เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2559 มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ ร่วมกับคณะกรรมการจัดงานครบรอบ “40 ปี 6 ตุลา” จัดงานเสวนาเรื่อง "สื่อมวลชนกับความรุนแรงทางการเมือง" ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นกิจกรรมในวาระครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ร่วมเสวนาโดยสื่ออาวุโส 5 ท่าน คือ ยุวดี ธัญญศิริ อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ประจำทำเนียบรัฐบาล, รุ่งมณี เมฆโสภณ อดีตผู้สื่อข่าวหลายสำนัก ปัจจุบันเป็นกรรมการนโยบายด้านกิจการสื่อสารมวลชน ไทยพีบีเอส, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ที่ปรึกษามติชนทีวี, จักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และอธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์อาวุโส วอยซ์ทีวี ดำเนินรายการโดย พิณผกา งามสม และณรรธราวุธ เมืองสุข งานเสวนานี้มีนักศึกษา ประชาชน สนใจเข้าร่วมราว 300 คน
6 ตุลาคม 2519 ใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน
ณรรธราวุธ เมืองสุข เปิดประเด็นเสวนาโดยถามผู้ร่วมเวทีว่าเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ณ ขณะนั้นทำอะไรอยู่ และแต่ละคนมีมุมมองเรื่องสื่อกับความรุนแรงทางการเมืองว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
- “ไม่อยากให้รื้อฟื้น เพราะเป็นเรื่องที่หดหู่ในจิตใจมาก”
ยุวดี ธัญญศิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสที่คนในวงการสื่อเรียกกันว่า “เจ๊ยุ” ที่ปักหลักทำงานในทำเนียบมานานเล่าย้อนให้ฟังว่าตนเรียนจบจากวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ไปฝึกงานและเริ่มทำงานที่บางกอกเวิล์ด ตอนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นั้นเป็นนักข่าวแล้ว "เห็นมาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนมาถึง 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งจริงๆ แล้วไม่อยากให้มีการรื้อฟื้น เพราะเป็นเรื่องที่หดหู่ในจิตใจมาก ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นนักข่าวสายม๊อบ ไม่ได้เข้าไปคลุกวงใน เราทำข่าวในส่วนของทำเนียบ สภา และสายทหาร แต่เราเองในฐานะที่เป็นคนไทย เราก็ไม่อยากให้คนไทยลุกขึ้นมาฆ่ากัน”
อดีตผู้สื่อข่าวบางกอกโพสต์เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่าวันนั้นไปทำข่าวที่กระทรวงกลาโหม ได้ถามพลเอกเกรียงศักดิ์ [ชมะนันทน์] ซึ่งตอนนั้นเป็นเสนาธิการทหาร ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์บานปลายร้ายแรง “ท่านก็บอกว่าเดี๋ยวท่านจะต้องดู ก็พยายามที่จะไม่ให้มีเรื่องราวอะไร คือผู้ใหญ่ในสมัยนั้น ท่านก็ใช้ความเป็นผู้ใหญ่ พอกลับไปทางโน้น ปรากฏว่าก็มีผู้สื่อข่าวผู้ชายวิ่งเข้าไปที่โน่น ร้องห่มร้องไห้ ผู้ชายนะ มาบอกว่ามันฆ่ากันยิงกัน เราก็ตกใจ เราก็ถามนายกฯ ว่าจะแก้ปัญหายังไงจะดับไฟยังไง มันก็เกิดเหตุลุกลามกันไป หลายฝ่ายก็พยายามจะให้ปัญหายุติโดยเร็วนะ”
ยุวดีเล่าว่าตอนนั้นมีข่าวสับสนมากมาย ว่ามีคอมมิวนิสต์ ซึ่งตนเองก็นึกใจว่าคอมมิวนิสต์มาได้อย่างไร เพราะเคยทำข่าวปราบคอมมิวนิสต์จนคอมมิวนิสต์วางอาวุธ ตอนนั้นสับสนมาก จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่รู้ว่าผู้ใหญ่หลายฝ่ายพยายามให้เหตุการณ์ยุติโดยเร็วที่สุด ไม่ให้ลุกลามบานปลาย
