9 ตุลาคม 2558: กรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) มีมติเลิกจ้างนายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการสถานี ส.ส.ท. หรือที่สังคมไทยเรียกกันโดยทั่วไปว่า สถานีไทยพีบีเอส
14 มกราคม 2559 นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ลงนามในประกาศผลการคัดเลือกผู้อำนวยการคนใหม่ เพื่อแจ้งให้สังคมไทยทราบว่า นายกฤษฎา เรืองอารีย์รัชตะ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
สองเดือนกว่าแห่งความอึมครึมของชะตากรรมสื่อที่เรียกได้ว่าเป็น “ทีวีสาธารณะ” (อย่างน้อยตามตัวบทกฎหมาย) แห่งเดียวของประเทศไทยทำให้เกิดวิวาทะขึ้นมาอย่างมากมายในสังคมของคนกลุ่มหนึ่งที่อยากเห็นวงการสื่อของไทยก้าวหน้าได้กว้างไกลกว่านี้ในเชิงของเนื้อหาและการทำหน้าที่รับใช้สังคม หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับสำนักข่าวอื่นๆ คงไม่ใช่ประเด็นใหญ่เท่านี้ หากแต่ ไทยพีบีเอส เป็นสถานีโทรทัศน์ “สาธารณะ”ที่มีเรื่องราวการก่อเกิดที่เต็มประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ของประชาชนที่ตระหนักในอำนาจและความเป็นอิสระของสื่อ ผนวกกับการเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ดำรงชีพได้ด้วย “ภาษีบาป” จากประชาชน การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันและผูกโยงเข้ากับองค์กรอิสระที่ว่ากันว่ากำลังมีอำนาจมากล้นในสังคมไทย อย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทั้งในแง่ที่มาของงบประมาณที่มาจากแหล่งเดียวกันและทั้งในแง่ที่ ผอ.คนใหม่ของไทยพีบีเอส คือผู้จัดการคนเก่าของ สสส. ยังไม่นับรวมกลิ่นอายของ สสส. ที่กรุ่นอยู่ในหลายรายการของไทยพีบีเอส ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้อนาคตของสถานีโทรทัศน์ว่าโดยหลักการแล้วมีประชาชนทุกคนร่วมเป็นเจ้าของแห่งนี้น่าจับตามองยิ่ง
19 มกราคม 2558 หลังประกาศผลการคัดเลือกผู้อำนวยการใหม่ของ มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ เปิดเวทีสนทนาหัวข้อ "สู่อนาคตทศวรรษใหม่ของไทยพีบีเอส... ทบทวนภารกิจทีวีสาธารณะ" กับ สมชัย สุวรรณบรรณ อดีตผู้อำนวยการไทยพีบีเอส ที่ถูกปลดจากตำแหน่ง และเป็นอดีตกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. มา 2 สมัยก่อนหน้านี้, จักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์ซึ่งเคยรับหน้าที่เป็นกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท., อธึกกิต แสวงสุข คอลัมน์นิสต์ชื่อดังของหลายสำนัก โดยมี รศ. