Skip to main content

บทบาทของสื่อในความขัดแย้งทางการเมืองไทยถูกกล่าวถึงอยู่เสมอนับจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนถึงความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันที่สื่อกระแสหลักจำนวนมากแสดงตนเลือกข้างอย่างชัดเจนโดยไม่สนใจกับเสียงวิพาก์วิจารณ์อีกต่อไป ในวาระครบ 39 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ ได้จัดเวทีมีเดียคาเฟ่-สื่อสนทนา หัวข้อ "สื่อกับบทบาทในความขัดแย้ง มองอดีต สะท้อนปัจจุบัน" เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยเชิญ ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ผู้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และเป็นผู้เขียนหนังสือ 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์ The Nation ที่ถูกต้นสังกัดขอร้องให้ลาออกจากองค์กรภายหลังถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำตัวไปควบคุมไว้ครั้งที่สอง เหตุจากการแสดงความเห็นของเขาผ่านโซเชียลมีเดีย โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการสื่อสารมวลชน ชวนสนทนา

รศ. ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ กล่าวย้อนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่าสื่อถูกจดจำว่าเป็นหนึ่งในผู้ร้ายสำคัญ และยังคงเป็นบทเรียนสำคัญของคนในปัจจุบัน การสนทนาวันนี้จะไม่ไปหมกตัวกับอดีตจนไม่มองปัจจุบัน หรือมองไปสู่อนาคต แต่จะมองว่าสื่อนั้นอยู่ตรงกลางของความขัดแย้ง มีการเล่นบทที่สำคัญและเป็นที่จดจำว่าเป็นหนึ่งในผู้ร้ายสำคัญ เมื่อมองมาในวันนี้ได้สะท้อนอะไรในภาพความขัดแย้งที่ผ่านมาสักสิบปีเศษๆ

“ขอเริ่มที่อาจารย์ธงชัยก่อน ในอดีตอาจารย์มองเห็นสภาพสื่อที่แยกขั้ว สภาพสื่อที่มีบทบาททางการเมืองเฉดอนุรักษ์นิยม หรือว่าเรามีแต่เฉดอนุรักษ์นิยมเป็นหลักกันแน่ จึงทำให้คำว่าประชาธิปไตยของเราไม่เป็นที่ตอบรับ ไม่งอกเงย หรือเป็นปัญหาจนกระทั่งเป็นตัวที่ทำให้เราหวั่นเกรงว่าจะเป็นตัวสร้างให้เกิดความรุนแรงหลายรอบในช่วงหลายปีที่ผ่านมา”

ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวว่าตนมองสื่อเป็น “ตัวการ” มากกว่า “ตัวกลาง” และบางสื่อเป็นภาพสะท้อนความขัดแย้งนั้นมากกว่าจะเป็นตัวกลาง สื่อไทยจำนวนไม่น้อยเป็นตัวการในความขัดแย้งทั้ง 40 ปีก่อน และทั้ง 10 ปีที่ผ่านมา คำถามต่อมาทันทีคือ ทำไมสื่อถึงมีบทบาทอย่างนั้นได้ ทำไมจึงยอมให้ตัวเองตกอยู่ในภาวะนั้น หรือว่าจำกัดขัดขวางป้องกันการที่ตัวเองจะไม่ตกอยู่ในภาวะนั้นไม่สำเร็จ

แต่สำหรับข้อกล่าวหาง่ายๆ เรื่องสื่อถูกซื้อนั้น ตนไม่เชื่อว่าสื่อส่วนใหญ่ถูกจ้างหรือถูกซื้อ ถ้าจะมีผลประโยชน์ก็น่าจะเป็นผลประโยชน์เชิงอ้อมมากกว่า และในประเด็นที่ว่าทำไมสื่อถึงป้องกันตัวเองไม่ให้ตกอยู่ในสถานะ “ตัวการ” ไม่ได้นั้น ตนคิดว่าป็นเพราะในวงการสื่อหรือวงการปัญญาชนยังไม่ได้พัฒนามาตรฐานหรือการเคารพในวิชาชีพตัวเองพอ ผลที่ออกมาก็คือวุฒิภาวะยังโตไม่พอ

