัวผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน คือ นอกจากองค์กรสื่อมวลชนจะต้องเป็นสมาชิกแล้ว มีการระบุถึงบัตรประจำตัวของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนด้วย
ร่างของสมาคมสื่อ เสนอให้มีคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งแตกต่างจากที่ สปท.เสนอ โดยเสนอให้คณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย 1. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามมติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 2. ผู้ตรวจการแผ่นดินตามมติคณะกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดิน, 3. กรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามมติคณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 4. นายกฯ สภาทนายความ, 5. ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน, 6. ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, 7. ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ แห่งประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดจะต้องมีมติขององค์กรนั้นๆ รองรับด้วย
นวลน้อย – ขอบคุณค่ะ จริงๆ แล้วก็ดูมีรายละเอียดที่แตกต่างกันอยู่ระดับหนึ่ง แต่ก็มีแนวคิดเบื้องหลังที่คล้ายกันค่อนข้างจะเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเอย่างยิ่งแนวความคิดในเรื่องของการที่จะกำกับดูแลให้สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเอง ภายใต้กรอบความคิดที่ว่า อันนี้มันเป็นวิชาชีพที่ควรจะต้องมีการกำกับในเรื่องของจริยธรรม เหมือนกับวิชาชีพอื่นๆ ใช่มั้ยคะ ซึ่งก็เชื่อว่า หลายคนคงจะคิดเรื่องของการกำกับดูแล ในเรื่องของจริยธรรมของสื่อมวลชนเนี่ย คิดกันมานานแล้ว และดิฉันคิดว่าเรื่องของการมีสภา การกำกับดูแลตัวเอง เป็นแนวคิดที่นำเสนอกันในสื่อมวลชนเมืองไทยหรือในแวดวงคนทำสื่อเมืองไทยมานานมาก เราได้ยินน่าจะนานเกิน 20 ปีด้วยซ้ำ แล้วคนที่นำเสนอก็จะมาจากองค์กรสื่อที่ค่อนข้างจะใหญ่ด้วย ถามว่าแปลกมั้ยก็ไม่แปลก เพราะสิ่งที่มีอยู่ในเวลานี้ สมาคมสื่อต่างๆ ก็ถือว่ามีหน้าที่ส่วนหนึ่ง ในการที่จะกำกับดูแลในเรื่องของจริยธรรมคุณธรรมของสมาชิกด้วยกันเอง เพียงแต่คำถามก็คือว่า ทำอย่างไร ทำได้ผลมั้ย แล้วมันควรจะทำอะไรนอกเหนือไปจากนี้หรือเปล่า
สิ่งที่คุณอาทิตย์เล่าให้เราฟัง ตั้งแต่ต้นจนจบมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ที่เราควรจะย้อนกลับมาดูอีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพูดถึงในแง่ของการสื่อสารปัจจุบันเนี่ยมันไปไกลมากกว่าเรื่องของสื่อกระแสหลัก ดังนั้น การทำแบบนี้ แนวความคิดอย่างนี้จะมีผลกระทบต่อคนที่อยากจะก้าวเข้ามามีบทบาทในเรื่องของการสื่อสารสาธารณะที่ไม่ได้เข้าข่ายที่เขาเรียกว่า องค์ประกอบในแง่ของการจำกัดความอันนี้อย่างไร
เราวางรายละเอียดอย่างที่คุณอาทิตย์เล่าให้เราฟังไว้ระดับหนึ่งก่อน แล้วเรามาดูในแง่ของแก่นของมัน ว่าควรจะเป็นยังไง ตอนนี้อยากจะถามความเห็นโยนไมค์ไปให้ทางคุณพี่สุชาดา จักร์พิสุทธิ์ ผู้อำนวยการเว็บไซต์ tcij.com ค่ะ
รัฐ vs สื่อ.. คู่ขัดแย้งเดิมๆ
สุชาดา จักร์พิสุทธิ์: ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) กล่าวว่า คนที่ออกแบบ พ.ร.บ.ฉบับนี้อ้างว่าเป็นแบบผสมผสานก็คือทั้งรัฐเข้ามาควบคุม ทั้งองค์กรสื่อหรือผู้ประกอบวิชาชีพเองควบคุมตัวเองด้วย ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่ทาง 30 องค์กรสื่อโต้แย้งมาตลอดว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ดูจะมีเป้าหมายในการที่จะควบคุมมากกว่าที่จะส่งเสริม แล้วจุดเน้นที่องค์กรสื่อต้าน โต้แย้งมาตลอดก็คืออยากจะให้น้ำหนักกับเรื่องของการกำกับดูแลตนเอง ซึ่งเป็นมายาคติชุดใหญ่ที่สื่อไทยพูดมาเกินหนึ่งเจนเนอเรชัน “ทีนี้ต้องมาดูว่าสิ่งที่สื่อโต้แย้งก็คือว่า พอมีกฎหมายฉบับนี้บังคับให้ทุกคน ไม่ใช่ทุกคน องค์กรวิชาชีพที่มีค่าตอบแทน พูดง่ายๆ ก็คือทำข่าวทำสื่อเป็นอาชีพ ไม่ว่าคุณจะออนไลน์หรืออยู่ในแพลตฟอร์มกระดาษก็แล้วแต่ เมื่อไหร่ที่คุณทำข่าวเป็นอาชีพมีค่าตอบแทน มีผลประกอบการ มีกำไรเกิดขึ้นจะต้องอยู่ในข่ายที่ต้องมาสังกัดสภาวิชาชีพที่ว่านี้ สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เรียกชื่อเล่นไปก่อนแล้วกัน และถ้ามองจากความคิดชี้นำของฝ่ายรัฐนี่มันง่ายต่อการกำกับดูแล เพราะมันถูกจัดระเบียบให้เข้ามาอยู่ในกลุ่มก้อนๆ หนึ่ง”
