Skip to main content

ผมไม่ได้เป็นสื่อจากคนจบสื่อสารมวลชน แต่เรียนรัฐศาสตร์ และเป็นนักเคลื่อนไหวพร้อมกับทำงานประจำ ผมเห็นการแบ่งของสื่อตั้งแต่การเมืองไทยปี 2548 และเริ่มต้นวิกฤตการเมืองไทยหลังการรัฐประหารปี 2549 เห็นการแบ่งข้างผ่านสื่อที่เสพอย่างสื่อสิ่งพิมพ์ ที่ผมอ่านตอนนั้นคือ เนชั่น และ มติชน

จุดเปลี่ยนทางความคิดปี 2549 ก็ส่งผลทำให้มองสื่อที่แสดงตัวออกมาในฐานะเครื่องมือทางการเมือง ผมตกผลึกทางความคิดหลังเหตุการณ์รุนแรงปี 2553 ทำให้โดดมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ช่วงเรียนปริญญาโท รัฐศาสตร์ก็มาแอ็กชั่น ซึ่งเห็นได้ว่า สื่อที่มาทำข่าวกิจกรรมของเรา สื่อไหนเล่นหรือไม่เล่นข่าว หรือเสนอแบบบิดเบือนเพื่อเป้าหมายทางการเมือง หรือตีแผ่ความจริงที่ไม่ค่อยเห็นในสังคมไทย

ความรู้สึกที่เมื่อเรื่องที่เราทำ ได้ออกเป็นข่าว เราก็ดีใจ และก็มีไม่พอใจหากสื่อบางแห่งบิดเบือนโจมตีเรา

จนกระทั่งวันหนึ่งที่ตัวเองเป็นสื่อมวลชน โดยเฉพาะประเด็นการเมืองไทย รวบรัดที่สุดอย่างกรณีการนำเสนอข่าวการชุมนุมในธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่เพิ่งผ่านมา 

พูดในฐานะที่เป็นคนเคยถูกหล่อหลอมความคิดจากนักวิชาการอย่าง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ธงชัย วินิจจะกูล เรื่องสถาบันกษัตริย์หรือความเป็นชาติในเชิงวิพากษ์ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้แปลกใหม่ในตอนนี้ มันเคยถูกพูดถึงก่อนเงียบไปในยุค คสช. หรือก่อนหน้าปี 49 เป็นตัวเองเช่นกันที่อ่านงานของเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประมวล รุจนเสรี หรือนักวิชาการฝ่ายเสื้อเหลืองหลายคน 

ในฐานะคนเรียนรัฐศาสตร์ สภาวะการเมืองไทยที่อยู่ในห้วงวิกฤตกว่าสิบปี คือปรากฎการณ์ที่อำนาจทางการเมืองบนฐานของอุดมการณ์เชิงศีลธรรมกำลังถูกท้าทายกับความจริงเนื้อแท้ภายในของตัวเอง และอำนาจนี้ดูเหมือนไม่ยอมรับความจริงและดิ้นรนอย่างหนักเพื่อไม่ให้ใครเห็น ได้ยินหรือพูดถึง การปิดปากสื่อกับเรื่องอ่อนไหวก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะสภาวะการเมืองไทยเป็นแบบนี้

 


ภาพ: มติชน

 

จึงไม่แปลกใจคำพูดพี่แยม (ฐปนีย์ เอียดศรีชัย) ที่พูดว่าเรื่องการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เป็นสิ่งใหม่จนน่าตกใจ ในขณะที่ผมเฉยๆ ด้วยซ้ำ ยิ่งนานวันจนถึงตอนนี้ก็เข้าใจกับความกระอักกระอ่วนใจของสื่อภายใต้วัฒนธรรมการเมืองไทยแบบอำนาจนิยมที่ฟังแต่เสียงที่ตัวเองเชื่อมั่นแล้วก้องในหัวตัวเอง แถมพิการเสียสำนึกอีก

สิ่งหนึ่งที่คนทำสื่อต้องการที่สุด คือสามารถทำงานบนหลักจรรยาบรรณสื่อโดยปราศจากความกลัวจะตกงานหรือถูกคุกคาม แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากสังคมไทยที่เป็นอยู่ยังมีวัฒนธรรมการเมืองแบบอำนาจนิยม และมองสื่อเป็นเพียงเครื่องมือไว้ควบคุมความคิดคน ใช้ปกป้องตัวเองและทำลายศัตรูทั้งที่เป็นต่างชาติและเพื่อนร่วมชาติ?

คุณจะต้องการให้สื่อทำงานอย่างเต็มที่ได้ยังไง ถ้าองคาพยพใดในสังคมยังต้องการควบคุมคุณในการนำเสนอข่าว?

ถ้าสังคมไม่มีฉันทามติกับพื้นที่สื่อว่าสามารถนำเสนอได้ทุกเรื่อง ซึ่งก็ยากนักกับกลุ่มก้อนสังคมที่คลั่งอำนาจ คลั่งศีลธรรมจนปฏิเสธความจริงและข้อเท็จจริงที่ถูกนำเสนอ

มันเป็นไปได้หรือที่จะเรียกร้องความเป็นอิสระในการทำข่าวท่ามกลางการเมืองแบบอำนาจนิยมความคิดคับแคบพร้อมใช้อำนาจข่มขู่ได้ทุกเมื่อ ถ้าเราต้องการให้สื่อมีความเป็นมืออาชีพ พื้นที่สำหรับความเป็นมืออาชีพของเรามีแล้วรึยัง?

เกี่ยวกับผู้เขียน: นักกิจกรรมทางการเมืองผู้ผันตัวเองเป็นสื่อ เคยผ่านงานข่าวทีวีก่อนอยู่สื่อออนไลน์ยาวๆ ปัจจุบันเป็นนักข่าวและคอลัมนิสต์สังกัดหนึ่งแถววิภาวดี ใช้เวลาสลับอยู่เบื้องหลังกับภาคสนาม สนใจข่าวสิทธิมนุษยชน การเมืองบนโลกออนไลน์ทั้งไทยและต่างประเทศ
สื่อสะท้อน-อำนาจ กับความเป็นมืออาชีพ?