Skip to main content

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ของสื่อมวลชนในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก

ในอดีต สื่อเหมือนเป็นฐานันดรที่ 4 ที่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ และมีหน้าที่กลั่นกรองข้อมูลเพื่อนำมาเสนอต่อประชาชนอีกทอดหนึ่งโดยไม่ถูกเซนเซอร์ปิดกั้นจากผู้มีอำนาจ  

ประชาชนเองก็รับรองอำนาจการทำหน้าที่ดังกล่าว เพื่อให้สื่อได้รายงานข่าวสารได้อย่างมีคุณภาพที่สุดเพื่อที่ประชาชนจะใช้ในการตัดสินใจในชีวิตตัวเอง และสังคมของพวกเขา  

เป็นความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน กับสื่อที่เป็นผู้ให้บริการข่าวสาร

ส่วนการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารที่ว่านั้น ก็คือตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ไปเข้าถึง-ค้นคว้ามาให้รอบด้าน ปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้อง ก่อนนำเสนอ  

เปรียบเหมือนการทำอาหาร สื่อก็เป็นเสมือนพ่อครัว ที่นำวัตถุดิบต่างๆ มาปรุงเป็นอาหารให้เหมาะสม  

แต่คำว่า ‘เหมาะสม’ ก็ขึ้นกับแต่ละคนจะนิยาม ดังจะเห็นได้ว่า ข่าวของแต่ละสำนัก ภายใต้ชุดข้อเท็จจริงเดียวกัน แต่เวลารายงานออกมาก็มีหลากมุมมอง แต่ละจุดยืนย่อมนำเสนอออกมาไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

ถือเป็นเรื่องรสนิยม เป็นเรื่องประสบการณ์ อันเป็นปัจจัยหนึ่งในการกำหนดมุมมองการนำเสนอ  

ไม่เช่นนั้นก็คงไม่จำเป็นต้องต้องมีสื่อหลายสำนัก หลายหัวหนังสือพิมพ์ หรือหลายช่องโทรทัศน์

อย่างไรก็ตาม การนำเสนอก็ต้องอยู่บนหลักของข้อเท็จจริงที่มี อาทิ ถ้ามีปลาเป็นตัวหลัก บางสำนักอาจหาน้ำมัน เกลือ ซีอิ้ว ขึ้นฉ่าย และปรุงออกมาเป็นเมนูปลาหลากหลาย

แต่ไม่สามารถทำเมนูที่ไม่มีวัตถุดิบ อาทิ เนื้อย่าง หมูย่าง ได้อย่างเด็ดขาด เพราะไม่สามารถอุปโลกน์สิ่งที่ไม่มี ไม่ได้เกิดขึ้น ให้มีขึ้นมาได้  

นั่นก็คือกรอบการทำงานของสื่อแบบกว้าง ๆ ตามที่เปรียบเทียบ

ส่วนบทบาทของสื่อในปัจจุบันภายใต้โลกออนไลน์ที่มีการไหลบ่าทะลักของข้อมูล ผู้คนสามารถเข้าถึงข่าวสาร และสื่อสารสู่สาธารณะได้เอง

เมื่อบริบทของการสื่อสารเปลี่ยนไป สถานะของสื่อก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย  

สื่อไม่ได้เป็นฐานันดรที่ 4 ที่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลมากกว่าคนอื่นอีกแล้ว เกิดปรากฎการณ์ของโลกออนไลน์ ที่แต่ละคนก็มีข้อมูลแต่ละชุด แต่ละมุม มานำมาเสนอ

ถึงกระนั้นการทำงานของสื่อก็ยังมีบทบาทสำคัญด้วยการปรับตัวเองจากผู้รายงานสถานการณ์ เป็นผู้ที่ยืนยันข้อมูลข่าวสาร  

สถาปนาความน่าเชื่อถือด้วยประสบการณ์ที่เคยทำหน้าที่ค้นคว้า รวบรวม พิสูจน์ข้อเท็จจริง และที่สำคัญคือ หน้าที่ที่เป็นผู้รับใช้ในการจัดหาข้อมูลข่าวสารให้ประชาชน  ซึ่งได้ทำแบบนี้มาอย่างยาวนาน

ไม่ว่าโลกจะเคลื่อนไหวรวดเร็วอย่างไร ความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารที่พยายามรายงานอย่างตรงไปตรงมาก็ยังสำคัญที่สุดเสมอ

ที่สำคัญที่สุด โอกาสที่จะอำนวยทำให้เดินไปถึงตรงนั้นได้ใกล้เคียงที่สุดก็คือ ต้องอยู่ภายใต้บรรยากาศของเสรีภาพ ซึ่งก็มีอยู่ในระบอบประชาธิปไตย  

