Skip to main content

ก่อนหน้านี้อาจจะมีนักข่าวผู้หญิงไปทำข่าวสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันดีเดย์บ้าง  แต่การทำข่าวลุยไปกับกองทัพนั้นยังไม่มี  เคท เวบบ์ (Kate Webb) เป็นนักข่าวหญิงกลุ่มแรกๆ ที่ไปทำข่าวเกาะติดสงครามไปกับทหารในช่วงสงครามเวียดนาม  ภาพลักษณ์การทำข่าวของเธอ ทั้งเก่ง ทั้งส่งงานไว ทั้งเขียนข่าวดี ทั้งแกร่ง ความรู้เรื่องสงครามแน่น รู้ว่าเครื่องบินไหนทิ้งระเบิด ทำให้ช่วงนั้นเธอกลายเป็นขวัญใจของนักข่าวสงครามผู้ชายอย่างมาก

 

 

ในช่วงไปทำข่าวเขมรโดนเครื่องบินทิ้งระเบิด เวบบ์ไปหาเพื่อนนักข่าวผู้หญิงที่โรงแรม แล้วนั่งดื่มเหล้าระหว่างการทิ้งระเบิด ท่าทีสงบนิ่ง เธอหันไปถามนักข่าวหญิงว่ากำลังทำอะไร อีกฝ่ายตอบว่าเขียนจดหมายถึงแม่ เวบบ์บอกว่า "อย่างน้อยคุณก็ยังมีแม่ให้เขียนนะ"

ตลอดชีวิต เคท เวบบ์เป็นคนสงวนเรื่องส่วนตัวมาก การที่เธอเปิดปากพูดในวันนั้น เป็นส่วนเสี้ยวของเรื่องราวเธอที่นักข่าวคนอื่นได้รับทราบ

ตัวเธอเองเคยโดนทหารเวียดกงที่บุกเข้ามาในกัมพูชาจับไป 23 วัน  สำนักสื่อระดับโลกต่างเขียนข่าวว่าเธอตายไปแล้ว เพราะมีคนไปเจอศพผู้หญิงเลยนึกว่าเป็นเคท เวบบ์  ครอบครัวก็ทำพิธีศพให้แล้ว  แต่ 3 อาทิตย์ต่อมา เธอกลับได้รับการปล่อยตัวออกมาในสภาพสะบักสะบอมเพราะป่วยเป็นไข้ป่าเกือบจะตายของจริง  พอปล่อยตัวออกมาได้ ก็ดังไปทั่วโลกเลยจากที่ดังอยู่แล้ว

มุทิตา เชื้อชั่ง (ซ้าย) ได้รับรางวัล Kate Webb Prize ปี 2015 และ มะรัด จ่อ ตู่ (ขวา) ได้รับรางวัล Kate Webb Prize ปี 2016

 

นี่คือนักข่าวหญิงที่ดื่มจัด และแน่นอนบุหรี่เป็นนิ้วที่ 11 ของเธอ จะสูบอยู่เป็นประจำ  เรื่องราวของเธอนั้นยิ่งใหญ่  เมื่อเธอเสียชีวิตในปี 2007 มีการนำชื่อเธอมาตั้งเป็นรางวัล AFP's Kate Webb Prize (Agence France-Presse Kate Webb prize) มอบให้นักข่าวในเอเชียที่มีผลงานโดดเด่น ซึ่งในปี 2015 มุทิตา เชื้อชั่ง จากสำนักข่าวประชาไท ได้รับรางวัลเคท เวบบ์สำหรับการทำข่าวคดี 112  และในปี 2016 นักข่าวพม่า มะรัด จ่อ ตู่ (Mratt Kyaw Thu) ได้รับรางวัลนี้สำหรับการทำข่าวกรณีโรฮิงญา เรียกได้ว่าคนข่าวเก่งๆ ได้หมด

