Skip to main content

สงสัยว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีอาจจะจำเป็นต้องหาที่ปรึกษาทางด้านยุทธศาสตร์การสื่อสารเสียใหม่ เพราะความคิดในการเดินสายพบปะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ใหญ่เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นสิ่งที่บอกให้โลกรู้ว่า นักการเมืองอดีตนายทหารคนนี้ตกยุคไปถึง 20 ปีเลยทีเดียว นักหนังสือพิมพ์ที่พลเอกประยุทธ์พบปะเพื่อกระชับมิตรและให้ช่วยโฆษณาผลงานรัฐบาลนั้น ไม่ใช่ผู้นำทางความคิดในสังคมไทยอีกต่อไปและในความเป็นจริงพวกเขาจำนวนหนึ่งก็ทำตัวเป็นหางเครื่องให้รัฐบาลของชนชั้นนำชุดนี้มาตั้งนานแล้วแต่คะแนนนิยมของประยุทธ์ก็ตกต่ำตลอดซึ่งก็พอๆกับความน่าเชื่อถือของสื่อกระแสหลักที่ตกต่ำลงมากเช่นกัน

 


ภาพจาก https://web.facebook.com/prayutofficial/

 

การสื่อสารในยุคปัจจุบันถูกครอบงำและชี้นำโดยสื่อใหม่และโซเชียลมีเดียมาเป็นเวลาถึง 2 ทศวรรษแล้วนับแต่ขึ้นศตวรรษใหม่ รายงานของ Digital 2020: Thailand (https://datareportal.com/reports/digital-2020-thailand) ระบุว่าในจำนวนประชากรเกือบ 70 ล้านคนของไทยในปัจจุบัน 75 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 52 ล้านคนใช้อินเทอร์เน็ตและในจำนวนเท่ากันนี้มีบัญชีโซเชียลมีเดีย (แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตเล่นโซเชียลมีเดีย เพราะบางคนอาจจะไม่มีแต่บางคนอาจจะมีหลายบัญชี) ปี 2563 อัตราการเติบโตของการใช้สื่อทางสังคมทุกแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 4.7 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กมีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งราวๆ 47 ล้านบัญชีในปีนี้ ไลน์ประมาณ 40 ล้าน อินสตาแกรม 12 ล้าน ทวิตเตอร์ 6.5 ล้านบัญชี (ข้อมูลบางแหล่งบอกว่ามากถึง 11-12 ล้านแล้วในปัจจุบัน) ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในประเทศไทยส่วนใหญ่มีอายุ 18-44 ปี โดยกลุ่มอายุ 18-24 ปีมีประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ 25-34 ปีประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ 35-44 ปีมีประมาณ 8.5 เปอร์เซ็นต์ คนไทยอยู่กับอินเทอร์เน็ตวันละกว่า 9 ชั่วโมงและในจำนวนนั้นอยู่กับโซเชียลมีเดียมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน

จำนวนผู้ใช้สื่อใหม่ท่วมสื่อเก่าไปหลายช่วงตัวแล้ว หนังสือพิมพ์รายวันที่ยอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศไทยคือไทยรัฐทำได้แค่ 800,000 ฉบับต่อวัน ทีวีที่เรตติ้งดีที่สุดในประเทศไทยคือช่อง 7 อยู่ที่ 1.8 (คือมีคนดูประมาณ 1 ล้านเศษๆ) ทั้งสองสื่อรวมกันเป็นแค่เสี้ยวเดียวของเพจอีจันซึ่งมีคนติดตามเกือบ 9 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว

 


ภาพจากมติชน

 