ประเด็นที่สังคมรู้สึกอยู่ว่าสื่อไทยเลือกข้างนั้น ธงชัยกล่าวว่าตนเองรับได้และเข้าใจถ้าสื่อนั้นบอกมาตรงๆ แต่จากประสบการณ์ที่ตนใช้ชีวิตในอีกสังคมหนึ่ง (ในต่างประเทศ) ตนอยากยกตัวอย่างที่น่าสนใจกว่าคือ สื่อในโลกตะวันตกที่เอียงข้างและประกาศตัวชัดเจนก็มีเช่นกันในทุกประเทศ

“แต่ส่วนใหญ่พวกที่เอียงข้างประกาศตัวชัดเจนนี่ on the fringe เป็นสื่อที่คนไม่อ่านเท่าไร เป็นสื่อที่ไม่มีอิทธิพลเท่าไร มีอิทธิพลอยู่ในกลุ่มพวกตนแคบๆ แต่สื่อเมืองไทยที่ประกาศตัวชัดเจน มันไม่ on the fringe ใช่ไหม มันมีที่ทางในสังคมที่มีอิทธิพลหรือใหญ่โตเลยล่ะ เราต้องฟัง ต้องอ่านทั้งๆ ที่เรารู้อยู่ว่ามันเอียงข้างสุดๆ แล้วสื่อที่ดูเหมือนจะกลางหน่อย หรือกลางหน่อย ก็ถูกจับให้เข้าซ้ายเข้าขวา คือสื่อในโลกตะวันตกหลักๆ นี่ถึงแม้จะถูกกล่าววิจารณ์อยู่ตลอดเวลาว่าเอียงข้างไหน หรือเอียงข้างโน้นข้างนี้ สุดท้ายคุณจับเขาลงให้อยู่ข้างโน้นข้างนี้ลำบาก สื่อที่จับได้ชัดเจนว่าคุณอยู่ข้างไหนจนเกินไปนี่ สื่อเหล่านั้นมักจะอยู่บนชายขอบ on the fringe หมายถึงขอบๆ คนไม่ต้องสนใจ คนไม่ต้องอ่าน เขาหยิบขึ้นมาเห็นพาดหัวก็โยนได้แล้ว รู้อยู่แล้วว่าในเล่มนั้นจะพูดอะไร สื่อเมืองไทยก็มีประเภทนั้น แต่ที่น่าสนใจคือว่าทำไมมันจึงมีที่ทาง มีบทบาท มีอิทธิพล ในแง่ที่ว่ามันเยอะ ขณะที่สื่อในโลกตะวันตก สื่อประเภทนี้อิทธิพลนิดเดียว”

ศาสตราจารย์ธงชัย กล่าวว่าสื่อสะท้อนคุณภาพของวัฒนธรรมทางปัญญา หรือในหมู่คนที่เรียกรวมๆ ว่าปัญญาชนในสังคมไทย ซึ่งรวมถึงนักหนังสือพิมพ์ ผู้ได้รับการศึกษา วงวิชาการ ศิลปิน นักเขียน สื่อบอกระดับคุณภาพและบอกขนาดของคนกลุ่มนี้ว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหน

เมื่อย้อนกลับมามองบทบาทสื่อในเหตุการณ์เกือบ 40 ปีก่อนหรือตอนนี้ ตนคิดว่าทุกคนรู้ว่าสื่อมีบทบาทเป็นตัวการในการก่อเหตุการณ์ ไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดมาก

“การที่สื่อมีบทบาทเป็นตัวการแล้วมีส่วนก่อให้เกิดปัญหาได้นี่ ก็เพราะสภาวะวัฒนธรรมทางปัญญาที่ผมกล่าวมา คือเมื่อเราพูดถึงบริบทของสื่อ ก็มักจะพูดกันแค่วงการสื่อ เวลาพูดถึงบริบทวิชาการก็พูดแค่วงวิชาการ ผมอยากจะคิดเลยออกไปว่าบริบทของสื่อคือกลุ่มคนที่อยู่ในวัฒนธรรมทางปัญญาร่วมๆ กับคนที่อยู่ในวงวิชาการ เป็นกลุ่มเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือว่า ทั้งวิชาการ ทั้งสื่อ หรือวัฒนธรรมทางปัญญาของเรามีคุณภาพหรือมีปัญหามากขนาดไหน”

