กษัตริย์สีหนุในความสัมพันธ์กับโลกเสรีนิยมและค่ายคอมมิวนิสต์ (ซ้าย: ต้อนรับแจ็คเกอลีน เคเนดี้ สตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐ, ขวา: คิมอิลซุง ต้อนรับอย่างอบอุ่นขณะเสด็จเยือนเปียงยาง)
บุคคลสำคัญของโลกที่สื่อปักกิ่งขนานนามว่า “กษัตริย์ที่กระทำตัวเยี่ยงสามัญชนมากที่สุด" ในประวัติศาสตร์กัมพูชา สื่อในกรุงปารีสเรียกพระองค์ว่า "นาวาที่ไม่รู้จักจม" หรือฉายา "คุณชายปรอทเจ้าอารมณ์" ในสื่อโตเกียว พระองค์เป็นผู้ลิขิตชะตาชีวิตชาวเขมรเป็นเวลากว่าเจ็ดทศวรรษ
พระบาทสมเด็จนโรดมสีหนุพระราชบิดาและอดีตกษัตริย์แห่งกัมพูชาผู้เคยตั้งความฝันอันสูงส่งที่จะสถาปนาประเทศตนเป็น "สวิสแห่งเอเชีย" เสด็จสวรรคตราวตีสองของวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ กรุงปักกิ่งซึ่งเป็น "บ้านหลังที่สอง" ของพระองค์ในวัย 90 พรรษา หลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งมาตั้งแต่ปี1993 และเข้ารับการบำบัดรักษามา 3 ครั้ง วันที่สูญเสียบุคคลที่มีบทบาทเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการเมืองภูมิภาคนี้ ยังเป็นช่วงเดียวกับเทศกาลสารทเขมร (Bon Phchum Ben) ที่ชาวเขมรทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับวิญญาณบรรพบุรุษเหมือนวันเช็งเม้งของจีนอีกด้วย
สำหรับคนไทยที่ประกาศตนชาตินิยมแล้ว สีหนุคือ "คู่กรรมคู่กัด" เป็นบุคคลที่ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนปราสาทพระวิหารในศาลโลกเมื่อปี ค.ศ. 1962 'ความแค้น' นี้ยังฝังใจคนไทยหลายคนยากลืมลงได้ รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เจ้าของคำพูด "พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ" สมัยนั้นได้เรียกร้องคนในชาติให้บริจาคคนละบาทเพื่อต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร ซึ่งในการเดินขบวนของนักศึกษาเพื่อต่อต้านเขมรในช่วงนั้น เมื่อมีการตะโกนว่า "สีอะไรที่คนไทยเกลียด?" ฝูงชนตะโกนตอบพร้อมกันว่า ‘สีหนุ’
โดยก่อนนี้ คนไทยทำตัวเป็น 'ม้าอารี' แบบที่ประวัติศาสตร์ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 1952 กษัตริย์สีหนุในขณะนั้นได้รณรงค์เรียกร้องฝรั่งเศสให้คืนอำนาจปกครองแก่กัมพูชาแต่ไม่สำเร็จ ทรงกริ้วโกรธถึงขนาดเสด็จออกจากพนมเปญมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงเทพฯในเดือนมิถุนายน 1953 จากนั้นได้ดำเนินการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่บริเวณชายแดนไทย-เขมร ยื่นคำขาดกับฝรั่งเศสให้คืนเอกราชที่แท้จริง มิฉะนั้นเขมรจะถอนตัวออกจากสหพันธ์ฝรั่งเศส จากการกดดันของนานาชาติ ในที่สุดฝรั่งเศสรับปากให้เอกราชแก่เขมร สีหนุจึงสิ้นสุดการลี้ภัยในไทยประมาณ 5 เดือน เสด็จกลับกรุงพนมเปญวันที่ 8 พฤศจิกายนปีเดียวกัน พร้อมกับปิดฉากอาณานิคมฝรั่งเศสในเขมรที่นานกว่า 90 ปี