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ดำเนินรายการ เป็นการสนทนาว่าด้วยไทยพีบีเอส ที่ไม่มีคนของไทยพีบีเอสเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยเหตุผลตามคำชี้แจงของสุภัตรา ภูมิประภาส ผู้จัดและบรรณาธิการเว็บไซต์มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ ว่าทางกลุ่มฯ ได้เชิญนายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. มาร่วมการสนทนาครั้งนี้ด้วย แต่นายณรงค์ปฏิเสธที่จะร่วมเวทีโดยให้เหตุผลว่าตนจะไม่พูดอะไรก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญา (จ้าง) ผู้อำนวยการคนใหม่ เธอกล่าวด้วยว่า บนเว็บไซต์ของกลุ่มฯ มีคอลัมน์ “ส่องสื่อสาธารณะ” เพื่อติดตามการทำงานของสื่อสาธารณะที่ใช้เงินสาธารณะดำเนินการ และตลอดสามปีที่ผ่านมาได้พยายามเชิญตัวแทนของไทยพีบีเอสทุกระดับมาร่วมเวทีสนทนาในทุกครั้งที่มีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ทีวีสาธารณะ แต่ได้รับคำปฏิเสธตลอดมา “ไทยพีบีเอสเป็นทีวีสาธารณะ ใช้งบสาธารณะ แต่ไม่ทำตัวให้เป็นสาธารณะเลย อยากให้ออกมารับฟังความเห็นของสาธารณะบ้าง”
และนี่คือส่วนหนึ่งของการสนทนาในวันนั้น
คน ส.ส.ท.กับความเข้าใจความเป็นทีวีสาธารณะ
ภาพอนาคตจะฉายได้อย่างชัดเจน หากอดีตและปัจจุบันถูกวิเคราะห์อย่างถูกต้องชัดเจน วงสนทนาจึงเริ่มต้นด้วยการพูดถึงอดีตในการบริหารงานของสมชัย สุวรรณบรรณ กับความพยายามสร้าง “ความเป็นสาธารณะ” ให้สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ ความรู้ความเข้าใจของ คน ส.ส.ท. ที่มีต่อนิยาม “ทีวีสาธารณะ”
สมชัยพูดถึงการทำงานของตนเองกว่า 3 ปี ของการดำรงตำแหน่งหลายผลงานด้วยกัน ซึ่งสามารถสรุปได้ว่าเขาเน้นการทำงานไปที่ 2 ประเด็นหลัก คือการวาง position องค์กรใหม่ และการสร้าง “brand value” ในฐานะการเป็นสื่อสาธารณะให้เกิดขึ้นกับองค์กร
Reposition ที่สมชัยพูดถึงคือ การทำให้ไทยพีบีเอสเป็นองค์กรสื่อที่สามารถหาเงินได้ด้วยตนเอง โดยการทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปสื่อ รูปธรรมที่ทำคือการจัดสรรเงินงบประมาณส่วนหนึ่งขององค์กรที่ได้รับจากรัฐบาลมาวางโครงข่ายทีวีดิจิตอลของประเทศไทย อันเป็นการกระทำที่เขามองว่าทำให้ไทยพีบีเอสเป็น “องค์กรคู่ขนาน กสทช. ในการปฏิรูปสื่อของประเทศไทย เพราะหาก ไทยพีบีเอสไม่ทำระบบเครือข่ายให้ กสทช. จะไม่สามารถขับเคลื่อนทีวีดิจิตอลได้”
ส่วนการสร้าง brand value ของความเป็นทีวีสาธารณะ เขาทำมันผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “สถานีพลเมือง” ที่สนับสนุนให้ผู้ผลิตรายการรายย่อยผลิตงานแล้วนำเสนอสู่สังคมผ่านทางไทยพีบีเอส สมชัยมองว่านี่เป็นรูปธรรมสำคัญที่ทำให้เห็นว่าประชาชนเป็นเจ้าของสื่อ ซึ่งเขาสงสัยมากอยู่เหมือนกันว่าทำไมเวลาคนพูดถึงผลงานไทยพีบีเอสแทบไม่เคยมีประเด็นนี้แต่จะพูดถึงรายการอย่างตอบโจทย์กันมากกว่า
คำถามหนึ่งของสมชัยคือกรรมการนโยบายของ ส.ส.ท. เองมีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ความเป็นทีวีสาธารณะของไทยพีบีเอส มากน้อยแค่ไหน เพราะหนึ่งในเหตุผลหลักที่คณะกรรมการนำมาออกคำสั่งเลิกจ้างเขาคือ “เรตติ้งของสถานีลดลงอย่างต่อเนื่อง”
“เราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำ content ทีวีตลาด เพราะกฎหมายบอกว่าไม่ต้องมาห่วงโฆษณา แต่ให้เราทำตามพันธกิจ 6 ประการตามกฎหมาย...จะให้เราไปเพ้อเจ้อแข่งเรตติ้งกับเดอะวอยซ์ เดอะเฟซ คงทำไม่ได้”
อดีต ผอ. ไทยพีบีเอสยกรูปธรรมตัวอย่างที่ทำให้เขาอดสงสัยไม่ได้ว่ากรรมการนโยบายของ ส.ส.ท. มีความเข้าใจในความเป็น “ทีวีสาธารณะ” ของไทยพีบีเอส ลึกซึ้งเพียงใด เช่น การที่บางครั้งตัวเขาเองต้องเข้ามา “แทรกแซง” การทำงานของทีมข่าวที่เรียกกลุ่มเคลื่อนไหวอย่าง กปปส. ว่าเป็น “องค์กรประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ซึ่งเขามองว่าการเรียกเช่นนี้เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ควรเป็นคำพูดของคนทำหน้าที่สื่อ “เวลาบรรยายข่าวเราต้องทำให้ชัดว่า เขาคือกลุ่มที่ ‘เรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์’ เพราะมันไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในโลก แต่เขาอ้างตัวเอง ส่วนเวลาปล่อยเสียงก็ปล่อยไปตามที่เขาพูดมา นี่คือหลักการความเป็นอิสระไม่ได้ถูกใครชี้นำ”
“ผมเองก็ถูกตั้งคำถามจากกรรมการนโยบายว่าไปท้าทายเขา (รัฐบาลทหาร) ทำไม เดี๋ยวโดน ม.44 ตกงานกันหมด เด็กรุ่นใหม่ก็กลัวตกงานกัน” สมชัยกล่าว อย่างไรก็ดีในประเด็นความกลัวที่เกิดจากการท้าทายอำนาจรัฐเขามองว่าไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะไทยพีบีเอส แต่เป็นปัญหาของสังคมไทยเลย
ความสำเร็จในการสร้าง “ความเป็นทีวีสาธารณะ” ของไทยพีบีเอสตลอดกว่า 9 ปีที่ผ่านมา
อีกไม่ถึง 2 ปี สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ต้องถูกพิจารณาทบทวนบทบาทตามกฎหมายที่กำหนดให้มีการทบทวนเมื่อดำเนินการทีวีสาธารณะมาครบ 10 ปี ก่อนจะถึงวันที่ถูกทบทวนบทบาทตามกฎหมาย อธึกกิต แสวงสุข สื่ออาวุโสผู้ติดตามบทบาทของสถานีทีวีสาธารณะมานาน และในฐานะผู้ร่วมเป็นเจ้าของสถานีคนหนึ่ง ถือโอกาสที่ได้ร่วมวงสนทนานี้ทบทวนและประเมินผลให้ก่อน
“ผมว่าสอบตก” เขาเปิดประเด็นอย่างสั้นๆ ง่ายๆ และตรงไปตรงมา
รูปธรรมการ “สอบตก” ที่อธึกกิตยกตัวอย่างแถมให้ฟังในตอนท้ายคือ การสนับสนุนให้ผู้ผลิตรายการรายย่อยสามารถสร้างสรรค์ผลงานและนำมาออกอากาศที่สถานีที่เป็นของประชาชนทุกคนแห่งนี้ ขณะที่สมชัยภูมิใจกับความสำเร็จของรายการอย่างสถานีพลเมือง อธึกกิตกลับสงสัยว่า ทำไม NHK จึงสามารถผลักดันให้ผู้ผลิตรายการรายย่อยสามารถผลิตรายการอันยิ่งใหญ่อย่าง “สงครามชีวิตโอชิน” ที่ดังข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงบ้านเราได้ตั้งแต่เมื่อ 30 กว่าปีก่อน
อย่างไรก็ดีอธึกกิตไม่ได้มองว่า “การสอบตก” ของไทยพีบีเอส เกิดขึ้นเพราะใครเป็นผู้บริหาร แต่เป็นผลของความล้มเหลวของระบบที่มีมาตั้งแต่การก่อเกิดสถานี อันเนื่องมาจากโครงสร้าง 3 ประการ