ธงชัยกล่าวว่าแทบจะทุกแวดวงปัญญาชนอยู่ด้วยบรรทัดฐานทางวิชาชีพบางอย่าง ซึ่งถ้ามีการละเมิดบางกฎหมายอาจไม่ลงโทษ แต่ในทางวิชาชีพถือว่าเป็นความผิดขั้นมหันต์ เช่น นักวิชาการลอกตำราคนอื่น หรือวงการสื่อ วงการปัญญาชนไม่พัฒนามาตรฐานหรือการเคารพในวิชาชีพตัวเองพอ

สำหรับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เมื่อ 39 ปีที่แล้วนั้น ตนเห็นว่าสื่อต้องรับผิดด้วย ถึงแม้จะมีกฎหมายนิรโทษกรรม แต่อย่างน้อยในทางมโนสำนึก เราต้องรู้ว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้น ทางมโนสำนึกอย่างน้อยเราควรจะทำให้สังคมไทยพ้นจากวัฒนธรรม impunity คือลอยนวลไม่รับผิดสักที วัฒนธรรมที่ควรจะสร้างคือ ความผิด คนกระทำผิดต้องรับผิด

“ในเรื่องนี้สื่ออย่าคิดว่าตัวเองไม่มีความผิดนะ สื่อเป็นตัวการหนึ่งเหมือนกัน ผมไม่ได้บอกว่าสื่อเป็นตัวการอย่างเดียวและเป็นตัวการสำคัญ ในบรรดาคนทั้งหลายที่มีส่วนเกี่ยวข้องนี่ สื่ออย่าคิดว่าตัวเองเป็นตัวกลาง และในเมื่อตัวเองเป็นตัวการด้วยนี่ ประเด็นสุดท้ายก็คือ การสร้างจริยธรรม บรรทัดฐานซึ่งจะมีผลต่อการยกระดับวัฒนธรรมทางภูมิปัญญานี่มันรวมถึงการทำผิดแล้วก็ต้องรับผิดด้วย”

รศ. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์

ขอกลับมาที่คุณประวิตร ซึ่งได้เขียนประสบการณ์ติดลบ คือคุณประวิตรเขียนประสบการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ที่ถูกจับกุมไปเผยแพร่ในฟ้าเดียวกัน แต่วันนี้ก็จะมาเล่าให้เราฟังเพื่อที่จะสะท้อนว่าในฐานะการเป็นสื่อ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคุณประวิตร มันสะท้อนความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับวงการสื่อมวลชนสักขนาดไหน แล้วก็อาจจะถามเลยไปตรงที่ว่าสื่อมวลชนสามารถปกป้องตัวเองจากความรุนแรงที่ว่ามานี้ได้ไหม


ผู้ร่วมสนทนา (จากซ้าย) ธงชัย วินิจจะกูล, อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์, ประวิตร โรจนพฤกษ์

ประวิตร โรจนพฤกษ์ กล่าวว่าตนมองว่าสื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย เพราะฉะนั้นคุณภาพสื่อก็เป็นภาพสะท้อนของสังคมไทยเหมือนกับคุณภาพนักการเมือง หรือคุณภาพระบอบการเมืองที่มีอยู่ทุกวันนี้ คนที่มาทำสื่อก็เป็นคนที่มีการศึกษาในระบบสังคมไทย เป็นคนไทย เติบโตมาในระบบ ผ่านการอบรมโดยสถาบันการศึกษาไทยเสียส่วนใหญ่

“แต่สิ่งที่ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ท้าทาย และอาจมองย้อนกลับไปสมัยที่อาจารย์ธงชัยเป็นหนุ่ม เป็นนักศึกษา คือยุค 6 ตุลาฯ ซึ่งมีการล่าแม่มดและมีขันติต่อการแสดงความเห็นต่างน้อยมาก คือมันมีหลายปัจจัยที่ผมคิดว่าสื่อและสังคมไทยคงต้องร่วมกันตั้งคำถามว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”


Photo courtesy Julia Reinhart

ประวิตรกล่าวว่าการขาดซึ่งขันติต่อความเห็นต่างทางการเมืองก็ยังสะท้อนอยู่ในแวดวงสื่อในปัจจุบัน โดยเฉพาะโซเซียลมีเดีย ที่มีการใช้ hate speech จากทั้งสองฝั่งทางการเมืองใส่กัน มีการผลิตซ้ำทั้งมุมมองที่ไร้ซึ่งขันติต่อความคิดเห็นต่างทางการเมือง แล้วก็ใส่ร้ายฝ่ายตรงข้าม แทบไม่มีมุมมองที่อยู่ตรงกลางเลย ซึ่งเป็นสภาพที่น่าห่วงมาก