ผู้อำนวยการ TCIJ วิจารณ์ว่าข้อกำหนดเรื่องของการสังกัดสภาวิชาชีพนี้อาจจะเป็น พ.ร.บ.ที่มักง่ายไป ซึ่งกระแสข่าวสารที่หล่อเลี้ยงสังคมอยู่ไม่ได้มาจากสื่อกระแสหลักเท่านั้น และส่วนข้างมากมาจากสื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียด้วยซ้ำ “คนออกฎหมายมองไม่เห็นรายละเอียดเชิงรูปธรรมของสิ่งเหล่านี้ คำถามก็เกิดขึ้นทันทีที่อ่าน สาระสำคัญของ พ.ร.บ.นี้ก็คือว่า แล้วสื่อออนไลน์อย่าง TCIJ หรืออีกจำนวนมากที่ยืนอยู่ได้จนอายุเป็น 5 ปี 10 ปีอย่างนี้ จะอยู่ในข่ายที่จะต้องจดแจ้งกับสภาวิชาชีพอันนี้หรือเปล่า ถูกบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.อันนี้หรือเปล่า มันไม่มีความชัดเจนตรงนี้”
สุชาดากล่าวว่าแม้ประเด็นโต้แย้งระหว่างรัฐกับสื่อต่อ พ.ร.บ. นี้ ยังเป็นวาทกรรมโต้แย้งแบบเดิมๆ อยู่ แต่เห็นด้วยว่าจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปหรืออย่างน้อยมีกลไกใหม่ๆ ออกมาเฝ้าระวัง หรืออย่างน้อยมีการถ่วงดุลสื่อกระแสหลักให้มากกว่าในอดีตที่ผ่านมา “ถึงเวลาที่จะต้องทำอย่างนั้น ถ้าเราพิจารณาจากสถานการณ์ที่มี individual media มี independent media มีสื่อภาคประชาชนอะไรเยอะแยะไปหมดเลย แล้วสื่อกระแสหลักเนี่ยได้ทำสิ่งที่เป็น actor ของความขัดแย้งในสถานการณ์บ้านเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อย่างเป็นที่ประจักษ์ด้วยซ้ำ ไม่ว่านักข่าวเป็นคน ๆ ระดับซีเนียร์ด้วยซ้ำ ที่ออกไปสู่ท้องถนน ใช้พื้นที่สื่อของตัวเองในการใช้เชียร์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้ใช้ hate Speech ให้ใช้ความรุนแรงกับอีกฝ่ายหนึ่ง อันนี้มันชัดเจนมาก เพราะฉะนั้นคำตอบเนี่ยเป็นที่สิ้นสงสัย สิ้นสงสัยว่าใช่ ถึงเวลาที่เราต้องจัดระเบียบ เราต้องสร้างกลไกใหม่ ๆ อะไรบางอย่างขึ้นมา และคำตอบก็คือว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช่มั้ย ก็บอกได้อีกว่า ไม่ใช่ซะทีเดียว มันต้องมีการแก้ไขปรับปรุงอะไรอีกเยอะมากเลย”
กำกับดูแลกันเองได้หรือไม่?
สุชาดากล่าวถึงข้อโต้แย้งเรื่องการกำกับตัวเองของสื่อว่า เป็นสิ่งที่ตนยังไม่สิ้นสงสัย โดยตั้งคำถามถึงดุลยพินิจและการปฏิบัติขององค์กรสื่อต่างๆ ต่อเรื่องจริยธรรมที่เกิดขึ้นหลายกรณีที่ผ่านมา รวมทั้งกรณีที่ TCIJ เปิดเรื่องที่ธุรกิจใหญ่จ่ายเงินให้สื่อออกมา แต่ถูกปฏิบัติยืดเยื้อนานกว่าสองปี “ด้วยมายาคติเรื่องการกำกับดูแลตัวเองแบบที่ 1 ตั้งคณะกรรมการที่เป็นคนคุ้นเคย”
สุชาดายังกล่าวถึงองค์กรวิชาชีพที่ออกมาโต้แย้งคัดค้าน พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่าล้วนแต่เป็นองค์กรสื่อที่เรียกได้ว่า “ธุรกิจสื่อ” แต่ไม่มีการพูดถึงมาตรการในเชิงธุรกิจเลย เช่น การจูงใจเรื่องภาษี หรือบูรณาการระเบียบบางอย่างกับตลาดหลักทรัพย์ การมีตัวแทนผู้อ่านจริงๆ เข้าไปเป็นกรรมการ
ทั้งนี้ สุชาดากล่าวถึงข้อดีของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ในมิติมาตรฐานวิชาชีพที่พูดถึงเรื่องของการพัฒนาศักยภาพของคนทำงานข่าว หรือองค์กรวิชาชีพสื่อที่ถูกขึ้นทะเบียนแล้วจะต้องมีกลไกกำกับจริยธรรมภายในของตนเอง “อันนี้ถ้าลงไปดูแล้วช่วยกันคิดว่าออกแบบยังไงให้มีกลไกกำกับจริยธรรมของตนเองจริงๆ แล้วออกมาเชื่อมกับกลไกข้างนอก เช่น องค์กรเฝ้าระวังสื่อ, องค์กรผู้บริโภคสื่อ, องค์กรเด็กและเยาวชน ที่คุณอาทิตย์บอกไปเมื่อตอนต้นว่าในเนื้อหามันมีระบุอยู่ มันไม่ใช่แต่ละกลไกตัดขาดจากกันและกัน มันก็จะปิดประตูทำอะไรของตัวเองไป แบบเดิมๆ ดิฉันขอมองภาพใหญ่แบบนี้ก่อนแล้วกัน ขอบคุณค่ะ”
ขอบคุณภาพจากมติชน
ควบคุมสื่อ.. ใครเดือดร้อน?
