Skip to main content

  • วันที่ 29 สิงหาคม 2559 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.)มีมติให้พักการดำเนินรายการของ 2 พิธีกรช่องวอยซ์ทีวี คือ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล และนายอธึกกิต แสวงสุข หรือใบตองแห้ง ตั้งแต่วันที่ 15-24 ส.ค.2559 (โดยกฎหมายกำหนดให้ กสท. ปฏิบัติการแทน กสทช. ในส่วนภารกิจเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์) และ กสทช. อ้างว่ามติดังกล่าวเป็นไปตามที่ทางวอยซ์ทีวีเสนอแนวทางการแก้ไขการออกอากาศรายการ Wake Up News เนื่องจากมีการดำเนินรายการในลักษณะเป็นการต้องห้ามมิให้ออกอากาศ ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ประกอบกับประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/2557 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2557 และมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
  • วันเดียวกัน วอยซ์ทีวีออกแถลงการณ์ยอมรับมติ กสทช โดยระบุว่า “การให้ปรับผังและปรับปรุงรายการ Wake Up News 7 วัน ล่าสุดในครั้งนี้   ได้เกิดขึ้นในบรรยากาศของการหารือเพื่อเป็นตามคำแนะนำและดุลพินิจของ กสทช. บนพื้นฐานการใช้อำนาจที่ กสทช.เชื่อว่ามีอำนาจกระทำได้ ทั้งนี้แม้บริษัทฯอาจมีความเห็นหลายประเด็นที่ต่างกันกับ กสทช. แต่ยังมีจุดร่วมคือยืนยันบนหลักการที่ว่า บริษัทฯมีสิทธิและเสรีภาพที่จะนำเสนอข่าวสารและการวิเคราะห์ข่าวอย่างมืออาชีพและเป็นกลาง สร้างสรรค์ต่อไป”
  • ต่อกรณีดังกล่าว ณรรธราวุธ เมืองสุข บรรณาธิการโพสต์ทีวี เปิดการณรงค์เรียกร้องให้ “กสท. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์) หยุดแทรกแซงการนำเสนอเนื้อหาของ Voice TV”

https://www.change.org/p/ผู้บริหารของ-กสทช-กสท-หยุดแทรกแซงการนําเสนอเนื้อหาของ-voice-tv?recruiter=87701554&utm_source=share_petition&utm_medium=facebook&utm_campaign=share_for_starters_page&utm_term=des-lg-no_src-no_msg&fb_ref=Default

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559  มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ จัดเวทีมีเดียคาเฟ่-สื่อสนทนาเรื่อง “กสทช. บทบาทต่อเสรีภาพสื่อWake Up!” ร่วมสนทนาโดย รศ. ดร. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการสื่อมวลชน, อธึกกิต แสวงสุข พิธีกรรายการ Wake Up News, วอยซ์ทีวี และ ณรรธราวุธ เมืองสุข บรรณาธิการโพสต์ทีวี/ ผู้ริเริ่มการรณรงค์เรียกร้องให้ “กสท. หยุดแทรกแซงการนำเสนอเนื้อหาของ Voice TV” โดยมี อ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ ผู้สอนวิชา Media and Society in Thailand , วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ  

อัครพงษ์ เกริ่นนำว่าเวลาพูดถึง กสทช. หรือองค์กรที่ควบคุมสื่อ จะนึกไปถึงความฝันของรัฐธรรมนูญ ปี 40 คืออยากให้มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งมาจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งเมื่อก่อนเคยอยู่ในเงื้อมมือของผู้มีอำนาจ คืออยู่ในกองทัพ อยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรี และที่รู้จักกันในนาม MCOT สามส่วนนี้ถูก กสทช.เอาคลื่นมากระจายใหม่ จึงได้ดิจิตอล ทีวี ในกรณีนี้ วอยซ์ทีวีเป็นหนึ่งในช่องที่ชนะการประมูล  กรณีระงับการออกอากาศของวอยซ์ทีวี  ขอให้คุณอธึกกิตเล่าที่มาที่ไปว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น

