Skip to main content

ข่าวการปิดหนังสือพิมพ์คมชัดลึกอายุ 19 ปี เมื่อเดือนเมษายน และบิสซิเนส ทูเดย์ อายุ 6 เดือน เมื่อเดือนมีนาคม ไม่ได้ทำให้ใครในประเทศไทยตื่นเต้นมากไปกว่านักข่าวจำนวนหนึ่งที่จะต้องตกงาน แต่เมื่อเปรียบเทียบแฮซแท็กของประเด็นสำคัญที่หาดูไม่ได้ในสื่อหลัก 1.2 ล้านครั้งในทวิตเตอร์ภายใน 24 ชั่วโมงเมื่อเดือนมีนาคมหรือปฏิกิริยาของผู้ใช้เมื่อรู้ว่า ทวิตเตอร์เปิดบัญชีอย่างเป็นทางการในประเทศไทย (TwitterThailand) เมื่อเดือนพฤษภาคม นั่นก็คงเป็นแถลงการณ์ที่ชัดเจนว่า สื่อกระแสหลักของไทยได้หมดความสำคัญไปแล้ว ในขณะที่ผู้ประกอบการสื่อสารมวลชนและผู้สื่อข่าวทั้งหลายยังคงจะต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักเพื่อความอยู่รอด และเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า หลายรายคงจะไม่รอดเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด 19

สื่อมวลชนกระแสหลัก หมายถึงสิ่งพิมพ์ วิทยุ-โทรทัศน์ และออนไลน์ ที่ขับเคลื่อนโดยนักข่าวอาชีพ นั้นเข้าสู่ภาวะตกต่ำอย่างแรง (แต่ยังไม่มีใครรู้ว่ามันถึงหรือเข้าใกล้จุดต่ำสุดแล้วหรือยัง) มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ด้วยปัจจัย 3 ประการคือ

ประการแรก ความแตกแยกทางการเมืองเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหารปี 2549 ทำให้สื่อมวลชนกระแสหลักเกือบทั้งหมดเลือกข้างทางการเมืองอย่างชัดเจน โดยส่วนใหญ่เลือกที่จะเดินตาม สนธิ ลิ้มทองกุลและเครือผู้จัดการไปยืนอยู่ข้างชนชั้นนำและกองทัพแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก ในขณะที่ส่วนน้อยเลือกฝ่ายตรงข้ามและจำนวนน้อยนิดที่พยายามจะรายงานข่าวอย่างเป็นภาวะวิสัย (objective) แต่ต้านทานฝ่ายแรกได้ยาก บุคลากรของสื่อจากค่ายใหญ่แทบทุกค่ายตั้งแต่ ท่าพระอาทิตย์ วิภาวดี ถึงคลองเตย ยันบางนาพากันเห็นแก่ความมั่นคงแห่งรัฐและความสงบราบคาบของสังคมด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการขับไล่ทักษิณ ชินวัตรและพวกพ้องออกจากการเมือง พร้อมกับรับการตกรางวัลแห่งการต่อสู้ด้วยเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นแสนๆบาทในตำแหน่งต่างๆในภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูป และคณะกรรมการหรือองค์กรอื่นๆอีกมากหมายที่ตั้งขึ้นหลังรัฐประหารทั้งสองครั้งระหว่างปี 2549 และ 2557 เพื่อออกกฎหมายหรือระเบียบต่างๆ ที่ใช้ควบคุมฝ่ายตรงข้ามและควบคุมสื่อเองด้วยในเวลาเดียวกัน สื่อมวลชนส่วนใหญ่จึงเขียนและรายงานข่าวตามวาระ (agenda) ของชนชั้นนำและผู้มีอำนาจอย่างไม่เหนียมอาย การเซ็นเซอร์ตัวเองเป็นเรื่องปกติ จึงไม่แปลกอะไรที่เราจะเห็นว่า สื่อหลักและนักข่าวใหญ่หลายรายเล่นบทของนักโฆษณาชวนเชื่อให้กับรัฐบาลนับแต่นั้นเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน น่าขันมากด้วยที่พวกเขาอ้างว่านั่นคือการปฏิรูปประเทศแต่มันจ่ายด้วยความน่าเชื่อถือที่วงการนี้สะสมมาแต่ปางอดีตจนหมดสิ้นไปในระยะเวลาแค่ 10 ปีเศษ ไม่มีทางที่จะคาดหวังได้เลยว่าสื่อกระแสหลักของไทยจะติดตามขุดคุ้ยการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์หรือคนอื่นๆก่อนหน้าที่เชื่อว่าต้องลี้ภัยเพราะความผิดอันเกิดจากความกระด้างกระเดื่องต่อชนชั้นนำ นักข่าวใหญ่หรือคอลัมนิสต์บางรายดูเหมือนจะแสดงความสะใจอย่างออกนอกหน้าและเยาะเย้ยโชคชะตาคนเหล่านั้นด้วยซ้ำไปโดยที่ไม่ได้มีมโนสำนึกในฐานะสื่อมวลชนหลงเหลืออยู่เลยแม้แต่น้อย

