Skip to main content

เนื่องในวันเสรีภาพสื่อโลก เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2016 ที่ผ่านมา ประกอบกับเดือนนี้ครบสองปีหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ยึดอำนาจ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) จัดเสวนาในหัวข้อ “สื่อไทยมีเสรีภาพเพียงใดในปัจจุบัน” (How Free is Thailand’s Media Now) โดยมี นพพร วงศ์อนันต์ รองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์, จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็ปไซต์ข่าวออนไลน์ประชาไท, กุลชาดา ชัยพิพัฒน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิทธิเสรีภาพ สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) และ อนุธีร์ เดชเทวพร ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวี ร่วมเสวนา และมี สตีฟ เฮอร์แมน กรรมการบริหารสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยและเป็นหัวหน้าสำนักข่าวประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของวอยซ์ออฟอเมริกา เป็นผู้ดำเนินรายการ

สตีฟ เฮอร์แมน เกริ่นนำว่าสองปีของรัฐบาลทหาร มีการบังคับใช้ระเบียบและกฎหมายหลายข้อที่จำกัดเสรีภาพของการแสดงความเห็น เช่น พรบ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อย่างเนือง ๆ มากกว่าที่ผ่านมามาก รวมทั้งไม่ออกวีซ่าให้กับสื่อต่างชาติกว่า 20 กรณี ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เข้าใจได้ยาก ทำให้ไทยถดถอยอย่างมากในรายงานจัดอันดับเสรีภาพสื่อโลก

นพพร วงศ์อนันต์ รองบรรณาธิการบางกอกโพสต์ กล่าวถึงสถานการณ์ไม่ปกติของสื่อในช่วงสองปีหลัง คสช. ยึดอำนาจว่า “การรัฐประหารครั้งนี้ต่างจากสองครั้งที่แล้วคือ หัวหน้า คสช. กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีเอง และไม่มีสัญญาณใดที่จะบอกว่าเขาจะอยู่ในอำนาจนานเท่าใด  หัวหน้า คสช. มีอำนาจเต็มที่ในการใช้มาตรา 44 ในการการกระทำต่างๆ รวมทั้งการปิดสื่อ หลังรัฐประหาร เราถูกเชิญ รวมทั้งสื่อ และ บรรณาธิการของสื่ออื่น ๆ ไปทำความเข้าใจ โดยข้อความที่ คสช. พยายามสื่อออกมาคือ “อย่าคัดค้าน” หรือ “อย่าพยายามทำให้ประชาชนคัดค้าน หรือพยายามโค่นล้ม คสช.”  

อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าเท่าที่ผ่านมา บางกอกโพสต์รายงานข่าวที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งวิจารณ์นโยบายของ คสช. ผ่านทางหน้า opinion ได้ “และเรายังสามารถรายงานข่าวได้โดยไม่มีการแทรกแซงแต่อย่างใด”

ด้านตัวแทนสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) องค์กรระดับภูมิภาคที่ทำงานเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพ กุลชาดา ชัยพิพัฒน์ เห็นว่าเสรีภาพสื่อไทยขณะนี้อยู่ในภาวะตกต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

“เราต้องไม่เอาไทยไปเทียบกับลาวและเวียดนามที่อยู่ในระดับต่ำอย่างคงที่อยู่แล้ว ไทยในฐานะประเทศที่เคยมีเสรีภาพมาก่อน ตอนนี้ไทยอยู่ในระดับที่น่าวิตกมาก ตามด้วยฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย  ในฟิลิปปินส์ยังมีการขู่ฆ่านักข่าว ซึ่งสถิติไม่ได้ลดลงเลย ส่วนอินโดนีเซียมีการพัฒนาในบางด้าน เช่น ในการรายงานข่าวเกี่ยวกับคนกลุ่ม LGBT ซึ่งแต่เดิมเป็นเรื่องต้องห้าม”

“สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเช้านี้ [วันเสรีภาพสื่อโลก] คำตอบที่นายกรัฐมนตรีย้อนตอบผู้สื่อข่าว ที่ต้องการให้ยกเลิกกฎหมายบางฉบับและคำสั่ง คสช. ที่ยังเป็นข้อจำกัดของสื่อมวลชน คือ “เสรีภาพที่มีอยู่ยังไม่พออีกหรือ?  ถ้ายกเลิกอันนี้ ไปเพิ่มอีกอันก็ได้” ไม่ทราบว่าพูดเล่นหรือพูดจริงกันแน่”


จากซ้าย: จีรนุช เปรมชัยพร, กุลชาดา ชัยพิพัฒน์, นพพร วงศ์อนันต์, อนุธีร์ เดชเทวพร (ขอบคุณภาพจาก บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล)