อธึกกิต แสวงสุข พิธีกรรายการ Wake Up News อธิบายว่าการพักรายการ Wake Up News ของวอยซ์ทีวี 7 วันครั้งล่าสุดนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้วอยซ์โดนเรียกเตือน โดยเฉพาะรายการ Wake Up ไม่ต่ำกว่าสิบครั้ง อาทิ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา “ช่วงเสนอเรื่องห้องเรียนรัฐธรรมนูญ นำรัฐธรรมนูญในอดีตมาให้คนดูฟัง ก็โดนว่าเรื่องการเสนอเนื้อหา ว่าทำไมเปรียบเทียบรัฐธรรมูญฉบับล่าสุดกับฉบับจอมพลสฤษดิ์ และมีตัววิ่งถามเกี่ยวกับการลงประชามติได้อย่างไร , มีการนำเสนอเนื้อหา วิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมูญ ก็โดน, นำเสนอเรื่องพลเอกประยุทธ์ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหารถไฟฟ้า ก็โดน ก็งงๆ อยู่ เพราะจำได้ว่าเราไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ท่าน เราคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องดี เพียงต้องการบอกว่าที่จริงควรมีการแก้ปัญหาในเชิงระบบที่ไม่ต้องใช้มาตรา 44 ได้มั้ยเท่านั้น อีกครั้งช่วงห้องเรียนรัฐธรรมนูญ สัมภาษณ์อาจารย์สุขุม [นวลสกุล] ก็โดนอีก เข้าใจว่าไม่ได้เตรียมกับอาจารย์สุขุม คิดว่าต่อไปคงต้องเตรียมกับอาจารย์ให้อาจารย์พูดเบาๆ หน่อย อาจารย์โฟนอิน ท่านก็เป็นผู้ใหญ่ ท่านก็ไม่ได้เลือกข้างอะไรที่ชัดเจน เป็นนักวิชาการที่คนเคารพนับถือพอสมควร  แต่เค้ามองว่าล้ำเส้นมาหน่อย ก็โดนมาตลอด” 

ส่วนครั้งล่าสุดที่โดนพักรายการ เป็นเรื่องภาคใต้ เมื่อวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม และเรื่องไผ่ ดาวดิน ในรายการมีการอ่านกลอนของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุลที่เรียกร้องความเห็นใจให้กับไผ่ ดาวดิน ซึ่งอธึกกิตเห็นว่ารายการคงถูกมองว่าทำให้คนเห็นว่าคสช. ใจร้าย ส่วนเรื่องส.ว. เสนอนายกคนนอก “เค้าบอกว่าคุณไพบูลย์ [นิติตะวัน] ประกาศตั้งพรรคชูพลเอกประยุทธ์เป็นนายก เค้าเห็นว่าเรารายงานแต่ความเห็นของคุณวันชัย สอนศิริ ทำให้เกิดความสับสน ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย แต่ผมเห็นว่าเรื่องนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันทุกช่อง และเป็นเรื่องปกติที่จะวิจารณ์กัน”

พิธีกรรายการ Wake Up News เปิดเผยว่า ประเด็นที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาที่สุดคือการสัมภาษณ์นักวิชาการกรณีระเบิดภาคใต้ ซึ่งทางรายการสัมภาษณ์ความเห็นของ ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และ ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านสันติวิธี และความมั่นคง

“การนำเสนอข้อมูลเรื่องภาคใต้ของเรา  เค้าอาจเห็นว่าเราอยู่ฝ่ายแดง ปกป้องฝ่ายแดง แต่สรุปแล้วเราก็ไม่ได้บอกว่าใครทำ  สรุปแล้วพอผ่านไปถึงวันที่ 22 ที่กสทช.เรียกเราไปชี้แจงและลงโทษเรา เป็นประเด็นที่คนเห็นกันอยู่แล้วว่า ทำไม กสทช.เอาเรื่องภาคใต้มาเล่นวอยซ์ได้อย่างไร เพราะที่พูดกันมาว่าทักษิณคือภาคใต้นั้นผิดหมด และล่าสุด มีแหล่งข่าวบีอาร์เอ็นให้สัมภาษณ์สื่อมาเลย์ยอมรับว่าเขาทำ เราไม่ต้องไปปักใจว่าฝ่ายไหนแต่หมายถึงว่า เมื่อคุณเป็นสื่อโดยจรรยาบรรณสื่อ คุณอย่าไปปรักปรำใคร”

