ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับคนในวงการบันเทิง ที่ได้รับความสนใจจากสังคมมากจนนำสู่ปรากฏการณ์ “วาระแห่งชาติ” ที่ข่าวคนวงการบันเทิงกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับและเป็นรายงานข่าวเด่นของเกือบทุกสถานีข่าว ยังไม่นับการเกาะติดในสื่อสังคมจนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้ข่าวอื่นถึง 2 เหตุการณ์ คือ กรณีการพยายามปลิดชีพตัวเองอย่างไม่สำเร็จของ “แตงโม” ภัทริดา พัชรวีระพงษ์ และ “สิงห์ Sqweez Animal” หรือ ประชาธิป มุสิกพงศ์ ที่ตัดสินใจจบชีวิตตนเองและกระทำการได้สำเร็จ
การที่สื่อทุกแขนงให้ความสำคัญกับเรื่องราวของคนในวงการบันเทิงจนถูกเรียกขานด้วยความประชดประชันว่าเป็น “วาระแห่งชาติ” นี้ นำสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อสื่ออย่างมากมาย ทั้งความควรไม่ควรในการนำเสนอเรื่องและภาพ รวมถึงอาการของดาราสาวขณะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ทั้งการประกอบหน้าที่อย่างไม่เหมาะสมในการพยายามเจาะอารมณ์ผู้ใกล้ชิดสิงห์ ไปจนถึงการพยายามโยงเรื่องราวต่างๆ เข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคม มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ จึงถือเอาวาระแห่งความร้อนแรงในการที่สื่อถูกวิพากษ์เช่นนี้จัดมีเดียคาเฟ่ - สื่อสนทนา ว่าด้วย “การแข่งขันกับจรรยาบรรณสื่อ จากการนำเสนอข่าวแตงโม โตโน่ ถึงสิงห์” ร่วมสนทนาโดย จักร์กฤษ เพิ่มพูน บรรณาธิการที่ปรึกษาเครือเนชั่น และอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ที่ปรึกษามติชนทีวีและมติชนออนไลน์ และอาจารย์พิเศษคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว, สุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนสารคดี โดยมี พิณผกา งามสม ชวนสนทนา
การพาดหัวข่าวเมื่อเรื่องส่วนตัวถูกโยงสู่การเมือง
ประเด็นหนึ่งที่เป็นวาระให้เกิดการ “ถกยาว” ของเวทีที่ดำเนินไปกว่า 2 ชั่วโมงในวันนั้นคือ การเสียชีวิตของสิงห์จะเป็นข่าวหน้าหนึ่งครึกโครมอย่างที่เกิดเป็นปรากฏการณ์หรือไม่ หากสิงห์ไม่มีพ่อชื่อวีระกานต์ มุสิกพงศ์ และหากวีระกานต์คนนี้จะไม่ได้เป็น “คนเสื้อแดง”
พิณผกา งามสม เปิดประเด็นชวนสนทนาว่าการรายงานข่าวกรณีการเสียชีวิตของ สิงห์ มือกีตาร์วง Sqweez Animal นำมาสู่ข้อชวนถกเถียงถึงการทำหน้าที่สื่อ ว่า ควรจะจัดการกับข่าวนี้อย่างไรดี การพาดหัวแบบไหน รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อว่ามีข้อพึงระวังอย่างไร ตัวอย่างแรกที่นำมาถกเถียงในเวทีนี้คือการพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
“Red-shirt leader’s son plunges to death” พาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ (http://www.bangkokpost.com/news/general/639204/red-shirt-leader-son-plunges-to-death) ในวันรุ่งขึ้นหลังการเสียชีวิตของสิงห์รบกวนจิตใจสุเจนเป็นอย่างมาก