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการสำนักข่าวออนไลน์ประชาไท ซึ่งเคยถูกดำเนินคดีในความผิดตาม พรบ. คอมพิวเตอร์ กล่าวว่าก่อนที่เธอจะมาร่วมเวทีในวันนี้ ได้รับคำถามจากเพื่อนทุกคนว่า คิดว่าจะมาพูดวันนี้ได้หรือ นี่เป็นการสะท้อนชัดถึงคำตอบของ หัวข้อการอภิปรายในวันนี้ว่า “สื่อไทยมีเสรีภาพเพียงใดในปัจจุบัน”  

ระหว่างการอภิปราย จีรนุชได้ลุกขึ้นยืนและเชิญชวนให้ผู้ฟังสังเกตเสื้อยืดที่เธอตั้งใจใส่มาสำหรับงานวันนี้ ที่มีคำว่า “FREE SOMYOT” และเล่าว่า สมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ที่ถูกคุมขังมา 5 ปีด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ ม. 112

จีรนุชกล่าวว่าเธอมีความเห็นใจนักข่าวโดยเฉพาะนักข่าวทีวี ที่ถูกจำกัดเสรีภาพโดย กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) โดยที่ คสช. ไม่จำเป็นต้องสั่งโดยตรง  ทาง กสทช. ซึ่งแท้จริงมีหน้าที่ทำการปฎิรูปสื่อ แต่กลับบังคับใช้กฎระเบียบที่จำกัดเสรีภาพการแสดงออก ด้วยการแจกรายชื่อผู้ห้ามออกทีวี 

“ด้านสื่อสิ่งพิมพ์ มีทหารแวะไปเยี่ยมสำนักงานของสื่อพิมพ์บางแห่งเป็นประจำ และค่อนข้างทันทีเมื่อสื่อรายงานสิ่งที่ทำให้ทหารไม่พอใจ  ส่วนทางอินเตอร์เน็ต คิดว่าทางรัฐบาลก็หาทางควบคุมอยู่ แต่ยังไม่สามารถหาทางควบคุมได้ง่ายนัก จึงมีการบังคับใช้ พรบ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่มีโทษหนัก และยังมีกฎอีกหลายข้อของ พรบ. นี้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่พวกเราต้องจับตามองต่อไป”

“อินเตอร์เน็ตไม่ใช่พื้นที่ของสื่อเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่ของประชาชนทุกคน จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องร่วมมือกันในการป้องกันวิธีที่รัฐพยายามปราบการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต” จีรนุชกล่าวย้ำ

ส่วนผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวี อนุธีร์ เดชเทวพร เล่าประสบกาณ์จากการทำงานว่า “ก่อนที่ คสช. รัฐประหารยึดอำนาจ มีการใช้ พรบ. ฉุกเฉิน ทางสถานีวอยซ์ทีวีถูกปิด มีทหารมายืนคุมในโรงอาหาร หนึ่งเดือนหลังจากนั้นแม้ว่าจะได้รับอนุญาตให้เปิดสถานีอีกครั้ง แต่มีระเบียบข้อบังคับว่า อะไรออกอากาศได้หรือไม่ได้  “ตั้งแต่นั้นมา พวกเราถูกจับตามองมาตลอด”


ขอบคุณภาพจาก บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล

อนุธีร์เล่าถึงการแทรกแซงสื่อของรัฐในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ว่า “รายการเกี่ยวกับการเมือง เช่น “Wake Up Thailand” ต้องเปลี่ยนชื่อรายการถึงสองครั้งจนกลายเป็น “Wake Up News”   ส่วน ม.ล. ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการ “Daily Dose” ถูกสั่งให้พักงานชั่วคราวสองสามวัน และเป็นหนึ่งในพิธีกรอื่น ๆ อีกหลายรายการที่ถูกเรียกรายงานตัวโดย คสช. หลายครั้ง เท่าที่ผ่านมาเราถูกเรียกรายงานตัวมากกว่า 10 ครั้ง ซึ่งไม่เคยเป็นข่าว”

อีกตัวอย่างหนึ่งที่อนุธีร์พูดถึงคือ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ถูกเรียกรายงานตัวหลังพูดถึงข่าวการค้าแรงงานข้ามชาติไทยในอินโดนีเซีย โดยแสดงความเห็นว่ารัฐไทยควรทำอะไรสักอย่าง แต่เจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่าข่าวนี้ทำให้ไทยเสียภาพลักษณ์ และไม่ควรเผยแพร่ข่าวนี้อีก “เราถูกประทับตราว่าเป็น ‘สื่อแดง’ ทั้งโดยฝ่ายรัฐ และแม้กระทั่งโดย TJA (สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย) ทั้งยังไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสื่อแม้แต่น้อย”