ทั้งนี้ อธึกกิตตั้งคำถามกลับว่า การที่กสทช.มาเล่นเรื่องนี้ ทำให้จรรยาบรรณสื่อสับสนหรือไม่? “เพราะสื่อไม่ควรรีบชี้นำว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือใคร สื่อควรให้สติประชาชน”


ผู้ร่วมสนทนา (จากซ้าย) ณรรธราวุธ เมืองสุข, อธึกกิต แสวงสุข, อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์, อัครพงษ์ ค่ำคูณ

กสทช. กับบทบาท พิลึกพิลั่นในมาตรา 37

พิธีกรรายการ Wake Up News เปิดเผยว่า การเรียกวอยซ์ทีวีไปชี้แจงไม่ใช่การใช้อำนาจของกสทช.ตามมาตรา 37 โดยอ้างถึงหนังสือ กสทช. ที่ระบุถึงรายการที่เป็นปัญหาว่า “เป็นเนื้อหาที่อาจเข้าข่ายขัดต่อคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 97/2557 เรื่องการให้ความร่วมมือในการทำงานของ คสช. และการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ”

อธึกกิตชี้ให้เห็นว่าต้องแยกให้ออกว่า มาตรา 37 เป็นอำนาจของกสทช. แต่ประกาศที่ 97 และ103 คือประกาศ คสช.  ที่ผ่านมาในอดีต ไม่เคยมีแบบนี้ “รัฐประหารทุกครั้ง แม้แต่ปี 2550 ก็ยังไม่มี กสทช. รัฐประหารปี 34 และย้อนไป คือทหารใช้อำนาจควบคุมสื่อเอง เอ้ามีปัญหาหรือ? ทุบโต๊ะ ปิด สมัยก่อนล่ามโซ่หนังสือพิมพ์ ซัดกันตรงๆ ไปเลย  สมัยคุณสมัคร สุนทรเวชเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ยึดแท่นพิมพ์ ใช้อำนาจเต็มที่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคนี้สมัยนี้คือ เรามีองค์กรอิสระ อย่างกสทช ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสื่อ คุ้มครองเสรีภาพสื่อให้เป็นไปตามมาตรา 37  องค์กรที่จ้างกรรมการเงินเดือนสามแสน ที่ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมูญ 40 50 เอาเข้าจริง กลายเป็นว่า กสท.กลับไปรับประกาศ คสช. มาดูให้ คสช.เกิดความพิลึกพิลั่นตรงที่ คุณเป็นองค์กรอิสระแต่กลับรับคำสั่ง คสช.เสียเอง แทนที่จะเป็นคณะรัฐประหารที่อยากทุบหัวสื่อ ก็ทุบของเขาเอง กลับส่งให้กรรมการอิสระที่ตั้งขึ้นมาคุ้มครองเสรีภาพสื่อเป็นผู้ที่มาลงโทษสื่อตามประกาศคณะรัฐประหาร เป็นอะไรที่ไม่เคยมีมาก่อน ลักลั่นมาก คือแทนที่จะเป็นพันเอก พลตรี พลโท มาจัดการ แต่กลับกลายเป็นพันเอก พลโทของ กสทช.ซึ่งควรจะหลุดออกมาแล้วกลับต้องมาจัดการในนามของ กสท. 

นี่คือความคลุมเครือของรัฐประหารและตุลาการภิวัฒน์ยุคปัจจุบัน  “มีรัฐประหารแต่ไม่ยุบองค์กรอิสระ ไม่เคยมียุคไหนที่มีรัฐประหาร แต่ยังมีศาลรัฐธรรมูญ  เขามีข้ออ้างว่าไม่ฉีกทั้งหมด เขาเหลือไว้อยู่แล้วเอามาตีความสร้างความชอบธรรม กับการลงประชามติ พรบ.ประชามติ ที่คือลักษณะการสร้างความชอบธรรมให้กับองค์กรอิสระแต่องค์กรอิสระทั้งหลาย ไปรับใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ รวมทั้ง กสทช.”