นวลน้อย: – ขอบคุณมากค่ะ ดิฉันมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า ในช่วงที่ผ่านมามีคนพูดถึงประเด็นเรื่อง พ.ร.บ.สื่อ ค่อนข้างจะเยอะ ถ้าพูดถึงสำหรับตัวเองนะคะ อันนี้อาจจะค่อนข้างล้าหลัง เราอ่านดูแล้วเนี่ยความรู้สึกอันนึงก็คือว่า มิได้เดือดร้อนมากนัก พอมานั่งถามตัวเองว่าทำไมเราไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนมากนัก ดิฉันคิดว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่แชร์ความรู้สึกแบบตัวเอง มันสะท้อนสิ่งที่พี่สุชาดาพูดไปก็คือว่า สื่อเนี่ยสามารถที่จะเป็นตัวแทนประชาชนได้สักกี่มากน้อยขนาดไหน ถ้าเมื่อไหร่สิ่งที่ตัวเองต่อสู้แล้วคนที่เขาอยู่รอบๆ แล้วเขาได้ผลประโยชน์จากสิ่งที่ตัวเองทำ เขาร่วมลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วย อันนั้นดิฉันว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนข้อเท็จจริงหลายอย่าง
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า พี่สุชาดาพูดถึงเรื่องของสื่อกระแสหลัก ว่าจากสภาพที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่ามีความจำเป็นต้องจัดระเบียบ เพราะว่ามันมีการเดินออกนอกแนวบางเรื่องในหลายเรื่อง ถึงขั้นว่าอาจจะมีตัวบุคคลที่ไปทำให้ ยั่วยุให้มีการใช้ความรุนแรง ในเรื่องที่มีความคิดทางการเมืองอะไรต่างๆ และมาจนถึงขั้นที่มีความรู้สึกกันว่า สื่อทางเลือกหรือสื่อที่นอกเหนือไปจากสื่อกระแสหลักก้าวเข้ามามีบทบาท ในแง่ของการเข้ามาถมพื้นที่บางอย่าง หรือแม้กระทั่งดิฉันอยากจะใช้คำว่า เป็นตัวที่จะบาลานซ์สื่อกระแสหลักในหลายเรื่อง
ย้อนกลับมาที่คุณอาทิตย์นิดนึงว่า ถ้าเรามองกลับไปถึงแนวคิดในการที่จะช่วยกำกับจริยธรรมสื่อ อย่างที่เราพูดกันอยู่นี่นะคะ มีตัวไหน มีตรงไหน อะไร ที่จะกระเทือนมาถึงการใช้พื้นที่ในการสื่อสารสาธารณะตรงนี้ของคนอื่นๆ นอกเหนือไปจากสื่อกระแสหลักบ้าง
อาทิตย์: ในร่างของ สปท.บอกว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นบุคคลที่ประกอบวิชาชีพเป็นสื่อกลางนำข่าวสารและเนื้อหาเพื่อประโยชน์สาธารณะทุกประเภทไปสู่มวลชน ไม่ว่าในรูปแบบใด อย่างเป็นปกติธุระ หรือทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อได้รับค่าตอบแทนเป็นประจำจากเจ้าของสื่อ อันนี้มีพูดถึงค่าตอบแทน แต่ถ้าดูฉบับ สนช.จะไม่ได้พูดถึง คือใครก็ตามที่ประกอบวิชาชีพอย่างเป็นปกติธุระในการสร้างสรรค์หรือกำกับดูแลเนื้อหา หรือดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับสื่อมวลชน ถือว่าเป็นผู้ประกอบการวิชาชีพทั้งนั้น ตรงนี้น่าสนใจด้วยคือไม่ได้นับเฉพาะบุคคลที่เป็นผู้สร้างสรรค์แต่รวมไปถึงผู้กำกับดูแลเนื้อหาด้วย
ผู้ร่วมสนทนา (จากซ้าย) สุชาดา จักร์พิสุทธิ์, อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล, นวลน้อย ธรรมเสถียร
เรียนรู้จากสื่อนอกบ้าน.. สร้างจิตสำนึก ชำระสะสางตัวเอง
นวลน้อย – ดิฉันคิดว่าประเด็นที่ทั้งสองท่านพูดมาในความรู้สึกของตัวเองพอคุยไปแล้ว มันตกผลึกที่คำว่า ตรวจสอบในเรื่องของจริยธรรมสื่อ กำกับ กำกับเพื่อใคร ดิฉันดูวิธีการของสื่อที่อยู่นอกบ้านเราในหลายประเทศ เช่นดูสื่อของสหรัฐมีอยู่ช่วงนึงที่พวกเขาลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับตัวเองเรื่องของการทำงาน เขาพูดคุย เขาแลกเปลี่ยน จนกระทั่งมันกลายเป็นโครงการ แล้วเขามีการเขียนหนังสือ มีการ...