อนุธีร์วิพากษ์ว่า สาเหตุหนึ่งที่ฉุดรั้งเสรีภาพสื่อไทย คือสื่อไทยด้วยกันเอง “คนทำสื่อยอมรับเผด็จการโดยไม่รู้สึกผิด ลองวาดภาพดูว่านักข่าวใส่ชุดนักเรียนถ่ายรูปเซลฟีกับหัวหน้าเผด็จการในฉลองวันเด็กแห่งชาติ เรามีนักข่าวแบบนี้เยอะมากในสังคมไทย ผมไม่เข้าใจว่าเหตุใดนักข่าวภาคสนามพวกนี้ถือว่าการประจบสอพลอผู้มีอำนาจเพื่อให้ได้ข่าวนั้นเป็นเรื่องปกติ”

“สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ TJA ที่ควรทำหน้าที่ปกป้องเสรีภาพสื่อ ยอมรับอำนาจเผด็จการ โดยเป็นส่วนหนึ่งของสภาปฎิรูปแห่งชาติ ผมไม่คิดว่าพวกเขาสนใจอย่างจริงจังในการปกป้องนักข่าวที่ถูกเรียกรายงานตัว หรือถูกลงโทษโดย คสช. แม้จะออกมาเคลื่อนไหวครั้งหนึ่งตอนที่ ประวิตร โรนจพฤกษ์ [ขณะเป็นนักข่าวสำนักข่าวเดอะเนชั่น] ถูกควบคุมตัวโดย คสช. แต่ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวใด ๆ เมื่อเขาถูกเรียกรายงานตัวหลายครั้ง และเมื่อเขาต้องลาออกจากเดอะเนชั่น เนื่องจากแรงกดดันจากผู้บริหาร”

เมื่อ TJA ถูกตั้งคำถามโดยผู้เข้าฟังอภิปรายว่ายังคงมีประโยชน์ต่อเสรีภาพสื่อหรือไม่ กุลชาดา เห็นว่า TJA ในฐานะเป็นองค์กรสมาคมสื่อที่เก่าแก่ที่สุดในไทยยังมีอำนาจวิจารณ์รัฐได้ และเห็นใจว่าสมาชิกของสมาคมต่างก็เผชิญกับข้อจำกัดเช่นเดียวกับที่สื่ออื่นๆ เผชิญอยู่ เช่นเดียวกับจีรนุชที่ยังคงให้เครดิตกับ TJA โดยกล่าวว่ายังเห็นการเคลื่อนไหวของ TJA ในบางเรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อ แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยในบางเรื่อง

การแทรกแซงสื่อยุคทักษิณ VS ยุค คสช.

ในประเด็นเปรียบเทียบการแทรกแซงสื่อยุคทักษิณกับยุค คสช. นพพร วงศ์อนันต์ จากบางกอกโพสต์เห็นว่าในยุคทักษิณ มีการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจในการจัดการกับสื่อ ซึ่งต่างจากยุค คสช. กุลชาดา ชัยพิพัฒน์ จากสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่ายุค คสช. ห้ามรายงานข่าวหรือสัมภาษณ์ผู้ที่แสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อมูลที่ต่อต้าน คสช. มีการเรียกรายงานตัว ควบคุมตัวนักข่าว การทำงานของสื่อในขณะนี้อยู่ในบรรยากาศของความกลัว ทำให้การเซ็นเซอร์ตัวเองฝังรากลึกขึ้น และเห็นว่าการละเมิดสื่อในยุคทักษิณทำให้องค์กรสื่อรวมตัวกันได้อย่างเป็นเอกภาพ เพราะมีภัยคุกคามอย่างเดียวกัน แต่ยุค คสช. เมื่อเศรษฐกิจเริ่มแย่ สื่อต้องพึ่งตัวเองหรือต้องหันไปอิงอำนาจรัฐ แต่อย่างไรก็ตามตนยังแคลงใจอยู่ว่า “เหตุใดสื่อไทยจึงเกลียดทักษิณมากกว่าเกลียดทหาร”

ทั้งนี้งานเสวนาที่จัดเนื่องในวันเสรีภาพสื่อโลกนี้ มีสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก  รวมทั้ง นายกลิน เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และนายสตัฟฟาน แฮร์สเตริม เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย

เสรีภาพสื่อไทยในยุค ‘คสช’