“ทีวีทุกช่องก็เจอแบบนี้ แต่ไม่มีใครรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องผิดปกติ  แทนที่ทหารจะใช้อำนาจเอง มายื่นให้ทหารที่อยู่ใน กสทช.ใช้  ผมไม่ได้ด่า กสทช.เพราะก็เห็นใจ บางคนไม่ได้มีความคิดถึงขนาดคล้อยตาม ก็โดนกระทุ้งตลอดว่าต้องทำตามประกาศ 97 และ 103”

อ. อัครพงษ์ : อาจกล่าวสั้นๆ ว่า คสช. เปลี่ยนแนวทางการใช้อำนาจ ต่างจากผู้สำเร็จอำนาจคณะอื่น ถ้าจะไม่เอาสื่อไหน จะจัดการอย่างตรงไปตรงมา แต่ คสช.ยุคนี้เป็นผู้สำเร็จอำนาจอย่างมีคุณธรรมตามกฎหมาย ในแง่ระหว่างประเทศ มองจากคนที่มองเข้ามา คสช.ใช้กลไกความดีงามตามกฎหมายมาจัดการท่าทีที่เป็นเสี้ยนหนามของวอยซ์ทีวี

คสช. ใช้กรรมการ กสท. ช่วยเป็นกลไกควบคุมสื่อ

ด้านนักวิชาการสื่อ รศ. ดร. อุบลรัตน์วิพากษ์ว่า อำนาจของรัฏฐาธิปัตย์ที่ท่านใช้ ก็ถูกตั้งคำถามว่าเป็นอำนาจที่มาแบบไม่ชอบธรรมหรือเปล่า  และประชามติ เมื่อ 7 สิงหาคมที่ผ่านยังมีส่วนสำคัญในการรองรับความชอบธรรมหลังอีกชั้นหนึ่งหลังสองปีผ่านไป

“รัฏฐาธิปัตย์ออกจะขัดใจเยอะเลยว่า มีประชามติแล้วยังโดนวิจารณ์อีก ทำไมวอยซ์ยังตั้งแง่อยู่บ่อยๆ  ทีวีดิจิตอล 24 ช่องบวกช่องเดิมที่เป็นของรัฐ มีช่องนี้ที่ดื้อ ไม่สงบยอม และอาจเห็นว่าช่องนี้รวย ยึดทรัพย์ไปแล้วสามหมื่นกว่าล้าน ยังมีเหลือ และช่องนี้เป็นช่องชินวัตรซะด้วย เป็นช่องที่มีศัตรูคู่แค้น หลายอย่างทำให้ถูกเพ่งเล็ง”

รศ. อุบลรัตน์ กล่าวว่า หลังรัฐประหาร เห็นได้ชัดว่า คสช.ใช้กรรมการ กสท. ช่วยเป็นกลไกควบคุมสื่อ “ทราบว่ามีห้องมอนิเตอร์รายการทีวีทุกช่อง และบางช่องจะถูกจับตาเป็นพิเศษ มอนิเตอร์แบบละเอียดยิบ และมีรายงานตรงไปสู่ คสช. นาทีที่เท่าไร ใครพูดว่าอะไร ท่านผู้นำมีโอกาสรับทราบว่าใครวิจารณ์ไว้ว่าอย่างไร”

ถามว่าเสรีภาพสื่อยุคนี้ผิดจากยุคก่อนนี้หรือไม่ “ไม่ต่างจากยุคก่อนที่รัฐไทยคุมมาตลอด ไม่เคยเปิดเสรี การเรียกร้องเมื่อปี 2516      ก็ไม่สามารถเปิดเสรีได้ คำว่าเปิดเสรีในที่นี้ คือเปิดเสรีสิทธิเสรีภาพ พอหลัง 14 ตุลาฯ คนเรียกร้องว่าสื่อของรัฐ หรือ ที่คนสมัยก่อนเรียกกว่า “กรมกร๊วก” (กรมประชาสัมพันธ์) บิดเบือน  ต่อมาก็ได้ กบว. (คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์) มา ซึ่งเป็นหน่วยควบคุมเนื้อหา และมีคณะกรรมการเซ็นเซอร์ละคร มีการตัด โดยใช้กรรไกรตัดม้วนเทปจริงๆ ต่อมาก็ใช้วิธีดูดเสียง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมในสังคมที่ยังคงอยู่”