เหมือนที่เคยมีคำพูดกันว่า เสรีภาพสื่อ คือตัวชี้วัด/สะท้อนความมีเสรีภาพประชาชน  

เพราะหากสื่อไม่มีเสรีภาพที่จะตรวจสอบและตั้งคำถาม ย่อมแสดงว่า ประชาชนในประเทศนั้น ๆ ย่อมไร้เสรีภาพไปด้วย

หลักการประชาธิปไตยจึงเป็นหลักการเดียวที่จะการันตีเสรีภาพเหล่านี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยึดโยงเอาไว้ให้มั่น

แน่นอนว่าในสังคมอาจมีความคิดที่แตกต่าง อาจมีฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา สื่อก็เช่นกันอาจมีมุมมองที่แตกต่างกันได้  

แต่ทั้งหมดต้องอยู่บนเส้นความเป็นประชาธิปไตย   

ไม่ใช่ไปสาละวนลังเล-เลือกข้างว่า จะฝ่าออกมาจากระบอบเผด็จการอำนาจนิยมไหม  

หากเป็นเช่นนั้น บทบาทของคนที่อ้างตัวเป็นสื่อ ก็ไม่แตกต่างอะไรกับกระบอกเสียงของผู้มีอำนาจเผด็จการนั้นๆ

ในสถานการณ์ปัจจุบันเช่นนี้ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นภาวะปกติ ระบอบประชาธิปไตยในประเทศยังไม่สามารถเบ่งบานได้เต็มที่ สื่อเองก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ถูกจับตาว่าจะรับใช้ประชาชนในการช่วยพัฒนาประชาธิปไตยได้มากน้อยเพียงใด

เพราะแม้สื่อจะมีฐานะเป็นบริษัทเอกชน หรือลูกจ้างของรัฐ ที่ต้องคิดเรื่องกำไร-ขาดทุน เป็นสำคัญ แต่ในฐานะสื่อมวลชน หน้าที่และภารกิจที่ต้องรับใช้สิทธิที่จะรู้ของประชาชน ก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้  

ดังนั้นจึงเป็นงานที่จำเป็นจะต้องสร้างความพอดีของทั้งสองอย่างให้อยู่รอดไปด้วยกันได้

นั่นก็คือประคองธุรกิจให้อยู่รอดปลอดภัย และยังสามารถทำหน้าที่เป็นปากเสียงของประชาชน โดยไม่ถูกปิดสื่อ หรือขาดทุนจนไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้

พูดแบบนี้อาจจะถูกมองว่าพยายามทำตัวให้อยู่เป็น ก็ต้องยอมรับในเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่มาโอดครวญหรือแก้ตัว   

อย่างไรก็ตามท่ามกลางการเรียกร้องให้สื่อทำหน้าที่ ก็ต้องพิจารณาอย่างเป็นธรรมด้วยว่า การทำหน้าที่ต่างๆ ก็มีเรื่องของกฎหมายกำหนด  

การต่อสู้กับเผด็จการ เป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องมีรูปแบบหลากหลาย ใช้ทั้งข้อมูลข้อเท็จจริง การประชดประชัน ทำให้กลายเป็นเรื่องตลก ทั้งหมดเป็นศิลปะของสื่อที่จะต้องจัดวางอย่างเหมาะสม  

แน่นอนว่า อาจไม่ตรงตามใจที่ต้องการนัก แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ในอนาคตอาจมีสื่อที่สามารถทำได้อย่างจริงจัง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก ไม่มีใครผูกขาดเป็นเจ้าของสื่อโดยผู้เดียว ก็อาจจะเป็นความหวังในการทำหน้าที่ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่

สุดท้ายแล้วก็ต้องยืนยันว่า คนที่มาทำหน้าที่สื่อทุกคน ด้วยอาชีพที่หากทำงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่เครื่องมือนายทุนหรือเผด็จการ เงินตอบแทนเพื่อยังชีพก็เป็นไปอย่างจำกัด ใครที่เข้ามาทำงานนี้ย่อมต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมควบคู่กันไปด้วย และคงไม่ได้หวังผลทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว  

ก็ได้แต่หวังว่าสื่อในปัจจุบันและผู้ที่จะมาเป็นสื่อในอนาคตจะสามารถสร้างสรรค์โลกแห่งประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดขึ้นได้ในเร็ววัน

เกี่ยวกับผู้เขียน : นักข่าวการเมืองของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งมายาวนานตั้งแต่ฝึกงานจนเรียนจบ ปัจจุบันเป็นหัวหน้าข่าวหน้า 1 ที่เดิม  
เสรีภาพสื่อ ต้องรับใช้ประชาธิปไตย