เรียกง่าย ๆ ว่า ถามใจตัวเอง มันมีกระบวนการของการตั้งคำถามกับตัวเองหลังจากที่เขาทำงานไปได้พักนึง คำถามที่เขาตั้งคำถามกับตัวเองอย่างเช่น เราเข้าข้างรัฐบาลมากไปมั้ยในการนำเสนอข่าว ในช่วงหลังเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งคำถามอันนั้นมันเป็นที่มาของการพยายามที่จะชำระสะสางตัวเอง ซึ่งดิฉันคิดว่าสื่อในแง่นึงไม่พอใจที่จะให้ใครมากำกับตัวเอง แต่ต้องมีความสามารถในการชำระสะสางตัวเองพอสมควรเหมือนกันว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่มันใช่หรือไม่ ใช่มั้ยคะ แล้วสื่อที่ไม่อยากให้ใครมากำกับอยากจะกำกับตัวเองนี่มันต้องมีระบบ มีกลไก มีจิตสำนึกพอสมควรในการที่จะเรียกตัวเองลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับวงการของตัวเอง และทำแบบนี้
ดิฉันก็ต้องโยนคำถามไปว่า เราได้เห็นสิ่งเหล่านี้ในวงการสื่อของเมืองไทยบ้างหรือไม่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะตั้งคำถามกันเอง ความพยายามในเชิงรวมหมู่ในการที่จะตรวจสอบซึ่งกันและกันเอง นอกเหนือไปจากสิ่งที่เราบอกว่า มันเกิดขึ้นในสภาวิชาชีพ หรือสมาคมวิชาชีพสื่อต่าง ๆ หรือไม่ ซึ่งจากที่ทั้งสองท่านได้คุยมาเนี่ยก็ดูเหมือนว่าไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ มีความรู้สึกว่าอาจจะเกิดขึ้นจริงก็มี แต่ว่าอาจจะไม่โปร่งใส เราไม่สามารถบอกได้ว่าเขากำลังควบคุม กำกับ ดูแลอะไรต่าง ๆ อย่างไร ดิฉันก็เคยเห็นสิ่งที่ คนที่อยู่ในสมาคมสื่อด้วยกันเองพูดถึงปัญหาวงใน แต่ว่ามันวนเวียน แล้วมันก็ไม่ไปไหน ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเพื่อนสื่อด้วยกัน มันมีความเกรงอกเกรงใจ มันมีความรู้สึกว่าไม่อยากแตะกันเอง ประโยคเด็ดที่เราเคยได้ยินในอดีตที่ว่า แมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวัน มันมีที่มาที่ไป มันไม่ได้พูดขึ้นมาลอย ๆ ใช่มั้ยคะ
ดังนั้นคำถามก็คือว่า การกำกับดูแลตัวเองที่ผ่านมามันเวิร์กมั้ย มันใช้ได้จริงหรือเปล่า ซึ่งพิธีกรในวันนี้ก็รู้สึกว่ามันใช้ไม่ได้จริง มันรู้สึกไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่ แล้วการกำกับดูแลจริง ๆ เนี่ยมันควรจะตอบโจทย์คนที่รับสาร หรือคนที่เสพสารที่มาจากสื่อ ซึ่งมันควรจะเป็นผู้บริโภค มันมีวิธีการอย่างอื่นมั้ยที่ทำให้คนที่เขามีส่วนได้ส่วนเสียกับสิ่งที่สื่อทำมีบทบาทเข้าไปตรวจสอบสื่อมากกว่านี้หรือไม่ มีช่องทางอย่างไร นอกเหนือไปจากสิ่งที่เสนอ ๆ กันมา ดิฉันอยากจะชักชวนเพื่อนๆ ที่นั่งฟังพวกเราคุยกันอยู่ตรงนี้ร่วมแลกเปลี่ยนด้วย เพื่อที่จะรับฟังมุมมองอื่นๆ
ผู้ร่วมแสดงความเห็น
อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ – สวัสดีครับ ผมอิสราชัยนะครับ ผู้สื่อข่าวจากมติชน เมื่อเช้ามีโอกาสไปร่วมฟังการเสวนา พ.ร.บ.สื่อ ก็เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จัดโดยสถานทูตฟินแลนด์กับสวีเดน เนื่องในโอกาสฉลอง พ.ร.บ.สื่อครบ 250 ปี เขาบอกว่าเป็นฉบับแรกของโลกที่มีการให้เสรีภาพสื่อที่มีกรอบชัดเจนมากขึ้น
นอกจากสวีเดน ฟินแลนด์แล้วยังมีอีก 3 ประเทศที่มาร่วมแชร์ คือ ไทย พม่า กับอินโดนีเซีย สิ่งที่ได้จากการฟังแลกเปลี่ยนกับพวกเขา หลายประเทศที่วางกรอบเรื่องเสรีภาพสื่อ ส่วนใหญ่จะวางกฎเกณฑ์ภายหลังจากที่ประเทศได้เปลี่ยนผ่านทางการเมืองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยมาแล้ว ของฟินแลนด์ก็ย้อนไปตั้งแต่ถูกปกครองด้วยชาติมหาอำนาจ พอตัวเองปลดแอกมาเป็นระบอบประชาธิปไตยก็วางกรอบเรื่องนี้ขึ้น เพราะเชื่อว่าการรักษาเสรีภาพสื่อไว้ได้ มันทำให้ประชาชนและคนทุกภาคส่วนของสังคมได้รับรู้ข่าวสารและพัฒนาตัวเองซึ่งสามารถเรียนรู้ทดลองผิดถูกได้ นำไปสู่การสร้างสรรค์ในวันข้างหน้าได้ นี่ก็คือจุดเด่นของเขา เขาให้ความสำคัญกับเสรีภาพสื่อ