ด้านความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ไทย-กัมพูชา กษัตริย์สีหนุเคยเสด็จเยือนไทยเป็นทางการในฐานะราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันระหว่างวันที่ 15-21 ธันวาคม ค.ศ. 1954 ขณะนั้น กษัตริย์สีหนุทรงมีพระชนมายุ 32 พรรษา เป็นหนุ่มหล่อคล้ายดารา เรียกเสียงกรี้ดจากสาวไทยได้ไม่แพ้สมเด็จพระราชาธิบดี จิ๊กมี เคเซอนัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏานทีเดียว
กษัตริย์สีหนุในมิติของศิลปิน
ถึงแม้สีหนุอ้างอยู่เสมอเขาเป็น "ชาตินิยม" กอบกู้เอกราชจากฝรั่งเศส หรือบางครั้งก็อ้างตัวว่า 'นักสังคมนิยม’ ตามแต่โอกาสที่เจอหน้ากับผู้นำหรือสื่อแต่ละประเทศ ซึ่งความเป็นจริง พระราชโองการหรือ "จดหมายถึงพสกนิกร" ที่ออกมาล้วนแล้วเป็นภาษาฝรั่งเศส บุคคลรอบข้าง นอกจากผู้ติดตามที่เป็นชาวเขมรเชื้อพระวงศ์ส่วนหนึ่ง นอกนั้นล้วนเป็นชาวต่างชาติ ตัวอย่างเช่นองครักษ์ประจำตัวเขาเป็นนายพลกองทัพไทยที่ชื่อ "นาเวศ ณ หนองคาย" ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนพิเศษนายกรัฐมนตรีไทยควบคู่ไปด้วย ยังมี 'บอดี้การ์ด' อีกเกือบสิบคนจากเกาหลีเหนือที่เพียบพร้อมศิลปะการต่อสู้เทควันโด้ซึ่งจัดส่งมาตั้งแต่ "สหายคู่ยาก" ประธานาธิบดีคิมอิลซุงยังมีชีวิตอยู่ อาหารแทบทุกมื้อที่เสวย ล้วนเป็นอาหารฝรั่งเศส อดีตทูตจีนประจำประเทศไทยและเวียดนามจางเต๋อเหวยที่เคยมีตำแหน่งต้อนรับประมุขกัมพูชาเปิดเผยว่า สีหนุโปรดปรานอาหารฝรั่งเศสและลงครัวด้วยพระองค์เอง โดยคิดสูตรตำรับ "ไก่ไวน์แดง" เองมาเลี้ยงผู้นำจีนตอนนั้น เช่น นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลและภรรยาเติ้งอิ่งเชา รองนายกรัฐมนตรีเติ้งเสี่ยวผิง เป็นต้น ซึ่งฝีมือไม่แพ้เชฟอาชีพเลยทีเดียว
นักการทูตระดับสูงของไทยท่านหนึ่งที่เคยทำหน้าที่ใกล้ชิดกับสีหนุเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ยืนยันตรงกันว่าสีหนุมี 'รสนิยมสูง’ ชอบทานอาหารฝรั่งเศสมาก แต่สำหรับอาหารไทยซึ่งคล้ายกับอาหารเขมรนั้น ได้เคยจัดถวายบนเรือโอเรียนเต็ลควีน ขณะล่องแม่น้าเจ้าพระยานั้น ท่านไม่แตะต้องเลย อีกทั้งตรัสว่า "หากเป็นไปได้ ทุกมื้อเสริฟเป็นอาหารฝรั่งเศสยิ่งดี" เวลาทักทายก็แบบฝรั่งคือเอาแก้มมาชนข้างซ้าย ขวา และซ้าย 3 ครั้ง อีกครั้งหนึ่งตอนที่สถานทูตจีนที่รัชดา จัดงานเลี้ยงเขมรสามฝ่ายอย่างไม่เปิดเผย มีฉายหนังที่สีหนุเป็นผู้กำกับ ดาราเป็นเกาหลีเหนือ สีหนุก็อาสาพากย์เองเกือบครึ่งเรื่อง ทั้งที่เป็นหนังเสียงในฟิลม์