รศ. ดร. อุบลรัตน์เล่าย้อนให้ฟังว่า หลังพฤษภาคม 2535 มีการเรียกร้องให้เปิดเสรีอีก เพราะมีการบิดเบือนอีก เราได้ กกช. (คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์แห่งชาติ) มาสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เปิดเสรีโฆษณาทางวิทยุได้เกินกว่า 30 นาที ทางโทรทัศน์ได้ 12 นาที แต่เอาเข้าจริงการเปิดเสรีทาง เนื้อหา ทางความคิด ไม่มี

ส่วน กสทช.ในยุคนี้ รศ. ดร. อุบลรัตน์ มองว่า “ดำเนินการโดยวิธีให้ใบอนุญาตโดยการประมูล แต่สุดท้าย เป็นเพียงการเปิดแข่งขันกันทางธุรกิจ  แต่ไม่มีการแข่งขันทางเสรีภาพทางความคิด อันนี้ต่างหากที่เป็นปมเงื่อนที่มาเจอในจังหวะเดียวกับกองทัพเข้ามารัฐประหาร แล้วกองทัพถือเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ และตัวเอง ก็ได้ช่อง”

“เราไม่เคยเปิดเสรีทีวีมา 50 ปี เมื่อปี 2557 มาเปิด ถือเป็นเรื่องใหญ่หลวงจริงๆ และได้มาแล้ว ทุกคนต้องเป็นเด็กดี วอยซ์ทีวีไม่ได้ถูกคาดหวังว่าจะเข้ามา เป็นดาวเทียมอยู่ดีๆ มี สตางค์กับเขาด้วย และก็ได้ด้วย ถ้าไม่เป็นเด็กดี ก็ต้องถูกปิด หรือถูกยื่น MOU ก็เป็น MOU เฉพาะช่อง และน่าสังเกตว่าช่องของรัฐก็เป็นกระบอกเสียงเต็มๆ  ตอนนี้ต้องเรียกว่า ช่อง คสช.”

คำถามถึงสมาคมสื่อ “คุณเอาแบบนี้มั้ยล่ะ”

ณรรธราวุธ เมืองสุข บรรณาธิการโพสต์ทีวี ผู้ริเริ่มการรณรงค์เรียกร้องให้ “กสท.หยุดแทรกแซงการนำเสนอเนื้อหาของ Voice TV” วิพากษ์ท่าทีขององค์กรสื่อต่อกรณีนี้ว่าเงียบมาก “ไม่มีองค์กรสื่อที่ออกมาแสดงอะไรเลย อย่าว่าแต่แถลงการณ์เลย แค่เฟสบุ้คสมาคมก็ไม่มีการเอาเรื่องนี้แชร์เข้าไปเลย ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ ผมก็เลยทำแคมเปญขึ้นมา แคมเปญนี้ไม่ใช่ที่จะมุ่งหวังเรื่องของการเปลี่ยนแปลง แต่ผมแค่บอกว่ามันเกิดเรื่องนี้นะ คนควรจะสนใจนะ คือทำให้เป็นเรื่อง วาระที่สาธารณะเขาวิพากษ์วิจารณ์กัน ซึ่งสุดท้ายแล้วผมก็ด่าสมาคมสื่ออยู่ดีล่ะ คุณมัวแต่ทำอย่างนี้อยู่ไง ต่อไปสมาคมสื่อก็เป็นสมาคมหาเงิน จัดอีเวนต์ จัดค่าย แต่ขณะที่อำนาจจริงไปอยู่กับ กสท. คุณเอาแบบนี้มั้ยล่ะ สุดท้ายพวกคุณเองเป็นเบี้ยที่จะให้ กสท ไล่บี้เอาภายหลังได้”