ตัวเคท เวบบ์ เป็นคนนิวซีแลนด์ แต่ย้ายตามครอบครัวซึ่งเป็นนักวิชาการมาออสเตรเลีย ชื่อเธอตอนเกิด คือ Catherine แต่เธอไม่ชอบเลยเปลี่ยนเป็น Kate  ตอนช่วงวัยเด็กอายุ 15 ปี เธอถูกตั้งข้อหามีส่วนร่วมกับการฆาตกรรม หลังเพื่อนขอปืนไรเฟิลจากเธอ แล้วเอาไปยิงตัวตาย  ตอนแรกเธอบอกว่าเพื่อนขอปืนเล่นๆ ไม่คิดว่าจะทำแบบนี้  ข้อหานี้ถูกยกเลิก  และเมื่ออายุ 18 ปี พ่อแม่เธอตายเพราะอุบัติเหตุ  เวบบ์เรียนจบมหาวิทยาลัย คณะปรัชญา ทำงานได้สักพัก ก็ออกไปเป็นเลขาให้กับสื่อหนังสือพิมพ์ออสเตรเลียของรูเพิร์ด เมอร์ดอกซ์ (Rupert Murdoch) เจ้าพ่อสื่อผู้ยิ่งใหญ่ ก่อนขยับเป็นนักข่าว ถูกส่งไปทำข่าวที่อินโดนีเซีย รายงานข่าวการตกจากอำนาจของนายพลซูการ์โน (และข่าวสุดท้ายที่เธอไปทำในฐานะนักข่าวภาคสนามคือ นายพลซูฮาร์โตตกจากอำนาจที่อินโดนีเซีย)

 

 

จากนั้นเธอมุ่งมั่นแน่วแน่ เก็บหอมรอมริบ ซื้อเครื่องพิมพ์ดีดแล้วมุ่งหน้าสู่เวียดนาม ได้งานชั่วคราวสัญญา 6 เดือนกับสำนักข่าว UPI  เวลาว่างเธอจะไม่หยุดพักผ่อน แต่จะไปทำข่าวกองทัพเวียดนามใต้ และเคยทำข่าวกองทัพเวียดนามใต้กับตลาดมืด ซึ่งใช้เวลาพักจากการทำข่าวไปทำด้วย  ผลที่ได้คือ ประตูห้องพักเธอโดนยิง มีคนฝังกระสุนไว้ที่ผนังหัวนอนเป็นการข่มขู่..แน่นอนเธอไม่กลัวโว้ย...

เธอเคยหมั้นกับทหารอเมริกันคนหนึ่ง แต่ไม่ได้แต่งงานกัน  หลังจากสงครามเวียดนาม เธอย้ายไปทำงานอื่นก่อนมารับงานเป็นหัวหน้าข่าว UPI ที่เขมร หลังหัวหน้าคนเดิมถูกยิงตาย

ที่เขมรนี่แหละที่เธอโดนจับ  ตอนผู้คุมคุยกับเธอนั้นเขาบอกว่า "ตอนนี้เอ็งเป็นนักโทษสงครามแล้ว มันขึ้นอยู่กับเอ็งนะว่าสุดท้ายจะจบลงที่โดนยิงหัวไหม"  แต่นักข่าวหญิงใจเด็ดคนนี้ตอบว่า "ฉันไม่เป็นอะไรทั้งสิ้น ไม่ใช่ทั้งนักโทษสงครามและทหาร"

"งั้นเอ็งมองว่าตัวเองเป็นแขกที่ได้รับเชิญมาสิ" ผู้คุมบอกแบบนี้ จากนั้นทั้งสองก็หัวเราะก๊ากกัน

 

 

เธอทำข่าวเขมรแดง ไปทำข่าวอัฟกานิสถานและทั่วทั้งเอเชีย เกือบตายที่อัฟกานิสถาน เมื่อโดนกลุ่มพ่อค้ายาจิกหัวลากลงจากพื้นกะจะตัดหัว เกือบเสียแขนตอนนั่งจักรยานยนต์ไปทำข่าวที่อินเดียแล้วประสบอุบัติเหตุ ทำงานมานานจนถึงปี 2001 อายุได้ 57 ปี  จุดหนึ่งมองว่าวัยเริ่มเยอะแล้ว เลยไม่ขอลงภาคสนามอีก

"เวบบ์เป็นคนที่ทำงานไวมาก ชอบแข่งกับนักข่าวคนอื่นในการส่งข่าว แต่เธอไม่ชอบมือถือ ยิ่งเวลาหัวหน้าข่าวโทรจิกนักข่าวตอนรีบ เธอบอกว่าเหมือนมียุงเต้นรอบๆ ตัว และมันทำให้งานข่าวไม่ประณีต"