“หลังเหตุการณ์ฯ นักศึกษาหนีเข้าป่า ก็ถามผู้ใหญ่ว่าจะทำอย่างไร พลเอกเกรียงศักดิ์ท่านก็ดีนะ ท่านบอกว่า ท่านกำลังไปกราบเบื้องบนว่าขอที่จะนิรโทษ เพราะว่าถ้าเด็กเข้าป่าไปหมดนี่ ประเทศเราจะขาดปัญญาชน ท่านก็คิดถูกนะ ก็นิรโทษให้กลับเข้ามา ให้อภัยหมด ให้กลับมาเรียน ไม่งั้นเด็กของเราก็กลายเป็นเหยื่อฝ่ายโน้น ดึงคนของเราไปหมด ส่วนเรื่องอื่นๆ จะชำระกันยังไง ไม่ได้ตามไปดู”
- “ที่ใครๆ บอกกันว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นั้นเงียบงัน อาจเงียบงันโดยปรากฏการณ์ แต่ในใจนั้นไม่เงียบงัน”
ด้าน รุ่งมณี เมฆโสภณ เล่าว่าขณะนั้นตนเป็นนักศึกษาฝึกสอนปี 4 คณะศึกษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นคนสนใจการเมือง ทำกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองพอสมควร และมีการประเมินร่วมกันระหว่างองค์กรนักศึกษาที่ปัตตานี สงขลานครินทร์ หาดใหญ่ และร่วมกับส่วนกลาง “ต้องยอมรับว่าการประสานงานระหว่างภาคใต้กับส่วนกลางตั้งแต่ปี 2518 ก็เข้มข้นขึ้นโดยลำดับ เพราะช่วง 2518 มีเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ที่มัสยิดกลางปัตตานี ตอนนั้นมีนักกิจกรรมจากส่วนกลางลงไปเคลื่อนไหวทางภาคใต้อยู่มากพอสมควร ดิฉันรู้จัก สุธรรม แสงประทุม ก็ตอนนั้น รู้จักวัฒน์ วัลยางกูรก็ตอนนั้น และอีกหลายๆ คน รวมทั้งคณะคาราวานเองก็ลงไปเคลื่อนไหว”
รุ่งมณีเล่าว่าตอนนั้นไม่มีใครคาดคิดว่าสถานการณ์จะรุนแรงถึงกับมีการเข่นฆ่ากันที่ธรรมศาสตร์ รู้แต่ว่าน่าจะรุนแรงโดยลำดับ “ดิฉันอยากจะพูดในช่วงถัดไปเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงระยะยาว เพราะตอนหลังๆ นี่หันมาสนใจเรื่องประวัติศาสตร์การเมือง แล้วก็ศึกษาอย่างต่อเนื่องพอสมควร เพราะฉะนั้นการพูดเฉพาะเจาะจงเฉพาะกรณี 6 ตุลาฯ อาจทำให้ดูแคบ และมองไม่สัมพันธ์กับการพัฒนาการทางการเมืองโดยลำดับ”
รุ่งมณีกล่าวว่าจุดที่ทำให้ช็อคมากตอน 6 ตุลาฯ นั้น ต่อเนื่องจากเหตุการณ์ที่มีการแขวนคอผู้ติดโปสเตอร์ที่นครปฐม เช้าวันรุ่งขึ้นมีการเอาตัวแลน [ตัวเงินตัวทอง] มาแขวนคอไว้กลางห้องเรียนที่เธอฝึกสอน แม้ว่าสำหรับเด็กภาคใต้นั้น การล่าแลนเป็นเรื่องธรรมดา แต่การเอาแลนมาแขวนไว้กลางห้องใกล้โต๊ะครูฝึกสอนนั้นไม่ปกติ “ครูอาจเผลอไผลพูดเรื่องการเมืองระหว่างฝึกสอนอยู่บ้าง เพราะอยากให้เด็กสนใจเรื่องการเมืองเหมือนกัน ช็อคเล็กน้อย ถามเด็กว่าใครเป็นคนแขวน ถ้าใครรู้ตัวว่าเป็นคนแขวนให้เอาออกไป เด็กก็น่ารักก็เดินจากท้ายห้อง และเอาออกไป”
รุ่งมณีเล่าถึงสถานการณ์สื่อที่กรุงเทพตอนนั้นว่ามีช่อง 9 ช่องเดียวที่มีการเสนอภาพ แต่ไม่ใช่ภาพที่รุนแรงแบบที่เห็นกันในวิดีโอของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แต่ขณะนั้นพวกเธอรู้แล้วว่าเพื่อนที่ธรรมศาสตร์โดนกระทำ “ส่วนหนึ่งคือตกใจ แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือแล้วเราจะทำอย่างไรกัน หนีสิคะ รออะไร ก็ตัดสินใจ ตอนนั้นอนาคตของตัวเองเหมือนกัน ฝึกสอนยังไม่เสร็จ ใกล้ปิดเทอม ก็หนี แต่ก่อนหนีต้องทำลายหลักฐานเพราะมีห้องสมุดทางการเมืองที่ตัวเองเป็นผู้ริเริ่มอยู่ใต้หอพักนักศึกษา ฉีกซิคะ เผาซิคะ ใส่ถุง ซ่อนไว้ใต้ตึกบ้าง นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นี่ขนาดไกลปีนเที่ยงนะ ความรู้สึกตอนนั้น...