การวิจารณ์ (criticism) เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่เราใช้เพื่อแสดงความเห็นของเราต่อบุคคลหรือเรื่องต่าง ๆ และแม้การวิจารณ์จะมีหลายประเภท คนส่วนใหญ่ก็มักแบ่งกว้าง ๆ เป็นการวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ซึ่งให้ข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์ต่อผู้ถูกวิจารณ์ (constructive criticism) กับการวิจารณ์เชิงทำลาย (destructive criticism) ซึ่งมุ่งทำลาย “เป้าหมาย” ของการวิจารณ์
โดยปกติ สื่อสารมวลชนซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำของรัฐบาลจะใช้ท่าที “วิจารณ์” รัฐบาลมากกว่าด่า แช่งด่า หรือสบถ (cursing, cussing, swearing) ด้วยคำหยาบหรือด้วยภาษาที่สังคมกำหนดว่าเป็นภาษาไม่สุภาพ (indecent language/coarse language/profanity)
แต่ยุคปัจจุบัน เรามีสื่อที่พร้อมใช้คำด่า คำหยาบ คำสบถกับรัฐบาลมากขึ้น
ผู้คนในสังคมอเมริกันบ่นเรื่องการใช้คำด่า คำหยาบ คำสบถผ่านสื่อมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะช่วงที่นายโดนัลด์ ทรัมป์จอมสบถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าคำด่า คำหยาบ คำสบถได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคออนไลน์ สังคมไทยเองก็เหมือนจะขับเคลื่อนด้วยการด่ามาแล้วพักใหญ่ เพียงแต่ก่อนหน้านี้การด่ารัวๆ ออกอากาศคล้ายเป็นเรื่องของคนทั่วไปที่แสดงออกผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น ยูทูป หรือติ๊กต็อก ฯลฯ ซึ่งมีทั้งด่าใครต่อใครที่ทำให้คนด่ารู้สึกโกรธบ้าง ด่าผู้มีอำนาจมากกว่าบ้าง รวมถึงด่ารัฐบาล
ผู้ที่เรียกตัวเองว่าคนทำสื่อหรือนักสื่อสารมวลชนของไทยที่ประกาศตัวเป็นฝ่ายสนับสนุนเครือข่ายอีลีทเผด็จการเคยแสดงบทบาท “นักด่า” อยู่เหมือนกันในยุคที่พวกเครือข่ายอีลีทเผด็จการชักนำมวลชนให้ขับไล่รัฐบาลคุณทักษิณและรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง โดยเวลานั้น คนจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะจากฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า “สนับสนุนประชาธิปไตย” ประณามสื่อนักด่าว่าหยาบคาย ไร้จริยธรรม แต่คำประณามไม่ส่งผลกระทบอะไรถึงสื่อนักด่ากลุ่มนั้น
เวลานี้ ความอึดอัดคับข้องใจของผู้คนจำนวนมากที่มีต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งผลให้คนทำสื่อกลับมาแสดงบทบาท “นักด่า” อีกรอบ เพียงแต่คราวนี้นักด่าตัวแม่ตัวพ่อเป็นคนทำสื่อฝ่าย “สนับสนุนประชาธิปไตย” ลุกขึ้นด่ารัฐบาลของเครือข่ายอีลีทเผด็จการรวมถึงด่า “สลิ่ม” ผู้สนับสนุนเครือข่ายอีลีทเผด็จการ
เรามีพิธีกรรายการโทรทัศน์ชื่อคุณหมิว สิริลภัส ถูกปลดจากหน้าที่ด้วยข้อหาว่าเขียนคำหยาบด่ารัฐบาล แม้เธอจะเขียนในพื้นที่ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ของสถานีโทรทัศน์ (แต่สถานีโทรทัศน์อ้างว่าเธอเป็นบุคคลสาธารณะ) นอกจากนั้น ยังมีคุณแขก คำผกา แห่งวอยซ์ทีวี ซึ่งด่ารัวๆ จนได้ชื่อว่า “เครื่องจักรด่าตัวแม่”