สีหนุนอกจากเป็นกษัตริย์ไม่กี่พระองค์ในโลกที่กล้าท้าชนมหาอำนาจตะวันตกแบบซึ่่งหน้า แต่อีกด้านหนึ่งเขาเป็นศิลปิน ที่เป็นอาชีพอันทรงคุณค่าของเขมรด้วย คลุกคลีอยู่วงการภาพยนตร์ ศิลปะ ดนตรี และเคยทรงร่วมกีฬาขี่ม้า วอลเลย์บอลและอื่นๆ ปี 1965 สมัยสีหนุปกครอง ได้จัด "มหกรรมกีฬาพลังประเทศเอเชียเกิดใหม่" ที่พนมเปญ คณะนักกีฬาเขมรได้ 104 เหรียญ รวมเป็นที่ 2 เท่ากับเกาหลีเหนือ (แชมป์เป็นของจีน) และปลายปี 1970 มหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 6 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ทีมวอลเลย์บอลหญิงของเขมรภายใต้การปกครองนายพลลอนนอลเอาชนะทีมอินโดนีเซียและอิหร่านคว้าเหรียญทองแดงมาครอง (เหรียญทองญี่ปุ่น เหรียญเงินเกาหลีใต้)
ประมาณ 50 ปีที่แล้ว เทศกาลภาพยนตร์คานส์ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในภูมิภาคนี้ สีหนุจึงผลักดันจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติขึ้นณกรุงพนมเปญ ได้รับผลสำเร็จกว่าที่คาดคิด ฟู่เสวียจาง อดีตทูตจีนประจำไทยและกัมพูชาที่เคยศึกษาอยู่ที่กรุงพนมเปญกล่าวว่าพระองค์มีพรสวรรค์ทางศิลปะหลายด้าน ครั้งนั้นนอกจากผู้รับเชิญมางานภาพยนตร์นานาชาติพนมเปญมีทั้งผู้กำกับและนักแสดงชั้นนำจากฮ่องกง ไต้หวันและยุโรปแล้ว ยังสามารถดึงเอาประธานจัดงานภาพยนตร์เมืองคานส์มาร่วมงานได้ สีหนุเคยกำกับเขียนบทและเป็นพระเอกในภาพยนตร์เรื่อง "เงามืดอังกอร์" นอกจากนี้ยังสร้างภาพยนตร์เรื่อง "ป่าสำราญ", "เจ้าชายน้อย", "สายันต์" ซึ่งนักแสดงนำในภาพยนตร์ที่สีหนุกำกับนั้นคือโรลอง เอง อดีตทูตกัมพูชาประจำไทยและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องภรรยาของเจ้ารณฤทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีและเป็นโอรสคนที่สองของสีหนุ นอกจากนี้ สีหนุยังยอมรับว่าเขาเป็น 'นักรักผู้ยิ่งใหญ่’ เคยบอกสื่อว่าระหว่างปี 1941 ถึง 1952 ได้จีบผู้หญิงรวมทั้งหมด 19 คน ตอนหลังที่ได้แต่งงานจริงมีเพียง 6 คน มีบุตรชาย 8 คน บุตรสาว 6 คน
กษัตริย์ 'เพลย์บอย'
สีหนุยังชอบทรงดนตรี ประพันธ์เพลงเป็นภาษาเขมร อังกฤษ ฝรั่งเศสและละตินไว้หลายเพลง และทรงโปรดการร้องเพลงนานาชาติ เพื่อสร้างความบันเทิงให้แขกต่างประเทศ โดยเฉพาะนักการทูต ซึ่งบางคนต้องอยู่เป็นเพื่อนจิบไวน์ฟังเพลงของเขาตั้งแต่กลางคืนไปจนถึงวันใหม่ พระองค์ชอบร้องเพลงไทยด้วย ซึ่งเพลงไทยที่ใช้ 'หากิน' ล้วนแล้วเป็นของสวลี ผกาพันธุ์ ที่โปรดปราณมากคือเพลง "รักคุณเข้าแล้ว" และ "ฝัน ฝัน" ตอนพำนักอยู่ที่ปักกิ่งและเปียงยาง ได้ประพันธ์เพลง Nostalgie de la Chine (คิดถึงจีน) และเพลงเปียงยาง เป็นของขวัญมิตรภาพให้กับผู้นำประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งสองประเทศ