(หยุดชะงักอยู่ครู่หนึ่ง น้ำตาซึม)...นี่ขนาดไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ตรงๆ แต่ effect มันมี หนีไปไหนดี เข้าป่าก็ไม่มีใครชวน เพราะตอนนั้นมันยังใหม่ ยังไม่มีการชวนกันหรอก มันยังใหม่มาก นึกถึงคนหนึ่ง เพื่อนสนิทเลย เพื่อนรักกันเลย ชื่ออาภรณ์ อุกฤษณ์ ขอเอ่ยชื่อนะคะ เพราะว่าไม่เป็นไร เหตุการณ์มันผ่านมานานแล้ว แบ๋ว อาภรณ์นี่เป็นน้องสาวพี่วินัย อุกฤษณ์ เจ้าของเพลงนกสีเหลือง แบ๋วมีเกาะอยู่ที่กระบี่ อยู่ที่ลันตาน้อย เราไปแวะกันที่กระบี่ก่อน จากกระบี่เราก็ไปลันตา รู้สึกว่าที่นั่นมัน save มาก แล้วก็พยายามติดต่อกับทางบ้าน เพราะที่บ้านก็ห่วงมาก ลูกสาวคนเดียว อยู่ที่ลันตาอยู่สักพัก ก็กลับมา จำความรู้สึกตอนกลับมา นั่งรถ บขส จากกระบี่กลับกรุงเทพ กลัวมาก มีทหารเรือ ถ้าจำไม่ผิด ขึ้นมาค้นรถ เรารู้เลยว่าใจสั่น ทั้งๆ ที่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น”
เธอกล่าวว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว 40 ปี ที่ใครๆ บอกกันว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นั้นเงียบงัน อาจเงียบงันโดยปรากฏการณ์ แต่ในใจนั้นไม่เงียบงัน
รุ่งมณีเล่าว่าเธอเริ่มต้นทำงานนักข่าว ปี 2520 และสถานการณ์และบทบาทสื่อมวลชนหลัง 6 ตุลาฯ ไม่สามารถทำหนังสือที่เป็นการเมืองล้วนๆ ได้เพราะมีกฏข้อบังคับ “บทบาทของเรา หน้าที่สื่อมวลชนในขณะนั้น โดยเฉพาะสื่อมวลชนทางด้านการเมือง เราต้องเล่นในบริบทที่เราสามารถเล่นต่อได้ มันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ และช่วงเวลานั้นมันเป็นการหล่อหลอมที่สำคัญช่วงหนึ่งในการที่จะดัดแปลงตัวเอง ความคิดของคนที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัย ความคิดทางการเมือง ส่วนใหญ่ต้องบอกว่าเอียงซ้ายทั้งนั้น จะซ้ายเล็ก ซ้ายน้อย ส่วนใหญ่โดยเฉพาะนักกิจกรรมทั้งหลายนี่จะไปทางนั้น ต้องมีศิลปะอย่างยิ่ง”
ยุวดี ธัญญศิริ, รุ่งมณี เมฆโสภณ, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์
- “ตอนนั้นยานเกราะปลุกระดม ด่าทอนักศึกษามากมาย”
นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ กล่าวว่าตนเองก็เพิ่งรู้ตัวเมื่อไม่นานมานี้ว่าตกเป็นเหยื่อของความเงียบเหมือนกัน เธอเป็นคนรุ่นเดียวกับรุ่งมณี และเข้าสู่วงการข่าวพร้อมกัน สนิทกัน แต่ไม่เคยคุยเรื่องเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ด้วยกันเลย และขณะที่ยังเป็นนักศึกษานั้น ต้องบอกว่าตัวเองเป็นคนโง่ทางการเมืองมากที่สุด ไม่ได้สนใจประเด็นทางการเมืองอะไรมากมายนัก ตอนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อยู่ปีหนึ่ง และอยู่ปีสี่ตอน 6 ตุลาฯ “การเติบโตของตัวเอง โตกับหนังสือประเภทกระท่อมน้อยของลุงทอม เพราะฉะนั้นก็โตมากับความรู้สึกว่าเรารักความเป็นธรรม รักเสรีภาพ มนุษย์ไม่ควรกดขี่ แล้วมันก็ฝังแน่นมา 14 ตุลาฯ เราก็มาด้วยความรู้สึกแบบนี้ แล้วเราก็เชื่อมาถึง 6 ตุลาฯ ด้วยความรู้สึกนี้รู้สึกเดียว”
นิธินันท์เล่าว่าเธอโฟกัสอยู่กับเรื่องความเป็นธรรมเท่านั้น เมื่อชาวบ้านเดือดร้อน ชาวนามาชุมนุม เธอไปร้องเพลงให้กำลังใจ และช่วยกิจกรรมอื่นๆ รวมทั้งการติดโปสเตอร์