“ทำไมต้องใช้สถานการณ์เป็นคนเสื้อแดง” สุเจน กรรพฤทธิ์ ตั้งคำถามเปิดประเด็น ทั้งนี้นักเขียนสารคดีหนุ่มผู้นี้มองว่าสิงห์มีสถานะทางสังคมชัดเจน คือการเป็นนักดนตรีในสังกัดวง Sqweeze Animal แม้จะมีชื่อเสียงไม่โด่งดังเป็นที่รู้จักเท่าผู้เป็นพ่อ
ก่อนจะตามมาด้วยการแสดงความเห็นว่าบรรยากาศทางการเมืองตอนนี้ บรรณาธิการหน้าหนึ่งน่าจะรู้ว่าการพาดหัวข่าวแบบนี้ ไม่ว่าจะมีเจตนาดีหรือไม่อย่างไร จะนำไปสู่ผลอีกประการหนึ่งแน่ๆ “ผมมีปัญหากับการพาดหัวข่าวนี้เพราะจุดยืนของบางกอกโพสต์ด้วย ที่ผ่านมาวิกฤติทางการเมือง ผมมีความรู้สึกว่าบางกอกโพสต์ take side พอเห็นพาดหัวข่าวนี้มันทำให้ผมรู้สึกว่า ‘เอาอีกแล้วหรือ’ ”
สุเจนตั้งคำถามกับจรรยาบรรณในการทำข่าวกรณีนี้ของสื่ออื่นๆ ด้วย เขาเล่าว่าน้องชายของเขาเสียชีวิตในลักษณะเดียวกันนี้และครอบครัวของเขาเคยตกเป็น “เหยื่อ” ในการทำข่าวของสื่อที่ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของญาติผู้ตาย เขาถามว่าหลักการขอบเขตของสื่ออยู่ตรงไหน
“อันนี้เป็นประเด็นสืบเนื่องมา ถูกหรือผิดไม่รู้ ผมจึงอยากขอความรู้ว่านักหนังสือพิมพ์มืออาชีพมีหลักการยังไงในการพาดหัว แล้วเขาต้องคำนึงถึงความรู้สึกญาติไหม และยังมีประเด็นเกี่ยวเนื่องอีก เช่น นักข่าวบุกเข้าไปถ่ายรูปในงานศพ ซึ่งผมก็เคยโดนมา หมายความว่ายี่สิบปีที่ผ่านมา จนผมมาทำงานสื่อ ปัญหานี้ก็ยังอยู่” สุเจนตั้งคำถาม
จักร์กฤษ เพิ่มพูน ตอบคำถามนี้โดยยืนยันในหลักการว่าการพาดหัวข่าวต้องตรงประเด็นไม่บิดเบือน แต่เขาก็มองว่าการไม่บิดเบือนความจริงนั้นต้องคำนึงประเด็นละเอียดอ่อนที่เกี่ยวพันมากมาย โดยเฉพาะเมื่อเป็นข่าวเกี่ยวกับสูญเสีย “มันต้องคิดด้วยว่าหัวข่าวจะกระทบกระเทือนจิตใจไหม หลักการหนึ่งที่เราต้องยึดถือคือ เราพึงหลีกเลี่ยงการซ้ำเติม กรณีนี้หากบอกว่า ลูกชายคุณวีระจะดีกว่าไหม”
ขณะที่นิธินันทท์ ยอแสงรัตน์ มองว่า พาดหัวของบางกอกโพสต์ชิ้นนี้ไม่มีสิ่งใดผิดหรือละเมิดจรรยาบรรณ “ไม่ได้มองอย่างมีอคตินะว่าใครเอียงข้างไหน เราอ่านแล้วไม่รู้สึกว่าชวนให้ไปสมน้ำหน้า หรือกล่าวหาวิจารณ์ให้ร้ายใคร สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนมาพูดกันทีหลัง พาดหัวข่าวนี้จะมีปัญหาหากบอกว่า ‘เวรกรรมตามสนองลูกผู้นำเสื้อแดง’
นิธินันท์มองว่าการพาดหัวข่าวโดยโยงคำว่า Red-shirt หรือเสื้อแดงเข้ามานั้นไม่ได้หมายถึงการพุ่งไปในทางประเด็นการเมือง แต่เป็นการให้ความสำคัญกับบุคคลที่เป็นข่าว ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ 5 ประการของข่าว คือ Who หรือบุคคลในข่าวที่ต้องมีความสำคัญมากพอที่จะปรากฏเป็นข่าวได้ กรณีนี้นิธินันท์มองว่าแม้สิงห์จะเป็นนักดนตรีมีชื่อเสียงแต่ก็เป็นชื่อเสียงที่กระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มเล็ก ซึ่งหากมองในเชิงคุณสมบัติของการเป็นข่าวแล้วย่อมไม่มีความสำคัญเท่าการเชื่อมโยงสิงห์ซึ่งเป็นบุคคลในข่าวเข้ากับแนวคิดทางการเมืองและฐานะทางสังคมของพ่อ
“อันนี้กำลังเป็นการ defend ในหลักการนะ เพราะหากดิฉันทำ ก็จะไม่เอาข่าวนี้ขึ้นหน้าหนึ่ง” นิธินันท์กล่าว