นักสื่อสารมวลชนใช้คำด่า คำหยาบ คำสบถในนามของนักสื่อสารมวลชนได้หรือไม่? ประเด็นนี้น่าสนใจ และต่อไปนี้คือความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ซึ่งไม่ใช่บทความวิชาการ แต่จะอ้างถึงหลักการทำสื่อและหลักจิตวิทยาบ้างเล็กน้อย
ถ้าพิจารณาจากหลักพื้นฐานของการทำข่าว 10 ข้อที่นักข่าว/นักเขียนชาวอเมริกัน 2 คนคือ บิล โคแวช (Bill Kovach) และทอม โรเซนสตีล (Tom Rosenstiel) เคยเขียนไว้ในหนังสือ “The Elements of Journalism” ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 (แต่ยังเป็นหลักการพื้นฐานที่คนทำสื่อจำนวนมากยึดถือ) เช่น รับผิดชอบต่อความจริง ซื่อสัตย์ต่อประชาชน มีวินัยในการตรวจสอบและยืนยันความจริง รักษาไว้ซึ่งความเป็นอิสระจากแหล่งข่าว ตรวจตราเฝ้าระวังติดตามผู้มีอำนาจในสังคม สร้างเวทีสาธารณะเพื่อการวิพากษ์วิจารณ์และการหาทางออก เสนอข่าวสารที่น่าสนใจและมีความสมเหตุสมผล ฯลฯ
หลักการดังกล่าว ไม่ได้ระบุว่านักข่าวหรือคนทำสื่อต้องเป็นผู้ดีมีมารยาท ห้ามใช้คำหยาบ คำด่า หรือคำสบถในงานข่าว (เราอาจบอกว่าสื่อที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนควรรับฟังถ้าประชาชนบางกลุ่มบอกว่าไม่ต้องการคำด่า คำหยาบหรือคำสบถจากสื่อ แต่เรื่องนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องถกเถียง ไม่ว่าจะเป็นที่มาของคำด่า คำหยาบ คำสบถ จนถึงคำถามว่าทำไมจึงต้องห้าม ไม่ดีจริงหรือไม่ และเสรีภาพในการพูด เป็นต้น)
ถ้าพิจารณาหลักการทำงานของสื่อเลือกข้าง (ทางการเมืองหรือประกาศสนับสนุนแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งเช่นประกาศตัวเป็นสื่อเพื่อบุคคลข้ามเพศ) ที่เรียกกันว่า advocacy journalism ก็เช่นกัน ใจกลางของความสำคัญมีเพียงการประกาศจุดยืนชัดเจนไม่หลอกลวงผู้บริโภค (เช่น สนับสนุนเผด็จการก็ไม่แกล้งทำเนียนว่าสนับสนุนประชาธิปไตย) หรือตระหนักเสมอว่ากำลังทำ “สื่อ” ไม่ใช่ทำ “โฆษณาชวนเชื่อ” นั่นคือ ต้องไม่เสนอข้อมูลผิดพลาดคลาดเคลื่อน (misinformation) ไม่บิดเบือนข้อมูลเป็นเท็จ (disinformation) ไม่เสนอข้อมูลจริงครึ่งหนึ่งเท็จครึ่งหนึ่งเพื่อประโยชน์ของตัวเอง และต้องเที่ยงธรรมรอบคอบรอบด้าน
ไม่มีหลักการข้อใดระบุว่านักข่าวหรือคนทำสื่อต้องเป็นผู้ดีมีมารยาท ห้ามใช้คำหยาบ คำด่า หรือคำสบถ
ถ้าตีความว่า การรับผิดชอบต่อความจริง การมีความเที่ยงธรรม รอบคอบรอบด้าน หมายถึงไม่บิดเบือนใส่ร้าย เราอาจเห็นว่าการด่าของสื่อในลักษณะจงใจบิดเบือนใส่ร้าย หรือจงใจยั่วยุคนคิดต่างกันให้ยิ่งเกลียดกันจนถึงขั้นพร้อมยกพวกทำร้ายกันหรือฆ่ากัน หรือจงใจเสียดสีเยาะเย้ยบุคคล ด่าประจานบุคคล ฯลฯ ต่างจากการด่าด้วยความโกรธผู้มีอำนาจในสังคม เช่นด่าเผด็จการ หรือด่ากลุ่ม “สลิ่ม” ผู้สนับสนุนเผด็จการที่คอยหาเรื่องประชาชนซ้ำซาก