สำหรับบรรยากาศในกรุงเทพช่วงนั้น เมื่อไปติดโปสเตอร์ชวนชมกิจกรรมท่ามกลางความกลัว เวลากลับบ้านดึก ก็จะมีคนแปลกหน้าเดินตามตลอด “วันที่ช่างไฟฟ้าที่นครปฐมถูกแขวนคอ เป็นเรื่องที่เราช็อค เราก็ไปติดโปสเตอร์เพื่อต่อต้านเรื่องการแขวนคอ ก็มาถึงวันที่ 6 ตอนนั้นยานเกราะก็ปลุกระดม ด่าทอนักศึกษามากมาย ดิฉันรู้สึกว่าบรรยากาศไม่ดี แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่ากลัวตาย ณ ขณะนั้น”
นิธินันท์กล่าวถึงการเริ่มต้นในวิชาชีพสื่อที่หนังสือพิมพ์ The Nation ในปี 2520 ว่า การเป็นสื่อเป็นสิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกว่าน่าสร้างสังคมที่เป็นธรรมได้ “เพราะเราจะบอกสิ่งที่ไม่เป็นธรรมในสังคมให้โลกรู้”
- “สิ่งที่เราเห็นคือ การที่เปิดสื่อขึ้นมาระดมโจมตีนักศึกษาและใช้เป็นเครื่องมือในการทำร้าย”
อธึกกิต แสวงสุข เจ้าของนามปากกา “ใบตองแห้ง” กล่าวถึงสถานการณ์ช่วง 6 ตุลาคม 2519 ว่า “สิ่งที่เราเห็นคือ การที่เปิดสื่อขึ้นมาระดมโจมตีนักศึกษา และใช้เป็นเครื่องมือในการทำร้าย เป็นการสร้างขบวนการให้ร้ายว่าเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ ผสมผสานกับการใช้มือปืน ใช้กำลังอันธพาล”
อธึกกิตเล่าว่าตนเริ่มทำงานสื่อประมาณปี 2531 ที่หนังสือพิมพ์แนวหน้า ตอน 6 ตุลาฯ เรียนอยู่ปี 3 คณะวารสารศาสตร์ ช่วงนั้นขนของมาอยู่ที่ธรรมศาสตร์ นอนที่ตึกโดม อยู่กับขบวนการนักศึกษา กลางคืนออกไปติดโปสเตอร์ คืนวันที่ 5 ตุลาคม ตนอยู่บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ เป็นหน่วยพื้นที่ มีหน้าที่ดูแลหากเกิดเหตุอะไร ต้องพามวลชนไปทางไหน “ก็ยิงตั้งแต่เช้า เหตุการณ์ก็เป็นอย่างที่รู้กัน ผมไม่ได้เห็นข้างนอก การแขวนคอ อะไรต่างๆ เราไม่เห็น เรามารู้ทีหลังว่าเพื่อนเราโดนยังไง แต่ที่เราโดนกับตัวก็คือโดนยิงนั่นแหละครับ โดนตั้งแต่เอ็ม 79 โดนยิงกราดเข้ามาจากทางพิพิธภัณฑ์ เพื่อนสนิทที่เรียนมาด้วยกันตั้งแต่ ม.ศ. 4 มาอยู่ธรรมศาสตร์ปี 3 ก็ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างที่เขาทุบกระจกตึกบัญชีเพื่อที่จะให้พวกเราหลบกันเข้าไป”
อธึกกิตเล่าว่ามารู้ภายหลังว่าการยิงถล่มตึกบัญชีมีการใช้ปืนไร้แรงสะท้อน ปืน ปรส 57 ซึ่งสะเทือนมาก ตูม ตูม ตูม เขาอยู่ข้างในเป็นชั่วโมง จนทหารบุกเข้ามา เอาพานท้ายปืนฟาดหน้าอก บังคับให้ถอดเสื้อ ตอนถอดเสื้อก็ยังมีการยิงกราดทำให้บางคนบาดเจ็บ แล้วก็ถูกกวาดต้อนไปที่เรือนจำบางเขน 3 วัน แม่มาประกันตัวกลับบ้าน 1 ปีไม่ได้เข้าป่า ลาออกจากธรรมศาสตร์ เอ็นทรานซ์ใหม่ อยู่ได้ช่วงหนึ่งจึงเข้าป่า กลับมาปี 2525 เคว้งคว้างอยู่ 4-5 ปี จนมาทำหนังสือพิมพ์
จักร์กฤษ เพิ่มพูล, อธึกกิต แสวงสุข
- “ฟังยานเกราะตลอด และติดตามหนังสือพิมพ์ดาวสยาม”
ส่วน จักร์กฤษ เพิ่มพูล เล่าวว่า เริ่มอาชีพนักข่าวหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ประมาณสามปี ช่วง 6 ตุลาฯ เขาเรียนอยู่ปี 3 มหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่ได้มีส่วนร่วมอะไร แต่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นจุดหักเหให้เลือกอาชีพนักข่าว ขณะนั้นเขาฟังยานเกราะตลอด และติดตามหนังสือพิมพ์ดาวสยาม จนในที่สุดมาทำหนังสือพิมพ์ก็ทำหนังสือพิมพ์ในแนวทางดาวสยาม เพียงแต่ขณะนั้นดาวสยามไม่มีแล้ว เป็น ตะวันสยาม “ในช่วงแรกๆ ของชีวิตนักข่าว ผมมีแนวคิดตรงข้ามกับนักศึกษาเลย เพียงแต่ว่าผมไม่ได้ลุกขึ้นมาทำอะไรเท่านั้นเอง ผมทำหนังสือแนวนั้นมาตลอด แต่จุดหนึ่งที่ผมอยากชวนให้ฉุกคิดก็คือว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มันเป็นการเริ่มต้นยุคเผด็จการ ยุคลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนที่สำคัญช่วงเวลาหนึ่ง เป็นการเกิดของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 ประกาศฉบับนี้ปิดหนังสือพิมพ์ไปหลายฉบับ หนังสือพิมพ์หลายฉบับตายไปตอนนั้นเลย ไม่ได้ผุดได้เกิด”