1.เพราะไทยพีบีเอสเป็นองค์กรสื่อที่อยู่ใต้ระบบราชการไม่ได้บริหารโดยวิชาชีพสื่อ ที่รางวัลและบทลงโทษขึ้นกับผลงานในการทำหน้าที่ “เช่นหากคุณทำรายการไม่ดีเราปลดได้ ทำข่าวไม่ดีเราโยกได้ การทำสื่อต้องมองคุณภาพ และประสิทธิภาพ แต่พอเป็นระบบราชการคุณทำไม่ได้ กว่าจะเปลี่ยนคนกว่าจะเอาคนออกระบบราชการของไทยพีบีเอสมันทำไม่ได้ มันไม่ได้หนีจากช่อง 5 ช่อง 11 แต่โครงสร้างอาจยืดหยุ่นกว่านิดหน่อย”
2. การทำงานแบบเอ็นจีโอ (NGOs) ซึ่งอธึกกิตแยกเป็นสองประเด็นคือ การทำงานสไตล์เอ็นจีโอ กับทัศนะแบบเอ็นจีโอที่ทำงานด้วยความเชื่อมั่นกัน ไว้ใจกัน “ไทยพีบีเอสเป็นระบบราชการที่ตั้งอยู่แล้ว แล้วก็ไปเอาคนเอ็นจีโอใส่เข้ามา พอขัดแย้งกัน ก็ตั้งกองกันค่ายใครค่ายมัน ระบบเจ้ากรมเต็มไปหมด” อธึกกิตบอกว่าสิ่งที่เขาเห็นและสมชัยก็เห็นแต่อาจพูดไม่ได้คือ การที่กรรมการนโยบายของไทยพีบีเอส เข้ามามีบทบาทในเรื่องที่ไม่ควรมี จนเกิด “เด็กเส้น” ของกรรมการนโยบายเต็มไปหมด
3. ความเข้าใจสื่อของเอ็นจีโอที่มักเสนอว่าสื่อต้องให้พื้นที่ แต่สำหรับคนทำสื่อ ต่อให้เห็นใจกันขนาดไหน มันต้องมีพื้นที่และวิธีการนำเสนอ เพราะมีข่าวอื่นที่เราต้องให้ความสำคัญด้วย
”สื่อต้องทำให้คนสนใจ แต่เอ็นจีโอขอพื้นที่มากที่สุด ถ้าเป็นหนังสือขอเต็มหน้า ถ้าเป็นรายการขอสองชั่วโมง แต่เรามองว่าเอาไปแค่ 5 นาที เราสามารถทำให้คนดูได้มากกว่า เพราะเราจับประเด็นได้ แต่เรื่องพวกนี้เอ็นจีโอไม่เข้าใจ อยากแต่จะให้มีพื้นที่เยอะๆ ผ่าน กรรมการนโยบาย ผ่านสภาผู้ชม”
ด้วยโครงสร้างทั้งสามนี้ทำให้เขาสามารถประเมินผลการทำงานของผู้อำนวยการคนใหม่ของไทยพีบีเอสได้ว่าจะ “สอบตก” เช่นเดียวกัน ไม่ใช่เพราะเป็นหมอฟันที่ไม่เคยมีประสบการณ์บริหารองค์กรสื่อ และไม่ใช่เพราะผู้บริหารคนใหม่มีภาพของการเป็นคน สสส. แต่เพราะโครงสร้างทั้งสาม “เป็นผู้บริหารไทยพีบีเอสยาก”
นอกจากนี้เขายังเห็นแย้งกับสมชัยที่ไม่ให้น้ำหนักกับเรตติ้งของสถานี ทั้งนี้อธึกกิตมองว่าการผลิตสื่อต้องมุ่งที่คุณภาพงาน และทำแล้วต้องมีคนดูด้วย
สมชัยไม่ได้แสดงความเห็นตอบการวิคราะห์รากเหง้าของสาเหตุแห่งการ “สอบตก” ของอธึกกิตในเวทีเท่าใดนัก แต่กล่าวกับผู้เขียนสั้นๆ นอกรอบว่า “ผมว่าถ้าจะบริหารไทยพีบีเอสให้เป็นทีวีสาธารณะให้ได้จริงๆ ต้องล้มทิ้งแล้วตั้งองค์กรใหม่ตั้งแต่ต้น เพราะไทยพีบีเอสทุกวันนี้ไม่ได้เกิดด้วยตัวมันเอง แต่เกิดมาจากร่างเดิมของไอทีวี”
ที่มาที่ไปของผู้บริหารทีวีสาธารณะ
การได้หมอฟันที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารงานองค์กรสื่อมาก่อนอย่าง ทพ.กฤษฎา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้จัดการ สสส. ทำให้เกิดข้อกังขาในสังคมถึงกระบวนการสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งอันหมายถึงหัวเรือใหญ่คนหนึ่งของขบวนการการปฏิรูปสื่อในประเทศไทยนั้นมีความเหมาะสมเพียงใด จักร์กฤษ เพิ่มพูล ในฐานะที่เคยทำหน้าที่กรรมการสรรหา เล่าถึงประสบการณ์เขาในการร่วมสรรหาผู้บริหารไทยพีบีเอสว่าสิ่งที่เขาเห็นคือ ประการแรกความ(ไม่)รู้ ความ(ไม่)เข้าใจในความเป็นสื่อสาธารณะ ของผู้สมัคร (ทั้งสมัครเองทั้งได้รับการเสนอชื่อ) “เพราะระหว่างเราฟังวิสัยทัศน์ เราพบว่าไม่มากที่เข้าใจ บางคนมาแบบเสนอรายละเอียดรายการเลย บางครั้งลงรายละเอียดถึงขั้นว่าให้ตั้งศาลพระภูมิตรงไหน ซึ่งผมมองว่าน่าเป็นห่วง”