บรรณาธิการโพสต์ทีวีกล่าวว่าสิ่งสำคัญของวงการสื่อคือเสรีภาพ เพราะเป็นความคิด ที่จะพัฒนาความเข้มข้นในเชิงเนื้อหา “วอยซ์มาโดนแบบนี้ อันนี้เบื้องต้นเลยที่ผมรู้สึก ทั้งๆ ที่ผมเองไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรกับวอยซ์เลย ถามว่าดูวอยซ์เยอะมั้ย ทำงานด้วย ก็คงไม่ได้มีเวลาดูเยอะ ความรู้สึกคือมันจะสร้างมาตรฐานใหม่ในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ เรื่องของการนำเสนอเนื้อหาจากที่เราสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการควบคุมกันเอง กสทช. กสท. เป็นใครที่ควรจะมาบอกว่าเนื้อหาแบบนี้ควรจะนำเสนอหรือไม่ควรนำเสนอ ควรจะให้ใครที่มาออกรายการ ใครที่ไม่ควรออกรายการ เนื้อหาแบบไหนที่ควรอ่าน ไม่ควรอ่าน ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นปัญหาระยะยาวของวงการสื่อ ซึ่งมันยิ่งบั่นทอนให้อุตสาหกรรมทีวีบ้านเราทรุดลงไปอีก”

อัครพงษ์ ค่ำคูณ ตั้งข้อสังเกตว่าถ้ามองว่าวอยซ์ทีวีเป็นช่องที่ขายคอนเทนต์ที่มากับพรีเซนเตอร์แล้ว จะแปลว่า ปัญหาของคสช. คือมีปัญหากับคน ไม่ได้มีปัญหากับคอนเท้นต์หรือไม่ “อย่างบางช่องก็ขายแบบนี้ ขายคน แล้ววิธีเสนอเหมือนกันเลย คือออกมาจากหัวเขา แต่เขาไม่ได้มีปัญหากับคน แสดงว่าปัญหาที่ คสช.มอง หรือปัญหาทีวีนี่ ไม่ใช่ปัญหาของคอนเท้นต์แล้ว เป็นปัญหาคนหรือเปล่า ถ้ามองจากผู้ชมนะ”

ณรรธราวุธ วิเคราะห์ว่า ต่อให้นายอธึกกิต แสวงสุข หรือใบตองแห้ง ไปอยู่เนชั่น ก็จะไม่โดนเหมือนวอยซ์ “คือผมยังมองว่าทักษิณน่ากลัวไง ถูกมั้ยฮะ วอยซ์คือทักษิณไง คือเราไม่ได้ประเมินที่เนื้อหาจริงจังหรอก ผมเชื่อว่าไม่ได้มีการประเมินที่เนื้อหาจริงๆ เพราะถ้าประเมินที่เนื้อหา คุณไม่ประเมินแค่รายการเดียว คุณต้องประเมินทั้งภาพรวมเลย และถ้าประเมินที่เนื้อหาจริงๆ หลายช่องก็โดน มันก็มีปัญหาในเรื่องโน้นเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของเหตุระเบิดภาคใต้ เหตุระเบิดภาคใต้นี่ ผมว่าหลายๆ สื่อลงแรงยิ่งกว่าที่วอยซ์นำเสนอด้วยซ้ำ แต่ไม่โดนไง”

บรรณาธิการโพสต์ทีวี ประเมินว่าอุตสาหกรรมทีวีในระยะยาวจะมีปัญหาแน่ ถ้า กสทช. หรือ กสท. ยังใช้อำนาจที่บิดเบี้ยว แบบลุแก่อำนาจของตัวเอง แล้วยังอ้างโน่นนี่เพื่อควบคุมสื่อให้ได้ “ต่อให้ในวันข้างหน้า คสช ออกไปนะ แล้วไม่ใช่แค่วอยซ์แล้ว กสท. กสทช. ก็จะอ้างเอากรณีนี้นี่ไปเล่นงานกับสื่ออื่นๆ ด้วย แม้ว่าจะบอกว่ามี  MOU นี่ก็จะเป็นอาวุธตัวต่อไป ถ้าช่องไหนนำเสนอที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ มีการแหลมคม ที่กระทบกระเทือนกับตัว กสท. เขาก็จะอ้างว่าเคยทำกรณีนี้กับวอยซ์มา เพราะฉะนั้นจะสามารถใช้กับสื่ออื่นๆ ได้”

เชิญติดตามบทสนทนาฉบับเต็มได้ที่นี่....

กสทช. บทบาทต่อเสรีภาพสื่อ