จักร์กฤษเล่าว่าหลังทำหนังสือพิมพ์มาสิบปีแรก เขาโดน ปร. 42 ปิดเอง นอกจากนี้ยังได้รับโทรศัพท์โดยตรงจากอดีตนายสถานียานเกราะ “โทรมาบอกว่าคุณเล่นอะไร คุณจะเอายังไงกับผม” ท้ายที่สุดตนมีโอกาสมีส่วนเล็กน้อยในการเคลื่อนไหวยกเลิก ปร. 42 เป็นคนร่างแถลงการณ์ครั้งแรกปี 2530 สมัยรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ บอกว่า ปร. 42 เป็นกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ไม่สมควรอยู่ในยุคประชาธิปไตยอีกต่อไปแล้ว
“แต่จุดหนึ่งที่ผมอยากพูดถึงคือ ย้อนกลับไปดูตอน 6 ตุลาฯ สิ่งที่ผมชื่นชมศรัทธา สิ่งที่ผมเชื่อยานเกราะ สิ่งที่ผมเชื่อดาวสยาม จนถึงวันนี้ผมคิดว่า วันนี้มันมีความเลวร้ายมากกว่านั้นเยอะนะครับ เราไม่เคยพบว่าคุณประสาน [มีเฟื่องศาสตร์] ดาวสยามออกมาชูธงนำขบวนคู่ขัดแย้ง แต่วันนี้บริบทของสังคมมันเปลี่ยนไป สื่อกลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง สื่อกลายมาเป็นฝักฝ่ายเสียเอง สื่อมาเป็นคนชี้นำ มาเป็นคนปลุกระดมเสียเอง เป็นคนสร้าง hate speech เสียเอง”
จักร์กฤษกล่าวว่าตนมีอีกบทบาทหนึ่งที่เป็นคนสอนหนังสือด้วย เมื่อย้อนกลับมาดูเรื่อง hate speech ตนคิดว่า 6 ตุลาฯ เป็นเหตุการณ์แรกที่อธิบาย hate speech ชัดเจนที่สุด “คือการพูดซ้ำ ๆ การสร้างความเกลียดชัง การสั่งสมอยู่ในใจ จนวันหนึ่งคนไม่รู้สึกผิดที่จะมาทำทารุณกรรมเด็กมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขารู้สึกเป็นเรื่องปกติ เพราะรู้สึกว่าพวกนี้มันเลว มันเป็นคนไม่ดี ด้วยคำพูดซ้ำๆ จาก hate speech”
ณรรธราวุธ: พี่จักร์กฤษพูดถึงเรื่องเคยทำงานรับใช้อุดมการณ์แบบดาวสยาม หรือยานเกราะมาก่อน แล้วจุดหนึ่งมาเลิก ในการเรียกร้องให้มีการยกเลิก ปร. 42 เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของสื่อ อะไรคือจุดเปลี่ยน อะไรที่ทำให้รู้สึกว่าต้องเปลี่ยนอุดมการณ์
จักร์กฤษ: การทำสื่อมวลชน เสรีภาพคือหัวใจสำคัญสุด ถ้าขาดเสรีภาพแล้วก็ไม่มีประโยชน์ที่จะทำสื่อมวลชน ขณะนั้นหนังสือพิมพ์ที่ผมทำก็มีเงื่อนไขเยอะ อันนั้นเขียนได้ อันนี้เขียนไม่ได้ หนังสือพิมพ์หลัง 6 ตุลาคม 2519 จะเป็นการเสนอข่าวที่มันไร้สาระมาก ข่าวดารา ข่าวประเภทประโลมโลกเยอะมาก เพราะว่าเขาต้องการความปลอดภัย ไม่ต้องการไปวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ แต่ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการที่ลิดรอนหัวใจสำคัญที่สุดของสื่อมวลชน คือเรื่องเสรีภาพ ผมเริ่มคิดได้ว่าการลิดรอนเสรีภาพในบรรยากาศของเผด็จการแบบนั้น มันเป็นเรื่องที่จะต้องต่อต้าน
ณรรธราวุธ เมืองสุข, พิณผกา งามสม
หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ณรรธราวุธ: หลัง 6 ตุลาฯ ความรุนแรงทางการเมืองที่เคยเผชิญมา สืบทอดต่อมา ดูเหมือนไม่ได้เปลี่ยนไปเลย ดูเหมือนไม่ได้หายไป มีอุดมการณ์บางชุด มีแนวคิดบางอย่างที่ถูกสืบทอดต่อมาและก่อให้เกิดความรุนแรงทางการเมืองอยู่เรื่อยๆ เพราะอะไร?