ประการที่สอง “หากมีคนมาแสดงวิสัยทัศน์ 10 คน จะมี 5 คนพูดถึงเรตติ้ง” “
ประการที่สาม “เคยมีการเลือกตั้งซ่อม แต่คนที่สมัครก็คนเดิม เสนอวิสัยทัศน์เดิมๆ”
และประการที่สี่ “การคัดเลือก ขั้นต้นดูเอกสาร สอบประวัติ ย้อนหลัง เผยแพร่ต่อสาธารณะให้คนวิจารณ์ แล้วคัดเลือกจากเอกสาร ที่ต้องใช้เวลาเยอะ แต่ความจริงมีเวลาน้อย เอาคนที่ผ่านการคัดเลือกมาแสดงวิสัยทัศน์ ตอบคำถามรวม คำถามแยก ให้แค่ 10-15 นาที ซึ่งมันไม่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจ”
จากคำบอกเล่าของจักร์กฤษจะเห็นได้ว่าการได้มาซึ่งผู้อำนวยการไทยพีบีเอส ล้วนเต็มไปด้วยข้อจำกัด ตั้งแต่ข้อจำกัดตัวเลือก คือ คนที่เข้ามานั่งให้สรรหาไม่ได้มีมากนัก และข้อจำกัดที่เวลาในการเรียนรู้ผู้สมัครของคณะกรรมการสรรหา
อนาคตไทยพีบีเอส
การสนทนาในวันนั้นแม้หัวข้อจะบอกชัดเจนว่าเป็นการพูดถึงอนาคตของไทยพีบีเอส แต่ในวงสนทนาไม่มีการฟันธงว่าไทยพีบีเอสภายใต้การบริหารงานของ ทพ. กฤษฏา จะเป็นไปเช่นไร นี่คือบางส่วนทัศนะของพวกเขา
สมชัย สุวรรณบรรณ : “ไทยพีบีเอสจะอยู่ได้ยากหากผู้บริหารไม่เข้าใจความเป็นทีวีสาธารณะอย่างลึกซึ้ง... เพราะก่อนปี 60 ต้องทำให้เห็นให้ได้ว่าทำไมสังคมไทยถึงต้องมีไทยพีบีเอส”
อธึกกิต แสวงสุข: “คนมองว่าหมอกฤษฎาเข้ามาแล้วจะมีปัญหา แต่ผมมองว่าไทยพีบีเอสมีปัญหาอยู่แล้ว และ สสส. ก็มีปัญหาถูกสังคมวิจารณ์เยอะมาก คำถามคือเมื่อ สสส. ถูกกล่าวหาว่าเล่นพรรคเล่นพวก แล้วหมอกฤษฎาลาออกจาก สสส. มาเป็น ผอ. ไทยพีบีเอส ทั้งที่ไม่เคยทำสื่อ คุณคิดว่ากระแสสังคมจะมองอย่างไร...ต่อไปหากเกิดทัศนะแบบ สสส. ในทีวี หมอกฤษฎาจะสลัดภาพ สสส. ได้ไหม แต่หากทีมงานกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส มีทัศนคติแบบเดียวกัน ไทยพีบีเอสก็ไม่ได้แก้ ผมว่าปี 60 (ครบสิบปีไทยพีบีเอส) คนจะลุกขึ้นมาบี้คุณ
จักร์กฤษ เพิ่มพูล: “จะมีความเป็นสื่อหรือไม่ไม่สำคัญ ที่สำคัญคือต้องมีความรู้ความเข้าใจงานสื่อโดยเฉพาะสื่อสาธารณะ...ประเด็นคือ ไทยพีบีเอสไม่ได้อยู่ในดีเอ็นเอของคนไทย ผมว่าคนไทยไม่รู้จักมันเลย ตอนเกิดไอทีวี คนรากหญ้าก็ไม่ได้รู้สึกอะไร ต้องการหรือไม่ต้องการ และผมคิดว่าเมื่อเป็นไทยพีบีเอสเขาก็คงไม่หวงแหน อาจต้องใช้เวลาในการทำให้เขาเข้าใจว่าทำไมต้องมีไทยพีบีเอส”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการเก็บความส่วนหนึ่งของการสนทนา อนาคตทศวรรษใหม่ของไทยพีบีเอส ทบทวนภารกิจทีวีสาธารณะ ซึ่งแน่นอนว่าการสนทนากว่า 2 ชั่วโมง ยอมมีทั้งอรรถและรสชาติที่มากกว่าที่ปรากฏเป็นตัวอักษรข้างต้นนี้ ติดตามการสนทนาฉบับเต็มได้ทางยูทูป