ประการที่สอง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมาตลอดเพราะผลสืบเนื่องมาจากความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความขัดแย้งของมหาอำนาจในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เม็ดเงินในธุรกิจโฆษณาสำหรับสื่อกระแสหลักลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสิ่งพิมพ์ลดลงประมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์นับแต่ปี 2561ในขณะที่งบประมาณสำหรับโฆษณาในทีวีก็ไม่เติบโตในปีที่แล้ว และสถานการณ์โควิดตอนนี้ยิ่งทำให้งบประมาณของการโฆษณาในสื่อหลักอยู่ในภาวะที่ติดลบ ข้อมูลจาก Marketeer ระบุว่า ในปี 2563 นี้โทรทัศน์-วิทยุจะมีงบประมาณสำหรับโฆษณาประมาณ 70,000 ล้านบาทหรือลดลงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่มีงบประมาณให้กับหนังสือพิมพ์ทั้งหมดแค่ 3,000 ล้านหรือลดลง 35 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจบีบบังคับให้สื่อสิ่งพิมพ์ต้องปิดตัวเองลงเป็นจำนวนมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เฉพาะค่ายใหญ่อย่างโพสต์และเนชั่น ปิดหนังสือพิมพ์ไปแล้วค่ายละ 2 ฉบับในช่วงปี 2562-63 ทีวีดิจิทัล 7 ช่องคืนใบอนุญาตและปิดตัวเองลงในปีที่แล้วในปีนี้โรคระบาดทำให้สภาวะเศรษฐกิจหดตัวลงอย่างรุนแรงถึงกว่า8 เปอร์เซ็นต์ตามการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยจะบีบให้สื่อทุกค่ายจะต้องลดขนาดลงอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายถึงว่าจะต้องลดจำนวนบุคลากรลงอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ค่ายใหญ่อย่าง เนชั่น ไทยรัฐและผู้จัดการก็เริ่มดำเนินการไปแล้วด้วยการปลดพนักงานประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดในปีนี้ และยังไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นแค่ระลอกเดียว เพราะเศรษฐกิจไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวเร็วนักในปีหน้า

ความสำคัญของการลดขนาดสื่อมวลชนไม่ใช่แค่เรื่องการดำเนินธุรกิจแต่หมายถึงการลดคุณภาพของเนื้อหาในสื่อนั้นๆ ด้วย ปัญหาความแตกแยกทางการเมืองทำให้เนื้อหาเอนเอียงมากพออยู่แล้ว แต่การลดเงินเดือนและจำนวนบุคลากรลงทำให้ขวัญกำลังใจและความทุ่มเทในการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กัน ไม่มีนักข่าวคนไหนมีกะจิตกะใจให้กับการเจาะข่าวอะไรหรอกถ้าเงินเดือนพวกเขาลดลง 10-30 เปอร์เซ็นต์ แต่ภาระครอบครัวยังมีอยู่เหมือนเดิมหรืออาจจะเพิ่มขึ้นเพราะสมาชิกในครอบครัวก็ตกงานแล้วด้วยสิ่งที่พวกเขาจะทำได้และก็ได้ทำกันมานานพอควรแล้วคือ ติดตามโซเซียลมีเดียของคนดังลอกข้อความ ภาพหรือวิดีโอคลิปเหล่านั้นมาทำซ้ำส่งให้สำนักงานพอให้อยู่รอดไปวันๆ เท่านั้น จะโทษใครได้ในเมื่อผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทก็วิ่งหางานอีเวนต์จากหน่วยงานของรัฐ บริษัทธุรกิจหรือนักการเมือง เพื่อจุนเจือบริษัทเหมือนกัน ที่หนักหนากว่านั้นในเวลานี้คือ บรรณาธิการต้องมอบหมายให้โต๊ะข่าว “หารายได้” ให้บริษัทด้วยแทนที่จะหาข่าวอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อนนักข่าวจะเลือกอะไรล่ะ ในสถานการณ์นี้ก็ต้องท่องคาถา “ข่าวเป็นรองปากท้องเป็นหลัก” อยู่แล้ว