สื่อต่างชาติที่ประจำภูมิภาคนี้ที่มีอายุใกล้ 60 หลายคนกล่าวว่า สมัยนั้นต้องแบ่งปันเนื้อที่ข่าวให้การเมืองเขมรและความเคลื่อนไหวของสีหนุประมาณ10% หลายคนยอมรับว่าสีหนุแม้เป็นกษัตริย์ แต่ไม่ถือพระองค์ เป็น 'ขวัญใจ' ของคนทำข่าวยุคนั้นมาตลอด อาจกล่าวได้ว่าเป็นองค์ราชันย์ที่รู้จักใช้สื่อทุกมุมโลกให้คุ้มประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของตนเองมากที่สุดของโลกท่านหนึ่ง ซึ่งที่ปรึกษาส่วนตัวฝ่ายสื่อ ทำหน้าที่ประสานงานประชาสัมพันธ์กับสือต่างชาติ และมีหน้าที่ "เขียนบท" ให้กับสีหนุ ก็เป็นชาวต่างชาติชื่อ Julio Jeldres เป็นชาวออสเตรเลียที่เกิดในชิลี รับใช้สีหนุระหว่างปี 1981-1991 ในช่วงที่ยังมีวิกฤติการเมืองกัมพูชาอยู่ แต่เนื่องจากสีหนุเป็นคนเจ้าอารมณ์ เหมือนปรอทอุณหภูมิ จึงขัดแย้งกับ Jeldres อยู่หลายครั้ง จนในที่สุดฝ่ายหลังน้อยใจลาออกไป Jeldres เป็นผู้อำนวยการคนแรกของสถาบันประชาธิปไตยเขมรที่กรุงพนมเปญ ปัจจุบันเป็นนักวิจัยประจำมหาวิทยาลัย Monash ที่นครเมลเบิร์น ออสเตรเลีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 1999 เขาออกหนังสือชื่อว่า 'The Royal Palace of Phnom Penh and Cambodian Royal Life' ซึ่งหลายตอนพูดถึงอดีตนายจ้างของเขา
ช่วง1990-1993 ยุคที่กองกำลังสหประชาชาติเข้าปกครองเขมรชั่วคราว ขณะนั้นผู้เขียนทำงานกับหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นฉบับหนึ่งประจำกรุงพนมเปญ เข้าออกพระราชวัง(เวียง) ทำข่าวสีหนุให้สัมภาษณ์สื่อนานาชาตินับครั้งไม่ถ้วน ทุกครั้งสีหนุจะเปรยว่า 'ข้าพเจ้ารู้ตัวว่าโรคมะเร็งมาเยือน ไม่ช้าข้าพเจ้าคงต้องจากโลกนี้ไป' แต่กว่าจะเป็นความจริง มันคือ 20 ปีต่อมา ทั้งนี้ นักข่าวบางคนที่เคยอยู่ในวงสัมภาษณ์ช่วงนั้นได้จากโลกนี้ไปก่อนท่านแล้ว
ที่น่าแปลกการสิ้นพระชนม์อย่างสงบของอดีตกษัตริย์สีหนุ ไม่ได้สร้างความตื่นเต้นเหมือนครั้งที่พระองค์ต้องลี้ภัยเนื่องจากสหรัฐหนุนหลังลอนนอลโค่นล้มอำนาจของพระองค์เมื่อเดือนมีนาคม1970 ในขณะเสด็จเยือนกรุงมอสโคว์ จนต้องลี้ภัยในจีนอยู่นานปี จากบันทึกของกระทรวงการต่างประเทศจีนตอนหนึ่งเปิดเผยว่าประธานเหมาได้ชื่นชมสีหนุว่าเป็น 'คนจริงใจ’ ต่อประเทศจีน เคยพูดทีเล่นทีจริงชักชวนให้สีหนุเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย นอกจากมอบคฤหาสห์หลังใหญ่ที่ตงเจียวหมินเซี่ยงใกล้จตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งสถานทูตฝรั่งเศสแล้วยังให้ 'เงินติดกระเป๋า' สีหนุอีกปีละ 3 แสนเหรียญสหรัฐด้วย แต่สีหนุเคยให้สัมภาษณ์สื่อที่โรงแรมรอยัลคลิฟ พัทยาในระหว่างการประชุมนานาชาติว่าด้วยปัญหากัมพูชา ว่าแม้จีนจะให้เงินส่วนตัวเขามากมาย “แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ได้จงรักภักดีต่อจีน เพราะจีนสนับสนุนเขมรแดง”