สื่อใหม่โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียเป็นที่นิยมไม่ใช่เพราะมันใหม่หรือทันสมัยอย่างเดียว แต่ที่สำคัญคือ สื่อใหม่สามารถให้ในสิ่งที่สื่อเก่าให้ไม่ได้อีกต่อไปแล้วนั่นคือ พื้นที่สาธารณะ (public sphere) ในความหมายที่ เยอร์เก้น ฮาเบอร์มาส นักทฤษฎีชาวเยอรมันจากสำนักแฟรงก์เฟิร์ต ได้ว่าเอาไว้ กล่าวคือ เป็นพื้นที่ซึ่งผู้คนสามารถพูดคุยถกเถียงเรื่องต่างๆ ที่เป็นประเด็นสาธารณะได้โดยเสรีปราศจากการแทรกแซงของรัฐและทุน อันที่จริงพื้นที่ดังกล่าวในความหมายที่ฮาเบอร์มาสเสนอก็ดูเป็นอะไรที่อุดมคติหรือยูโทเปียมาก แม้แต่ตอนที่เขาเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาโดยพิจารณาจากสื่อสิ่งพิมพ์ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 หนังสือพิมพ์ในยุโรปอาจจะไม่โดนรัฐแทรกแซงมากนักและก็หนีไม่พ้นการครอบงำจากนายทุนซึ่งเป็นเจ้าของสื่อผู้ซึ่งก็มีแนวโน้มจะประนีประนอมกับรัฐมากอยู่แล้วเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ

สื่อทางสังคมในทุกแอป ทุกแพลตฟอร์ม ไม่ได้อยู่ในขนบของสื่อกระแสหลัก แต่เป็นสื่อที่เอาอัตตาเป็นศูนย์กลาง (egocentric) กล่าวคือมันอนุญาตให้ผู้ใช้แสดงออกหรือเบี่ยงเบนตัวตนที่แท้จริง พูดความจริงหรือโกหกพกลมได้ทุกเรื่อง ใครๆ ก็สามารถใช้สื่อชนิดนี้เพื่อพูดเรื่องอะไรก็ได้ ตั้งแต่อาหาร การกิน สัตว์เลี้ยง ที่พักอาศัย เสื้อผ้า แฟชั่น ยวดยานพาหนะ ความรัก อัตลักษณ์ ความเชื่อทางศาสนา ปรัชญา และอุดมการณ์ทางการเมือง ใครคนหนึ่งเคยกล่าวเอาไว้ โซเซียลมีเดีย ทำให้คนโง่ที่ไหนก็ได้มีโอกาสได้อวดภูมิเหมือนกันกับผู้ได้รับรางวัลโนเบล ในสื่อชนิดนี้ทุกคนเป็นได้ทุกอย่างที่ใจปรารถนา ตั้งแต่พระ นักบวช ครูบาอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา นักทฤษฎี นักปรัชญา ผู้เชี่ยวชาญ นักคิด นักเขียน นักข่าว กวี นักกิจกรรม บุคคลสาธารณะ กูรู โหราจารย์ ผู้หยั่งรู้ดินฟ้า และไลฟ์โค้ช ฯลฯ จะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ด้วยชื่อจริงของตัวเอง หรือ เป็นปลอมๆ ภายใต้นามแฝงก็ได้ เพราะเขาอนุญาตให้ตั้งชื่อบัญชีของตัวเองได้ง่ายเหมือนตั้งชื่อหมา แมว ส่วนว่าจะมีคนเชื่อถือติดตามหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเราเชื่อว่าหมาแมวมันรู้จักชื่อที่เราตั้งให้ก็วางใจได้ว่าจะมีคนเชื่อเรื่องในโซเชียลมีเดียด้วยฐานคิดแบบเดียวกัน เราได้รู้เรื่องดีๆ หลายอย่างในโซเชียลมีเดีย แต่ก็ควรตระหนักด้วยว่าบ่อยครั้งเรื่องพวกนั้นก็จบลงด้วย ความหลอกหลวง fake news ความเกลียดชัง hate speech และหลายครั้งการรำพึงรำพันบ่นบ้าหรือบทสนทนาในสื่อสังคมทั้งหลายก็กลายเป็นอาชญากรรมได้ง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาวิจัยที่จริงจังจำนวนมาก ที่ชี้ให้เห็นว่า นักการเมืองและนักกิจกรรมทั้งหลายใช้ประโยชน์จากสื่อทางสังคมในทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ และพบว่า ประชาชนทั่วไปก็ใช้สื่อประเภทนี้เพื่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่นการศึกษาการใช้สื่อโซเชียลระหว่างการประท้วงของ กปปส. ในช่วงปี 2556-2557 พบว่าทั้งสุเทพ เทือกสุบรรณ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่างมีผู้ติดตามในโซเซียลมีเดียกันมากมายและใช้สื่อนั้นในการประท้วงและต่อต้านการประท้วง การศึกษาบทบาทสื่อโซเชียลในการเลือกตั้ง มีนาคม 2562 พบว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจและพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบไป ใช้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์และ อินสตาแกรมเพื่อสื่อสารกับผู้สนับสนุนและสามารถชนะการเลือกตั้งได้ถึง 80 ที่นั่งในสภาด้วยคะแนนเสียงที่มาจากความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ที่เข้าถึงได้ด้วยสื่อใหม่ ทั้งๆ พรรคนี้ที่ไม่ได้มีฐานทางการเมืองที่เข้มแข็งเลยในเขตเลือกตั้งใดเลย