ประการที่สาม เจ้าของและผู้บริหารสื่อส่วนใหญ่ในประเทศไทยซึ่งก็เหมือนกันทั่วโลก โยนความผิดทั้งหมดของความตกต่ำแห่งวงการของตัวให้กับความปั่นป่วนทางเทคโนโลยีและการเกิดขึ้นของสื่อทางสังคมซึ่งทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคข่าวสารข้อมูลเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ผู้คนในสังคมโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่นับแต่ยุคของเจนเนอร์เรชั่นเอ๊กซ์ (X) เรื่อยมาจนถึงวาย (Y) และซี (Z) หรือมิลเลนเนียล (millennial)ในปัจจุบัน ใช้ชีวิตอยู่กับโทรศัพท์มือถือ (smart phone) มากกว่าหนังสือพิมพ์หรือจอทีวี ไม่มีใครเสียเวลารอข่าวค่ำหรือหนังสือพิมพ์พรุ่งนี้อีกต่อไปแล้ว ในเมื่อประชาชนสามารถรับรู้ข่าวสารได้ทันทีแบบเรียลไทม์จากใครก็ตามที่อยู่ในเหตุการณ์หรือรู้เรื่องนั้นเป็นอย่างดีและพร้อมจะอัปโหลด ข้อความ ภาพ เสียง หรือ วิดีโอ จะต้องรอสื่อมวลชนทำไม ในเมื่อจ่าสิบเอกที่เอาปืนไล่ยิงชาวบ้านที่โคราชกำลังถ่ายทอดสดวีรกรรมของตัวเองผ่านเฟซบุ๊กอยู่เดี๋ยวนี้ แถมสิ่งที่สื่อมวลชนทำได้ก็แค่ถามความเห็นของผู้บัญชาการทหารบกและนายกรัฐมนตรีผู้ซึ่งไปถึงที่เกิดเหตุช้ากว่าใครทั้งหมดด้วยซ้ำไป

แน่นอนเจ้าของและผู้บริหารสื่อทั้งหลายรู้ถึงกระแสและแนวโน้มของโลกที่เปลี่ยนแปลงนี้มาตั้งนานแล้ว อินเทอร์เน็ตหรือนิวมีเดีย เป็นคำตอบที่เสมือนจริงมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่แล้วสื่อกระแสหลักมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองทั้งนั้น อีกทั้งมีเว็บไซต์ข่าวเกิดใหม่อีกมากมายในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาด้วยเนื้อหา (content) ในคุณภาพที่หลายกรณีดีกว่าสื่อหลักด้วยซ้ำไป อย่างน้อยที่สุดข่าวในเว็บไซต์ เร็วกว่าและเล่นได้ไม่จำกัด ทั้งข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว แสง สี เสียง ครบ เม็ดเงินจำนวนมากย้ายจากสื่อเก่าไปหาสื่อใหม่บนอินเทอร์เน็ตอย่างมากและเติบโตอย่างต่อเนื่องปีที่แล้วมีงบประมาณสำหรับโฆษณาในอินเทอร์เน็ต 18,000 ล้านบาทและคาดว่าจะมีถึง 20,000 ล้านบาทหรือเติบโตขึ้น 12 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้แม้จะมีโควิดก็ตาม