ยุวดี ธัญญศิริ กล่าวว่า จะพูดให้ถึงที่สุดก็พูดไม่ได้ ประเทศไทยองค์กรสำคัญสุดคือทหาร ซึ่งเธอให้ความยอมรับนับถือในการดูแลรักษาความมั่งคงประเทศมาตลอด เพราะไม่ค่อยเชื่อนักการเมืองยุคก่อนๆ “แต่เราถือว่าเราเป็นสื่อ ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้ขัดแย้งกับใคร หรือเข้ามาทำเพื่อจะเชียร์ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เรายืนอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ถ้าสื่อเปลี่ยนอุดมการณ์ คุณไม่ต้องไปอ่านมันหรอก”
ยุวดีกล่าวว่าสื่อในปัจจุบันก็มีประเภทยุให้รำตำให้รั่ว พยายามทิ่มแทงฝ่ายตรงข้าม และพรรคการเมืองมาเปิดสื่อเพื่อตอบโต้ เอาสื่อมาเป็นผลประโยชน์ทางการเมือง สื่อเองก็มักถูกโยนให้ไปเป็นฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ “ยิ่งยุคมืด ยุคก่อนๆ นี้ บางทีเรานึกไม่ถึงเลย สังคมนิยมนะ ต่อสู้เพื่อประชาชน เพื่ออะไรนี่ มารู้ทีหลัง เป็นสาย กอ.รมน. ดาวสยามนี่ก็เหมือนกัน นักข่าวต้องระวังตัวแจเลย ไม่รู้มันเอาอะไรเข้าไปรายงานบ้าง แม้แต่ที่บางกอกเวิลด์ ก็มีสันติบาลตัวเป้งๆ เข้าไปเป็นนักข่าวอยู่ด้วย หนังสือพิมพ์ภาษาไทยก็มีเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ระดับนายพันเข้าไปอยู่”
ณรรธราวุธ: เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ส่วนใหญ่เราจะเห็นภาพจากสื่อต่างประเทศ เราได้รับข้อมูลจากสื่อต่างประเทศ ณ ขณะนั้น จะเห็นว่ามันเกิดความอึมครึมในเรื่องของการทำหน้าที่ของสื่อไทยในขณะนั้น อยากถามเจ๊ยุว่า ในช่วงระยะเวลา 3 ปีจาก 14 ตุลาฯ ถึง 6 ตุลาฯ นี่ สื่อไทยถูกกดดัน หรือได้รับผลกระทบจากอำนาจรัฐอย่างไรบ้าง
ยุวดี: มากเลย เวลามียึดอำนาจที เขาก็จะขอความร่วมมือ ขอตรวจข่าว เราก็ให้ความร่วมมืออยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร แล้วรูปบางอย่างเราไม่กล้าลง เขาถึงต้องไปเอาสื่อต่างประเทศมาทำไง สมัยก่อนก็ไม่ได้ส่งออกไปง่ายๆ นะ ต้องไปส่งที่ไปรษณีย์ เอพี รอยเตอร์ส ให้วกกลับมา เราถึงไปเอาของเขามาลงอีกที
พิณผกา: ขอถามพี่ๆ ท่านอื่นด้วยว่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นี่ การทำงานของสื่อยากอย่างไร
นิธินันท์ : หลัง 6 ตุลาฯ พวกนักศึกษาแพ้โดยเด็ดขาด เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้มีลักษณะที่ฝ่ายรัฐต้องมาสั่งอะไรสื่อมาก สื่อถูกปิดไปเกือบหนึ่งปีหลัง 6 ตุลาฯ
รุ่งมณี : ก่อนพูดเรื่องทำสื่อช่วง 6 ตุลาฯ ขอพูดเรื่อง hate speech หรืออวจนภาษา ซึ่งมีการพูดเรื่อง hate speech กันมากๆ หลังปี 2549 แต่ต้นกำเนิดจริงๆ ที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน คือสมัย 6 ตุลาฯ ซึ่งบทบาทที่โดดเด่นคือบทบาทของยานเกราะ บทบาทของอุทาร สนิทวงศ์ [พ.ท. อุทาร สนิทวงศ์ ผู้จัดรายการสถานีวิทยุยานเกราะ] ซึ่งตอนนั้นยานเกราะทำเป็นเครือข่าย ซึ่งมีอิทธิพลมากต่อการผลิตซ้ำ สร้างภาพนักศึกษาจนไม่ใช่นักศึกษา ตอนนั้นไม่ได้แค่ paint ภาพเป็นแค่คอมมิวนิสต์ แต่ paint ภาพเป็นต่างชาติ สมัยนั้นจะมีคำว่า แกว, ญวน จนกระทั่งความรู้สึกของคนส่วนหนึ่งที่รับสารจากยานเกราะไม่ได้มองนักศึกษาเป็นคนไทย บางคนมองไม่ใช่มนุษย์เพราะฉะนั้นพฤติกรรมในการทำร้ายที่ปรากฏภาพออกมาให้ห็นเป็นเชิงประจักษ์ จึงออกมารุนแรงเกินกว่าที่คนปกติจะรับได้ การหัวเราะภาพการกระหน่ำตีของคนที่ถูกฆาตรกรรมหรือถูกทำร้ายนั้นเหมือนไม่ใช่ภาวะความเป็นตัวตนของเขา