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการถกเถียงถึงความควรไม่ควร หรือเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมในการเชื่อมโยงตัวตนของสิงห์เข้ากับสถานะในการเป็น “คนเสื้อแดง” ของผู้เป็นพ่อ ทำให้นิธินันท์ตั้งคำถามกลับถึงอคติของบุคลากรในวงการสื่อ “พวกเราทั้งหลายกำลังมีอคติว่า red shirt เป็นคำที่เลว แต่ดิฉันไม่ได้มองแบบนั้น เราเองต้องกลับไปทบทวน bias ของตัวเองด้วย”
ผู้ร่วมสนทนา (จากซ้าย) นิธินันท์ ยอแสงรัตน์, จักร์กฤษ เพิ่มพูน, พิณผกา งามสม, สุเจน กรรพฤทธิ์
เส้นแบ่งระหว่างข่าวบันเทิงกับเรื่องราวส่วนตัวของคนบันเทิง
“วาระแห่งชาติ” ทั้งสองปรากฏการณ์โดยเฉพาะวาระว่าด้วยเรื่องราวของนักแสดงสาว ภัทริดา พัชรวีระพงษ์ หรือ “แตงโม” และ “โตโน่” โภคิน คำวิลัยศักดิ์ ชายหนุ่มอดีตคนรักที่มีส่วนอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของดาราสาวผู้นี้ ทำให้เกิดวิวาทะว่าด้วยคุณสมบัติของข่าวบันเทิง แค่ไหนที่จะเรียกว่า “ข่าว” ที่ควรนำมาเสนอสู่สังคม
“ที่เราเสพทุกวันนี้มันไม่ใช่ข่าวบันเทิง แต่มันเป็นเรื่องส่วนตัวของดารา นักร้อง นักแสดง ที่อยู่ในวงการบันเทิง” คุณค่าข่าวบันเทิงที่เราทำกันทุกวันนี้มันแค่ตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ การไปเอาสิ่งที่เขาพูดกันในไลน์ทั้งหลายทั้งปวงมา มันผิดหลักการทำงานตามวิชาชีพและละเมิดสิทธิส่วนบุคคล” จักร์กฤษกล่าว
นิธินันท์มีความเห็นสอดคล้องกับจักร์กฤษในประเด็นนี้ เธอมองว่าวงการสื่อของไทยมีสื่ออยู่กลุ่มหนึ่งที่เกิดขึ้นมา “เพื่อทำมาหากินกับความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์” ซึ่งสื่อกลุ่มนี้จะมี ethic [จรรยาบรรณ] อีกชุดหนึ่งที่แตกต่างไป นิธินันท์ไม่ได้ลงรายละเอียดถึงชุดของ ethic ของสื่อกลุ่มนี้ แต่ขยายความถึงวิธี “ทำมาหากิน”
“การมีข่าวอกหักรักคุดกับเด็กรุ่นน้อง การทำตัวให้เป็นข่าวเอง หรือกรณีเด็กธรรมศาสตร์ที่เคยเรียกกันว่า ‘น้องสาหร่าย’ หรืออื่นๆ การตลาดกับข่าวบันเทิงมันผสมกันหมดแล้ว ตบกัน การปิดถนน พวกนี้ล้วนอยู่ในแผนที่ PR วางไว้ให้เป็นข่าว เป็นการแย่งชิงพื้นที่ข่าว”
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้นิธินันท์มองว่าคนที่จะควบคุมได้คือผู้บริโภคที่ต้องคิดว่า “จะยอมให้สื่อทำอย่างนี้อีกต่อไปหรือไม่”
วิวาทะว่าด้วยเรื่องราวของคนบันเทิงทำให้เกิดประเด็นว่าสื่อสามารถหรือสมควรต้องนำเสนอเรื่องราวทุกอย่างของบุคคลในวงการบันเทิงด้วยหรือไม่ เรื่องส่วนตัวของบุคคลสาธารณะเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ มณฑิรา นาควิเชียร อดีตผู้สื่อข่าวที่เข้าร่วมฟังการสนทนาแสดงความเห็นว่า ประเด็นหนึ่งที่น่าห่วงคือการที่สื่อละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว ซึ่งสื่อของไทยไม่รู้จักการแยกระหว่างเรื่องที่เป็น personal กับ private ของบุคคลในข่าว