บางครั้ง คำหยาบ คำด่า คำสบถ อาจเป็นการบิดเบือนใส่ร้าย แต่ในยุคที่ทุกคนมีเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก บ่อยครั้งคำหยาบ คำด่า คำสบถไม่ใช่การบิดเบือนใส่ร้าย หากเป็นเพียงการแสดงความในใจของผู้ด่าหรือระบายอารมณ์อึดอัดท่วมท้นของผู้ด่าที่มีต่อพฤติกรรมของผู้ถูกด่าซึ่งเห็นได้ชัดว่าสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของส่วนรวม แต่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจใดจะต่อสู้กับผู้มีอำนาจ นอกจากส่งเสียงด่า
งานศึกษาของนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงหลายราย (เช่น ดอกเตอร์ Timothy Jay จากวิทยาลัยศิลปศาสตร์แมสซาชูเซตต์หรือ MCLA และดอกเตอร์ Benjamin Bergen จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แซนดีเอโก) ชี้ชัดว่า คำด่า คำหยาบ คำสบถ ช่วยลดความรู้สึกเจ็บปวดทั้งทางกายและทางใจของผู้ด่า ซึ่งทำให้ผู้ด่ามีความสุขขึ้นเกือบจะในทันทีที่ส่งเสียงด่า
นักจิตวิทยาหลายคนเห็นพ้องกันว่า คำด่า คำหยาบ คำสบถ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ การไม่พยายามทำความเข้าใจคำด่า คำหยาบ คำสบถอาจหมายถึงไม่เข้าใจความเป็นมนุษย์กันเลยทีเดียว นอกจากนั้น คำด่า คำหยาบ คำสบถ ซึ่งเป็น “คำต้องห้าม” ต่างๆ ยังกระตุ้นให้เรากล้าข้ามพรมแดนลึกลับของสังคมซึ่งไม่ควรเป็นเรื่องลึกลับ (ข้อห้ามเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาความรู้ การห้ามพูดถึงทำให้ไม่กล้าศึกษา) แม้ในอีกด้านหนึ่งจะเป็นเครื่องมือทำลายล้าง เพราะคำด่า คำหยาบ คำสบถ ล้วนเป็นคำที่แสดงนัยแห่งการต่อต้าน โจมตี ทำร้าย และทำให้คนที่เราด่า “เสื่อมเสีย”
คำด่า คำหยาบ คำสบถ เป็นส่วนหนึ่งของ “ภาษา” จึงมีพัฒนาการเช่นเดียวกับภาษา กาลเวลาที่ผ่านไป อาจทำให้คำเคยหยาบบางคำกลายเป็นคำไม่หยาบ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในสังคมไทย เช่น คำว่า “ไอ้สัส” ของตลกผู้ล่วงลับ “น้าค่อม” ซึ่งให้ความรู้สึกขบขัน ขณะที่คำว่า “นะจ๊ะ” ของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้คนฟังหลายคนรังเกียจ คำบางคำอาจทำให้คนในบางสังคมฟังแล้วโกรธแต่บางสังคมไม่โกรธ คำบางคำอาจทำให้บางคนในสังคมเดียวกันโกรธแต่บางคนไม่โกรธ และบางครั้งคนถูกด่าอาจไม่รู้สึกอะไรกับคำด่า เพราะให้ค่าบางเรื่องแตกต่างกัน รวมถึงอาจเห็นว่าคนด่าไม่มีอำนาจเหนือเธอ/เขา
ด้านหนึ่ง คำด่า คำหยาบ คำสบถจึงคล้ายเป็นเครื่องมือเยียวยาจิตใจของผู้ด่า มากกว่าจะเป็นเครื่องมือทำลายผู้ถูกด่า
ที่น่าสนใจคือแต่เดิมมาเรามักคิดว่า ผู้ชอบใช้คำด่า คำหยาบ คำสบถ อาจเพราะไม่ฉลาดพอจะหาถ้อยคำมาอธิบายเรื่องราวอย่างมีเหตุผล แต่นักจิตวิทยาค้นพบจากงานศึกษาหลายชิ้นว่าผู้มีคลังคำในสมองมากมักด่า สบถและใช้คำหยาบได้ดีกว่า หรือพูดง่าย ๆ ว่าเมื่อมีความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาจึงคิดคำด่าได้รัวๆ ไม่ซ้ำ