พิณผกา : ช่วงระหว่าง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 สื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่ยานเกราะ ไม่มีบทบาทหรือ ทำไมความเกลียดชังถึงถูกบ่มเพาะมาได้ภายในเวลาแค่ 3 ปีเท่านั้น
ณรรธราวุธ: จนกระทั่งเกิดการกวาดล้างอย่างรุนแรงมาก
รุ่งมณี : ต้องอ่านข้อวิเคราะห์ของอาจารย์เบน [แอนเดอร์สัน] ซึ่งเขียนชัดมากว่าสิ่งที่เกิดขึ้นใน 6 ตุลาฯ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นแบบไม่มีการเตรียมการ เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นชัยชนะของขบวนนักศึกษา แต่หลังจากนั้นฝ่ายกุมอำนาจรัฐตั้งรับได้ และมีการปูพื้นของสถานการณ์ตั้งแต่ช่วงนั้นเป็นต้นมา ประกอบกับเงื่อนไขต่างประเทศด้วย การเข้ามาของอิทธิพลสหรัฐอเมริกา การโฆษณาชวนเชื่อเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์ ในโรงเรียนมีการฉายภาพยนตร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ สิ่งเหล่านี้ถูกปลูกฝัง ไปเปลี่ยน mindset ใหม่กับผู้คน
รุ่งมณีเล่าถึงการทำสื่อหลัง 6 ตุลาคม 2519 ว่าช่วงที่ทำนิตยสารปริทรรศน์ หนังสือขายดีมากเพราะมีเรื่องกอสซิปจากป่า มีเรื่องสถานการณ์สู้รบ มีรูปที่ซีร็อกซ์กันมาหลายต่อ แต่เป็นเรื่องที่คนอ่านอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ใครทำอะไรกันบ้าง “เรื่องแบบนี้ขายดี และไม่ต้องเขียนเป็นข่าวเลย เขียนกอสซิป ทำไมอำนาจรัฐไม่ว่า เพราะอำนาจรัฐอยากรู้”
นิธินันท์: หนังสือพิมพ์หลักอย่าง The Nation ที่ทำอยู่นั้นไม่ได้นำเสนอข่าวแบบปริทรรศน์ แต่จะเลี่ยงไปทำเชิงสารคดี เช่นลงไปทำข่าวที่ปักษ์ใต้ ดูชีวิตชาวบ้านว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร มีคนหายไป เป็นหลักการทำสื่อธรรมดา คือตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของคนในเวลานั้น แต่ไม่ได้เป็นการไปรบกับรัฐ จึงไม่มีปัญหากับรัฐ
พิณผกา: 40 ปีผ่านไป พี่ๆ คิดว่าสื่อไทยมีส่วนเป็นปัจจัยในความขัดแย้ง ความรุนแรงทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน และได้ทำหน้าที่ของตัวเองในการเป็นส่วนในการยับยั้งความรุนแรงทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน
ณรรธราวุธ: 40 ปีผ่านไป สิ่งเหล่านี้มาเกิดซ้ำอีกตอนพฤษภาคม ปี 2553 มีความรุนแรงทางการเมืองเช่นเดียวกัน และมีการใช้อำนาจของรัฐที่พยายามเข้ามาดำเนินการกับขบวนการภาคประชาชน แม้ไม่ใช่เรื่องของ “นักศึกษา เรื่องของคอมมิวนิสต์” แต่เป็นเรื่องของ “การเผาบ้านเผาเมือง การล้มล้างสถาบัน” ทำไมประสบการณ์จาก 6 ตุลาฯ และสื่อในยุคหลัง 6 ตุลาฯ ที่เคยผ่านประสบการณ์ตรงนั้นมา แล้วมีบทบาทสำคัญอยู่ในสื่อยุคปัจจุบันด้วยถึงปล่อยให้มีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