งานข่าวของเธอนั้น สะท้อนคนในสงครามอย่างเห็นได้ชัด เธอเขียนหนังสือดี สำนักข่าว UPI บอกว่า “เคท เวบบ์เหมือนเจ้าหญิงไดอานาในชุดลายพรางและมีไอคิวที่ยอดเยี่ยมมาก"

ตลอดชีวิตไม่เคยแต่งงาน ไม่มีครอบครัว ไม่มีลูก มีแต่น้องสาว  ช่วงเกษียณใช้ชีวิตที่ออสเตรเลียและไปสอนหนังสือให้กับนักข่าวรุ่นใหม่บ้าง  ปี 2007 เธอเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้  เวบบ์บอกว่าฮ่องกงนั้นเหมือนเป็นบ้านเธอเลย แต่ปรารถนาสุดท้ายนั้นอยากให้โปรยอัฐิตัวเองที่นิวซีแลนด์เสียมากกว่า

ตลอดชีวิตการทำงาน ทุกคนมองว่าเธอเจ๋ง เธอเก่ง เธอแกร่ง แต่เสียงพูดของเธอนั้นนุ่มนวล ข้าพเจ้าเคยมีโอกาสอ่านงานเขียนตอนเธอโดนจับครั้งหนึ่ง ถือว่าเธอเขียนได้อย่างน่าสนใจ ช่วงโดนจับนั้น นักข่าวญี่ปุ่นช่วยเธอลืมวันเวลาจากการโดนจับโดยการสอนพิธีชงชา  สาเหตุการปล่อยตัวเธอกับกลุ่มนักข่าวนั้นไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร  แต่พอออกมาให้สัมภาษณ์ เธอขอจุดบุหรี่สูบก่อนเลย แม้สภาพร่างกายจะแย่กับไข้ป่า

พอร่างกายดีขึ้น ก็ต้องขอเบียร์สักแก้วทำให้ชื่นใจชะมัดยาก

ในช่วงที่เธอมารับงานหัวหน้าข่าวที่เขมรนั้น เธอบอกว่า "ถ้าคุณไม่ต้องการสิทธิพิเศษอะไร และไม่ถามว่าจะเสียบปลั๊กเพื่อเป่าผมตรงไหน คุณก็ไม่มีปัญหาอะไร"

ทางที่เคท เวบบ์ถาง เป็นก้าวเดินให้เรามีนักข่าวผู้หญิงได้ทำงานภาคสนามมากยิ่งขึ้น  ทำให้เกิดนักข่าวที่หลากหลายและทรงประสิทธิภาพโดยไม่สนใจว่าจะเพศอะไร  นี่คือวีรกรรมยิ่งใหญ่ที่ทำให้โลกถูกขับเคลื่อนด้วยความจริงจากสื่อมวลชนยอดฝีมือที่จะเป็นอมตะไปชั่วนิรันดร์

สำหรับเคท เวบบ์ ตำแหน่งนักข่าวยืนยงและกลายเป็นตำนานที่ไม่มีวันตายอย่างแท้จริง

ป.ล.เคยมีความพยายามจะเอาเรื่องราวของเธอสร้างเป็นหนังโดยคนแสดงคือแคร์รี่ มูลลิแกน (Carey Mulligan) แต่โครงการก็เงียบๆ ไป น่าเสียดายหัวใจเศร้าชะมัด

 

หมายเหตุบรรณาธิการ: ชื่อบทความเดิม คือ “Kate Webb ตำนานนักข่าวหญิงผู้เปิดทางให้ผู้หญิงได้ทำข่าวสงคราม”

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ณัฐกมล ไชยสุวรรณ นักข่าวเดลินิวส์ โต๊ะข่าวพิเศษ ทำข่าวอาชญากรรมมาหลายปี เขียนบทความลงในเว็บไซด์เดลินิวส์และในเว็บไซด์ The Matter สนใจทุกเรื่องเกี่ยวกับสื่อมวลชน ไม่มีประชาธิปไตยเราก็จะไม่มีสื่อมวลชนที่ทำข่าวดี ๆ ได้อย่างแน่นอน
Kate Webb ตำนานนักข่าวหญิงในข่าวสงคราม