จะสังเกตได้ว่า การใช้โซเซียลมีเดียเพื่อแสดงความเห็นทางการเมืองมีมากขึ้นในช่วงหลังการรัฐประหารปี 2557 เพราะการแสดงออกทางการเมืองในสื่อหลักและในพื้นที่สาธารณะอื่นๆ เช่น การชุมนุมประท้วง ถูกปิดกั้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ สิ่งที่เป็นกระแสยอดฮิตคือ การติดแฮชแท็ก (#) ในประเด็นทางการเมืองที่แหลมคมต่างๆ เฉพาะอย่างยิ่งบนทวิตเตอร์ ที่เริ่มแพร่หลายมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 เช่น การติดแฮชแท็ก เพลงประเทศกูมี ในเดือนตุลาคม 2561 เมื่อพลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขู่ว่าจะตรวจสอบเนื้อหาเพลงที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์คสช.อย่างรุนแรง หลังจากนั้นการติดแฮชแท็กดูจะกลายเป็นประเด็นที่เป็นหัวข่าวให้กับสื่อมวลชนกระแสหลักเมื่อพวกเขาตรวจพบว่าบางประเด็นขึ้นยอดฮิตติดชาร์ตในเวป trend24.in ปกติแล้วแฮชแท็กเป็นเครื่องหมายที่ช่วยพาผู้ใช้ทวิตเตอร์ไปหาประเด็นที่สนใจร่วมกันได้ง่าย มันทำให้อัลกอริทึม (algorithm) หรือปัญญาประดิษฐ์ทำงานง่ายขึ้นในการจับความสนใจของผู้ใช้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเกี่ยวข้องกับ ศิลปะ วัฒนธรรม ยอดนิยมร่วมสมัย (pop culture) แต่ในระยะหลังผู้ใช้ทวิตเตอร์ในประเทศไทยติดแฮชแท็กให้กับประเด็นทางการเมืองมากขึ้น พลเอกประยุทธ์นั้นโดนไล่ด้วยแฮชแท็กตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งหลังการเลือกตั้งปีที่แล้ว #RIPThailand, #PrayutGetOut ปรากฏว่าได้รับความนิยม หรือ #รัฐบาลเฮงซวย มีคนใช้ถึง 400,000 ครั้งภายในไม่กี่ชั่วโมงเมื่อเห็นว่ารัฐบาลจัดการเรื่องโควิดไม่ดีในช่วงแรกๆ หรือแม้แต่ประเด็นที่มีความอ่อนไหวสูงหรือต้องห้ามอย่างเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ก็ไม่เว้น แฮชแท็ก เหล่านั้นมักมีคนใช้กันเป็นเรือนแสนเรือนล้านภายในระยะเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมง ทำให้มันกลายเป็นสารทางการเมืองที่ทรงพลังอย่างมากชนิดที่สื่อกระแสหลักเทียบไม่ติดเลย

 


ภาพจากมติชน

 