จักร์กฤษ: 10 ปีหลัง 6 ตุลา ข่าวการเมืองลดลงไปเยอะ การวิพากษ์วิจารณ์การเมืองแทบไม่มีเลย มีแต่รายงานข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมืองชนิดที่ไม่กระทบกับผู้มีอำนาจมาก ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เกิดข่าวประเภทดาราไม่สบายต้องไปเยี่ยมไข้ ดารามีโอกาสเกิดในช่วงที่ข่าวการเมืองถูกบีบตัวใต้ ปร. 42
ส่วนสื่อปัจจุบันได้เรียนรู้อะไรจาก 6 ตุลาฯหรือไม่นั้น คิดว่าแทบไม่ได้เรียนรู้อะไรจาก 6 ตุลาฯ เลย เพราะคนทำสื่อในยุคปัจจุบัน 60-70% เป็นคนรุ่นใหม่ๆ แทบไม่มีรอยเชื่อมทางประวัติศาสตร์ ที่เลวร้ายกว่านั้น แม้ตอนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 เรารู้ว่ามีการพาดหัวหนังสือพิมพ์แบบนี้ แต่เจ้าของหนังสือพิมพ์ คนที่ทำหนังสือพิมพ์ ไม่ได้ออกมามีบทบาททางสังคม เขาอยู่ในพื้นที่ของเขา “แต่วันนี้ นอกจากตัวสื่อแล้ว คนทำสื่อก็ออกมามีบทบาทด้วย เป็นคู่ขัดแย้งทางสังคม ซึ่งปกติคนทำสื่อควรจะมีบทบาทเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์และให้สติกับสังคม วิเคราะห์ชี้ถูกชี้ผิด แต่ไม่ควรที่จะออกมายืนอยู่ข้างหนึ่งข้างใดชัดเจน หรือบอกว่าข้างใดถูกข้างใดผิด”
อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวว่า เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนมีอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งนั้น แต่วันนี้เราไม่สามารถแยกบทบาทบนพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ส่วนตัวได้ ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง เราพบว่า พิธีกรรายการทีวีบางรายการยุให้คนไปบุกอีกฝ่ายหนึ่งด้วยซ้ำไป บางคนขึ้นเวทีอีกฝ่ายหนึ่ง พอกลับไปทำหน้าที่หน้าจอก็ยังเป็นแบบนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง “คนที่ทำหน้าที่สื่อไม่รู้ว่าตัวเองควรอยู่ในจุดไหน”
อธึกกิต ยอมรับว่าตนเป็นสื่อเลือกข้างไปแล้ว ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ และการเป็นสื่อที่ถูกบอกว่าเลือกข้างไปแล้วมีข้อจำกัด เมื่อมาถึงจุดนี้ สิ่งที่จะรักษาไว้คือการมีเหตุผล และการใช้ถ้อยคำต่างๆ ที่ยังเคารพความเป็นมนุษย์กันอยู่
อธึกกิตกล่าวว่าหากย้อนไปยุค 6 ตุลาฯ จะพบว่าจริงๆ แล้วสื่อไม่ได้เข้าข้างฝ่ายขวาอย่างที่เราคิดมากมายนัก แน่นอนมีดาวสยาม ยานเกราะ แต่จริงๆ แล้วมีบางกอกโพสต์ ซึ่ง ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยวิเคราะห์ไว้ว่า ภาพเล่นละครแขวนคอที่บางกอกโพสต์ลงนั้น ด้วยเจตนาที่จะช่วยนักศึกษา แต่ถูกเอาไปตีความ และหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ ก็ไม่ได้เป็นฝ่ายที่เชียร์ฝ่ายขวาอย่างเต็มที่ทั้งหมด แต่ต่อมาขืนอำนาจไม่ได้ และหลังจากนั้นก็มีการสั่งปิดสื่อ “ผมคิดว่าสื่อในยุค 6 ตุลาฯ ไม่ได้ถลำลึกอะไรมาก และถ้าเรามองการโจมตีแบบดาวสยาม แบบยานเกราะนี่ มันตื้นมากเลยนะ ยุคนี้เล่นกันหนักกว่าอีก มีอะไรหลายอย่างที่ซับซ้อนกว่ากันเยอะ”
เชิญชมการสนทนาฉบับเต็มได้ที่นี่...