กษัตริย์สีหนุ กับฝ่ายเขมรแดง
ซึ่งช่วงนั้นยังเป็นยุคที่หลินเปียวและแก๊งค์สี่คนยังเรืองอำนาจ จีนสนับสนุนเขมรแดง และสีหนุก็เข้าป่าเข้าร่วมกับฝ่ายเขมรแดงเพื่อต่อต้านนายพลลอนนอลในยุคที่เขมรแดงปกครองปี 1975 ถึง 1978 เพื่อต้องการจัดระเบียบสังคมใหม่ เจริญรอยตามพรรคคอมมิวนิสต์จีน แม้ว่าสีหนุมีตำแหน่งเป็นประมุขแห่งรัฐ แต่ก็ไร้อำนาจแท้จริง ระบอบพลพตดำเนินการซ้ายสุดกรู่ ประมาณการว่ามีชาวเขมรสิ้นชีวิตในทุ่งสังหารเกือบ 2 ล้านคน ในจำนวนนั้นมีลูกชาย 5 คนและหลาน14 คนของสีหนุรวมอยู่ด้วย ความวุ่นวายของการเมืองตามมาด้วยทหารเวียดนาม 2 แสนนายยึดครองกัมพูชาและสถาปนาระบอบเฮงสัมรินขึ้น ชาวเขมรลี้ภัยทะลักเข้าแดนไทย ทำให้ประเทศไทยในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีที่ชูคำขวัญ "แปรสนามรบเป็นตลาดการค้า" แสดงบทบาทการไกล่เกลี่ยให้เขมรสี่ฝ่ายปรองดอง ซึ่งชาติชายบอกว่า "ต้องการให้ภูมิภาคร่มเย็นสงบ ไม่หวังที่จะได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพตอบแทน" ในที่สุด มีการทำข้อตกลงการหยุดยิงกันได้ที่กรุงเทพฯเมื่อเดือนมิถุนายน 1991 ในสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นกองกำลังนานาชาติปกครองเขมรชั่วคราว จัดการเลือกตั้งและกำเนิดกัมพูชาใหม่ ตอนนั้นนอกจากร้านค้าเปิดใหม่แล้ว เด็กทารกเพศชายเกิดใหม่หลายคนก็ได้รับการตั้งชื่อว่า 'สันติภาพ' ด้วย
อดีตสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงปักกิ่งที่รัฐบาลจีนจัดถวายเป็นที่พำนักจนวาระสุดท้ายของพระองค์
นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยได้กล่าวหาสีหนุว่าทำให้ประวัติศาสตร์ยุ่งเหยิง นับแต่นี้ไป สิ่งที่สื่อนานาชาติกำลังจับตามองการท้าทายของนายกรัฐมนตรีฮุนเซนที่มีต่อกษัตริย์สีหโมนี พระโอรสที่เป็นนักระบำเท้าไฟมาก่อนขึ้นครองราชย์ต่อจากสีหนุเมื่อแปดปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จสีหโมนีมีอุปนิสัยสุภาพถ่อมคน ต่างจากพี่น้องต่างมารดาอีกสองคน คือเจ้าชายรณฤทธิ์ และเจ้าชายจักรพงษ์ ซึ่งมีลักษณะ 'เพลย์บอย' เหมือนพระราชบิดาที่ท้าทายอำนาจฮุนเซน เจ้าชายทั้งสององค์พยายามทำการกบฏแต่ไม่สำเร็จ จนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ซ้ำยังทำให้ประเทศไทยโดนกล่าวหาอยู่เบื้องหลังรัฐประหารฮุนเซนอีกด้วย
เกี่ยวกับผู้เขียน สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการข่าวต่างประเทศมานานกว่าสามทศวรรษ ปัจจุบันเป็นผู้สื่อข่าวอิสระ
ขอบคุณภาพจาก สำนักข่าวประเทศจีน, AP, KI-Media และภาพจาก social network อื่นๆที่ไม่สามารถระบุแหล่งที่