ผมลองอ่านตัว พ.ร.บ.เสรีภาพสื่อของสวีเดน ก็น่าสนใจดี เขามองว่าเสรีภาพสื่อมันไม่จำกัดเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ แต่ครอบคลุมถึงพลเมืองสวีเดนทุกคน นี่คือสิ่งที่ผมฟังแล้วลองมาอ่าน พ.ร.บ.สื่อไทยที่เป็นตัวร่างนี่มีจุดต่างอยู่ข้อนึงที่เขาเขียนมา และอย่างที่สองคือเขาต่อต้านการเซ็นเซอร์ อันนี้เป็นจุดแข็งอันนึง ว่าทำไมเขาถึงให้ความสำคัญกับเสรีภาพมาก ตรงข้ามกับเราที่มองการเซ็นเซอร์จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เรียกว่าการทำงานของผมก็มีหลายครั้งที่ต้องตัดเนื้อหาบางส่วนออกด้วย ซึ่งก็เป็นความขมขื่นของตัวเองด้วยซ้ำไป เขาบอกกับผู้ฟังสั้นๆ ว่า กว่าที่เขาจะมาถึงตรงนี้ได้เขาก็ต้องผ่านช่วงเวลาที่ตัวเองอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยเผด็จการ กว่าที่จะทำให้ตัวเองเป็นอิสระอีกครั้ง มีเสรีภาพมากขึ้น พวกเขามองว่าการที่ปิดกั้นมันเป็นอันตรายต่อทุกคน ไม่เฉพาะแต่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ แต่ทุกคน ประชาชนทุกคนที่ใช้ชีวิตอยู่ มันต้องมีเสรีภาพเพราะเสรีภาพคือสิ่งเดียวที่ทำให้เขารู้ว่า อะไรเข้ามาในชีวิตเขาบ้าง ไม่ถูกจำกัดจำเขี่ยโดยผู้มีอำนาจรัฐหรือแม้กระทั่งสื่อเอง เท่าที่ผมเข้าใจนะครับ เอาสั้นๆ แค่นี้ก่อน
สุณัย ผาสุข – พูดถึงงานเปรียบเทียบการมีกฎหมายสื่อในประเทศต่างๆ ที่ FCCT เมื่อเช้านะครับ คือถ้าดูตัวอย่างเราจะเห็นว่า ประเทศที่ถือว่าประสบความสำเร็จในการที่ทำให้กฎหมายสื่อเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพไม่ใช่เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ มันเป็นกระบวนการที่เกิดคู่ขนานไปกับพัฒนาการทางการเมืองที่เปิดกว้างมากขึ้น นำไปสู่การเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ในกรณีของไทยความพยายามจัดระเบียบสื่อมันเกิดขึ้นในบริบทของการหวนกลับของวิวัฒนาการทางการเมืองที่นำไปสู่ระบอบอำนาจนิยมมากขึ้น เราจะเห็นว่าในเรื่องของตัวโครงร่างของเครื่องมือที่จะมาเป็นตัวกำกับสื่อ ไม่ว่าในส่วนที่ออกมาโดยฝ่ายองค์กรวิชาชีพมันออกมาในลักษณะของการที่สะท้อนความพยายามก่อนหน้านั้น ในการเล่นงานสื่อที่อยู่ขั้วตรงข้ามทางการเมือง ส่วนในเรื่องการออกแบบเครื่องมือโดยภาครัฐหรือกลไกที่ตอบสนองรัฐ ไม่ว่าจะเป็น สนช. สปท. มันก็สะท้อนกับธงที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่การรัฐประหารปี 2006 แล้วมาย้ำอีกครั้งตอนรัฐประหารปี 2014 ที่ต้องการจะให้รัฐควบคุมวิธีคิดของคน
จริงๆ สิ่งที่สะท้อนร่างกฎหมายสื่อที่มีอยู่หลายเวอร์ชั่นด้วยกัน ตัวที่จริงๆ เข้มข้นที่สุดและมีผลบังคับใช้มาเนิ่นๆ เลยก็คือคำสั่ง คสช.ที่บอกว่า สื่อไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช.ได้ ห้ามเชิญคนอย่างผมเนี่ยไปออกสื่อ หรือแม้แต่จะให้สัมภาษณ์ หรือเขียนบทความลงไปในสื่อ คือจริงๆ ถ้าสมาคมสื่อเอาจริงเอาจังกับการรักษาสิทธิเสรีภาพต้องออกมาแย้งเรื่องนี้ทุกวัน เขาพูดเขาให้สัมภาษณ์ชี้แจงเลยว่าเขาแย้ง แต่แย้งอย่างจริงจังแค่ไหน แย้งเพื่อสักแต่ว่าแย้งหลังจากถูกตำหนิถูกประณามว่าทำไมไม่มีท่าทีก็ออกมามีท่าที แล้วหลังจากนั้นก็เงียบหายไปตามสายลม แต่ว่าผลของคำสั่ง คสช.ดังกล่าวมันยังคงอยู่กับเราจนถึงทุกวันนี้ และตราบจนเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ ผลของคำสั่งนี้ยังอยู่กับเราต่อไป