นักจิตวิทยาจำนวนมากเชื่อว่าโดยปกติเด็กจะเริ่มสบถ ด่า หรือพูดคำหยาบตั้งแต่อายุ 2 ขวบ และสบถ ด่า หรือพูดคำหยาบได้เหมือนผู้ใหญ่เมื่ออายุประมาณ 11-12 ขวบ โดยการลงโทษเด็กเมื่อด่า สบถ หรือพูดคำหยาบจะยิ่งทำให้เด็กประทับใจคำด่า คำหยาบ คำสบถและใช้บ่อยขึ้น นอกจากนั้น เด็กเล็กวัยอนุบาลหรือประถมต้นยังมักชอบใช้คำ “ต้องห้าม” เช่น “ขี้” แล้วหัวเราะชอบใจ เส้นแบ่งระหว่างคำด่า คำหยาบ คำสบถที่ทำให้รู้สึกขบขัน กับที่ทำให้รู้สึกโกรธเกลียดเคียดแค้นหรือเยาะเย้ย และอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับคำด่า คำหยาบ คำสบถ เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ซึ่งเรายังไม่เข้าใจกลไกการทำงานของมันอย่างชัดเจนนัก
เคยมีงานศึกษาของมหาวิทยาลัยคีล (Keele University) ในประเทศอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 2009 ว่าการสบถซ้ำ ๆ ขณะจุ่มมือลงไปในน้ำเย็นจัด ทำให้ผู้เอ่ยคำสบถทนต่อความเย็นจัดได้มากกว่าผู้ที่ไม่เอ่ยคำสบถ เราแต่ละคนอาจสบถโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ และบางครั้ง คำสบถอาจเป็นเพียงปฏิกิริยาของอารมณ์บางอย่าง ซึ่งไม่ได้แสดงนัยตรงไปตรงมาตามความหมายของคำสบถ ซึ่งเราอาจเข้าใจถ้าคิดถึงคำสบถติดปากของคนใต้ในประเทศไทยว่า “เหยดแหม”
หลายคนต่อต้านคำด่า คำหยาบ คำสบถเพราะเชื่อว่าคำประเภทนี้ทำให้สังคมเสื่อม แต่เคยมีงานศึกษาว่าคำด่า คำหยาบ คำสบถ ซึ่งไม่ได้ใช้ยั่วยุในลักษณะสร้างความเกลียดชังอย่างรุนแรงจนถึงขั้นต้องใช้กำลังทำลายล้าง (hate speech) ไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางลบต่อสังคม แต่อาจส่งผลให้คำหลายคำที่สังคมเคยบอกว่าเป็นคำด่า คำหยาบ คำสบถ กลายเป็นคำธรรมดาที่ไม่หยาบ และเมื่อคำหยาบกลายเป็นคำไม่หยาบ มนต์ขลังของคำด่า คำหยาบ คำสบถที่เคยช่วยบรรเทาความเจ็บปวดของเราจึงอาจลดลง
ย้อนกลับมาในกรณีของสื่อสารมวลชน เราอาจใช้คำพูดแบบเดียวกับพอล แชดวิค (Paul Chadwick) อดีตบรรณาธิการในเครือหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน (The Guardian) ที่เคยเขียนไว้ในบทความ “Swearing has its place in journalism” เมื่อประมาณ 2 ปีก่อนว่าคำด่า คำหยาบ คำสบถ มีที่ทางของมันในสื่อ ถ้าไม่ใช้พร่ำเพรื่อและใช้อย่างมีทักษะ การด่าปาว ๆ เลียนแบบกันอย่างผิวเผิน จึงอาจต้องเพิ่มความใส่ใจเรื่องกาละเทศะตลอดจนข้อมูลที่นำมาด่าว่าไม่ใช่การใส่ร้ายบิดเบือน และไม่ใช่จิกหัวด่ากราดไปเรื่อยซึ่งง่ายจนไม่ควรต้องถึงมือคนทำสื่ออาชีพ
ในห้วงเวลาที่สังคมทั่วโลกเหมือนจะขับเคลื่อนด้วยการด่า เพราะผู้คนต่างเครียดกับปัญหารุมเร้าและเหมือนไม่มีทางออกอื่นนอกจากด่า เราอาจต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ฟุ่มเฟือยคำด่า คำหยาบ คำสบถอีกสักพักและรอดูว่าคำด่า คำหยาบ คำสบถจะมีพัฒนาการอย่างไรต่อไปโดยเฉพาะในวงการสื่อสารมวลชน