“คำว่า personal กับ private มีนัยยะต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจดหมาย หรือการทิ้ง Apple Watch ไว้ให้เพื่อน หรือจะเป็นข้อความของคุณสิงห์ทิ้งไว้ให้กับคนรัก.. ดิฉันมองว่าเป็นเรื่อง private หมายความว่าไม่มีคุณค่าสำหรับการเสนอสื่อ ไม่มีคุณค่าทางข่าว ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลที่เสพข่าวหรือเสนอข่าวจะใช้มุมมองตรงนั้นอย่างไร” มณฑิรา นาควิเชียร กล่าว
กรณีการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตของลูกสาววิทนีย์ ฮุสตัน ถูกหยิบยกมาเทียบเคียงบนเวที เพราะเหตุการณ์ที่เป็นที่สนใจของคนในหลายประเทศทั่วโลกกลับไม่พบว่ามีการรายงานเรื่องราวที่เกี่ยวอย่างละเอียดดังที่เกิดขึ้นกับบุคลในวงการบันเทิงบ้านเรา
“ที่นั่นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมีโทษที่รุนแรง กฎหมายกำหนดค่าความเสียหายสูงมาก” มณฑิรา แสดงความเห็นเพิ่มเติม
ทรงพร ศรีช่วย อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมแสดงความเห็นว่าตนไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่บอกว่าสื่อจะต้องสะท้อนความเป็นจริงว่าสิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่มีอยู่ในสังคม เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคข่าวต้องการ “ดิฉันไม่เชื่อสิ่งนี้ ดิฉันไม่เห็นด้วยที่เราต้องไปอ้างอยู่ตลอดเวลาว่า ‘ก็ผู้อ่านต้องการสิ่งนี้’ "
ทรงพรกล่าวว่า ทั้งประเด็นเรื่องสื่อต้องมีจริยธรรม และประเด็นที่กล่าวกันว่าสื่อต้องทำมาหากิน เพราะการทำสื่อเป็นอุตสาหกรรมแล้วนั้น เป็นความจริงและเป็นเรื่องจำเป็นด้วยกันทั้งคู่ แต่อันไหนจะจำเป็นมากกว่ากัน องค์กรสื่อกระแสหลักจะต้องสร้างวัฒนธรรมที่เข้มแข็งเพื่อที่จะตกทอดแนวปฏิบัติให้กับผู้ที่ปฏิบัติงาน
“ดิฉันคิดว่าสื่อจะต้องเป็นผู้นำทางความคิดให้กับคนในสังคม อย่างน้อยหนึ่่งก้าว ไม่ต้องเลอเลิศอะไร เรามีคำพูดกันในวงการอาชีพนี้ว่าสื่อควรจะเป็นอะไรระหว่างตะเกียงกับกระจก บางทีเราต้องเป็นพร้อมกันทั้งสองอย่าง แต่เราอาจต้องเป็นตะเกียงมากกว่าไหม อันนี้ฝากไปคิด”
หรือกฎหมายจะเป็นทางออกสำหรับสังคมไทยในกรณีนี้
การควบคุมจรรยาบรรณของสื่อโดยเฉพาะการล้ำเส้นความเป็นส่วนตัวของบุคคลสาธารณะเช่นนี้ เป็นประเด็นหนึ่งของการถกเถียง ซึ่งจักร์กฤษมองว่าเครื่องมือที่ทรงอานุภาพที่สุดไม่ควรจะเป็นกฎหมาย
“ผมคิดว่าเรื่องของจริยธรรมใช้กฎหมายควบคุมไม่ได้ เท่าที่ผมศึกษามาทั้งในอาเชียนและอังกฤษไม่มีการใช้กฎหมายควบคุมจริยธรรมสื่อ แต่มันมีคำถามว่าเมื่อไรที่สังคมจะมีจิตสำนึก” จักร์กฤษกล่าว
ทั้งนี้จักร์กฤษมองว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเห็นข่าวโดยเฉพาะข่าวบันเทิงมีคุณภาพมากกว่าที่เป็นอยู่คือการที่สังคมทั้งสังคมมีจิตสำนึกในผลิตและเสพสื่อ อย่างไรก็ดีเขาไม่ปฏิเสธว่ากฎหมายยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีไว้เป็นกรอบ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนน้อยของการสนทนาว่าด้วย “การแข่งขันกับจรรยาบรรณสื่อ จากการนำเสนอข่าวแตงโม โตโน่ ถึงสิงห์” ติดตามรายละเอียดได้ที่ ................................