เพราะฉะนั้นคำถามก็คือต่อไปในอนาคต ร่างกฎหมายสื่อต่าง ๆ ในเชิงศักดิ์มันต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ คำสั่ง คสช.เทียบได้กับรัฐธรรมนูญเพราะออกมาตามมาตรา 44 มันจะมีคำถามต่อไปเลยว่า เครื่องมือในการคุมสื่อที่จะอยู่ยั้งยืนยง ตีตามวิสัยทัศน์ คสช. อีก 20 ปี มันจะมีเครื่องมืออยู่สองชั้น คือระดับ พ.ร.บ. และระดับที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มีผลตอนนี้และจะมีผลต่อไป หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้แล้ว มีเครื่องมืออยู่สองชั้นคุณค้านตัวเล็กแต่ไม่ค้านตัวใหญ่มันใช่หรือ แล้วก็นอกนั้นก็เป็นสิ่งที่ผมเห็นด้วยกับวิทยากรและที่แชมป์พูดถึงก่อนหน้านี้เรื่องความน่าเชื่อถือขององค์กรวิชาชีพสื่อเอง ก็ไม่ได้พิสูจน์ตัวให้เห็นชัด ว่ามีความน่าเชื่อถือแค่ไหนในการที่จะออกมายืนหยัดว่านี่คือเรื่องของสิทธิเสรีภาพ นี่ไม่ใช่เป็นการรักษาหม้อข้าวตัวเองนะ เป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพจริง ๆ นี่เป็นคำถามใหญ่
อีกส่วนหนึ่งที่ผมติดใจมากก็คือทั้งหลายทั้งปวงที่มีการกระทำต่อสื่อในตอนนี้ มันมาจากกลุ่มที่อ้างตัวเป็นรัฐาธิปัตย์ในปัจจุบัน แต่เวลาผู้นำขององค์กรวิชาชีพสื่อออกมาโต้แย้งวิพากษ์วิจารณ์กลับไปพูดไปถึงว่า เกรงว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตจะใช้อำนาจ แต่คุณนี่ถูกข่มขืนอยู่ในปัจจุบันแล้วทำไมไม่ร้อง ไปร้องว่า ถ้าคนนี้ข่มขืนเสร็จจะมีคนใหม่เปิดประตูเข้ามาข่มขืนเป็นอย่างนี้ปั๊บ มันผิดที่ผิดทางหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นข้อกังวล แต่จะอย่างไรก็ตาม ถ้ามองจากจุดยืนของฮิวแมนไรท์วอทช์เข้ามา สิ่งที่เรากังวลมากก็คือ การที่องค์กรควบคุมจริยธรรม ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมจริยธรรมโดยวิชาชีพสื่อด้วยกันเอง ตั้งองค์กรกันขึ้นมา ตั้งเครื่องมือนี้ขึ้นมา หรือโดยรัฐก็ดี มันจะนำไปสู่การเซ็นเซอร์ ในส่วนของรัฐนี่ชัดเพราะพฤติกรรมของรัฐ วิสัยทัศน์ของรัฐที่ประกาศมาหลังรัฐประหารเนี่ยมีจุดยืนในการควบคุมข้อมูลข่าวสารชัดเจนเพื่อจะนำไปสู่การควบคุมวิธีคิดของคน กรอบความคิดของคน มันอยู่ในกรอบใหญ่ของเขาว่าควบคุมข้อมูลได้ ควบคุมความคิดคนได้
แต่ในส่วนของสื่อเราก็กังวลด้วยเหมือนกันว่า ถ้าให้สื่อควบคุมกันเองแต่ในจุดยืนขององค์กรสื่อในปัจจุบันไม่ได้สะท้อนความเป็นกลาง ความเป็นอิสระอย่างแท้จริง มันก็จะกลายเป็นว่าองค์กรที่บอกว่ากำกับดูแลตัวเอง มันจะกลายเป็น self-censorship แบบที่ว่าไปเล่นงานสื่อที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มกระแสที่เป็นฝ่ายที่คุมอำนาจในบอร์ดปัจจุบัน มันก็จะออกอย่างนั้น เราก็ไม่เห็นปรากฏการณ์ที่ก่อนหน้านี้ อย่างที่พี่สุชาดายกตัวอย่างเรื่อง TCIJ ก็ดี เรื่องของการตั้งกรรมการสอบก็จะเป็นคนหน้าซ้ำ ซึงถ้าเราดูธงการเมืองคนที่มาก็รู้ว่าถือธงสีเดียวกัน ข้างเดียวกัน ไม่มีจากอีกด้านเข้ามาเลย มันไม่ได้สร้างความสบายใจหรือความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคสื่อ หรือประชาชนสังคมในวงกว้างได้เลยว่า เครื่องมือที่องค์กรสื่อควบคุมกันเองได้จะเป็นเครื่องมือที่เป็นกลางมีอิสระอย่างแท้จริง เพือจะกำกับเรื่องจริยธรรม เขาก็เน้นเรื่องจริยธรรมมาก แต่มันจะกลายเป็นจริยธรรมแบบเลือกข้างหรือเปล่า มันก็จะเป็นปัญหาครับ
5 เรื่องน่าห่วง!