ถึงกระนั้นก็ตามสื่อทางสังคมก็ยังไม่ใช่พื้นที่สาธารณะยูโทเปียที่ฮาร์เบอร์มาสอยากจะเห็นเพราะทั้งรัฐและทุนต่างก็ร่วมมือกันเพื่อควบคุมเสรีภาพในการใช้พื้นที่ในโซเซียลมีเดียเช่นกัน รัฐบาลไทยใช้พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญามาตรา 116 ความผิดว่าด้วยการยุยงปลุกปั่น และการขอร้องแกมบังคับบริษัทโซเชียลมีเดียทั้งหลายให้ช่วยปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และในระยะหลังก็เข้าไปเล่นเองด้วยการตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและการปฏิบัติการทางข้อมูล หรือ Information operation (IO) เพื่อเป็นการตอบโต้ผู้ใช้สื่อประเภทนี้ในการแสดงออกหรือมีส่วนร่วมทางการเมือง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าทางการไทยจับกุมคนเกือบ 200 คนฐานละเมิดกฎหมายคอมพิวเตอร์ ในช่วง 5 ปีที่ คสช.อยู่ในอำนาจ เฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วถึงเมษายนปีนี้มี 42 คนถูกดำเนินคดีตามกฎหมายนี้ แม้จะพลเอกประยุทธ์จะอ้างว่าไม่มีการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นกษัตริย์แล้วก็ตาม แต่ปรากฏว่ามีคนถูกดำเนินคดีเพราะการแสดงความคิดเห็นพาดพิงสถาบันกษัตริย์ภายใต้กฎหมายคอมพิวเตอร์ เช่นกรณีของนิรนามในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านได้ออกมาเปิดโปงว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในและกองทัพใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนในปฏิบัติการข่าวสารข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย โจมตีฝ่ายค้าน นักกิจกรรม และผู้มีอิทธิพลทางความคิดทางสังคมเพื่อหวังลดทอนความน่าเชื่อถือของคนเหล่านั้นและสร้างกระแสความนิยมให้รัฐบาล

ข้างฝ่ายบริษัทผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียนั้นได้รับการร้องขอจากรัฐบาลไทยในการดำเนินการปิดกั้นเสรีภาพของผู้ใช้สื่อด้วย เฟซบุ๊กเปิดเผยในรายงานความโปร่งใสว่าจนถึงสิ้นเดือนธันวาคมปีที่แล้วได้รับการร้องขอจากรัฐบาลไทยให้ดำเนินการปิดกั้นหรือถอดข้อความที่เห็นว่าไม่เหมาะสมออกถึง 107 ครั้ง โดยสถิติการร้องขอเกิดขึ้นมาที่สุดในช่วงหลังจากที่พลเอกประยุทธ์รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการร้องขอจากรัฐบาลไทยไปยังบริษัทไลน์และทวิตเตอร์ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่แอนดรูว์ แมเกเกอร์ มาร์แชล อดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์และผู้เขียนหนังสือ A Kingdom in Crisis ซึ่งเป็นหนังสือต้องห้ามในประเทศไทยเปิดเผยเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ว่า ทวิตเตอร์ได้ปฏิเสธการร้องขอจากรัฐบาลไทยให้ลบข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในบัญชีของเขา ก่อนหน้านี้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวไทยได้เคยแสดงความกังขาถึงความร่วมมือกับรัฐบาลไทยเมื่อทวิตเตอร์เปิดบัญชีทางการในไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม ทำให้ผู้ใช้จำนวนหนึ่งติดแฮชแท็ก#ไม่เอาทวิตเตอร์ไทยแลนด์ และมองหาแพลตฟอร์มอื่นอย่าง mind ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าให้เสรีภาพมากกว่า ถูกควบคุมน้อยกว่า มีรายงานว่าผู้ใช้ mind เพิ่มขึ้นนับแสนรายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ใช้สื่อทางสังคมมีทางเลือกในการตอบโต้กับการควบคุมของรัฐและบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ว่าจะยังห่างไกลยูโทเปียของฮาร์เบอร์มาสอยู่มากก็ตาม

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Nation ติดตามและผลิตงานเขียนเกี่ยวกับกิจการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งลุ่มแม่น้ำโขง และปัญหาชายแดนมานานกว่า 30 ปี
สื่อใหม่และพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ (Frankfurt School on-line)