“แม้กระทั่งสื่อไทยจำนวนหนึ่งก็ออกอาการเช่นนั้น ในขณะเดียวกัน ในขณะที่เราเผชิญปัญหาเหล่านี้ เราพบว่าเสรีภาพในการแสดงออกอย่างแท้จริงในสังคมไทยมันไม่มี ไม่ว่าจะเป็นสื่อหรือประชาชน ดูกรณีคนกว่า 40 คนที่ถูกดำเนินคดีหลังรัฐประหารภายใต้มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นตัวอย่าง หรือดูการเซนเซอร์ข้อมูลฝ่ายตรงข้าม ความเชื่อที่ว่าเราจะยัดเยียดเพียงแต่ “ข้อมูลที่ถูกต้อง” ให้คุณเท่านั้น ทำไมคุณเซีย ไทยรัฐถูกเรียกไป ทำไมคุณชัย ราชวัตร ไม่ถูกเรียกไป ทั้งสองก็พูดตรงๆ ก็อาจจะเป็นคนละขั้วของการเมืองในการวาดการ์ตูนการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แต่ถ้าคุณเชียร์ คสช. อย่างออกหน้าออกตาเขาไม่เรียกคุณไปหรอกครับ ถ้าคุณตั้งคำถามหรือวิพากษ์อย่างต่อเนื่อง คุณก็จะถูกเชิญไปเตือน”

ประวิตรกล่าวถึงปฏิกิริยาและบทบาทของสื่อต่อคนที่มีความเห็นต่างว่าสื่อมีความรับผิดชอบน้อยนิดแม้กระทั่งจะปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (freedom of expression) ของคนที่เห็นต่างในองค์กร หรือต่างองค์กร อย่างไรก็ตาม ตนขอขอบคุณสมาคมนักข่าวฯ ที่ออกแถลงการณ์ถึง คสช. ในกรณีที่ตนถูก คสช. นำไปควบคุมตัวไว้เป็นครั้งที่ 2 (ระหว่างวันที่ 13 – 15 กันยายน) แม้ว่าตนจะไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมนักข่าวฯ

เขากล่าวว่าเห็นด้วยกับศาสตราจารย์ธงชัยที่ว่าวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งที่ขาดอย่างยิ่งยวดในสังคมไทย ไม่เพียงแต่วงการสื่อที่มักถือว่าแมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวันเท่านั้น และสิ่งที่สังคมต้องเรียนรู้เกี่ยวกับสื่อ คือสิ่งที่เรียกว่า media literacy หรือความเท่าทันสื่อ หรือองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของสื่อ เช่น ถ้าเป็นการรายงานข่าวตรงไปตรงมา สื่อต้องพยายามแฟร์กับหลายๆ ฝ่าย หรือมากฝ่าย หรือทุกฝ่าย รู้จักหรือแยกแยะกับมันได้ ซึ่งต่างจากการเขียนบททรรศนะ หรือบทบรรณาธิการ ที่สามารถจะแสดงจุดยืนของผู้เขียนหรือขององค์กรได้อย่างชัดเจน

ต่อข้อสังเกตของศาสตราจารย์ธงชัยที่ถามว่าทำไมสื่อเลือกข้างจึงมีอิทธิพลเยอะ ประวิตรกล่าวว่าตนเห็นว่าเป็นเพราะคนไทยจำนวนไม่น้อยได้เลือกข้างไปอย่างชัดเจนแล้ว และได้ผลิตซ้ำความเชื่อผ่านโซเชียลมีเดียทุกวัน ในการ retweet แชร์ข้อความที่เขาเห็นด้วยอย่างเดียวนั้น แล้วก็โจมตีฝ่ายตรงข้าม

“มันไปไกลมากแล้ว จริงๆ แล้วน่าจะมีใครศึกษาเรื่องความเหมือนและความต่างระหว่างการเมืองไทยหรือสังคมไทยในแง่ของทัศนคติต่อการเมืองในยุคปัจจุบันกับยุคที่นำไปสู่เหตุการณ์อันน่าสลดใจในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ครับ”

 

เชิญฟังการสนทนาฉบับเต็มได้ที่นี่

สื่อกับบทบาทในความขัดแย้ง มองอดีต สะท้อนปัจจุบัน