สุชาดา – อยากจะตอบประเด็น อ.สุณัย ฟังแล้วรู้สึกว่ามันมีเรื่องแย่ๆ น่าเป็นห่วงอยู่สองสามเรื่อง เรื่องที่หนึ่งก็คือว่าเราก็จะมีกฎหมายที่คลอดมาจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารแบบนี้ ซึ่งมันคาดหวังอะไรดีๆ ได้ยากมาก คงพูดได้สั้น ๆ เท่านี้
เรื่องน่าห่วงประการที่ 2 ก็คือว่า ด้วยความที่สื่อไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นศรัทธาได้เลยว่า ถ้าฉันจะสู้เคียงข้างกับคุณ คุณก็จะเป็นตัวแทนแห่งเสรีภาพของประชาชนได้จริงอย่างที่พูดมาตอนต้นน่ะค่ะ มันทำให้วาระการต่อต้านเรื่อง พ.ร.บ.ฉบับนี้มันโดดเดี่ยวอยู่ในหมู่สื่อกระแสหลักไม่กี่องค์กร ประชาชนไม่หือ ไม่อือ แม้แต่สถาบันวิชาการทางด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ก็ไม่หือ ไม่อือ องค์กรอิสระกระแสหลักก็ไม่หือไม่อือ อันนี้ก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงถ้าเรามองภาพใหญ่ในแง่ว่า เฮ้ย.. ในการเมืองภาคประชาชนนี่เป็นเรื่องแย่ๆ เรื่องนึงที่เราต้องร่วมสู้ถูกมั้ยคะ ไม่ว่าสื่อจะมีความน่าเชื่อถือหรือเป็นปากเสียงของประชาชนทุกกลุ่มคนเล็กคนน้อยได้จริงหรือไม่ แต่นี่คือประเด็นการเมืองภาคประชาชนที่ต้องร่วมสู้ในแง่ที่ว่ามันมีความพยายามที่จะจำกัด เสรีภาพการแสดงออก นี่คือขั้นพื้นฐานเลยไม่ต้องบอกว่าคุณประกอบวิชาชีพนี้ด้วยซ้ำ อันนี้ก็เป็นเรื่องแย่ๆ ที่น่าเป็นห่วง
เรื่องต่อมาก็คือว่า คือมันทำนายได้ล่วงหน้าอ่ะค่ะว่า มันจะแป๊ก การต่อสู้ขององค์กรสื่อภาคประชานมันจะแป๊กเพราะสองข้อข้างต้นที่ว่ามา คือมาจากรัฐบาลเผด็จการขนาดว่าทำโพลโกหกรายวัน หรือว่ามีการแถลงโกหกรายวันได้แล้วสื่อก็ยังร่วมโกหกรายวันด้วยทั้งที่รู้ว่าความเป็นจริงคืออะไร อันนี้เป็นเรื่องที่ทำให้สื่อ คือมันคงจะปลุกกระแสร่วมสู้การจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยกฎหมายเผด็จการฉบับนี้นี่ดันไม่ขึ้นเลย เอางี้ดีกว่า ดันไม่ขึ้น เพราะฉะนั้นคุณก็จะสู้อย่างโดดเดี่ยว
ประการต่อมาก็คือมันน่าสังเกตว่า รัฐบาลทหารเองนี่ก็แหย สื่อก็แหย คือแหยพอกัน พอสื่อออกมาไขว้มือก็เริ่มเสียงอ่อยว่าจะกลับไปทบทวนบางประเด็นหรืออะไรอย่างงี้ หรือจะเปลี่ยนเรื่องปลัดกระทรวงอะไรต่ออะไร และกรรมการทั้งหลาย สื่อเองก็แหย ๆ จะเริ่มพูดว่าต่อไปนี้เราก็จะมีการพัฒนาทักษะคนทำงานให้ดีขึ้น อย่างโน้นอย่างนี้ อะไรก็แล้วแต่ ให้รู้เท่าทันทุนอีกด้วย สิ่งที่เขาจะทำได้คือแบบนี้