แต่ปัญหาคือ เว็บไซต์เหล่านี้ไม่ได้ทำเงินให้กับบริษัทสื่อมากพอจะเลี้ยงตัวได้รายได้จากสื่อใหม่ทุกแพลตฟอร์มอยู่ที่ระดับ 10-15 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้น ในระยะหลังเมื่อมีสื่อสังคมเกิดขึ้นมาแย่งรายได้ไปอีกต่างหาก แม้ว่าบริษัทสื่อหรือนักข่าวระดับเซเลบหลายรายจะกระโจนเข้าสู่โซเชียลมีเดียอย่างไม่ยั้งคิด บางบริษัทเปิดบัญชีโซเชียลมีเดีย มอบหมายให้นักข่าวปั่นข่าว ป้อนเฟซบุ๊กทุกๆ 10-15 นาทีวันละ 12-15 ชั่วโมง เพื่อเรียกยอดไลก์ ยอดคลิก แต่ก็ไม่ได้มีรายได้มากพอจะเลี้ยงทั้งบริษัทให้รอดแม้ว่าจะมีผู้ติดตามนับแสนนับล้านแต่รายได้ส่วนใหญ่ก็ไปอยู่กับเฟซบุ๊ก และ ยูทูบ เสียเป็นส่วนใหญ่ สื่อไทยไม่ใช่ผู้คุมเกมในสนามนี้ หากแต่เป็นบริษัทพวก BigTech ระดับโลกอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ

ดังนั้นถ้าเห็น สนธิ หรือ สุทธิชัย หยุ่น ปรมาจารย์ของสื่อสารมวลชนไทยยุคใหม่ปรากฏตัวในเฟซบุ๊กหรือยูทูบเพื่อวิเคราะห์โน่นนี่นั่น หรือบางคนก็เล่น TikTok แม้ว่าจะเรียกแฟนคลับได้เรือนแสนแต่ได้โปรดอย่าคิดว่าเป็นทางรอดของสื่อมวลชนไทย เพราะนั่นเป็นแค่งานอดิเรก พวกเขาทำรายได้อย่างมากเดือนละ 200,000-300,000 บาทหรืออาจจะเป็นล้านถ้าบวกสปอนเซอร์ไทอิน (Tie-in) เข้าไปด้วย ซึ่งคงพอจะสร้างรายได้เพิ่มให้พวกเขา แต่เผื่อแผ่ถึงคนอื่นได้น้อยและไม่ใช่แบบแผนทางธุรกิจสื่อมวลชนยุคใหม่ที่จะพาให้วงการนี้อยู่รอดได้อย่างมีความหมายเหมือนในอดีต แน่นอนมีนักข่าวรุ่นหลังที่เป็นระดับเซเลบอย่าง ฐปนีย์ เอียดศรีไชย และ วาสนา นาน่วม ทำอย่างนั้นเหมือนกันแต่นั่นต้องแลกด้วยการทำงานที่หนักมากในเชิงปริมาณ พวกเขานอนหลับพักผ่อนวันละไม่กี่ชั่วโมง เห็นได้ชัดว่าไม่ค่อยมีเวลาทำการบ้าน เพื่อผลิตเนื้อหาซึ่งในหลายกรณีเป็นบายโปรดักส์คือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากสื่อหลักที่กลายมาเป็นสินค้าหลักในโซเชียลมีเดียยังไม่นับว่าอาจจะต้องทำอะไรอีกหลายอย่าง เพื่อหารายได้เพิ่ม ปัจเจกบุคคลบางคนที่ทำอย่างนั้นได้อาจจะพออยู่รอด แต่ทั้งวงการในอุตสาหกรรมสื่อของไทยทำอย่างนั้นบ้างคงไปไม่ถึงฝั่งฝัน

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Nation ติดตามและผลิตงานเขียนเกี่ยวกับกิจการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งลุ่มแม่น้ำโขง และปัญหาชายแดนมานานกว่า 30 ปี
ย้อนพินิจภูมิทัศน์สื่อไทยในเวลาวิกฤต