เรื่องที่น่าเป็นห่วงประการต่อมาก็คือว่า จากความเกี่ยวข้องที่ดิฉันมีกับองค์กรวิชาชีพ เวลาที่สื่อที่ไม่ใช่เครือข่ายพรรคพวกเขาออกมาสะท้อนปัญหาอะไรแก่องค์กรสื่อ หรือว่าแก่สื่อกระแสหลักทั้งหลาย ไม่ว่ากรณีที่ว่า เอ๊.. ทำไมสื่ออย่างจีรนุชไม่ได้รับการปกป้อง หรือแถลงการณ์แสดงท่าทีอะไรบ้าง เขาก็จะพูดว่า เอ้า.. พูดจากคนนอก เวลาที่เราสะท้อนปัญหาว่าไอ้วิธีการตั้งคณะกรรมการของคุณเองมันควรจะอย่างโน้นอย่างนี้ น่าจะเป็นอย่างนี้อย่างนั้นนะ อ้าว.. พวกไม่รู้เรื่อง พวก outsider เกลียดชังเป็นส่วนตัว คือมันปิดประตูหน้าต่างปิดหูปิดตามาเสียแต่ต้นเสียแล้ว ถ้าทัศนคติในการมองปัญหายังเป็นอย่างนี้ต่อไปในหมู่องค์กรวิชาชีพ แม้ว่าจะถูกจับมารวมกันในตะกร้าใหญ่แค่ไหน มีกฎหมายบังคับควบคุมซึ่งก็เดาได้อีกล่ะ อันนี้เป็นเรื่องแย่ ๆ เรืองต่อมา เดาได้อีกล่ะว่าถ้ากฎหมายนี้จะคลอดออกมามันจะถูกปฏิบัติอย่างระบบราชการ แล้วมันจะนำมาซึ่งเรื่องสีเทา ๆ อีกจำนวนมากซึ่งเกิดขึ้นในวงการสื่อด้วยซ้ำ เช่น ถ้าเกิดมีเรื่องร้องเรียนแล้วเนี่ย ทำอย่างไรจะให้เรื่องร้องเรียนเหล่านี้เงียบหายไป มันจะเกิดเรื่องสีเทาๆ อีกจำนวนมากและเกิดขึ้นในวงการสื่อ
ตัวอย่างรูปธรรมที่ดิฉันได้เกี่ยวข้องและเห็นก็คือว่า ทุกวันนี้องค์กรสื่อเองพยายามจะบอกว่าพัฒนาศักยภาพของคนทำงาน แต่คุณรับเงินของธุรกิจจำนวนมากที่ชัดเจนว่าเขามีวัตถุประสงค์ในการจ่ายเงิน คือเจตจำนงอะไรมันไม่ใช่อ่ะ มันผิดฝาผิดตัวไปหมดนะคะ คุณจัดการฝึกอบรมเรื่องภาษาเวียดนามก็เพื่อให้นักข่าวได้ไปเที่ยวเวียดนามฟรี ถามว่าสิ่งเหล่านี้หรือคือความจำเป็นของผู้ประกอบอาชีพสื่อ ที่จะทำให้คุณรู้เท่าทันทุน ที่จะทำให้คุณทำงานอย่างมีคุณภาพมากขึ้นและเป็นปากเสียงของประชาชนได้มากขึ้น สามัญสำนึกของเด็ก ป.4 ก็บอกได้ว่าไม่น่าจะใช่หรือไม่ใช่นั่นแหละ หรือว่าไอ้การฝึกอบรมแบบโครงการบริหารสื่อ บบส. บสส. บสก. อะไรทั้งหลายเนี่ยมันก็น่าสงสัยตั้งแต่เจตนารมณ์ในการรับเงินสื่อ แล้วก็เอาตัวแทนของธุรกิจเข้ามานั่งร่วมเรียนร่วมกับสื่อ ด้วยเหตุผลที่มันตลกสิ้นดีว่า เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ประกอบอาชีพสื่อกับแหล่งข่าวที่เป็นธุรกิจ อันนี้เป็น judgement ของสื่อ และตัวแทนวิชาชีพ มันนำมาซึ่งคำถามข้อต่อมาว่า ตกลงองค์กรวิชาชีพสื่อที่มีอยู่เวลานี้มันเป็น representative หรือเป็นตัวแทนของผุ้ประกอบอาชีพสื่อหรือนักข่าวตัวเล็กตัวน้อยจริงหรือเปล่า จริงหรือเปล่า แล้วถ้าเอาองค์กรวิชาชีพเหล่านี้ไปใส่ตะกร้าใหญ่อีกเนี่ย มัน represent อีกจริงหรือเปล่า ก็ทิ้งคำถามไว้อย่างนี้ค่ะ ขอบคุณค่ะ
****************************
โปรดติดตามรายละเอียดการสนทนาทั้งหมดที่นี่
